พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 641


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๔๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ จิตเป็นปัณฑระ จิตทุกประเภทผ่องใสในความหมายที่ว่าไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเลย เฉพาะตัวจิตไม่ใช่กิเลสไม่ใช่เจตสิกใดๆ เพราะฉะนั้น สภาพของจิตแท้ๆ คือสภาพที่ผ่องใสเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเพราะกำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏเช่นจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น จิตเกิดขึ้นเห็นจิตขณะนั้นจะเข้าใจอะไรได้ไหมเพราะจิตนั้นทำกิจเห็นแค่เห็นเพียงเห็น ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดกับจิตนั้นเลย

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ อย่างฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณสุกัญญา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร เมื่อกี้ใช้คำว่าความเข้าใจเกิดขึ้น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ กับฟังธรรมแต่ไม่ได้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนความไม่เข้าใจให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่เข้าใจมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจมีจริง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แต่เกิดกับจิตทั้งสองอย่าง ขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นคำที่เราใช้ว่าอวิชชา หรือโมหะ ขณะใดที่เช้าใจขณะนั้นก็เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมที่เป็นปัญญา สามารถเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏคิดดู กำลังปรากฏไม่เคยเข้าใจถูกเลยว่าเป็นธรรมที่มีจริงปรากฏได้เมื่อจิตเห็นเกิดเท่านั้น

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ จิตเห็น กับจิตที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่เข้าใจ จิตเข้าใจไม่ได้ จิตรู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น ขณะใดสิ่งใดปรากฏนั่นคืออารมณ์ของจิต

    ผู้ฟัง อารมณ์ของจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์กับมีนามเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ จิตก็รู้แจ้งสภาพของนามธรรมสภาพของรูปธรรม รู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง แต่ว่ารูปธรรมมีอายุเท่ากับนามธรรม คือมีอายุมากกว่านามธรรม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก รูปหยาบว่า หรือละเอียดกว่าสิ่งที่ไม่มีรูป

    ผู้ฟัง รูปหยาบกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รูปหนึ่งเกิดจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะรูปนั้นก็ดับไป ๑๗ ขณะนี่ไม่ต้องคิด เอาอะไรมาวัดนอกจากจิตที่เกิดดับอย่างเดียวที่จะวัดได้ว่ารูปนั้นอายุสั้นแค่ไหน เกิดดับเร็วแค่ไหน

    ผู้ฟัง ลักษณะของรูปที่เป็นอารมณ์ของจิตกับนามธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิตมีความต่าง หรือเหมือนกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันไม่ได้เลยเพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้แต่นามเป็นความรู้สึก เป็นความจำ เป็นความโกรธ เป็นอย่างอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่จิตแต่เป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดพร้อมกับจิต

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นอารมณ์ที่จิตรู้ย่อมมีความแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ จิตรู้ได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จิตไม่รู้

    ผู้ฟัง อย่างนี้ยิ่งเข้าใจยากใหญ่ระหว่างอารมณ์ที่ปรากฏกับสภาพรู้ที่รู้จริงๆ ของอารมณ์นั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตจะมีอะไรปรากฏไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอะไรปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พอจะเริ่มเข้าใจสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้รู้อื่น อย่างเห็นก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น จะไปรู้อื่นได้อย่างไร นอกจากเห็นมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเพราะจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ อย่างความพอใจที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรมเพราะว่าเป็นความพอใจ จะต้องมีจิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แน่นอนพอใจในอะไร อยู่ดีๆ พอใจแล้วไม่รู้ว่าพอใจในอะไรได้ไหม ต้องมีสิ่งที่กำลังพอใจ จิตก็รู้แจ้งในสิ่งที่ความพอใจกำลังพอใจโดยฐานะของการรู้สิ่งนั้นในลักษณะที่เป็นสิ่งนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ระหว่างความพอใจกับสิ่งที่ปรากฏให้พอใจ อะไรเป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนไม่มีจิตบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ กำลังพอใจมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ กำลังหลับ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่มีขณะใดเลยที่ไม่มีจิตเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ถ้าสิ่งที่เป็นเพียงแต่สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จริงไหม เพื่อจะได้มีความเข้าใจ นั่นคือปัญญาเริ่มเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ จริงนั่นคือเข้าใจ เริ่ม

