พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 449


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ละเอียด เพียงแค่นี้ ต้องการที่จะรู้ความจริงที่กำลังเห็น แล้วไปพยายามแสวงหาทางอื่นที่จะรู้ “เห็น” ในขณะนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าทางไหนก็ตาม ถ้าจะทำ คือไม่รู้จึงทำ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจ ความจริงกำลังมี และความเข้าใจนี่ยาก เพราะเหตุว่าแม้จะกล่าวว่า กำลังเห็น มี เป็นธรรม ไม่ปฏิเสธเลยในขั้นการฟัง แต่ที่จะรู้ลักษณะที่เป็นเพียงธรรม ยากหรือไม่

    ผู้ฟัง ยากครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วยังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง นั่นซิครับ

    ท่านอาจารย์ นี่คือความละเอียด เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่นี้ยากหรือไม่ อย่างเมื่อครู่นี้ที่ถามคุณณรงค์ว่า มีพี่ มีน้อง มีเพื่อนหรือไม่

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นคนนี้เป็นพี่ คนนั้นเป็นน้อง แต่จริงๆ คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จะไปจำรูปร่างสัณฐานที่ต่างกัน และมีการยึดมั่นว่า เห็นอย่างนี้เป็นพี่ เห็นอย่างนั้นเป็นน้อง ก็ไม่ได้ใช่หรือไม่ และเห็นที่กำลังปรากฏให้เห็นเป็นพี่เป็นน้อง ดับ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ดับครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่มี สีเป็นพี่เป็นน้องไม่ได้ ใช่ไหม แต่จากอาการที่ปรากฏทำให้ยังจำว่า ยังมี ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏดับหมดแล้ว นี่คือความละเอียด หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าผมอยากจะเป็นอนุสติให้กับตัวเอง ถ้าใครถามว่า มีพี่มีน้อง หรือไม่ ถ้าผมจะขอตอบใหม่ว่า มีเมื่อปรากฏ ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จะตอบอย่างไร เขาถามถึงพี่น้อง เขาไม่ได้ถามถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ให้ทราบความต่างกันของความละเอียดของธรรม ที่คุณณรงค์ถามว่า ปัญญาที่ละเอียด ปัญญานั้นรู้อะไร ใช่หรือไม่ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่ปรากฏอยู่เป็นประจำ แต่ละเอียดคือไม่ได้รู้ความจริงว่า สิ่งนี้มีจริงๆ ปรากฏได้เมื่อเห็นเท่านั้นเอง แล้วก็หมดไป แต่เพราะหลง เพราะไม่รู้ เพราะธรรมละเอียด เมื่อปรากฏเป็นนิมิตก็ทำให้จำสิ่งที่ปรากฏได้ เป็นคนนั้นคนนี้ต่างๆ แล้วยังคิดว่า ยังมีอยู่ แม้สิ่งนั้นหมดแล้ว

    เพราะฉะนั้นทุกขณะให้ทราบว่า เห็น ดับแล้ว ได้ยิน ดับแล้ว คิดนึก ดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย แม้รูปที่กำลังปรากฏขณะนี้ ที่เกิดขณะต่อไปก็ไม่ใช่รูปเก่า เป็นรูปที่สืบต่อ แต่ว่า ความจริงคือแต่ละขณะรูปก็มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิต แล้วก็ดับไป ไม่เหลือเลย นี่ละเอียดหรือไม่

    ผู้ฟัง ละเอียดครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาที่เริ่มเข้าใจความละเอียด จะทำให้ค่อยๆ รู้ความจริงในขั้นการฟัง แต่ในขณะที่ปัญญาละเอียดขึ้น รู้ขึ้น ก็สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นที่ไม่ละเอียดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นธรรมจะไม่ละเอียดแล้วจะมาปรากฏว่า ที่กำลังนั่งนี่ดับไป หรือว่ารูปร่างท่าทางที่กำลังนั่งดับไป นั่นคือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่ละเอียดตามความเป็นจริงที่เป็น อภิ – ธรรม ความหมายของ “อภิ” อีกนัยหนึ่งก็คือละเอียดยิ่ง

