พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 423


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๒๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจที่มั่นคงไม่เปลี่ยนว่า เป็นจิต เจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วชาติไหนไม่รู้ เกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง เกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดยังจะให้ผลต่อไปไหม หรือเพียงแค่ขณะเดียว

    ผู้ฟัง ก็มีจิตใหม่ ดวงใหม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ มาจากไหน

    ผู้ฟัง มาจากปฏิสนธิจิตดวงนั้น

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตมาจากไหน

    ผู้ฟัง มาจากจุติจิต

    ท่านอาจารย์ นี่ไง หมายความว่าความเข้าใจของเราไม่มั่นคง ไม่พอ แล้วเราก็ไปสนใจชื่อวิบาก อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าพื้นฐานก็คือว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง เราไม่สามารถเข้าใจธรรมต่อไปได้ เพราะว่าจะละเอียดยิ่งขึ้นๆ มากทีเดียว ที่จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า ไม่มีสามารถยึดถือสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดว่า เป็นเรา หรือเป็นของเรา หรือว่าเป็นใครได้เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แล้วก็คิดไตร่ตรอง จนเป็นความเข้าใจของเราเอง พอเป็นความเข้าใจของเรา คนอื่นจะมาเปลี่ยนแปลง จะมาให้เราคิดอย่างนั้น เชื่ออย่างนี้ได้ไหม ในเมื่อพิจารณาในเหตุผลแล้ว

    กรรมให้ผลเพียงทำให้จิต ๑ ขณะเกิด หรือมากกว่านั้น กรรมที่ได้กระทำแล้ว บางคนเกิดมาแค่วันเดียวก็ตาย บางคนยังไม่ถึงวันก็ตาย บางคนตั้ง ๑๐๐ ปีก็ยังไม่ตาย หมายความว่าอย่างไร ทำไมไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ ๑ ขณะจิตที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วไม่ทำให้มีการสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นซึ่งเป็นไปตามกรรม เพราะกรรมที่ได้สะสมมา กรรมก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะอะไร ไม่ว่าจะเกิดชาติไหน ที่ไหน ปฏิสนธิจิตเห็นอะไร หรือไม่ ได้รับสุขทุกข์อะไร หรือไม่ คิดนึกอะไร หรือไม่ ไม่ได้เลย เพียงทำกิจปฏิสันธิสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เปลี่ยนภพชาติความเป็นบุคคลในชาตินั้นโดยสิ้นเชิง เพราะว่ากรรมทำให้เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเกิดในภูมิใด ขณะที่เกิดจนกระทั่งมานั่งตรงนี้ได้ เป็นผลของกรรมอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ทราบว่าเป็นผลของกรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่เป็นผลของกุศลกรรม หรือเป็นผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ทั้ง ๒ อย่าง กุศล แต่ว่าก็มีอกุศล

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม การฟังธรรม บางทีเราไปคิดเรื่องอื่นทั้งนั้นเลย ไปคิดเรื่องที่เคยคิด แต่ไม่ได้ฟังแล้วไตร่ตรอง แล้วค่อยๆ พิจารณา

    ผู้ฟัง ที่ผมตอบอย่างนี้ เพราะว่าบางทีขณะเดียวผมก็กำลังร้อน ก็เป็นอกุศลกรรมของผม

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลกรรม หรือเป็นอะไร กำลังร้อน

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ต้องมีความเข้าใจจริงๆ เข้าใจจริงๆ แล้วจะไม่ลืม

    ผู้ฟัง สาเหตุนี้ผมถึงได้กราบเรียนถามว่า กุศลกรรม แล้วมาวิบาก ลองพยายามเอามาประยุกต์กับธรรมที่เราเรียน

