พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 468


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้มโนทวาราวัชชนะไม่ว่าจะเกิดทางทวารไหน ทำกิจอะไร ก็เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ

    เริ่มที่จะจำ เริ่มที่จะคิด เริ่มเป็นแดนเกิดของเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เรื่องราวต่างๆ แม้แต่การใส่ใจในอารมณ์ จนกระทั่งมีความวิจิตรสืบต่อมาจากขณะแรกๆ จนถึงแต่ละภพ แต่ละชาติ ก็ทำให้เป็นไปตามการสะสม

    ขณะนี้มีมนสิการจากการฟัง ใช่ไหมคะ กุศลจิตเกิด มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า ถ้าขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็มนสิการ ใส่ใจ ปัญญาก็มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ต้องไปทำความเข้าใจอะไรเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต่างหากที่กระทำกิจนั้นๆ ในขณะนั้น ถ้ามนสิการถูกต้อง กุศลจิตเกิด ถ้าไม่ถูกต้อง อกุศลจิตเกิด

    เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ เป็นคำที่ขยายลักษณะของมนสิการนั่นเอง

    ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์ขยายว่า เหตุที่ทำให้เกิดโยนิโสคืออะไร

    อ.วิชัย เท่าที่จำได้ก็จะมี การคบสัตบุรุษ ได้ฟังธรรม จริงๆ แล้วถ้าเราเข้าใจ ขณะนี้ก็มีโอกาสได้ฟัง แล้วมีบุคคลที่สนทนาแล้วเข้าใจขึ้น พระองค์ก็ทรงแสดงเหตุไว้ อาจจะมีการสนทนา คบกับบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจ เมื่อเราสนทนาก็เข้าใจมากขึ้น ขณะนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เช่นขณะที่ฟัง ขณะนั้นก็มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว โดยที่ไม่ต้องกล่าวเลยว่า ต้องโยนิโสไหม หรือให้มีขึ้น หรือให้เป็นไหม แต่ว่าธรรมเกิดแล้ว เป็นแล้ว ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ใส่ใจโดยแยบคาย โดยเป็นกุศลเกิดขึ้น เหตุให้เกิดกุศลก็มี

    ปุพเพกตปุญญตาด้วย คือ กระทำบุญไว้ในกาลก่อน เพราะการได้สั่งสมกุศลไว้แล้วในอดีต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลในภายหลังเกิดขึ้น

    ทุกท่านที่มาที่นี่ก็คงสั่งสมมาที่น้อมไปที่จะฟัง น้อมไปในการเจริญกุศลขั้นต่างๆ ก็เพราะเหตุว่าได้สั่งสมเหตุมาแล้ว ซึ่งต่างกับคนที่ไม่ได้สั่งสมมา ซึ่งอาจจะถูกชักชวน แต่ยังไม่สนใจ แสดงว่าบุคคลนั้นไม่ได้สั่งสมมาที่จะฟัง หรือเจริญกุศลขั้นอื่นๆ ก็ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม เช่นถูกชักชวนบ่อยๆ ก็สามารถมาฟังได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้นในการฟังพระธรรม

    อ.อรรณพ ถ้าเข้าใจสภาพธรรม เช่นเมื่อสักครู่เราสนทนาเรื่องมนสิการ ถ้าเข้าใจจริงๆ จะรู้ และเข้าใจว่า จะบังคับ หรือจะจัดสภาพการณ์ให้เกิดโยนิโสมนิสการไม่ได้เลย โวฏฐัพพนจิตเกิด ซึ่งท่านแปลว่า ตัดสินอารมณ์ ก็คือกระทำทางให้ชวนจิตเกิดขึ้น ซึ่งมโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่จะทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารตามการสะสมที่ชวนะที่เกิด จะเป็นอกุศล อโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ หรือกระทำทางให้กุศลเกิด เมื่อกุศลเกิด ๗ ขณะ ก็เป็นโยนิโสมนสิการตามการสะสม อารมณ์เป็นปัจจัยโดยการเป็นอารมณ์ อย่างสีเป็นปัจจัยกับวิถีจิต โดยเป็นอารัมมณปัจจัยเท่านั้น แน่นอนจิตเกิดขึ้น ต้องมีอารัมมณปัจจัย แต่ทำไมทันทีที่โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเกิดอกุศล หรือเกิดกุศล แล้วอกุศลก็ยังหลากหลาย บางคนเกิดโลภะ บางคนเกิดโทสะ ตามอุปนิสสยปัจจัยที่สะสมมา

