พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 457


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๕๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง กราบเรียนขอคำแนะนำ จากท่านอาจารย์ คือ ปัญหาในการฟังธรรมของหนู เมื่อศึกษาแล้วได้ยิน ได้ฟังคำว่า “สะสมสังสารวัฏ” และเมื่อศึกษาวิถีจิต ชวนจิตต่างๆ รู้สึกว่าเห็นโทษของสังสารวัฏ เห็นประโยชน์ ในการฟังธรรม แต่ไปติดกับคำว่า “สะสม” ก็เลยคิดว่า สะสมความเข้าใจ สะสมกุศล และจิต เจตสิก กรรมเป็นของๆ ตน เมื่อจุติจิตเกิดประมวลกรรมไป เกิดปฏิสนธิใหม่ และรู้สึก จะวนเวียนติด กับเรื่องของการ เห็นโทษของสังสารวัฏ ก็ไม่อยากจะเกิด เหมือนกับรีบ ต้องสะสมไป ต้องไปยึดตัวสะสม จิต เจตสิกต่อๆ ไป ซึ่งจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ เดิมก็เข้าใจว่า เป้าหมายของเรา ในการศึกษาธรรม เพื่อจะสะสมให้เจริญขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องกลับมาที่ เข้าใจธรรม ว่าเป็นธรรม เพราะว่าฟังแล้ว ก็เป็นเรา ที่จะใช้ธรรมในการบริหาร ในการบรรลุจุดหมาย หรืออะไรต่างๆ แล้วจุดหมายก็คือ คุณความดี ที่จะเกิดดี มีสิ่งต่างๆ ที่ดี นั่นคือ ไม่เข้าใจว่า เป็นธรรม แม้ว่าฟังธรรม แต่ก็ยังไม่พอที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ทุกขณะแตกย่อย อย่างละเอียดทั้งนามธรรม และรูปธรรม ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างรวดเร็ว นี่คือการเข้าใจธรรม ไม่ใช่ไปหวัง แต่รู้ความจริงว่า คิดก็เป็นธรรม ต้องการก็เป็นธรรม ให้มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้ธรรมหมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี คืออกุศล เวลาที่มีปัจจัยให้ผลเกิดขึ้น ก็เป็นผลที่ไม่น่าพอใจ มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งใครก็บันดาลไม่ได้ นอกจากเหตุ ที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้นไม่มีเรา ก็ค่อยๆ ละความคิดว่าเป็นเราที่ต้องการผลของธรรม เพราะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง หนูก็ยังสงสัยต่อว่า ถ้ารู้เพียงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ ยังไม่พอใช่ไหม ถึงได้สงสัยว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วจะเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง สภาพที่รู้ว่าเป็นธรรม ตรงนี้ก็ยาก เพราะว่าในขั้นการฟัง ก็ทราบแต่พยัญชนะ แต่อรรถรายละเอียดต่างๆ ที่จะระลึกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็เข้าไม่ถึง หนูก็เลยคิดว่า การศึกษา ในขั้นเริ่มต้นให้ทราบว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ตัวหิริโอตตัปปะจะเกิดขึ้นกับผู้นั้น หรือ ที่กำลังศึกษาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “หิริ” หมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง หิริก็เป็นพยัญชนะที่ทราบจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ แล้วมีตัวจริงๆ หรือไม่ ที่จะไปเรียกชื่อว่า หิริ หรือมีแต่คำว่า “หิริ” โดยไม่มีธรรมที่เป็น หิริ

    ผู้ฟัง เป็นสภาพ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพ แต่ลืมว่าเป็นธรรมใช่ไหม หรือว่าจำได้ว่า หิริเป็นธรรม คือทั้งหมดนี่ ให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นธรรมอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะเหตุว่า มีลักษณะเฉพาะ แต่ละธรรม ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ เกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำว่า การศึกษานี้ก็คือ ทุกอย่างเป็นธรรม หนูก็ควรพิจารณาละเอียดไหมว่า ...

