พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 650


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แล้วเมื่อรู้ เมื่อปัญญาเกิดรู้คืออยากทราบว่ารู้เพียงรูปารมณ์ หรือว่ารู้นิมิตของรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ ก็ขอทราบว่านิมิตคืออะไร

    ผู้ฟัง นิมิตตามความเข้าใจก็คือสิ่งที่ปรากฏความเกิดดับเร็วของธรรมจะปรากฏให้เห็นเป็นนิมิตของสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีนิมิตของอะไร

    ผู้ฟัง มีทั้งนิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางตา แข็ง เสียง

    ท่านอาจารย์ นิมิตของรูป ถูกต้องไหม นิมิตของความรู้สึก ขันธ์ทั้ง ๕ เลย นิมิตของความจำ ใช้คำว่า "นิมิต" แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมนั้นเกิดดับแต่ไม่ปรากฏการเกิดดับจึงปรากฏเพียงการสืบต่อให้รู้ว่าเป็นลักษณะแต่ละธรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น คำถาม ถามว่า

    ผู้ฟัง เมื่อปัญญาเกิดก็รู้ความจริงก็คือรู้ตัวปรมัตถธรรมเลย หรือว่ารู้นิมิต

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้รู้อะไรบ้าง หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ยังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ จะรู้อะไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ต้องเรียกว่านิมิต หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องเรียกว่านิมิต เขามีลักษณะให้รู้ได้ไม่มีชื่อ

    ท่านอาจารย์ เป็นคำตอบ หรือยัง

    ผู้ฟัง คำถามที่จะถามคือ ให้ธรรมเป็นทานเป็นอย่างไร และชนะการให้ทั้งปวงเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณได้อะไรบ้างจากใคร เพื่อนฝูง มิตรสหาย

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ มาฟังธรรมที่นี่ก็ได้ความเข้าใจ

    สุ. แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์กว่าการได้อย่างอื่น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เอาอะไรมาแลกยอมไหม

    ผู้ฟัง ไม่ยอม

    ท่านอาจารย์ กลับไปไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง และก็มีทรัพย์สมบัติมากมายแล้วก็ต้องตาย เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นจะมีประโยชน์อะไรเพียงแค่เห็น หรือว่าได้ยิน หรือว่าได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก เกิดแล้วก็มีความไม่รู้มากขึ้นๆ อีกทุกภพทุกชาติไป จะมีประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง ไร้สาระ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็พอที่จะเข้าใจได้ใช่ไหม ถ้ามีความเข้าใจการให้ธรรมทำให้คนอื่นได้มีความเข้าใจถูกความเห็นถูก ผู้รับก็จะพ้นจากการเกิดได้ในที่สุด แต่ถ้ายังอยากเกิดอยู่ก็คือว่าความเข้าใจธรรมนั้นยังไม่พอ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์เอาแผ่นง่ายๆ ไปให้เขาฟัง ปกิณณกะแผ่นที่ ๑ ถือว่าไม่ยากศัพท์ธรรมน้อย ศัพท์บาลีน้อย

