พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 626


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงกล่าวว่าธรรมมีลักษณะเฉพาะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็ต้องศึกษารายละเอียด เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาเช่นนี้ เช่นที่พระองค์ทรงตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ ๔๕ พรรษา

    ผู้ฟัง ซึ่งถ้าไม่ศึกษา พูดง่าย เห็นเป็นอนัตตา แต่แล้วเกิดอย่างไรเราไม่ทราบ ไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นอนัตตา แล้วใครกำลังเห็น แล้วใครกำลังพูด ไม่ได้รู้ความจริงเลยว่าเป็นธรรม แค่จำแล้วก็พูด แต่ส่องถึงความเข้าใจว่าถ้ากล่าวอย่างนี้ หมายความว่าไม่รู้ความเป็นธรรม อย่างที่กล่าวถึงเมื่อวานนี้ ถึงเรื่องว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฟังเห็นด้วยไหม แค่เห็นด้วย ไม่ได้ให้ไปรู้อะไรมากกว่านั้น ฟังแล้วเห็นด้วยไหม

    ผู้ฟัง ฟังแล้วเห็นด้วย แต่ฟังใหม่ๆ ยังไม่เห็นด้วยเลย

    ท่านอาจารย์ ถามว่าเดี๋ยวนี้ ฟังแล้วเห็นด้วยไหม

    ผู้ฟัง เห็นด้วยตามความเข้าใจขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ เห็นด้วยไหม

    ผู้ฟัง เห็นด้วย

    ท่านอาจารย์ เห็นด้วย แต่อกุศลมากเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า คำพูด พูดได้ จำได้ พูดตามได้ แต่ถ้าเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ จะเห็นไหมว่ากุศลใดเป็นกุศลใด อกุศลใดเป็นอกุศลใด ตัวจริงๆ ที่รู้ว่าเป็นธรรม เวลานี้เราก็พูดชื่อใช่ไหม หิริโอตตัปปะ ศรัทธา ตัตระมัชฌัตตตา อะไรก็ทั้งนั้นเลยเจตสิก พอถึงจิตก็กล่าวได้ เป็นอเหตุกะ อะไรๆ ก็กล่าวได้หมด แต่ว่าเป็นธรรม หรือเป็นเรา ทั้งๆ ที่กำลังพูด