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกับที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้เมื่อครู่ว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ปัญญาที่ละเอียดเกิดขึ้น ปัญญาที่ละเอียดนี้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็ละเอียดขึ้น แต่ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ แล้วจะละเอียดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจขึ้นๆ ปัญญาก็จะเข้าใจความละเอียดขึ้นของธรรม

    ผู้ฟัง และเมื่อปัญญาละเอียดเกิดขึ้นแล้ว ใครจะมาทำให้ไม่ละเอียดก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ลองคิดถึงแม้เพียงสิ่งที่แข็งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ถ้าเป็นปัญญา สัมมสนญาณ ประจักษ์ความเป็นกลาป ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่น แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ สิ่งที่เรามองเห็นเหมือนกับเป็นแท่งทึบ เหมือนกับไม่สามารถที่จะแตกย่อยทำลายได้เลย แข็งมากๆ อย่างนี้ แต่ความจริงสามารถแตกทำลายได้ เพราะอะไร เพราะว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดทุกกลาป ที่แยกอีกไม่ได้เลย รูป ๘ รูปที่มองไม่เห็น สามารถแยกออกได้ และแตกดับด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาจะไม่รู้อย่างนี้ หรือ หรือจะไปรู้อย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมดตรง เปลี่ยนไม่ได้เลย ความจริงเป็นอย่างนั้น เมื่ออบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นปัญญาที่ละความไม่รู้ ที่จะเป็นปัญญาแล้วไม่รู้ไม่ได้ แล้วเวลาที่ปัญญาเจริญขึ้น จะไม่รู้เพิ่มขึ้น มากขึ้น ไม่ได้อีก จะไม่รู้ละเอียดขึ้น ก็ไม่ได้อีก และจะไม่ประจักษ์ธรรมตามความเป็นจริงที่ละเอียดก็ไม่ได้ด้วย

    เพราะฉะนั้นเห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นบุญกุศลที่ได้สะสมมา ที่มีโอกาสมีศรัทธาที่จะได้ฟัง และเริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกในความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถแสดงได้เลย ละเอียดหรือไม่ หมดความสงสัย ค่อยคลายความสงสัย หรือไม่

    ผู้ฟัง คลาย แต่ยังไม่แจ้งมากมาย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะนี่เป็นขั้นการฟัง แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจ จะไปทำอะไรหรือไม่ จะไปรู้อื่น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาจนกระทั่งคลายความติดข้อง แล้วรู้ว่า ขณะที่ไม่คลายเป็นอย่างไร และขณะที่คลายเป็นอย่างไร แล้วปัญญาที่รู้นั้นเป็นอย่างไร จึงคลายได้ และการคลาย คลายระดับไหน

    คลายก่อนที่วิปัสสนาญาณจะเกิด ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ หรือว่าคลายขั้นคิดนึกว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏได้อย่างหนึ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ อย่างอื่นที่กล่าวถึงทั้งหมด ปรากฏให้เห็นไม่ได้เลย เช่น จิตปรากฏให้เห็นไม่ได้ เจตสิกขณะนี้แม้มีก็ปรากฏให้เห็นไม่ได้ รูปที่แข็ง แม้มี กำลังแข็งก็ปรากฏให้เห็นอย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ นี่คือการเข้าใจธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง ขอเรียนถาม ตั้งแต่ต้นชั่วโมงมานี่ เรากล่าวถึงเรื่องปริยัติกับปฏิบัติ สรุปก็คือ ปริยัติคือได้สนทนาธรรม หรือได้ฟังธรรม ปฏิบัติก็คือชีวิตประจำวัน ในชีวิตการทำงาน หรือชีวิตที่ออกจากงาน เราเจอปัญหาอะไร ตรงนี้คือปฏิบัติแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องมีห้องปริยัติ และห้องปฏิบัติ ดิฉันว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่กล่าวถึง ปฏิเวธ ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็คงยังไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าปริยัติที่ถูกต้องจะนำไปสู่ปฏิปัตติ ภาษาบาลี ความหมายของคำนี้คือ ถึงสภาพธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรม เพราะว่ากำลังฟังธรรม ใช่หรือไม่ ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็มีธรรมกำลังปรากฏ เมื่อฟังเข้าใจแล้ว ปฏิปัตติ มรรคมีองค์ ๘

