พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 469


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ นี่คือการเห็นถูกตามความเป็นจริง แล้วใครจะรู้ได้ถึงความละเอียดของจิตซึ่งขณะนี้เกิดดับสืบต่อ นับไม่ถ้วน ทั้งจิต และเจตสิก แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงให้เข้าใจถูกต้องแม้ในขั้นการฟังว่า เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย

    *จิตขณะแรก จิตอายุก็สั้น จิตทุกขณะเกิดดับเร็วมาก แต่ก็สามารถแบ่ง หรือกล่าวถึงขณะเกิด ไม่ใช่ขณะดับ ขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะก่อนจะดับ เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะ ก็มีอุปาทขณะคือเกิด ฐีติขณะ ยังไม่ดับ ภังคขณะ คือขณะที่ดับ เวลานี้ใครนับได้ ไม่มีทางเลยค่ะ เพราะเหตุว่าเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ เกิดแล้วดับเร็วมาก แต่ให้ทราบว่า จิตที่เกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งในบรรดากรรมทั้งหลาย ที่ทำให้จิตนี้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่สะสมมาในจิตแต่ละขณะไม่ได้หายไปไหนเลย ประมวลมารักษาอยู่ในจิต ทั้งๆ ที่จิตเป็นนามธรรม ไม่มีที่เก็บที่เป็นรูปธรรม แต่แม้กระนั้นทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ดับไปก็จริง แต่เพราะเกิดแล้วเป็นอย่างนั้น แม้ดับไปแล้วก็สะสมเป็นปัจจัยที่เมื่อมีแล้วก็ดับ แล้วก็ทำให้เกิดมีขึ้นได้ โดยเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยให้สภาพนั้นๆ เกิดอีก อย่างโลภะ ความติดข้องเกิด ดับ หมด หรือเปล่า ไม่มีโลภะอีก หรือเปล่า เพราะดับไปแล้ว ไม่ใช่ แม้ดับไปแล้วก็ยังมีการสะสมสืบต่อเพราะเคยเกิดชอบ เพราะฉะนั้นความที่เคยชอบเกิดแล้ว แม้จิตนั้นดับไปก็จริง แต่สภาพของการสะสมโลภะ ความติดข้อง ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นลองคิดดู นานแสนนานที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็มีความติดข้อง มีเรื่องราวในแต่ละชาติมากมาย แต่กระนั้นก็หมด ไม่มีเหลือเลย

    ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าจะกล่าวโดยปฏิจจสมุปปาท ซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบที่จะกล่าวถึงโดยที่ยังไม่รู้ว่า เป็นปรมัตถธรรม เพียงได้ยินว่า อวิชชา ความไม่รู้ เป็นปัจจัยแก่สังขาร คือ กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ไม่ว่าในระดับไหนทั้งสิ้น ที่ยังคงเป็นกุศล และอกุศลก็เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งจะทำให้กุศลให้ผลเป็นจิตที่เป็นกุศลวิบาก และเวลาที่เป็นอกุศลก็ให้ผลเป็นจิตที่เป็นอกุศลวิบาก

