พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 458


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๕๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.นิภัทร การศึกษาธรรมไม่ได้หมายความว่า ให้ทุกคนไม่ทำอะไร เป็นนักเรียน ก็ไม่เรียนหนังสือ จะมาเรียนธรรม เป็นพ่อค้า แม่ค้าก็ไม่เอาแล้ว จะมาเรียนธรรม ทำงานก็ไม่ทำแล้ว จะลาออกมาเรียนธรรม คิดอย่างนี้ไม่ถูกธรรม เพราะว่าธรรม มีทุกอาชีพ ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่เห็นว่า ฆราวาสคับแคบ ไม่เอาแล้ว ท่านไม่เอาจริงๆ ท่านก็บวชเป็นพระภิกษุ เป็นผู้หญิงก็บวชเป็นภิกษุณี สำหรับพวกเรา ไม่ถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นมีอาชีพอะไรที่เป็นสุจริต เราก็ทำ เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ต้องศึกษาเล่าเรียนให้รู้ ให้เข้าใจ ในเรื่องที่เรียน เพื่อจะสอบได้ ถ้าเราเข้าใจธรรมแล้ว ไม่มีอะไรมาขัดขวาง เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นธรรมทั้งหมด เราเรียนหนังสือ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเอาตัวทิ้งไว้ที่บ้าน แล้วไปแต่วิญญาณ อย่างนั้นไม่ใช่ ก็ไปทั้งตัว ตัวเรานี่เองคือธรรม ถ้าเราเข้าใจแล้ว จะเรียนหนังสือ ก็มีธรรม จะเป็นพ่อค้าวาณิช ก็มีธรรม เพราะว่าตัวเราคือธรรม ถ้าเราเข้าใจ ก็คือตัวเราคือธรรม จะเป็นอะไรๆ ก็ตัวเราทั้งสิ้น ไม่ได้เอาตัวเราเก็บไว้ที่บ้าน แล้วมี ๒ ส่วน ไม่ใช่อย่างนั้น เราไปที่ไหน ธรรมก็มีที่นั่น จะอยู่ที่ไหน ธรรมก็มี ที่สำคัญก็คือ เราต้องเข้า ใจด้วยการฟังบ่อยๆ บางคนทำงาน ก็ฟังธรรมไปด้วย ขับรถก็ฟังธรรมไปด้วย สมัยนี้ มีเครื่องอุปกรณ์ที่สามารถ ใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นก็อย่าถือว่า ทำการงาน มีหน้าที่ เป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัว หรือเป็นนักศึกษา แล้วจะขัดขวางการศึกษาธรรม ไม่ใช่ครับ มีแต่จะทำให้เราได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น จากการศึกษานั้น เพราะว่าการศึกษาธรรมนี่ ไม่ใช่ศึกษาไปแล้วจะเก็บไว้หมดทุกอย่าง ไม่ใช่ ศึกษาไปเพื่อให้รู้แล้วละ ไม่ใช่ให้ไปยึดถือไว้ เพราะการยึดถือเป็นทุกข์ในโลก การทิ้งไปเสีย เป็นสุข

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์นิภัทรอธิบายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระครับ

    อ.นิภัทร ที่ฟังอยู่เดี๋ยวนี้ นี่เองคันถธุระ อย่าเพิ่งไปนึก ถึงตัวหนังสือ ที่เรียนอยู่นี้คือคันถธุระ วิปัสสนาธุระ คือเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่เราเรียน เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คุณสุรพงศ์ ก็เป็นธรรม แล้วเป็นขณะไหน เป็นขณะที่เขาเกิด เรารู้เรื่อยๆ อย่างนี้ ก็เป็นวิปัสสนา ปัญญาเกิด เพิ่มมากขึ้นสูงขึ้นๆ ก็เป็นวิปัสสนา จะได้บรรลุมรรคผล

    มรรคผลท่านบอกว่า ความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้ง ๔ ความได้สมบัติทั้งหลายในเทวโลก ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความเป็นพระโสดาบันบุคคล เสี้ยวที่ ๑๖ แบ่งอีก ๑๖ เสี้ยว คิดดูว่า แบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ จะเห็นคุณค่า ของการบรรลุมรรคผล การบรรลุธรรม มีคุณค่ามากจริงๆ เพราะเป็นการ ตัดสังสารวัฏ เพราะสังสารวัฏ เต็มไปด้วยทุกข์ ที่ท่านเรียกว่า วัฏฏทุกข์ เวียนว่าย ตายเกิด อยู่ไม่หยุดหย่อน เราไม่อยากทุกข์ เราก็ต้องศึกษาธรรม เพื่อจะเป็นเครื่องมือ ให้ตัดสังสารวัฏ ได้ในที่สุด

