พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 448


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.กุลวิไล คำว่า “หลงสุข หลงทุกข์” ก็สอดคล้องกับพระสูตรเมื่อวาน จากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทุกขธรรมสูตร ซึ่งทุกขธรรมคือธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งก็มีข้อความว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก

    จะเห็นถึงความไม่รู้อันเป็นอวิชชานั่นเอง เราจะติดข้องในรูปที่สวย และขุ่นเคืองใจในรูปที่ไม่น่าพอใจ ตรงนี้ก็คือความไม่รู้นั่นเอง เพราะฉะนั้นสุข และทุกข์เกิดจากความไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นในส่วนของการศึกษาพระอภิธรรมเพื่อให้เข้าถึงตัวจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นจิตก็มี เจตสิกก็มี รูปก็มี ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้ เราก็จะมีทั้งสุข และทุกข์ด้วยความไม่รู้

    อ.วิชัย เรื่องของการฟังก็ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าเราศึกษาเรื่องของสภาพธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด ดังนั้นคำนี้ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เป็นธรรมหรือไม่ และอะไรบ้าง คือถ้าเราฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริงก็มีเห็น มีได้ยิน มีเสียง มีกระทบสัมผัส

    อ.วิชัย ถ้าบุคคลที่ไม่เคยฟังเลย ก็ต้องคิด เพราะว่าเป็นความไม่รู้จริงๆ จากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย ก็ต้องค่อยๆ ศึกษาโดยการฟังมากขึ้น แต่ถ้าบุคคลที่เคยฟังแล้ว เคยศึกษาแล้ว ก็จะกล่าวได้ และสามารถเข้าใจในระดับหนึ่งที่เคยฟัง และเคยเข้าใจมาแล้ว และตอบได้ว่า คือ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง ถูกต้องกระทบสัมผัสบ้าง ความรู้ความเข้าใจแค่นี้พอหรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่พอ

    อ.วิชัย และที่จะให้รู้เพิ่มขึ้นคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ

    อ.วิชัย ดังนั้นความรู้ ไม่ใช่สามารถบังคับให้มีได้ หรือมีตัวตนที่จะให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้นได้ แต่แม้ความรู้ความเข้าใจเองก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นสภาพที่รู้ตามความเป็นจริง ดังนั้นปัญญาจึงมีหลายระดับขั้น แม้ในขั้นการฟัง และเกิดความเข้าใจในขั้นการฟังขึ้น จะให้เปลี่ยนความเข้าใจนั้นเป็นความไม่รู้ก็ไม่ได้ จะให้สภาพนั้นเป็นความไม่รู้ก็ไม่ได้ เพราะว่าสภาพนั้นเป็นความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในขั้นของการฟัง แต่ก็ต้องมีความรู้ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ เพราะฉะนั้นบุคคลที่เริ่มต้นฟัง คือสะสมมานาน ก็จะเห็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ

    ดังนั้นการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เพียงให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมรวดเร็วในชาตินี้ ก็ต้องพิจารณาว่า สมควรแก่เหตุหรือไม่ ที่จะให้ถึงระดับนั้น เพราะเหตุว่าแม้พระสาวกในกาลก่อนก็ต้องอบรมบารมีมามาก ต้องมีการฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ กว่าจะอบรมบารมีมา และถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะได้ยินได้ฟัง และสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ต้น ถ้าจะคิดปฏิบัติ ต้องถามตัวเองว่า รู้แล้วเข้าใจอะไรไหมในขณะนั้น แม้ขณะที่คิดว่าจะไปปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ตรงนั้นก็ผิดแล้ว

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาว่า เป็นความเข้าใจถูกหรือไม่ ให้รู้อะไร ให้เข้าใจอะไร เป็นผู้ที่ต้องมีเหตุผลในการเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะไปกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเข้าใจถูกมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นการสนทนา ถ้าเป็นผู้ที่สนใจในเหตุผล ก็สามารถรับฟัง และพิจารณาได้ ก็คือสามารถอธิบายเหตุผลว่า ต้องเป็นความเข้าใจตั้งแต่ต้น ว่าถ้าจะไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าไม่เคยฟังมาก่อน ตัวเองก็เคย คือไม่เคยฟังธรรมมาก่อน แล้วก็เข้าไปปฏิบัติ พอเข้าไปปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่ถูก วางตัวไม่ถูก ก็ไม่ได้อะไร แต่เมื่อมาฟัง ณ ที่นี้แล้ว แล้วก็มีความเข้าใจมากขึ้น และเข้าใจดียิ่งขึ้นๆ พฤติกรรมที่ไม่ดีก็เปลี่ยนไปหมด เกิดจากการฟังทั้งนั้น