    ถ้าเราพูดอย่างนี้ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร แสดงให้เห็นลึกลงไปกว่านั้นอีกว่า แม้ชาติก่อน เราจะเคยสุข เคยทุกข์ประการใดๆ ก็ตาม หมดแล้ว แต่สะสม ไม่เหลือเลย แต่สิ่งที่มีคืออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารตลอดชาตินั้น สุขทุกข์ผ่านไปหมด ไม่เหลือ แต่ก็มีอวิชชา และสังขารเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    นี่แสดงให้เห็นว่า ชาตินี้ก็เหมือนกัน ตั้งแต่เกิดมา สุขทุกข์ต่างๆ นานา ก็ไม่มีอะไรเหลือ แต่สำหรับชาติต่อไป อวิชชา และสังขารก็จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นโดยย่อ สิ่งที่เกิดมีระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีความสำคัญอะไรเลย เกิดแล้วหมดไป เกิดแล้วหมดไป เกิดแล้วหมดไป มีแต่การสะสมของปัจจัยที่ทำให้ผลเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ปฏิสนธิในชาตินี้ของแต่ละคนก็คือจิตที่ผ่านประสบการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ชาติก่อนๆ โน้น ไม่เหลือเลย มีแต่การสะสมที่ยังคงอยู่ ทำให้แต่ละบุคคลหลากหลาย เพราะว่าแม้ปฏิสนธิจิตเพียง ๑ ขณะ จะเป็นผลของกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิด แล้วแต่จะเกิดเป็นอะไร วิบากจิตก็เกิดขึ้น แต่จิตนั้นก็ประมวลมาทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หายไปไหนเลย จะโกรธใครสักขณะหนึ่ง แม้ว่าดับไปแล้ว แต่ความโกรธที่เกิดแล้วก็สะสมสืบต่อ ด้วยเหตุนี้ในจิตที่เป็นปฏิสนธิก็มีทั้งอาสยานุสยะ คือการสะสมฝ่ายกุศลธรรม และอกุศลธรรม สำหรับฝ่ายอกุศลธรรมใช้คำว่า อนุสัย แต่ถ้าใช้คำว่า อาสยะ หมายความว่า การสะสมทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นว่า เมื่อดับไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไปตั้งแต่เกิดจนตาย แสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ขณะนี้เคยเข้าใจว่า เป็นเรา ฉลาด หรืออกุศลมาก หรือริษยา หรือโทสะ หรืออะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดก็คือธรรมที่ประมวลสะสมมาแล้วในชาติก่อนๆ ซึ่งไม่ได้หายไปไหนเลย จิตเป็นนามธรรม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วหมดไปก็สะสมอยู่ในจิต ซึ่งเป็นนามธรรมนี่แหละ

    เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป ไม่ต่างโดยกิจ ไม่ต่างโดยประเภท คือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดในนรก หรือเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็เป็นผลของอกุศลกรรม แต่ขณะแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิดในภูมิที่มีรูป กรรมก็ทำให้อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ ปฏิสนธิ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เพราะเหตุว่าเมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ได้มีแต่เฉพาะปฏิสนธิจิต แต่มีเจตสิกเกิดร่วมกัน และมีรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย *

    (ซ้ำตั้งแต่ * นาทีที่ ๐๐:๔๕-๐๖:๕๑ ซ้ำ นาทีที่ ๐๖:๕๑-๑๒:๔๔ *)

    นาทีที่ ๑๒:๔๔ ขณะแรกที่เกิดมีนามธรรม และรูปธรรม เป็นผลของกรรม แต่สำหรับรูปธรรมไม่ใช้คำว่า วิบาก เพราะไม่ใช่สภาพรู้ แต่วิบากคือผลจริงๆ จะเป็นสุข เป็นทุกข์ประการใดก็ตามแต่ จะเห็น จะได้ยินอะไร นั่นคือผลของกรรมที่จะติดตามมาหลังจากเกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นขณะแรกซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ โลกนี้ไม่ปรากฏ เพราะไม่เห็น ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และขณะแรกก็ไม่ได้คิดนึกอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าแม้การที่จิตนั้นจะเกิดก็ต้องเป็นผลของกรรม ซึ่งเลือกไม่ได้เลย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้เมื่อสะสมมาต่างกันโดยยังไม่ปรากฏเลย แต่รูปก็เกิดตามสมุฏฐาน เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดก็มีรูปเกิดร่วมด้วย อันนี้ก็คงไม่ต้องกล่าวให้ละเอียดมาก เพราะจริงๆ แล้วก็ฟังกันมาแล้วทั้งนั้นว่า รูปในขณะที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในครรภ์ คือเป็นมนุษย์ก็มีเพียง ๓ กลาป หรือ ๓ กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มของรูปที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งต้องมีสี กลิ่น รส โอชา และก็มีหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เพราะในภูมิที่มีรูป จิตจะเกิดที่อื่นไม่ได้เลย ต้องอาศัยรูปหนึ่งรุปใดเป็นที่เกิด และต่อไปจะได้ยิน นิสยปัจจัย หมายความว่ารูปใดเป็นที่เกิดของจิต รูปนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    เพราะฉะนั้น ธรรมละเอียดมาก ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดง ก็คือทรงแสดงเรื่องธรรมหนึ่งอย่าง แต่ละอย่างๆ ๆ โดยละเอียดขึ้น เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นอนัตตา เป็นธรรม เป็นธาตุ จนกว่าการสะสมความเข้าใจจะค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏได้ แม้ขณะนี้สังขารขันธ์ทั้งหลายก็ไม่มีใครไปทำได้เลย ปรุงแต่งอย่างละเอียด อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปที่จะให้เป็นความเห็นที่ถูกต้องขึ้น เพิ่มขึ้นเมื่อไร ก็เมื่อนั้น