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า การรู้ธรรม เรียนธรรม เพื่อจะให้รู้ รู้แล้วก็ละธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลก็ละดี แต่ถ้าเรายังติดอยู่ ในกุศลจะดีไหม ถ้าละ ธรรมทั้งปวง ก็ต้องละกุศลด้วย ใช่หรือไม่

    อ.นิภัทร ละหมดครับ คือผลสุดท้ายพระอรหันต์ ท่านละหมดเลย กุศลก็ละ อกุศลก็ละ แต่สำหรับพวกเรา ไม่ต้องละกุศล ละแต่อกุศล กุศลก็เจริญไปเรื่อยๆ จนกว่า จะละได้ ในที่สุด ก็ต้องละเหมือนกัน แต่ช่วงนี้ก็อาศัยเป็นเรือพายไปก่อน ข้ามให้ได้ก่อน แล้วค่อยทิ้งไป

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเป็นกรณี ที่จำหลักธรรมที่เป็นกุศลไม่ได้อย่างนี้ จะชื่อว่า ละหรือไม่ เพราะมันจำไม่ได้

    อ.นิภัทร จะต้องไปจำทำไมล่ะ กุศลเป็นอย่างไร ถึงต้องจำ กุศลก็คือขณะใดที่ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว มี หรือไม่

    ผู้ฟัง อย่างวีติกมกิเลสอย่างนี้ ก็จำไม่ได้ว่ากิเลสอะไร คือ เราละจนกระทั่งจำไม่ได้ หรือ

    อ.นิภัทร ตรงนั้นไม่ใช่ธรรม เป็นชื่อธรรม วีติกมะ แปลว่าก้าวล่วง ล่วงละเมิด คือ เขาห้ามไม่ให้ทำอย่างนี้ก็ไปทำ เรียกว่า “วีติกมะ” เช่น ห้ามไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น เราก็ไปเบียดเบียน

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้เราลืมข้อธรรมตรงนี้ไปแล้ว จะชื่อว่า เราละไหม จำไม่ได้ไงครับ

    อ.นิภัทร ก็บอกว่าไม่ต้องจำไง ข้อธรรมไม่ต้องจำ เพราะว่าธรรมมีอยู่กับตัวเรา ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจ หรือไม่ ว่ากุศลมันเกิด เป็นอย่างไร อกุศลมันเกิด เป็นอย่างไรไม่ต้องไปจำชื่อ

    ท่านอาจารย์ ก็จำชื่อ โดยไม่จำ ว่าเป็นธรรม แล้วเมื่อไรจะรู้ ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จิตเห็น และจิตได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าเป็นจิต และไม่รู้ว่าเป็นจิต ที่ได้ยินเสียง รู้แต่ว่าสภาพคิดเป็นจิตที่ คิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้มีเห็น แต่ไม่รู้ว่าเป็นจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ และจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ว่าเป็นอย่างนี้ หรือไม่ ที่รู้ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ที่รู้ว่าเป็นเห็น มี

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ที่รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ที่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ เพราะอะไรจึงรู้

    ผู้ฟัง เพราะมีจิต คิด

    ท่านอาจารย์ จิตคิด ไม่ต้องเห็น ก็คิด แต่ขณะนี้ มีเห็น

    ผู้ฟัง มีเห็น แต่ไม่รู้ ว่าเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง จิตคือสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้ ที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ มีใครรู้ว่า สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างนี้ ขณะที่กำลังเป็นอย่างนี้ ปรากฏอย่างนี้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเห็นคืออะไร

    ผู้ฟัง อย่างนี้จิตเห็นก็คือสภาพรู้ แต่ที่ตรงรู้ ไม่ได้รู้ว่าเป็นจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรกำลังเห็น

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ต้องตอบว่า เป็นจิตที่กำลังเห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องตอบ แต่ขณะที่กำลังเห็น เข้าใจไหมว่า มีเห็นจริงๆ สิ่งนี้ที่กำลังปรากฏให้เห็นจึงปรากฏได้ แปลว่ามีเห็นจริงๆ แน่นอน สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จึงปรากฏว่าเป็นอย่างนี้ได้ มิฉะนั้นจะไม่ปรากฏเลย