    ท่านอาจารย์ ประยุกต์ด้วยตัวเอง ประยุกต์ด้วยความคิดความเห็นของตัวเอง กับการฟังพระธรรม จะต่างกันมาก ไม่มีใครสามารถแสดงความละเอียดของธรรมโดยประการทั้งปวง ทั้งปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นเลิกคิดที่จะคิดเอง แล้วสิ่งที่เคยคิดเองมาแล้ว ทิ้งไปเลย ฟังแล้วก็รู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างไร แล้วความจริงเป็นอย่างนั้น หรือไม่ จากการที่ลองคิดดูว่า ถ้ากรรมทำให้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นสืบต่อจุติจิตขณะแรก โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คิดนึก หรือเห็น ได้ยินอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นหน้าที่ของกรรมเลยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ใครก็ทำไม่ได้ ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยินทั้งสิ้น เพียงแต่เกิดสืบต่อในภูมิที่กรรมนั้นทำให้เกิดขึ้น

    ฟังแค่นี้เบื่อ หรือยัง อยากจะไปถึงวิบากจิตที่ใครที่ถ่มน้ำลายใส่พระอรหันต์ หรือยัง หรืออย่างไร แต่ถ้ามีพื้นฐานแล้วจะเข้าใจธรรมต่อๆ ไปด้วยความละเอียดรอบคอบ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง พื้นฐานก็คือการฟัง

    ท่านอาจารย์ การเข้าใจธรรม แม้แต่ “ธรรม” ก็ประมาทไม่ได้เลย ขณะนี้เป็นธรรม เกิดมาเป็นธรรม หรือไม่ ทุกอย่างที่มีในชีวิตเป็นธรรม หรือไม่ ก่อนจะไปถึงคำว่า “วิบาก” ก็ต้องรู้จริงๆ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ใครไปจับคำหนึ่งคำใดแล้วก็คิด วิเคราะห์ หรือทำอะไรกับตัวเอง หรือความเห็นนั้นๆ แล้วก็ออกมาเป็นความคิด แต่ต้องเพื่อที่จะเข้าใจว่า นั่นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน นี่เป็นสิ่งที่คิดเอง ซึ่งต้องต่างกันมาก

    พระพุทธเจ้าสอนให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ขณะที่คุณเด่นพงศ์กำลังประมวลความคิดเรื่องวิบาก เรื่องพระอรหันต์ เรื่องกรรมชาติก่อน ไม่ได้เข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงในขณะนี้

    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าผมไม่เข้าใจ แล้วปล่อยให้ไม่เข้าใจ ก็ฟังไปเรื่อยๆ มันจะไม่ช้าไป หรือ ก็มาถามให้มันชัดไปเสียเลย ไม่ดี หรือ

    ท่านอาจารย์ พื้นฐานที่จะเข้าใจมี หรือยัง

    ผู้ฟัง พื้นฐานยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็อย่างนี้ คืออยากจะรู้สิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง คือฟังไม่เข้าใจ วิบากกับผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ นั่นซิ ก็ไปจับวิบาก ตั้งต้นก็คือวิบาก แล้ววิบากคืออะไร

    ผู้ฟัง แล้วเราก็เรียนรู้ว่า วิบากก็เป็นชาติหนึ่งของจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้มีวิบาก หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ วิบากขณะนี้มาจากไหน ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิตเลย จะมีวิบากไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะไปถ่มน้ำลายรดพระอรหันต์นั้นเกิดเป็นอะไร แล้วจิตคิดอย่างไร การกระทำนั้นเกิดขึ้นแล้วให้ผลเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละขณะจิต เหมือนกันหมดเลย จิตเห็น ไม่ว่าจะเป็นของใคร ของคนที่กำลังถ่มน้ำลาย หรือไม่ถ่มน้ำลาย จิตเห็นก็ยังคงเป็นจิตเห็น

    เพราะฉะนั้นตอบอย่างไร ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ ถ้าไม่มีพื้นฐานที่มั่นคง เพียงแค่ “วิบาก“ คำเดียว ฟังให้เข้าใจจริงๆ ตลอดเวลานั้นจะเข้าใจได้ แต่พอยกตัวอย่าง และพูดถึงกรรม และผลของกรรม ไม่มีทางจะเข้าใจอะไรได้เลย ถ้าไม่มีพื้นฐานจริงๆ ช่วงเวลาที่ไปสนใจที่จะต้องการคำตอบ กับการได้ยินคำว่า “วิบาก” แล้วจริงๆ วิบากคืออะไร คำนี้หมายความถึงอะไร มีอะไรบ้างที่เป็นวิบาก เพราะว่าปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะแล้วดับไป วิบากหมดไป หรือ หรือยังมีวิบากต่อไปอีก ถ้ามีความสนใจ เข้าใจคำนี้จริงๆ โดยถ่องแท้ โดยละเอียด ก็จะทำให้สามารถเข้าใจธรรมแม้ในขณะนี้ได้ คราวหน้าคุณเด่นพงศ์จะถามเรื่องวิบาก หรือเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง จริงๆ ตั้งใจจะถามหลายเรื่อง แต่กลัว

