พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 476


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๗๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏอย่างเร็ว และน้อยมาก ถ้าไม่กำลังรู้ที่ลักษณะนั้น ก็เป็นอื่นไปตลอดเวลา เหมือนขณะนี้กำลังเห็น ก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นอื่นไปตลอดเวลา แข็งก็ปรากฏ ก็เป็นเรื่องอื่น คิดนึกเป็นเรื่องราวอื่นตลอดเวลา ต่อเมื่อใดเกิดรู้ที่แข็ง เมื่อนั้นก็แสดงให้เห็นว่า มีลักษณะของธรรมซึ่งค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าทั้งหมดเป็นลักษณะแต่ละลักษณะ โดยที่ไม่ต้องไปคิดว่า นี่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ต้องคิดอย่างนั้นเลย ทำไมจะต้องพูดว่า เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ก็แข็ง แล้วจะไปรู้อะไรได้ แล้วจะต้องไปเรียกอะไร ในเมื่อแข็งกำลังเป็นแข็ง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กว่าเราจะเห็นว่า การที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมยังไม่ชำนาญพอ ยังฟังแล้วคิดเป็นเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ จนกว่าเมื่อไรเกิดรู้ตรงลักษณะหนึ่งลักษณะใด แม้เพียงเล็กน้อยที่กล่าวว่า เพียงช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น หรืออะไรก็แล้วแต่จะใช้คำอุปมาว่า เพียงเล็กน้อยสักแค่ไหน ขณะนั้นก็ต่างกับขณะอื่น เพราะเหตุว่ากำลังมีลักษณะ แล้วก็ฟังเรื่องแข็งว่าเป็นธรรม ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่มีอย่างอื่นปรากฏ กว่าจะค่อยๆ เป็นอย่างนั้นได้ ก็คือมีความคุ้นเคยต่อลักษณะ จึงชื่อว่า รู้จักธรรม แต่ก่อนนั้นก็ฟังเรื่องธรรม รู้ว่า ทั้งหมดเป็นธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างเลย เพราะเหตุว่าแม้ปรากฏก็จริง แต่เป็นอื่นไปทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเพียงลักษณะที่ปรากฏจริงๆ

    อ.วิชัย ขณะที่เข้าใจแม้ขั้นฟัง มีการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ที่จะน้อมไปรู้ลักษณะของสภาพธรรม ความมั่นคงที่จะรู้ในความเป็นอนัตตา โดยไม่จดจ้อง เพราะบางครั้งถ้าไม่มั่นคงพอก็พยายามรู้ แม้มีส่วนที่เกิดขึ้นมาบ้าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติ กำลังอยากจะรู้เป็นปกติ หรือเปล่าคะ

    อ.วิชัย ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็มีเรื่องไม่รู้หมดเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ก่อนที่จะพากเพียรด้วยความเป็นเราที่ตั้งใจ หรือพยายามจะรู้ ตอนที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็ไม่มีลักษณะนี้ แต่พอฟังแล้วก็มีลักษณะนี้เป็นธรรม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นความไม่รู้ก็คือไม่รู้ในขันธ์ที่เกิดแล้ว จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดเรื่องประจักษ์แจ้ง หรืออะไรเลยทั้งสิ้น ขอเป็นความเข้าใจ และความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจจริงๆ เข้าใจจนกระทั่งไม่ไปทำอย่างอื่นเลย เพราะรู้ว่ามีธรรมกำลังปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งสิ้นที่พยายามไปรู้ แต่เข้าใจเพิ่มขึ้น แม้ในขณะนี้เห็นก็กำลังเห็น แต่ความเข้าใจเห็นก็ยังไม่เกิด แม้ว่าฟังเรื่องเห็น และกำลังเห็นด้วย จนกว่าค่อยๆ เริ่มที่กำลังเห็นทีละเล็กทีละน้อย

