พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 618


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ผู้ฟัง ชีวิตปกติเวลามีความสุขก็ไม่เคยคิดถึงธรรมเลย เพลิดเพลินไป วันหนึ่งๆ ก็มีแต่บัญญัติเป็นอารมณ์ จนกระทั่งกลับไปถึงบ้านก็นึกได้ว่า ตายจริง หมดไปแล้ว ๑ วันไม่ได้ฟังธรรม มีแต่อกุศลทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องตายจริงก็ได้ ความเป็นตัวตนทำให้ขณะนั้นทำให้ตายจริง

    ผู้ฟัง เวลามีความทุกข์ ก็รีบไปหาไอพอต เพราะคิดว่า เมื่อฟังแล้วทุกข์จะคลาย มันก็ไม่ใช่อีก ที่บอกว่า ธรรมเป็นเกราะ หมายความว่าต้องรู้ลักษณะในขณะนั้น เมื่อพิจารณาจริงๆ แล้ว ตลอดเวลาที่เกิดความทุกข์มาจากโลภะทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจถูกเท่านั้นเอง แล้วแต่ชีวิตจะเป็นอะไร ทุกข์เกิดขึ้นใครบังคับ แต่ละชีวิตไม่เหมือนกัน ทำไมคนนั้นไม่เป็นทุกข์ คนนี้เป็นทุกข์ เพราะเหตุนานาประการที่ต่างกัน แต่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมเท่านั้น ไม่ได้ไปหวังอะไรจากธรรม ฟังเพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูก ส่วนผลต้องเกิดแน่เมื่อมีเหตุคือความเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น รู้ได้เลยว่า เมื่อไรที่มีความเข้าใจแม้ในสิ่งที่กำลังปรากฏจะเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ก็สามารถเข้าใจได้ทั้งนั้น โดยไม่ใช่ตัวตนที่ไปเลือกว่า ยามสุขจะไม่เข้าใจ ยามทุกข์จะเข้าใจ

    ผู้ฟัง เวลาที่มีทุกข์มากๆ ก็จะไปเดินซื้อของเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ เมื่อซื้อของได้ตามต้องการ พอได้นั่งก็เสียใจอีกว่า ได้ทำสังสารวัฏของตัวเองให้ยาวขึ้นอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่เข้าใจธรรมขณะนั้น

    ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามว่า เวลาคิดว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะอบรม แต่ยังเป็นตัวตนที่คิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ มีความเป็นตัวตนที่จะวางระเบียบปฏิบัติ โดยไม่เข้าใจเลยว่า อะไรจะเกิด เกิดแล้ว ควรเข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว

    ผู้ฟัง สมมติว่า ไม่เคยเห็นว่า สิ่งนี้ไม่ดีที่ไม่ควรอบรม

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่คุณแก้วตาเข้าใจ ปัญญาเข้าใจในขณะนั้นแล้วก็หมดไป จะให้เข้าใจตลอดทุกสถานการณ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไปคิดว่าจะไม่ทำแบบนี้ ก็ไม่เคยทำได้สักที

    ท่านอาจารย์ แค่คิด เกิดแล้วก็ดับ แต่จะทำ หรือไม่ทำนั้นตามเหตุปัจจัย แม้คิดขณะนั้นก็เกิดแล้วเพราะปัจจัย ทำไมคนอื่นไม่ได้คิดอย่างนั้นในขณะนั้น อย่างที่คุณแก้วคิด บางคนขณะนั้นคิดไปคนละเรื่อง

    เพราะฉะนั้น ฟังธรรมให้เข้าใจธรรม อะไรจะเกิดก็คือเป็นปกติ ก่อนฟังธรรม ชีวิตก็เป็นไปตามปัจจัยทั้งหมด ฟังแล้วก็ต้องเป็นไปตามปัจจัยนั้นเเหละ แต่มีความเข้าใจเป็นปัจจัยเพิ่มขึ้น หวังว่าจะไม่มีทุกข์อีกเลย หรือไม่ หวังว่าจะมีสุขตลอดไป หรือไม่