    อ.วิชัย คือการสั่งสมของแต่ละบุคคลแตกต่างกันมาก เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับมามากมาย มีการสะสมความเห็นถูกบ้าง สะสมความเห็นผิดบ้าง เพราะฉะนั้นจะบังคับแต่ละคนไม่ได้เลย แต่ตัวเราเองสามารถศึกษาให้เข้าใจ และอธิบายเหตุผลให้ฟังได้ แต่บุคคลนั้นจะมีความเห็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้นที่สะสมมาเป็นอย่างนั้น จะบังคับให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ด้วย ความเข้าใจของเราระดับนี้จะให้ยิ่งกว่านี้ก็ไม่ได้ด้วย ก็ต้องค่อยๆ สั่งสมมากขึ้น

    อ.นิภัทร เราต้องคำนึงถึงอานิสงส์ของการฟังธรรมมี ๕ อย่าง ๑. ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ถ้าเราถือเอาของเก่าไว้ ได้ฟังของใหม่ ก็ไม่เอาแล้ว ไม่อยากฟังแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องฟัง ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ข้อ ๒ สิ่งที่เคยฟังแล้ว ยังไม่เข้าใจชัด ก็ย่อมเข้าใจชัดเจนขึ้น ๓. บรรเทาความสงสัยได้ ความสงสัยที่เคยค้างคาใจมานานๆ ก็บรรเทาได้ ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยได้ ๕. จิตของเราก็ผ่องใส

    นี่คืออานิสงส์ของการฟังธรรม ได้อย่างนี้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องฟังให้ดี ต้องฟังใหม่ ต้องฟังให้เข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจธรรมแล้ว จะเห็นว่า ธรรมนี่ยอด ไม่มีอะไรสู้ธรรมได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ ให้ทุกสิ่งทุกอย่างก็สู้ให้ธรรมไม่ได้ รสทุกอย่างก็สู้รสพระธรรมไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะเห็นอย่างนี้ อานิสงส์จะมาตามลำดับ เป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่งเลย

    ดังนั้น ฟังแล้วต้องไปหาที่ปฏิบัติหรือไม่ เข้าใจอย่างนี้แล้ว ไม่คิดครับ เพราะเหตุใด เพราะฟังว่าสติคืออะไร สัมปชัญญะคืออะไร อกุศลคืออะไร กุศลคืออะไร สติเกิดขึ้นเป็นสภาพอย่างไร เมื่อฟังเข้าใจแล้ว เข้าใจหน้าที่ของธรรมที่กล่าวถึง สติสัมปชัญญะ ปัญญา หรือความโลภ ความโกรธ ความหลง กุศล อกุศล เราฟังเข้าใจแล้ว ธรรมเหล่านี้ไม่มีใครสร้างสรรค์ให้เขาเกิด แต่เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิด แต่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เราก็ไปตั้งชื่อว่า “ปฏิบัติ” ก็เลยหลงชื่อ ที่จริงเป็นเรื่องราวของธรรม เกิดขึ้นทำหน้าที่ของธรรม เรียกว่าปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อเราฟังธรรมเข้าใจแล้ว ธรรมที่เราเข้าใจแล้ว เขาเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเขา ไม่มีใครปฏิบัติ มีแต่ธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่ เราก็ให้ธรรมอย่างนี้เจริญงอกงามขึ้นมากๆ จนกว่าจะได้เป็นพระอริยบุคคล

    ประโยชน์ก็มีอย่างนี้ ไม่ขัดกัน ปริยัติกับปฏิบัติ ไม่มีขัดกันเลย ถ้าเราเข้าใจดีแล้ว ไม่ใช่ปริยัติแยกต่างหาก ปฏิบัติแยกต่างหาก จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะปริยัติกับปฏิบัติต้องไปในแนวเดียวกัน ปริยัติคือสิ่งที่เรารอบรู้ เข้าใจในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ให้เรารู้อะไร ปฏิบัติก็คือเมื่อรู้แล้ว หน้าที่ของธรรมก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ ปฏิเวธคือการแทงตลอด หน้าที่ของปัญญาที่เข้าใจดีจนมีพลังมากขึ้นๆ ก็ทำหน้าที่ปฏิเวธ แทงตลอดธรรมตามสมควรแก่กำลังของปัญญาที่เรามีอยู่

