พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 606


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลานี้ที่สงสัย เพราะไม่รู้ใช่ไหม และเพราะลืม เพราะฉะนั้น การฟังธรรมคือเข้าใจจนไม่ลืม เป็นสัจจญาณ เป็นปัญญาที่สามารถรู้ความจริง ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงเลย คนที่มีความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม นี่ก็เริ่มรู้ว่า ไม่ต้องไปหาธรรมที่ไหนเลย เพียงแต่ลืมว่า เป็นธรรม ทั้งๆ ที่เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม คิดก็เป็นธรรม แต่ลืมว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การฟังแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เป็นสิ่งที่ผูกพันจิต และปัญญา และสังขารขันธ์ให้อยู่ที่ลักษณะชองสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ เพื่อจะรู้ความจริงว่า นั่นเป็นธรรม แม้ว่าเป็นธรรม และได้ฟังธรรม เป็นอุปนิสยโคจร โคจร คือ อารมณ์ของจิตซึ่งหลากหลายมาก อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็มี อารมณ์ที่จิตเสพ คือ รู้อารมณ์ด้วยกุศลจิตก็มี ที่พูดถึงการบริโภคเมื่อวานนี้ ก็พูดว่าบริโภคธรรมหรือยัง ทางตาเห็น จิตเกิดขึ้นเห็น ไม่รักไม่ชัง ชั่วขณะหนึ่งตามกรรมที่ทำให้ต้องเห็น เกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ มีจิต วิญญาณจริยา ความประพฤติเป็นไปของจิต คือ ต้องดำรงภพชาติเพื่อจะมีการเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง แล้วก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ตามการสะสม เปลี่ยนได้ไหมวิญญาณจริยา ความเป็นไปของจิต เกิดแล้วไม่ดำรงภพชาติไม่ได้ ดำรงภพชาติเพื่ออะไร ถ้าดำรงภพชาติแล้วไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก เป็นไปได้ไหมในเมื่อสะสมมาที่จะติดข้องในสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน แล้วเมื่อเห็นอีก จะไม่ติดข้องได้อย่างไร สะสมมาที่จะไม่รู้ สะสมมาที่จะติดข้อง

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ลืมธรรม จะไม่สงสัยว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วจะเข้าใจธรรมที่ ขณะนี้รู้ว่า เป็นธรรม แต่ยังไม่รู้จักตัวธรรมจริงๆ เพียงแต่ฟังเรื่องของธรรม ในขณะที่ธรรมก็เกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน ใม่ต้องไปคิดถึงโพชฌงค์ ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย ในเมื่อไม่ได้เข้าใจธรรม คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นถ้ารู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ก็ฟังแล้วมีธรรมให้รู้ด้วย ให้เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วจะไม่สงสัยในการเจริญขึ้นของปัญญา ที่ใช้คำว่าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงคำ เพียงชื่อ แต่เป็นขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ ที่ได้ฟัง สะสมเป็นอุปนิสยโคจร จากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องของธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดไม่รู้ ว่ากล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็เริ่มรู้ว่า ทุกครั้งที่ฟังธรรม คือกำลังฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แล้วก็วันหนึ่งๆ อย่างเมื่อวานนี้เป็นต้น อกุศลเกิดมากไหม

    อ.อรรณพ มาก

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่ได้ฟังยังไม่ถึงความเป็นอารักขโคจร หมายความว่าฟังจนกระทั่งรักษาจิตไม่ให้เป็นอกุศลได้

