พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 474


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๗๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็ให้รู้จักธรรม เพื่อละความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าปัญญาเหมือนแสงสว่างที่เข้าใจถูก เห็นถูก ถ้าเป็นความมืดจะมองเห็นไหมว่า ขณะที่กำลังโกรธ ไม่พอใจ ขุ่นเคืองใคร คนนั้นไม่ดี ความจริงธาตุที่กำลังโกรธนั้นเป็นธาตุเลว ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่สามารถรู้ได้เลย

    เพราะฉะนั้นมี ๒ อย่าง ความมืดกับความสว่าง อวิชชาไม่สามารถเห็นถูกว่า ธรรมใดดี ธรรมใดปานกลาง หรือธรรมใดเลว ใช่ไหมคะ แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ธาตุเลวเกิดขึ้น เป็นเรื่องของธาตุเลวทั้งนั้นเลย เหมือนคนตาบอดตีรันฟันแทงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ชอบคนนี้ ชอบคนนั้น ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ตาบอดสนิท แต่ก็เต็มไปด้วยธาตุเลว จนกว่าจะได้ฟังธรรมแล้วสามารถสะสมกุศลอื่นๆ เกิดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นเพียงแค่ธาตุปานกลาง ไม่ประณีต แต่ก็สามารถจะอบรมจนกระทั่งสามารถถึงธาตุที่ประณีตได้ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ขณะนี้เห็นเป็นเห็น หลังจากเห็นแล้ว ความประพฤติเป็นไปของขันธ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ขณะนี้เป็นขันธ์อะไรเกิด หรือว่าเป็นธาตุระดับไหนเกิด

    ผู้ฟัง พอดีสอดคล้องกับเมื่อวานบ่ายได้เรียนลักษณะของจิตที่ ๒ ที่ว่า สั่งสมสันดานด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ตอนนี้ท่านอาจารย์ก็พูดถึงการสะสม คำถามของหนูก็สงสัยว่า ดูเหมือนธาตุเลวจะมีมาก และสะสมไว้มาก เป็นเหตุให้ธาตุเลวเกิดบ่อยขึ้นอีก ในขณะที่ธาตุกุศล ธาตุปานกลาง หรือธาตุประณีตต้องอบรมเจริญปัญญา จึงจะเกิดขึ้นเพื่อเข้าใจความจริงจนกระทั่งออกจากวัฏสงสารได้ คำถามก็คือว่า ธรรมชาติตามความเป็นจริงเหมือนมีธาตุเลวโดยอัตโนมัติ

    ท่านอาจารย์ เป็นใคร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ใคร แต่ว่าเยอะมาก

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาวัชพืชเกิดมาก หรือต้นไม้ที่เราต้องดูแลอย่างดีเกิดมากกว่ากัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นธาตุเลวก็เปรียบเหมือนวัชพืช

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไรก็เป็น จะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา แต่ว่าเป็นธรรมซึ่งทรงแสดงโดยนัยต่างๆ แม้แต่เพียงคำเดียวว่า “ขันธ์ที่เกิดแล้ว” ถ้าเข้าใจจริงๆ ในขณะนี้ ขณะก่อนๆ และถอยไปแสนโกฏิกัปป์ และต่อไปข้างหน้าด้วย

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นธรรมเตชะ เตชะ คือ เดชที่สามารถเผาสิ่งที่เป็นข้าศึก ไม่มีคนเลย แต่เป็นธาตุ เพราะฉะนั้นถ้าได้ฟังธรรม และเข้าใจขึ้น ก็จะเห็นได้จริงว่า พระธรรมที่ทรงแสดงสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมที่เผาธรรมที่เป็นข้าศึกได้

