พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 446


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นแล้วคิด เอาเห็นออกไป เหลือแต่คิด เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่คิดแน่นอน เห็นจริงๆ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ แต่เห็นอะไร นั่นคือคิดแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรๆ ที่จำไว้ก็คือคิด ในขณะที่ฝันก็คืออะไรๆ ที่จำไว้แล้วก็คิดนึกอีก

    คุณสุกัญญาเมื่อคืนฝัน หรือไม่

    ผู้ฟัง เมื่อคืนไม่ได้ฝัน แต่เมื่อคืนก่อนฝันถึงท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ในฝัน ภาพท่านอาจารย์ชัด

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เห็นเดี๋ยวนี้ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง หลังจากที่ปรากฏแล้วยังจำรูปร่างสัณฐาน จนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แม้เดี๋ยวนี้ก็เหมือนขณะที่ฝัน ไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ก็ยังรู้ว่าเห็นอะไร เพราะจำได้ รูปร่างสัณฐาน เพราะฉะนั้นนั่นคือคิด แต่ว่าเพราะไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย จึงเป็นฝัน หรือแม้แต่ในขณะนี้ที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดเรื่องอื่นก็ได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แสดงว่าคิดเป็นคิด แล้วก็เห็นเป็นเห็น

    เพราะฉะนั้นคิดทางตาได้หรือไม่ ไม่ได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เหมือนกัน คิดได้ทางใจทางเดียว แล้วแต่จะคิดอะไร ก็ห้ามไม่ได้อีก แม้แต่เดี๋ยวนี้ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ก็แล้วแต่ว่าจะคิดอะไร

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนนี้ไม่รู้แม้กระทั่งขณะนี้ว่าคิด พอฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ว่า จริงๆ แล้ว สภาพคิดมีจริง แล้วเรื่องที่คิดก็มีจริง แต่ในขณะที่ฝัน เหมือนกับไม่รู้ว่าคิด

    ท่านอาจารย์ ฝันเห็น เดี๋ยวนี้"เห็น"แล้วก็"คิด" เหมือนกับคิดในสิ่งที่เห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดในสิ่งที่เห็น ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ จำได้ด้วย รู้ด้วยว่าเป็นอะไร ถึงไม่เห็นก็ยังคิดได้ เพราะฉะนั้นเวลาฝัน ไม่เห็นก็ยังคิดได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะหลับ หรือตื่น ถ้าสภาพคิดนึกนั้นเกิด แล้วคิดตรึกนึกถึงเรื่องราวสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางไหนก็แล้วแต่ ที่เราจำอารมณ์เหล่านั้นมา จิตก็สามารถปรุงแต่งให้จิตคิดนึกสิ่งเหล่านั้นได้

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เข้าใจว่าเป็นเราเห็น เข้าใจว่าเป็นเราคิด เข้าใจว่าเป็นเราฝัน ก็คือธรรมทั้งหมดเลย เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถรู้ความต่างของแต่ละทางได้ เช่น ขณะนี้เห็น หรือคิด ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการเริ่มทรงแสดงพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะหลงอยู่ในความไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป สืบต่อจนกระทั่งไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป เหมือนกับเที่ยง ทั้งๆ ที่เห็นไม่ใช่คิดเลย เห็นก็ส่วนเห็น และคิดก็มีหลายอย่าง คือ คิดถึงสิ่งที่เห็น หรือคิดถึงเสียงที่ได้ยิน หรือคิดถึงกลิ่นที่ปรากฏ หรือคิดเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ได้ แต่การที่ธรรมจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับคิดได้ ไม่มีใครสามารถบังคับเห็นได้ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ได้ยินได้ ทุกอย่าง ทุกขณะ มีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นไป แต่ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นความไม่รู้มากมายสักแค่ไหน ที่จะต้องเป็นผู้ที่ตรง อย่าไปคิดว่า สามารถจะดับกิเลสได้ โดยไม่รู้ว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟัง ก็คือรู้ว่า กำลังฟังธรรม นี่คือความถูกต้อง ไม่ได้ฟังเรื่องอื่น ธรรมกำลังมี และฟังเรื่องธรรมที่มี เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นประโยชน์คือฟังธรรมเพื่อรู้ธรรม ตั้งแต่ยังไม่รู้เลย จนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น จนกระทั่งความรู้นั้นชัดเจนขึ้น จนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริง จนสามารถดับกิเลสได้ นี่คือการรู้ธรรม ไม่ได้รู้อย่างอื่น

