พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 601


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ อยู่คนเดียวกับความคิดมาโดยตลอดหลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นที่พึ่งได้ไหม ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งนั้น จะเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ทางอาชีพมากมาย พึ่งได้ไหม กับขณะที่กำลังเข้าใจธรรมขณะนั้นเป็นที่พึ่ง คือ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ในขณะที่กำลังรู้ว่าไม่มีอะไรเลยทั้งหมดว่างเปล่า เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อดับก็ว่างแล้วสิ่งนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นที่พึ่ง หรือไม่ แม้ในขณะนั้นเอง และในขณะต่อๆ ไปจนกระทั่งถึงชาติต่อๆ ไปด้วย ตรงกันข้ามถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วมีความติดข้อง พึ่งได้ไหม พึ่งไม่ให้มีความติดข้องได้ไหม สิ่งที่ปรากฏไม่น่าพอใจ พึ่งไม่ให้เกิดโกรธได้ไหม ก็ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ที่พึ่งจริงๆ ก็คือปัญญาความเห็นถูก ซึ่งเมื่อขณะใดเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดได้เลย และถ้ามีปัญญามาก อกุศลที่สะสมมาทั้งหมดก็สามารถที่จะดับไม่เกิดอีกเลย ดี หรือไม่ พึ่งได้ หรือไม่ หรือจะพึ่งอกุศล ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย อกุศลไม่ใช่ที่พึ่ง

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่กล่าวถึง มรรค เครื่องนำออกอย่างอื่นนอกจากมรรคก็ไม่มี และมรรคจะไม่เป็นเครื่องนำออกก็หาไม่ได้ ในขั้นการฟัง ฟังอย่างไรจะเป็นไปเพื่อความรู้ ไม่ใช่เพียงจำในหนังสือเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เข้าใจก็ละความไม่รู้ และความไม่เข้าใจ พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อละ ละอกุศล และละกุศลด้วย เพราะถ้าตราบใดยังเป็นกุศลก็เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้พระธรรมนำไปสู่การละอกุศล การเจริญกุศล และดับอกุศลตามลำดับ อย่างพระโสดาบันท่านก็เป็นผู้ที่ไม่เห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ ละอกุศล ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เบาบางลง จนมีปัญญาถึงขั้นความเป็นพระอนาคามี ก็ไม่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังยินดีในความเป็น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไร ก็รู้ว่าไม่มีความติดข้องใดๆ เหลืออยู่เลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ติดข้อง ดี หรือไม่ และออกจากอะไร มรรคออกจากอะไร สัมมาทิฏฐิ มรรคมีองค์แรกออกจากอะไร ออกจากความเห็นผิด และอริยสัจจะที่ ๒ ละอะไร ละสมุทัย ไม่อย่างนั้นก็ไม่ถึงอริยสัจจะที่ ๓ คือ นิพพาน ก็เป็นการนำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมดออก ทีละองค์ก็ได้ จากสัมมาทิฏฐิถึงสัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก ปกติทั้งวันคิดเรื่องอะไร ก็เป็นไปในเรื่องของอกุศล แต่สัมมาสังกัปปะก็ตรงกันข้าม คิด ตรึกในเรื่องที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องที่เป็นกุศล ในทางออกจากอกุศล แม้แต่สัมมาวาจาเกิดขึ้นก็ออกจากมิจฉาวาจา คำพูดที่ไม่น่าฟัง ที่เป็นโทษต่างๆ สัมมากัมมันตะ ก็ออกจากประทุษร้ายเบียดเบียน คือ ทุกมรรคเป็นเรื่องนำสิ่งที่ไม่ดีออกไป