    อ.อรรณพ ยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะไปพูดถึงความสงสัย หรือยังมีความไม่รู้ในเรื่องของสภาพธรรมในเรื่องของจิต แม้ขณะนี้มี ก็คือเป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น การฟังก็ทำให้เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งพระธรรมที่ได้ฟังคุ้มครอง รักษาให้อกุศลจิตไม่เกิด และกุศลจิตเกิด จากการที่อกุศลจิตเกิดบ่อยๆ เห็นอะไรก็ไม่ชอบใจ เสียงอย่างนั้นก็ไม่ชอบ กลิ่นอย่างนี้ก็ไม่ดี อาหารอย่างนี้ก็ไม่อร่อย ร้อนไป เย็นไป สารพัดอย่าง ไม่ได้มีธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้อารักขา คือรักษาจิตไม่ให้เป็นอกุศลเลย แต่จากการฟังเข้าใจก็รู้ว่า เป็นธรรมเพียงชั่วคราว ใครบังคับไม่ให้เกิดได้ จะร้อน จะหนาว จะสุข จะทุกข์ ก็คือมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรที่เป็นของใครจริงๆ เพียงแต่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วขณะนี้ก็เป็นจิตแต่ละจิตที่ได้สะสมมา ที่ฟังธรรม แล้วเวลาที่กุศลจิตเกิดเพราะเข้าใจธรรม จะรู้ได้เลยว่า พระธรรมอารักขาจิตไม่ให้เป็นอกุศล แต่ให้เป็นกุศล จนกว่าจะผูกพันสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกทั้งหลาย ที่เป็นสังขารขันธ์ เช่น สติ ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าในขณะไหนทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น การเจริญขึ้นของธรรมต้องเป็นตามลำดับ จากการฟังนิดเดียว แล้วถามหาสติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้เป็นธรรมแล้วยังไม่มีความเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม พอที่จะอารักขาจิตไม่ให้เป็นอกุศล ยังเป็นไม่ได้เลย เมื่อวานนี้จิตเน่าไปเท่าไร แล้วเป็นแผลพุพอง กว้างใหญ่ เล็กน้อยแค่ไหน ก็ไม่รู้เลย มีแต่โลภะที่อยากจะไม่มีอกุศล แล้วก็อยากมีปัญญา ซึ่งขณะนั้นก็เป็นธรรม และไม่ใช่ปัญญาด้วย ขณะที่อยากหรือต้องการ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมเป็นธรรม อกุศลเกิดแล้ว ใครเปลี่ยนได้ อกุศลก็เป็นธรรม มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟังให้ชัดเจนถูกต้อง แม้แต่คำว่า พละ แม้แต่คำว่า อุป ทุกคำหมด ไม่ใช่คิดว่า เราเข้าใจแล้ว เราฟังแล้ว ถ้าเข้าใจแล้วคือเข้าใจสภาพที่กำลังเป็นอย่างนั้นในขณะที่สภาพนั้นปรากฏ นั่นจึงจะชื่อว่า เข้าใจธรรม แต่ในขณะนี้เพียงแต่ฟังเรื่องธรรมมากมาย ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง อยากจะรู้ตรงนั้น สงสัยตรงนี้ อยากจะเข้าใจให้คนอื่นช่วยตอบ นั่นไม่ใช่ปัญญาของเราเองตามลำดับ ซึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นปัญญาของคนอื่น

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเป็นการเข้าใจจากการฟังจริงๆ

    ผู้ฟัง ก็ต้องมั่นคงในการฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มั่นคงในความเป็นธรรม ไม่ลืม ถ้าคุณหมอสงสัยก็คือลืม

    ผู้ฟัง พอลืมก็ไปเรื่องอื่นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ลืมอะไรตอนนี้ก็ตอบได้ใช่ไหม ลืมว่าเป็นธรรม

    นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ธรรมทุกอย่างมีจริงๆ และเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง มีภาวะของตนๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

    เสียงที่ไม่มีความหมายมีไหมคะ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เวลาได้ยินเสียงนกร้อง คุยกัน อยากรู้ไหมว่า นกคุยกันเรื่องอะไร ทุกวัน บางทีอยู่ตัวเดียวก็เป็นเสียงเดียว แต่ถ้าอยู่หลายๆ ตัว คุยกันได้ไหม เพราะฉะนั้นเวลานกได้ยินเสียงเราพูด นกต้องสงสัยแน่ๆ ว่าพวกนี้พูดอะไรกัน มีเสียง เดี๋ยวเสียงโน้นเดี๋ยวเสียงนี้ แล้วหมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น เสียงเป็นเสียง แต่ความคุ้นเคยกับเสียง ซึ่งลักษณะของเสียงก็มีเฉพาะของเสียงนั้นๆ ด้วย เสียงทุกเสียงมีลักษณะเฉพาะของเสียงนั้นๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่คุ้นเคยกับลักษณะของเสียงนั้นบ่อยๆ แล้วก็จำได้ แล้วก็สามารถจะสื่อสารให้รู้ได้ตรงกันว่า เสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร ก็มีความเข้าใจในเสียง แล้วแต่ว่าเป็นภาษาอะไร เสียงๆ เดียว ภาษาจีนหมายความอย่างหนึ่ง ภาษาไทยหมายความอีกอย่างหนึ่ง ภาษาอังกฤษก็หมายความอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นเสียงเดียว เหมือนกับคำเดียว แต่ความหมายต่างกันตามความคุ้นเคยของความคิด