    อ.วิชัย เข้าใจถึงความต่างของการละ กับการมุ่งหวังต้องการ

    ผู้ฟัง การเข้าถึงธรรม เข้าถึงทีละอย่าง ก็เลยคิดว่า ต้องฝึกเข้าทีละอย่างๆ จนกว่าจะครบถ้วน

    ท่านอาจารย์ มีกฎเกณฑ์ มีแบบเฉพาะตัว เป็นอย่างนี้ก่อน แล้วก็จะเป็นอย่างนั้น นั่นคือไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงความเป็นอนัตตาจริงๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนี้ใครทำอะไรคะ ทุกอย่างที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เราเพียรได้ไหม หรือว่า “เพียร” เป็นธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย เราคิดได้ไหม หรือคิดก็เป็นธรรม เป็นขันธ์ที่เกิดแล้วตามที่ได้สะสมมา แม้แต่ขณะที่คุณกนกวรรณพูดอย่างนั้นก็คือขันธ์ที่เกิดแล้ว คิดแล้วเป็นอย่างนั้น ตามที่เคยสะสมมาจากชาติก่อนๆ จนกระทั่งแม้ฟังในชาตินี้ หรือเมื่อครู่นี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดขันธ์ แม้ในขณะนี้ก็เป็นขันธ์ที่เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นความเป็นอนัตตาอยู่ตรงนี้ จะไปวางแบบแผนอย่างไรดีคะ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราศึกษาธรรม ฟังธรรมแล้วใส่ใจ ความเปลี่ยนแปลงของหนู คือ เมื่อก่อนไม่เคยระลึกเรื่องธรรมเลย ก็เริ่มระลึกบ้าง เวลาโทสะเกิด ก็ระลึกขึ้นได้ว่า โทสะเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นการคิดจำ ก็คิดถึงธรรมได้แว๊บเดียว นิดเดียว วันละแว้บเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังเรื่องจิตก็ยังเป็นจิตของเรา ไม่ใช่เป็นธรรม ฟังเรื่องธาตุ ค่อยๆ รู้ไหมว่า แท้ที่จริงจิตก็เป็นธาตุ เจตสิกก็เป็นธาตุ รูปก็เป็นธาตุ ทุกอย่างก็เป็นธาตุ เพื่อให้คลายการยึดถือว่า แม้จิตก็ยังเป็นจิตของเรา ฟังเรื่องขันธ์ก็คือขณะนี้ขันธ์เกิดแล้ว อะไรที่ยังไม่เกิดจะเป็นขันธ์ได้ไหมคะ ยังไม่ได้เกิด ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ขันธ์เกิดแล้ว ไม่ใช่เรา และรูปขันธ์ก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึกก็เป็นขันธ์อย่างหนึ่ง ความจำก็เป็นขันธ์อย่างหนึ่ง โลภะ โทสะ โมหะใดๆ ทั้งสิ้น ก็เป็นแต่ละขันธ์ไป และจิตก็เป็นขันธ์ คือฟังเพียงเรื่องเดียว ไม่สามารถไถ่ถอนความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้

    เพราะฉะนั้นยิ่งฟังมาก เข้าใจมาก ก็จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องแม้ในขั้นการฟังว่า แท้ที่จริงไม่มีเราเลย เป็นการเกิดขึ้นเป็นไปของขันธ์ทุกขณะ จะกล่าวได้ว่า เป็นการเกิดขึ้นเป็นไปของธาตุ ซึ่งมีทั้งธาตุเลว ธาตุปานกลาง หรือว่าเป็นการเกิดขึ้นเป็นไปของอายตนะ คือพูดทุกอย่างที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่พอฟังแล้ว เราดีขึ้นแค่ไหน หรือเราก้าวหน้าไปแค่ไหน หรือเราเข้าใจขึ้นอีกแค่ไหน นั่นคือไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็ละไม่ได้ เพราะว่ายึดถือธรรมว่าเป็นเรา เพียงแต่จำชื่อไว้เท่านั้นเองว่า เป็นขันธ์บ้าง เป็นอายตนะบ้าง เป็นธาตุบ้าง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นผู้ที่เข้าถึงสภาพธรรมแม้เพียง ๑ อย่าง ณ ขณะนั้นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะรู้ด้วยตนเองว่า ไม่ผิดด้วย ใช่ไหมคะ โดยไม่ต้องถามใคร หรืออย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ อวิชชาคือไม่รู้ ขณะนั้นรู้ หรือเปล่า หรือไม่รู้ ถ้าเข้าใจถูก เห็นถูก คือปัญญา จะผิดได้อย่างไร เพราะรู้ถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงของธรรมในขณะนั้น