    เพราะฉะนั้น ธรรมก็คือแล้วแต่มีปัจจัยของสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น ก็เกิด

    ผู้ฟัง อาจารย์อรรณพช่วยสรุปสั้นๆ ว่า ไม่พักอะไร ไม่เพียรอะไร

    อ.อรรณพ พักก็คือจมอยู่ในอำนาจของกิเลส หรือเป็นไปกับอำนาจของกิเลส ท่านแสดงไว้หลายนัยในโอฆกรณสูตร อย่างพูดถึงข้อปฏิบัติที่พักหรือเพียร ก็มีข้อปฏิบัติ ๒ อย่าง คือ มีการที่คิดว่ากิเลสมีก็ปล่อยไปตามอำนาจกิเลส จะได้ปรนเปรอกิเลสไปกิเลสจะหมดไปเอง หรือในชีวิตประจำวันก็ไปตามอำนาจกิเลส ชื่อว่าจม แต่การที่ดูเหมือนเพียร ดูเหมือนขวนขวาย เเละทรมานตนเอง อย่างบางคนก็จำกัด เช่นรับประทานอาหารแค่ครั้งเดียว พอได้ยินคำว่าธุดงค์ก็เอามาทำอย่างนั้น หรือว่าไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือว่าอะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะคิดว่าจะเป็นข้อปฎิบัติที่ทำให้หมดกิเลสได้โดยไม่มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการทรมานตนชื่อว่าเพียร ก็เป็นไปโดยสุดโต่งเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นสายกลาง ถ้าเป็นทางสายกลาง คือ ขณะที่สติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่พักไม่เพียร ขณะนั้นทำไมถึงว่าไม่พัก เพราะขณะนั้นที่สติเกิด ไม่ใช่โลภะที่ติดข้องในสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือนามรูปหนึ่งใดที่กำลังปรากฏ

    อ.ธิดารัตน์ เดิมเข้าใจว่า ไม่พัก ไม่เพียร หมายถึงขณะที่พักด้วยความเห็นผิด หรือเพียรด้วยความเห็นผิด ขณะที่เป็นทางสายกลางคือสติปัฏฐานเกิด หรือความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วปกติก็จะมีอกุศลซึ่งเป็นอกุศลปกติ ถึงแม้จะเข้าใจถูกแล้วก็ตาม ไม่ได้มีความเห็นว่าจะไปเพียรนิดๆ หรือปล่อยหน่อยๆ แต่ก็มีอกุศล โลภะ โทสะ โมหะในชีวิตประจำวัน ขณะที่เป็นไปกับกิเลสอย่างนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นการพัก หรือการเพียร หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะใดที่เข้าใจธรรม ครอบคลุมหมดเลย ตอนนี้พักหรือเพียร ขณะที่ไม่เข้าใจธรรมตอนนี้ พัก หรือเพียร

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นคือไม่ได้พัก และไม่เพียรที่จะทำอย่างอื่น เพราะว่าขณะนั้นเข้าใจ อย่างทุกคนนั่งที่นี่ ไม่ได้พัก ไม่ได้เพียร เพราะฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ไม่ต้องไปพยายามขีดเส้นว่า แค่ไหนเป็นพัก แค่ไหนเป็นเพียร ความเห็นผิดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือขณะนั้นไม่ได้เข้าใจธรรมนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่เข้าใจธรรม แล้วพักอย่างไร เพียรอย่างไร พักคือไม่ได้สนใจฟัง เพลิดเพลินไป หรือนั่งทรมานตนเองคิดเป็นทุกข์ เพราะไม่เข้าใจธรรม

    ถ้าคิดถึงแม้ข้อความอื่นๆ เช่น ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็คือเดี๋ยวนี้ แล้วฟัง และกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทั้งหมดขึ้นกับความเห็นถูกความเข้าใจถูกนั่นเอง