    ผู้ฟัง สิ่งที่เห็น แล้วรู้ว่าเห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปรู้ว่าเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ทางตา เป็นอย่างนี้ เพราะมีสภาพที่เห็น สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ สิ่งนี้กำลังถูกเห็น เป็นสิ่งนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นสภาพที่เห็นจึงรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งอย่างนี้ปรากฏ เพราะฉะนั้นสภาพที่กำลังรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้นั้นมีจริงๆ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่เรียกอะไรก็ได้ แต่เป็นธรรมที่สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงปรากฏได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้แล้วก็ต้องเข้าใจตรงเห็น อย่างนี้สภาพเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็คือจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “คือจิตเห็น” แต่ยังไม่รู้ถึงลักษณะนั้นเลย ต้องฟังจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจในขณะที่กำลังเห็น

    อ.อรรณพ ก็สนทนากันตั้งแต่เมื่อวานเรื่องจิต ว่า เป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จิตจะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ไม่ใช่ธรรมชาติของจิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คือ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ขณะนี้มีจิต แต่เราก็หาจิตว่า จิตนี้อยู่ที่ไหน เห็นนี้เป็นจิต เป็นสภาพรู้ ไม่ต้องไปคิดแยกเจตสิกด้วย พอกล่าวถึงจิต บางท่านศึกษาอภิธรรมมาบ้าง ก็รู้ว่า ต้องมีเจตสิกเกิดประกอบ ก็เลยคิดว่า ตรงไหนเป็นจิต ตรงไหนเป็นเจตสิก จะระลึกรู้ตรงโน้น ตรงนี้ นั่นเป็นจิตที่คิดไป เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพคิด และจิตก็เป็นสภาพที่วิจิตร วิจิตรจริงๆ ที่จะคิดนึกไปในสิ่งต่างๆ เดี๋ยวก็วิจิตรด้วยอกุศลต่างๆ ที่ปรุงแต่งขึ้น หลากหลายด้วยเจตสิกต่างๆ เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง โทสะก็ยังหลากหลาย โลภะก็ยังหลากหลาย ตามลักษณะของอกุศลธรรมนั้นๆ เป็นกุศลก็หลากหลาย เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง นั่นคือความวิจิตร ความหลากหลายของสภาพรู้ที่เป็นหลัก เป็นประธาน คือ จิต และจิตก็มีลักษณะสามัญ คือ จริงๆ จิตเกิดขึ้นตั้งอยู่นิดหนึ่ง แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่รู้ แล้วจิตก็เกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น เป็นไปตามลำดับการเกิดของจิต จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตขณะต่อไป ก็เกิดขึ้นทันที ไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้นที่ว่าชีวิตแสนสั้น ไม่ใช่ว่า ไม่กี่สิบปี สมัยนี้ก็หาน้อยคนที่จะเกิน ๑๐๐ อายุเฉลี่ยก็ ๗๕ ปี แต่จริงๆ แล้วที่แสนสั้น เพราะจิตแต่ละขณะ เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว นี่คือ ความไม่เที่ยงของจิต