    อ.คำปั่น จากการที่ได้ฟังธรรม ศึกษาธรรมในแต่ละวันๆ ก็เห็นประโยชน์ของการเจริญขึ้นของปัญญา ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงขณะนี้ ท่านอาจารย์ก็ได้เตือนในเรื่องความมีที่พึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า สิ่งใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลจะมีที่พึ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา บ้านช่อง เครื่องใช้ต่างๆ หรือญาติสนิทมิตรสหายที่คอยช่วยเหลือกิจการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่นั่นเป็นที่เพียงพึ่งชั่วคราวจริงๆ เพราะเหตุว่าที่พึ่งที่แท้จริง คือ ความเป็นผู้ที่เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งก็คือปัญญานั่นเอง ปัญญาจะมาจากไหน ถ้าหากว่าไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันแล้ว ปัญญาก็จะเจริญขึ้นไม่ได้เลย เมื่อเช้ารายการธรรม “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ท่านอาจารย์กล่าวเตือนไว้ตอนหนึ่งว่า "อยู่ไปอย่างไร ก่อนจะตายจากโลกนี้" เป็นเครื่องเตือนสติของแต่ละบุคคลจริงๆ เพราะเหตุว่าชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นก็ไม่ยืนยาว และที่สำคัญไม่มีใครรู้ได้ว่า วันสุดท้ายของชีวิตในชาตินี้ ภพนี้จะมาถึงเมื่อไร เพราะฉะนั้น การจะมีธรรมเป็นเครื่องอยู่จริงๆ ก็ต้องอาศัยการฟังธรรม อาศัยการศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ท่านเป็นผู้สรรเสริญการฟังธรรมไว้ ซึ่งเมื่อเช้าท่านอาจารย์ก็ยกมาท่านหนึ่ง คือ ท่านกุมาปุตตเถระได้สรรเสริญการฟังธรรมว่า การฟังเป็นความดี เพราะเหตุว่าการจะถึงความเป็นผู้มีที่พึ่งอย่างแท้จริงอย่างสูงสุดนั้นจะปราศจากการฟังพระธรรมไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ก็มีข้อความที่ว่า ผู้ใคร่ในการศึกษาจะเป็นผู้เลิศ วันหนึ่งก็จะเป็นผู้เลิศเมื่อมีการใคร่ในการศึกษา เพราะว่ามีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ก็สามารถที่จะหมดกิเลสได้

    ผู้ฟัง การศึกษา การฟังไปเรื่อยๆ ตลอด ต้องตั้งใจฟังจริงๆ มุ่งมั่น และมั่นคง สำคัญมากๆ อย่างบางครั้งรู้สึกท้อแท้ อาจเพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้การฟังธรรมไม่ลุล่วงได้ด้วยดี แต่ต้องอย่าลืมว่า วิริยะ และความมั่นคงต่างๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จคือความเข้าใจถูกต้องได้ อย่างนี้ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง จริงอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ จริงก็ถูก เพราะว่าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ธรรมแต่ละอย่างมีปัจจัยเกิดเป็นอย่างนั้นแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง ถูกต้อง บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ความคิดก็เกิดคิดอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ทุกอย่างหมดเลย จนกว่าปัญญาสามารถที่จะเห็นความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นคิด แต่เป็นขั้นที่กำลังเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ ก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่พอเป็นปกติจะว่าง่าย หรือว่ายาก เป็นปกติจริงๆ ง่าย หรือยาก ไม่ต้องไปทำอะไรเลยเพราะอยากทำ อยากทำอย่างอื่นให้รู้มากๆ นี่คือมองไม่เห็นเลยว่า แม้จะอยากจะรู้มาก็คิดว่าอยากจะทำให้รู้มากขึ้น แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า สิ่งที่มีจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ขณะที่ทรงตรัสรู้ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง ขณะนั้นเพราะความลึกซึ้งของธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทรงแสดง และไม่ได้หมายว่าท้อพระทัย เพียงแต่ขณะที่เห็นความยาก ก็รู้ว่ายากอย่างนี้จะสอนใคร มีผู้ที่สามารถรับฟังได้แน่นอน แล้วต่างกันด้วย แล้วแต่สะสมมาที่จะฟัง และสามารถที่จะเข้าใจได้ทันที หรือว่า ยัง ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งเป็นความจริงของแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะต่อไปจะเป็นธรรมอะไร หรือแม้แต่จะคิดอะไร ก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลย ต่อเมื่อไหร่สภาพธรรมเกิดแล้ว เมื่อนั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ แล้วมีธรรมอื่นเกิดต่อ ก็ไม่รู้อีก จนกว่าจะทั่วในลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดถึงแบบแผนว่า จะอย่างนั้น หรืออย่างนี้ แต่ว่าเข้าใจเมื่อไร เวลาฟังก็รู้ว่า ได้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแล้วด้วย และสิ่งที่ได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้วเพิ่มขึ้นด้วย คือเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เพราะพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ตลอดชีวิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีเรื่องอื่นที่จะพูด เพราะว่าคิดได้สารพัด ไม่ว่าวันไหนคิดอย่างนี้ อีกวันหนึ่งคิดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือคิด คิดแล้วดับแล้ว หมดแล้ว หลับสนิทหมดเลย ไม่เหลืออะไรเลยทั้งสิ้น ตื่นมาเห็นใหม่ คิดใหม่ ก็เรื่องใหม่ ก็เป็นอย่างนี้ เกิดมาเห็น แล้วก็คิด เกิดมาได้ยินแล้วก็คิด แล้วตายไปก็เกิดอีก เห็นอีก ได้ยินอีก คิดอีก จนกว่าจะรู้ว่า ว่างเปล่าจากสิ่งที่เข้าใจว่ามีจริงๆ และมีมากมาย แต่ความจริงมีจริงชั่วขณะที่เกิด และน้อยมาก คือมีแค่นั้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลืออีกเลย ถ้าฟังอย่างนี้ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วก็เป็นปกติ จึงได้ถามว่า เมื่อฟังแล้วเป็นปกติ หรือไม่ ถ้าเป็นปกติก็คือฟังแล้ว ได้ยินแล้ว ดับแล้ว มีสิ่งอื่นเกิดต่อ ก็เป็นปกติ เข้าใจเป็นปกติ ไม่เข้าใจเป็นปกติ ทุกอย่างที่เกิดเป็นปกติ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ทั้งหมดมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จะไปทำให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ก็คือเข้าใจชีวิตที่ไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรม แล้วก็รู้ว่า แท้ที่จริงถ้าไม่มีธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นก็ไม่มีอะไร ชีวิตก็ไม่มี อะไร อะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แต่สิ่งที่มีนั่นเองคือธรรม ซึ่งมีเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป

    ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ เป็นปกติ เพื่อที่จะละการที่จะไปทำ เพื่อที่จะให้ไม่รู้สิ่งที่มีแล้วตามปกติในขณะนี้ ก็จะได้ยินอย่างนี้ ซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำมาซ้ำไป เพราะยังไม่รู้ลักษณะที่ปรากฏ ถ้ารู้แล้วก็ต่อไปได้ แต่ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินว่าเป็นธรรม แล้วก็เกิดดับ แต่ก็ยังไม่รู้เฉพาะลักษณะของธรรมอย่างเดียว ทีละอย่างที่เกิดปรากฏจริงๆ

    เรื่องโลภะมีมาก โลภะอย่างนั้น โลภะอย่างนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟังแล้วอยากรู้จักโลภะ หรือไม่ โลภะอยู่ไหน จะได้รู้จักโลภะ หาโลภะไม่เจอ จะรู้จักโลภะได้ไหม ฟังแต่เรื่องของโลภะมากมาย ชื่อต่างๆ นันทิ ราคะ เป็นเรื่องของสภาพความติดข้อง ความเพลิดเพลินทั้งนั้น และมีจริงๆ ด้วย ข้อสำคัญไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี แต่พูดถึงสิ่งที่มีจริง แม้มีจริง และฟังเรื่องราวของโลภะ อยากรู้จักโลภะ หรือยัง หรือยังไม่อยากรู้จักโลภะ รู้ว่ามี แต่รู้จัก หรือยัง มีแล้วไม่รู้จัก จะมีประโยชน์ หรือไม่ เพราะฉะนั้น ควรรู้จักโลภะไหม เพราะว่าโลภะมีจริงๆ ก่อนจะรู้จักโลภะ ต้องรู้ว่าโลภะอยู่ที่ไหนจะได้รู้จัก

    ผู้ฟัง ไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็น จะชอบสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ ชอบเมื่อเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น ชอบสิ่งที่ปรากฏให้เห็นโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น โลภะมีขนาดที่จะใช้คำว่าเล็กจิ๋ว ยิ่งกว่าจิ๋ว จนกระทั่งถึงตัวใหญ่มโหฬาร เผชิญหน้าเป็นไปก็ไม่รู้จัก ถูกต้อง หรือไม่ แม้กำลังปรากฏจริงๆ ก็ไม่รู้เลยว่านั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างจากสภาพธรรมอื่น