    ผู้ฟัง จริงๆ เป็นธรรมแต่จำว่าเป็นเรา เข้าใจผิดว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรจะจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ต้องประจักษ์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนนั้นรู้เองใช่ไหม ว่าถ้าไม่มีปริยัติ อะไรจะทำให้มีการระลึกได้แม้แต่คำ ที่จะไตร่ตรอง ที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้น ว่าขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏสั้นที่สุดแล้วก็เป็นภวังค์แล้ว ก็ไม่ได้ปรากฏความสั้นแล้วจะให้ไปหมดกิเลสได้อย่างไร ในเมื่อเมื่อกี้นี้สิ่งที่มีเหมือนเดี๋ยวนี้ หมดแล้วไม่มีเหลือเลย เพราะภวังคจิตไม่มีอารมณ์ใดๆ ที่จะไปปรากฏให้รู้ได้ อารมณ์นั้นดับไปแล้วจิตจึงทำภวังคกิจดำรงภพชาติ แสดงว่าขณะที่ภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติ สิ่งที่มีแล้ว ปรากฏแล้วนั้นดับไม่กลับมาอีกด้วย แล้วเมื่อไรเราจะเข้าถึงความจริงอันนี้พอที่จะสามารถรู้ในขณะที่กำลังปรากฏ แต่ขั้นแรกไม่ใช่ไปรู้อย่างนี้ เพียงรู้ว่าเป็นธรรมที่หลากหลายแต่ละอย่าง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา เคยเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นญาติพี่น้อง เป็นดอกไม้ เป็นสารพัดอย่าง เพียงปรากฏให้เห็นได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะคลายความติดในนิมิต อนุพยัญชนะไหม เพราะว่าจริงๆ แล้วความละเอียดของธรรม อย่างเรื่องของโค จะ ระ หรือโคจรซึ่งเป็นอารมณ์กับอะ โค จะ ระ อโคจร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอารมณ์ที่สมควร ขณะที่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ อย่างเดี๋ยวนี้ ที่ไม่รู้ความจริงว่าไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั่นคืออโคจร อะ โค จะ ระ ไม่ได้ทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องว่าเป็นธรรม ไม่สามารถที่จะรู้การเกิดขึ้น และดับไปของธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับ ปรากฏเป็นนิมิตแล้วยังมีความติดข้องในนิมิต ทั้งหมดเลยเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อารมณ์นั้นเป็นอโคจร ถ้าโคจรก็คือปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะสามารถที่จะทำให้รู้ถึงการเกิดดับ อย่างเสียงไม่มีใช่ไหม แล้วเกิด แล้วดับ ชัดเจนว่าเป็นอนิจจัง ชัดเจนว่าขณะเมื่อหมดแล้วต้องเป็นภวังค์คั่น เพราะฉะนั้นแต่ละขณะ แต่ละวาระสั้นแสนสั้น แต่ซ้ำจนกระทั่งไม่รู้ว่ามีการเกิดแล้วก็ดับไปไม่เหลือเลย แล้วก็มีภวังค์คั่นอยู่ เพราะฉะนั้นการฟังอย่างนี้เพื่อให้คลายความไม่รู้การที่เคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วจะฟังไปอีกนานเท่าไร คนนั้นก็รู้เอง ว่าเมื่อไรจะเริ่มเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงพระธรรมเป็นเรื่องสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันที่ปรากฏ ซ้ำแล้วซ้ำอีกแม้แต่คำว่ารูปารมณ์ หรือว่ารูปารัมมณะในภาษาบาลี ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ และในพระไตรปิฎกก็พูดถึงสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่ฟังทั้งหมด ชาติก่อนก็ฟังมาแล้วบ้าง นี่เป็นชาติก่อนของชาติหน้าที่ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ความรู้ที่จะติดตามไป เป็นธรรมไม่ว่าอะไรที่ปรากฏก็มีความเข้าใจในความเป็นธรรม ที่จะคลายการยึดถือว่าเป็นเราก่อนที่จะประจักษ์ความจริงของการเกิดขึ้น และดับไป จนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้ไม่เหลือเลย เป็นไปได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างนั้นได้

