พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 466


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่คิด แล้วก็หมดไปๆ ไม่เหลือ แล้วก็ไม่สามารถรู้ความจริงด้วยว่า คิดแล้วก็หมดไป แต่ลักษณะของสิ่งที่มีจริง เตือนให้รู้ว่า นอกจากนี้แล้วไม่มีอะไรจริง เรื่องที่คิดก็ไม่จริง จิตคิดจริง สภาพอ่อน หรือแข็งที่ปรากฏจริง สภาพที่กำลังรู้อ่อน หรือแข็งจริง แค่นี้เอง เป็นเรา หรือเปล่า ที่เข้าใจว่าเป็นเราทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จริงๆ แล้วถ้ายังเหลือความจำว่าเป็นเรา ไม่สามารถละความเป็นตัวตนได้ จนกว่าไม่เหลืออะไรเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริง แล้วสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย ถ้าสามารถคลายการยึดถือสภาพธรรม แล้วก็รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อย ก็จะถึงวันที่ปัญญาสามารถประจักษ์ความจริง คือ ทุกขอริยสัจธรรม สภาพธรรมที่ปรากฏนั่นแหละเกิดแล้วดับ ก็จะเข้าใจทุกคำที่ได้ยินมา ไม่ว่าในชาตินี้ หรือชาติก่อนๆ ก็คือเรื่องธรรมซึ่งมีจริง ซึ่งเกิดดับ แต่ต้องอาศัยการค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามเพื่อให้เข้าใจมั่นคงขึ้น เพราะเมื่อก่อนที่ยังไม่ได้ฟังธรรม ก็ยังไม่รู้ว่า วันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมาก กุศลเกิดน้อย พอฟังธรรมก็ได้พิจารณาสภาพความเป็นจริงในชีวิตประจำวันว่า อกุศลเกิดมาก และอกุศลเกิดน้อย แต่อย่างนั้นก็ยังไม่ใช่สภาพธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ รู้ตัวใช่ไหมคะ หรือต้องถามคนอื่น

    ผู้ฟัง คือรู้ว่าไม่ใช่ แต่ไม่มั่นใจค่ะ เพราะว่าปัญญายังน้อย จริงๆ แล้วท่านอาจารย์ถามบ่อยมากว่า สภาพคิดกับสิ่งที่คิด อะไรจริง อะไรไม่จริง แต่ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันจะเป็นเราอยาก เราโลภ เราโกรธ และทุกอย่างเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ฟังธรรม ก็เราฟัง ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังให้รู้ว่าเป็นธรรม มิฉะนั้นแล้วก็จะมีเราตลอดไป

    ผู้ฟัง อย่างนั้นความเข้าใจขั้นต้น สิ่งที่จะต้องมั่นคงจริงๆ คือ เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ตลอดตั้งแต่เป็นปุถุชน ไม่รู้อะไรเลย ฟังเริ่มเข้าใจ จนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ธรรมตลอดปรุโปร่งเมื่อไร ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่โดยทางอื่น แต่โดยรู้ธรรมว่าเป็นธรรม ละเอียดขึ้นๆ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่างเช่น โทสะ หรือโลภะ ที่ปรากฏจริงๆ ต้องมีจริง และเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่เราเข้าใจขั้นการฟังว่า เป็นเราโกรธ หรือเราพอใจ มันต่างกันอย่างไรกับสภาพจริงๆ

    ท่านอาจารย์ โทสะมีไหมคะ

    ผู้ฟัง โทสะมีจริง

    ท่านอาจารย์ เกิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ ดับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คือตอบท่านอาจารย์ได้ว่าดับ แต่จริงๆ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ถ้าเคยเกิดแล้วดับไปแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่มี ก็ต้องตอบว่าดับ จะเหลืออยู่ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงลักษณะการเกิดดับ จะต้องเป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่จริงๆ ลักษณะของโทสะ หรือโลภะมันเนิ่นนาน และยาว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะปัญญาไม่ได้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ความจริงเป็นอย่างนี้ ให้ทราบว่า ความจริงเปลี่ยนไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นระดับใด แต่เปลี่ยนความจริงไม่ได้ ถ้าจะรู้จักความจริง ก็จะพบความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แต่ถ้าปัญญายังไม่ถึงระดับนั้น ก็เริ่มเข้าใจถูกว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนี้สภาพธรรมเกิด ปรากฏจริง แต่ก็ดับเร็วมาก แล้วก็เกิดดับสืบต่อ กว่าปัญญาจะเข้าใจถูก ก็ต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ในเมื่อทุกอย่างเป็นสภาพธรรม เมื่อเราโกรธ

