พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 462


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ยังไม่กระจ่างชัดที่ว่า มีจิตไป จิตไป แล้วเข้าใจว่า กรรมที่มีกำลังจะให้ผล แล้วไปถามถึงภพภูมิอื่นใน ๓๑ ภพภูมิ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ขณะนี้เองกำลังของกรรมก็ให้ผลอยู่แล้ว นั่นหมายถึงเห็น ได้ยิน เป็นผลของกรรมอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดจะไปไหน ซึ่งเมื่อตายโดยสมมติ เปลี่ยนภพภูมิใหม่ ก็ไปเห็น ได้ยินตามกำลังของกรรมเช่นนี้แหละ ฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ยิน แล้วก็ได้ยิน อะไรทำให้ได้ยิน แค่เพียงโสตปสาทกับรูปที่กระทบกันเท่านั้น หรือ หรือเพียงแค่เสียงกระทบกับโสตปสาท ก็ยังไม่สามารถมีเสียงปรากฏได้ จนกว่าจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง แล้วเลือกได้ไหมว่า จะได้ยินเสียงอะไร ไม่ได้ เสียงที่น่าฟังก็มี และเสียงที่ไม่น่าฟังก็มี และขณะนั้นเสียงนั้นเป็นอย่างนั้น ถึงกาลที่กรรมจะทำให้ยินเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น กรรมเป็นปัจจัยทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้นตรงโสตปสาท ซึ่งก่อนนั้นจิตไม่ได้เกิดตรงโสตปสาทรูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่จิตได้ยิน จิตก่อนนั้นก็เกิดที่อื่น เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมทำให้ได้ยินเสียงนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเดินทางจากที่เก่ามาสู่โสตปสาทที่จะได้ยิน แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมากตามปัจจัย กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อเกิดแล้วต้องเป็นไปตามการสะสมของกรรม คือ เกิดมาแล้วต้องเห็น เพราะฉะนั้นเห็นเป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร เหล่านี้ ถึงกาลที่กุศลกรรมให้ผล สิ่งที่กระทบเป็นสิ่งที่ดี กรรมที่ทำให้เห็น หรือได้ยิน รู้สิ่งที่ดีที่ปรากฏ ก็ต้องเป็นผลของกุศลที่ได้ทำแล้ว โดยที่ใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือบังคับให้เกิดก็ไม่ได้ ขณะนอนหลับสนิท คนไม่หลับ ได้ยินอะไรเยอะแยะ แล้วก็เห็นด้วย แต่คนหลับสนิท ไม่ถึงกาลที่กรรมนั้นจะทำให้เห็น หรือได้ยิน ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมมีปัจจัยจึงเกิด แล้วก็เกิดเป็นไปตามปัจจัยนั้นด้วย ถ้าไม่มีปัจจัยนั้นๆ สภาพธรรมนั้นๆ จะเกิดไม่ได้เลย ไม่ต้องไปคำนึงถึง หรือไปใช้คำเหมือนกับว่า ตายแล้วไปไหน หรือตายแล้วไปเกิดที่โน่นที่นี่ แต่ความจริงจิตเกิดแล้วดับ แล้วจิตขณะต่อไปก็เกิด เพราะจิตก่อนเป็นอนันตรปัจจัย ทำให้จิตขณะต่อไปมีกำลังที่สามารถทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น

    ลองคิดถึงนามธรรม ธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่มีรูปร่างเลย ใครไปทำให้สิ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เราอาจจะคิดว่า เราทำรูปต่างๆ ได้ แต่มีใครจะทำนามธรรมสักอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ไหม และนามธรรมก็เป็นธาตุรู้ ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็เกิดไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นใหญ่ ไม่มีใครสามารถบังคับ หรือเปลี่ยนแปลงได้ เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครไปทำให้นามธรรมเกิดขึ้นได้เลย แต่มี เพราะมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และเจตสิกซึ่งเกิดแล้ว ก็เป็นอนันตรปัจจัย ไม่ต้องไปอาศัยปัจจัยอื่นเลย แต่ปัจจัยที่จิต และเจตสิกที่เกิดแล้วนั่นเองดับไป ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แค่จิตเกิดแล้วดับ ยังสามารถเป็นปัจจัยที่มีกำลังทำให้นามธรรมเกิดต่อได้