    ผู้ฟัง เดิมทีเคยถามท่านอาจารย์บ่อยๆ ว่า ความคิด และเรื่องราวที่คิด คือ สภาพคิดมีจริง ในขณะเรื่องราวที่คิด คิดว่าไม่ได้มีจริง เพราะว่าไม่มีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ แต่เมื่อไปพิจารณาไตร่ตรองก็เลยมาเทียบกับความคิดในขณะที่ยังตื่นอยู่ กับความคิดในขณะที่หลับ เดิมทีเข้าใจว่า ไม่เหมือนกัน วันนี้ได้รับคำอธิบายจากท่านอาจารย์ คิดว่าเหมือนกัน เข้าใจถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดมีหลายอย่าง คิดรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้เห็นสั้นมากเลย พอรู้ว่าเป็นอะไร นั่นคือคิดแล้ว เสียงก็สั้นมาก พอรู้ความหมาย ก็คือคิดแล้ว เพราะฉะนั้นหลังจากเห็น ได้ยิน ฯลฯ ก็จะคิดถึงสัณฐานรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าเสียง หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏ หรือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็กำลังคิดสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ กับคิด เรื่องอื่นๆ โดยไม่มีสิ่งที่ปรากฏเลยก็ได้

    เคยฝันแล้วเดือดร้อนใจไหม ตกใจกลัวหรือไม่

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ ตื่นขึ้นมาดีใจหรือไม่

    ผู้ฟัง ดีใจว่า เป็นแค่ความฝัน

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่ฝัน แต่ก่อนตื่น ตกใจมาก กลัวมาก เพราะฉะนั้นแม้แต่คิด ต้องมีความรู้สึกเกิดร่วมด้วยทุกขณะที่จิตเกิด เวลาดูโทรทัศน์ สนุกหรือไม่

    ผู้ฟัง สนุก

    ท่านอาจารย์ เสียใจหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเรื่องเศร้าๆ ก็เคยร้องไห้ตาม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ไม่เป็นอะไรเลย จะรู้สึกอย่างนั้นไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้รู้สึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทั้งหมดมาจากคิด ไม่ต้องมีโทรทัศน์ก็คิดได้ ไม่ต้องมีหนังสือพิมพ์ก็คิดได้ ไม่ต้องมีอะไรก็คิดได้ ตามการสะสมที่จะคิดอย่างนั้น เลือกไม่ได้ด้วยว่าจะคิดอะไร แต่ว่าขณะนั้นกำลังมีทั้งความรู้สึกด้วย และมีความจำด้วย

    ขณะนี้ที่เรากล่าวถึงคำว่า “ขันธ์ ๕” ไม่ได้ขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย รูปมีแน่นอน ปรากฏทางตา ทางหู เป็นต้น ทางกายด้วย และความรู้สึกก็มี ทุกขณะกำลังมีความรู้สึกซึ่งดับแล้วโดยไม่รู้เลยว่า ความรู้สึกอะไรบ้าง นี่คือความไม่รู้ สัญญา ความจำก็กำลังมี ขณะนี้ก็เห็นก็รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด การปรุงแต่งด้วยโลภะ โทสะ โมหะก็มี ไม่เคยขาดเลย ทั้งการกำลังรู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏก็มีด้วย

    ด้วยเหตุนี้ ขณะนี้เป็นการงานหน้าที่ของแต่ละขันธ์ ทุกขณะ แต่ไม่รู้ ก็ยังคงเป็นเรา เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังธรรม คือ เพื่อให้รู้ว่า ไม่มีเรา แต่ทั้งหมดเป็นธรรมคิดเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดสุข ทุกข์ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็สุขบ้าง ทุกข์บ้าง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ทุกข์ทางกาย รู้ว่าเป็นผลของอกุศลที่ให้ผล แต่ทุกข์ที่เกิดจากกิเลส

    ท่านอาจารย์ วันนี้แข็งแรงดีไหม โดยมากก็จะถามกัน เมื่อพบหน้ากันก็ถามว่า สบายดีไหม โดยเฉพาะผู้มีอายุ ก็มีคนถามอยู่เรื่อยๆ วันนี้แข็งแรงดีไหม สบายดีไหม เป็นคำแรกเลย คุณสุกัญญาสบายดีไหม วันนี้