    เพราะฉะนั้นจิตเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่เที่ยง และการที่เขาเกิดอยู่ ตั้งอยู่เพียงนิดหนึ่ง ไม่สามารถทนทานนานกว่านั้น จะนานกว่านั้นก็ไม่ได้ เพราะต้องดับไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นลักษณะของทุกขลักษณะ คือ ไม่อาจจะตั้ง หรือทนอยู่ได้ เพราะเป็นสภาพธรรม ที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องดับ สภาพธรรมใดก็ตาม ที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ท่านอาจจะใช้ภาษาที่เราไม่คุ้น เช่น คำว่า “บีบคั้น” หมายความว่า ไม่มีใครไปทำการบีบคั้นจิต แต่ลักษณะของจิต เป็นลักษณะอย่างนั้นเอง ซึ่งจะต้องดับไป นั่นคือลักษณะที่เป็นทุกข์ของจิต และจิตเป็นเราไหม จิตเป็นจิต ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจิต เป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่เรา เพราะจิตเป็นจิต เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นการที่เราค่อยๆ ศึกษา ก็ไม่ใช่ว่า เพื่อให้เราจดจ้อง เพื่อรู้ลักษณะของจิต แต่เพื่อความเข้าใจ ขณะเข้าใจเรื่องจิตอย่างถูกต้อง เราก็สะสมความเข้าใจเรื่องจิต ซึ่งขณะนั้นจิตก็ทำหน้าที่สะสมแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังธรรมไปจนกว่าจะรู้ว่า ขณะนี้ที่คิดนึกนี้ เป็นจิต จิตเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นั่นคือความเป็นอนัตตา ที่ค่อยๆ เปิดลักษณะ เผยลักษณะขึ้นทีละนิด จากความมืดสนิท ของอวิชชา ที่คิดว่าเป็นเรา จิตก็เป็นเรา ศาสตร์หลายๆ ศาสตร์ก็ศึกษาเรื่องจิต เช่น จิตวิทยาบ้าง ก็ใช้คำว่า “จิต” แต่ไม่ได้เข้าใจว่า จิตเป็นจิต ไม่ใช่เราเลย แต่เข้าใจตรงข้าม ว่าเป็นจิตของเราที่ต้องการให้จิตเราสบายใจ แล้วไม่รู้ด้วยว่า สบายใจนั้น เป็นอกุศลก็มี เป็นโลภะที่ประกอบด้วยโสมนัส ก็สบายใจดี ไม่เข้าใจว่า จิตขณะนั้นเป็นอกุศล พระธรรมเท่านั้น ที่จะแสดงว่า จิตเป็นจิต ไม่ใช่เรา และจิตที่เป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศล ก็ต้องเป็นกุศล และก็สะสมพืชเชื้อความเป็นกุศล หรืออกุศลไว้ในจิตทุกดวง ทุกขณะสืบต่อกัน นี่คือสังสารวัฏฏ์ที่จะดำเนินไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการฟังธรรมที่จะถ่ายถอน ความไม่รู้ สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องจิต ก็ไม่จบ เหมือนกับพูดซ้ำไปซ้ำมา แต่เข้าใจจิตไหม ยาก ที่จะตอบว่า เข้าใจจิตไหม เข้าใจเรื่องจิตนี่พอเข้าใจได้ แต่เข้าใจลักษณะของจิต ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีอยู่ ก็เป็นเรื่องแปลกที่ว่า สภาพธรรมมีเผชิญหน้าอยู่ คือเกิดมีอยู่ ตลอดสังสารวัฏฏ์ไม่ปราศจากจิตเลย แต่ไม่เคยเข้าใจลักษณะ ของนามธาตุที่มีอยู่ ที่เป็นหลัก เป็นประธานเลย ตรงนั้นก็แสดงว่า อวิชชาปกคลุมหนามาก หนาจนไม่รู้เลย แม้ว่ามีอยู่ เพียงวินาทีหนึ่ง ก็มีจิตเกิดขึ้นให้รู้ ลักษณะมากมาย แต่ก็ไม่รู้ ผ่านไป ไม่ใช่ผ่านไปวินาทีหนึ่ง ต้องผ่านไปมากกว่า ๔ อสงไขยแสนกัป พวกเราต้องอยู่มานานกว่านั้น แล้วเราก็ผ่านลักษณะ ของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ผ่านลักษณะ ของสภาพธรรม ไปเรื่อยๆ แต่สภาพธรรมก็มีเกิดสืบต่อ อย่างจิต

    เพราะฉะนั้นก็ให้เห็นว่า ทำไมถึงกล่าวถึงการฟังธรรม และการอบรมเจริญปัญญาว่า เป็นการอบรมเจริญที่ยาวนาน จิรกาลภาวนา เพราะฟังเท่าไร น้อมไป เข้าใจ แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ ยังไม่ละคลาย เพราะฉะนั้นก็เป็นโอกาสที่ดี ในทุกครั้งๆ ที่ได้สนทนาถึงสภาพธรรม และปรมัตถ์แรกที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็คือ จิตปรมัตถ์