    เวลานี้ไม่เป็นข้าศึกกับโลภะ ใช่ไหมคะ เคยเป็นข้าศึกกับโลภะ หรือเปล่า เคยเป็นข้าศึกกับโทสะ หรือเปล่า โทสะเกิดก็เป็นไปตามโทสะ เป็นข้าศึกกับโทสะ หรือเปล่า เป็นข้าศึกกับโมหะ หรือเปล่า ความไม่รู้ ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏ แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียด เป็นผู้ที่ตรงด้วยความเคารพ คือ ฟังแล้วมีจิตน้อมไป หรือเป็นจิตที่อ่อนโยนที่จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ฟัง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังทั้งหมด เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่ธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติตามนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเคยอยู่ในความมืด รบราฆ่าฟันในความมืดมามากมาย หรือแม้ทุกวันนี้ก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะเกิด แล้วแต่จะเป็นอะไร ขณะนั้นก็แล้วแต่ แต่เวลาที่เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ก็สามารถเพิ่มกำลังของการสามารถเผาสิ่งที่เป็นข้าศึกได้ แต่ต้องรู้ก่อนว่า อะไรเป็นข้าศึก ยังไม่รู้ หรือว่ารู้คะ ยังไม่รู้ ฟังแล้วมีข้าศึกไหมคะ ข้าศึกไม่เคยนำสิ่งที่ดีมาให้เลย ศัตรูทำร้ายทำลาย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ใครคนหนึ่งคนใด เห็นข้าศึก หรือยัง เป็นคนที่เราไม่ชอบ หรือว่าเป็นจิตที่เป็นข้าศึก ถ้าเป็นอวิชชา ความมืด ไม่สามารถเห็นขันธ์ที่เกิดแล้วในขณะนั้นว่าเป็นขันธ์เลว

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วธรรมไม่ได้ให้เราไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น แต่ปัญญาเกิดขึ้น แล้วก็เห็นความจริง แล้วสามารถอบรมเจริญธรรมปานกลางก่อน ใช่ไหมคะ จากเลวจะไปถึงธรรมประณีตเลยทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ถ้าอย่างนั้นก็ขอให้เข้าใจความหมายของ “ธรรมปานกลาง” ขึ้นอีกนะคะ กำลังเห็นเป็นธรรมอะไร มีธรรมเลว คืออกุศลธรรม มีธรรมที่ประณีต คือ โลกุตตรธรรม นอกจากนั้นเป็นธรรมปานกลางทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นเราก็อยู่ธรรมเลวกับธรรมปานกลาง จนกว่าจะมีกำลังจนสามารถเผาสิ่งที่เป็นข้าศึกได้

    เห็นเป็นธรรมอะไรคะ ปานกลาง เห็นแล้วกุศลจิตเกิด กุศลจิตที่เกิดเป็นอะไรคะ ปานกลาง เห็นแล้วไม่ชอบสิ่งที่กำลังปรากฏ เดือดร้อนขุ่นใจ เป็นธรรมอะไรคะ เป็นธรรมเลว อยู่ที่ไหนคะ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังแล้ว จากที่เคยมีความประพฤติเป็นไปที่เป็นธรรมเลว มีการวิรัติทุจริต ไม่ทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรม มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือ มีความเมตตามากขึ้น ขณะนั้นเป็นธรรมอะไร ธรรมปานกลาง แต่ว่าศีลเป็นจรณเดช ความประพฤติเป็นไปที่สามารถเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ดีขึ้น

    ทุกคนก่อนฟังธรรม มีกาย วาจาที่ดี หรือเปล่า ดีก็มี ไม่ดีก็มี แต่จะรู้ได้โดยอัธยาศัย คนนี้เวลาพูด มักจะพูดอย่างไร เสียงมักจะเป็นอย่างไร มีการดุ มีการใช้บุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นธรรมอะไรคะ เป็นธรรมเลว แต่ถ้าเข้าใจขึ้นก็เห็นโทษของธรรมเลว เลวอยู่ตลอดตั้งแต่เกิดมา กาย วาจา ใจ เลวหมด เลวมานานแล้วด้วย แล้วยังอยู่ในความเลวต่อไป ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถค่อยๆ จากธรรมเลว มีธรรมปานกลางเพิ่มขึ้น ทางกาย ทางวาจา

    เพราะฉะนั้นศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ละเว้นทุจริต เป็นวิรตี เป็นวิรัติ กับศีลที่ประพฤติเป็นไปเพื่อประโยชน์ อันนั้นก็มี ๒ อย่าง ทั้งฝ่ายที่เว้น และฝ่ายที่ทำ เป็นจรณเดช มีกำลังไหมคะ เปลี่ยนแปลงจากการที่เป็นคนดุ เป็นคนร้าย มาเป็นคนที่คิดถึงคนอื่น และไม่ทำร้ายคนอื่น แม้เพียงโกรธ ไม่โกรธได้ ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นลำดับขั้นของธรรมที่เกิดจากการเข้าใจธรรม แต่ทั้งหมดนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นเวลาที่อ่านพระไตรปิฎก ไม่ใช่เพียงผ่านคำ ผ่านชื่อ แต่ต้องรู้ด้วยว่า ทุกคำแสดงถึงสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ สืบต่อมาตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์จนถึงแม้ขณะนี้ ก็คือความเป็นไปของขันธ์นั่นเอง ไม่มีความเป็นเรา หรือความเป็นใครเลย