    ผู้ฟัง แต่ว่ายังเป็นสิ่งที่ปรากฏ ยังเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่ปรากฏก่อนใช่ไหม แต่เกิดดับสืบต่อจนจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้ห้าม ไม่ให้จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้บอกให้ไปทำอะไร เพียงแต่บอกว่าชีวิตเป็นอย่างนี้ คือเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นสัญญาสภาพจำก็จำเลย จำลักษณะของสิ่งนั้นที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เป็นนิมิตเหมือนกับว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็กำลังเกิดดับไม่เหลือเลย เหลือแต่เพียงนิมิตให้รู้ว่าเป็นนิมิตของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเป็นทางหูก็เป็นนิมิตของเสียง พอฟังก็รู้ว่าเสียงใคร พูดเรื่องอะไร เห็นไหมความรวดเร็ว ตามความป็นจริงก็คือว่าทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเกิดดับอย่างเร็ว เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างที่ปรากฏให้ไม่รู้ หรือว่าปรากฏให้รู้ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลยก็ปรากฏให้ไม่รู้ความจริงใช่ไหม จะไปรู้ได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้ฟังแม้ความหมายของคำว่าธรรม และเรื่องความละเอียดของธรรมนั้นๆ จะเอาอะไรไปละการที่ไปยึดถือสิ่งที่ไม่มีว่ามี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ฟังด้วยความเข้าใจเพิ่มขึ้น คุณกุลวิไลจะทำอะไร หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ทำไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ให้มีความมั่นคงอย่างนี้คือไม่ใช่ให้ทำ แต่เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ฟุ้งซ่านกับเอกัคคตานี่ เหมือนกับลักษณะเขาจะตรงข้ามกันแล้วทำไมเขาเกิดร่วมกันได้ แล้วเวลาเกิดร่วมกันฟุ้งซ่านแล้วจะตั้งมั่นในอารมณ์อย่างไร คำถามเป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณใช้ภาษาบาลีกล่าวถึงธรรมหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายด้วย

    อ.คำปั่น ก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภทคือเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวไปแล้ว ตรงตัวเลยหมายถึงสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เพราะเหตุว่าในขณะที่จิตเกิดขึ้นเจตสิกประเภทนี้ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ กราบเรียนท่านอาจารย์เพิ่มเติมด้วย