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่ายังไม่กระจ่างชัดในตัวปรมัตถธรรม กับนิมิต หรืออนุพยัญชนะ คือเห็นก็ทราบว่าเป็นนิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางตา เราไม่ได้เห็นตัวปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร พระธรรมที่ทรงแสดงคือพระปัญญาคุณของผู้ที่ทรงตรัสรู้ พระธรรมในพระไตรปิฎก ผู้รู้แล้วกล่าว แม้แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่เป็นนิมิต อนุพยัญชนะไม่ใช่โคจรที่จะทำให้รู้ความจริง แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพียงปรากฏความจริงที่เป็นธรรมนั้นๆ นั่นแหละจะรู้ว่าธรรมเกิดแล้วก็ดับก่อนที่จะถึงนิมิต อนุพยัญชนะ ยิ่งกว่านั้นอีก กามคุณ ๕ เป็นอโคจร แล้วเราก็อยู่กับอโคจรมาตั้งแต่เกิดใช่ไหม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะอะไร ติดข้อง ใครละ พระอนาคามีบุคคลละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็แสดงให้ห็นว่ากามคุณเป็นอโคจร เพราะว่าทำให้ติดข้อง ด้วยเหตุนี้สำหรับผู้ที่รู้แล้วท่านก็จะกล่าวถึงอโคจร และโคจรในนัยที่ท่านรู้ เพราะฉะนั้น การฟังผู้ที่รู้แล้วก็เป็นแนวทางที่เราค่อยๆ เห็นจริงมีความมั่นคงขึ้น ความมั่นคงนี่ไม่ใช่อะไรเลย ปัญญาความเข้าใจถูกที่แทรกซึมไปจนถึงอนุสัยกิเลสที่จะรู้ว่าขณะนั้นมีกิเลสมากน้อยแค่ไหน อะไรบ้าง จึงจะสามารถดับได้ เวลาที่เราพูดถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ไม่ว่าจะเป็นทิฏฐิความเห็นผิด หรือว่าโลภะความติดข้อง หรือว่าโทสะก็ตามแต่ ลักษณะนั้นปรากฏหลากหลายต่างกัน พอที่จะเรียกชื่อที่ต่างกันตามสภาพนั้นๆ เช่นพอพูดถึงโทสะความหยาบกระด้างไม่ใช่โลภะ โลภะไม่เป็นอย่างนั้นเลย พอใจติดข้อง ต่างกัน แต่ว่าจริงๆ เรารู้ลักษณะนั้น หรือเปล่า ยังไม่รู้ก็ต้องยังไม่รู้ ยังไม่กระจ่างก็ยังไม่กระจ่าง เพราะฉะนั้น การฟังหวังว่าจะรู้ทันทีกระจ่างทันที ประจักษ์ทันที เป็นไปไม่ได้ เพียงรู้ว่าสิ่งที่ได้ฟัง จริงไหม พิสูจน์ได้ หรือเปล่า สามารถรู้ได้ไหม มีจริงๆ ในขณะนี้ หรือเปล่า ถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้แล้วเข้าใจแม้เพียงความหมายของคำนั้นว่าหมายความถึงอะไร เช่นถ้าพูดถึงธาตุรู้ สภาพรู้ จะมาใช้คำอะไรอีกในภาษาต่างๆ จะเหมือนกับกำลังเข้าใจเห็นที่กำลังเห็นไหม ถ้าเห็นไม่เกิดจะรู้อะไร ถ้าได้ยินไม่เกิด ไม่ปรากฏ เสียงไม่ปรากฏก็ไม่มีอะไรปรากฏ เพราะฉะนั้น เราจะไปหารูปร่างลักษณะของเห็น ของได้ยิน ไม่ได้ เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งนั้นจึงปรากฏ เช่นกำลังรู้เสียง ใช้คำว่ารู้เสียง ไม่ได้หมายความว่าปัญญา แต่เป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของเสียงแต่ละเสียง ซึ่งเสียงแต่ละเสียงที่ดับไปไม่ใช่เสียงเดียวกัน และเสียงแต่ละเสียงก็หลากหลายกันด้วย และเสียงที่ปรากฏแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคง ในความเป็นธรรม ซึ่งใครก็จะเปลี่ยนความเข้าใจถูกให้ผิดไปไม่ได้ จะกล่าวว่า นี่ไม่ใช่ธรรม หรือธรรมไม่ใช่อย่างนี้ ธรรมเที่ยง หรือบังคับธรรมให้เกิดขึ้นก็ได้ ให้ดับไปก็ได้ ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ความเข้าใจจะค่อยๆ มั่นคงยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ขออีกหนึ่งประเด็น ที่คุณเมตตาถามคุณลุงนิภัทรว่า "การศึกษาเรื่องชาติของจิตมีประโยชน์อย่างไร" ตามความเข้าใจ เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงต่างๆ ชาติของจิตก็เป็นความจริงเช่นนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเป็นอะไรใน ๔ อย่าง กุศล อกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล ส่วนกิริยาไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผลแต่ก็ทำหน้าที่แล้วก็หมดไป คือก็เหมือนกับการที่เราศึกษาพุทธพจน์ว่า..

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง ธรรมเป็นเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จะละเอียดมากว่านี้ ถึงภูมิต่างๆ การงานถึงปัจจัยต่างๆ ก็เพื่อรู้ว่าเป็นธรรมซึ่งขณะนี้ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง อารมณ์ของจิต หรืออารมณ์ของเจตสิกอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ไม่มีโอกาส หรือไม่มีความรู้ที่จะเกิดทราบได้ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงอารมณ์ หรือสภาพธรรม เป็นแต่เพียงนิมิต อนุพยัญชนะเท่านั้น ตรงนั้นก็ไม่ควรที่จะเป็นโคจร

