พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 429


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๒๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ตรงกันข้าม ใครก็จัดสรรไม่ได้ที่จะให้เกิดเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นั่นคือกรรมให้ผลตรงตามเหตุ แต่สำหรับกิริยาจิตไม่ใช่อย่างนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ถึงกาละที่จะเกิดต่อเพื่อเป็นบาท เป็นชวนปฏิปาทกะที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วกุศลจิต และอกุศลจิต อยู่ดีๆ เกิดขึ้นมาได้ไหม เกิดขึ้นมาลอยๆ อยากให้เป็นกุศลเมื่อไร กุศลก็เกิด อยากให้เป็นอกุศลเมื่อไร อกุศลก็เกิด เป็นไปไม่ได้เลย นั่นคือไม่ใช่ธรรม แต่ถ้าเป็นธรรม ก็ต้องเป็นไปตามนิยาม ตามความเป็นไปของจิต ตามปัจจัยซึ่งเมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว เป็นอนันตรปัจจัยให้โวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิด จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อโวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิต ดับแล้ว กุศล หรืออกุศลเกิดตามการสะสม แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นปัจจัยให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นคุณสุกัญญาจะสงสัยอะไรว่า กุศลจิตจะเกิดได้ไหม อกุศลจิตจะเกิดได้ไหม แม้กิริยาจิตของพระอรหันต์ยังเกิดได้ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศล และไม่มีอกุศล เมื่อดับเหตุหมด ไม่ได้ดับเฉพาะอกุศลอย่างเดียว แต่ต้องดับเหตุที่เป็นกุศลด้วย มิฉะนั้นถ้ายังมีกุศลตราบใด ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลของกุศลเกิดได้ วิบากจิตยังเกิดได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อดับเหตุซึ่งจะทำให้เกิดทั้งกุศล และอกุศล คือดับอวิชชา ดับนี่หมายความว่า ในจิตแต่ละขณะซึ่งมีอนุสัยกิเลสอย่างละเอียด ไม่ได้ปรากฏเลย เช่นขณะที่หลับสนิท ตื่นขึ้นเป็นไปแล้วตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมาในจิตที่จะเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นี่พูดอย่างย่อๆ โดยไม่ได้พูดถึงปัญจทวาราวัชชนะ หรืออะไรเลย เท่าที่จะพูดได้ ก็คือทันทีที่ตื่น แล้วก็มีเห็น มีได้ยิน แล้วก็มีกุศล และอกุศลเกิดสืบต่อ เพราะมีเหตุที่จะให้เกิด แต่สำหรับพระอรหันต์ดับอนุสัยกิเลส เชื้อของกรรมที่จะทำให้ผลทั้งหลายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความต่างกันที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นได้ ลองคิดดู ไม่รู้เลยว่า หลังจากเห็นแล้วเป็นอะไร แต่ต้องเป็นกุศล หรืออกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อรูปยังไม่ได้ดับไป มีข้อแม้ว่า เมื่อรูปยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อก็ต้องเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง โดยไม่รู้เลย จนกว่าเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว จิตที่เกิดต่อไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นกิริยาจิต เพราะปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ความจริงจนกระทั่งดับแม้ทันทีที่เห็นแล้วเคยเป็นอกุศล ระหว่างที่อบรมเจริญความรู้เพิ่มขึ้นก็สามารถจะเห็นแล้วเป็นกุศล แต่ว่าเมื่อถึงที่สุดของปัญญา คือดับกิเลสหมด เมื่อเห็นแล้วเป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ถ้ากุศล หรืออกุศลที่เกิดทางปัญจทวารวิถี น่าจะต่างจากทางมโนทวารวิถี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ทวารไหน ก็คิดอีก แต่ว่าไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะคิดเองได้เลย แล้วก็จะเป็นอย่างที่เราคิด สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็ตาม ขณะนี้รู้ หรือไม่ว่า สภาพธรรมที่จะมาปรากฏเป็นนั่งอยู่แล้วก็มีคนเยอะแยะ มีนาฬิกา มีดอกไม้ มีอะไรต่างๆ จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้ ที่กล่าวว่า บัญญัติเป็นเงาของปรมัตถ์ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว สภาพธรรมขณะนี้เกิดดับ ไม่ได้ปรากฏเลย แต่การสืบต่อที่ทำให้ปรากฏเหมือนเป็นรูปร่างสัณฐานเป็นสิ่งที่ต่างกันตามรูปร่าง เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นดอกไม้ ล้วนเป็นบัญญัติ แต่ว่ามีสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อทำให้รูปร่างสัณฐานยังคงอยู่