    ผู้ฟัง วันนี้ไอ เป็นหวัดค่ะ

    ท่านอาจารย์ บางขณะก็ไม่สบาย แต่ส่วนใหญ่ก็ปกติดี ยังไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ใจเป็นอย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง ขณะฟังธรรม รู้สึกใจจะเบาสบาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างของทุกข์กายกับทุกข์ใจหรือไม่ ร่างกายแข็งแรงดี ไม่ต้องไปหาหมอ แต่ใจกำลังไม่สบายได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่สบายจริงๆ แต่ใจก็ยังสบายได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็น่าจะได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แยกจากกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดมีความไม่สบายใจ คือ จากกิเลส ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีปัญญา เข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เวลาเข้าใจถูกต้อง รู้สึกเบาสบาย

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาไม่สบาย เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะกิเลส

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แล้วอย่างที่เข้าใจผิดว่า ทุกข์โศก หรือเศร้า เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าทางใจจะเป็นผลของกรรมได้หรือไม่

    ผู้ฟัง จริงๆ ณ วันนี้ก็เข้าใจขึ้นว่า ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ป่วยเจ็บหรือไม่

    ผู้ฟัง ป่วย

    ท่านอาจารย์ แล้วใจเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ใจก็ไม่น่าจะทุกข์

    ท่านอาจารย์ ทำไมใช้คำว่า “ไม่น่า”

    ผู้ฟัง เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีกิเลส

    ท่านอาจารย์ สงสัยได้ยังไง ไม่มีทางเลยที่จะเป็นทุกข์ใจ เพราะฉะนั้นทุกข์ใจก็เพราะยังมีกิเลสอยู่

    อ.กุลวิไล จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นทุกข์ทางกายเป็นผลของกรรม ที่กายเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ กายวิญญาณจะมีเวทนาเกิดร่วมด้วย คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา เวลาที่เราปวดเจ็บที่กายก็ต้องเกิดที่กายแน่นอน อย่างนั้นเป็นผลของกรรม แต่ทุกข์ใจเป็นโทมนัสเวทนา เกิดกับโทสมูลจิต ถ้าเราทุกข์ทางกาย แล้วเรารู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ที่เกิดจากโทมนัสเวทนานั้น เกิดจากกิเลสนั่นเอง ไม่ใช่เป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง มีความสงสัยเกี่ยวกับสภาพคิดขณะที่หลับ ที่บางครั้งไม่สบายใจแล้วนอนหลับไป สภาพคิดไม่เป็นเรื่องราว ครั้งนั้นสงสัยว่า คิดว่าเป็นภวังคจิต ที่ว่าเป็นอารมณ์ของจิตชาติที่แล้ว แต่ทำไมขณะที่หลับในแต่ละคืนไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความปนเปของชื่อต่างๆ ใช่หรือไม่ แต่จะรู้หรือไม่ ว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น แม้แต่ฝัน จะฝันอะไร จะไม่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่กล่าว หรือเกิดจะเป็นเรื่องเป็นราว หรือจะรู้สึกอย่างไรในฝัน รู้ได้หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นของธรรมดา

    ผู้ฟัง มีสภาพคิดในระหว่างหลับ กับสภาพคิดในระหว่างตื่น ส่วนที่ต่างกันก็คือ อย่างถ้าในระหว่างตื่น เรายังมีโอกาสไตร่ตรองเรื่องของธรรมให้คลายทุกข์ แต่ในขณะที่หลับเหมือนกับไม่มีโอกาสเลย

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ตื่นต่างจากหลับ เพราะเหตุว่าถึงจะคิดเรื่องอะไร ก็ยังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียงปรากฏ มีกลิ่นปรากฏ นี่คือไม่หลับ ถ้าจะมีกลิ่นขณะนี้ แล้วก็คิดเรื่องอื่น ก็คือขณะนั้นตื่น ไม่ได้หลับ แต่เวลาหลับเพียงจำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รวมทั้งเรื่องราวต่างๆ และคิด เมื่อจำแล้วก็คิด วันนี้เดี๋ยวนี้จะคิดถึงอะไรก็คิดได้ เพราะจำ เมื่อวานนี้พูดถึงมะพร้าว พูดถึงไข่เจียว ใช่หรือไม่ เห็นภาพหรือไม่ เพราะจำ พอพูดถึงมะพร้าว จะคิดถึงอย่างอื่นได้ไหม พอพูดถึงไข่เจียว ก็คิดถึงอย่างอื่นไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แล้วก็สงสัยว่า ขณะที่นอนหลับแล้วไม่ฝัน ก็หมายความถึงความรู้สึกโทมนัสเป็นความรู้สึกที่ต่อเนื่องไป

    ท่านอาจารย์ หลับสนิท รู้อะไร หรือไม่ มีอะไรปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ โทมนัสได้หรือไม่ หลับสนิท