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนี้เป็นนิมิต อนุพยัญชนะเพราะลืมว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง ก็เพียงเท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าเป็นตรงข้ามก็คือโคจรหมายความว่าขณะนั้นสภาพรู้สามารถรู้ได้ว่าสิ่งนั้นก็คือสภาพธรรมซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจังแล้วก็แน่นอนเป็นอนัตตาเพราะไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้ สิ่งนั้นก็ทำให้เกิดมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าปริยัติคือความรอบรู้ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็จะทำให้รู้ได้ว่าขณะนี้เป็นความคิด ความเข้าใจขั้นฟัง แต่ตัวธรรมจริงๆ มีอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลาด้วยสิ่งที่ปรากฏขณะนี้เกิดดับแล้วไม่กลับมาอีกด้วย เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมใดปรากฏเพราะเกิดแล้วก็ดับไป กล่าวถึงเรื่องภวังค์ก็ให้เห็นความเล็กน้อยมาก ของแต่ละ

    สภาพของธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏก็ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่มีอะไรเหลือเลยสักขณะเดียว ไม่เพียงเมื่อวานนี้ที่ไม่เหลือ ไม่ใช่เพียงเมื่อเช้าที่ไม่เหลือ แม้เพียงขณะก่อนก็ไม่เหลือ

    ผู้ฟัง อยากจะเน้นไปอีกนิดหนึ่งว่าการที่เกิดอกุศลจิตขึ้นมา แล้วก็แน่นอนว่าวิปลาสเกิดขึ้น จะเป็นทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส หรือจิตวิปลาสอะไรก็แล้วแต่ แต่ตรงที่ทิฏฐิวิปลาสนี่แม้กระทั่งการมองเห็น การมองเห็นว่าสิ่งนี้เช่น นิ้วมือว่าเป็นนิ้วมือของเรา ขณะนี้เป็นลักษณะของทิฏฐิวิปลาสก็คือสักกายทิฏฐิอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เราเรียน เราฟัง เราคิด แต่ลักษณะนั้นยังไม่ได้ปรากฏให้รู้จริงๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น ขอยกตัวอย่าง ขณะนี้สติสัมปชัญญะเกิดได้ไหม เกิดได้ พอสติสัมปชัญญะเกิดมีสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะลักษณะนั้นเท่านั้นที่กำลังปรากฏถูกต้อง หรือไม่ แค่นั้น หลังจากนั้นก็วิปลาสแล้ว เร็วไหม หลงลืมสติไปแล้วเพียงแค่นิดเดียวที่สติเกิดขณะนั้น ไม่วิปลาส เพราะว่าสติกำลังรู้ลักษณะกำลังมีจริงๆ แต่สั้นมาก น้อยมาก หลังจากนั้นเป็นความไม่รู้ เพราะว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่ง วันหนึ่งกว่าอกุศลจะลดน้อยลง ลดน้อยที่นี่ก็คิดดูว่าเพียงชั่วขณะที่กุศลจิตเกิด ถ้าขณะนั้นมิใช่กุศลจิต ก็ยังมากเหมือนเดิม น้อยเฉพาะตอนที่กุศลจิตเกิด แล้วอกุศลที่จะดับไปได้ ไม่เกิดอีกก็ต้องด้วยกำลังของปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังสะสมอบรมปัญญาให้มีกำลังพอที่จะเข้าใจในขั้นการฟังให้มั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง ถ้ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดปรากฏให้เห็นได้ ว่ามีจริงๆ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง หมดแล้วไม่เหลือเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้มากขึ้นความที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็สามารถที่จะเกิดระลึกได้ อาจเป็นเพียงคำพูดก็ได้ แต่ก็เป็นคำพูดที่เตือน หรือว่าถูกต้องจนกว่าขณะนั้นรู้ว่า คิดก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันได้ ไม่เหลือวิจิกิจฉานุสัย ไม่เหลือการที่สำคัญว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยง และก็เป็นเราด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปหวังอื่นนอกจากปัญญายังไม่พอที่แม้สติปัฏฐานจะเกิดบ่อยๆ หรือเมื่อสติปัฏฐานเกิดเพียงชั่วรู้นิดหนึ่ง หลังจากนั้นเป็นอกุศลแล้ว คิดดูกว่าจะมีความมั่นคงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดต่อได้เพราะละความติดข้องในแข็ง หรือในสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้ ด้วยเหตุนี้เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่าขณะไหนสัมมาสติเกิดต้องเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นเราพยายามไปนั่งจ้อง จะเห็น จะรู้ เพื่อละแม้แต่ขั้นต้นก็ละยากจากการที่จะต้องการให้สติปัฏฐานเกิด แค่ไหน คิดดู ฟังธรรมมาก็มากพอได้ยินสติปัฏฐานก็อยากจะให้มีสติปัฏฐานมากๆ โลภะตามไปตลอด เหมือนอากาศธาตุที่แทรกคั่นอยู่ในทุกกลาป

