พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 604


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าอันนี้จะนำไปสู่การตอบปัญหาของคุณพิสิษฐ์ แต่ควรจะได้ตามข้อความที่เราได้ฟังจากพระไตรปิฎก เพราะว่าทุกคำควรจะมีความเข้าใจจริงๆ ชัดเจน มั่นคง ไม่อย่างนั้นไปพบคำอื่นอีกก็ไม่เข้าใจอีก เพราะมีคำว่า “มิตร” อีกหลายแห่ง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า มิตรต้องไม่ใช่ศัตรูแน่ มิตรตรงกันข้ามกับศัตรู มิตรคือผู้ที่หวังดีต่อหน้า และลับหลัง ทั้งกาย วาจา ใจไม่คิดร้ายต่อเพื่อน

    เพราะฉะนั้น หายาก หรือหาง่าย เห็นกัน เดี๋ยวก็โกรธกัน มิตร หรือไม่ขณะที่โกรธ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ มิตรแท้คือผู้ที่หวังดี พร้อมทำประโยชน์เกื้อกูลทุกสถานทั้งต่อหน้า และลับหลัง และทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ นั่นคือมิตรผู้ที่หวังดี ในสังสารวัฏก็คงจะมีมิตร และศัตรูแน่นอน แม้ในปัจจุบันชาตินี้ หรือชาติต่อๆ ไป ก็จะมีทั้งคนที่หวังดี และหวังร้าย ถ้าเป็นศัตรูก็ตรงกันข้ามทุกประการ ทั้งกายวาจาที่ประพฤติต่อบุคคลนั้นก็เป็นไปในทางทำลาย และทำร้าย นั่นคือศัตรู

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าสามารถเข้าใจพระธรรมจริงๆ ด้วยปัญญาที่มีความเห็นที่ถูกต้อง เราก็จะรู้ตั้งแต่ต้นว่า ใครเป็นมิตร และใครไม่เป็นมิตร ก่อนจะพูดถึงเรื่องปัญญาเกิด และสะสมอยู่ที่ไหน ก็ต้องเข้าใจว่า การฟังพระธรรมแม้ในเรื่องธรรมดามาก แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงความลึกซึ้งชองธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง

    ด้วยเหตุนี้เมื่อเข้าใจคำว่า “มิตร” ก็พอจะรู้ว่า ใครเป็นมิตรบ้าง เวลาไหน กำลังโกรธเป็นมิตรไหมคะ อย่างไรๆ ยังมีความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจที่ยังไม่ได้ดับ ก็ยังไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทคุ้นเคยกันมานาน หรือวงศาคณาญาติก็ยังมีกาละที่โกรธ ขณะนั้นเป็นมิตร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สั้นมาก ชั่วขณะตามสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปทุกอย่าง

    นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเข้าถึงคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรม แม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องใดก็ตาม ก็จะต้องหมายความถึงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้มิตรก็หายากแล้ว หรือหาง่าย ตามกาลด้วย ตามสถานการณ์ด้วย แต่ยังทรงแสดงถึงกัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นมาอีก กัลยาณมิตรจะต่างกับมิตรไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องต่างแน่ เพราะมิตรก็อาจจะช่วยในสังสารวัฏ ไม่ว่าในเรื่องการงาน ในธุรกิจ ในความเป็นอยู่ แต่กัลยาณมิตรต้องเหนือกว่ามิตร เพราะเหตุว่าสามารถให้สิ่งที่มิตรให้ไม่ได้ มิตรที่ให้กันมาแล้วในสังสารวัฏ ก็ให้ความสะดวกสบาย ให้การอุปการะ ให้ประโยชน์ แต่กัลยาณมิตรเป็นมิตรที่งามเหนือกว่ามิตรธรรมดา ให้สิ่งที่คนอื่นให้ไม่ได้ คือ ปัญญา มีมิตรที่ให้ปัญญาเมื่อไร เมื่อนั้นรู้ว่า บุคคลนั้นเป็นกัลยาณมิตร สูงสุดคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงพระธรรม มีใครจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่สามารถคิดเอง และเข้าใจเองได้ แม้ว่าขณะนี้ก็กำลังมีอยู่ ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงนั้นได้เลย