    ท่านอาจารย์ มิได้ อะไรที่น่าสนใจ และเป็นความจริงที่จะทำให้เข้าใจได้ เพราะว่าคุณเด่นพงศ์สนใจคำนี้ คือ “วิบาก” แต่ยังไม่ได้เข้าใจคำนี้ เพราะฉะนั้นถ้าสนใจจริงๆ ก็ต้องฟังจนกระทั่งสามารถเข้าใจคำนี้มากขึ้น ยิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น อย่าข้ามไป โดยจำแต่เพียงชื่อ

    ผู้ฟัง ความเข้าใจ ทำไมจึงยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะมี “ผม” ไง ไม่ใช่เข้าใจธรรม เป็น “ผม” ที่ศึกษาแล้วเป็นผมที่หวังว่า เมื่อไรจะเข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่การเข้าใจว่า ไม่มีผม แต่มีธรรม คุณเด่นพงศ์ฟังเพื่ออะไร เพื่อผมจะเข้าใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องเพื่อให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ จะไม่มีทางเข้าใจเลยค่ะ

    ผู้ฟัง ฟังไปอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ก็กั้นด้วยความต้องการอยากจะได้ ไม่ใช่เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง ก็อาจารย์บอกให้ฟัง ให้ฟัง ให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่ให้ไปคิดเองเรื่องอื่นว่า แล้วเมื่อไรเราจะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้ผมก็เข้าใจว่า ประเด็นที่ไม่เข้าใจก็จดๆ เอาไว้ แล้วมาเรียนถามที่นี่ อย่างนี้ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้วต้องถูก คุณเด่นพงศ์เคยถ่มน้ำลายไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ ชาติไหน หรือชาตินี้

    ผู้ฟัง ถ่มทุกวัน

    ท่านอาจารย์ ชาตินี้ก็มี ชาติก่อนๆ ก็คงมีด้วย

    ผู้ฟัง คงมีด้วยกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ไหมว่า เมื่อไรจะให้ผล

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่เกิดได้กลิ่นไม่ดี คุณเด่นพงศ์จะรู้ไหมว่า เพราะเคยทำอะไรไว้ชาติไหน

    ผู้ฟัง โดยสัตย์จริง แต่ก่อนนี้ไม่เคยคิด เดี๋ยวนี้เริ่มคิดว่า ต้องมีอะไรสักอย่างผิดปกติ เป็นเพราะผลของกรรมที่เราเคยทำไว้

    ท่านอาจารย์ รู้ได้แค่นี้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับผม

    ท่านอาจารย์ พอใจไหม

    ผู้ฟัง ก็พอใจระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่อย่าไปเดาว่า กำลังได้รับวิบากกรรมอย่างนี้ เพราะเคยไปตีอะไร หรือทำอะไรที่ไหน เพียงแต่เป็นความคิดเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ก็จะพยายามลดคำว่า “ผม” ลงไปให้เยอะ ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่า ไม่สามารถจะรู้ได้เลย ไม่ว่าใคร ใครก็ตามกำลังปวดฟัน ไปทำอะไรฟันใครที่ไหนมา หรือไม่

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า กรรมได้ประมวลมาแล้วปฏิสนธิจิตจะเกิด แสดงว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับ กรรมที่ประมวลมายังให้ผลอยู่