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลย เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งก็มีในขณะนี้เอง และมีธรรมที่เป็นธรรมก็เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ในช่วงนี้ถ้าผู้สนทนายังมีคำถามเรื่องธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแล้ว และเป็นอภิธรรมก็ขอเชิญถ้ายังไม่มี ขอกราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า สงสัยอะไร หรือไม่ เพราะว่าฟังเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งนั้นเลย แต่ถึงแม้เราจะได้ยินได้ฟังอย่างไร ไม่ใช่เพียงเรื่อง แต่ให้รู้ว่า ขณะนี้มีธรรมที่เรากำลังกล่าวถึง แต่จะสามารถเข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้นระดับไหน

    กล่าวเรื่อง"เห็น" มาตั้งหลายนาที รู้ลักษณะของ"เห็น" หรือยัง นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ใช่เราสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังโดยเร็ว ทั้งๆ ที่กำลังมี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การสะสมความไม่รู้มากมายสักแค่ไหน ต้องให้ใครมาบอกเราหรือไม่ ว่า เราสะสมความไม่รู้ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว จนกระทั่งแม้กำลังกล่าวเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ "เห็น" ก็ยังไม่ได้รู้สภาพที่กำลังเห็นจริงๆ ที่เกิดเห็น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งนี้เป็นความจริง เป็นผู้ที่มั่นคงต่อความจริง เป็นผู้จริงใจที่จะมีความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ มิฉะนั้นแล้วเราก็คือผู้ที่หลง อย่างที่เคยหลงมาแล้วมากมายในสังสารวัฏฏ์ นานแสนนาน และถ้าไม่รู้อย่างนี้ หลงต่อไปอีก สั้นๆ ได้หรือไม่ หรือก็คงหลงต่อไปไม่รู้จบ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดว่า แล้วเมื่อไร ปัญญาที่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมจะเกิดขึ้นในขณะนี้ แทงตลอดสภาพที่กำลังปรากฏ และกำลังเริ่มฟังที่จะเข้าใจ ไม่ต้องคิดถึงเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมจริงๆ ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะประมาณได้ แม้แต่เพียงคำที่ได้ยินว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ แค่นี้ประมาณได้หรือไม่ว่า เราจะรู้ได้เมื่อไร ขณะนี้ไม่มีเรา แต่มีเห็น

    เพราะฉะนั้น "เห็น" เป็นธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม เป็นธาตุที่สามารถกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปนามธรรมเกิดดับสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่น แต่ก็ไม่ปรากฏ ใช่ไหม จิต เจตสิก ที่เราเรียนว่า ขณะนี้จิตเห็นประกอบด้วยเจตสิก ๗ ประเภท ปรากฏอะไร หรือไม่ กำลังเห็นขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็นก็มีความรู้สึก ก็ไม่ได้ปรากฏ มีผัสสเจตสิก มีสัญญาเจตสิก ก็ไม่ได้ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น แม้ฟังอย่างไร ก็เป็นการสะสมความเห็นถูก ค่อยๆ สะสม กำลังขยันหมั่นเพียรขณะนี้ หรือไม่ เมื่อวานนี้พูดเรื่องความหมั่น เดี๋ยวนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ขยันหมั่นเพียรหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดเพียรฟัง ใช่ไหม กำลังฟังนี่เพียรแล้ว ไม่อย่างนั้นจะฟังทำไม แต่ว่าความเพียรระดับนี้ไม่ปรากฏให้เห็นว่า เป็นความเพียร เป็นแต่เพียงว่า กำลังฟัง แต่ขณะที่กำลังฟัง ไม่รู้เลยว่า เจตสิกทั้งหลายเกิดแล้วก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ นี่เป็นการที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ยิ่งฟัง ยิ่งเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ละคำ ไม่ใช่ตัวเราจะไปเพียร หรือว่าจะไปหมั่น แต่แม้ขณะนี้ เห็นความละเอียดของธรรม ซึ่งนามธรรมไม่มีรูปร่าง และนามธรรมคือเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะ และมีกิจการงานเฉพาะเจตสิกนั้นๆ