    ถ้าไม่มีปัญญา จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ ก็เพียงฟังไปเรื่อยๆ กำลังสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าจะรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ และที่ได้ฟังกำลังมีให้รู้ ให้เข้าใจ แต่จะเข้าใจได้แค่ไหน บังคับไม่ได้ นอกจากจะรู้ว่า เมื่อปัญญาเกิด ปัญญาไม่ได้รู้อย่างอื่น แต่เมื่อเป็นปัญญาแล้ว ปัญญานั้นเห็นถูก เข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรม ด้วยสติสัมปชัญญะ จึงไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นจะรู้ลักษณะของสติระดับขั้นต่างๆ ขณะใดที่กุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด เพราะสติเกิด เป็นไปในกุศลประเภทนั้น มีการให้ทานเกิดเมื่อใด เพราะสติระลึกเป็นไปในทาน มีการวิรัติวจีทุจริต หรือมีกาย วาจาเป็นไปในทางกุศลเพราะสติเกิดขึ้น

    ขณะใดที่มีความขุ่นเคืองใจ เห็นความไม่มีสาระเลย ทำให้จิตใจไม่มีผลดีทั้งกับตนเอง และคนอื่นด้วย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เป็นปัญญาที่รู้อย่างนั้น ขณะนั้นก็จะสงบจากโลภะ หรือโทสะ แต่ว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าสติอีกขั้นหนึ่ง คือ ขณะนี้กำลังฟังเรื่องนี้ ไม่ได้สนใจเรื่องอื่น นอกจากรู้ว่า ถ้าปัญญาเกิด ก็คือปัญญาเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่เบือนหน้าหนีจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น เริ่มค่อยๆ เข้าใกล้ที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ แต่ก็ยาก เพราะเหตุว่ามีเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นถ้าจะรู้สภาพเห็นต่างกับขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจธาตุที่ปรากฏให้เห็น นี่คือลักษณะของสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นปฏิปัตติ เกิดพร้อมกับปัญญา และมรรคมีองค์อื่นๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปริยัติที่ถูกต้อง ก็เป็นปัจจัยที่สามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงลักษณะนั้นจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดสภาพที่ปรากฏตรงตามที่ได้ยินได้ฟังที่ละเอียด

    คุณณรงค์ได้ยินได้ฟังว่า จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้ มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้หลายอย่างพร้อมกัน หรือเพียงอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง ปรากฏ หรือยัง เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรมจริงๆ ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น คือ สามารถเริ่มมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ฟังดูก็มีมากใช่หรือไม่ ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยินเสียง แข็งก็กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพหนึ่งสภาพใด แต่กำลังฟังให้เข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะสมความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถเริ่มรู้เฉพาะแต่ละลักษณะ ถ้ารู้เฉพาะแต่ละลักษณะ หมายความว่า ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่น ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะใด ก็เข้าถึง เริ่มเห็นความจริงของลักษณะนั้น เริ่มเข้าใจถูก แต่น้อยมาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพียงแต่เริ่มรู้ลักษณะของสติที่มีลักษณะหนึ่งกำลังปรากฏ ให้เริ่มเข้าใจ กว่าจะทั่วหมด วันนี้ที่จะคลายการยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะฉะนั้นละเอียดหรือไม่