    ท่านอาจารย์ เคยได้ยินคำว่า "ศรัทธา" ไหม ไม่มีศรัทธาที่จะฟังแล้วจะเข้าใจอะไร ได้ยินคำว่าศรัทธินทรีย์ไหม ศรัทธาเป็นใหญ่ แม้แต่ฟังก็ยังไม่มีศรัทธาที่จะฟัง แล้วศรัทธานั้นจะเจริญเป็นใหญ่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่ได้สะสมแม้ศรัทธาที่จะฟัง ใครจะไปบอกเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ไม่มีทาง ไม่มีปัจจัยที่ศรัทธาในการฟังจะเกิด ต่างกับคนที่เพียงได้ยินได้ฟังก็สนใจทันทีเพราะว่ามีศรัทธาที่ได้สะสมมาแล้ว เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา แสดงความจริงของความเป็นอนัตตา ความเป็นธรรมทุกอย่างทุกขณะแต่เมื่อปัญญาไม่เกิดก็ไม่เห็นว่าเป็นธรรม ก็พยายามให้คนไม่มีศรัทธาฟัง แต่ว่าถ้ารู้จริงๆ ว่า แม้ในกาลที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีพวกเดียรถีย์มากมายอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ไปเฝ้า ไม่ฟังธรรม ซึ่งแต่ละคนซึ่งเห็นคุณค่าของพระธรรมก็ใคร่ที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ มีท่านผู้หนึ่งก็ปรารถนาอย่างมากที่จะได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสักครั้งหนึ่ง สักภพหนึ่งชาติหนึ่งอย่างไรก็ตามแต่ขอโอกาสที่จะได้เห็นได้เฝ้า ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็มีฉันทะ มีอัธยาศัย มีศรัทธาต่างๆ กัน แต่ว่าจะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ใช่ เพราะแม้แต่ธรรมที่ทรงแสดงก็ยังมีผู้อ้าง และก็คัดข้อความเป็นคำที่มีจริงแต่โดยสัญญา หรือโดยวิญญาณ หรือโดยปัญญาในขณะที่กำลังรู้คำนั้น ได้ยินเสียงว่าจิตสัญญาจำ ใครถามก็บอกว่ามีจิต ทุกคนมีจิต แต่ว่าปัญญาที่จะรู้ความจริงของจิต และเข้าใจว่าจิตเป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับไม่มีใครยับยั้งได้เลย และก็ไม่กลับมาอีกด้วย มีความเข้าใจอย่างนี้ หรือเปล่า เพราะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะอ้างข้อความตอนหนึ่งตอนใดก็ตามปัญญาที่สามารถเข้าถึงอรรถ โวหารของพระธรรมที่ทรงแสดงโดยความถูกต้อง หรือว่าเพียงจำโดยสัญญา และเป็นการที่คิดถึงคำนั้นด้วยจิตเท่านั้นเอง นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม แม้ว่าจะกล่าวว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของคำว่า "พุทธบริษัท หรือว่าพุทธศาสนิกชน หรือว่ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ" เพราะแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อความในอรรถกถาก็มีว่า "ไม่เป็นรัตนตรัยสำหรับผู้ที่ไม่เห็นคุณ" พวกเดียรถีย์ไม่เห็นเลยในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นแต่เพียงผู้ที่แสดงธรรม และก็มีผู้ฟังเท่านั้นเองแต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังได้ ด้วยเหตุนี้ศรัทธาเป็นโสภณเจตสิก ถูกต้องไหม จิตที่ผ่องใสไม่มีอกุศลร่วมด้วยในขณะนั้นแล้วแต่ว่าจะมีศรัทธาในระดับไหน บางคนก็มีศรัทธาเพียงขั้นทาน สามารถที่จะสละวัตถุให้แก่คนอื่นโดยเป็นอุปนิสัย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ยากไม่ลำบากสำหรับผู้นั้นที่จะเป็นผู้ที่ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น บางคนวาจาดีมากสะสมกาย วาจาที่ดี สีลุปนิสัย ศีลคือกุศลศีลทางกาย ทางวาจาก็งามไม่มีคำพูดที่ทำคนอื่นลำบากใจ หรือว่าเดือดร้อนใจ หรือไม่สบายใจแต่ว่ามีความเข้าใจธรรมที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น แม้ศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นเป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิตแต่ก็ต้องแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นสะสมการเห็นประโยชน์ของการฟัง หรือเปล่า เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตานี่ก็ชัดเจน แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่เข้าใจประโยชน์สูงสุดว่าในบรรดากุศลทั้งหลายอะไรประเสริฐสุดก็ต้องเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าแม้ว่าใครจะมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล มีผิวพรรณวรรณะงามน่าดูสักเท่าไหร่ ได้รับการชมยกย่องสักเท่าไหร่ ความจริงคืออะไร เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยทุกขณะไม่เป็นของใครด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเข้าใจอย่างนี้ไม่ว่าจะประสบกับทุกยากประการใดในชีวิต หรือว่าความสุขมากมายสักเท่าไหร่ ก็รู้ความจริงว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นชั่วคราวเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก คนไทยได้ยินคำว่า "วิบาก" ใช่ไหม เข้าใจว่าลำบาก วิบากนี่ลำบากไหม ลองคิดดู วิบากคือเกิด เกิดแล้วลำบากไหม ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยหยุดยั้งไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นสุขเป็นทุกข์ประการใด ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวนินทาเดี๋ยวสรรเสริญ ก็เป็นธรรมประจำโลก แต่ว่าทั้งหมดก็คือว่าก็ต้องมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสซึ่งเป็นปัจจัยให้คิดนึกด้วย ปัจจัยที่ได้สะสมมาว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น แม้แต่เห็นซึ่งเป็นวิบาก ลำบากไหม ลองคิดดู ต้องเห็นไม่เห็นก็ไม่ได้ ลำบากเหลือเกินที่เกิดมาแล้วก็ต้องเห็นๆ ๆ ๆ ต้องเห็นไม่เห็นไม่ได้เลยแสนจะลำบาก หรือเปล่าไม่หยุดเลย ต้องได้ยินอีกด้วย ลำบากไหม อยู่ดีๆ ก็ต้องได้ยินๆ ๆ ๆ ต้องได้ยินไปจนตายทุกภพทุกชาติ คือเกิดมาต้องได้ยิน ลำบากไหม ไม่ได้ยินเสียเลยไม่ได้เห็นเสียเลยดีกว่าไหม ไม่มีอะไรเกิดเลยทั้งสิ้นควรจะดีกว่ามีสิ่งที่มีปัจจัยเกิดทำกิจการงานหน้าที่แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ลำบากไหม ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ หรือว่าลำบากก็ยังไม่ใช่สัจจธรรมที่เป็นอริยสัจจ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าให้ธรรมเป็นทาน ทำก็ต้องให้รู้ว่าอะไรใช่ธรรม อะไรไม่ใช่ธรรม เพราะว่าบางที่คนให้ความเห็นผิดนึกว่าให้ธรรม และต้องให้กับผู้มีศรัทธาเพราะจริงๆ มานึกถึงตนเองเมื่อเริ่มต้นฟังใหม่ๆ ก็จำได้เมื่อพบญาติๆ ก็เกิดถอดใจเหมือนกัน แต่มีความรู้สึกว่าใช่ ยากแต่ว่าจริงนี้ ใช่เลย จริงก็ฟังมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้สะสมมา และไม่มีศรัทธาก็จะยากก็ไม่ฟัง ก็เลยไม่ได้พบธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ทำไมเด็กๆ ต้องไปโรงเรียน ไปทำไม