    ด้วยเหตุนี้กัลยาณมิตรก็เหนือกว่ามิตรธรรมดา สูงสุดคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากให้ปัญญาก็ยังให้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเป็นสภาพที่มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีปัญญา ความเห็นถูก ความคิดต่างๆ จะถูกไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ตามปัญญา วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดมาก แต่ไม่รู้เลยว่า ที่คิดนั้นเป็นความคิดที่ดี หรือไม่ดี แต่คิดแล้ว แต่ใครจะบอกให้รู้ว่า เมื่อมีปัญญา มีความเห็นถูกต้องแล้ว ความคิดก่อนๆ ซึ่งเคยคิดไปในทางไม่ดี ในทางเบียดเบียน ในทางติดข้อง ในทางเอาเปรียบ ในทางขาดเมตตา นานาประการในความคิดเหล่านั้นก็จะค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ลด แล้วเพิ่มทางฝ่ายกุศลขึ้นได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมไม่ผิวเผิน ถ้าเผินก็คือไม่ได้สาระจริงๆ ได้เพียงชื่อ เพียงคำ เช่น สามารถบอกได้ว่า มิตรเป็นอย่างไร และกัลยาณมิตรเป็นอย่างไร แต่ถ้าเข้าใจมั่นคงจริงๆ ก็สามารถทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นมากกว่าที่เคยเป็น ที่เคยเข้าใจธรรมะเพียงผิวเผิน

    เมื่อวานนี้ก็มีผู้ถามว่า ฟังธรรมะแยบคาย ฟังอย่างไร น่าคิดไหม ฟังกันมานาน นานแล้วแต่ก็ยังถามว่า ทำอย่างไรถึงจะฟังธรรมะโดยแยบคาย คือ ไม่เข้าใจคำว่า “แยบคาย” ก็หาวิธีแยบคายที่จะฟังธรรมะให้แยบคาย คิดอย่างนี้แยบคาย หรือไม่ ไม่แยบคาย เพราะเหตุว่าไม่ใช่หาวิธี แต่ขณะที่ฟังเดี๋ยวนี้ เข้าใจความหมายของคำว่า “ฟัง” ไม่ได้คิดเรื่องอื่น นอกจากได้ยินคำใด ก็ไตร่ตรองฟังให้เข้าใจคำที่ได้ยิน ขณะนั้นจึงชื่อว่า “ฟัง”

    ด้วยเหตุนี้แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก่อนที่จะทรงแสดงพระธรรม ก็ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าความคิดของคนในขณะนี้ หรือขณะไหนก็ตามคิดมาก โดยไม่รู้เลยว่า มากมายสักแค่ไหน เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ในขณะนี้แม้ ณ ที่นี้ต่างคนต่างคิด ถ้าไม่พูดถึงว่า ขณะนี้กำลังฟังเรื่องมิตร ฟังเรื่องธรรมะ เพื่อจะได้เข้าใจธรรมะ เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็คิดไปเรื่องอื่นอีก

    เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเข้าใจที่ว่า ฟังอย่างไรจึงจะแยบคาย ก็คือว่าฟังจริงๆ รู้ว่ามีเสียง และเสียงนั้นก็มีความหมาย และความหมายของเสียงนั้นหมายความลึกซึ้งอย่างไร ก็ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจ

    ด้วยเหตุนี้จะฟังเพียงกัลยาณมิตรธรรมดา หรือกัลยาณมิตรผู้สูงสุด เลิศประเสริฐกว่าบุคคลใดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นโอกาสจะได้ยินได้ฟัง เพราะว่าเรามีพระไตรปิฎก และมีการศึกษาธรรมะ แต่ต้องละเอียดจริงๆ แม้แต่ในขณะที่ฟัง

    ขณะนี้ถ้าจะพูดถึงปัญญา ก็มีปัญญามากมาย แม้แต่กำลังฟัง เข้าใจขณะใดเป็นเรา หรือเป็นธรรมะ หรือเป็นความเห็นผิด หรือเป็นความเห็นถูก หรือเป็นปัญญา

    นี่ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่รู้ถึงธรรมะจริงๆ ความเข้าใจจากการได้ยินได้ฟังไม่ใช่การไม่เข้าใจ หรือไปคิดเรื่องอื่น ไปเข้าใจสิ่งอื่น แต่กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังจริงๆ นี่เป็นความที่ต้องตรง และละเอียด

    เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ทราบว่า ทุกคนเข้าใจมากน้อยแค่ไหนแล้วจากการฟังมานาน แม้คุณพิสิษฐ์เอง จิตเป็นธรรมดา หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตมีหน้าที่รับรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า จิตเป็นธรรมดาไหม เพราะว่าทุกคนมีจิต

