พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 445


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ยุคนี้สมัยนี้ได้ยินคำว่า “โลกร้อน” ใช่หรือไม่ เพิ่งเริ่มร้อน หรือว่าร้อนมานานแสนนานแล้ว

    ผู้ฟัง ร้อนมานานแสนนานแล้ว

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ นี่คือความหมายของพระพุทธศาสนา กับความหมายของชาวโลก ชาวโลกนั้นเหมือนกับว่า โลกเพิ่งจะเริ่มร้อน เพราะไม่รู้จักโลก แต่ทางธรรม แต่ไหนแต่ไร โลกก็ร้อนเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะอกุศลทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เพราะไม่เข้าใจ แม้แต่คำที่ใช้กันอยู่ ก็เข้าใจต่างๆ กันไป ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ “โลก” คือ สภาพธรรมซึ่งเกิดดับ เกิดแล้วดับไป ไม่ว่าจะเป็นรูป หรือความรู้สึก ความจำ การนึกคิดทั้งหมด เกิดเพราะมีปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เหลือเลย ไม่กลับมาอีกเลย แต่เวลาไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ร้อนหรือไม่ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็หวังจะให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นด้วย เพราะฉะนั้นโลกร้อนแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง เวลาที่ร้อน ทุกคนกำลังเดือดร้อนใช่หรือไม่ จะทำอย่างไรให้เย็นลง หาวิธีต่างๆ ขอยกตัวอย่างห้องนี้ ก็เย็นขึ้น เพราะแต่ก่อนร้อนกว่านี้

    นี่เป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่ส่วนในใจจริงๆ ของทุกคนไม่อยากเผชิญกับความร้อน คิดว่าเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ แต่ลองคิดดู ถ้าไม่มีจิต ไม่มีใจ ไม่มีความต้องการใดๆ จะเดือดร้อนกับภาวะซึ่งคนอื่นกำลังวิตกกังวล หรือไม่ เพราะฉะนั้นร้อนจริงๆ ไม่ใช่ความร้อนของโลก หรือของวัตถุ แต่ต้องเป็นความร้อนเพราะความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่เราเลย เกิดมาในขณะนี้ เห็นแล้วก็หลงว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ร้อนหรือไม่ ขณะที่หลง แต่ไม่รู้สึกเลยใช่หรือไม่ แต่กำลังไปเดือดร้อนกับโลกร้อน แล้วก็คิดว่า เป็นคำใหม่ แล้วก็คิดว่าเป็นสภาวะของโลกใหม่ แต่ความจริง โลกจริงๆ หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ และโลกที่ทุกคนเป็นห่วงว่าร้อนมาก จะไม่ร้อนได้หรือไม่ เมื่อใด เมื่อมีปัญญารู้ความจริงจนกระทั่งสามารถดับอกุศลธรรมได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับปัญญา

    ผู้ฟัง ในขั้นฟัง ที่เข้าใจว่าเป็นตัวเรา จริงๆ ก็คือที่ว่ากองฝุ่น เพราะฉะนั้นเมื่อปัญญาอีกขั้นหนึ่งที่ไม่ใช่ขั้นฟัง คือเข้าถึงลักษณะ ก็จะเห็นรูปนามที่เกิดดับ หรือว่ารู้รูปนามก่อน ก่อนจะเห็นการเกิดดับ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ปัญญาขั้นนั้นก็สามารถละคลายการยึดมั่น ถือมั่นว่า ธรรม หรือธาตุที่มีลักษณะเฉพาะ แล้วก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย ละคลายความยึดมั่นตรงนั้น เหมือนไฟที่ร้อนกับความไม่รู้ ก็จะค่อยๆ เย็นลง ที่รู้นั้น ประการนี้เราก็ศึกษาไปเพื่อถึงที่สุดแล้ว ก็สามารถรู้ตรงนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ยังร้อนอยู่ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนี้ยังร้อนอยู่

    ท่านอาจารย์ จะดับร้อนด้วยอะไร ปัญญา ไปหาที่ไหนดี

    ผู้ฟัง ก็กำลังฟัง กำลังอบรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเมื่อไร นั่นคือปัญญา ไม่ใช่เราเลย เข้าใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย เพราะเหตุว่าไม่มีสิ่งใดที่เที่ยง

