พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 453


    ตอนที่ ๔๕๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ฟังธรรมต้องรู้ว่า ฟังเพื่อเห็นถูก เห็นถูกแล้วจะหมดกิเลสวันนี้หรือไม่ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่ความรู้ ต่างกับความไม่รู้ เพราะว่าอกุศลทั้งหลาย มาจากความไม่รู้ แต่กุศลทั้งหลายจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีความรู้ถูกต้องขึ้น และใครทุกคน ก็เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล แต่บังคับไม่ได้เลย ที่จะไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น หรือกุศลเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่เมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา จะนำไปสู่หนทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น พ้นจากความทุกข์ได้ในวันหนึ่ง

    อย่างนี้เอง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรที่มากมายเดือดร้อน ก่อนฟังธรรม คือ ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังก็สะสมความเข้าใจถูก พอไหม อยากฟังคำตอบ พอหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าไม่พอก็เป็นกิเลส

    ท่านอาจารย์ มี ๒ อย่าง พอ หรือไม่พอ ก็ต้องแล้วแต่ปัญญา พอ คือ ถ้ารู้อย่างนี้ แล้วฟังอีกก็รู้อีก ไม่เดือดร้อนเลย วันนี้แต่ละชีวิตจะเป็นไปอย่างไร ตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละคนที่สะสมมา บังคับบัญชาไม่ได้เลย แต่ไม่รู้ว่า บังคับบัญชาไม่ได้ คิดว่าเราจะทำ แม้คิดก็เพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ที่เกิดแล้ววันนี้คิดอย่างนี้ จะคิดอย่างอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น “พอ” คือฟังแล้วก็เข้าใจตามกำลังของความเข้าใจ แต่ถ้าไม่พอ ก็แสดงเหตุผลว่า แค่นี้ไม่สามารถละกิเลสได้ ถ้าด้วยปัญญา แต่ถ้าด้วยโลภะ ก็ไม่พอเพราะอยากรู้มากกว่านี้ เมื่อไหร่จะรู้มากกว่านี้ นี่คือเป็นผู้ที่ตรง

    เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่เรื่องที่เราจะวินิจฉัย ตัดสิน เพียงด้วยความคิด แต่ด้วยโดยลักษณะจริงๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งจะรู้จริงอย่างนั้นได้ ก็ด้วยปัญญาเท่านั้นเอง มิฉะนั้นแล้วก็เป็นการไตร่ตรอง หรือคิดผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เพราะว่าสภาพธรรมนั้นก็ดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวตอบคุณสุกัญญาว่า การที่ไม่เข้าใจกระจ่างชัด เพราะยังไม่รู้ลักษณะสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล หรือเห็น ได้ยินขณะนี้ ยังไม่รู้ลักษณะสภาพธรรม เพียงแต่ฟังเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรม ก็แย้งท่านอาจารย์ว่า ก็สามารถมีความเข้าใจ ขั้นฟังเรื่องราวของลักษณะ ของสภาพธรรม เพื่อนำไปสู่การรู้ ลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เขาเป็นไปเอง ไม่ต้องมีใครทำเลย เข้าใจฟังแล้วก็เข้าใจอีก ฟังแล้วก็เข้าใจอีก มีตัวตนที่จะนำอะไรไป หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อต้องการอะไร เพื่อละความไม่รู้

    ผู้ฟัง เพื่อรู้ ก็คือละความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เมื่อรู้ ก็ละความไม่รู้

    ผู้ฟัง ขออนุญาตเปลี่ยนประเด็น แต่ก็เป็นธรรม ที่ท่านอาจารย์กล่าวบ่อยๆ ว่า “ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่” พอไปคิดก็เหมือนไม่เข้าใจว่า หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนมีเสียงปรากฏ เสียงปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วเสียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป อยู่ไหน

    ผู้ฟัง ดับแล้วดับเลย แล้วก็หมดไป

    ท่านอาจารย์ หามีไม่ "เห็น" ก่อนเห็น มีเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็น