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เราไปพิจารณาต่างหาก ได้ยินคำว่า “ธรรม” ขณะนี้ เข้าใจว่า เป็นธรรม และมีธรรมจริงๆ หรือไม่ ไม่ใช่ เพียงชื่อตามๆ กันไป แต่เข้าใจว่า มีธรรม แล้วก็เป็นธรรมจริงๆ หรือไม่ คือ ฟังให้เข้าใจอย่างนี้ แล้วก็จะเข้าใจไปโดยตลอด ไม่ว่าจะพูดถึงอะไร ก็ไม่พ้นจากมีธรรมนั้น และธรรมนั้น ก็เป็นธรรม ไม่ใช่ใครเลย

    ผู้ฟัง ก่อนจะเข้าใจว่า สภาพต่างๆ เป็นธรรม หนูต้องไปดู อย่างเวลาเกิดจิตใจหดหู่ สภาพเป็นอย่างไร ที่จริงคืออะไร ตรงนี้ก็ต้องไปศึกษาจากผู้รู้

    ท่านอาจารย์ อะไรล่ะ หดหู่ก็เกิดแล้ว แล้วก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นผู้รู้ก็คือว่า ให้รู้ว่าเป็นธรรม ผู้รู้จะให้ไปรู้อย่างอื่นไม่ได้ แต่ ให้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ที่มีลักษณะอย่างนั้น เกิดแล้วปรากฏ ให้เห็นความจริงว่า เปลี่ยนลักษณะนั้น ไม่ได้เลย ภาษาบาลีจะเรียกว่าอะไร ภาษาไทยจะเรียกว่าอะไร ภาษาจีนจะเรียกว่าอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องสนใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นลักษณะของธรรมนั้น ใช้ภาษา เพื่อให้เข้าถึง ความจริงในขณะนั้น ที่เป็นธรรมอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่พยายามไปเรียกชื่อ หรือไม่ใช่จะต้องเรียกชื่อให้ถูก ในเมื่อสภาพธรรมนั้น ปรากฏแล้ว

    ผู้ฟัง สงสัยที่ว่า ศึกษาโดยละเอียด

    ท่านอาจารย์ โดยละเอียด คือ ไม่ลืมว่าเป็นธรรม มีธรรมจริงๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ยิ่งละเอียด ก็คือยิ่งเห็น ว่าเป็นธรรม จนกระทั่งเป็นธรรม ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเกิดจากเจตสิกอะไร เราก็ไม่ละเอียด

    ท่านอาจารย์ เจตสิกคืออะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกคือสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เกิดพร้อมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือยัง

    ผู้ฟัง เป็น แต่ถ้าเราไม่ศึกษา อ่าน หรือฟัง ก็จะไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังไม่ไปถึงเจตสิก หรืออะไร ไม่ต้องไปเรียกชื่อว่า “เจตสิก” แต่ทุกอย่างในชีวิต เป็นธรรม หรือไม่ นี่เราอยากไปเรียกชื่อ ใช่ไหม ว่า เป็นเจตสิก แต่ว่าถ้าเข้าใจธรรม หมายความถึง สิ่งที่มีจริงๆ และสิ่งนั้นเป็นธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่เป็นของใครด้วย และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

    นี่คือสิ่งซึ่งกี่ชาติที่ได้ฟังธรรม ก็เพื่อที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม เพื่อละ ความไม่รู้ และการยึดถือ ธรรมนั้นว่า เป็นเรา ทั้งๆ ที่ธรรมนั้นดับแล้ว ไม่มีอีกเลย ไม่กลับมาอีก ก็ยังจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง นั่นก็คือไม่รู้ความจริง ของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง การศึกษาของหนู มีปัญหาเพราะหนูต้องรู้ละเอียด ไม่อย่างนั้นหนู จะไม่เชื่อ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตัวเราไปรู้ หรือตัวเราไม่เชื่อ แต่ฟังแล้ว ให้เข้าใจคำที่ได้ฟัง ถูกต้อง ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าได้ยินคำว่า “ธรรม” อะไรเป็นธรรม เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม แล้วธรรมนั้น เกิด หรือไม่ จึงปรากฏ ลักษณะของธรรมต่างกัน เป็นแต่ละธรรม หรือไม่ แล้วใครไปบันดาล ให้ธรรมนั้นเกิดขึ้น เมื่อธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้ว ดับไป หรือไม่ เป็นของใคร หรือไม่ สิ่งที่ดับไป หมดไป ไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง หนูก็จะสับสนในการพัฒนา