    ผู้ฟัง มีความสงสัยเรื่องรูป ที่ว่ารูปดับ ๑ ขณะ อยากจะทราบว่า อวินิพโภครูป ๘ ดับพร้อมกัน เป็น ๑ ขณะ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ อวินิพโภครูป ๘ คืออะไร หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกลาป เป็นมหาภูตรูป ๔ และมี สี เสียง กลิ่น รส โอชา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความหมายของอวินิพโภครูปคืออะไร

    ผู้ฟัง เป็นกลุ่ม

    ท่านอาจารย์ ความหมายของกลุ่มคือ “กลาป” แต่ความหมายของอวินิพโภครูปคืออะไร

    ผู้ฟัง คือมหาภูตรูป ๔

    ท่านอาจารย์ ความหมาย

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจความหมายตรงนี้

    ท่านอาจารย์ บางครั้งจำชื่อได้หมดเลย แต่ไม่รู้ว่าอะไร หรือหมายความว่าอะไร แต่ความจริงที่พูดเหมือนเข้าใจบ้าง แต่ไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้ความเข้าใจว่า มหาภูตรูปมีจริงๆ มี ๔ รูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แยกกันได้หรือไม่

    ผู้ฟัง แยกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ไม่มีธาตุลมได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต่างอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ชนิดที่ ๑ รูป เป็นปัจจัยให้อีก ๓ รูปเกิด หรือ ๒ รูป เป็นปัจจัยให้อีก ๒ รูปเกิด หรือ ๓ รูป เป็นปัจจัยให้อีก ๑ รูปเกิด คือ ทั้งหมดต่างอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น นี่คือความหมายของมหาภูตรูป ๔ เป็นใหญ่เป็นประธาน เมื่อมีมหาภูตรูป ๔ แล้ว ที่จะไม่มีสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นไม่มี ต้องมีรูปอีก ๑ รูปรวมอยู่ด้วย แล้วก็มีกลิ่น มีรส มีโอชา ซึ่งสามารถทำให้รูปอื่นเกิดด้วย ทั้ง ๘ รูป ไม่แยกจากกันเลย เข้าใจอย่างนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ นั่นคือภาษาไทย ภาษาบาลีก็คือ “อวินิพโภครูป” คือ รูปที่แยกจากกันไม่ได้ เกิดพร้อมกัน และก็ดับพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นคำตอบคำถามของคุณบุษกร หรือไม่

    ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจขึ้นแล้ว ครั้งแรกเข้าใจว่า ดับไปทีละรูป

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เข้าใจแล้ว กราบขอบพระคุณค่ะ

    ผู้ฟัง ขอถามคำถามที่ ๒ จากการศึกษาเมื่อวานนี้ เรื่องอารมณ์ที่ท่านอาจารย์ทบทวน แล้วไปสนทนาต่อในรถ ซึ่งนั่งกันมาหลายคน งงกันว่าธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ คือ อารมณ์รู้ได้ ๖ ทาง รูปารมณ์ สัททารมณ์ คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็รู้ได้ ๕ ทาง ปัญหาก็คือผู้ร่วมสนทนาไม่เข้าใจ อธิบายให้ฟังแล้วก็ยังไม่ชัดเจน คือว่า ในเมื่อธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น ยกตัวอย่าง รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตารู้ได้ทางจักขุทวาร คือรู้ได้ทางตา วิถีหนึ่ง แล้วสามารถรู้ได้ทางใจต่อ แต่ขณะที่อารมณ์ที่เป็นรูปารมณ์รู้ได้ทางใจต่อ ก็ยังเป็นรูปารมณ์อยู่ ไม่ใช่ธัมมารมณ์แต่ก็ยังไม่เข้าใจตรงนี้ กราบเรียนให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความด้วยค่ะ

    ท่านอาจารย์ รูปารมณ์คือรูปที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏให้เห็นในขณะนี้ แต่เมื่อวิถีจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นรู้รูปที่ยังไม่ดับ เพราะรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ต่อเมื่อใดรูปดับแล้ว จิตจะเกิดขึ้นรู้รูปนั้นต่อ เห็นเหมือนทางจักขุปสาทได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปนั้นดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ มีจิตเกิดต่อ หรือไม่ ภวังคจิต และต่อจากนั้นมีจิตเกิดต่ออีกหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ จิตอะไรเกิดต่อหลังเห็น