    นี่คือธรรม แต่ใครก็ทำไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า จิตนี้วิจิตร ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความคำว่า “วิจิตร” ด้วย

    ท่านอาจารย์ วิจิตร แปลว่า ต่างๆ ใช่ไหมคะ คุณนิภัทร

    ผู้ฟัง ทีนี้ในขณะจิตเดียวก็มีอารมณ์หนึ่ง อีกขณะจิตหนึ่งอาจจะเปลี่ยนอารมณ์หนึ่งก็ได้ อันนี้เรียกว่า จิตนี้วิจิตร หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์วิชัยพูดเมื่อครู่ว่า จิตนี้หลากหลาย หลากหลายอย่างไร แสดงถึงความวิจิตรของจิต หรือเปล่า

    อ.วิชัย วิจิตร แปลว่า ต่างๆ ก็มีจิตหลายประเภท ตามสัมปยุตตธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี จิตเกิดขึ้นทีละขณะก็ต่างๆ ตามธรรมที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ดิฉันมีความคิดว่า วิจิตร คือ ตัวเราเองบางครั้งก็ไม่รู้ว่า คิดเรื่องอะไร ความฟุ้งซ่านเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการไปรู้จิตคนอื่นยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย อันนี้คือจิตนี้วิจิตร แม้แต่ตัวเองในขณะจิตหนึ่งๆ เราก็ยังไม่รู้ ด้วยความที่ปัญญายังไม่เกิดที่จะระลึกรู้สภาพของจิต

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีจิตคุณสุรีย์ และไม่มีจิตใคร แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามการสะสมแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น จึงรู้ว่า เพราะสะสมมา แต่ถ้ายังไม่เกิด ความริษยา ความตระหนี่ ความสำคัญตน ถ้าไม่เกิดขึ้น จะรู้ไหมว่า ยังมีอยู่ หรือหมดไปแล้ว

    อ.วิชัย ความวิจิตร กล่าวคือ เป็นธรรมที่วิจิตรอย่างหนึ่ง คือ จิต และเป็นธรรมที่กระทำให้วิจิตรอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่วิจิตร เพราะเหตุว่ามีสัมปยุตตธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ทำให้จิตนั้นต่างๆ กันออกไป และเป็นธรรมที่กระทำให้วิจิตร ที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ คือมีการกระทำต่างๆ หลากหลาย เพราะมีจิตที่วิจิตรนั่นเองที่ทำให้มีการกระทำ ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ วิจิตรตามจิตที่เกิดขึ้น จิตก็เป็นสภาพที่วิจิตรอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่กระทำให้วิจิตรอีกอย่างหนึ่ง

    อ.ธีรพันธ์ เมื่อวานก็สนทนาเรื่องจิต ที่ได้ฟังมาท่านก็ใช้คำที่แสดงว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร เพราะว่าเป็นธรรมนั่นเอง จิตเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ หรือคิดนึก ก็ไม่ใช่เรา หรือแม้แต่การเห็นในขณะนี้ มีคิดนึกสลับด้วย เห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน ยังไม่ต้องเรียกชื่อ ก็เป็นจิตคิดแล้ว แต่จะคิดเป็นคำ หรือรู้เป็นสัณฐาน นี่คือจิตคิดแล้ว แต่ว่าไม่ใช่ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้งโดยสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย ก็ลึกซึ้งโดยกิจ พระสูตรก็ลึกซึ้งโดยอรรถ ลึกซึ้งทั้งหมดเลย

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมีจริงอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นลักษณะของปรมัตถธรรม อย่างเช่นลักษณะเห็น พอเราเห็นแล้วเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นสภาพคิดถึงสิ่งที่เห็นนั้นต่อเลย ที่จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ คือ สภาพเห็นแล้วคิดเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กับสภาพคิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้เอง แน่นอนที่สุดที่คุณสุกัญญากล่าวถึงเมื่อกี้นี้ มีเห็น ถูกต้องใช่ไหมคะ แล้วเวลารู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็เพราะคิด ถ้าไม่คิด ก็เป็นเพียงสิ่งที่กระทบปรากฏเท่านั้นเอง แล้วก็ยังมีคิดเป็นเรื่องราวด้วย ก็ต่างกันไป