    เพราะฉะนั้นพี่สุกัญญาจะไปคิดว่า เพราะอารมณ์เป็นตัวการให้เราโกรธ หรือทำให้เราเกิดโลภะนั้นไม่ใช่ เป็นเพียงอารัมมณปัจจัย แต่อารัมมณปัจจัยเดียวกัน ทำไมกุศลเกิด หรืออกุศลเกิด เป็นโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ เพราะอุปนิสสยปัจจัยที่สะสมมา ถ้าสะสมอนุสยะ คือ อนุสัยกิเลสใดมา เมื่อได้เหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเป็นโลภะ หรือโทสะตามการสะสม แต่ถ้าสะสมอาสยะที่ดี โวฏฐัพพนจิตก็กระทำทางให้กุศลเกิดขึ้นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เราเลย โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยให้ชวนะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงอนันตรปัจจัย ท่านยังขยายว่า อนันต รูป นิสสยปัจจัย ก็คือ อนันตรปัจจัยด้วย และอุปนิสสยปัจจัยด้วย ที่ทันทีที่โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับไป ชวนจิตที่จะเกิดต่ออีก ๗ ขณะ จะเป็นอกุศล คือ อโยนิโสมนสิการ หรือจะเป็นกุศล คือ โยนิโสมนสิการตามการสะสม แต่เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมที่ชวนะ ก็อย่างที่อาจารย์วิชัยกล่าว คือ การมีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม การคบบัณฑิต การได้ยินได้ฟังก็เป็นเหตุปัจจัยให้สังขารขันธ์ปรุงแต่ง ปรุงแต่งตรงวิถีจิตที่สำคัญที่สุด คือ ที่ชวนวิถี ที่จะปรุงแต่งเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา แล้วสะสมอาสยะที่ดีเพิ่มขึ้นๆ เมื่อ

    โวฏฐัพพนจิตดับไป หรือมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวารดับไป ชวนะนั้นเป็นกุศลได้

    เพราะฉะนั้นแม้ได้อารมณ์ที่ไม่ดี สีที่ไม่น่าพอใจ เสียงที่ไม่น่าพอใจ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่น่าพอใจ นามธรรม และรูปธรรมที่ไม่น่าพอใจ ถ้าสะสมอุปนิสัยมาที่จะเป็นโทสะ โทสะก็เกิดขึ้น แต่ว่าอุปนิสัยที่สะสมมา แม้มีอารมณ์เดียวกัน แต่สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของอนิฏฐารมณ์นั้นได้ว่าเป็นเพียงสภาพแข็งที่กระด้าง หรือร้อนเกินไป หรือเสียงที่ไม่น่าพอใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นอารัมมณปัจจัยไม่ขาดเลย แต่จิตนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็แล้วแต่การสะสม แล้วแต่ชวนปฏิปาทกมนสิการจะกระทำทางเป็นบาทเฉพาะให้กุศล หรืออกุศลเกิดขึ้นตามอุปนิสสยปัจจัย ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ จะมีใครไปบังคับที่จะเป็นตัวตนทำให้โยนิโสมนสิการเกิดแทนอโยนิโสมนสิการได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับการสะสม

    ถ้าเราได้เข้าใจสภาพธรรม อย่างเช่นมนสิการแม้ขั้นการฟัง การพิจารณา ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะรู้ว่าทำไมแต่ละคนจึงสนใจต่างกัน เมื่อวานท่านอาจารย์ก็อธิบายตั้งแต่เบื้องต้น ทำให้เราเข้าใจดีมากเลยว่า ทำไมโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคทุกสมัย สมัยก่อนก็คงไม่มีเทคโนโลยีอย่างนี้ เพราะสภาพธรรมหลายๆ อย่าง และหนึ่งในนั้นที่สำคัญก็คือมนสิการ ก็คือการสะสมมาที่จะใส่ใจในเรื่องไหน จะใส่ใจในศาสตร์ไหน ค้นคว้าอะไร อย่างไร ที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงที่ใช้ภาษากัน จริงๆ แล้วเป็นธรรมทั้งนั้น เป็นมนสิการที่ใส่ใจ บางคนเห็นเหมือนกัน แต่บางคนสนใจมาก แม้ผัสสะจะกระทบอารมณ์เดียวกัน แต่กำลังของมนสิการก็ต่างกัน