    ผู้ฟัง มีปัญหาคือผู้ศึกษาไม่รู้ว่า ตอนนั้นปัญญาเกิด หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ผู้ศึกษา หรืออวิชชา หรือปัญญา มีไหมคะผู้ศึกษาที่ไม่ใช่ความเป็นไปของขันธ์ ไม่ใช่ธาตุ ไม่ใช่อายตนะไหม หรือที่เข้าใจว่าเป็นผู้ศึกษาก็คือการเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมซึ่งเป็นธาตุ เป็นขันธ์นั่นเอง

    ผู้ฟัง คือขณะนี้มีสภาพธรรมอยู่ที่เรา

    ท่านอาจารย์ หมดเลย และอะไรหนึ่งที่เป็นธรรมที่จะรู้ได้ทีละหนึ่งจริงๆ

    ผู้ฟัง ปัญญาค่ะ

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไรล่ะคะ

    ผู้ฟัง ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพียง ๑ ทีละ ๑ อะไรคะ ถ้าหลายๆ อย่างรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงต้องทีละ ๑ ถ้าบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม รู้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ได้รู้สักหนึ่ง ใช่ไหมคะ เพียงแต่ทุกอย่าง โดยที่ไม่รู้แต่ละ ๑ ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คือข้อสงสัยของหนูว่า ที่ท่านอาจารย์บอกว่า พอแข็ง ถ้าเข้าใจจริงๆ ปัญญาเกิด จะไม่ไปคิดอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ หมายความว่าเราฟังเรื่องธรรม จนพูดได้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม จำได้ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ขณะนี้อะไรเป็นธรรม แสดงว่าเราไม่รู้จักธรรม เราเพียงได้ยินคำว่า “ธรรม” แล้วก็จำว่า สิ่งที่มีเป็นธรรม และทุกอย่างเป็นธรรม แต่ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละธรรม เพราะว่าธรรมหลากหลายมาก เสียงก็เป็นธรรม แข็งก็เป็นธรรม แล้วรู้ความเป็นธรรมของแข็ง หรือความเป็นธรรมของเสียง หรือเพียงจำว่า เสียงเป็นธรรม แข็งเป็นธรรม

    ผู้ฟัง มันรวดเร็วมาก เกิดไปแล้วเราแทบไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวเราที่ต้องไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น ฟังค่อยๆ เข้าใจความรวดเร็ว การเกิดดับของธรรมว่า ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะว่าเห็นก็เป็นคนไปหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เห็นว่าเป็นคนเป็นธรรม หรือเปล่า ก็เป็น แต่ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นปัญญาคือรู้จริงๆ รู้ทั้งหมด รู้ทั่วจนหมดความสงสัย ที่จำว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็เป็นธรรม เป็นสภาพจำ ใครจะไม่ให้จำ ได้ไหมคะ เพราะว่าธรรมก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเห็นผิด ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วทำอย่างไรล่ะคะ กิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หรือความริษยา หรือกิเลสใดๆ ก็หมดสิ้นไปไม่ได้ เพราะอะไรคะ เพราะเห็นผิดว่า ขณะนี้เป็นเรา