    ท่านอาจารย์ นี่คือตัวเราเรียนธรรม แต่ฟังธรรมเพื่อให้รู้ว่า ไม่มีเรา ที่เข้าใจว่าเป็นเรา เป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้นเป็นธรรม ไม่ใช่เรากำลังศึกษาธรรม เพื่อเราเข้าใจธรรม เพื่อเราจะได้มีธรรม ที่เป็นกุศล เพื่อเราจะได้รับผลของธรรมที่เป็นกุศล นั่นคือไม่เข้าใจ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ ใช่หรือไม่ ถ้า ไม่เริ่มต้นที่ว่า เรายังยึดเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาว่า ที่ยึดถือธรรมว่าเป็นเรานั้นผิด หรือถูก

    ผู้ฟัง ขั้นการฟังก็คือ ผิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไตร่ตรอง หรือไม่ หรือเขาว่า เราก็ว่า เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องไปถึงเจตสิกใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่ไตร่ตรอง ความหมายของคำว่า “ธรรม” หมายความถึงอะไร สิ่งที่มีจริงท ในขณะนี้ เพราะจริง จึงเป็นธรรม จริงเพราะปรากฏ ปรากฏเพราะ เกิด ถ้าไม่เกิด ก็จะเป็นอย่างนี้ ปรากฏอย่างนี้ไม่ได้เลย จริงอย่างนี้ หรือไม่ เพื่อที่จะเข้าใจธรรม ได้ยินคำว่า “ธรรม” กล่าวตาม แต่ไม่เข้าใจนั้นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อได้ยินแล้ว ค่อยๆ เข้าใจจากการฟัง เช่น ขณะนี้สิ่งที่มี มีแน่นอน ใครทำให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่เกิดแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ ลองถามซิ ใครทำให้ธรรมนี้เกิด ถามไปให้ทั่วเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ใครทำให้เกิดปรากฏ หรือมีสิ่งนี้ จึงควรเข้าใจ ให้ถูกต้องว่า สิ่งนี้เองเป็นธรรม ซึ่งใครก็ไม่สามารถไปบันดาลให้เกิดขึ้น ให้ดับไปได้ นี่คือการเริ่ม เข้าใจธรรม ว่าเป็นธรรม ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรา ที่ศึกษาธรรม หรือว่าเราเข้าใจธรรม แต่ไม่รู้จักธรรม ได้ยินแต่ชื่อ แต่ขณะนี้ เป็นธรรมจริงๆ เสียงเกิดแล้ว ใครทำให้เสียงเกิด เสียงปรากฏเมื่อมีจิต ที่กำลังได้ยินเสียง เสียงในป่าไม่ได้ปรากฏ เสียงบนถนน ที่อื่นไม่ปรากฏ แต่เสียงใดที่ปรากฏ เพราะมีธาตุรู้ เกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่ใช้คำว่า “ธาตุรู้” เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ ใครก็บันดาลให้ธาตุรู้เกิด ไม่ได้ ต้องมีเหตุที่ทำให้ ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้น ได้ยิน ไม่ใช่เห็น

    นี่คือการฟังธรรม เพื่อจะรู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะรู้ความจริงของธรรม ว่าเป็นธรรมดา