    ผู้ฟัง เป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ รู้จักจิต หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็คงรู้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่รู้ลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาจนไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นจิต อย่างนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังโดยละเอียด โดยความไม่เผิน คำเดียวแท้ๆ ได้ยินมานานแสนนาน แต่เข้าใจอยู่ในระดับไหน เพราะแม้ขณะนี้เป็นจิตที่ได้ยิน รู้ไหมว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น การฟังเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อไรเมื่อนั้นก็เป็นความแยบคาย

    ทุกคนไม่สงสัยเวลาได้ยินคำว่า “จิต” เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเคยชินเลยไม่สงสัย

    ท่านอาจารย์ เพราะมีจิต รู้ว่าอะไรมีจิต อะไรไม่มีจิต นกมีจิตไหม (มี) งูมีจิตไหม (มี) คน (มี) เทพ (มี) พรหม (มี) ต้นไม้ (ไม่มี) ก็ตรงก็คือว่าเพียงเท่าที่สามารถจะรู้ได้ว่า มี และไม่มี แต่แม้กระนั้นทั้งๆ ที่มีอยู่ เดี๋ยวนี้ก็มี ไม่ได้ปราศจากจิตเลยสักขณะเดียว แต่รู้จักจิต หรือยัง (ยัง) จึงต้องฟังแล้วฟังอีก เพราะว่าสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังไม่ได้อยู่ไกลเลย ใกล้ที่สุด และทุกขณะด้วย พร้อมที่จะให้เข้าใจได้ แต่เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก เพราะว่าเพียงตอบว่า จิต แต่ไม่รู้จักจิต นี่ก็แสดงถึงความลึกซึ้งของจิตแล้วว่า จิตมี

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเริ่มเข้าใจจิต มีจริงๆ เป็นของใคร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะ ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เป็นจิตทั้งหมดเลย ไม่เป็นของใคร ถ้าฟังอย่างนี้เข้าใจจะรู้ว่า ไม่มีเรา จะคลายแม้แต่การที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในขั้นของการฟัง เพราะว่าขณะนี้ไม่มีเรา ไม่มีเขาที่กำลังฟัง แต่เป็นจิตซึ่งกำลังมีที่กำลังมีทำหน้าที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตลอดเวลา โดยไม่มีใครรู้ความจริงของสภาพธรรมถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ถ้าตั้งต้นอย่างนี้ ง่ายๆ อย่างนี้ จริงๆ อย่างนี้เดี๋ยวนี้ก็มี คนฟังเข้าใจ แยบคายไหม

    ผู้ฟัง แยบคาย

    ท่านอาจารย์ เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “แยบคาย” ถ้าพูดถึงจิตก็รู้เลยในขั้นของการฟังว่า เดี๋ยวนี้เป็นจิต และความเข้าใจนั้น ภาษาบาลีไม่มีคำว่า เข้าใจ แต่ใช้คำว่า สัมมาทิฏฐิบ้าง ใช้คำว่า “ปัญญา” บ้าง

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เข้าใจเป็นธรรมะ หรือไม่ หรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ และเวลาที่เข้าใจ ความเข้าใจนั้นเป็นจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิต เป็นธรรมะ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือเริ่มสับสนในคำว่า ธรรมะ ในคำว่า จิต ในคำว่า เรา ซึ่งความละเอียดต้องมีตั้งแต่เบื้องต้นว่า สิ่งที่มีจริงจะใช้คำว่าอะไร ภาษาไทยก็ใช้คำว่า มีจริง แต่ภาษาบาลีใช้คำว่า “ธรรมะ” และ “สัจจะ” ถ้าไม่มีธรรมะ จะพูดถึงอะไร ก็ไม่สามารถพูดถึงอะไรได้เลย แต่ว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ก็มี พูดเพื่อให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมะ จิตก็เป็นธรรมะ ขณะนี้ไม่มีใครเลย มีธรรมะ คือจิตเกิดขึ้น แล้วก็ดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ ขณะที่กำลังฟัง และเข้าใจเป็นชั่วขณะหนึ่ง เป็นได้ยิน หรือไม่ ขณะที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ นี่แยบคาย หรือไม่แยบคาย ไปเรื่อยๆ หมายความว่าถ้าฟังธรรมะแล้วแยบคายก็คือเข้าใจ แต่ถ้าไม่แยบคายก็คือไม่เข้าใจ ขณะที่ฟังธรรมะ ฟัง เป็นธรรมะ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมะอะไร

    ผู้ฟัง เป็นธรรมะที่ได้ยินทางโสตปสาท

    ท่านอาจารย์ คือได้ยิน ถ้าไม่ได้ยินจะเป็นฟังไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องได้ยินแน่นอน แล้วเวลาได้ยินแล้วฟังคำที่ได้ยินเข้าใจ เข้าใจเป็นได้ยิน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ต้องละเอียด ต้องแยบคาย ต้องไม่เผิน และที่เข้าใจไม่ใช่ได้ยินใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเป็นธรรมะ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรมะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นธรรมะ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องคิดถึงชื่อเลย แต่คิดถึงตัวธรรมะจริงๆ ขณะนี้ทั้งหมดเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยิน เข้าใจ เข้าใจเป็นได้ยิน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น คนละส่วน

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไร คนละส่วน

    ผู้ฟัง ได้ยินก็เป็นส่วนหนึ่ง เข้าใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วคำว่า ส่วน หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นแต่ละขณะจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเป็นธรรมะอะไร ประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นปัญญาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ และได้ยินเป็นปัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ นี่คือถ้าเราจะฟังให้เข้าใจธรรมะ เกือบไม่ต้องใช้ชื่อ หรือคำ เข้าใจก่อนแล้วเรียกชื่อทีหลังได้ไหม หรือไปเอาชื่อมาก่อนแล้วหาว่า ชื่อนี้อยู่ที่ไหน อย่างไร แล้วจะเรียกกี่ชื่อดี นี่คือไปสนใจเรียกชื่อ แต่ไม่ได้สนใจว่า ธรรมะเป็นธรรมะ ปัญญาที่เข้าใจก็ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะจึงต้องแยบคาย ปัญญาเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วไปไหน

    ผู้ฟัง ก็สะสมต่อๆ ไป

    ท่านอาจารย์ แล้วคำถามตอนต้นว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ถามว่า เมื่อปัญญาเกิดแล้วดับ ปัญญาจะสะสมที่ไหน แล้วจะเจริญได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วตอนนี้ตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ตอบว่า ปัญญาเกิดแล้วดับ แล้วสะสมอยู่ในจิต

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำตอบของคำถามด้วยตัวเอง ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่ปัญญาของคนอื่น ไม่ใช่ปัญญาของกัลยาณมิตร แต่ว่าปัญญานั้นมาจากการฟัง ไตร่ตรอง เข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจของตัวเองจึงจะเป็นประโยชน์ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม ไม่ใช่ให้เราตาม พระองค์ใช้คำนี้เราก็พูดคำนี้ แต่ไม่รู้ว่า หมายความว่าอะไร บอกอะไรมาก็ท่อง หรือตามโดยไม่รู้หมายความว่าอะไร แต่พระประสงค์ที่ทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกให้เห็นถูก เข้าใจถูกของตนเอง ไม่ใช่ของคนอื่น ไม่ใช่ของพระองค์

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ในพระมหากรุณาที่จะให้คนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจสามารถฟังแล้วเกิดความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นถูก ซึ่งจะหาได้ที่ไหน เงินซื้อได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่การฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณาแยบคายเป็นความเข้าใจขึ้นของตัวเอง ก็ไม่มีหนทางเลย เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมทุกครั้งด้วยความเคารพสูงสุดที่จะไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องของตัวเอง

    ตอบแล้วใช่ไหม ด้วยตัวเองด้วย

    ผู้ฟัง เมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์บอกว่า ปัญญามีการสะสม แต่ในพระสูตรนี้ทำไมบอกว่า มีการเสื่อมของปัญญา อยากจะทราบว่า มีเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ปัญญานี้เสื่อม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ แต่ดับแล้วจะสะสมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้วก็สะสม แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ แล้วเกิดอีก หรือไม่เกิดอีก

    ผู้ฟัง เกิดอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าเกิดบ่อยๆ เจริญไหมคะ

    ผู้ฟัง เจริญ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่เกิด จะชื่อว่าเจริญไหม ก็เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่า ถ้าไม่สะสมปัญญา ปัญญาก็จะเสื่อมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปัญญาไม่เกิด กุศลจิตไม่เกิด อะไรเกิด

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังด้วยความแยบคาย เจริญคือเกิดขึ้นบ่อยๆ มากขึ้น เสื่อมก็คือไม่เกิด ตรงกันข้ามกับเจริญ