    ท่านอาจารย์ มีอารมณ์ เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เกิด จิตจะเห็น หรือไม่เห็นไม่สำคัญเลย อารมณ์ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีจิตเกิดขึ้นเห็นอารมณ์นั้น หรือเปล่า แต่เมื่อมีปัจจัยที่รูปจะเกิดขึ้น และก็เป็นรูปที่สามารถจะกระทบจักขุปสาทได้ แล้วเมื่อจิตเกิดขึ้นจิตก็เป็นธาตุรู้ ไม่ได้ไปเลือกว่าจะรู้อารมณ์ไหน ถูกต้องไหม ต้องตามปัจจัย เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่อารมณ์ที่จะสามารถกระทบจักขุปสาทเกิด และจักขุปสาทก็กำลังกระทบกับอารมณ์นั้น จิตเกิดเป็นสภาพรู้ยังต้องอาศัยเอกัคคตาเจตสิกที่จะตั้งมั่นคือรู้อารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น นี่คือความละเอียดถ้าจะอุปมาจิตเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีอารมณ์ หรือว่าถ้าไม่มีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน และต่างก็ทำหน้าที่ซึ่งขาดไม่ได้เลย สำหรับจิตจะต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทครบทั้ง ๗ อย่างน้อยที่สุดเกิดร่วมด้วยซึ่งรวมถึงสภาพธรรมที่ใช้คำว่าเอกัคคตาเจตสิกสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงนามธรรมขณะหนึ่ง ละเอียดสักแค่ไหนชั่วขณะที่เกิดขึ้นก็ยังต้องมีเอกัคคตาเจตสิกเกิด เพราะว่ารูปก็เกิดเสียงก็เกิด ใครจะรู้ หรือไม่รู้เสียงก็ไม่รู้ว่าใครรู้ หรือเปล่า เมื่อเสียงนั้นกระทบโสตะปสาท โสตปสาทก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ด้วยว่าเสียงกำลังกระทบใช่ไหม แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นยังต้องอาศัยเอกัคคตาเจตสิก ตั้งมั่นที่จะรู้เสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นจะขาดเอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกไม่ใช่ความฟุ้งซ่าน ใช่ไหม สภาพที่ฟุ้งซ่านหมายความว่าขณะนั้นไม่สงบ ที่ใช้คำว่าฟุ้งซ่านคือไม่สงบ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่โสภณจิตก็จะต้องมีเจตสิกที่ไม่สงบเพราะรู้อารมณ์ด้วยความไม่รู้ ถ้ารู้ด้วยความเข้าใจเมื่อไรสงบ ไม่มีการที่จะฟุ้งซ่านเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะได้เลย ด้วยเหตุนี้ขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้นเป็นอุปัตติหมายความถึงเป็นการประจวบกันของสภาพธรรมซึ่งกระทบกัน และถึงวาระที่กรรมจะให้ผลทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ อกุศลธรรมจะทำให้จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้ เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจกุศลกรรมเป็นโอกาสเป็นฐานะที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ แค่นี้เอง เท่านั้นเองยังไม่มีการที่จะไม่สงบที่เป็นกุศลเกิดขึ้นได้เลย ไม่เหมือนกับการเกิดขึ้นของสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่พวกอุปัตติซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยการอุบัติขึ้น และก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น เห็นไม่มีอุทธัจจเจตสิก หรืออกุศลเจตสิกใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย และถ้าจะจำด้วยความเข้าใจก็ไม่ยากจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ทั้งหมดมีแค่ ๑๐คือจิตเห็น ภาษาบาลีใช้คำว่าจักขุวิญญาณกุศลวิบากผลของกุศล ๑ ผลของอกุศลเป็นอกุศลวิบาก ๑ ทางหูกำลังได้ยินถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัยจะมีการได้ยินไหม พระอรหันต์ปรินิพพานแล้วไม่มีการได้ยินเลย ใช่ไหม เพราะว่าเมื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสแล้วกุศลไม่มีอกุศลไม่มีเพราะทั้งกุศล และอกุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น ในขณะที่ไม่ใช่พระอรหันต์ หรือจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตามวิบากของกรรมที่ได้กระทำแล้วก่อนเป็นพระอรหันต์ก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้กรรมนั้นเกิดทำกิจได้ยินเสียงเป็นผลของกรรม ถ้าเสียงดีน่าฟังไพเราะอกุศลกรรมจะไม่ทำให้จิตที่ได้ยินเกิดขึ้นได้ ที่จะไปรู้เสียงที่น่าพอใจต้องเป็นกุศลกรรมเท่านั้นที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น แต่ละขณะในชีวิตนี่เลือกไม่ได้เลย แต่สามารถที่จะรู้ถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วเวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำไมต้องเป็นเราก็หมดปัญหาใช่ไหม เพราะต้องเป็นเรา มีปัจจัยที่จะต้องทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสจิต ๑๐ ประเภทนั้นไม่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยนอกจากเจตสิก ๗ ประเภทซึ่งไม่ใช่ความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่อกุศลเจตสิก เพียงเกิดขึ้นทำกิจเพราะกรรมได้กระทำแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ต้องเห็นเมื่อถึงวาระที่กรรมนั้นจะให้ผลเท่านั้นเอง แต่หลังจากเห็นแล้วแม้สิ่งนั้นจะดับไปแล้วแต่สัญญาความจำก็ทำให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือแม้ยังไม่ทันจะรู้เลยว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดได้เมื่อมีปัจจัยแล้วก็เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่ากุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด ถ้าเป็นอกุศลขณะนั้นสงบไหม เพราะมีโมหะ มีอหิริกะ มีอโนตตัปปะ จึงไม่สงบ เพราะฉะนั้น อุทธัจจเจตสิกก็เกิดร่วมด้วยทุกขณะที่เป็นอกุศล จะปราศจากโมหเจตสิก อหิริกะเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะไปรู้อุทธัจจะแต่ว่าเวลาที่ใช้คำว่าฟุ้งหมายความว่าอกุศลเกิดมากไม่ใช่เพียงเล็กน้อยนิดๆ หน่อยๆ ที่จะไม่สังเกตุ อย่างเวลานี้รู้ไหมว่าอกุศลเกิดแล้ว ไม่รู้แต่ก็มีอุทธัจจะ มีโมหะ มีอหิริกะ มีอโนตตัปปะ แต่เวลาที่มากจนกระทั่งนอนไม่หลับบ้าง หรืออะไรบ้างต่างๆ ก็บอกว่าฟุ้ง ใช้คำนี้เพราะลักษณะของความฟุ้งซ่าน ซึ่งความจริงต้องมีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือโทสะเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะใดที่มีเพียงความฟุ้งซ่านโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะไม่โลภะเกิดร่วมด้วยไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วยก็มี รู้ยากกว่าไหม และก็ไปกล่าวว่าเรารู้ฟุ้งซ่าน แต่ความจริงขณะนั้นคือโทสะ หรือโลภะที่เกิดมากพร้อมกับความไม่สงบของจิต ด้วยเหตุนี้ธรรมคิดเองได้ไหม คิดแล้วผิดทันทีแต่ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟังจนกระทั่งสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย โมหะเป็นเจตสิก อหิริกะเป็นเจตสิก อโนตตัปปะเป็นเจตสิก อุทธัจจะเป็นเจตสิกรวม ๔ อย่าง ๔ เจตสิกนี้เป็นอกุศลสาธารณะ เกิดเมื่อไหร่ต้องเป็นอกุศลแต่ว่าจะมีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือมีโทสะเกิดร่วมด้วย หรือจะมีมานะเกิดร่วมด้วย หรือจะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็แล้วแต่ แต่ต้องมีอกุศลสาธารณะ ๔ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ง่ายเราเรียกชื่อ เราพูด เราทำอะไรก็ได้ ทั้งนั้นเลยตลอดชีวิตโดยที่ไม่เข้าใจความจริงของธรรม จนกว่าจะได้ศึกษาจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าแท้ที่จริงเวลาที่ใช้คำว่าฟุ้งซ่านถ้าไม่มีโลภะกับโทสะเกิดร่วมด้วยจะรู้ไหม หรือว่ามีแต่ว่าไม่มากจะรู้ไหม อย่างทันทีที่เห็นใครเป็นกุศล ใช่ไหม ถ้าไม่เป็นกุศลเป็นอะไร สิ่งที่ปรากฏยังไม่ทันดับเลย ความมีกำลังของกิเลสที่ได้สะสมมาแล้วถึงวาระที่จะเกิด เกิดทันทียับยั้งไม่ได้เลยโดยไม่รู้ด้วย แต่ขณะนั้นไม่ได้บอกว่าฟุ้งซ่านใช่ไหม เพราะไม่รู้ ไปรู้เวลาที่เป็นโลภะ หรือว่าเป็นโทสะ มากๆ นานๆ ก็กล่าวว่าฟุ้งซ่าน