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงเสียง เสียงฟ้าร้อง ฟ้าร้องได้ หรือไม่ ก็เป็นเพียงเสียง แต่ความคิดที่จำได้ว่า เสียงอย่างนี้ไม่ใช่เสียงคนแน่ๆ และเกิดตรงไหนอย่างไร ก็เลยเข้าใจกันเองว่า นั่นเป็นเสียงฟ้าร้อง แต่ความจริงเสียงเป็นเสียง ฟ้าอยู่ที่ไหน ฟ้าจะร้องได้อย่างไร แต่ความจำของคนก็จำไว้แล้ว และถ้าพูดว่าฟ้าร้อง ภาษาไทย ภาษาอื่นใช้คำอะไร แต่หมายความถึงเสียงเดียวกันนั่นแหละ เสียงเป็นเสียง แต่พูดกันคนละภาษา ทั้งๆ ที่เสียงที่ได้ยิน ได้ยินอย่างเดียวกัน ไม่เปลี่ยนเลย

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเสียง และคุ้นเคยกับเสียงลักษณะต่างๆ ก็คิดถึงความหมายของเสียงต่างๆ นั้นเป็นคำภาษาต่างๆ ด้วย แต่ความหมายคือสภาพธรรมไม่เปลี่ยน เสียงนั้นเป็นเสียงนั้น ใครจะได้ยินก็ตามแต่ สุนัข แมว เสือ ช้าง คน ได้ยินเสียงนั้น เปลี่ยนเสียงนั้นไม่ได้เลย เสียงเป็นเสียง แล้วแต่ความคิดความจำของแต่ละคนที่สะสมมาจะต่างกันไหม

    สัตว์ในป่าได้ยินเสียงฟ้าร้องไหม ถ้ามีโสตปสาท และมีธรรมที่สามารถกระทบกับโสตปสาทนั้นได้ และมีจิตเกิดขึ้นได้ยินด้วย เสียงนั้นจึงจะปรากฏได้

    นี่คือธรรมทั้งหมด นี่เป็นความน่าอัศจรรย์ของธรรม แต่ถ้าเป็นคนก็ไม่น่าอัศจรรย์เลย ก็ได้ยินบ่อยๆ แต่ไม่มีคน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเทียง เป็นธรรมต่างๆ หลากหลายมากซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วแต่ว่าเป็นธรรมอะไร ไม่มีคนเลย แต่มีเสียงได้ไหม เดี๋ยวก็จะสงสัยกันไปอีก ซึ่งความจริงก็ธรรมดาที่สุด ธรรมเป็นธรรมดา ไม่มีคนเลยก็มีเสียงได้ ในที่ๆ ไม่มีคนเลยก็มีเสียงฟ้าร้องได้ ในที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีอะไรเลยก็ยังมีเสียงได้ แต่เมื่อมีการได้ยินเสียง แสดงว่ามีธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจอื่นไม่ได้เลย เมื่อมีปัจจัยให้ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นได้ยิน ธาตุชนิดนี้ก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง ขณะนี้เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่คือธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมก็คือว่า มีธรรมขณะนี้ที่จะพิสูจน์ ที่จะเริ่มเข้าใจความจริงว่า ธรรมเป็นธรรม เมื่อไม่รู้เกิดมาก็ทำทุกสิ่งทุกอย่าง พูดไป ทำอะไรไปตั้งแต่เกิดจนตาย โดยที่ไม่รู้ความจริง แม้เรื่องเสียงที่คุณชมชื่นสงสัย ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงๆ ปรากฏกับจิตที่ได้ยิน ถ้าจิตไม่เกิด ไม่ได้ยินเสียง เสียงปรากฏไม่ได้เลย แม้ว่ามีเสียงที่นั่นในป่าซึ่งไม่มีคน ไม่มีจิตจะได้ยินเสียงนั้นเลย เสียงก็ยังมีได้

    เพราะฉะนั้น คิด หรือคำ เพราะคุ้นเคยแล้วก็จำได้ ทันทีที่เสียงนั้นปรากฏ ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อทำให้เข้าใจความหมายของเสียงที่เพียงเกิดแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังคิดเป็นคำ ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยินเสียงแน่นอน นี่คือความละเอียด นี่คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงแสดงธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ หรือบันดาลให้เป็นไปได้เลย เมื่อมีปัจจัยต่างหากจึงเกิดได้ เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง และนี่ก็เป็นชีวิตในสังสารวัฏ แต่ละขณะก็คือการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั่นเอง

    ได้ยินเสียงไหม เสียงเกิดเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ของแข็ง ๒ อย่างกระทบกัน และมีจิตที่ได้ยินจึงได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เสียงเกิดโดยไม่มีจิตได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ปรากฏว่า มีเสียง หรือเป็นเสียงเลย ถ้าไม่มีธาตุที่กำลังได้ยิน เสียงจะปรากฏได้อย่างไร เวลานี้ก็ต้องมีสิ่งที่แข็งกระทบกันแต่ละแห่ง แต่ละจุด นอกห้องนี้ก็มี ที่โน่นก็มี ที่นั่นก็มี แต่ไม่ได้ปรากฏลักษณะของเสียง เพราะว่าจิตได้ยินไม่ได้เกิดขึ้น