    เพราะฉะนั้น การฟังต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ปกติในชีวิตประจำวันเคยรู้ไหมว่า หลังจากเห็นแล้วเป็นอะไร เร็วแสนเร็ว เพียงแค่จักขุวิญญาณ ๑ ขณะจิตดับ จิตที่เกิดต่อรับรู้ รู้อย่างเดียวกันกับจักขุวิญญาณ รับอารมณ์นั้นรู้ต่อเป็นสัมปฏิจฉันนะ ๑ ขณะ และเมื่อดับไปแล้วก็มีจิต สันตีรณจิตที่รับรู้ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ๑ ขณะแล้วก็ดับ แล้วก็มีอีก ๑ ขณะจิต ซึ่งประมาณไม่ได้เลยว่าเร็วสักแค่ไหน เกิดขึ้นดับ หลังจากนั้นทันที ไม่รอเลย มีกำลังมาก แต่เป็นโลภะตัวจิ๋วๆ มองเห็น หรือไม่ เกิดแล้วเล็กมาก พระอรหันต์ทั้งหลายดับอาสวะ กามาสวะ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่บางเบาจนไม่รู้สึกถ้าไม่ใช่ปัญญาว่า มีแล้ว เกิดแล้วเร็วอย่างนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น เราสามารถที่จะเข้าใจโลภะ เวลาที่มีลักษณะมากขึ้น เพิ่มขึ้น เช่น เวลาที่เพลิดเพลินสนุกสนาน ใครบอกว่าเป็นโทสะบ้าง ไม่มีเลย นั่นก็เป็นลักษณะของโลภะ เรียกชื่อได้ แต่ตัวจริงๆ ที่กำลังเพลิดเพลินเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างลักษณะ เพราะธรรมทั้งหมดเว้นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ขณะนี้เท่านั้น นอกจากนั้นมืด กำลังสนุกสนาน ลักษณะสภาพที่สนุกสนานไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้เกิดชอบทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกระทั่งบางอย่างก็สะสมมาที่จะพอใจในสิ่งนั้น จนกระทั่งเป็นความเพลิดเพลิน เป็นความสนุกสนาน ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเป็นโลภะ เพราะเป็นเรา ต่อเมื่อไรมีความเข้าใจว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างจาก " เห็น "

    นี่คือความละเอียดของธรรม ซึ่งแม้ว่าธรรมมีลักษณะหลากหลายมาก และต่างกันไปเป็นแต่ละประเภท แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็รวมกัน ปนกันหมด เป็นเราเห็น และเราชอบ ทั้งเห็นก็เป็นเรา ทั้งชอบก็เป็นเรา ทั้งสนุกสนานพอใจก็เป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสิ่งนั้นมี บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วไม่หยุด ยังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นสืบต่อเรื่อยไป จนกว่าปัญญาสามารถที่จะเห็นว่า สิ่งที่เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไป ว่างเปล่า ไม่เหลือเลย มีสาระอะไร ก็เป็นการอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะที่มีจริงโดยไม่เลือก ขณะนี้เห็นจะไปเลือกรู้โลภะได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อะไรควรรู้ยิ่ง ต่อเมื่อไหร่โลภะปรากฏ ควรรู้อย่างอื่นไหม หรือควรรู้ลักษณะที่เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ บังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดโทสะ ไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดเห็น ได้ยิน ใครห้ามได้ มีปัจจัยก็เกิด แต่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา มีปัจจัยก็เกิด ส่วนใหญ่ทุกคนอยากจะให้โลภะเกิด อาหารต้องอร่อย เสียงต้องเพราะ กลิ่นต้องหอม อยากให้โลภะเกิด ถ้าเพียงกลิ่นกระทบจมูกแล้วหมดไปแล้วไม่เยื่อใย ไม่ติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วหมด ขณะนั้นไม่ต้องการให้มีสิ่งนั้นอีก แต่สะสมมาที่จะติดข้องในสิ่งนั้นมาก หรือน้อยก็แล้วแต่ แต่พิสูจน์ได้ว่า เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้วไม่รู้เลย จนกว่าลักษณะนั้นปรากฏมาก ชัด ความดีใจ ความสุขมาก ก็สามารถพอรู้ได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แต่ก็ยังเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น กว่าธรรมจะค่อยๆ ซึมลงไปถึงจิตที่สะสมอนุสัยกิเลสไว้มาก ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีการฟัง และมีการเข้าใจ เพราะการสะสมมีทั้ง ๒ ฝ่ายทั้งกุศล และอกุศล ถ้าฝ่ายดี อบรมเจริญไปมากขึ้น ไม่นำความเดือดร้อนมาให้เลย แต่ถ้าเป็นอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็นำมาซึ่งโทษภัยมากมาย ด้วยเหตุนี้อกุศลทั้งหลายจึงควรละให้หมดสิ้น