    เพราะฉะนั้นทำโยนิโสมนสิการไม่ได้ เป็นไปตามการสะสมที่ชวนปฏิปาทกมนสิการจะเป็นบาทเฉพาะให้กุศล อกุศลเกิดขึ้นตามการสะสม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ กำลังฟังธรรม แล้วก็ฟังมาแล้วตั้งแต่เมื่อวาน เข้าใจ หรือไม่เข้าใจ อยากจะทราบเหตุผลใช่ไหมคะว่า ทำไมฟังแล้วเข้าใจ หรือฟังแล้วไม่เข้าใจ คนที่เข้าใจตอบได้แน่ๆ ว่า ฟังแล้วเข้าใจเพราะอะไร บางทีเราไปคิดถึงตำรับตำรามากเลย ไปค้นคว้าว่าเหตุอะไร ตั้งแต่ชาติไหน ทำให้เราสามารถเข้าใจธรรมในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ได้ แต่ผลคือขณะนี้เองที่ฟังเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ เราสามารถบอกได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียงว่า มีกี่หัวข้อ แค่ไหนบ้าง หรืออะไร แต่ในขณะนี้เองที่กำลังฟัง รู้ใช่ไหมว่า เข้าใจเพราะอะไร และไม่เข้าใจเพราะอะไร คุณอรวรรณช่วยให้ความเห็นด้วยค่ะ เวลาที่เข้าใจเพราะอะไร และไม่เข้าใจเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าใส่ใจที่จะฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็เข้าใจ แต่ถ้าไม่ใส่ใจ ถึงแม้ได้ยิน ก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ อันนี้ก็แน่นอน เพราะว่าถ้าได้พูดถึงบุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อน คงไม่ต้องกล่าวถึงที่ทุกคนมีความสนใจที่จะฟังพระธรรม ต้องเป็นบุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อน นี่ข้อหนึ่ง มีโอกาสได้ยินได้ฟัง แต่ในขณะที่ฟังแล้ว เข้าใจ หรือไม่เข้าใจ เวลาที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมกับพระภิกษุ จะกล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพื่อให้ภิกษุรู้ว่าพระองค์กำลังจะกล่าวคำที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็ต้องตั้งใจฟังสิ่งที่ได้กล่าว

    ด้วยเหตุนี้ขณะที่ฟัง ตั้งใจฟัง อย่างที่บอกบ่อยๆ เวลาฟัง ตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังสิ่งที่กำลังฟัง ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แต่บางคนก็ลืม ไปคิดเรื่องอื่น ไปคิดเรื่องพระสูตรนั้น หรือข้อความนี้ แต่ที่กำลังฟัง แม้เพียงขาดไปนิดเดียวก็ไม่ต่อกันแล้ว

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังจริงๆ ถ้ามีการรบกวน โดยถูกถาม หรือถูกบอกกล่าวสักนิดหน่อย ไม่เข้าใจเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้เคารพในการฟัง ขณะนั้นก็จะตั้งใจฟังด้วยความเคารพที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้กระนั้นธรรมก็ยาก เพราะฉะนั้นฟังแล้วใช่ว่าจะเข้าใจทั้งหมด แม้แต่มนสิการก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ และรู้ด้วยว่า เกิดกับจิตทุกขณะ แต่แม้ขณะนี้มนสิการก็ไม่ได้ปรากฏ แต่ผลคือว่า ขณะใดก็ตามที่เข้าใจ ไม่มีเรา เป็นตัวตน ที่จะทำให้เข้าใจ ที่อยากจะเข้าใจ แล้วจึงเข้าใจ แต่เป็นเพราะสังขารขันธ์ สภาพธรรมในขณะนั้นสามารถพิจารณาเหตุผล รู้ตามความเป็นจริงจึงเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่มีจริง และมีเหตุผลที่จะเป็นอย่างนั้นด้วย ไม่ใช่มีใครสร้างขึ้นมาว่า ต้องเป็นอย่างนี้ มีทฤษฎีต่างๆ แต่ความจริงของธรรมนั้นเป็นอย่างไร เวลาที่ฟังเข้าใจสิ่งที่ฟัง อันนั้นเป็นประโยชน์ ซึ่งก็แสดงถึงบุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อน และมีโอกาสได้พบสัตบุรุษ หรือว่ากัลยาณมิตร และได้ฟังธรรม และพิจารณาธรรมที่ได้ฟัง แต่ว่าคำทั้งหมดที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎก เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่เวลาอื่นเลย ถ้าขณะนี้ฟังธรรม แล้วก็ไม่เข้าใจธรรมที่ปรากฏ ชื่อว่า ฟังธรรม หรือเปล่า ถึงแม้เป็นเพียงขั้นฟังเรื่องราว แต่ก็เป็นเรื่องของธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะทำให้ในขณะที่ฟังนี้เอง สังขารขันธ์ก็จะทำให้เริ่มระลึกรู้ตัวจริงของธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟังได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมของผู้ที่สะสมความเห็นถูก เข้าใจถูกมาแล้ว เมื่อได้ยินแล้วก็เหมือนเป็นปัจจัยที่ทำให้ระลึกได้ แล้วรู้ลักษณะ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ฟังแล้วเข้าใจมามากขึ้นๆ จนสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ด้วยเหตุนี้ในขณะนี้ฟังเข้าใจ เพราะอะไร ตอบได้แล้วใช่ไหมคะ ตั้งใจฟังสิ่งที่กำลังฟัง