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน หนูก็จะมีข้อสงสัยขึ้นมา เช่น การพัฒนา การฝึกฝน เหมือนเราบังคับให้เป็นไปได้ จริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมหมด ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่ธรรม ใช่หรือไม่ ชีวิตจริงที่เป็นสะสม ฝึกฝน อะไรก็ตามแต่ เป็นธรรม หรือไม่ ถ้าไม่มีสภาพธรรม จะมีการฝึกฝน จะมีชีวิต จะมีการทำอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ใช้คำว่า “จริงๆ ” คือปรมัตถธรรม เป็นธรรม ที่มีลักษณะ เฉพาะลักษณะนั้นๆ ซึ่ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อัตถ หมายความถึง ลักษณะของธรรม แต่ละอย่าง ศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจธรรม หรือศึกษา เพื่ออะไร หรือศึกษาเพื่อ เราจะเป็นผู้บริหารที่ดี เราจะได้รับความสำเร็จในกิจการงาน เราจะได้ดูแลครอบครัวได้ดี แต่ว่าศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจถูกต้อง ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เดิมเป็นอย่างนั้น คิดว่าศึกษาเพื่อประโยชน์ของครอบครัว และตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่รู้จักว่า ธรรมคืออะไร และเดี๋ยวนี้เข้าใจหรือยัง พอศึกษาแล้ว เข้าใจธรรม หรือยัง คงจะไม่เข้าใจเป็นเราที่ศึกษา เพราะฉะนั้นไม่ข้าม แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว จนกว่าจะมั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรมแน่นอน เพียงแต่ว่า ยังไม่รู้ลักษณะ ของธรรม แต่ละอย่าง ว่าเป็นธรรม เพราะว่าธรรมจริงๆ แล้วเกิดแล้วดับเร็วมาก แม้แต่ในขณะนี้ เกิดดับโดยไม่รู้ ว่าเป็นธรรมมากมาย แต่เมื่อไรฟังแล้วเข้าใจขึ้น จึงเริ่มรู้ลักษณะ ของสภาพธรรม แต่ละอย่างน้อยมาก ไม่มากเลย

    ผู้ฟัง คำถามสุดท้าย อย่างที่บอกว่า เกิดแล้ว ดับแล้ว หมดไปแล้ว ไม่มีสาระอะไรเลย หนูเลยเกิดขัดแย้งในใจที่ว่า สะสมไป หรือว่าประมวลกรรมเป็นของๆ ตน เพราะถ้าหมดแล้ว ดับไปแล้ว ไม่มีอีกแล้ว ไม่เกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ธาตุที่เป็น ธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธาตุ คือ จิต และเจตสิก จิตหมายถึงธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะ ของสิ่งที่ กำลังปรากฏ เช่น เสียง แต่ละเสียงต่างกัน แต่ทำไมรู้ว่าต่าง เพราะ จิตสามารถรู้แจ้ง ในความต่างนั้นๆ จึงเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะ ของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือจิต เจตสิกก็คือสภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต จิตกำลังรู้อะไรที่กำลังปรากฏ เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น แต่โดยฐานะภาวะที่ต่างกัน ไม่ใช่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ อย่างจิต นี่คือสภาพธรรม ที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นตลอดชีวิต จะไม่ขาดจิต เจตสิก และรูป ซึ่งได้แก่สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ลักษณะของ นามธาตุ และรูปธาตุ เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ แต่ว่ารูปธาตุ ดับช้ากว่าจิต เพราะฉะนั้นขณะที่เรากล่าวว่า จิตเกิดดับ ไม่กลับมาอีกเลย ใครทรงแสดง ถ้าไม่ใช่การประจักษ์แจ้งจริงๆ จะกล่าวอย่างนี้ได้ไหม ไม่เคยฟังเลย แล้วกล่าวว่า ขณะนี้ มีธาตุรู้ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว สุดที่จะประมาณได้ จึงปรากฏเสมือนว่า ไม่ได้ดับไปเลย แต่ขณะแรกที่เกิด ดับไหม ดับ