    ผู้ฟัง เพราะไม่รู้หนังสือ ก็ไปเรียนหนังสือ

    ท่านอาจารย์ ยากไหม เรียนหนังสือนี่กว่าจะรู้จักแต่ละตัว มีพี่น้องสองคน พี่ก็เข้าโรงเรียนอ่านได้ น้องก็ร้องไห้กลัวว่าจะอ่านไม่ออก เพราะว่ายังไม่ได้เข้าโรงเรียน ใช่ไหม แต่พี่ไปโรงเรียนก็อ่านออกแต่น้องยังไม่ได้เข้าโรงเรียนก็อ่านไม่ออก พอเห็นพี่อ่านออกก็ร้องไห้ กลัวว่าตัวเองจะอ่านหนังสือไม่ออกอย่างพี่ ก็คิดดูก็แล้วกัน แม้แต่จะอ่านออกก็ยังยาก ตามวัยของเด็ก ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าจะง่าย เพราะฉะนั้น ธรรมก็เหมือนกัน ถ้าไม่เริ่มฟังแล้วเมื่อไหร่จะเข้าใจ มีอีกมามายที่จะรู้ตามความเป็นจริงเพราะเหตุว่าเกิดมาด้วยความไม่รู้ มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ก็ต้องอาศัยการฟังสำหรับผู้มีศรัทธา แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีศรัทธาอย่างอื่นง่ายกว่า ไม่ฟังง่ายกว่า