    ผู้ฟัง ก็มี

    ท่านอาจารย์ แล้วก็หมดไป แล้วก็หามีไม่

    ผู้ฟัง ซึ่งถ้าสามารถเข้าใจ และประจักษ์แจ้งแทงตลอดก็เป็นพระอรหันต์ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับนั่นเอง แต่ก่อนจะเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องรู้ว่า ทั้งหมดที่ได้ยิน ได้ฟัง ปัญญาสามารถ เข้าใจตามความเป็นจริง ตามลำดับขั้น อย่างขณะนี้ทุกคนรู้ว่า มีมโนทวารวิถีจิต หลังจากที่เห็นแล้ว ดับไปแล้ว หลังจากที่ได้ยินแล้ว มโนทวารก็รับรู้ต่อ จนไม่สามารถแยกได้ว่า ขณะนี้ ที่เห็นเป็นคนทันที แท้ที่จริงกว่าจะจำได้ว่าเป็นคน ต้องมีเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏ ที่กระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ ยังไม่ดับไป

    เพราะฉะนั้นจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย เมื่อดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เพราะไม่มีอะไรปรากฏที่จะมากระทบทางหูทันทีได้เลย ดำรงภพชาติ เพียงรูปดับไป จิตเกิดขึ้น เห็นรูปนั้นอีกไม่ได้ จะชอบไม่ชอบในรูปนั้นไม่ได้ เพราะรูปนั้นดับไปแล้ว เมื่อรูปนั้นดับ และจิตที่มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ดับหมด ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ทุกวาระจะมีภวังค์คั้น ไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจที่คิดด้วย

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตาม ที่ขณะนี้ปรากฏทางตา แล้วปรากฏต่อทางใจ ไม่มีใครสามารถแยกได้เลย ถูกต้องไหม แต่แม้กระนั้นมโนทวารวิถีมีจริงๆ หรือไม่ มีจริงๆ ต่างกับปัญจทวารวิถี หรือว่าปัญจทวารวิถีเป็นมโนทวารวิถี

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นคำว่า “มโนทวาร” ต้องหมายถึงจิตที่อาศัยใจ ซึ่งเป็นภวังค์ขณะสุดท้ายดับไป เป็นทางที่ทำให้คิดนึก หรือรับรู้อะไรก็ได้ต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ แต่เมื่อมโนทวารมีจริงๆ ปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แม้เล็กน้อยสักเท่าไร ก็เริ่มมีความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นเพียงธาตุที่ปรากฏให้เห็นได้ เท่านั้นเอง กว่าสามารถที่จะรู้ ลักษณะของสภาพธรรมอื่น เช่น เสียง ก็เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้ได้ยิน

    ลองคิดถึง ลองคล้อยตามความจริงของธรรมว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีอายุที่สั้นมาก แม้แต่เสียง ก็เพียงปรากฏให้ได้ยิน แล้วหมดไปเลย กลิ่น รส ก็เช่นเดียวกัน แต่ทางใจที่รับรู้ จำไว้เหมือนกับสิ่งนั้นยังเป็นอย่างนั้น ยังมีอยู่ แต่ลักษณะของมโนทวารไม่ได้ปรากฏ แม้มี นี่คือโลกของอวิชชา ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงรูปนี่ดับแล้ว แล้วก็มีภวังค์คั่น แล้วก็มีมโนทวารวิถี แล้วก็มีเสียงปรากฏ

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่คั่นอยู่อย่างนี้ ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่ามีการสืบต่ออย่างรวดเร็ว โดยปัญญา ไม่มีแม้แต่จะเกิดที่จะตามรู้สิ่งที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ความเป็นจริง ของแต่ละลักษณะ แล้วมโนทวารจะปรากฏได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ก่อน ค่อยๆ เข้าใจลักษณะซึ่งเหมือนติดกัน ให้รู้ว่า ความจริงเป็นลักษณะของสภาพธรรม แต่ละอย่างจริงๆ แม้สิ่งที่ปรากฏทางตา กับเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นแต่ละอย่าง พอรู้ได้ แต่สิ่งที่อยู่ในระหว่างนั้น คือการ " จำ " และการ " คิด " ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้หมดไปเลย แล้วอย่างนี้ มโนทวารจะปรากฏ หรือสภาพธรรมจะปรากฏเป็นจริงได้อย่างไร