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม โดยมากทุกคนอยากจะละอกุศลที่ไม่ชอบ แต่อกุศลใดๆ ทั้งหมด ไม่สามารถดับหมดสิ้นไปได้ ถ้าไม่เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นธาตุ หรือเป็นธรรม

    เราฟังบ่อยๆ ในคำว่า “ธาตุ” ในคำว่า “ธรรม” แล้วก็ลืมทุกที หรือว่ายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของความเป็นธาตุที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังบ่อยๆ จนกว่าปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า ขณะนี้เป็นขันธ์ หรือว่าเป็นธรรมที่เกิดแล้ว ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะไปคิดถึงเรื่องอื่นข้างหน้าไหมคะ ขณะนี้เป็นขันธ์ หรือเป็นธรรมที่เกิดแล้ว ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรเลย

    นี่คือก่อนที่จะสามารถดับกิเลสใดๆ ได้ ต้องมีความเห็นถูกต้อง ซึ่งเมื่อเห็นถูกต้องอย่างนี้ จึงสามารถดับกิเลสได้ แต่ว่ากิเลสที่มีในวันหนึ่งๆ ปรากฏทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า มีกิเลสระดับไหน แต่ก็แล้วแต่ ถ้าปัญญาไม่เกิดขณะนั้น ก็ยังเป็นผู้มีปกติที่กาย วาจา ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นในทางที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นการขัดเกลากิเลสนั้น จะเห็นว่า ละเอียดมาก แม้แต่กิเลสที่สะสมอยู่ในจิต นั่งเฉยๆ มีใครรู้บ้างคะ แต่พอมีการกระทำ หรือคำพูด ก็จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยจิตประเภทไหน

    เพราะฉะนั้นทุกขณะเตือนให้รู้ว่า เป็นธรรม แต่ถ้าขาดการฟัง ไม่มีทางค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิด ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ต้องเป็นไปตามการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว จะเป็นอย่างคนอื่นได้ไหมคะ ไม่ได้ค่ะ ต่างคนต่างก็สะสมมา

    เพราะฉะนั้นความประพฤติเป็นไปในวันหนึ่งๆ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เราเลย แต่พอไม่รู้ อกุศลจิตเกิด โทสะ เป็นต้น ไม่อยากมีโทสะ เริ่มหาวิธีว่า ทำอย่างไรจึงไม่มีโทสะ แต่รู้ หรือเปล่าว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้แต่โทสะก็เป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้การฟังต้องละเอียด ไม่ใช่ว่า มีตัวเราที่อยากจะมีสิ่งนั้น หรือไม่อยากจะมีสิ่งนั้น แต่ต้องเป็นปัญญาที่สามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะใดก็ตามที่ความขุ่นเคืองใจมี ขณะนั้นไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม จึงหาวิธีอื่นที่ทำให้ไม่เกิดขึ้น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์คะ ในพระคาถาท่านก็กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความโกรธว่า มีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักยิ่ง และคนโกรธก็หมกมุ่นในอารมณ์ต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้ เพราะเหตุต่างๆ

    ท่านอาจารย์ บางทีคนที่กำลังโกรธ แล้วเราจะพูดธรรม เขาฟัง หรือเปล่า ไม่ฟัง พูดถึงเรื่องของตัวเองตลอด ซึ่งเป็นเรื่องของความโกรธ อย่างไรๆ ก็ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นก็เป็นการยากที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ถ้าไม่รู้ ก็ยังคงมีเรื่องของเรา โกรธใคร เมื่อไร เรื่องอะไร คิดไปคิดมาก็ไม่มีวันจบสิ้น เพราะว่าความโกรธในวันนี้ก็มาจากวันก่อนๆ และเรื่องวันก่อนๆ ก็มากมาย เรื่องวันนี้ก็มากมาย ยังโกรธไปถึงวันหน้าด้วย ใช่ไหมคะ จะเกิดอะไรขึ้นซึ่งจะโกรธต่อไป