    ท่านอาจารย์ ขอโทษนะคะ เราโกรธ ผิดแล้วใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ผิด แต่เป็นสภาพจริงๆ ที่มีในชีวิตประจำวัน คือโกรธเกิดขึ้น แต่ว่าจะอยู่ในอารมณ์โกรธ

    ท่านอาจารย์ ใครอยู่

    ผู้ฟัง เรา คือมีความเป็นตัวตนที่จะอยู่ในอารมณ์โกรธ

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ กำลังโกรธ เราโกรธ เพราะไม่รู้ความจริงว่า โกรธเป็นธรรม ไม่มีเราเลย มีแต่โกรธ ถ้าโกรธไม่เกิด จะเป็นเราโกรธได้อย่างไร แต่พอโกรธเกิดขึ้นก็เป็นเราโกรธ เพราะไม่รู้ว่า โกรธเป็นสภาพธรรมที่เกิด

    ผู้ฟัง อย่างเมื่อก่อนไม่เคยรู้ตัวเลยว่า โกรธ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนรู้ค่ะ โกรธแล้วไม่รู้ได้อย่างไร เห็นแล้วไม่รู้ว่าเห็นได้อย่างไร กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่สภาพจริงๆ ของธรรม

    ท่านอาจารย์ เห็นไม่เป็นธรรม หรือคะ

    ผู้ฟัง เห็นเป็นธรรม นี่ค่ะยังไม่เข้าใจในจุดนี้จริงๆ เพราะว่าจริงๆ แล้ว การเห็น หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องแตกต่างจากปัญญารู้เห็น และปัญญารู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ พอฟังแล้วเข้าใจทันที หรือต้องฟังบ่อยๆ ค่อยๆ ไตร่ตรอง รู้ว่าเห็นขณะนี้มี กำลังเห็น จะปฏิเสธไม่ได้ แต่ไม่รู้ความจริงว่า เห็นไม่ใช่ใครเลย เป็นธาตุ หรือธรรมที่เกิดเห็นเท่านั้นเอง นี่คือการฟัง จนกว่าจะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เราเห็น เพราะเหตุว่าถ้าเห็นไม่เกิด ก็ไม่มีเห็น แต่พอเห็นเกิด ก็ไม่รู้ ก็เลยเข้าใจว่า เราเห็น ทุกอย่างที่เป็นธรรม เพราะความไม่รู้ ก็ยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด เป็นอุปาทานขันธ์ ที่ตั้งของการยึดถือว่า เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ถ้าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลย จะไปยึดถือสิ่งใดว่าเป็นเราไหม แต่พอมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ ก็เลยเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    แค่นี้ค่ะ คือไม่ต้องไปทำอะไรทั้งนั้น ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า จริง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อย่างเช่นจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วก็ดับไป แล้วจิตดวงใหม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วดับไป อย่างความโกรธเกิดขึ้นเป็นจิตหลายๆ ขณะเกิดสืบต่อ แต่ทำไมมีอารมณ์เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ทำไม หรือว่าเป็นธรรมที่เป็นจริง

    ผู้ฟัง จริงๆ จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ รู้อารมณ์ แล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นปัจจัยให้โทสะเกิด รู้อารมณ์นั้นอีกแล้วก็ดับไป จริงๆ แล้ว ๗ ขณะสืบต่อกัน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นอารมณ์ก็ไม่ดับ หรือคะ

    ท่านอาจารย์ รูปทุกรูปที่เป็นสภาวรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะตั้งต้นนับตรงไหนก็ได้ที่รูปนั้นเกิด ไม่สามารถเอาอย่างอื่นมาวัดอายุของรูปได้ นอกจากจิตซึ่งเกิดดับเร็วกว่ารูป

    เพราะฉะนั้นรูป ๑ รูปที่เป็นสภาวรูปเกิด เกิดเมื่อไรก็เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วรูปนั้นก็ดับ

    ผู้ฟัง คือเดิมทีเข้าใจว่า จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ดับไป ก็หมายความว่าหมดแล้ว แล้วเวลาจิตเกิดขึ้นก็รู้อารมณ์ใหม่ เข้าใจแบบนี้ในลักษณะของอารมณ์ที่เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาโดยละเอียด รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม จิตเกิดดับเร็วกว่ารูป ใครจะรู้ หรือไม่รู้ รูปก็เกิดแล้วก็ดับไป เมื่อจิตเกิดแล้วดับไป ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งก็ดับ ฟังให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่ให้ไปรู้อย่างนี้ แต่เข้าใจถูกว่า สภาพธรรมซึ่งเป็นรูปเกิดดับช้ากว่าจิต ๑๗ ขณะจิต