    ผู้ฟัง ละเอียดครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่สงสัยเรื่องความละเอียดของธรรมอีกแล้วใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่เข้าถึง

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ารู้ ต้องรู้อย่างนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องรู้อย่างนี้ครับ เพราะสิ่งนี้เป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรสามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญา ถ้าปัญญายังไม่เกิด จะรู้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังอบรมปัญญา

    ผู้ฟัง มีคำกล่าวหนึ่งของท่านอาจารย์ที่ไพเราะมากที่บอกว่า “ไม่เบือนหน้าหนี” ถ้าเกิดเราเข้าใจธรรมจริงๆ ในระดับที่รู้มากกว่าคนทั่วไป เราก็จะบอกว่าไพเราะ แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะเห็นค้านกับท่านอาจารย์ทันที ด้วยมีเหตุผลประกอบ ไม่ใช่เห็นค้านโดยไม่มีเหตุผลประกอบ เพราะเหตุว่าไม่เบือนหน้าหนีบางสิ่งบางอย่าง เราเห็นแล้ว เกิดอกุศล เราก็ต้องเบือนหน้าหนี แต่ความจริงคำพูดที่ไพเราะคือ ไม่เบือนหน้าหนี อาจารย์จะมีอะไรอธิบายบ้างครับ

    ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ไม่ชอบ เบือนหน้าหนี เพราะไม่ชอบ เพราะความเป็นเรา

    ผู้ฟัง เพราะกลัวว่า อกุศลจะเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นเรา เพราะไม่ชอบ จะไม่เบือนหนีได้อย่างไร สิ่งที่ไม่ชอบ ใครจะอยากเข้าใกล้ แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้ปรากฏ เพียงไม่รู้ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นสะสมความไม่รู้มากแค่ไหน เพราะว่ามัวคิดจะปฏิบัติ หรือมัวคิดจะทำอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ถึงแม้จะกำลังเกิดดับ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะละเลย หรือคิดว่า ไม่สามารถรู้ลักษณะนั้นได้ แต่ความจริงเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ให้ไปประจักษ์การเกิดดับ โดยความเป็นเรา แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีความเข้าใจถูกในแต่ละลักษณะเพิ่มขึ้น ซึ่งยาก

    สิ่งที่ปรากฏทางตา เคยเป็นคนนั้นคนนี้ เคยเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ กับการเริ่มเข้าใจถูกจริงๆ ตรงจริงๆ ว่า สามารถเพียงปรากฏให้เห็น แล้วไม่เที่ยงด้วย ไม่ใช่ตลอดไป เพียงชั่วคราวที่ปรากฏให้เห็นแล้วดับไป ไม่กลับมาอีก แต่เพราะความไม่รู้จึงจำว่า เป็นสิ่งซึ่งยังไม่ได้ดับไป และเที่ยงด้วย แม้ไม่เห็นก็ยังเข้าใจว่ายังมีอยู่ รูปร่างสัณฐานนั้นก็ยังจำได้ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นธาตุ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผมขอเพิ่มเติมตรงนี้นิดหนึ่งครับว่า ไม่เบือนหน้าหนี เพราะมีปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะรู้ว่า ปัญญารู้แน่ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ก็คือมั่นใจที่จะไม่เบือนหน้าหนี

    ท่านอาจารย์ ปัญญาจะไปรู้อะไรที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ขอเติมนิดหนึ่ง คำว่า “ไม่เบือนหน้าหนี” ตรงนี้คือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเวลาทำงาน คือ คอยได้ และทนได้ด้วย ถ้าทำงานได้ ๒ ได้ คุณจะมีความสุข

    ท่านอาจารย์ คนละขณะนะคะ คือ เป็นการคิดเรื่องราวในอดีต และก็รู้ว่า ตอนนั้นเป็นธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นขันติ เป็นวิริยะ เป็นอะไร แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้