    นี่แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดเป็นการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมแต่ละครั้งก็เพื่อให้เห็นถูก เข้าใจถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะโกรธ หรือไม่โกรธ แต่ให้เข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งมั่นคง

    ทำไมจะไม่เป็นธรรม เกิดแล้ว ใครไปทำได้ มีใครไปทำให้อะไรเกิดขึ้นมาได้บ้าง เกิดแล้วทั้งหมด นี่คือสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงเพียงไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นตัวตน

    อ.กุลวิไล อย่างนั้นก็ตรงตามที่ท่านกล่าวถึงเรื่องการฝึกฝน ท่านอาจารย์กล่าวว่า การที่จะละความโกรธได้ ก็ต้องเป็นผู้ฝึกฝน ซึ่งปัญญา ความเพียร และสัมมาทิฏฐิ เพราะถ้ายังมีความเห็นผิด และยึดถือว่า ยังมีสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็ยังรักตน และโกรธผู้อื่น ข้าศึกก็เลยมีมาก

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังอย่างนี้ ยังคิดที่จะโกรธต่อ ใช่ไหมคะ พรุ่งนี้เป็นอย่างไร วันก่อนเป็นอย่างไร ต่อไปอีก ๒ วัน ๓ วัน เดือนหนึ่งจะเป็นอย่างไร ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงมีคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อเตือนว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ว่าขณะไหนๆ ก็เป็นธรรม แล้วแต่การสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจากการฟัง จะปรุงแต่งให้เกิดระลึกได้เมื่อไร ซึ่งไม่มีใครสามารถไปกะเกณฑ์ หรือทำได้ แต่ให้เห็นประโยชน์ของการฟัง ฟังเข้าใจไม่ได้สูญหายไปไหนเลย แม้ว่ากำลังฟังเข้าใจ แต่ยังขุ่นใจ ก็เป็นธรรมดาที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ขุ่นใจ เคืองใจเกิดขึ้น แต่การฟังเข้าใจ ก็จะเป็นสังขารขันธ์สะสมอยู่ในจิตที่จะทำให้วันหนึ่งระลึกได้ แต่ระลึกที่จะรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ถ้าเพียงแต่ระลึกว่า เราจะไม่โกรธ ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย ก็ยังเป็นเรา ซึ่งไม่สามารถดับอกุศลใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของความโกรธโดยความเป็นสภาพธรรมเป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ เหมือนคุณสุกัญญาไม่เคยโกรธ

    ผู้ฟัง คือโกรธ ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นเราโกรธ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมรู้ว่าโกรธ

    ผู้ฟัง รู้ว่าโกรธ เพราะสภาพที่เกิด คือเมื่อก่อนมีความรู้สึกโกรธ ก็ไม่สนใจแล้ว ไปหาเรื่องที่ชอบ เพราะไม่ชอบในอารมณ์ที่โกรธ ก็ไปหาอารมณ์ที่ดี ที่เราชอบ

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าคุณสุกัญญารู้จักสภาพโกรธ แต่ยึดถือสภาพที่โกรธว่าเป็น

    คุณสุกัญญา ไม่ใช่ไม่มีโกรธให้เรารู้ ต้องไปหาลักษณะที่โกรธเป็นอย่างไร รับรองได้ไม่ต้องหาเลย เดี๋ยวโกรธก็ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถามว่า ลักษณะโกรธเป็นอย่างไร โกรธเป็นโกรธ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่า โกรธเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป เป็นใคร หรือเปล่า เป็นของใคร หรือเปล่า ใครทำได้ หรือเปล่า ใครหยุดยั้งความโกรธได้ไหม

    ผู้ฟัง เดิมทีความโกรธเกิดขึ้น มีคนอื่นทำให้โกรธ อันนี้อยู่ในความคิดของเรา พอฟังธรรมมาจนถึงเมื่อวานนี้ ก็เริ่มเข้าใจว่า ความโกรธที่เกิดขึ้นไม่มีใครทำ นอกจากกิเลสในใจของเราเองที่โกรธ นี่เพิ่งเข้าใจเมื่อวาน แต่ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์เนื่องจากว่า โกรธครั้งใด ก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ส่วนใหญ่จะคิดเป็นเรื่องราวยืดยาว และรุนแรงมากขึ้นๆ