    ด้วยเหตุนี้แม้สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องเริ่มจาก การฟัง แล้วรู้ว่า ในขณะนี้ ฟังเริ่มเข้าใจว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่รู้จักแต่ละลักษณะ ตรงในขณะที่ลักษณะนั้นปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ถ้ายังไม่รู้ตราบใด ก็จะได้ยินแต่คำว่า “สติปัฏฐาน” หรือ “สติสัมปชัญญะ” เป็นคำ เป็นชื่อ ของสภาพธรรมที่มีความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม และจำได้เมื่อไร ก็เป็นปัจจัยให้ สติเกิดรู้ลักษณะนั้นในขณะนั้น ที่กำลังปรากฏ โดย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ในขณะใดก็ตามที่ สติกำลังรู้ตรงลักษณะที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ จะกล่าวว่า สิ่งที่มีจริง ที่สติกำลังระลึกที่ปรากฏ ไม่ใช่ปัฏฐาน ไม่ใช่ที่ตั้งของสติ ได้ไหม ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เพียงชื่อ แต่กำลังรู้จริงๆ ตรงลักษณะที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ จะกล่าวว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัมปชัญญะได้ไหม

    เพราะว่าขณะนั้น เป็นปัญญา ที่รู้ตรงลักษณะ ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏด้วย แต่ว่าขณะของสติสัมปชัญญะ ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ จะเกิด หรือไม่เกิด บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วดับไปนานแล้ว ไม่เกิดอีกเลย บังคับบัญชาได้หรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ แต่สิ่งที่ปรากฏไม่ซ้ำ แม้ว่าดูเหมือนเป็นอย่างเดียวกัน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะว่าตามความเป็นจริงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ดับเร็วมาก หรือแข็งที่กำลังปรากฏก็ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น เสมือนว่าแข็งเหมือนเดิม แต่ปัญญาสามารถจะรู้การเกิดดับ ของแข็งที่ปรากฏ

    ธรรมที่ทรงแสดงจากการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ไตร่ตรอง ไม่ใช่อาศัยทฤษฎีต่างๆ แล้วมาบัญญัติ แต่เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความจริง เพราะฉะนั้นก็จะรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญา ตั้งแต่ขั้นฟัง ต้องเข้าใจถูกต้อง แล้วก็รู้ด้วยว่า การอบรมเจริญปัญญา เพื่อละ ถ้าเมื่อไรมีความต้องการเกิดขึ้น เรายังมีอยู่ เราต้องการรู้ ไม่ใช่เป็นการ เริ่มรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ก็เกิดตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมาเท่านั้น ไม่สามารถไปเอาปัจจัยของสภาพธรรมอื่น มาเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมนี้ ที่สะสมมาอย่างนี้ ที่จะเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นปรากฏได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมจึงละเอียด คัมภีรลึกซึ้ง กล่าวถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ จนแจ่มแจ้งให้เห็นในขั้นการฟังว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของใครเลย จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจลักษณะจริงๆ ของธรรมที่ปรากฏ แล้วจะรู้ว่า ทุกคำที่มีในพระไตรปิฎก ที่เคยสงสัย แม้อวิชชาก็มีปรากฏให้รู้ แม้ทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรม ซึ่งเราใช้คำบ่อยๆ ยึดถือรูป อุปาทาน การยึดถือขันธ์ คือ จิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้นหลากหลาย แล้วก็ดับไป ไม่กลับไปอีกเลย แต่ละอย่าง แต่ละขันธ์ๆ ขณะนั้นทิฏฐิยึดถือรูปอะไร ต้องมีรูปนั้นปรากฏ แล้วมีสภาพที่ กำลังเป็นเราในขณะนั้น แล้วมีปัญญาพร้อมสติที่จะรู้ว่า ลักษณะของความติดข้องนั้น เป็นอย่างนั้น ลักษณะของการยึดถือ ที่ใช้คำว่า “สักกาย” ความเป็นเราก็มีลักษณะอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นปัญญา ที่จะมีความเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ที่ได้ยินได้ฟัง เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง แต่ต้องอาศัยจากการฟัง โดยละเอียด โดยความเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่ให้เราไปคิดถึงเรื่องราว โดยที่สภาพธรรมขณะนี้ก็เป็นตัวธรรมจริงๆ ก็ไม่รู้เลย ฟังแล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏ ก็ยังไม่เห็น ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ไปคิดถึงเรื่องมากมาย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบาย ว่า ปกติเห็น เป็นเราเห็น แล้วได้ยิน เป็นเราได้ยิน แล้วเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างได้ยินก็เป็นข้อความเข้าใจ ตรงนี้ในสภาพจริงๆ ของธรรม ก็คือ เห็นเพียงเห็น แค่สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็คิดว่าเป็นอะไร ซึ่งจิตเขาก็เป็นอย่างนี้ของเขา แต่ว่าอวิชชา ไม่สามารถรู้ความจริงได้ว่า เป็นอวิชชาเต็มๆ ก็คือเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเลย โดยฟังบอกว่า ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัญญายังไม่เกิดรู้ตรงนั้น เพราะว่า ตรงนี้มีอวิชชากับความติดข้องฝังอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็เรียกชื่ออวิชชา