    ด้วยเหตุนี้จึงได้ยินว่า บัญญัติธรรม เมื่อสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อปรากฏรูปร่างสัณฐานให้รู้ ให้จำ ให้เข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นตัวจริงๆ เกิดแล้วดับแล้วไม่เหลือเลย ลองคิดถึงเพียง ๑ ขณะ ขณะไหนล่ะ ขณะนี้จะเป็นเห็น จะเป็นได้ยิน หรือจะเป็นคิดนึก ล้วนแต่ดับไปหมด เพราะฉะนั้นจะเข้าใจความหมายของบัญญัติ โดยยังไม่ต้องพูด โดยยังไม่ต้องใช้คำใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ก็มีบัญญัติ คือมีธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อปรากฏเหมือนว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แล้วก็บัญญัติคำให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมใด ก็เป็นอีกความหมายหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีบัญญัติ จะมีคำสำหรับบ่งถึงสภาวธรรม หรือสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ไหม

    ด้วยเหตุนี้ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะแยกปรมัตถธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมเท่านั้นจริงๆ ออกจากบัญญัติทั้งหมด ไม่ว่าจะคิด ขณะนั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่มี แต่ว่าความคิดก็เป็นเพียงแต่คิด สิ่งนั้นไม่มีจริงๆ แต่ว่าจิตคิดได้ เวลาที่ฝัน ไม่มีเสียงปรากฏจริงๆ ไม่มีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นจริงๆ แต่ว่าในฝันก็มีเรื่องราวต่างๆ เพราะคิด เห็นไหมว่า คิดสามารถจะคิดได้ระดับไหน สำหรับผู้ที่จิตจะสงบก็จะต้องรู้ว่า จะสงบเพราะตรึกถึงอะไร จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตของสิ่งที่คิดปรากฏ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า นอกจากปรมัตถธรรมแล้ว อย่างอื่นเป็นบัญญัติทั้งหมด นี่ก็คือการที่จะเข้าใจชีวิตในวันหนึ่งๆ ว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้รู้จักธรรม ไม่รู้จักปรมัตถธรรม เพียงได้ยินเรื่องราว และชื่อของสภาพธรรม จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร แล้วก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมเป็นปกติ อย่าคิดว่ายากเกินไป อาศัยที่กำลังเข้าใจเดี๋ยวนี้แหละ ก็จะมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่ว่าปัญญาเท่านั้นเองที่ยังไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตาได้ จนกว่าจะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า กัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัยกับนานักขณิกกัมมปัจจัย เมื่อักครู่ที่ท่านอาจารย์บรรยายมาเข้าใจ แต่ไม่รู้จักชื่อ

    ท่านอาจารย์ ชื่อ "สหชาต" หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง หมายถึงเกิดร่วมกัน

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกัน เกิดร่วมกัน ปัจจัย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมใดก็ตามที่เป็นปัจจัยทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดพร้อมกัน ร่วมกัน สภาพธรรมนั้นเป็นสหชาตปัจจัย ตัวปัจจัยทำให้สภาพธรรมที่เป็นผลเกิดพร้อมกันด้วย เพราะว่าถ้ามีปัจจัยซึ่งเป็นเหตุ ต้องมีผล เพราะฉะนั้นมีคำว่า “ปัจจัย” เป็นเหตุ และมีคำว่า “ปัจจยุปปัน” หรือ ปัจจยุบบัน ในภาษาไทย หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นผลของปัจจัย สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของปัจจัย เมื่อมีปัจจัยก็มีปัจจยุบบัน

    เห็นไหมว่า การฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเผิน ที่ได้ฟังมาแล้วทั้งหมด แม้แต่คำว่า จิต เจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดร่วมกัน และสภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิด เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้จิต และเจตสิกก็ต้องมีปัจจัยด้วยด้วยเหตุนี้จิตเกิด เป็นปัจจัยให้อะไรเกิด ทันทีที่จิตนั้นเกิด ไม่พูดถึงจิตขณะต่อไป ทันทีที่จิตขณะหนึ่งเกิด เป็นปัจจัยให้อะไรเกิด

    ผู้ฟัง เจตสิกเกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด พร้อมกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง พร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำให้เจตสิกเกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยโดยสหชาต ไม่ใช่ให้เกิดทีหลัง ให้เกิดพร้อมกันทันทีที่จิตนั้นแหละเกิด จึงเป็นสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเป็นสหชาตปัจจัย เจตสิกเป็นปัจจยุบบัน เกิดเพราะจิตเป็นสหชาตปัจจัย ทำให้เจตสิกนั้นเกิดพร้อมกันกับจิต เวลาที่เจตสิกเกิด เจตสิกเป็นปัจจัยให้อะไรเกิด