    ผู้ฟัง กราบอนุโมทนา

    อ.วิชัย ทุกท่านก็ฟังว่าการให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง ถ้าบุคคลที่ไม่เข้าใจธรรมเลย ฟังคำนี้ก็ไม่เข้าใจ ว่าให้ธรรมคืออย่างไร แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เข้าใจ ศึกษาฟังธรรมเข้าใจตามลำดับ เข้าใจรู้จักว่าธรรมคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงนั้นมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่เป็นของใครใดๆ ทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้น การฟังเหล่านี้ก็คือเมื่อเข้าใจว่าการให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง เมื่อเข้าใจธรรมก็จะรู้ว่าชนะการให้ทั้งปวงจริงๆ ตามลำดับกำลังของปัญญาของแต่ละบุคคลว่าสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้มากน้อยแค่ไหนเช่น ท่านพระสารีบุตรอบรมบารมีมาหนึ่งอสงไขยแสนกัปป์ ถ้าไม่ได้รับฟังพระธรรมก็ไม่สามารถที่จะตรัสรู้ได้เลย เพราะเหตุว่าสั่งสมมาที่จะเป็นอัครสาวก ก็ต้องมีการรับฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาว่าแต่ละบุคคลก็ยังเป็นโรคมีอกุศลมากมาย และอะไรจะเป็นเครื่องนำอกุศลเหล่านี้ออกไปได้ ถูกไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะเผาอยู่ทุกวัน ถ้าบุคคลที่มีปัญญาก็สามารถพิจารณาได้ว่าก็มีความเดือดร้อนจากราคะบ้าง จากโทสะบ้าง จากโมหะบ้างทุกวันไม่ว่างเว้นเลยว่าจะเป็นขณะไหนอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ อกุศลเหล่านี้เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ก็มีความเดือดร้อนจากการเห็น และก็ไม่พอใจบ้าง พอใจบ้าง ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส แม้แต่คิดนึกก็เป็นอกุศลได้ เพราะฉะนั้น อะไรจะเป็นเครื่องนำอกุศลเหล่านี้ออกได้ ก็มีหนทางเดียวคือปัญญาคือต้องมีการฟังพระธรรม การจะให้สิ่งต่างๆ ไม่สามารถจะนำอกุศลเหล่านี้ออกได้เลย ไม่สามารถจะดับได้เลย ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาขึ้น