    ต่อไปนี้จะมี “จรณเดช” ไหมคะ ถ้ามีปัญญาที่เห็นว่า เป็นธรรมเลว ไม่ควรมีให้มากขึ้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ มีแต่ธรรมเลว ก็จะมีจรณเดช คือ เรื่องของกาย วาจา ซึ่งมีความประพฤติเป็นไปในทางที่มีกำลังสามารถละทุจริต แม้วาจาทุจริต ทางกาย ทางวาจา

    ทุกคำในพระไตรปิฎก กล่าวโดยนัยของพระวินัย กล่าวโดยนัยของพระสูตร กล่าวโดยนัยของพระอภิธรรม ก็คือความจริง ซึ่งถ้าเราได้เข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะกว่าจะสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ต้องเป็นการอบรมพร้อมทั้งกุศลขั้นอื่นๆ ด้วย เพราะเหตุว่าถ้ามากมายหนาแน่นไปด้วยอกุศล และจุดสุดท้ายเพื่อดับกิเลส แล้วจะไปดับได้อย่างไร ถ้ามีอกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ความประพฤติทางกาย ทางวาจา บางคนระงับได้ ใช่ไหมคะ แต่ใจเป็นอย่างไร ใจก็ยังเป็นธรรมเลว เพราะฉะนั้นจึงมีคุณเดช หมายความถึงความสงบของจิต แม้จะไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา แต่ขณะนั้นจิตใจที่เป็นอกุศลยังเป็นธรรมเลว แต่ถ้าขณะนั้นเป็นกุศล ระหว่างโทสะกับเมตตา เมตตาไม่ได้ทำร้ายเลยสักขณะเดียว แต่โทสะแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นศัตรู ซึ่งคุณเดชสามารถเผา คือไม่ให้เกิดขึ้นในขณะนั้นได้

    ลองคิดถึงธาตุที่มีเดช หรือเป็นเดชที่มีกำลัง มีอำนาจ มีอะไรจะทำลายสิ่งที่เป็นรูปในขณะนี้ได้บ้าง อย่างกระดาษ จะทำลายให้หมดไป หรือต้นไม้ใบหญ้า หรืออะไรก็ตามที่จะทำลายให้หมดไป มีอะไรที่จะทำลายได้ ถ้าไม่ใช่ไฟ หรือสิ่งที่สามารถเผาสิ่งที่เป็นข้าศึก

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถเผาสิ่งที่เป็นข้าศึก ก็คือธรรมฝ่ายดีตามลำดับขั้น ตั้งแต่ศีลจนกระทั่งถึงความสงบของจิต พอไหม ไม่มีทางเลยค่ะ เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อไฟที่จะเกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้เข้าใจ “เตชะ” หรือ เดชขั้นต่อไป คือ ปัญญาเดช ความเห็นถูกต้อง แต่ที่จะเป็นปัญญาเดชได้ คือ วิปัสสนาญาณ

    ขณะนี้เป็นผู้ศึกษา เป็นเสกขะ หรือเป็นกัลยาณปุถุชน ซึ่งถ้ามีความเห็นถูกต้องเป็นหนทางที่สามารถมีปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม ค่อยๆ ละความเห็นผิด และความไม่รู้ จากการที่เราฟังธรรม แล้วฟังแล้วก็ลืมๆ แต่จากการฟังอีก ฟังอีก ฟังอีก สิ่งที่เคยลืมเสมอก็จะค่อยๆ มั่นคงขึ้น

    ด้วยเหตุนี้ธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่ขาดการฟัง และเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เกื้อกูลสะสมให้ถึงวิปัสสนาญาณได้ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริง การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเราอยากรู้ บางคนถามว่า ทำอย่างไร ก็แปลว่า ไม่ได้เข้าใจธรรม แม้แต่คำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ความเป็นไปของขันธ์ในอดีตแสนโกฏิกัปป์จนถึงขณะที่ถามว่า ทำอย่างไร ความคิดนั้นมาจากไหนแม้แต่ที่จะถามว่า ทำอย่างไร ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อนานแสนนานมาแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้ขณะนี้เป็นขันธ์ที่เกิดแล้ว คิดแล้ว พูดแล้ว เกิดแล้ว ตามที่เคยสะสมมา ตามความประพฤติของขันธ์

    เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นความประพฤติของขันธ์ มีใครมีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงความประพฤติที่เคยประพฤติมาให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่มีความเป็นตัวตนเลย เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นธรรมเดช ที่สามารถทำให้เผาสิ่งที่เคยเป็นอกุศล แล้วเกิดบ่อยๆ จนสามารถถึงวิปัสสนาญาณได้ เป็นปัญญาเดช

    ขณะที่กำลังฟังขณะนี้เป็นปัญญาเดช หรือยัง ปัญญาเดช คือ วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นคำว่า “เดช” ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่เป็นธรรมที่สามารถเผาวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ก็ยังไม่ใช่ปุญญเดช ปุญญ คือ การขัดเกลา ที่ใช้คำว่า “บุญ” บางทีเราก็ใช้บุญกับกุศล คล้ายๆ กัน เพราะว่ากุศล หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย แต่บุญหมายความถึงสภาพธรรมที่ขัดเกลาอกุศล

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตที่ดีงามเกิดขึ้น มีการช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะนั้นขัดเกลาอะไร หรือเปล่า หรือสามารถขัดเกลาความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะรู้ความจริงว่า ธรรมแต่ละลักษณะ มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง เป็นขันธ์ที่เกิดแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ ขันธ์ใดเกิดเป็นอย่างไร ก็เป็นขันธ์นั้นอย่างนั้น เปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ก็ตาม

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า เมื่อไรถึงอริยมรรค เมื่อนั้นคือการขัดเกลาที่เป็นเดช ปุญญเดช สภาพธรรมนั้นจะไม่เกิดอีกเลย ที่ได้ขัดเกลาแล้ว หรือที่ได้เผาแล้ว

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของสภาพธรรมที่อะไรจริงๆ ที่มีกำลัง ที่สามารถเผาธรรมที่เป็นข้าศึกได้

    เดี๋ยวนี้เป็นอะไรคะ อปุญญเดช หรือเปล่า มีอีกเดชหนึ่ง คือ อปุญญเดช อกุศลทั้งหลายมีกำลัง หรือเปล่า นั่นแหละค่ะ เพราะฉะนั้นเผาอะไร ก็เผากุศล ถ้ากำลังขุ่นเคืองใจ อปุญญเดช ไม่ยอมเลิก แต่ปุญญเดช คือ อริยมรรคเกิดขึ้นสามารถดับอกุศลเป็นสมุจเฉทได้ แต่ก่อนนั้นต้องมีปัญญาเดชก่อน คือ ปัญญามีกำลังพอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นขันธ์ที่เกิดแล้ว ไม่ใช่ใครเลย และขันธ์ที่เกิดแล้ว ที่โกรธ ขุ่นเคืองไม่พอใจ ก็เป็นธรรมเลวด้วย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด ธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณา เป็นธรรมเดช ที่จะทำให้ผู้ฟังไตร่ตรอง แล้วค่อยๆ เข้าใจความจริงของธรรมนั้น เพราะว่าคิดเองได้ไหมคะ ไม่มีทางเลย

    ผู้ฟัง รบกวนให้ท่านอาจารย์ให้รายละเอียดอีกครั้งหนึ่งให้รู้จักขันธ์ตามที่ท่านอาจารย์บรรยาย

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ ตอบโดยชื่อ คล่องกันทุกคน แล้วขณะนี้เป็นขันธ์ หรือเปล่า ก่อนอื่น ขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง ถ้าจิตเห็น ก็เป็นวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบโดยชื่อ ก็แสดงว่าไม่ได้รู้จักขันธ์ รู้จักชื่อขันธ์ จำชื่อขันธ์ เข้าใจความหมายของชื่อของขันธ์ แต่ว่าไม่ได้รู้จักสักขันธ์เดียว ใครรู้จักรูปขันธ์บ้าง ได้ยินเสียง เสียงมีจริงๆ เสียงเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่รู้จักรูปขันธ์ หรือเปล่า ก็เสียง ผ่านไปโดยไม่มีความรู้ใดๆ เลยทั้งสิ้น เสียงเกิดแล้วดับ