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น หรือ

    ผู้ฟัง แล้วก็เจตสิกอื่นด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง โดยปัจจัยอะไร

    ผู้ฟัง สหชาตปัจจัย

    ท่านอาจารย์ แล้วสงสัยอะไร คือที่พูดมาทั้งหมด เพียงแต่ไม่รู้จักชื่อ แต่เป็นภาษาไทยนี่เข้าใจแล้ว แต่เป็นภาษาบาลี ก็ใช้คำที่แปลตรงๆ เท่านั้นเอง แต่พอได้ยินคำนี้สงสัยอะไร ถ้าเข้าใจธรรมแล้วจะไม่สงสัย เพียงแต่คนละภาษา เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่เจตนาเจตสิกเป็นกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เจตนาเจตสิกก็เป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่จิตทุกดวงที่เกิดร่วมกัน

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ก็เกิดด้วยนานักขณิกกัมมปัจจัย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ พูดอีกครั้ง

    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เกิดด้วยนานักขณิกกัมมปัจจัย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น โดยเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะสามารถทำให้ผลเกิดต่างขณะ ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นคำถามว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คือเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศล และอกุศลที่ทำให้ผลเกิดขึ้นต่างขณะ ไม่ใช่พร้อมกัน

    ผู้ฟัง ถ้าเจตนาเจตสิกเกิดกับวิบากจิต อย่างเช่นจิตเห็น อันนี้คือเจตนาเจตสิกที่เกิดจากสหชาตกัมมปัจจัย และนานักขณิกกัมมปัจจัย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกกัน เวลาที่ใช้คำว่า “สหชาตกัมมปัจจัย” อะไรเป็นปัจจยุบบัน

    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิกที่เกิดเป็นสหชาตกัมมปัจจัย จิตก็เป็นปัจจยุบบัน

    ท่านอาจารย์ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจยุบบัน จบไปแล้ว

    ผู้ฟัง ส่วนนานักขณิกกัมมปัจจัย แสดงว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตคือจิตเห็น เป็นปัจจยุบบัน เพราะว่าเป็นผล

    ท่านอาจารย์ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็นเป็นปัจจัยอะไร

    ผู้ฟัง เป็นปัจจยุบบันของนานักขณิกกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสหชาตกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ของจิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน คือ จักขุวิญญาณ และเจตสิกอีก ๖ ประเภท

    ผู้ฟัง แล้วเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศล หรืออกุศลจิต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย และสหชาตกัมมปัจจัย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแยก ขณะไหนเป็นสหชาตกัมม ก็จบไป เกิดแล้ว ดับแล้ว แต่เวลาที่ทำให้ผลเกิดขึ้น มีปัจจยุบบัน คือผลเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดับแล้ว เพราะฉะนั้นเจตนานั้นเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เมื่อผลเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ในเมื่อเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศล หรืออกุศลที่ดับไปนานแล้วมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ใช้คำว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” ชื่อบ่งแล้วนี่ จะนานแสนนาน ก็คือต่างขณะ

    ผู้ฟัง เมื่อลงวิถีจิต ก็จะเป็นตัวเลข จำนวน ชื่อ ขอเรียนถามว่า เมื่อรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พูดถึงสิ่งที่มีจริงขณะนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไม่เข้าใจ หรือ

    ผู้ฟัง หมายความว่า สิ่งที่มีจริงคือความเป็นไปของจิต ก็เป็นไปอย่างที่เมื่อสักครู่ทบทวนกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็จะเห็นความเป็นเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา แล้วเราก็จะไปหลงยึดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นอย่างที่อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวว่าไม่มีคุณอรวรรณ มีสภาพธรรม แค่นี้หมดกิเลสไหม (ไม่) ละคลายสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าฟังแล้วมีความเข้าใจในความละเอียด ก็เข้าถึงความเป็นอนัตตา มั่นคงไหมว่า ขณะนี้เป็นธรรม นี่คือผลของการฟัง เพื่อที่ว่าเมื่อได้ยินก็ไม่ได้สงสัยว่า ความจริงเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละลักษณะ ปรากฏแล้วหมดไป ไม่เหลือเลย ใครจะไปเอาอะไรที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ ให้ยังอยู่นี่ได้ไหม แม้ขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้น