    ผู้ฟัง ขอเรียนถาม สิ่งที่ปรากฏทางตากับรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีว่า รูปารมณ์ แต่ภาษาไทยหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ จะเรียกอะไรดีในภาษาไทย บางคนบอกว่าสี แล้วคิดถึงสีต่างๆ แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง คือสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่มีจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งนี้ปรากฏให้รู้ว่ามีจริงไม่ได้เลย มีจริงเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วมีสภาพที่สามารถที่จะเห็นด้วย ถ้าไม่มีสภาพเห็น สิ่งนี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะเรียกอะไรก็ได้

    ผู้ฟัง จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ที่จิตรู้กับสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้มีจิต ใช่ไหม ทำไมรู้ว่ามีจิต สิ่งที่มีจริงที่คุณสุกัญญาพูด เพราะฉะนั้น จิตเป็นสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ทำไมรู้ว่ามีจิต

    ผู้ฟัง ก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็รู้ว่ามีจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะเห็น ขณะนั้นจิตมีจริงเพราะจิตกำลังเห็น

    ผู้ฟัง ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์เนื่องจากว่า เมื่อศึกษาธรรมแล้วทราบว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์ แต่ขณะที่จิตเกิดขึ้นต้องมีนามธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย แต่นามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตก็ไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิต

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ จิตรู้สิ่งใด เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตรู้สิ่งเดียวกันกับที่จิตรู้ ไม่ใช่รู้อื่น เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต

    ผู้ฟัง แต่ขณะเดียวกันนามธรรมเหล่านั้น ในบางขณะก็สามารถเป็นอารมณ์ของจิตในขณะอื่นๆ ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะมีจริง

    ผู้ฟัง ก็เลยสับสนในแง่ความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ว่า ขณะใดเป็นสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ กับเป็นความคิดนึกจากสิ่งที่เราได้รู้จากการศึกษามา

    ท่านอาจารย์ คิดนึกเป็นจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ตอบได้ว่าเป็นจิต แต่ละขณะๆ ยังไม่ได้รู้ลักษณะของการคิดนึก

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังบ่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยปราศจากขณะที่มีจิตเกิดขึ้นเลย และทีละ ๑ ขณะด้วย และที่โลกปรากฏ ทุกสิ่งทุกอย่างแม้คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็เพราะจิต ถ้าไม่มีจิต อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ

    เริ่มจะเข้าใจสภาพที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วหลงยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด ความจริงก็เป็นธาตุ หรือธรรมแต่ละอย่าง เช่น ที่ใช้คำว่า “จิต” หมายความถึงสภาพที่ไม่รูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เกิดขึ้นรู้ ทางตา คือกำลังเห็นเป็นจิต และเกิดขึ้นเมื่อมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิต และเจตสิกก็รู้สิ่งเดียวกันทีละ ๑ อย่าง แต่เร็วมากจนปรากฏเหมือนกับว่ารู้ทุกอย่างพร้อมๆ กันในขณะนี้ได้ แต่ความจริงต้องทีละขณะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตมากสักแค่ไหน ประมาณไม่ได้เลย เมื่อเห็นก็รู้เลยว่าเป็นอะไร เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏพร้อมกับรูปร่างสัณฐาน เป็นนิมิตต่างๆ ให้จำได้ว่าหมายความถึงอะไร แต่ความจริงจิตเกิดดับสืบต่อมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    6 มี.ค. 2567