    อ.กุลวิไล การเกิดขึ้นของกุศลธรรมมีข้อหนึ่งที่ว่า ตั้งตนไว้ชอบ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเป็นอย่างไรคะ โลภะเป็นอกุศล โทสะเป็นอกุศล โมหะเป็นอกุศล ไม่ชอบคนนั้นคนนี้ ตั้งตนไว้ชอบ หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล เป็นไปกับอกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่สำหรับเพียงจำ และไม่ใช่เพียงเข้าใจถูก แต่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย และการประพฤติปฏิบัติตามไม่ใช่ด้วยความเป็นเราจะประพฤติปฏิบัติตาม แต่เป็นธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ วันนี้ยังเกิดอกุศลมาก ยังขาดเมตตา แต่เวลาฟังบ่อยๆ ฟังแล้วฟังอีก จะค่อยๆ มีเมตตาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เราไปทำ หรือเราไปฝืน แล้วเราไปคิด แล้วเราไปสอนตัวเองว่า ต้องมีเมตตา ควรมีเมตตาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่เข้าใจจนกระทั่งสามารถเป็นปัจจัยให้เห็นใจ และเข้าใจบุคคลอื่นเกิดได้

    นี่คือแม้ขณะที่กำลังฟัง ความเข้าใจเพียงนิดๆ หน่อยๆ แต่ละครั้งจะไม่มีใครเห็นความเป็นสังขารขันธ์ที่จะค่อยๆ นำไปสู่ทางที่ถูกต้องในขั้นของการพิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    เพราะฉะนั้นแม้แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นเรื่องการละอกุศลทั้งหมด ไม่ใช่เพียงอย่างเดียว แต่กว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่เป็นมนสิการ และปัญญาก็เห็นถูกต้องจนค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้แม้คิดก็คิดถูก พูดก็พูดถูก ทำก็ทำถูก ทุกอย่างก็เป็นไปในทางที่ถูก เพราะปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปคิดถึงตัวหนังสือมากมาย รู้ได้แน่ๆ จากการเข้าใจ ถ้าไม่ได้ฟัง จะมีโอกาสเข้าใจไหม ถ้าไม่ตั้งใจฟัง จะมีโอกาสเข้าใจไหม ถ้าไม่ได้สะสมบุญในปางก่อน มีโอกาสได้ฟังไหม ก็ไม่ได้ฟัง ก็ตรงตามที่ทรงแสดงทั้งหมด แต่เพราะไม่เข้าใจ จึงไปหาเรื่องมาก่อน แล้วพยายามไปทำเรื่อง เพื่อจะได้เป็นอย่างนั้น แต่ไม่เข้าใจเลยว่า แม้แต่เพียงได้ฟัง ก็เป็นเพราะมีเหตุครบถ้วน จากการเคยสะสมมาแล้ว มีศรัทธามาแล้ว ทำให้ได้ยินได้ฟัง อยู่ที่ขณะฟัง มนสิการ พิจารณาแยบคายถูกต้อง หรือเปล่า ถ้ามี ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม

    เพราะฉะนั้นธรรมต้องพิจารณา ไม่ใช่ว่าให้เราเพียงฟัง เป็นผู้รู้มาก เข้าใจมากว่า คำนี้หมายความว่าอะไร คำนั้นหมายความว่าอะไร แต่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าอกุศลยังเหมือนเดิม เท่าเดิม อันนั้นก็หมายความว่า ไม่ได้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ด้วยการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์สำหรับช่วงแรกค่ะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็คือ ฟังเท่าไรๆ กี่ภพกี่ชาติก็เพื่อให้เห็นถูก เข้าใจถูกในความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรา

    ข้อสำคัญที่สุด คือ เกิดมาแล้วก็เป็นเราทุกคน แต่ความจริงเป็นเราจริงๆ หรือเปล่า แค่นี้ค่ะ คืออยากจะเป็นเราไปเรื่อยๆ หรือรู้ความจริงว่า ที่ว่าเป็นเราคืออะไรแน่ มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ฟัง กว่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นธรรม ก็ไม่ง่ายเลย ขอตั้งต้นตั้งแต่จิตขณะแรกดีไหมคะ ทบไปทวนมาก็เพื่อให้เข้าใจในความเป็นธรรม เท่าที่จะสะสม เพราะเหตุว่าการที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงชาตินี้ นานแสนนานมาแล้ว ก็สะสมความไม่รู้ แล้วก็โลภะ โทสะทั้งหลาย ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดีมากมาย

    เพราะฉะนั้นเราคงไม่ต้องย้อนไปพูดถึงอดีตอนันตชาติ ซึ่งก็ต้องเหมือนชาตินี้ เพราะเหตุว่าต้องมีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น คงไม่ต้องคิดว่า แล้วมาจากไหน ถอยไปให้ถึงแสนกัป เพราะแม้แต่การระลึกชาติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกเท่าไรก็ไม่หมด เพราะฉะนั้นจึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ขณะที่เกิดครั้งแรกต้องเป็นจิตแน่นอน แต่ละคนก็มีจิต เป็นจิตสะสมมา แต่ว่าแต่ละจิตต่างกัน หรือเหมือนกัน เห็นไหมคะ แม้แต่จะเป็นนามธรรม เป็นธาตุ แล้วก็มีการเกิดขึ้น แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตหลากหลายมากมาย ไม่มีใครสามารถรู้ได้ มีใครรู้บ้างไหมคะว่า สะสมมาแค่ไหน แม้ผู้ที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ยังไม่รู้ จนกว่าได้ฟังพระธรรม พอฟังแล้วจึงได้รู้ว่า สะสมปัญญาที่สามารถเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมตามที่ทรงแสดง และก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่สะสมมา เป็นธรรม เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ให้เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม คือเป็นธาตุ เมื่อกล่าวว่าเป็นธาตุ ไม่มีใครสามารถไปสร้าง หรือทำให้เกิดขึ้นได้อย่างที่ต้องการ แต่ธาตุชนิดใดเกิดเป็นธาตุนั้น ก็เป็นธาตุนั้นเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิดเป็นธาตุชนิดหนึ่ง คือ นามธาตุ เป็นธาตุรู้ แล้วขณะนั้นก็มีทั้งจิต และเจตสิก เพราะเหตุว่าสภาพที่เป็นนามธาตุมี ๒ อย่างที่เกิดขึ้น ธาตุที่เกิดแล้วเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ใช้คำบัญญัติเรียกว่า “จิตต” หรือ “จิตตัง” หรือภาษาไทยใช้คำว่า “จิต” จะใช้คำอะไรก็ตามแต่ ให้เข้าใจว่า คือขณะนี้มีธาตุนี้ แต่ธาตุนี้เกิดที่ไหน อย่างไร ก็ต้องเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้กำลังเห็น ธาตุนี้แหละเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเมื่อไร ขณะไหน สภาพธรรมซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน เมื่อเกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ลักษณะนั้นคือจิต แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหมดจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้จิตจะเกิด มีแต่จิตอย่างเดียวไม่ได้ มีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดกับจิต ไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย เกิดเมื่อไร เจตสิกก็เกิดกับจิต หรือจะใช้คำว่า “เกิดในจิต” ปรุงแต่งจิต อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    เห็นความน่าอัศจรรย์ไหมคะ ใครไปทำได้ ธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นจิต เป็นเจตสิก อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    นี่คือการเห็นถูกตามความเป็นจริง แล้วใครจะรู้ได้ถึงความละเอียดของจิตขณะนี้ซึ่งเกิดดับสืบต่อ นับไม่ถ้วน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567