    อ.คำปั่น เมื่อได้ฟังแล้วก็เข้าใจชัดเจน แต่ปกติเวลาอ่านข้อความในพระไตรปิฎก แล้วคิดเองซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าพยัญชนะที่ทรงแสดงมีความหมายชัดเจนว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสยังไม่พ้นไปจากห้วงน้ำของกิเลส คือ โอฆะ ท่านเปรียบกิเลสดุจโอฆะ เพราะพัดพาเหล่าสัตว์ให้จมลงในสังสารวัฏ ไม่ทำให้พ้นไปได้ ซึ่งสภาพธรรมของโอฆะ คือ โลภะ ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ กาโมฆะ โอฆะที่ ๑ โอฆะที่ ๒ คือ ทิฏโฐฆะ คือ ห้วงน้ำ กล่าวคือ ทิฏฐิคือความเห็นผิด โอฆะที่ ๓ คือ ภโวฆะ ความยินดีพอใจติดข้องในภพ และโอฆะที่ ๔ ซึ่งน่ากลัวอย่างยิ่ง คือ อวิชโชฆะ โอฆะ คือ อวิชชา

    การที่จะเป็นผู้จะข้ามโอฆะได้ต้องมีความเข้าใจถูก เห็นถูกตรงตามสภาพธรรม โดยอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายกลาง โดยไม่หลงผิดในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเป็นการติดข้องยินดีพอใจหมกมุ่นอยู่ในกาม หรือด้วยอำนาจความเห็นผิด ซึ่งรายละเอียดแสดงไว้ว่า ขณะที่พักอยู่ด้วยอะไร พักอยู่ด้วยความยินดีติดข้องในกาม ขณะที่เพียร เพียรด้วยอะไร เพียรความเห็นผิด นี่คือเเสดงว่าถ้าพัก พักอย่างนี้ เพียรอย่างนี้ ไม่สามารถพ้นไปจากสังสารวัฏได้ แต่ถ้าไม่พัก และไม่เพียร จึงจะข้ามโอฆะได้ คือการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ผู้ที่พักอยู่ก็จมอยู่ ผู้ที่เพียรด้วยความเห็นผิดก็คือลอย ทั้งการจม และการลอยแสดงว่ายังข้ามโอฆะไม่ได้ แม้ขณะที่เจริญกุศลที่เกี่ยวเนื่องกับวัฏฏะ เช่นให้ทานแล้วปรารถนาที่จะเกิดในภพภูมิที่ดี ในสวรรค์อย่างนี้ก็ไม่ใช่ทางทำให้หลุดพ้นจากโอฆะได้ ยังจมอยู่ในโอฆะ ขณะที่เพียรทำกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะก็ยังจมอยู่เหมือนกัน

    อ.นิภัทร มีปัญหาว่าพักคืออะไร เพียรคืออะไร พัก คือย่อหย่อนเป็นไปตามอำนาจของกิเลส เพราะกิเลสทำให้เนิ่นช้า เป็นปปัญจธรรม ธรรมเครื่องเนิ่นช้า เพียรในทางไม่ถูกต้อง เป็นมิจฉาวายามะ เร่งจะบรรลุในวันนี้ คืนนี้ ทางที่ดีที่สุดเราไม่ต้องพัก ไม่ต้องเพียร คือ ฟังธรรมให้เข้าใจ ไม่มีทางอื่น ฟังให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร แล้วไม่ต้องไปหาที่ไหนให้เนิ่นช้า และไม่ต้องไปเพียรด้วย เพราะมีอยู่เป็นปกติธรรมดา ทุกคนมีอยู่เป็นปกติธรรมดา มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีใครบ้างไม่มี ขึ้นชื่อว่าคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องมี ๖ อย่างนี้ ศึกษาให้รู้ว่า ขณะไหนมีธรรมใดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏที่เราเข้าใจแล้ว เพื่อให้เห็นว่า ที่เราหลงผิดคิดว่า สิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขาทั้งนั้น ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว จะกำจัดความเข้าใจผิดนี้ให้หมดไปจนบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ก่อนบรรลุนิพพาน ต้องมีก้าวแรก ทาง ๑๐๐ โยชน์ ถ้าไม่มีก้าวแรกไม่มีทางถึง ๑๐๐ โยชน์ได้ ต้องก้าวก่อน ก้าวแรกคือฟังให้เข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่ต้องถามถึงมรรคผลนิพพานว่าอยู่ที่ไหน เพราะยังไม่ได้ก้าวแรก พระพุทธศาสนามีแต่เรื่องฟังให้เข้าใจทั้งสิ้น สาวก แปลว่า ผู้ฟัง ไม่ใช่ผู้สอน หรือผู้คิด แต่ฟังธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงสอนให้พุทธบริษัทให้รู้ตาม ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจไม่มีทางรู้ตามได้ มีทางเดียวคือค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าว