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ จะกราบเรียนถามถึงความรู้สึกที่ปรากฏทางกายคือทุกขกายวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ตอนแรกคุณสุกัญญาสนใจเรื่องความรู้สึกทางกายใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขออธิบายนิดหนึ่งอย่างที่ปรากฏง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่ทุกคนรู้จักก็คือความปวดที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นความปวดทางกายที่เกิดขึ้นปรากฏ และก็เป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ทุกอย่างปรากฏทั้งนั้นเลย แต่ละลักษณะแต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม ปัญญาไม่เกิด รู้โดยสัญญา รู้โดยจิต สัญญา หรือวิญญาณแต่ไม่ใช่ด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง แต่เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏก็ต้องมีจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ก็จำโดยสัญญา พูดได้ตามความจำ เพราะฉะนั้น แม้แต่พียงรู้ด้วยสัญญาคือจำ รู้ด้วยวิญญาณคือจิต รู้ด้วยปัญญาก็ต้องต่างกัน และก็ปัญญาเท่านั้นจึงสามารถที่จะรู้ในความต่างกันนี้ได้ อย่างขณะนี้ที่พูดถึงความรู้สึกทางกาย ก็เพราะจำใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็จำว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็จำคำว่า "เป็นธรรม" ยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม แม้ว่าปวดแล้ว เจ็บแล้วอย่างที่กล่าวก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่แม้จะปรากฏโดยวิญญาณ หรือโดยสัญญาก็ตามแต่ แต่ก็อบรมที่จะรู้ความจริงนั้นด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญาว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ทีนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ก็จำไว้อีกว่ามีจริงๆ สัญญาจำทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ควรจะเข้าใจ คือสิ่งที่ปรากฏทางตานี่เข้าใจว่าถ้าไม่มีเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดขึ้นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นความต่างรู้ด้วยสัญญา รู้ด้วยวิญญาณ รู้ด้วยปัญญา ต่างกันมาก เพราะว่าอยู่ในโลกของอวิชชา ความไม่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เปรียบเทียบความไม่รู้กับความรู้ว่าต่างกันแค่ไหน เวลาที่โมหะใช้คำว่าเจตสิกก็ได้ สภาพที่ไม่รู้ สภาพที่หลงเกิดขึ้น ขณะนั้นจะเป็นความเข้าใจถูกตรงตามลักษณะที่ปรากฏซึ่งมีจริงๆ เพราะเกิดแล้วก็ดับไปไม่ได้เลย นั่นคือความไม่รู้ แม้ว่าจะฟังเรื่องชื่อต่างๆ เรื่องจิตเรื่องเจตสิกนั่นก็ด้วยความจำ แต่ว่าลองคิดดู เห็นไม่รู้เลยว่าเป็นธรรมจึงมีความยินดีติดข้องในเห็น และในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่รู้ตัวเลยรวดเร็ว แต่คิดถึงปัญญาของพระอรหันต์ไม่มีกิเลสเลยเพราะดับกิเลสหมดไม่เหลือเลยแม้แต่กิเลสซึ่งไม่เกิดคืออนุสัยซึ่งเป็นพืชเชื้อนอนเนื่องอยู่จิตทุกขณะ พร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด ไม่มีเพราะปัญญาที่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าปัญญาก็มีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังก็เป็นเรื่องจำสิ่งที่ได้ฟัง และเริ่มเข้าใจถูก ทำให้คิดถูก คิดว่าว่าขณะนี้เป็นธรรม คิดถูกใช่ไหม ไม่ผิดเลย แต่แค่คิดยังไม่ใช่รู้ถูก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเพียงจำ เพียงฟังก็เป็นแต่เพียงคิดถูก แต่ว่ากว่าจะรู้ความต่างกันของความเข้าใจขั้นฟัง กับการเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ก็ต้องต่างกัน มิฉะนั้นก็จะไม่ใช้ คำว่า "สติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน" เพราะเหตุว่าต้องต่างกับสติในขณะที่เป็นฝ่ายทานบ้าง หรือศีลบ้าง หรือความสงบของจิตบ้างในแต่ละวัน แต่ก็ไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏสะสมมามากมายมหาศาลสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น กว่าความไม่รู้นั้นจะลดน้อยลงด้วยการฟังเข้าใจ และเริ่มรู้ลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งสามารถที่จะไม่มีอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้น ก็เป็นการอบรมของปัญญา เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าเห็นแล้วไม่รู้ยังเกิดได้ ต่อมาทันทีเลย ใช่ไหม พอเห็นดับสัมปฏิจฉันนจิตดับ สันตีรณะดับ โวฏฐัพพนะดับ อวิชชา หรือความไม่รู้ก็เป็นอกุศลที่ประกอบด้วยโลภะ ด้วยโทสะ หรือแม้ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แทนที่จะเป็นอย่างนั้นเป็นปัญญาที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงจนกิเลสเกิดไม่ได้ นั่นคือความต่างกันของอวิชชา และวิชชา ความไม่รู้เป็นความไม่รู้แน่นอน ส่วนความรู้ก็เป็นความรู้แน่นอน ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจึงชื่อว่าปัญญา เพราะไม่ใช่เพียงฟัง ไม่ใช่เพียงคิด ไม่ใช่เพียงจำแต่เป็นการเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แล้วไม่ลืมที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรมมีลักษณะอย่างนั้น เกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ทางกายถ้าเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวเป็นลักษณะของรูปที่กระทบกับกายปสาท กายปสาทรูปแล้วก็กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้ลักษณะที่ปรากฏ อันนี้พอจะเข้าใจ แต่พอลักษณะของความปวดเกิดขึ้นนี่

    ท่านอาจารย์ ก็ความปวดไม่แข็งไม่ใช่ หรือ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ความปวดไม่เย็นไม่ใช่ หรือ ความปวดก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปวด

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่รู้ลักษณะของปวด

    ท่านอาจารย์ ธาตุรู้สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือว่าจะรู้สภาพปวด

    ผู้ฟัง ก็สิ่งใดปรากฏก็ต้องรู้สิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ เลือกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจลักษณะที่มีจริงทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง แต่จะต้องมีจิตที่รู้ลักษณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เราก็ไปคิดอยู่ตลอดเวลาตามที่เราได้เรียน เพราะฉะนั้น เราเอาหนังสือมาแล้วเราก็เข้าใจว่าเราจะเข้าใจธรรมโดยหนังสือที่เราได้ฟัง ที่เราได้อ่าน ที่เราได้คิดมาแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริง เดี๋ยวนี้มีธรรม หรือเปล่าตรงตามที่เคยเข้าใจไม่ว่าจะโดยฟัง โดยอ่าน โดยคิด โดยพิจารณา หรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    13 ม.ค. 2567