    ผู้ฟัง แต่ว่าสภาพคิดนึก ถ้าสมมติว่าคิดเป็นเรื่องราว เหมือนกับนึก คิด จากการศึกษา ก็เหมือนกับมีลักษณะการตรึกถึงเรื่องราวต่างๆ แต่สภาพคิดเมื่อเห็นแล้วเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะไม่คิด หรือนึกว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

    ท่านอาจารย์ จำเป็นที่ต้องฟัง แล้วพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเปล่า เพราะเวลาคิด คุณสุกัญญามักจะคิดเป็นคำๆ คิดเป็นเรื่อง แต่ยังไม่เป็นคำ ก็เห็น และหลังเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นอะไร ทำไมถึงรู้ว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง คือเป็นปกติ ถ้ามีตาก็เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ หมดแล้ว เห็นแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ยังไม่ใช่ลักษณะของจักขุวิญญาณเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ภาษาไทย มีคำว่า “จักขุวิญญาณ” ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่เห็นมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะใช้ภาษาไทยสำหรับคนไทย ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ แล้วเป็นภาษาอื่น ก็แล้วแต่ว่าจะใช้ภาษาอะไร ให้เข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นเพียงเห็นก็ต้องเข้าใจว่า กำลังพูดถึงเห็นเท่านั้น เห็นจริงๆ ๑ ขณะ ไม่ใช่ขณะอื่น และเห็นแล้วรู้ว่าที่เห็นเป็นอะไร ก็ต้องต่างกัน เพราะฉะนั้นเห็นแล้วรู้ แล้วก็ยังคิดเรื่องราวของสิ่งที่เห็น เป็นเรื่องราวต่างๆ ก็ต่างกันอีก

    เพราะฉะนั้นนี่คือการเกิดดับสืบต่อในขณะนี้เอง อย่างรวดเร็วมากในขณะนี้เอง และเป็นความจริงอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ฟังก็ไม่เข้าใจ แล้วคิดว่า พอเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นอะไร แต่เมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้การเกิดดับสืบต่อของจิตอย่างเร็วมาก เพราะเห็นจะทำหน้าที่อื่นไม่ได้เลย เห็นคือเห็น กำลังเห็น ไม่ใช่คิด ไม่ใช่กำลังรู้ว่าเป็นอะไรด้วย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นลักษณะของเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นลักษณะของคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยที่ไม่รู้ว่าคิด ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาฝัน กำลังฝัน เห็นอะไร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เห็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะคะ

    ผู้ฟัง ฝัน นี่คือไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วฝันเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ฝันเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ เป็นคิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นคิดค่ะ

    ท่านอาจารย์ คิดถึงรูปร่าง จึงปรากฏเหมือนเห็น เพราะจำสิ่งที่เคยเห็นรูปร่างอย่างนั้น จำได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่ฝัน ก็คือขณะที่กำลังจำ แล้วก็รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น

    ถ้าไม่เทียบกับฝัน ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ฝันไม่ใช่กำลังเห็น อย่างขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เห็นอย่างฝัน แต่เมื่อเห็นแล้ว ทำไมรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แล้วจำได้ แล้วพอคิดถึงรูปร่าง ก็เป็นเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในฝัน เหมือนกับขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็คิดเพราะจำ รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ในฝันก็รู้ว่า เห็นอะไร ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่มีเห็นเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วปรมัตถธรรมจริงๆ แล้วอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริงไหมคะ

    ผู้ฟัง มีจริงค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ความหมายของปรมัตถธรรมคือ ธรรมชึ่งไม่มีใครจะสามารถเปลี่ยนได้ ไม่ใช่สิ่งที่ใครคิดขึ้นให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ แต่ลักษณะของธรรมขณะนั้นเป็นอย่างนั้น คือ เห็นเป็นเห็น

    ผู้ฟัง อย่างขณะฝันล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ฝันคือคิด เพราะจำได้ในสิ่งที่เคยเห็น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ แล้วมีจริงๆ ก็คือคิด

    ท่านอาจารย์ คิดกับจำ ขณะนี้ก็มีจำด้วย

    ผู้ฟัง ทีนี้สภาพของวิตกเจตสิกที่ตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ในเมื่อวิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็มีลักษณะเฉพาะ จริงๆ แล้วเราเองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ลักษณะที่แท้จริงของวิตกเจตสิกเป็นอย่างไร แต่เมื่อตรึกนึกถึงเรื่องราว โดยมีสัญญาที่จำรูปร่างสัณฐาน ซึ่งเราคิดว่า เราคิด ก็อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จะเข้าใจประเด็นนี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมดมีเท่าไรคะ