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความว่า ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ประโยคหลัง และประพฤติปฏิบัติตาม แต่ไม่ใช่เรา ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ความเข้าใจจริงๆ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทำอะไร หรือไม่ หรือเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง

    ผู้ฟัง ผมสงสัยว่า ความเข้าใจจริงๆ เป็นความเข้าใจขั้นฟังได้ไหม หมายความว่า เข้าใจขั้นฟังจะประพฤติปฏิบัติตามไหม

    ท่านอาจารย์ โดยที่ว่ามีปัจจัยที่จะประพฤติ หรือไม่ เพราะทุกคนคิดว่า พอฟังธรรมแล้วจะประพฤติทันทีได้ ทำได้เลย แต่ความจริงอะไรจะเกิดขึ้นต้องตามการสะสม ตลอดมาตั้งแต่ยังไม่ได้ฟังธรรม ทุกอย่างเกิดขึ้นตามการสะสม ฟังธรรมแล้วทุกอย่างก็ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม แต่เพิ่มการสะสมปัญญา ความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้น อะไรจะเกิดใครจะรู้ว่า อะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิด จะเป็นความเข้าใจทำให้เกิดขึ้น หรือเป็นการสะสมของอกุศลที่เคยสะสมไว้ หรือกุศลที่เคยสะสมไว้ ทั้งหมดก็เป็นปัจจัยที่สะสม แล้วแต่กาลที่จะปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง หมายความว่า ความเข้าใจขั้นฟังก็เป็นปัจจัยได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จะเอาไปทิ้งที่ไหน อะไรก็ตามที่เกิดกับจิต แม้จิตดับ ก็ยังสะสมสืบต่อถึงจิตขณะต่อไป

    ผู้ฟัง ความเข้าใจขั้นฟังก็ทำให้ปฏิบัติตามได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจขั้นฟัง จะเริ่มมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ หรือไม่ ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สามารถรู้ได้แน่นอน เป็นธรรมที่มีจริง แม้ว่าเป็นนามธรรมคือเห็น ไม่มีรูปร่างเลย แต่ก็ยังสามารถรู้ได้ว่า อาการหรือขณะที่เห็น กิจการงานหน้าที่ของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็นไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ที่ผมถามเพราะว่าต้องการความเข้าใจเส้นแบ่งตรงนี้ เพราะเดิมเข้าใจว่า ขั้นฟังละกิเลสไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ละกิเลสไม่ได้แต่สามารถเป็นปัจจัย สังขารขันธ์ปรุงแต่งเหมือนอย่างอื่นที่สะสมมา

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็คือจะรู้ว่า ปฏิปัตติ ถึงจะรู้ลักษณะ และก็รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งยังไม่ถึงจุดนั้น และยังไกลมาก

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ตอนนี้รู้ตามความเป็นจริงว่า ไกลมาก

    ผู้ฟัง ก็หยุดแค่นั้น ต้องพยายามหยุด เพราะปัญหาคือจะทำต่อ เท่าที่สังเกต ศึกษาธรรมแล้วไม่ไปไหน