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นนามธรรมล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ชั่วอนุขณะ ๓ ขณะ คือ เกิด ตั้งอยู่ ดับไป

    ผู้ฟัง อย่างความโกรธก็เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกที่เกิดกับจิต

    ท่านอาจารย์ เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต จิตมีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง รูป ๑ รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกมีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง เจตสิกก็มีอายุเท่ากับจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตมีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นแล้วก็ดับเลย

    ท่านอาจารย์ ๓ อนุขณะ อุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ เจตสิกมีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องมี ๓ ขณะเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ นี่คือคำตอบ

    อ.กุลวิไล สืบเนื่องจากคำถามของคุณสุกัญญา จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ และรู้อารมณ์ทีละอย่าง นี่คือความเป็นจริงของธรรม แต่หลงลืมสติมาก เราอยู่ในโลกของนิมิตของสังขารธรรม ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นสืบเนื่องกันเรื่องยาวมาก อย่างทางตาขณะนี้ ถ้าศึกษาธรรมจะทราบว่า เป็นจิตที่เกิดขึ้นทางจักขุทวาร จะต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ และขณะที่รูปารมณ์เป็นอารมณ์ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นยังไม่มีคน โต๊ะ สิ่งของเลย แต่นิมิตของสังขารธรรมก็คือรูปที่ปรากฏทางตาต่อเนื่องกัน ก็เลยดูเหมือนว่าไม่เห็นลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าธรรมที่เป็นจริงก็คือปรมัตถธรรมซึ่งเล็กน้อย สั้นมาก แล้วจิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์แต่ละอย่าง แล้วก็ดับไป แต่ละทวาร อย่างเห็นทางตาในขณะนี้ ก็เหมือนไม่ดับเลย เพราะเหมือนสว่างตลอด แต่ก็มีเสียงปรากฏด้วย เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้นทางโสตทวาร หรือทางหู ซึ่งอารมณ์ก็คนละอย่างกัน แต่ความที่หลงลืมสติมาก ปัญญาก็ไม่เกิด และอยู่ในโลกของบัญญัติตลอด ก็เลยมีเรื่องราวมากมาย และสืบเนื่องกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะเข้าใจถูกต้องว่า กำลังเห็น ไม่รู้อะไรเลย คือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เห็นเลย นี่คือเกิดมาเห็น ก็ไม่รู้ความจริงเลยของสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินก็ไม่รู้ความจริงเลย ก็อยู่ในโลกของความไม่รู้

    เวลาที่เริ่มฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ไม่พ้นจากที่เราเคยไม่รู้มาก่อน เวลาเห็นแล้วไม่รู้ความจริงของเห็น นี่แน่นอน เวลาได้ยิน เวลาคิดนึก ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่พอฟังแล้วให้รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ หรือเปล่า มีผู้ตรัสรู้ความจริงอย่างนี้ ซึ่งคนอื่นเกิดมาเห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้สัจจะ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เห็น และสภาพที่เห็นเลย แต่ผู้ที่รู้ทรงแสดงความจริงว่าอย่างนี้ เพราะว่ามีเห็นจริงๆ แต่ในขณะที่เหมือนยังเห็นอยู่ตลอดเวลา มีคิดนึก เหมือนยังเห็นอยู่ แต่ก็มีเสียงปรากฏ เหมือนยังเห็นอยู่ แต่ก็มีอ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน นั่นหมายความว่า ไม่ได้รู้การเกิดขึ้น และดับไปแต่ละทาง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมให้ทราบได้ว่า ได้มีโอกาสฟังสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งยากที่จะเข้าใจได้ แต่ก็ยังมีโอกาสได้ยินได้ฟัง จะมาก จะน้อยอย่างไรก็ตามแต่ แต่ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ให้ทราบว่า เริ่มเข้าใจ แต่ไม่ใช่ให้เราไปประจักษ์การเกิดดับเพียงแค่ฟัง แต่หมายความว่า จากการไม่เคยรู้เลย เห็นเมื่อไรก็ไม่รู้ เมื่อเช้านี้ก็เห็น รู้ หรือเปล่าคะ สัจจะของเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ ความจริงแท้ของสภาพเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่รู้เลย