    เมื่อมีหทยรูป ๑ กลุ่มเล็กๆ มองไม่เห็นเลย ก็มีกายทสก รูป ๑๐ รูปซึ่งมีกายปสาทรวมอยู่ด้วย รูป ๑๐ รูปนั้นคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา และกายปสาท แต่รูปใดๆ ก็ตามที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ต้องมีชีวิตินทรียรูปเกิดร่วมด้วย

    นี่คือความต่างกันของรูปที่เกิดเพราะกรรมกับรูปที่ไม่ได้เกิดเพราะกรรม แม้ในส่วนที่เล็กที่สุดใน ๑ กลาป ที่แตกย่อยลงไปแล้ว รูปใดที่เกิดเพราะกรรม รูปนั้นมี

    ชีวิตินทรียรูปรวมอยู่ด้วย เป็นรูปที่ดำรงความเป็นชีวิต ซึ่งก่อนจะตาย ๑๗ ขณะ กัมมชรูปไม่เกิด เพราะฉะนั้นกัมมชรูปที่เกิดก่อนจุติมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว แม้มองดูเหมือนยังมีตา มีหู แต่ก็ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จึงเป็นรูปที่ปราศจากชีวิต

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดมากที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเข้าใจจริงๆ ก็จะค่อยๆ รู้ว่า แท้ที่จริงทุกขณะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นนอกจากกายทสก รูป ๑๐ รูป มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา กายปสาท ชีวิตินทรีย์ หทยทสก ก็คือรูปที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา และรูปที่เป็นที่เกิดของจิต เป็นรูปกลุ่มที่ ๒ ก็ยังมี

    ภาวทสก ในภพภูมิที่มีรูปมนุษย์ เทวดา ก็มีเพศหญิง หรือเพศชาย ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ปรากฏความเป็นหญิง เป็นชาย แต่มีรูปซึ่งจะทำให้ต่อไปเมื่อเจริญขึ้น ก็ปรากฏลักษณะสัณฐานต่างๆ กิริยาอาการต่างๆ เพราะรูปนั้นทำให้เป็นไปในลักษณะของหญิง หรือในลักษณะของชาย

    นานไหมคะกว่าจะเติบโตขึ้น แต่โลกก็ยังไม่ปรากฏ ตราบใดที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป แล้วกรรมก็ทำให้ภวังคจิต จิตประเภทเดียวกันเกิด ด้วยวิบากระดับไหน ประกอบด้วยอะไร ก็ไม่เปลี่ยนแปลง จะไปเอาจิตที่เป็นวิบากของคนอื่นมาร่วมด้วย มาแทนด้วยก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นธาตุ ซึ่งเกิดขึ้น โดดเดี่ยวไหมคะ นี่คือความจริงที่จะต้องรู้ว่า ไม่มีใครเลยนอกจากธรรมซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นระหว่างที่ยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็เกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น จะไม่เป็นบุคคลอื่น สะสมทุกอย่างมาที่จะทำให้มีปัจจัยพร้อมให้ผลเมื่อไร ผลนั้นก็เกิดขึ้น โดยที่ว่าขณะนั้นก็ยังไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลยทั้งสิ้น เพราะทางที่ทำให้มีสิ่งใดปรากฏมี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ถ้าไม่มีตา สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ปรากฏไม่ได้ แล้วก็มีโสตปสาทรูป ๑ ถ้าไม่มี เสียงใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย แล้วก็มีฆานปสาทรูปเป็นทางที่ทำให้กลิ่นปรากฏ และจิตรู้กลิ่นนั้น แล้วก็มีรสต่างๆ ที่ต้องมีชิวหาปสาทรูปที่สามารถกระทบทำให้รสต่างๆ ปรากฏได้ และมีกายปสาทรูปซึ่งซึมซาบทุกส่วนของกายที่สามารถกระทบกับธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมได้ แล้วมีใจซึ่งคิดนึก