    ผู้ฟัง ก็เป็นทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เมื่อเห็นนั้นดับไป ผลจากการที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำให้แม้ภวังคจิตเกิดคั่น ทางใจก็ยังเกิดขึ้นมีวิตกเจตสิกตรึกนึกถึงรูปที่เพิ่งดับ ไม่มีใครไปยับยั้งได้เลย สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดปรากฏทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู มีอายุที่สั้นมากแล้วก็ดับไป แล้วภวังคจิตเกิดสืบต่อ มิฉะนั้นก็ต้องเป็นจุติจิต

    แต่เมื่อยังไม่ตาย และขณะนั้นรูปดับแล้ว จะให้ไปเห็นอะไรอีกก็ไม่ได้ จะให้ได้ยิน หรือคิดนึกทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อสืบต่อภพชาติ ดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ชั่วขณะสั้นๆ แล้วจากการที่รูปนั้นปรากฏทางตา เป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตตรึกนึกถึงรูปนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น จะมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ แต่จิตที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต แล้วแต่ว่าเวลาเห็นแล้วเกิดโลภะ ติดข้องในรูปนั้น หรือโทสะ ขุ่นเคืองใจในรูปนั้น ก็จะทำให้จิตประเภทนั้นที่มีรูปนั้นเป็นอารมณ์เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ "เห็น" ถูกต้องหรือไม่ รู้หรือไม่ว่า ขณะที่รูปยังไม่ได้ดับเลย จิตเป็นกุศล หรืออกุศล ไม่ทราบ ไม่ทราบเป็นกุศลได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แต่เห็นจริงๆ จะบอกว่าไม่เห็นไม่ได้ แทบจะไม่รู้ตัวเลยว่า เกิดการสะสมของจิตพร้อมที่ว่า เมื่อวิบากจิตดับแล้ว การสะสมโลภะในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือโทสะในสิ่งที่ปรากฏ หรือโมหะก็แล้วแต่ที่สะสมมาแล้วพร้อมที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ใครก็ยับยั้งไม่ได้ ทั้งๆ ที่รูปนั้นยังไม่ดับไป ทันทีที่วิบากทั้งหลาย คือ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิด เพราะว่าถ้าโวฏฐัพพนจิตยังไม่เกิด กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อถึงกาลที่โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ปัจจัยที่ได้สะสมมานั้นเอง ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย เป็นปัจจัยให้ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏบ่อยไหม มากมาย หรือว่ามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ อย่างสีสันวัณณะที่น่าพอใจ ที่ชอบ ก็เกิดแล้วทันที ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ปัญจทวารวิถีมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ ดับแล้ว ภวังคจิตเกิดแล้ว มโนทวารวิถีจิตตรึกนึกถึงรูปที่เพิ่งดับไปต่อ พร้อมกับจิตซึ่งแล้วแต่ทางปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือสำหรับบางท่านเป็นกุศลจิต หรือสำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต

    นี่คือความต่างกันของการสะสมทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล จนถึงระดับที่สามารถดับกิเลสได้หมด แม้เห็นก็ต่างจากคนอื่น คือ ไม่มีปัจจัยที่อกุศลใดๆ จะเกิดขึ้นได้เลย เพราะดับหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้หลังจากที่รู้อารมณ์นั้นแล้ว ก็ต้องมีมโนทวารวิถีเกิดทุกครั้ง ทุกวาระที่มีการเห็นดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรับรู้รูปนั้นต่อ เหมือนกันเลย เปลี่ยนรูปนั้นให้เป็นอื่นได้หรือไม่ ให้เป็นธัมมารมณ์อื่นๆ ได้หรือไม่ ให้เป็นจิตได้หรือไม่ ให้เป็นเจตสิกได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นรูปารมณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้นรูปารมณ์ ไม่ว่าจะปรากฏทางปัญจทวาร ถ้าเป็นทางตา รูปารมณ์ก็คือปรากฏให้เห็นทางตา เป็นรูปารมณ์ ดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดรับรู้ต่อ ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นรูปารมณ์นั่นเอง

    ถ้าเป็นเสียง โสตทวารวิถีจิตได้ยินเสียงแล้ว ดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็ตรึกนึกถึงเสียงที่เพิ่งดับไป จะเปลี่ยนเสียงนั้นให้เป็นอื่นไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้เสียงที่เกิดขึ้นทางหู จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน กับเสียงที่มโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิตตรึกนึกถึงไม่เปลี่ยน ก็ยังคงเป็นสัททารมณ์