    เพราะฉะนั้นนั่นเป็นความทรงจำในความเป็นเราแน่นอน เพราะว่าไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ต้องไม่ลืมว่า ธรรมเป็นธรรม ในขณะนี้มีธรรมใดปรากฏ ปัญญาสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะอะไรคะ ความจำ อะไรๆ ทั้งหมดดับไปหมดแล้ว ไม่เหลือเลย สามารถจะคิดถึงอดีตได้ แต่รู้ว่า ขณะคิดไม่ใช่เราแน่นอน ถ้าไม่มีจำที่คุณสุรีย์จำไว้ว่า เคยไปเชียงราย หรือนราธิวาส ก็คงไม่ได้กล่าวถึง หรือคิดถึงเชียงรายจรดนราธิวาส

    แต่ว่าเมื่อยังมีความจำอยู่ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่คุณสุรีย์ แต่ว่าเป็นสภาพจิตที่คิด แล้วก็จำ จำได้ใช่หรือไม่ว่า นราธิวาสสวยมาก เป็นจังหวัดที่สวยมากในประเทศไทย ใช่หรือไม่ ยังจำได้ แต่ว่าไม่เห็น เห็นหรือไม่ ปรากฏให้เห็นว่า เป็นจังหวัดนราธิวาส แต่ความจำว่า เป็นจังหวัดนราธิวาสที่สวยเหมือนยังมีอยู่

    แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตน ความที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าเป็นความจริง การที่สามารถรู้ว่า สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นจะเข้าใจถึงว่า แม้คิดก็เกิดแล้วก็ดับด้วย เพราะว่าไม่ได้คิดถึงนราธิวาสตลอดเวลา เดี๋ยวก็คิดเรื่องอื่นแล้ว

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นธรรม การทรงจำ และเรื่องราวต่างๆ นั้นก็เป็นสภาพของความคิดนึกซึ่งไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นภวังค์ คือขณะนั้นไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่มีคุณสุรีย์ ไม่มีนราธิวาส ไม่มีเชียงราย ไม่มีอะไรหมดเลย

    แต่เวลาที่มีเห็น แล้วก็จำได้ แล้วก็ยังคิดถึงอีกมากมาย นั่นก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าสภาพธรรมจะเกิดดับอย่างไร ก็ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เลย เหมือนคนที่หลับ ที่กล่าวถึงวันก่อน ฟังธรรมขณะนี้ เรื่องนราธิวาส เรื่องเชียงราย เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องคิดนึกต่างๆ เหมือนฟังขณะหลับ เพราะไม่มีลักษณะที่สติกำลังรู้จริงๆ ต่อเมื่อใดฟังเรื่องเห็น เข้าใจ เป็นปัจจัยให้ตื่นขึ้นรู้ลักษณะเห็น ต่างกันหรือไม่

    กำลังฟังเรื่องเห็น สะสมความรู้ ความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ธรรมทั้งหมดที่กล่าวถึงดับหมดแล้ว มากมาย นับไม่ถ้วนเลย ดับไปพร้อมความไม่รู้ ปรากฏก็เหมือนไม่รู้ ไม่รู้อะไรแล้ว แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็กำลังรู้ลักษณะ ขณะนั้นตื่น เพราะว่ามีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ

    เข้าใจความหมายของคำว่า “พุทธะ” ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะไม่ใช่เพียงแต่จำ หรือเข้าใจเรื่องราว แต่กำลังเข้าถึงความจริงของสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ

    หลับ หรือตื่น ขณะนี้ ขณะนี้ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ปฏิปัตติคืออะไร จะไปรู้อะไร ในเมื่อสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ไม่ได้รู้เลยว่า ปัญญาสามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นได้

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นปฏิบัติไม่ใช่ทำ แต่ต้องถึงตัวจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์คะ มีผู้เรียนถามว่า