    ด้วยเหตุนี้มลทิน ความเศร้าหมองของใจทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากมายสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นการฟังคือเริ่มเข้าใจถูก สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก และมั่นคงที่จะฟังให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่า ถ้าไม่มีการฟัง ก็ไม่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในความจริงของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ฟัง เห็นก็ยังเหมือนเดิม มีใครรู้สัจจะ ความจริงของเห็นอย่างที่ได้ยินได้ฟัง หรือยัง ก็ยัง แต่เริ่มเข้าใจถูกว่า ใครบังคับเห็นให้เกิดขึ้นได้บ้าง ใครทำให้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้มีปรากฏให้เห็นได้ ทุกอย่างเป็นธรรม และเป็นธาตุ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีปัจจัยเกิดแล้วดับไป ไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้นก็เป็นธาตุแต่ละธาตุ ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อจากขณะก่อนจนถึงขณะนี้ ก็มีการยึดถือด้วยการทรงจำว่า ขณะก่อนเป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง และแม้เดี๋ยวนี้ที่เห็นก็เป็นเราอีก แล้วหมดไปแล้ว แต่สภาพที่จำก็ยังจำว่า เห็นก็เป็นเรา

    เพราะฉะนั้นจำทุกสิ่งทุกอย่างที่มีปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะเริ่มเข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง คำถามนี้เป็นตัวอย่างของการฟังแล้วยังไม่รู้ความจริงของเห็น หรือได้ยิน เพราะตั้งแต่มีโทรทัศน์ ก็จะได้ดูโทรทัศน์เช้า บ่าย เพราะไม่เข้าใจว่า ท่านอาจารย์ที่เห็นในโทรทัศน์กับที่เห็นท่านอาจารย์ตรงนี้ว่า ปรมัตถธรรมต่างกันอย่างไร ฟังไม่เข้าใจเรื่องการเห็น และในโทรทัศน์ก็มีท่านอาจารย์ มีเสียงท่านอาจารย์ และตรงนี้ก็มีท่านอาจารย์ มีเสียงท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวัน มีโทรทัศน์ และมีนอกโทรทัศน์ คิดเพราะไม่รู้ว่า ความจริงสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรมที่สามารถปรากฏทางตาได้ เคยจำไว้ว่า เป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดปรากฏแล้วดับ ไม่ว่าจะเมื่อไร นอกจอ ในจอ ที่ไหนก็ตามแต่ เช้า สาย บ่าย ค่ำ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธาตุ หรือธรรมที่สามารถปรากฏให้เห็น อย่างที่เคยถาม องุ่นในภาพ กับตัวองุ่นจริงๆ เป็นอะไร แล้วแต่ความคิดนึกทั้งหมด ถ้าไม่คิด ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา แค่สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วยังเป็นองุ่น ไม่ว่าจะเมื่อไร เพราะจำรูปร่างอย่างนี้ สีสันอย่างนี้ แล้วยังเพิ่มเข้าไปอีกว่า นี่ในรูป และนี่ไม่ใช่ในรูป ก็แสดงว่า เต็มไปด้วยความจำ ซับซ้อน แต่ความจริงก็คือมีองุ่นจริงๆ หรือเปล่า หรือว่ามีจิต เจตสิก รูปเท่านั้น แล้วก็จำเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้จำ ใครจะไปบังคับบัญชาสภาพธรรมไม่ได้เลย แต่รู้ตามความเป็นจริงว่า จำเป็นจำ คิดเป็นคิด เห็นเป็นเห็น แล้วเมื่อไรจริง เมื่อมีการเกิดแล้วก็ดับไป

    คิดถึงองุ่นใช่ไหมคะ มีองุ่น หรือเปล่า แต่คิดเกิดแล้วดับ และก็คิดเรื่องอื่น เพราะฉะนั้นโลกจริงๆ มี ๖ โลก และถ้าเข้าใจโลก เป็นธรรม เป็นธาตุ จริงๆ ก็คือความจริง แล้วไปยึดถือธาตุ และโลกทั้ง ๖ โลก รวมกันว่าเป็นเรา ก็แสดงว่าความไม่รู้มากมายเหลือเกิน