    ด้วยเหตุนี้สำหรับสิ่งที่ปรากฏทางตารู้ได้ ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวารวิถี ๑ และทางมโนทวารวิถี ๑ ก็รู้รูปารมณ์นั่นเอง

    เสียงที่รู้ทางหู กำลังได้ยินเสียงเดี๋ยวนี้ ธรรม ถ้าฟัง คือ ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ว่า แม้เสียงดับ แต่ความรวดเร็ว แม้ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตก็รับรู้ต่ออย่างเร็วมากในเสียงนั้นเอง ใครสามารถรู้ความต่างว่า ขณะนี้เป็นโสตทวารวิถีจิต หรือว่ามโนทวารวิถีจิต ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    ด้วยเหตุนี้เมื่อความเป็นจริงอย่างนี้ เวลาสภาพธรรมปรากฏเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความรู้ชัดก็จะยิ่งรู้ชัด เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ทางมโนทวารวิถีสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ แต่จักขุทวารวิถีจิตสามารถรู้ได้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา ธัมมารมณ์รู้ได้กี่ทาง

    ผู้ฟัง ธัมมารมณ์รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ธัมมารมณ์หมายความถึงอารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น แต่มโนทวารวิถีจิตสามารถจะรู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์ ๖ อารมณ์

    ผู้ฟัง ได้ฟังมาก็เข้าใจดี แต่อยากถามต่อไปอีกว่า เมื่อช่วงเช้านี้เราก็สนทนากันถึงสมุฏฐานการเกิดของรูป ผมก็ขอถามเรื่องนาม เรื่องชาติของนามธรรมที่เกิด ที่พูดกันนี้ คงเป็นชาติวิบาก ใช่หรือไม่ หรือมีชาติกุศล อกุศลด้วยที่เกิดมา

    ท่านอาจารย์ ชา - ติ หรือชาติคืออะไร ต้องตั้งต้นอย่างนี้ทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นจะไม่เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะสับสน พูดไปตั้งมากแต่ชาติคืออะไร เชิญคุณคำปั่นค่ะ

    อ.คำปั่น คำว่า “ชาติ” หรือ ชา – ติ ที่กล่าวถึงก็หมายถึงการเกิด หมายถึงการเกิดของจิต และเจตสิก ซึ่งในชีวิตประจำวันก็จะมีจิตเกิดขึ้นทุกขณะ บางครั้งก็เป็นกุศล คือ เป็นกุศลชาติ หมายถึงจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลจิต อันนี้คือกุศลชาติ ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นอกุศลชาติ เพราะจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ขณะที่เป็นกิริยาจิต ก็เป็นกิริยาชาติ และขณะที่เป็นวิบาก อย่างเช่นขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี้เป็นวิบากชาติ เพราะจิตเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ฉะนั้นแล้วชา – ติ หรือชาติ ก็หมายถึงการเกิดของจิต และเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ภาษาไทยใช้คำซึ่งไม่ตรงนักกับภาษาบาลี เพราะว่าเชื้อชาติต่างๆ สัญชาติ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ชาติก็คือการเกิด รูปเกิดเป็นชาติ หรือไม่ ภาษาไทย ภาษาบาลี