    อ.กุลวิไล และขณะนี้เองมีการเห็น ได้ยิน และคิดนึก เราจะทราบ หรือไม่ว่า มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง ผมมีคำถามที่จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านอาจารย์เคยกล่าวที่วัดธาตุทอง ว่าตาที่เรามี ไม่เห็นอะไร หู ไม่ได้ยินอะไร จมูก ก็ไม่ได้กลิ่นอะไร ลิ้นก็ไม่ได้รสอะไร กาย ก็ไม่ได้สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไร ก็เรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แล้วก็เห็น แล้วก็ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัสต่างๆ แล้วทำไมถึงว่า ตาไม่เห็นอะไร หูไม่ได้ยินอะไร จมูกไม่ได้กลิ่นอะไร ลิ้นไม่ได้รสอะไร กายก็ไม่รู้อ่อน รู้แข็งอย่างไร ทั้งๆ ที่เราก็ยังไม่ตาย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงเรื่องธรรมจะมีเรา หรือไม่ ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลากล่าวถึงธรรม ต้องกล่าวถึงธรรม ทีละอย่าง ไม่สับสน และไม่ปะปนกันด้วย ก่อนฟังธรรม มีเรา แล้วก็เข้าใจว่า ที่เราเป็นธรรมรวมๆ กัน แต่ว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าจะพูดถึงธรรมหนึ่งอย่าง จะปนกับธรรมอื่นๆ ไม่ได้เลย เช่น เวลาพูดถึงตา คิดถึงเรา หรือไม่ หรือว่ากำลังคิดถึงตา

    ผู้ฟัง ขณะที่พูดถึงตา ก็ยังมีเรา คิดว่าตาของเรา

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ตาไม่ใช่ของใคร ตาเป็นธรรม การจะเข้าใจธรรมได้ ก็กล่าวถึงธรรมทีละอย่าง ตามีจริงๆ เป็นธรรม จึงไม่ใช่ของใคร เริ่มอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงตา ไม่ได้พูดถึงอย่างอื่นเลย พูดถึงธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกคนเข้าใจว่า มี แต่อยู่ที่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่า ขณะนี้กำลังเห็น แล้วถ้าไม่มีตาทั้งดวง ทั้งหมดที่เป็นรูปของตา เข้าใจว่าไม่มีตา เห็นไม่ได้ แต่ความจริงที่ตา ที่เราเคยเข้าใจว่า ทั้งหมดสีขาว สีดำ แล้วก็มีขนตา ตัวตาจริงๆ เป็นรูปที่มองไม่เห็นเลย แต่ เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่ง ที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่กระทบกับเสียง นี่เป็นรูปชนิดหนึ่ง ถ้าพูดถึงธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม และนามธรรม ก็ต้องเป็นรูปธรรม แต่ละรูป ไม่ปนกัน

    ด้วยเหตุนี้ตานี้จะเกิดที่ไหน ในน้ำ บนบก อย่างปลาก็มีตา แต่เรามองเห็นเป็นรูปปลา และเป็นตาของปลา ซึ่งลักษณะก็ต่างกับตาของมนุษย์ แต่ถ้าจะกล่าวถึงตัวตาจริงๆ ไม่ได้กล่าวถึงรูปร่างของปลา พูดถึงตา ไม่ได้กล่าวถึงรูปร่างของปลา และพูดถึงปลา ก็ไม่ได้กล่าวถึงรูปร่างของมนุษย์ ของนก ของงู ไม่ใช่เลย พูดถึงตา เพื่อจะกล่าวถึงธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ รูปนี้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เท่านั้น เป็นรูปชนิดหนึ่ง แล้วเวลาที่รูปกำลังปรากฏขณะนี้กระทบกับจักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปพิเศษ ซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น เห็น ไม่ใช่จิตอื่น แต่ธาตุชนิดนี้เกิดได้ เพราะเหตุว่าอาศัยปัจจัย คือต้องมีจักขุปสาท มีสิ่งที่กระทบ

    เพราะฉะนั้นตาเองเป็นรูปธรรม รูปธรรม หมายถึงสภาพธรรม ที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย โลกไม่ว่าจะเป็นจักรวาลนี้ หรือที่ไหนก็ตามมีธรรม ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ สภาพธรรม อีกอย่างหนึ่งเกิดเมื่อไร ต้องรู้ แล้วก็มีคนสงสัยว่า แล้วมีขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งรูปธรรม และนามธรรม มีขึ้นมาได้อย่างไร ไปคิดสงสัยว่ามีได้อย่างไร แต่สิ่งนี้มีแล้ว เป็นอย่างนี้แล้ว ไม่เป็นอย่างอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    15 เม.ย. 2567