    สัญญาเจตสิกเพียรได้หรือไม่ สัญญาจำ แต่ในขณะที่สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตที่กำลังคิดนึกไตร่ตรอง ได้ยินได้ฟังไม่ใช่ผ่านหูไปเฉยๆ โดยไม่ได้คิด แม้ขณะที่ได้ยินดับไปแล้ว ก็มีขณะที่กำลังคิด ใช้คำว่า “ไตร่ตรอง” ก็คือว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นการกระทำของเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตสืบต่อจนกระทั่งสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังในขณะนี้

    นี่แสดงให้เห็นกิจการงานของนามธรรมซึ่งละเอียด สั้น เล็กน้อย เร็วสุดที่จะประมาณ เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิตแต่ละขณะแล้วก็ดับไป ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ จากขั้นที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่มีศรัทธาจึงได้ฟัง และฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจ จะเข้าใจมากทีเดียวก็ไม่ได้ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ หรือไม่ มีวิริยะขณะที่กำลังฟัง ซึ่งต่อไปศรัทธาก็จะเป็นอินทรีย์ได้ มีความเป็นใหญ่ที่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้วิริยะที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ด้วยเพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียรเพียงแค่ฟัง แต่จากการฟังเข้าใจก็จะทำให้ศรัทธา วิริยะนั้นเจริญจนสามารถที่จะแม้กำลังได้ยินได้ฟัง ก็มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เราเลย แต่ศรัทธาเพิ่มขึ้น วิริยะเพิ่มขึ้น ขยันหมั่นเพียร ไม่ได้ไปขยันหมั่นเพียรด้วยความเป็นเราจะทำอะไร แต่ในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ศรัทธามี วิริยะมี สติมี สมาธิมี ปัญญามีด้วย ต่างระดับขั้น ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถรู้ความต่างกันของขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงได้ยินได้ฟัง ทั้งที่สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ

    นี่คือความละเอียดของสังขารขันธ์ ซึ่งไม่มีใครไปทำได้ จากขณะที่มีศรัทธาฟัง ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่านานๆ ครั้งหนึ่ง ก็เป็นความต่างกัน นานๆ ครั้งหนึ่งที่เกิดแล้ว เวลาเกิดอีกจะรู้ไหมว่า เกิดอีก แล้วก็มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ความเข้าใจก็ไม่มากเลย จนกว่าจะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องความละเอียดของการที่เมื่ออกุศลเกิดขึ้นอย่างละเอียดมาก ทางตาขณะนี้มีแล้วที่ไม่รู้ความจริง ทางหูก็เกิดแล้ว ทั้งๆ ที่เสียงยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะรู้ความจริงก็ต้องละเอียดอย่างนั้น คือไม่สามารถปรากฏเป็นปัญญาที่แทงตลอดความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ เพราะเพิ่งเริ่มเกิด นี่คือธรรมที่เป็นฝ่ายโสภณ ที่เป็นฝ่ายรู้แจ้งอริยสัจธรรม เริ่มค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วก็ไม่หลอกตัวเอง เข้าใจแค่ไหน ก็แค่นั้น ขณะที่ฟัง มี "เห็น" รู้ลักษณะของ"เห็น" หรือยัง

    นี่ก็คือคำถาม ซึ่งคำตอบจะเป็นคนอื่นได้ไหม ไม่มีใครไปตอบแทนใครได้เลย และตอบไม่ตรงได้ไหม ถ้าเข้าใจ ถ้าเข้าใจจะตอบไม่ตรงไม่ได้เลย แต่ถ้าไม่เข้าใจก็จะตอบว่า รู้แล้วว่า เห็นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นความตรงเป็นสัจจบารมีด้วย ที่จะทำให้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น"เห็น"ก็มีในขณะนี้เอง ซึ่งท่านอาจารย์ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีจริง และกำลังปรากฏ และอยู่ในพระอภิธรรมด้วย เพราะว่า"เห็น"นั่นคือจิต แต่จะใช้คำว่า จักขุวิญญาณ ซึ่งก็คือจิตนั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน ก็คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น"เห็น" เป็น"เห็น" เราอาจจะชินว่า"เห็น" เป็นเรา เพราะเราไปยึดถือ"เห็น" ว่าเป็นเรา แต่"เห็น"เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ก็คืออารมณ์ของจิตนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น"เห็น"จึงเป็นนามธรรม "เห็น"ไม่ใช่รูปธรรมแน่นอน เพราะว่า"เห็น" เป็นสภาพรู้ และมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย นั่นคืออารมณ์ และสิ่งที่ถูกรู้ของจิตเห็น ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะว่าหลายท่านถ้าไม่ได้ยินธรรมมาก่อน ก็คงไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริง และถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย นั่นก็คือเป็นธรรม แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูปด้วย เพราะจากการศึกษาท่านก็แสดงไว้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเป็นรูปเท่านั้น แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ขอถามว่า "เห็น"อยู่ในพระอภิธรรมใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ "เห็น"อยู่ในพระอภิธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เพราะว่า"เห็น"มีจริง ก็อาจจะไม่ใช่กล่าวว่า "เห็น"มี หรือไม่มี แต่สุดท้าย"เห็น"มีจริง อะไรมีจริงก็อยู่ในพระอภิธรรม มีในปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องหรือไม่ "เห็น"อยู่ในพระอภิธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง คือคนที่เข้าใจว่า "เห็น"อยู่ในพระอภิธรรม คือคิดว่าอยู่ในตัวหนังสือ จริงๆ แล้ว"เห็น"อยู่ที่จิตเห็น