    ผู้ฟัง รูปไม่ได้แบ่งเป็นชาติ

    ท่านอาจารย์ รูปเกิดเมื่อไร ก็เป็นรูป เป็นกุศลได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกุศล และอกุศลได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรเป็นผลของกุศล และอกุศล ใช้คำว่า รูปเป็นผลของกุศล และอกุศลได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรเป็นผลของกุศล และอกุศลได้ การศึกษาธรรมเกี่ยวข้องสอดคล้องกันทั้งหมด เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็เข้าใจได้ทั่ว และตลอด ถ้าเข้าใจจริงๆ แต่ถ้าติดขัดคือไม่เข้าใจ รู้เพียงบางคำ เพราะไม่เข้าใจ จึงไม่สามารถรู้ได้โดยตลอด ตอบได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังคิดไม่ออก แต่รู้ว่าได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้เรากล่าวถึงกัมมชรูป กุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ทำแล้ว เวลาเป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม และเป็นกัมมชรูป ซึ่งไม่ใช่วิบาก เพราะว่าไม่รู้อะไร วิบาก คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม แต่เวลาที่เป็นรูป ไม่ใช่ตัววิบากจิต แต่เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นตามควรแก่กรรมนั้นๆ แต่ละคนรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหรือไม่ ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั่วโลก เพราะกรรมต่างกัน ก็จะมีความคล้ายคลึงบ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรม ถ้าศึกษาโดยความไม่ประมาท โดยความละเอียดที่จะเข้าใจจริงๆ ก็จะไม่สับสน รูปเป็นวิบากไม่ได้ แต่เป็นผลของกรรมได้ นอกจากเป็นผลของกรรม เป็นผลของอย่างอื่นได้อีกได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของอะไร รูปเกิดเพราะจิตมีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นจิตตชรูป ไม่ใช่กัมมชรูป นี่คือความต่างกัน แม้รูปในขณะนี้ ศึกษาธรรมต้องคิดถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้เองเพื่อจะได้เข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ใช่แต่เพียงชื่อ

    ผู้ฟัง แต่ที่ผมจะถาม คือ นามที่เกิดขึ้นคงเป็นชาติวิบากทั้งหมดเลยใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตมีกี่ชาติ

    ผู้ฟัง ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ และจิตเป็นนามธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเกิดขึ้นมาเป็นวิบากทั้งหมด หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ผู้ฟัง จิตที่คิดนึกกับเรื่องที่คิด ในขณะที่คิด และก็คิดถึงเรื่องราวที่ไม่ได้หลับ กับขณะที่ฝัน จริงๆ แล้ว เมื่อพิจารณาดูยังไม่เข้าใจว่า ความต่างอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ทางที่จิตจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีกี่ทาง อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มี ๖ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ทางตาจิตเกิดขึ้นรู้อะไร

    ผู้ฟัง ทางตา จิตเกิดขึ้นก็ต้องรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ รูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น มีสิ่งเดียวที่จะปรากฏทางตาได้ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ใช่คิดใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทางใจ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตอาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นเห็น

    ผู้ฟัง สภาพคิดนึกก็คือคิดถึง ...

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่เย็นร้อน อ่อนแข็งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง นั้นคือคิด แต่ที่กราบเรียนถาม คือ คิดในขณะที่ตื่น กับฝัน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เห็นแล้ว หมดแล้ว จุติจิตยังไม่เกิด ภวังคจิตเกิดคั่น แต่ไม่มากเท่ากับในขณะที่ฝัน

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่ฝันกับขณะที่ไม่ฝัน ก็จะเป็นจิตคนละขณะกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่ฝัน ขณะนี้ทราบหรือไม่ "เห็น" หรือ"คิด" เดี๋ยวนี้ ทุกคนกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ยังไม่ใช่ฝันใช่หรือไม่ เดี๋ยวนี้เอง เดี๋ยวนี้เห็น หรือคิด

    ผู้ฟัง เห็นก็มี คิดก็มี

    ท่านอาจารย์ เห็นก็มี คิดก็มี รู้ไหมขณะไหนเห็น รู้ไหมว่าขณะไหนคิด

    ผู้ฟัง ยังไม่มีปัญญารู้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความต่างก็คือ เห็นไม่ใช่คิด หลังจากที่เห็นแล้วคิด แล้วก็ติดกันเร็วมาก จนกระทั่งไม่รู้ตัวเลยว่า ขณะนี้เองกำลังคิดอยู่ เห็นแล้วก็คิด เห็นแล้วก็คิด เห็นแล้วก็คิด ที่จะไม่มีคิดหลังจากที่เห็นแล้ว ไม่มี นี่คือคิดที่ไม่ใช่ฝัน แต่เวลาฝันคิดอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคิด

    ท่านอาจารย์ ฝันเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเห็นจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็นแล้วคิด ถูกต้องหรือไม่ เอาเห็นออกไปเหลือแต่คิด เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่คิดแน่นอน เห็นจริงๆ มีสิ่งที่ปรากฏเห็นอยู่ แต่เห็นอะไร นี่คิดแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรๆ ที่จำไว้ก็คือคิด ในขณะที่ฝันก็คืออะไรๆ ที่จำไว้แล้วก็คิดนั่นเอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    20 ม.ค. 2567