    ท่านอาจารย์ ใครหยุด

    ผู้ฟัง จิต เจตสิกคิด

    ท่านอาจารย์ ตามตำราเลย ไม่มีเราแล้ว

    ผู้ฟัง ตกลงก็ยังเป็นเรา ก็ผิดอีก ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะศึกษามาก็คิดว่าเข้าใจไปทีละวันๆ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า วันคืนล่วงไป

    ท่านอาจารย์ ฟังไปๆ ก็จะหยุด

    ผู้ฟัง หยุดที่จะทำต่อ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าหยุดอะไร หมดแล้ว ดับแล้ว มีปัจจัยเกิดแล้วด้วยต่อไป

    ผู้ฟัง จริงๆ ทุกปรโยคที่ว่า หยุดแล้ว ดับแล้ว ฟังแล้วเหมือนเข้าใจ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี คือไม่เข้าใจในความลึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ฟังต่อไป

    ผู้ฟัง คือต้องอดทนที่จะฟังต่อ

    ท่านอาจารย์ คือทั้งหมดยังไม่ได้เป็นธรรม จนกว่าแม้ขณะนี้ที่คิดก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ ๓ วันนี้เป็นธรรม เพราะไม่ได้ทำงานเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ทำงานแล้วเป็นธรรม หรือ

    ผู้ฟัง คิดเรื่องธรรม ไม่ได้เป็นธรรม ก็พอเข้าใจขึ้น เพราะผมมีปัญหาว่า ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่ฟัง และประโยคต่อไปผมไม่มี คือ และประพฤติปฏิบัติตาม ยังไม่มา

    ท่านอาจารย์ ตามปัจจัย ประพฤติปฏิบัติตามคือไม่ขาดการฟัง

    ผู้ฟัง ถ้าฟังก็เป็นการประพฤติปฏิบัติตามอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็ประพฤติแล้วคือฟัง ผมเคยฟังว่า ถ้าฟังแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามเหมือนไม่เคารพในพระพุทธองค์

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่า ธรรมลึกซึ้ง ละเอียด จะเข้าใจได้ต่อเมื่อฟังบ่อยๆ แล้วไม่ต้องไปคิดว่า จะประพฤติปฏิบัติตาม ก็เข้าใจแล้วความละเอียด ลึกซึ้งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อได้ฟังเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ต้องเป็นคนตรง ฟังบ่อยๆ จริง แต่ผมยังไม่มีปัญญา ฟังแล้วคิดว่าเข้าใจ แล้วก็สะสมไป เพราะว่าโอกาสมาซักถามก็น้อย ฟังเองเลยไม่แน่ใจว่า สะสมความเข้าใจถูก หรือไม่ เช่นเข้าใจว่า เข้าใจขั้นฟังไม่มีอะไรเพิ่มขึ้น แต่วันนี้รู้ว่าไม่ใช่ เพราะเป็นเหตุปัจจัยได้

    อ.นิภัทร ตอนนี้ฟังแล้วเข้าใจ หรือยัง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า เป็นเหตุปัจจัยได้

    อ.นิภัทร เข้าใจธรรม หรือยังที่ว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    อ.นิภัทร เข้าใจแล้วไม่ต้องห่วงเรื่องปฏิบัติ เพราะคำว่า “ปฏิบัติ” ภาษาบาลีว่า อนุธรรมจารี คือ ประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่ธรรม คำว่าปฏิบัติ ไม่ใช่ไปทำ ฟังเข้าใจแล้วจะไปปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น เข้าใจเมื่อไรคือธรรมที่เข้าใจแล้วเกิดทำหน้าที่ ไม่ต้องไปเข้าห้อง หรือเข้าป่า

    ผู้ฟัง ที่ว่าปฏิบัติตาม หมายความเข้าใจแล้วแต่ยังติดข้อง

    อ.นิภัทร เข้าใจจริงๆ ตรงสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เมื่อไร ปฏิบัติจะเกิดได้โดยไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ปฏิบัติก็คือธรรมนั่นแหละจะเกิดทำหน้าที่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    23 เม.ย. 2567