    แค่นี้ เข้าใจอย่างนี้ก่อน ไม่ใช่ให้ไปเข้าใจหมดเลยทุกอย่าง เพียงเสียงมีจริง เกิดขึ้นเพราะอะไร ปรากฏได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่เป็นเสียงหนึ่งเสียงใดไปแล้วในทันที

    ท่านอาจารย์ "เสียง" คุณชมชื่นบังคับให้เกิดปรากฏ หรือไม่ ปรากฏแล้วให้ไม่หมดไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็แค่นี้เอง สิ่งที่มีจริงเกิดแล้วดับ เกิดแล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีก แค่นี้เข้าใจได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เข้าใจเสียงก่อนว่า เป็นธรรม มีจริงๆ ได้ยินเสียงไหม

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ มีความหมายอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้หมายความว่าอะไร อ๊อดๆ แอ๊ดๆ นั้น

    ผู้ฟัง อาจารย์เข็มไอ

    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนนั้นไม่ได้คิด ไม่ใช่คุณเข็มคนเดียว เพราะฉะนั้น เวลาที่คิด คิดจากเสียงที่ได้ยิน แล้วก็จำได้เพราะเห็นด้วยว่าอยู่ตรงนี้ ก็เลยคิดว่า ใครไอ แต่ถ้าหลับตามีใครไอไหม ถามว่าเสียงอะไรจะตอบได้ไหมว่า คุณเข็มไอ ถ้าหลับตา อย่างตอนนี้ใครไอ

    ผู้ฟัง ได้ยินแต่เสียงไอ แต่ไม่ทราบว่า ใครไอ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าอะไร เห็นมาประกอบแล้ว เพราะฉะนั้น คิดมากมายเหลือเกิน พอเห็นก็คิด พอได้ยินก็คิด คิดแล้วก็มารวมกันเป็นเรื่องราวใหญ่โต แท้ที่จริงแค่จิต ๑ ขณะแล้วก็ดับไป แล้วสืบต่อเร็วสุดจะประมาณได้ จนไม่เห็นการเกิดดับ ตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ เกิดมาแล้วทำอะไรบ้าง ได้ยินเสียงอะไรบ้าง คิดอะไรบ้าง ทั้งหมดก็คือธรรมทั้งนั้นเลย แต่ไม่ได้รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น เหมือนฝันไหม เวลาหลับสนิท ไม่มีอะไรเลย แต่พอฝัน มีในฝัน อาจจะเป็นเสียงในฝันก็ได้ ที่พูดกับใคร แต่ไม่ใช่สภาพเสียงที่ปรากฏกับจิตที่ได้ยินเลย เพียงแต่จำแล้วก็คิด แล้วยังเข้าใจด้วยว่า พูดอะไร

    เพราะฉะนั้น เป็นธรรมที่เกิดดับสืบต่อที่เร็ว ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ไม่เข้าใจ จะรู้ความจริงไหมว่า ไม่มีเรา ไม่มีใคร เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นเอง และกว่าจะละคลายว่า สิ่งที่เกิด ดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลย ถ้าจะคิดก็เพียงคิดจำในสิ่งที่ไม่มีในขณะนั้น เข้าใจว่ายังมี และมีตลอดไป แต่ตามความเป็นจริงปัญญาต้องสามารถละความยินดีในแม้ความคิด และความจำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่เกิดแล้วก็ดับไป มิฉะนั้นการศึกษาธรรมก็ไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรม ขณะไหน อย่างไร ก็ต้องอาศัยการฟัง ฟังจนมั่นคง และเข้าใจเพิ่มขึ้น แค่ฟัง แม้ใครก็ตามที่เข้าใจธรรมจะหวังว่าคนที่ฟังจะหมดกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าให้เริ่มเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งยากจะเข้าใจ ยากจะเห็นถูกได้ แต่ประโยชน์มหาศาล เพราะเหตุว่าเพียงนิดหน่อยเราจะเห็นประโยชน์ของสิ่งที่มีค่ามากๆ ไหม มองไม่เห็นเลย เพราะเล็กน้อยมาก แต่ต่อไปถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความไม่รู้ หรือหลงเพลิดเพลินเพราะเป็นทุกข์เป็นสุขกับเรื่องราว เพียงในความคิดเหมือนในความฝัน