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีใครที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะแม้แต่จักขุปสาทก็เป็นรูปที่เกิดจากกรรม แล้วยังทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นเห็น เมื่อถึงวาระที่กรรมนั้นจะให้ผล หรือเกิดขึ้นได้ยิน เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ไม่มีใครพ้นกรรมไปเลย แต่ไม่รู้ว่า ในขณะไหนเป็นผลของกรรมอะไร เมื่อไร วันหนึ่งๆ ผลของกรรมทั้งนั้นเลย ทุกขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นปฏิสนธิจิตของแต่ละคนในชาตินี้ เหมือนกับจะต้องมีสิ่งที่จะต้องเกิดในชีวิตนี้จนกว่าจุติจิตจะเกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัย เลือกไม่ได้

    ผู้ฟัง ใครเป็นอย่างไร ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะ เดี๋ยวนี้คิดก็ไม่เหมือนกัน กรรมที่ทำมาแล้วก็ไม่เหมือนกัน ถึงได้หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน คนจะกี่พันล้านก็ไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง อันนี้คือหมายความว่า กรรมในอดีตที่ประมวลมาแล้วให้เป็นบุคคลคนนี้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ใช่มีจมูกอย่างช้าง ยังต้องเป็นอย่างนี้อยู่

    ผู้ฟัง แล้วในชีวิตประจำวัน ผลของกรรมได้ประมวลมาแล้วว่า เป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งในชาตินี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏให้ได้ยิน ควรสนใจเพียงแค่ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่คิดนึกต่อ เรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่จริงแล้วใช่ไหมคะ คืออะไรล่ะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรม ไม่มีตัวคุณสุกัญญาเลย ไม่ว่าจะฟังเรื่องพระวินัย พระสูตรต่างๆ ชีวิตของบุคคลต่างๆ ในครั้งอดีต หรือแม้พระอภิธรรม คือ ธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียดเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง

    เมื่อวานนี้ทุกคนอ่านพระสูตรแล้ว จำได้ไหม "ภัย" ภัยอะไรบ้าง มากมายนั่น จำได้ไหม แต่ไม่ว่าจะฟังอะไรก็ตาม ให้เห็นถึงความไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เป็นอนัตตา แล้วสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล นี่คือการที่จะมีความมั่นคงที่จะเข้าใจว่า ธรรมอยู่ตรงนี้ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเกิดขึ้น นั่นแหละธรรม และก็รู้ด้วยว่า ไม่ใช่ใครสักคนเดียว แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ให้มีความมั่นคงอย่างนี้ไป แล้วก็มีความเข้าใจธรรมขึ้น ไม่ต้องไปคิดว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะอย่างนี้ ควรจะอย่างนั้น เพราะเหตุว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่จากการฟังเหตุ และผลของพระธรรมโดยละเอียดที่ทรงแสดง ก็เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เป็นเราตั้งใจที่จะทำ ขณะนั้นเพียงแค่คิดแล้วก็หมดไป แต่อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปตามการสะสม

    ผู้ฟัง อย่างเช่นกลิ่นเหม็นปรากฏ ส่วนใหญ่จะหาว่า คือกลิ่นอะไร แล้วเพียงแค่คิดว่า กลิ่นเหม็น อันนี้ก็คือไม่ใช่สิ่งจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางจมูกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทราบว่า ที่กลิ่นปรากฏ ไม่ใช่ขณะคิด แต่จริงๆ แม้ขณะนั้นก็มีมโนทวารวิถีคั่นแล้ว โดยไม่รู้ นี่คือความไม่รู้ของคนที่ไม่ได้ฟังธรรม

    ผู้ฟัง คือ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะที่กุศล หรืออกุศลเกิด ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศล และอกุศล คือ กรรม แต่ว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ ก็ยังคงเป็นเจตนาเจตสิก แต่ไม่ใช่กุศลเจตนา และไม่ใช่อกุศลเจตนา เพราะเหตุว่ากรรมเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรมเกิด

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจสภาพที่เป็นเจตนา สภาพที่จงใจ ขวนขวาย กระตุ้นสหชาตธรรม คือ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันให้กระทำกิจการงานสำเร็จลงไป เพราะฉะนั้นขณะไหนก็คือเจตนากระทำหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะโดยเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม หรือว่าเป็นกุศล เป็นอกุศล ก็ตาม หน้าที่ของเจตนาเปลี่ยนไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเจตนาเจตสิกนั้นเกิดกับจิตเห็นซึ่งเป็นชาติวิบาก แสดงว่าเจตสิกนั้นเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย กรรมเป็นปัจจัยให้ทั้งจิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นวิบากจิตเป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกเกิด โดยสหชาตปัจจัย วิบากเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด พร้อมกัน ต่างขณะกันไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็นก็คือไม่ใช่กรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรม กรรมทำให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น กรรมจะทำให้วิบากจิตเกิดโดยไม่มีวิบากเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม เห็นไหม ทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้เข้าใจขึ้น อะไรเป็นสภาพที่เป็นกรรม

    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่างอื่นจะเป็นกรรมได้ไหม นอกจากเจตนาเจตสิก ศึกษาธรรมต้องศึกษาตามลำดับ และละเอียดขึ้นด้วย ไม่ใช่ความเข้าใจก่อนจะผิด แต่มีความละเอียดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทราบว่า สภาพธรรมอะไรที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นกรรม

    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยนนะ

    ผู้ฟัง ไม่เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมอื่นจะทำหน้าที่ของเจตนาเจตสิกเป็นกรรมแทนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่ากรรมจะเกิดเมื่อไร ขณะไหน อย่างไร กรรมก็ยังคงเป็นกรรม เป็นอื่นไม่ได้ ถูกต้องไหมคะ ที่จะรู้ตัวกรรมจริงๆ เพราะกล่าวว่า สภาพธรรมที่เป็นกรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก ไม่ใช่สภาพธรรมอื่นใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าเจตนาจะเกิดที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ก็ต้องเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย กระทำ เป็นลักษณะของเจตนา เข้าใจอย่างนี้ ไม่เปลี่ยน

    อ.วิชัย โดยสภาพเจตนา คือความจงใจ ขวนขวาย ใช้คำว่า “กรรม” แต่ต้องเข้าใจถึงลักษณะจริงๆ ของเจตนา เพราะคำว่า “กรรม” ก็เป็นพยัญชนะอย่างหนึ่ง แต่ลักษณะจริงๆ ของเจตนา คือ ความจงใจ ขวนขวาย แต่สภาพของเจตนาก็มีทั้งที่เป็น อกุศลเจตนาก็มี กุศลเจตนาก็มี วิบากเจตนาก็มี ซึ่งก็เป็นความต่างกันอยู่แล้วของสภาพที่เป็นกุศล อกุศล แล้วก็วิบาก แต่ลักษณะของความขวนขวาย นั่นคือลักษณะจริงๆ ของเจตนา แต่การเกิดขึ้นก็เป็นชาติแต่ละชาติไป เป็นอกุศลเจตนาก็อย่างหนึ่ง เป็นกุศลเจตนาก็อย่างหนึ่ง เป็นวิบาก คือ ชาติวิบากก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า เจตนาที่เป็นชาติวิบากไม่ให้ผลใช่ไหม

    อ.วิชัย แน่นอน เพราะว่าโดยสภาพเป็นวิบาก ไม่สามารถให้ผลภายหลังแน่นอน ที่สามารถให้ผลในภายหลังได้คือกุศลเจตนากับอกุศลเจตนาเท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า ลักษณะของเจตนาที่เกิดกับจิตเห็น ก็คือขวนขวายที่จะเห็นเท่านั้น ใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็เป็นลักษณะของความจงใจ ขวนขวาย เป็นลักษณะของเจตนาที่เกิดพร้อมกันกับนามธรรมประเภทอื่นๆ อย่างที่กล่าวแล้ว สัญญาก็อย่างหนึ่ง เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง ดังนั้นเราจะฟังคำใดเข้าใจลักษณะจริงๆ ของเขา ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย แต่การเกิดขึ้นของเขาก็เป็นไปโดยชาติ จะเป็นลักษณะที่เป็นกุศล ก็มี ลักษณะที่เป็นอกุศลก็มี ก็เป็นความแตกต่างกันอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง สมมติว่า ความคิดก็เป็นจิต ๑ ขณะที่คิด ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อ.วิชัย เจตนาเกิดกับจิตทุกดวง