    ผู้ฟัง ๕๒ ประเภท

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ ๕๒ ประเภท หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็รู้ไม่ได้หมด

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้อะไรได้

    ผู้ฟัง รู้สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เพราะจิตรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง จิตรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ หมายถึงว่าถ้าคิดนึกเรื่องราว จิตก็รู้แจ้งในสิ่งที่คิดนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ จิตเป็นธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่จิตกำลังรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง แม้ว่าจิตที่คิดนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท รวมทั้งวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เจตสิกแต่ละชนิดก็เกิดขึ้นทำกิจของเจตสิกนั้นๆ โดยจิตรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเจตสิกก็ทำกิจของเจตสิกตามที่กำลังรู้อารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง ถ้าขณะที่รู้อารมณ์ของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึก เช่น โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น และจิตก็รู้แจ้งในอารมณ์นั้น ทุกคนก็ยอมรับว่า โทมนัสเวทนาเกิดขึ้นจริงๆ แล้วทุกคนรู้จัก และจิตที่เกิดขณะนั้น ก็คือรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น ก็หมายความว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นลักษณะหนึ่งของเจตสิกชนิดหนึ่ง ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ความปวด ความเจ็บ มีจริง เป็นจิต หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จิตเห็น แล้วก็รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะที่กำลังเห็น นี่คือจิต รู้สึกอย่างไรคะ เวลาเห็น

    ผู้ฟัง รู้สึกเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เฉยๆ มีจริงๆ ถามว่ารู้สึกอย่างไรก็ตอบว่า เฉยๆ เฉยๆ เป็นจิต หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เฉยๆ ไม่ใช่จิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเฉยๆ ต่างกับจิตซึ่งกำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความรู้สึกเฉยๆ เกิดกับจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้นความรู้สึกนั้นก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    จิตเห็น คิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จิตเห็น เห็นอย่างเดียว ไม่คิด

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นไม่คิด เพราะฉะนั้นจิตคิด ไม่ใช่จิตเห็น จิตคิด เรามีความสามารถเพียงรู้ว่า จิตคิด เรามีความสามารถรู้ว่า ขณะนี้จิตเห็นกำลังเห็น แล้วจิตคิดกำลังคิด รู้แค่นี้ เราจะไปรู้ถึงวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก หรือเจตสิกอื่น อธิโมกขเจตสิก ฉันทเจตสิกที่เกิดกับจิตที่คิด หรือเปล่า แล้วทำไมเราจะมานั่งคิดแต่เรื่องวิตกเจตสิกๆ เพียงชื่อ แต่ในขณะนี้เท่าที่จะรู้ได้ ก็คือจิตเห็นไม่ใช่จิตคิด

    เพราะฉะนั้นจิตคิดต้องมีเจตสิกอื่นที่จิตเห็นไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปนั่งนึกว่า แล้วมีเจตสิกอะไรบ้างที่เกิดกับจิตขณะที่คิด มากมายค่ะ เพียงเท่าที่สามารถรู้ได้ว่า คิดไม่ใช่เห็น

    อย่างความรู้สึก ถามว่า รู้สึกอย่างไรในขณะที่เห็น ตอบว่าเฉยๆ ต้องไปใส่ชื่อไหมคะ อุเปกขาเวทนา แล้วก็มีสหคตัง หรืออะไรเกิดร่วมด้วย ก็ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่ฟังธรรมบ่อยๆ ทุกวัน ก็เพื่อทำให้เห็นความจริงว่า ธรรมเป็นธรรม หลงยึดถือธรรมด้วยความไม่รู้ว่า เป็นธรรม มานานมาก

    เพราะฉะนั้นการฟังก็เพื่อให้เห็นถูกต้อง แม้เพียงทีละเล็กทีละน้อยในขั้นฟัง แต่ความละเอียดก็จะทำให้รู้ความต่างกัน เช่น จิตเห็นกับจิตคิด ยังไม่ทันรู้ว่ามีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยมากน้อยเท่าไร แต่ก็เริ่มเข้าใจถูกว่า เห็นไม่ใช่คิด