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่รู้ตัวอวิชชา

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะใดที่เป็นอกุศล ก็มีอวิชชาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจความหมายของคำว่า “สติปัฏฐาน” “สติสัมปชัญญะ” เป็นหนทางเดียวที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่เพียงฟังเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นอริยสัจจะ มี ๓ รอบ อริยสัจจะ ก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค กำลังฟังเรื่องอริยสัจจะ เป็นรอบไหนใน ๓ รอบ สัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจก็เป็นสัจจญาณ

    ท่านอาจารย์ มั่นคง หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็มั่นคงขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ ถ้ามั่นคงเป็นปัจจัยให้เข้าใจว่า ที่เห็นขณะนี้เป็นธรรม ธาตุที่กำลังเห็นมีจริงๆ ไม่ต้องไปหารูปร่างใดๆ เลย ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่มีรูปร่าง ไม่มีขอบเขตด้วย ไม่มีทางที่จะมอง หรือจับต้องได้ แต่เป็นธาตุที่เป็นใหญ่จริงๆ แม้ไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อธาตุนี้เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ ลองคิดซิ จะมีขอบเขตอะไรไหม เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธาน กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้ง ก็ฟังเพื่อให้เข้าใจธรรมที่มีจริง ให้เข้าใจยิ่งขึ้น จนกว่า ถ้าเป็นสัจจญาณที่มั่นคง เริ่มรู้ เริ่มเข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย ก็รู้ว่า นี่คือสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย แม้แต่ธาตุที่กำลังเป็นธาตุ ที่เกิดขึ้น เป็นธรรม หรือเป็นธาตุ ก็ความหมายอย่างเดียวกัน คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ใครจะทำให้ธาตุนี้เกิดขึ้นได้ไหม ใครจะไม่ให้เกิดได้ไหม เกิดแล้วไม่ให้ดับได้ไหม ก็ไม่รู้ จนกว่าจะฟังจนคลายความยึดถือว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง การที่ตอบคำถามท่านอาจารย์ว่า ได้ ไม่ได้ ก็เป็นการเข้าใจขั้นฟังเรื่องราวลักษณะของสภาพธรรม ว่าเขาเป็นอย่างนี้ เมื่อจะรู้ก็คือรู้อย่างนี้เอง ไม่ได้รู้อื่น

    ท่านอาจารย์ และเมื่อไรที่เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่เรียกว่า “สติปัฏฐาน” ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ก็เป็นสติ มิฉะนั้นก็ลืมที่จะรู้ว่า กำลังเห็นขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วธรรมเขามีเพียงลักษณะปรากฏให้รู้ได้ ไม่มีชื่อ แต่พระพุทธองค์ทรงใช้พยัญชนะ หรือชื่อ เพื่อสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นจะรู้ได้อย่างไร ว่าหมายความถึงอะไร ทั้งหมดเป็นธรรม ทั้งรูปธรรม และนามธรรมแต่ละชนิดก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่เพื่อวินิจฉัยคำ หรือตัดสิน แต่เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง ความสงสัยจะหมดได้ ถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีคำถามจากคุณสุรพงศ์ จะเรียนถามอาจารย์วิชัยว่า