    เมื่อวันก่อนเราก็พูดถึงคนตาย คุณอรวรรณก็เพิ่งผ่านการสูญเสียน้องชาย แล้วก็มีงานศพ แต่คนที่ไปงานศพ หรือคนที่เห็นศพ ก็จะคิดต่างๆ กัน ตามการสะสม เขาก็อาจจะคิดถึงว่า คนนี้เคยเป็นอย่างนั้น ทำอะไรมาบ้าง เป็นประโยชน์ หรืออะไรต่างๆ เคยไปเที่ยวด้วยกัน ก็สารพัดเรื่อง แต่ถ้าเห็นความจริงว่า เพียงไม่มีจิต รูปที่เคยเป็นเขา ทำอะไรได้

    เพราะฉะนั้นแยกขาดกันจริงๆ ระหว่างนามธรรมกับรูปธรรม รูปเป็นรูปจริงๆ เมื่อไม่มีจิตแล้ว รูปนั้นก็เคลื่อนไหว ทำอะไรไม่ได้เลย จะยิ้ม จะหัวเราะ จะร้องไห้ จะทำกิจการงานใดๆ ก็ไม่ได้ แต่ไปเข้าใจเฉพาะตอนสิ้นชีวิต แต่แม้ยังไม่สิ้นชีวิต รูปก็เป็นรูป เพราะว่ารูปไม่สามารถรู้อะไร หรือทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น ทั้งหมดต้องมีจิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการเคลื่อนไหวของรูป

    เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความต่างกันของสภาพที่เป็นธาตุรู้กับสภาพที่ไม่สามารถรู้อะไรได้ และจะเห็นความจริง แม้ว่าขณะนั้นอาจจะทำให้เข้าใจถึงลักษณะที่ไม่มีในขณะนั้น คือไม่มีธาตุรู้ ไม่มีการเห็น การได้ยิน ก็สามารถทำให้ไม่ลืมความต่างของนามธรรมกับรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นแต่ละขณะซึ่งได้ฟังธรรมสะสมไป และจะเกิดคิดถึงธรรมในลักษณะ ในความเป็นไปของธรรมต่างๆ เมื่อไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้ ไม่ใช่ไปกะเกณฑ์ หรือไปรอว่าเราจะไปรู้ตอนที่ไปงานศพ หรืออะไรอย่างนั้น ขณะนี้รูปแต่ละรูปก็เป็นอย่างนี้ แล้วรูปจริงๆ รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นมีสมุฏฐานทำให้เกิด แต่อายุก็สั้นมาก คือเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด ไม่เหลืออะไรที่จะให้ไปติดตามได้เลย นอกจากขณะนี้ แข็งปรากฏ ชั่วขณะที่ปรากฏหมดแล้ว

    นี่คือการเริ่มเข้าใจความจริงว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ คือ ชั่วคราวจริงๆ เพียงปรากฏ แต่จะปรากฏกับความไม่รู้ และความติดข้อง หรือปรากฏกับความเห็นถูก เข้าใจถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรม

    อ.กุลวิไล เรียนอาจารย์อรรณพมีคำถาม ผู้ฝากถามมาว่า การศึกษาธรรมเรื่องเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นเรื่องของกรรมนั้น สงสัยว่า ถ้าไม่รู้ และเข้าใจสภาวะลักษณะของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม จะกล่าวว่าเป็นการศึกษาตัวจริงของธรรม หรือไม่

    อ.อรรณพ การศึกษาธรรมก็เพื่อความเข้าใจสภาพธรรม แม้ว่าปัญญาของเราไม่สามารถเข้าใจโดยขั้นประจักษ์ความละเอียดของสภาพธรรม เช่น มีใครจะรู้ตั้งแต่ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ ไปจนถึงตทาลัมพนะ แล้วมีภวังค์อีก ไม่ใช่มีปัญญาที่จะรู้อย่างนั้นในขั้นประจักษ์ แต่มีปัญญาในขั้นฟัง และพิจารณาตาม มีประโยชน์มาก ที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตน ลงไปถึงทุกขณะจิตเลย เขาบอกว่าทุกอย่างไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ก็พอจะน้อมไปได้บ้างนิดหน่อย แต่พอเริ่มแจกแจงลงไปว่า ที่ว่าไม่เป็นตัวตนนั้นโดยนัยใดบ้าง ลงไปถึงทุกขณะจิตไม่ว่าจะหลับ จะตื่น เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน ที่แสดงจิตที่ไม่ใช่วิถี คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ก็เป็นชีวิตที่ไม่ได้เป็นวิถีจิต และชีวิตที่เป็นวิถีจิตต่างๆ ประกอบความเข้าใจ แม้จะไม่ถึงขั้นประจักษ์ ฉันใด ในเรื่องของเจตนาก็ฉันนั้น ท่านแสดงในเรื่องของเจตนาว่า เป็นกรรม โดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ไม่ว่าจะหลับ หรือจะตื่น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ฟังจะต้องไปพยายามให้มีปัญญาที่จะรู้สหชาตกัมมปัจจัยที่เกิดกับจิตทุกดวง ทุกขณะ ไม่ใช่วิสัย แต่เป็นประโยชน์ไหม (เป็น) ที่จะแสดงให้เห็นว่า ชีวิตนี้มีกัมมปัจจัยอย่างไรบ้าง ความเข้าใจก็จะมั่นคงละเอียดขึ้น