    ผู้ฟัง คนเราเกิดมาเป็นการสะสมของกรรมในอดีต อย่างเราอยู่ในครอบครัว หรือสังคม ยังมีผู้คนที่เรารู้จักยังอยู่ในวังวน หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี หรือพบมิตรไม่ดี เราจะเกื้อกูลเขาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้เราฟังเรื่องจิต เป็นเรา หรือเป็นเขา หรือเป็นจิตแต่ละจิตที่สะสมมาต่างๆ กันไป ถ้าจิตนั้นไม่มีความเห็นถูกมั่นคง จะเกื้อกูลคนอื่นได้ไหม จะเกื้อกูลอย่างไร

    ผู้ฟัง แต่เราสงสารเขาว่า ถ้าเขายังอยู่ในวังวนก็จะทำให้

    ท่านอาจารย์ นี่ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องจิต แต่กำลังคิดถึงเรื่องเรา และคนอื่น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็ต้องรู้ว่า ฟังเพื่อให้รู้ความจริง ถ้ายังไม่รู้ความจริงก็ยังคงเป็นเรา เป็นเขา เป็นคนอื่น เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเมื่อไรการฟังจะทำให้เข้าใจความจริงที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมคือเริ่มเข้าใจคำว่า “ธรรมะ” มั่นคงขึ้น ขณะที่กำลังคิดเป็นธรรมะ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง เกิดสลับกัน

    ท่านอาจารย์ นี่คือไม่รู้จริงๆ ว่า ขณะที่เกิดนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ได้แต่จำเรื่องว่าสลับกันแน่นอน เพราะว่ากุศลก็ดับ อกุศลก็ดับ ก็เลยตอบว่า สลับกัน แต่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งจะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริง และกำลังมีจริงในขณะนี้ด้วย มิฉะนั้นเมื่อไรจะถึงกาละที่สามารถรู้จักจิต เข้าใจจิตตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าคิดเรื่องอื่นตลอด

    ผู้ฟัง เมื่อจะศึกษาพระธรรม แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ฟังจากกัลยาณมิตร หรือไม่ใช่กัลยาณมิตรเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังเข้าใจธรรมะที่ได้ฟังถูกต้อง ตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นความจริง หรือไม่จริง ฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟังซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ตรงตามความเป็นจริง หรือไม่ เช่น กล่าวถึงเรื่องจิต หรือเรื่องธรรมะ เริ่มจากการเข้าใจว่า ขณะนี้มีจิตแน่นอน แล้วจิตก็เป็นธรรมะ ขณะนี้พูดอย่างนี้ถูก หรือไม่

    ผู้ฟัง คือกล่าวสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ถามว่าขณะนี้อะไรจริง

    ผู้ฟัง ก็มีเห็น มีได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นมีจริงใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ พูดเองว่า เห็นมีจริง เพราะมีจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ใช้คำว่า “ธรรมะ” ได้ไหม หรือจะใช้คำอะไร เพราะทุกอย่างที่มีจริง มีลักษณะหลากหลายต่างๆ กัน ทั้งหมดที่มีจริงก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี หรือไม่จริง แต่พูดถึงสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงทั้งหมดใช้คำเดียวว่า “ธรรมะ” ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงธรรมะแล้วเข้าใจขึ้น คนนั้นพูดถูก หรือพูดผิด

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงธรรมะแล้วเข้าใจขึ้น ก็พูดถูก

    ท่านอาจารย์ สำคัญที่คนฟัง ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังถูก หรือผิด ต้องเป็นตัวเองที่รู้ ถ้าไม่ไตร่ตรองเลย ทุกคนถูกหมด พูดอะไรก็ถูก จริงไหม

    ผู้ฟัง ไม่น่าจะจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าฟังแต่ละคำ รู้ความต่างของสิ่งที่จริงกับสิ่งที่ไม่จริง เริ่มรู้ว่า ขณะนั้นคำไหนจริง คำไหนไม่จริง อย่างจิตขณะนี้เกิดเห็น ขณะนี้มีเห็น ถ้าบอกว่าเราเห็น หรือเราทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เราลืมตาเราก็เห็น อย่างนั้นถูกไหม

    ผู้ฟัง ถ้าพูดว่าเราเห็นก็ไม่ถูก เพราะจริงๆ แล้วเป็นจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ ก็บอกว่าเราทำได้ เราลืมตาเราก็เห็น อย่างนั้นถูกไหม

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ทำให้เข้าใจอะไรเลย ในความจริงของเห็น ก่อนจะพูดถึงลืมตา กว่าจะพูดถึงทำ กว่าจะพูดถึงอะไรทั้งหมด เพียงคำเดียวว่า “เห็น” มีจริงๆ หรือเปล่า ก็กำลังมี เมื่อมีแล้ว ความจริงของเห็นคืออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    9 ก.พ. 2567