    กรุณาอธิบายสามัญลักษณะ วิเสสลักษณะ และโยนิโสมนสิการ

    คุณคำปั่นช่วยให้ความหมายของศัพท์ด้วยค่ะ

    อ.คำปั่น คำว่า “สามัญลักษณะ” หมายถึงลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือเป็นลักษณะที่เสมอกันหมด ของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นก็หมายถึงมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอันนี้คือเป็น “สามัญลักษณะ”

    ส่วน “วิเสสลักษณะ” หมายถึงลักษณะเฉพาะตน ของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป วิเสส ก็คือแตกต่างกัน หรือวิเศษ อย่างเช่นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน

    “โยนิโสมนสิการ” คือการ กระทำไว้ในใจ โดยอุบายอันแยบคายให้เกิดกุศลจิต เป็นเหตุให้เกิดกุศลธรรม

    อ.วิชัย ไม่ทราบว่า คุณสุรพงศ์ฟังแล้ว เข้าใจไหม ๓ คำ เข้าใจแล้วใช่ไหม ขอสนทนาด้วย สามัญลักษณะคืออะไร

    ผู้ฟัง ลักษณะทั่วไปของสภาพธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสังขารธรรม

    อ.วิชัย สังขารธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง การปรุงแต่งของธรรม สังขารคือปรุงแต่ง

    อ.วิชัย ธรรม สิ่งที่มีจริง มี ๔ อย่าง ปรมัตถธรรม ๔ อย่าง ที่เป็นสังขารธรรมมี ๓ อย่าง คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ ซึ่งธรรมที่มีจริงเหล่านี้ มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นจิตประเภทใดก็ตาม เจตสิกประเภทใดก็ตาม หรือรูปใดก็ตาม ที่จะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ให้จิต เจตสิกนั้น รูปนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เป็นสังขารธรรม ลักษณะทั่วไปของสังขารธรรมคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    จิตขณะนี้เที่ยงหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยง

    อ.วิชัย เกิดแล้วก็ดับ ก็เห็นลักษณะทั่วไป ของสังขารธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป ส่วนวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละประเภท อย่างเช่นจิต มีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้

    อ.วิชัย เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

    เวทนามีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง สุข ทุกข์ แล้วก็อุเบกขา

    อ.วิชัย คือเสวยอารมณ์ ถ้าเป็นสุขทางกาย ก็เป็นสุขเวทนาที่ประกอบกับกายวิญญาณ เสวยอารมณ์ในขณะนั้น หรือว่าทุกข์ทางกาย หรือว่าโทมนัส โสมนัส หรืออุเบกขาเวทนา เป็นลักษณะที่เสวยอารมณ์ ซึ่งก็เป็นลักษณะที่แตกต่างกันกับจิต จิตก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง เวทนาก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง สัญญาเหมือนเวทนาหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    อ.วิชัย ไม่เหมือนกัน แต่ว่าทั้งจิต ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา อันนี้คือสามัญลักษณะ และวิเสสลักษณะ ส่วนโยนิโสมนสิการ ก็ฟังบ่อยใช่หรือไม่ เข้าใจอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ให้รู้อยู่ภายใน ก็เจริญสติ ปัญญา ฟังแล้วก็ไปเรื่อยๆ

    อ.วิชัย ขณะนี้กุศลจิตเกิดหรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดครับ

    อ.วิชัย ฉะนั้นขณะที่กุศลจิตเกิดที่เป็นไปในการฟัง น้อมไปที่จะฟังพระธรรม ตรงนั้นไม่ต้องกล่าวชื่อก็ได้ แต่เป็นโยนิโสมนสิการ คือ กุศลจิตเกิดในขณะนั้น ดังนั้นบางขณะถ้าเป็นไปในอกุศล มีความคิด มีการกระทำต่างๆ ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็เป็น อโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ คือมีผู้มาใหม่สงสัยคำว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งก็ยังไม่เข้าใจเลย ขอคำอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เข้าใจว่า เป็นธรรม ก็ต้องฟังตั้งแต่ต้นเลย แล้วฟังแล้วก็ต้องทบทวนด้วย เหมือนอย่างคำถามที่ว่าเมื่อครู่นี้ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเราปฏิบัติใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    11 มี.ค. 2567