    ผู้ฟัง อย่างเรารู้ เราคิด ก็ยังไม่ใช่ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ก็มีแต่เรา ฟังก็เป็นเรา เราจะรู้วิตก เราจะรู้วิจาร แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม เกิดดับเร็วมาก แล้วธรรมที่เกิดดับก็หลากหลายมากตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่จิตก็ยังต่างกันเป็นหลายประเภท เช่น ขณะที่พอเข้าใจได้ คือ ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด และมีสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างกันด้วย

    นี่คือขั้นความเข้าใจ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ความเป็นธรรมว่า แม้คิดก็ไม่ใช่เรา

    ก็ให้ทุกคนได้เข้าใจ ค่อยๆ พิจารณา เวลาฝัน ไม่ได้มีสิ่งที่ปรากฏอย่างในขณะนี้ แต่มีความจำ จึงทำให้คิดถึงสิ่งที่จำได้ เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แยกไปส่วนหนึ่งเลย ดับไปแล้ว แต่เพราะจำสิ่งที่ปรากฏนี่แหละ รูปร่างสัณฐานต่างๆ ทำให้สามารถนึกคิดเมื่อไรก็ได้ แต่ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้คิดอย่างในฝันเลย เพียงแต่ว่า แล้วแต่สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอะไร ก็คิดตามสิ่งที่ปรากฏทางตา อย่างเห็นคนวิ่ง มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้จำได้ว่า เป็นคน และกิริยาท่าทางเป็นอย่างนั้น แต่ในฝัน จะฝันถึงอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่จะให้คิดเหมือนขณะนี้ เพราะมีสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้ จึงคิดอย่างนี้ แต่ในฝัน ไม่มีอะไรปรากฏให้ต้องฝันอย่างนั้น แต่เพราะเหตุว่าจำไว้ก็เลยฝันเป็นเรื่องราวต่างๆ

    ที่กล่าวถึงการดูภาพยนตร์เป็นเรื่อง แต่จริงๆ แล้วเราคิดถึงกิริยาท่าทาง อาการ คำพูดที่เรามองเห็นเป็นบุคคลต่างๆ แต่ความจริงถ้าไม่มีรูปภาพแต่ละรูป ซึ่งฉาย แล้วก็เปลี่ยนไปอย่างเร็วมาก ก็จะไม่ปรากฏว่าเป็นคนที่สามารถพูด หรือเดิน หรือทำอะไรได้เลย ฉันใด ขณะนี้จิต และเจตสิกดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้วอย่างเร็วมาก มากกว่าที่ใครจะประมาณได้ ทำให้ปรากฏเหมือนมีคนที่นั่งอยู่ แล้วก็พูด แล้วก็ทำต่างๆ เหมือนอย่างนั้นเลย

    นี่เพียงเปรียบเทียบให้เห็นว่า แท้ที่จริงเวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ เราสนใจ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นภาพต่างๆ แต่ความจริงต้องมีธรรม หรือธาตุซึ่งทำให้สิ่งนั้นปรากฏ แต่เพราะการเกิดดับอย่างเร็วมากทำให้มีการเปลี่ยนแปลงว่า เป็นคนแต่ละคน มีกิริยาอาการต่างๆ กันไป

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เหมือนอย่างนั้นเลย กำลังดูภาพยนตร์ แต่จริงๆ เพราะจิต เจตสิกเกิดดับเร็วมาก จนทำให้จำไว้ว่า ที่เห็นก็คือเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่เบื้องหลังลึกๆ ลงไปก็คือ จิต เจตสิกเกิดดับ จึงทำให้ปรากฏเป็นนิมิต สัณฐานต่างๆ ได้

    อ.กุลวิไล แล้วถ้ากระทบสัมผัส ก็จะเห็นลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งรู้ได้ทางกายเท่านั้น ดูเหมือนมีคนมากมาย แต่ถ้ากระทบสัมผัสแล้วก็ไม่พ้นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดูที่จอหนัง ก็เหมือนดูสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ผมขอเรียนถามเกี่ยวกับสติ สัมปชัญญะ และสัมมาสติ ซึ่งเป็นมรรคหนึ่งในมรรค ๘ ว่า ความเกี่ยวข้องของทั้ง ๓ หมวดธรรมนี้ จะแตกต่างกันอย่างไรครับผม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567