    ๑. ต้องเรียนปริยัติก่อน แล้วจึงนำมาปฏิบัติ หรือระหว่างเรียนปริยัติอยู่ คือการปฏิบัติในตัว

    ท่านอาจารย์ ปริยัติคืออะไร ปริยัติชื่อว่าปริยัติ หรือว่าปริยัติคืออะไร

    อ.กุลวิไล ปริยัติคือส่วนของการศึกษาพระธรรม คำสอน

    ท่านอาจารย์ นั่นซิคะ คืออะไร

    ผู้ฟัง คือการเข้าใจสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เรียก ปริยัติ ปริจเฉท ๑ ปริจเฉท ๒ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เป็นปริยัติ แต่ไม่ได้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นจะเป็นปริยัติไม่ได้เลย ไม่นำไปสู่ความเห็นถูกต้องลักษณะที่กำลังเข้าใจขั้นการฟัง เพราะฉะนั้นจะเป็นปริยัติไม่ได้ เป็นแต่เพียงเรื่องราวเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของความเข้าใจ ไม่ใช่พูดอะไรๆ โดยไม่เข้าใจ พูดเรื่องปฏิบัติ แต่ไม่รู้ว่า ปฏิปัตติคืออะไร ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง ถึงเฉพาะอะไร ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ถึงเฉพาะความจริงของสิ่งนั้นด้วยปัญญา ด้วยความเห็นถูก ไม่ใช่ให้ไปนั่งทำอะไร หรือไปเข้าใจว่า นี่คือปริยัติ แล้วก็จะนำไปปฏิบัติ ใครนำอะไรไปได้ นำไปอย่างไร ฟังธรรมเมื่อครู่เข้าใจ ใช่หรือไม่ ขณะขุ่นใจ นำอะไรมา

    ผู้ฟัง นำอกุศลมา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร นอกจากเข้าใจถูก เห็นถูกว่า ธรรมเป็นอนัตตา ใครจะรู้ขณะต่อไปแม้เพียงขณะเดียว ไม่ต้องถึงวันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ชั่วขณะต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่รู้ก็คือเห็นความเป็นอนัตตาว่า ไม่มีใครจะสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นจะนำอะไรไปปฏิบัติ

    ด้วยเหตุนี้การไม่เข้าใจธรรมก็จะมีคำมาก แม้แต่คำแปลในพระไตรปิฎก ไม่สามารถใช้คำไหนที่จะทำให้เข้าถึง หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียด ซึ่งเป็นเจตสิกแต่ละประเภท เพราะว่าคล้ายคลึงกันมากก็มี ที่ต้องเกิดกับอกุศล เพราะเป็นอกุศลอย่างเดียวก็มี ที่เกิดได้ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลก็มี

    นี่แสดงให้เห็นถึงการใช้คำ จะใช้ภาษาใดๆ ก็ได้ แต่ขอให้เข้าใจความหมายตรง และความหมายที่แท้จริงของคำนั้น แต่ไม่ใช่เพียงกล่าวตามๆ กัน อย่างปริยัติ ปฏิบัติ แล้วปฏิเวธรู้อะไร ถ้าขณะนี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เรื่องราวของเห็น ของได้ยินว่า แต่ละขณะนี่ ไม่มีใครสามารถไปบังคับบัญชาได้เลย มีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพนั้นเกิดแล้ว ปรากฏแล้ว สามารถเข้าใจได้เฉพาะสภาพที่ปรากฎแล้วขณะนี้ว่า เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่จะรู้ถึงปัจจัยที่จะทำให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นได้หรือไม่ ไม่ได้ ต่อเมื่อสิ่งใดเกิด รู้ได้ว่า สิ่งนั้นอาศัยปัจจัยอะไรจึงได้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด แล้วจะทำให้เข้าใจตรงขึ้น ก็จะเลิกความคิดว่า จะนำไปปฏิบัติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    1 ก.พ. 2567