    เพราะฉะนั้นทางที่ทำให้รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือ ๑ ใน ๖ ทาง ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เข้าใจความเป็นมาก่อนจะนั่งอยู่ตรงนี้ไหมคะ ตั้งแต่เริ่มเกิดมาจากไหน ประมวลอะไรมาบ้าง แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เกิด ไม่มีทางรู้ได้เลย คิดซิคะว่าอะไรจะเกิด คิดออกไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะคิดเป็นคิด คิดแล้วก็ดับ

    นี่แสดงให้เห็นว่า เป็นธรรมทั้งหมด จิตเกิดดับดำรงภพชาติวิถีจิตแรกทางใจ ไม่ใช่ทางอื่นเลย การสะสมความพอใจในความเกิดเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำให้มีจิตที่คิดนึกยินดีในภพในชาติ ในความเป็น เริ่มรู้สึกว่า มีชีวิต จากภวังค์ ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น จนกระทั่งถึงขณะที่มโนทวารวิถีจิต ใช้คำว่า ”วิถีจิต” เมื่อไร หมายความว่าไม่ใช่ภวังคจิตเมื่อนั้น ต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ถ้าเกิดมาแล้วก็มีแต่ภวังคจิต ไม่เดือดร้อนเลย ใช่ไหมคะ ดีไหมคะ เป็นไปได้ หรือเปล่า เป็นไปไม่ได้เลย หรือว่าถ้าเกิดมาแล้วก็เป็นภวังค์ ภวังค์ ไป แล้วก็เป็นวิถีจิต แล้วก็เป็นกุศลจิตดีกว่าไหม เพราะอย่างไรๆ ก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเมื่อมีกิเลสที่สะสมมาจะไม่ให้เกิด หรือ ในเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วไม่รู้สิ่งนั้น

    นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริง ตัวจริงของธรรมซึ่งเป็นอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า วันนี้เกิดมา ตอนหลับสนิทก็ไม่มีอกุศลจิตที่เป็นไปในโลภะ โทสะใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอเห็นแล้ว ก็แล้วแต่ใครสามารถสะสมกุศล แทนที่จะเป็นอกุศล พอเห็นแล้วเป็นกุศลได้ เป็นไปได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีผู้ที่ดับกิเลส

    นี่แสดงให้เห็นความต่างซึ่งแต่ละคนต้องรู้จักตามความเป็นจริง ไม่ใช่หวังเลื่อนๆ ลอยๆ จะไปหมดกิเลส โดยไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่รู้แม้ลักษณะของสภาพที่กำลังเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ก็ไปคิดว่าจะดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเป็นเรื่องที่ตรง เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องละความต้องการ หรือความติดข้อง เพราะรู้ว่า สะสมอกุศลมามากใช่ หรือเปล่าคะ วันนี้ตื่นมา ไม่มีใครเคยคิดเลย ตื่นมาแล้วอกุศลเท่าไร ได้ยินแล้วอกุศลเท่าไร ลิ้มรสแล้วเป็นอกุศลเท่าไร กระทบสัมผัสแล้วเป็นอกุศลเท่าไร ก็ไม่มีใครคิด ไม่มีใครรู้ แต่ให้รู้ว่า ความจริงคืออย่างนี้ มากมาย ส่วนที่สามารถมีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจธรรม ถ้าไม่มีการสะสมเป็นปัจจัยมาในอดีต ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้มีโอกาสได้ฟังด้วยความสนใจ ด้วยการเห็นประโยชน์ว่าควร หรือไม่ควรที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะบางคนก็มีความคิดหลากหลายมาก รู้ไปทำไม มาแล้ว ได้อะไร คิดแต่เรื่องได้ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขก็จะทำ แต่กำลังรู้ความจริง ไม่เห็นเลยว่าลาภมาจากไหน ยศมาจากไหน สรรเสริญมาจากไหน สุขมาจากไหน ไม่ได้มาจากอกุศล แต่ต้องมาจากกุศล

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะหวัง หรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แต่เมื่อไม่รู้เหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ชีวิตจึงมีทั้งสุขบ้าง ทุกข์บ้าง โดยไม่รู้เลยว่า ไม่มีใครสามารถบันดาลได้ทั้งสิ้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567