    ท่านอาจารย์ ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรม ฟังละเอียดก็จะเข้าใจ ที่บอกว่า "เห็น"อยู่ในพระอภิธรรม สำหรับคนที่ศึกษาธรรม แล้วก็รู้ว่ามี ๓ ปิฎก "เห็น" จริงๆ แล้วในพระวินัยมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ในพระสูตรมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ในพระอภิธรรมมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่ต่างกันใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่าเวลากล่าวถึง อยู่ในพระวินัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติทางกาย ทางวาจาด้วย แต่เวลา"เห็น"อยู่ในพระสูตรก็มี คนนั้นก็เห็น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เห็น พระนางมัลลิกาก็เห็น แต่เวลาบอกว่า "เห็น"อยู่ในพระอภิธรรม หมายความถึงว่า ไม่มีพระเจ้าปเสนทิโกศล ไม่ใช่มีพระนางมัลลิกา แต่เป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ แต่ก็ควรพิจารณาให้เข้าใจขึ้นถึงคำว่า “เห็น"อยู่ในพระอภิธรรม โดยความหมายที่พอจะเข้าใจได้ คือถ้าพูดถึง ๓ ปิฎก แต่ตัวจริง"เห็น"เป็นอภิธรรม หรือว่า"เห็น"อยู่ในพระอภิธรรม

    ความเข้าใจก็ต้องตามลำดับ ถ้ากล่าวโดยการศึกษา โดยพระไตรปิฎก ก็จะกล่าวได้ว่า "เห็น" แสดงไว้ในพระอภิธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย แต่เมื่อเป็นธรรม และเป็นอภิธรรม ตัวเห็นนั่นเองเป็นอภิธรรม มีความละเอียด มีความลึกซึ้ง ซึ่งขณะนี้เห็นเกิดแล้วดับแล้ว ลึกซึ้งแค่ไหน

    ผู้ฟัง ลึกซึ้งมากจนเราไม่สามารถเข้าใจได้ ถ้าไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเห็นถูกต้องว่า เป็นธรรมที่เป็นอภิธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สนทนาว่า ปัญญาที่ละเอียด ขอถามว่า ปัญญาที่ละเอียด เกิดจากการฟัง หรือการน้อมนำ หรือการอบรมเจริญ ผมขอให้ขยายความตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เมื่อครู่ที่ถามว่า “เห็น"อยู่ในอภิธรรม หรือว่า “เห็น"เป็นอภิธรรม เริ่มละเอียด หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ละเอียดกว่าเผินๆ กว่าชีวิตประจำวันทั่วไป

    ท่านอาจารย์ และตัวเห็นจริงๆ เป็นธาตุ

    ผู้ฟัง เป็นธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ใช่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ อนัตตา

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับแล้ว

    ผู้ฟัง เกิดแล้วดับแล้วทันที เร็วมาก

    ท่านอาจารย์ จะไปปฏิบัติอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง บังคับไม่ได้ ก็ปฏิบัติไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ละเอียด เพียงแค่นี้ ต้องการรู้ความจริงที่กำลังเห็น แล้วไปพยายามแสวงหาทางอื่นที่จะรู้"เห็น"ในขณะนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าทางไหนก็ตามถ้าจะทำ คือไม่รู้จึงทำ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    29 ม.ค. 2567