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นการเปรียบให้เห็นเท่านั้นเองว่า เวลาฝันเรายังพอจะรู้ว่า แค่ฝัน เพียงฝัน แต่ขณะนี้ไม่รู้เลยว่า เพียงแค่เหมือนฝัน เพราะเหตุว่าเพียงแค่เห็น เพียงแค่ได้ยิน เพียงแค่คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ แล้วไม่มีอะไรเหลือเลย ความจริงคือไม่มีอะไรเหลือ เกิดใหม่ก็คิดใหม่ เห็นใหม่ หลงใหม่ ฝันใหม่ แล้วก็ไม่รู้ว่า ฝันมี ๒ อย่าง ฝันโดยไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเลย เป็นความคิดล้วนๆ ก็คือขณะที่หลับแล้วก็นึกคิดเป็นฝัน แต่พอตื่นขึ้นมาก็ฝันอีกอย่างหนึ่ง คือมีสิ่งที่ปรากฏฝันว่าเป็นจริง ฝันว่าเที่ยง ฝันว่ายังอยู่ แต่ตามความเป็นจริงสิ่งนั้นก็คือ เกิดแล้วก็ดับไป

    ขณะนี้มีอะไรเหลือบ้าง ถ้าฟังแล้วเข้าใจจริงๆ เพียงชั่วขณะที่ธรรมปรากฏ จะรู้ความต่าง เมื่อกี้นี้ฟังเรื่องเห็น ฟังเรื่องเสียง ฟังหลายเรื่อง แต่ว่าขณะที่แข็งปรากฏเพราะสติรู้ตรงแข็ง ต่างกันแล้ว นี่จริง นี่มีลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่นึกคิด ไม่ใช่ขณะนี้กำลังเห็นก็ไม่ได้รู้ความจริงของเห็นเลย แล้วเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ขณะที่ได้ยินก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ได้ยิน แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ ชั่วขณะ มีจริง แต่ถ้ารู้จริงๆ ก็ชั่วขณะ เวลานี้มีจริง แต่ยังไม่รู้ว่า ชั่วขณะที่แสนสั้น สั้นมาก เพียงแต่รู้ว่ามีจริง แต่ถ้ารู้จริงก็คือ สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏนั้นหมดแล้ว ไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้น ความจริงก็มีหลายอย่าง ความจริงที่เป็นอริยสัจจะ ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงพระมหากรุณาแสดงให้คนอื่นค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก และสามารถที่จะดับสิ่งที่ทุกคนไม่ชอบ คือ กิเลส ไม่ชอบชื่อ รังเกียจชื่อ แต่เวลาเกิดไม่รู้สึกเลย

    ผู้ฟัง .ท่านอาจารย์บอกว่า ขณะนี้เหมือนฝันกับฝันจริงๆ สงสัยตรงนี้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเหมือนฝัน แต่ไม่ใช่ฝันจริงๆ ฝันจริงๆ ไม่มีสิ่งที่ปรากฏ เป็นเรื่องจำทั้งหมด ในฝันนั้นคือความจำเท่านั้น ฝันว่าเห็น แล้วเห็นจริงๆ หรือไม่ ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น ฝันนี่ทุกคนรู้จัก แต่พอตื่นแล้วเหมือนฝัน เพราะมีสิ่งที่ปรากฏฃั่วขณะ แล้วไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏแล้วฝันว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง นั่นฝัน หรือไม่ ในเมื่อความจริงไม่เที่ยง เกิดแล้วดับ แต่ฝันว่ายังอยู่ ฝันคือไม่จริง เพียงแต่คิดว่า ยังมี คิดว่ายังมีอยู่ เหมือนคุณพรทิพย์กำลังนั่งอยู่ที่นี่ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับแล้ว เร็วมาก แต่ยังเหมือนมีคุณพรทิพย์ยังอยู่ สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหน้าตาเหมือนยังอยู่ แต่รูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เร็วแค่ไหน ใครจะรู้ ระหว่างเห็นกับได้ยินเกิน ๑๗ ขณะจิต รูปดับแล้ว ไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้น รูปใดที่เกิดแล้วดับแล้ว รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นทั้งหมดแม้เกิดก็ดับแล้ว โดยไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเป็นใครได้อย่างไร นอกจากคิด เหมือนฝันว่า สิ่งนี้ยังอยู่ ยังเห็นอยู่ ยังเป็นรูปร่างอย่างนี้อยู่ ยังเข้าใจว่าเป็นชื่อนี้อยู่ ยังเป็นคนนี้อยู่

    เพราะฉะนั้น ก็คือฝันถึงสิ่งที่ไม่มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    12 ก.พ. 2567