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ทำไมความไม่ดีของคนอื่นคือมีความไม่พอใจในความชั่วของคนอื่น

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ความไม่ดีของคนอื่นเหมือนกับความไม่ดีของเราที่กำลังโกรธ และไม่พอใจ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ แต่พอเป็นของเขาเราโกรธ แล้วกำลังไม่ชอบความไม่ดีของคนอื่น ขณะนั้นไม่ชอบความโกรธที่ไม่ชอบคนนั้น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่บังคับไม่ได้ คิดทีไรก็โกรธทุกที

    ท่านอาจารย์ แล้วไม่อยากโกรธใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญา ลืมว่าขณะที่เขาไม่ดี จิตที่คิดว่าเขาไม่ดี ดี หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ดีแต่ต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ บังคับบัญชาไม่ได้ ศึกษาธรรมทั้งหมดเพื่อให้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยก็เกิดเป็นไปตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง คือขณะเกิดนี่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ ต้องเข้าใจขึ้นๆ

    ผู้ฟัง แต่ห้ามไม่ให้คิดถึงก็คือไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใครห้าม ใครบอกว่าอย่าคิด

    ผู้ฟัง ก็มีความเป็นตัวตนที่ไม่อยากจะคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็กำลังคิดด้วย

    อ.คำปั่น ขอร่วมสนทนากับพี่สุกัญญาในประเด็นสุดท้ายเมื่อสักครู่ที่บอกว่าอกุศลของคนอื่นดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุให้ตัวเองนั้นเกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจเมื่อเป็นเช่นนี้อะไรละโทสะได้ ก็ต้องเป็นการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจไปตามลำดับ แม้โทสะที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรา อันนี้แหละคือประโยชน์ที่จะได้จากการศึกษาพระธรรมว่าเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง แท้ที่จริงแล้วคนอื่นไม่สามารถทำอะไรเราได้เลยมีแต่กิเลสที่เกิดขึ้นกับตัวเราเท่านั้นที่ทำร้ายตัวเราเอง

    ผู้ฟัง คือมีความรู้สึกว่าสภาพธรรมปนๆ กันไปหมด

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ธรรมที่มีในพระไตรปิฎกไม่กระจ่างแน่นอนตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ มีแต่เรื่อง มีแต่คิดแล้วก็พาไปที่จะถึงการที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งทีมีจริงที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแน่นอน ปรากฏได้เพราะอะไร ถ้าไม่มีธาตุรู้ที่กำลังเห็นคือเดี๋ยวนี้เลยเข้าใจสิ่งที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่าถ้าไม่มีธาตุเห็นสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ ยังไม่ต้องไปคิดถึงภายในภายนอกเลย เพราะว่าความจริงจะรู้ได้ต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ธาตุรู้กำลังเห็นถ้าเข้าใจธาตุรู้จริงๆ ขณะนั้นรู้เลยว่าอะไรเป็นภายใน อะไรเป็นภายนอก แต่ถ้าเพียงโดยชื่อเราก็จำ แต่ถ้าสามารถจะรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ เสียง หมดแล้วแต่เสียงปรากฏเพราะจิตได้ยิน ถ้าไม่มีจิตได้ยินเสียงก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏเพราะธาตุรู้ซึ่งเป็นภายใน ภายในคือเป็นธาตุรู้ จะเอาไปทิ้งได้ไหม ธาตุรู้ เกิดแล้ว แล้วก็ดับ เกิดดับสืบต่อด้วยความไม่รู้จึงเป็นเราทั้งหมด แต่จะให้ธาตุรู้ไม่เกิด หรือธาตุรู้ที่มีทั้งหมดจะเอาไปทิ้งไม่ให้เกิดอีกเลยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการที่จะทำให้อะไรๆ ขณะนี้ปรากฏได้แม้แต่เรื่องราว เห็นจริงธาตุรู้กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น คิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏจริงเพราะธาตุรู้กำลังคิดสิ่งที่ปรากฏด้วยความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี่จะรู้เลยว่าอะไรเป็นภายใน เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปจะอยู่แบบไหน แบบโลภะ โทสะ โมหะ หรือแบบเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เพราะชีวิตจะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงการสะสมไม่ได้เลย อย่างที่บางคนสงสัยว่าถ้ารู้ธรรมแล้วจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งจะพ้นจากการสะสมของคนนั้นๆ ไม่ได้เลย ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ว่าปัญญาก็สามารถที่จะรู้สิ่งที่เกิดแล้วกับตนขณะที่กำลังปรากฏแล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปเข้าใจสิ่งอื่น ต้องเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็จะรู้ได้ว่าแท้ที่จริงไม่มีใครเลยนอกจากธรรม ธรรมเป็นทั้งเห็นธรรมเป็นทั้งได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกเดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่พ้นจากธรรมเลย แล้วแต่ความคิดก็รู้ล่วงหน้าไม่ได้ว่าขณะต่อไปจะคิดอะไร เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะเป็นกุศลอะไร เป็นอกุศลอะไรไม่รู้จนกว่าสิ่งนั้นเกิด และที่รู้ก็คือรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมที่หลากหลาย ก่อนที่จะเกิดเป็นอย่างนี้ไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเกิดเป็นอย่างนี้ก็จะไม่เป็นอย่างอื่นเพราะว่าเกิดแล้วเป็นอย่างนี้ก็คือหนึ่งขณะที่เกิดเป็นอย่างนี้ เป็นหนึ่งขันธ์แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    13 ม.ค. 2567