    ผู้ฟัง ถ้าเปรียบเทียบกับหนทางแล้ว ว่าจะเป็นทางที่จะไป รู้สึกว่าไม่มีทาง

    ท่านอาจารย์ กำลังไป ไม่ใช่ไม่มีทางเลย พระธรรมยังมีอยู่ ศึกษาโดยละเอียดโดยรอบคอบที่จะรู้ความจริง และเข้าใจอรรถของพยัญชนะนั้นให้ตรงว่าเพื่อละ ถ้าเกิดต้องการเมื่อไรก็ผิด

    ผู้ฟัง ขณะที่คิดอย่างนี้ก็อโคจรอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เพียงแต่จะละความต้องการสติปัฏฐาน คิดดู ตั้งหลายคนพอมาถึงก็ถามคำเดียว สติปัฏฐานจะเกิดได้อย่างไร จะทำอย่างไรจะเกิด ไม่พูดถึงเรื่องความเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏเลย

    ผู้ฟัง ในดีวีดีเชียงใหม่ที่ดู มีช่วงหนึ่งที่ท่านอาจารย์ก็ถามว่า "สิ่งที่ปรากฏอยู่ที่ไหน?" และท่านอาจารย์ก็มิได้เฉลย อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยเฉลย

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยจะช่วยเฉลยไหมคะ

    อ.วิชัย เข้าใจคำว่าสิ่งที่ปรากฏ หรือยัง เพราะเหตุว่าเมื่อสักครู่ถามใช่ไหม ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ที่ไหน (ที่ท่านอาจารย์ถามในดีวีดี) ก็อยากจะสนทนาด้วยสิ่งที่ปรากฏนี้คืออะไร ก่อนที่จะรู้ว่าอยู่ที่ไหน คืออะไรก่อน

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕

    อ.วิชัย ก็หมายความว่าคือต้องมีธาตุรู้ใช่ไหม เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีธาตุรู้เลยอะไร อะไรก็ไม่ปรากฏทั้งหมด ต้องมีสภาพรู้ เมื่อมีสภาพรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แน่นอนใช่ไหม เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ดังนั้นก็พิจารณาถึงขณะนี้เลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็กำลังมีธาตุรู้เกิดอยู่ รู้อะไร ก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏแก่อะไร ก็คือแก่ธาตุรู้ ดังนั้นคำหลายคำก็อาจได้ยินเช่นอารัมมณะก็หมายความว่าสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ และรวมถึงเจตสิกด้วย สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ หรืออารัมมณะแก่จิต และเจตสิกนั้นๆ ดังนั้นถ้าพิจารณาว่าสิ่งที่ปรากฏ ก็หมายความสิ่งนั้นปรากฏแก่ธาตุรู้ หรือสภาพรู้ซึ่งก็คือ ความหมายถึงอารมณ์ซึ่งปรากฏแก่ธาตุรู้สภาพรู้ซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้น ดังนั้นเมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้นขณะใดก็ตาม ขณะนั้นต้องมีสิ่งที่ปรากฏแก่ธาตุรู้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็มี สิ่งที่ธาตุรู้กำลังเกิดขึ้นรู้ และก็กำลังมีสิ่งที่ปรากฏแก่ธาตรู้สภาพรู้ก็คือขณะนี้เองที่ว่าสิ่งที่ปรากฏ ก็คือกำลังปรากฏแก่ธาตุรู้สภาพรู้ขณะนี้เอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ธาตุรู้กำลังรู้อะไร จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นอยูที่ไหน