    ผู้ฟัง ใช่ เพราะฉะนั้นก็เป็นลักษณะของความคิดขณะนั้น ซึ่งมีทั้งคิดดี และคิดไม่ดี ลักษณะของกุศลเจตนากับอกุศลเจตนา ใช่ไหม

    อ.วิชัย ที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิตในขณะนั้น

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คราวนี้มีเจตนาอะไรบ้าง อย่างเดียว หรือหลายอย่าง

    ผู้ฟัง ต้องมีเจตนาอย่างเดียวกับจิต ๑ ขณะ

    ท่านอาจารย์ แล้วมีเจตนาอะไรบ้างในขณะนี้

    ผู้ฟัง ก็มีกุศลเจตนา และอกุศลเจตนาสลับกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก

    ผู้ฟัง ก็มีเจตนาที่เป็นชาติวิบาก ที่เกิดกับจิตทาง ๕ ทวาร

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก

    ผู้ฟัง แล้วมีเจตนาที่เกิดกับภวังคจิต ขณะหลับด้วย

    ท่านอาจารย์ ชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก

    ผู้ฟัง กิริยาจิตอีก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเจตนามีกี่ชาติ

    ผู้ฟัง มี ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ ปนกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์ คือ ตอนนี้ได้ยินได้ฟังทราบว่า มีแต่จิต เจตสิก รูป รูปธรรม นามธรรม จริงๆ แล้วด้วยความรวดเร็วของจิตทำให้เราเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่พอพิจารณาถึงตรงนี้ ก็จะติดข้อง ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป จะมีสิ่งที่เราจำว่าเป็นรูปของเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทั้งที่ว่า เป็นลูกของเรา หรือเป็นตัวเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปด้วย แต่ว่ารวดเร็วจนกระทั่งไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ก็ยังจำว่าเที่ยง แล้วยังจำว่ามีอยู่ในขณะที่คิด ตอนนอนหลับมีลูกไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ หายไปไหน

    ผู้ฟัง สภาพธรรมนั้นก็อยู่ แต่ว่าเราไม่รับรู้

    ท่านอาจารย์ คิดว่าอยู่ แล้วอยู่จริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง คือธรรมต้องเป็นเรื่องที่ต้องตรง การที่เรายังคงมีความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และมีการยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ เป็นเรา เป็นเขา ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า แท้ที่จริงแล้ว เห็นอย่างนั้นถูก หรือผิด ยังไม่ได้หมดไป เพราะว่ายังไม่ได้รู้ความจริง แต่เรื่องของบัญญัติก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะไม่รู้บัญญัติ สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรม ถ้าไม่มีบัญญัติ คือ ที่ปรากฏให้รู้ได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เป็นอะไร แต่การที่บัญญัติจะมีได้ ก็ต่อเมื่อมีปรมัตถธรรม เมื่อมีปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปประเภทหนึ่งในบรรดารูปอื่นๆ รูปอื่นๆ ไม่สามารถจะกระทบกับจักขุปสาท ไม่สามารถจะปรากฏให้เห็น อย่างแข็ง กระทบเมื่อไร แข็งจึงปรากฏ แต่ไม่สามารถจะเห็นแข็งได้เลย คิดว่าเห็นแข็ง แต่เห็นสีสันวัณณะของสิ่งที่มีรวมอยู่ในสิ่งที่แข็ง ก็ทำให้เข้าใจว่า เห็นสิ่งที่แข็ง แต่ความจริงสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ก็เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ไม่มีใครสามารถไปทำให้ช้าลง ถึงแม้ว่ามีความเข้าใจถูก ก็ไม่สามารถไปทำสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วช้าลง เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ แต่ความเข้าใจเริ่มมีว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นลักษณะที่มีจริงอย่างหนึ่ง ถ้าสามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมที่เพียงปรากฏให้เห็น ก็จะทำให้เข้าใจสมมติบัญญัติว่า เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้มีอายุที่สั้นมาก ก็ไม่มีปัญญาที่สามารถประจักษ์การเกิดดับของสิ่งนี้ จนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่า สิ่งนี้ต้องมีปรากฏแล้วดับไปก่อน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    5 ม.ค. 2567