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ต่างกับโกรธ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ ต้องต่าง แต่ขณะนั้นไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ไม่รู้มานานแสนนาน แล้วก็จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมโดยเร็ว เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อย่างลักษณะของโทสะ หรือความโกรธก็เช่นเดียวกัน อยู่ตรงไหน หรือคะ เพราะว่าโดยปกติแล้ว พอโกรธก็จะเป็นเราโกรธ แล้วก็อยู่ในเรื่องราวปรุงแต่งต่อไปยาวๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่รู้ลักษณะของความโกรธ มีโกรธเกิดขึ้นเป็นเรา ผิด หรือถูก

    ผู้ฟัง แต่มีจริง

    ท่านอาจารย์ โกรธ แล้วเป็นเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ เป็นเราที่โกรธ แต่ต้องไม่ใช่เรา ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงค่ะ ไม่ใช่ไปตามใคร ธรรมไม่ใช่ไปตามคำที่คนอื่นพูด แต่พิจารณาจริงๆ ว่า คุณสุกัญญาทำให้โกรธเกิดขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะโกรธ โกรธก็เกิดไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้นจะเป็นของใคร สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว หรือจะเป็นใคร เกิดแล้วดับแล้ว หมดแล้ว สิ่งที่เกิดแล้วไม่กลับมาอีกเลย ให้ทราบความจริง

    ผู้ฟัง แต่เมื่อยังไม่ได้ทราบความจริงในลักษณะนั้น แล้วก็คิดเป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง และรู้ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่โกรธ คิดเป็นคิด โกรธเป็นโกรธ ทุกขณะเป็นธรรมที่มีลักษณะต่างๆ กัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย

    ผู้ฟัง เวลาความโกรธเกิดขึ้น แล้วคิดโกรธ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง โกรธเกิดแล้วดับ เป็นคิด

    ผู้ฟัง คือมันมีจริงๆ โกรธเกิดปุ๊บ

    ท่านอาจารย์ ดับแล้ว

    ผู้ฟัง แต่เราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ

    ผู้ฟัง แล้วเราก็คิด

    ท่านอาจารย์ คิดก็เป็นธรรม เกิดแล้วดับแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วทำไมมันไม่หยุดอยู่อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ใครจะไปหยุดปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดได้

    ผู้ฟัง แล้วเราจะเข้าใจจริงๆ อย่างที่ ...

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่เป็นคุณสุกัญญาจะเข้าใจ ก็คือไม่เข้าใจ แต่ฟังธรรมแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ นั่นคือเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่คุณสุกัญญา ความเข้าใจเป็นความเข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจก็ไม่ใช่คุณสุกัญญา แต่ไม่ใช่ไปทำอย่างไรคุณสุกัญญาจึงจะเข้าใจ ฟังขณะนี้เข้าใจ เข้าใจก็เป็นธรรม เข้าใจนิดเดียว แล้วก็ฟังอีก ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง แล้วความเดือดร้อนในความคิดนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรม เกิดแล้วดับแล้ว

    ผู้ฟัง แต่เวลาเกิดกับสภาวะจริงๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะไม่รู้ไงคะ ไม่ใช่คุณสุกัญญา อวิชชาต่างกับวิชชา ไม่มีใครเลยสักคน เป็นธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ถ้าสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ก็คือว่าหาความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นลักษณะของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับแล้วก็ไม่กลับมาอีกสักขณะเดียว

    ผู้ฟัง ก็โกรธมีจริง แล้วก็รู้ว่าโกรธ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครรู้

    ผู้ฟัง เรารู้

    ท่านอาจารย์ แล้วโกรธเป็นใคร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567