    เพราะฉะนั้นปัญญาเกื้อกูลกัน ปัญญาในขั้นระลึกก็แล้วแต่ใครจะสะสมมาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้ละเอียดมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร

    เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปให้รู้ลักษณะของเจตนาเจตสิกที่เกิด ไม่จงใจ ไม่เลือก แต่การเข้าใจขั้นเรื่องราวด้วยปัญญาในขั้นฟัง ในขั้นพิจารณา ย่อมค่อยๆ เห็นในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และไม่ใช่ด้วยหวัง หรือด้วยเรื่องเพราะความเป็นตัวตนก็จะคิดว่า ต้องศึกษาธรรมเยอะๆ ต้องศึกษาให้ลงไปทุกขณะจิต ให้รู้อภิธรรมให้หมด อันนั้นเพื่อความเป็นเรา ก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเพิ่มเสริมอัตตา ตัวตนให้มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่มีอัตตาในอีกลักษณะที่ว่า เลือกว่าอันนี้ไม่ต้องศึกษาละเอียด เอาแต่ให้รู้แต่สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นตัวตน หรือไม่ที่คิดอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วไม่จำกัด ไม่มีเขตแดนว่า ศึกษาแค่นี้พอ เท่านั้นเกินไปแล้ว เท่านี้น้อยไป เท่านี้มากไป ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ เกิดในภพภูมิที่เจริญปัญญาได้ มีศรัทธา ก็ศึกษาไป แล้วก็เป็นผู้รู้ฐานะของตนเองว่า เข้าใจขั้นการฟัง การพิจารณา หรือเข้าใจขั้นประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ศึกษาธรรมก็รู้จักตัวเองว่า ศึกษา หรือฟังธรรมเพื่อต้องการเข้าใจชื่อ จำชื่อ หรือมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราศึกษาเพื่ออยากจะมีความรู้เรื่องชื่อต่างๆ มากมาย อายตนะ ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปปาท อินทรีย์ หรือปัจจัยต่างๆ แต่จุดประสงค์ก็คือว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย มีความไม่รู้อะไร และเมื่อไร ขณะที่กำลังเห็น บางคนไม่สนใจเลย เหมือนไม่ใช่สิ่งที่ควรจะรู้ ไปรู้เรื่องอื่นดีกว่า วิชาการต่างๆ ทางโลกมากมาย เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก แต่ไม่ได้รู้ความจริงว่า เกิดมาไม่รู้ จนกว่าจะมีผู้ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงให้สามารถจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังจะเข้าใจ จะรู้สิ่งที่มี หรือว่าจะเพียงจำเรื่องราว และชื่อต่างๆ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ การศึกษาก็ไม่ติดขัดอะไรเลย ยิ่งรู้ ยิ่งฟัง ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา และรู้ว่าชื่อที่ได้ยิน กำลังเข้าใจถูกต้องในความหมายซึ่งเป็นสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง หรือไม่ อย่างแม้แต่คำว่า “ธรรม” แม้แต่คำว่า “นามธรรม” แม้แต่คำว่า “รูปธรรม” เข้าใจขึ้น หรือไม่ แต่ไม่ใช่ไปติดตามเรื่องราวมากมาย และยังไม่รู้จักตัวธรรมจริงๆ เลย นั่นก็ไม่ใช่จุดประสงค์

    ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามว่า สภาพคิดเป็นจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางกาย

    ผู้ฟัง คือจริงๆ แล้วพอสภาพคิด ก็จะมีคิดดีกับคิดไม่ดี ซึ่งพอศึกษาธรรมไปก็ทราบว่า เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ก็เลยสงสัยถึงสภาพคิด

    ท่านอาจารย์ ทำไมไปคิดเรื่องกุศล อกุศล เมื่อสักครู่คุณสุกัญญาถามว่า สภาพคิดเป็นอย่างไร ใช่ไหม ขณะที่คิดไม่ใช่เห็น แล้วคิดเรื่องอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    5 ม.ค. 2567