    เพราะฉะนั้น ภาวะของจิตเจตสิก ทันทีที่ดับไป จิต และเจตสิก แต่ละขณะเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้ ทันทีที่จิตนั้นดับ จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย จึงใช้คำว่า “อนันตรปัจจัย” ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะรู้จักพระอรหันต์ จิตขณะสุด ท้ายของพระอรหันต์ไม่เป็นอนันตรปัจจัย เพราะว่า ไม่ทำให้มีการเกิดอีก แต่จิตอื่นๆ นอกจากนั้น เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งจิตขณะต่อไป ไม่ใช่จิตขณะก่อน เพราะฉะนั้น จิตขณะก่อน เกิดแล้วดับไป อยู่ที่ไหน เป็นของใคร สาระอยู่ที่ไหน ในเมื่อไม่เหลือแล้ว จะเอามาทำอะไรอีกได้ไหม ไม่มีอะไรเหลือเลย หมด ไม่กลับมาอีกด้วย แต่ก็มีเจตนาเจตสิก ซึ่งศึกษาโดยละเอียดจะรู้ว่า เป็นกรรม ซึ่งสะสม เพราะว่าทุกอย่าง จากจิตขณะก่อน เวลาที่ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัย ให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แล้วก็สะสม กุศล และ อกุศลทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ใครเลย เจตนาก็เป็นเจตนา ที่มีกิจของเจตนา มีลักษณะของเจตนา สติก็มีลักษณะ ที่เป็นสติ มีกิจของสติ ไม่ใช่ไปทำหน้าที่อื่น ของเจตสิกอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อศึกษาแล้ว ก็จะรู้ว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ขณะนี้คิดอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ มาจากไหน แล้วพรุ่งนี้ก็จะคิด คิดพรุ่งนี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจาก การสะสมของวันนี้ เรื่องราวการนึกคิด เรื่องธุรกิจ เรื่องเพื่อนฝูง เรื่องมิตรสหาย เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ เป็นปัจจัยให้พรุ่งนี้คิด เพราะมีปัจจัย ที่ได้สะสมจากวันนี้ วันนี้คิดอย่างนี้ เมื่อ ๒๐ ปีก่อนจะคิดอย่างนี้ไหม ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลยสักตัว แล้วจะมาคิดเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือที่กำลังอ่าน รู้เรื่องหรือไม่ ก็ไม่ได้ ใช่หรือไม่

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม จะเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ แล้วมีสาระไหม ถ้าเพียงเกิด แล้วก็หมดไป ไม่กลับมาอีกเลย ไม่เที่ยง ไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ยั่งยืน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ปัญญาสามารถเริ่มเข้าใจ เพียงเริ่มเข้าใจ ว่ามีจริงๆ จึงเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ต้องเกิด จึงปรากฏ ปรากฏแล้วดับ ไม่เหลือเลย

    นี่คือปัญญาที่อบรม จนกว่าจะรู้ความจริง เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ จะเข้าใจเป็นอย่างอื่น นั่นก็คือ ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง

    อ.กุลวิไล คำถามของคุณกนกวรรณ ก่อนศึกษาธรรม ดิฉันก็เคยคิดเหมือนกัน เพราะเราอยู่ในโลกของบัญญัติมาก ก็มีคนมากมาย มีหน้าที่การงานที่ต้องทำ จะต้องกินอาหาร ต้องไปทำงาน แล้วไหนล่ะคือธรรม แต่พอศึกษาธรรมแล้ว ค่อยๆ แยกแยะโลกที่เราสมมติกัน กับโลกที่เป็นธรรม ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจว่า ที่ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และรูปนั่นเอง อย่างที่คุณกนกวรรณยกตัวอย่างถึงเรื่องการฝึกฝน และอบรม ก็เป็นภาษาขึ้นมา แต่ขณะที่เรากำลังฝึกฝนอบรม ก็ต้องมีสภาพธรรมแน่นอน ต้องมีจิต มีเจตสิก ที่เป็นนามธรรม และแน่นอนถ้ามีจิต และเจตสิกแล้ว รูปก็มีในขณะนั้นด้วย ตรงนี้ก็จะทำให้เราเข้าถึง ตัวธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ไม่ทราบท่านอาจารย์มีอะไรเพิ่มเติม กราบเรียน