    อย่าลืมนะคะ ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นเราคิดธรรม เราฟังธรรม เราเข้าใจธรรม แต่ฟังจนกระทั่งไม่มีเรา แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ไม่มีเราจริงๆ เมื่อนั้นก็พ้นจากความเป็นธาตุของความติดข้อง ด้วยความเป็นตัวตน ทุกคนที่เกิดเป็นธาตุของโลภะ โดยไม่รู้ตัวเลย ชอบ กว่าจะรู้ว่า กว่าจะออกมาเข้าใจความจริง พ้นจากโลภะได้ เพราะว่าโลภะไม่ทำให้รู้ความจริงใดๆ เลยทั้งสิ้น ปิดบังสนิทด้วยความยินดี ด้วยความต้องการ ในสิ่งที่ปรากฏซึ่งเพียงเกิดแล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่จำเหมือนยังมีอยู่ ไม่ดับเลย อย่างขณะนี้ที่กล่าวถึงแต่ละคนที่ไปจำว่า มีเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเป็นเราหมด ผิด หรือถูก เห็นไหมคะ ไม่เหลือเลย ก็ยังจำว่ายังมีอยู่ ก็แสดงให้เห็นว่า อัตตสัญญาที่เคยจำมาแล้วมากมาย จนกว่าอนัตตสัญญาจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่เหลือเลย ไม่มีเลย ต้องไม่มีจริงๆ ไม่ใช่ว่า ยังไปจำไว้ว่ามี แล้วบอกว่าไม่มีเลย แต่ก็ยังจำว่ามี นั่นก็ไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าเป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ ทุกอย่าง ทุกขณะ แล้วจะเหลืออะไร

    ผู้ฟัง จุดที่ถึงว่า ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ตรงนี้ต้องมีสภาพธรรมด้วย ที่เป็นสภาพรู้ แล้วเขาก็เป็นของเขาอย่างนี้แต่ละทาง มีลักษณะเฉพาะของเขา เขาเป็นของเขาอย่างนี้เอง ต้องมีสภาพธรรมที่รู้ว่า

    ท่านอาจารย์ เริ่มจากธรรมที่เป็นรูปธรรมก่อน มีใช่ไหมคะ มี แต่ถ้ามีแต่รูปธรรม ไม่มีธาตุรู้สิ่งนั้นเลย สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ รูปธรรมปรากฏได้ไหมคะ ไม่ได้เลย เพราะรูปธรรมเกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อมีเหตุก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับ แต่ว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธาตุ หรือรูปธรรม

    ธรรมนี่หลากหลายตามประเภทของธรรมนั้นๆ อย่างแข็งไม่ใช่ร้อน แข็งก็เป็นแข็ง เกิดแล้วก็ดับไป แข็งที่เกิด จะเปลี่ยนเป็นร้อน แล้วดับ ไม่ได้ แข็งเกิดเป็นแข็ง แล้วแข็งก็ดับ ร้อนเกิดขึ้นเป็นร้อน ไม่มีใครไปทำ ฉันใด มีธาตุรู้ด้วยชึ่งเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีธาตุรู้ จะไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีสิ่งที่มีชีวิตที่เป็นคน เป็นสัตว์เลย แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีธาตุรู้ มีเห็น มีได้ยิน มีคิด เพราะฉะนั้นธาตุรู้เกิดขึ้น แต่ธาตุรู้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต และมีกิจการงานหน้าที่ของเจตสิกแต่ละเจตสิก เช่น สัญญาเจตสิก จำ ไม่ว่ามีอะไรปรากฏ ไม่ใช่เราที่จำ แต่เพราะสัญญาเจตสิกเกิด ทำกิจหน้าที่จำ ขณะไหนก็ตามที่จำ ขณะนั้นเป็นสัญญาเจตสิก แต่ก็มีธาตุที่ไม่รู้ด้วย โมหะ และอวิชชา ตรงกันข้ามกับปัญญา เพราะจะให้อวิชชาไปรู้ ไปเห็น ไปเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือว่า เป็นธรรม เป็นธาตุทุกประเภท ทุกชนิด มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา เมื่อมีความเห็นถูกต้อง ก็คือ ธรรมเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คือหนูหมายถึงว่า การพัฒนาจากจุดที่เป็นเรา ไปถึงจุดที่เป็นธรรม เราต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า เดินใกล้จุดนั้นมากขึ้นๆ ต้องมีสภาพธรรมจุดนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจศึกษา ฟังธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบขณะนี้ ต้องเคยสะสมมาแล้ว จากความเป็นปุถุชนจะถึงความเป็น

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม ได้ แต่ต้องมีเหตุปัจจัยเพียงพอ

    เพราะฉะนั้นจากการเป็นผู้ไม่เข้าใจสภาพธรรม เป็นปุถุชน แล้วก็มีโอกาสสะสมที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567