    ผู้ฟัง รู้ในสีสันที่ปรากฏต่อ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าถึงจะไม่เรียกว่าสีสัน หรือที่เราเคยจำว่าเป็นสีสันต่างๆ ก็กำลังปรากฏให้เห็น สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น สามารถที่จะรู้อะไรได้ หรือเปล่า รู้ไม่ได้ แต่มีจริงๆ แล้วตามที่เคยฟังรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานมีกี่รูป

    ผู้ฟัง มี ๔ รูปคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้ามีมหาภูตรูปคือรูปที่เป็นใหญ่ ๔ รูปนี้เกิดแล้วจะต้องมีรูปใดรวมอยู่ด้วยที่อาศัยเกิดกับรูปนั้น

    ผู้ฟัง อุปทายรูปอีก ๔ รูป

    ท่านอาจารย์ คือสี กลิ่น รส โอชา ที่เรียกว่าสีหมายความว่าสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ ในบรรดารูป ๘ รูปที่แยกกันไม่ได้ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สามารถกระทบกายปสาท นี่คือความละเอียดของรูปที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้เลย ก็มีรูป ๘ รูป แล้วใน ๘ รูปที่จะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับปสาทเช่นสิ่งที่เป็นธาตุดินแข็ง หรืออ่อน ธาตุไฟเย็น หรือร้อน ธาตุลมตึง หรือไหว จะปรากฏลักษณะนั้นเมื่อกระทบกับกายปสาท แต่ก็เป็นมหาภูตรูป เมื่อมีมหาภูตรูปแล้วก็มีรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปที่แยกกันไม่ได้คือรูปที่สามารถกระทบจักขุปสาทรูป ๑ รูป เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาทจิตเห็นไม่เกิด จะไม่รู้เลยว่ามีรูปที่กำลังปรากฏให้เห็น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะพูดถึงรูปที่เล็กจนกระทั่งมองไม่เห็น แต่ถึงกระนั้นก็มีรูปรวมกัน ๘ รูป ๘ รูปนี่เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ใช้คำว่ามหาภู ตะ มี ๔ รูป คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ที่จะกระทบกายปสาทที่ปรากฏได้ก็คืออ่อน หรือแข็งซึ่งเป็นธาตุดิน เย็น หรือร้อนซึ่งเป็นธาตุไฟ ตึง หรือไหวซึ่งเป็นธาตุลม มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏอยู่เสมอใช่ไหม แต่ก็ไม่เคยรู้ความจริง และขณะนี้ที่มีมหาภูตรูปเกิดแล้วจะปราศจากรูปอีก ๔ รูปซึ่งเกิดกับมหาภูตรูปพร้อมกันดับพร้อมกันไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีมหาภูตรูป ๔ รูปนี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีมหาภูตรูป ๔ นี้แล้วก็มีรูปอีก ๔ รูปซึ่งอาศัยมหาภูตรูปเกิดดับพร้อมกันเลยเป็น ๑ กลาปกลุ่มหนึ่งมีรูปที่แยกไม่ได้เลย ๘ รูป เรียกว่าอวินิพโภครูป ๘ เมื่อมีมหาภูตรูป ๔ แล้วต่อจากนั้นมีรูปอะไรอีก ๔ ที่เกิดกับมหาภูตรูปเป็นหนึ่งกลาป ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

    ผู้ฟัง ทั้งหมด ๘ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องเรียกชื่อ หรือจะเรียกชื่อก็ได้ อีก ๔ รูปคืออะไร

    ผู้ฟัง สี กลิ่น รส โอชา

    ท่านอาจารย์ ทำไมเรียกว่าสี ไม่เรียกว่าสีก็ได้ แต่หมายความถึงรูปนั้นสามารถกระทบจักขปสาทรูป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    13 ม.ค. 2567