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าก่อนเรียนธรรม กำลังฟังธรรม หรือต่อไป ก็ต้องอย่างที่เคยเป็น จะเปลี่ยนได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย แต่เข้าใจถูกต้อง ตรงนี้ ที่ต่างกับก่อนฟังธรรม ก่อนฟังธรรม เกิดมาเป็นอย่างไร เมื่อเกิดแล้วต้องเป็นไปตาม เหตุตามปัจจัย ของแต่ละชีวิตที่สะสมมา ทำให้ต่างๆ กันไป ตอนเพิ่งเกิด มีใครรู้บ้างไหม ว่าจะมีวันนี้เป็นอย่างนี้ คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก คิดไม่ถึง และต่อไปชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่ให้ทราบว่า เมื่อมีการเกิดขึ้น ต้องมีความเป็นไป จะให้เกิดมาแล้วไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก ไม่ทำการงาน ไม่รับประทานอาหาร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะทั้งหมดเป็นธรรม ที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปตามโลภะ ตามโทสะ ตามเมตตา ตามสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งมีปัจจัยทำให้ แต่ละขณะต่างกันไป บางขณะก็ชอบ บางสิ่งบางอย่างมาก บางอย่าง ไม่ชอบเลย ทั้งหมดนี้มาได้อย่างไร มีใครไปทำ หรือไปบันดาลให้เกิดขึ้น และแต่ละคนก็ยังต่างกัน แม้แต่สิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบ อีกคนหนึ่งไม่ชอบก็ได้ ก็แสดงให้เห็นถึง สภาพธรรมทั้งหมด เป็นธรรมจริงๆ แต่ไม่รู้ ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า จะไปพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิต โดยไม่รู้เลยว่า แม้ขณะนี้ ก็เกิดแล้ว ไม่ว่าจะคิดอะไร ความคิดนั้น ก็เกิดแล้ว เพราะเหตุปัจจัยทำให้คิดอย่างนั้น

    ด้วยเหตุนี้เหมือนปัจจัยที่จะต้องเป็นไปตามการสะสม แต่ว่าปัญญาสามารถเห็นถูก เข้าใจถูกว่า ทุกๆ ขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นปรากฏ เป็นธรรมทั้งหมด

    รู้ว่าเป็นธรรม กับไม่รู้ แต่ว่าโลภะก็เป็นโลภะ โทสะก็เป็นโทสะ แต่ว่าเห็นถูกต้องว่าเป็นธรรม ดีกว่าหรือไม่

    อ.กุลวิไล รู้ย่อมดีกว่า ไม่รู้เป็นอวิชชา เป็นอกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ แต่บางคนบอกว่า ไม่รู้ก็สบายดี ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องมานั่งฟัง ไม่ต้องฟังบ่อยๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องไตร่ตรอง ก็เพลิดเพลินไปวันหนึ่งๆ

    อ.กุลวิไล อย่าลืมว่า สังสาระ การเกิดดับสืบต่อของธรรม ที่เป็นสังขารธรรม ถ้าเราไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง แน่นอนว่าอวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้นเราก็จะวนเวียนไปในวัฏฏะ โดยมีความไม่รู้เป็นปัจจัยนั่นเอง สังสารวัฏก็ยาวนาน ทสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

    อ.นิภัทร การศึกษาธรรมไม่ได้หมายความว่า ให้ทุกคนไม่ทำอะไร เป็นนักเรียนก็ไม่เรียนหนังสือ จะมาเรียนธรรม เป็นพ่อค้า แม่ค้าก็ไม่เอาแล้ว จะมาเรียนธรรม ทำงานก็ไม่ทำแล้ว จะลาออกมาเรียนธรรม คิดอย่างนี้ไม่ถูกธรรม เพราะว่าธรรมมีทุกอาชีพ ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่เห็นว่า ฆราวาสคับแคบ ไม่เอาแล้ว ท่านไม่เอาจริงๆ ท่านก็บวชเป็นพระ เป็นผู้หญิงก็บวชเป็นภิกษุณี สำหรับพวกเราไม่ถึงขั้นนั้นครับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 เม.ย. 2567