    ถ้าขณะนี้จะกระทบกับสิ่งที่อ่อน หรือแข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้ลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เหมือนกับว่ามีใครบ้างที่ไม่ได้ยินเสียง เหมือนกันเลย ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นรู้จักขันธ์ อ่อน หรือแข็งว่าเป็นขันธ์ หรือเปล่า หรือว่ารู้เพียงว่าอ่อน รู้เพียงว่าแข็ง รู้ว่าเสียง แต่ไม่รู้ว่าเป็นขันธ์ จะรู้ได้อย่างไรคะ เกิดแล้วหมดแล้ว ใช่ไหมคะ กำลังฟังเท่านั้นเอง แต่ลักษณะของขันธ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย แต่ต้องเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นขันธ์ที่เกิดแล้วจึงได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการฟังทีละเล็กทีละน้อยก็ทำให้ไม่เป็นผู้ประมาท หรือละเลยว่า ขันธ์ในขณะนี้เกิดแล้ว ควรรู้ หรือไม่ควรรู้ ควรเพียงฟังเรื่องขันธ์ แล้วก็จำชื่อขันธ์เท่านั้น หรือว่าขันธ์เกิดจริงๆ แล้วก็ดับจริงๆ และขันธ์นั้นก็ยังเป็นธาตุชนิดไหนที่เกิดขึ้นด้วย แต่ไม่ใช่ไปนั่งเรียกชื่อ เช่น พอฟังเรื่องของธาตุเลว ธาตุปานกลาง ธาตุประณีต หรือฟังเรื่องขันธ์ที่เกิดแล้ว ก็จะไปนั่งคิดเรื่องขันธ์ที่เกิดแล้วขณะนี้เป็นธาตุชนิดไหน เป็นธาตุเลว หรือเป็นธาตุปานกลาง ธาตุประณีตคงไม่ต้องพูดถึง ใช่ไหมคะ ก็มีเพียง ๒ อย่าง คือ ธาตุเลว หรือธาตุปานกลาง แต่ไม่ใช่ให้คิด เพราะว่าคิดไม่ใช่การรู้จักตัวขันธ์ เป็นแต่เพียงการจำ เพราะได้ยิน เมื่อได้ยินแล้ว จำแล้ว จึงคิดถึงคำ แต่ตัวขันธ์จริงๆ ขณะนี้ หรือธาตุจริงๆ หรือสิ่งที่มีจริงก็กำลังปรากฏ ไม่ให้ปรากฏได้ไหม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ เกิดแล้ว เห็นแล้ว ปรากฏอย่างนี้แล้ว จะให้ไม่เป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่มีจริงๆ ยากที่จะให้เริ่มรู้ว่า เป็นธรรม หรือเป็นเพียงขันธ์ เป็นสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียดที่รู้การสะสมตามความเป็นจริงว่า สะสมความไม่รู้ แต่สะสมการฟังมาด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งที่ฟังแล้วค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้สามารถเข้าใจถึงความเป็นธรรม ความเป็นธาตุ และความเป็นขันธ์ของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ทำอย่างไร เรื่องทำอย่างไร คือไม่เข้าใจธรรม

    พอได้ยิน อยากรู้การเกิดดับ ไม่เข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรา แล้วก็อยากด้วย ใช่ไหมคะ แล้วก็อยากนั้นมีจริงๆ เป็นธาตุอะไร เป็นธาตุเลวก็ไม่รู้

    นี่ค่ะ ความละเอียดของธรรม ทุกขณะที่มีเหตุปัจจัยเกิดดับสืบต่อ เร็วแสนเร็วสุดที่จะประมาณได้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงความจริงของธรรมให้ค่อยๆ เข้าใจ ให้ค่อยๆ รู้ว่า ปัญญาคืออย่างนี้ ปัญญาไม่ใช่ความอยากที่จะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ปัญญาเป็นความเข้าใจสิ่งที่มีทีละเล็กทีละน้อยจากการฟัง ค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจว่า ธรรมที่เกิดแล้วขณะนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่ไปทำให้ธรรมอะไรเกิดขึ้นมาเลย

    เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะทำให้ประจักษ์การเกิดดับ แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567