    ผู้ฟัง แต่มีความรู้สึกว่า จิตเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงว่าไม่ได้หลับสนิท ขณะนั้นไม่ได้ทำกิจภวังค์ กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งทุกข์ หรือโทมนัส หรือกังวล หรือไม่มีเรี่ยวแรงอะไรก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางหนึ่งทางใดด้วย

    เพราะฉะนั้นต้องแยกขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ ปฏิสนธิขณะแรก แล้วก็ภวังคจิต คือ หลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย เป็นใครอยู่ที่ไหน ไม่รู้ทั้งนั้น โลกนี้ไม่ปรากฏเลย ตื่นขึ้นบางทีอาจจะงงว่า อยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นคนที่ย้ายที่นอนบ่อยๆ และอีกขณะหนึ่งซึ่งไม่รู้สึกตัวเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย คือ จุติจิต ซึ่งเร็วมาก เพียง ๑ ขณะ เมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวอะไรเลย

    คุณอรรณพก็พูดถึงเวลาสนทนากันว่า บางครั้งแต่ละคนก็มีขณะที่งีบๆ ไป ใช่ไหม แล้วก็รู้สึกตัวขึ้น ก็คงจะคล้ายกับตาย คือ เพียงแค่นิดเดียวเท่านั้นเอง แล้วก็เกิดแล้ว รู้สึกตัวอีกแล้ว

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งเราสมมติเรียกให้เข้าใจว่า ขณะที่ยังไม่ตาย แต่ก็ยังไม่สิ้นความเป็นบุคคลนี้ แต่ก็ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่คิดนึกอะไรเลย ไม่ฝัน ขณะนั้นก็ยังคงมีจิตซึ่งทำกิจดำรงภพชาติสืบต่อ ภาษาบาลีใช้คำว่า ภวังคจิต เพราะทำภวังคกิจ ภว + อังค ดำรงภพ ความเป็นบุคคลนี้ไว้ แต่เมื่อถึงขณะสุดท้ายก็คือ ไม่ได้รู้ตัว ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย จุติจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่มีใครสามารถทำให้วิบากจิตเกิดได้เลย นอกจากกรรม อาจจะเจ็บหนัก กลัว สารพัด จะรักษาอย่างไร ก็ยังไม่ตาย เพราะจุติจิตยังไม่เกิด แต่เมื่อใดที่จุติจิตเกิด บังคับบัญชาไม่ได้เลย แล้วจะไม่ให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดคือสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ก็เป็นธรรม แล้วก็เป็นธรรมตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดภพไหน ชาติไหน เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็คือธรรมทั้งหมด ศึกษาธรรม รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพื่อรู้ธรรมตรงตามความเป็นจริงของธรรม

    ผู้ฟัง ก็ยังสงสัยว่า ทุกข์ใจขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏ ก็ยังมีโอกาสระลึกเข้าใจว่า ค่อยๆ ระลึกถึงธรรมว่าเป็นธรรม แต่ขณะทุกข์ใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นยังสามารถระลึกได้ใช่หรือไม่ เพราะอะไร ที่ระลึกได้ต้องมีเหตุ เป็นเราที่สามารถ หรือว่าเพราะเหตุปัจจัย ขณะนี้ถ้าเป็นอย่างที่คุณกนกวรรณว่า ทุกคนเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา แต่เพราะเหตุว่าแม้แต่ขณะนั้นก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ กำลังฟังเรื่องเดียวกันนี่เอง คนหนึ่งกำลังมีความเคารพในเหตุในผล ในความเป็นจริง ในโอกาสที่ได้ฟังธรรมที่เป็นจริงอย่างนี้ในขณะนี้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อีกคนหนึ่งกำลังเบื่อ กำลังคิดถึงเรื่องอื่น คนที่เบื่อ หรือคิดถึงเรื่องอื่น อยากจะเป็นอย่างนั้น หรือไม่ หรือว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ที่คุณกนกวรรณคิดว่า กำลังฟังอย่างนี้ มีโอกาสที่ตื่น ยังสามารถเข้าใจธรรมได้ คิดอย่างนี้ใช่หรือไม่ แต่ความจริงจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ จะเบื่อ หรือจะง่วง หรือจะไม่เห็นประโยชน์ ก็ตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าคุณกนกวรรณมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น บางคนฝันว่ากำลังพูดธรรมได้อย่างไร ถ้าไม่มีการสะสมมา มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า เกิดมาก็นานแล้ว ยังไม่เคยฝันอย่างนี้สักครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็เกิดฝันว่ากล่าวธรรม เป็นไปได้หรือไม่ เป็นไปได้

    เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งกว่านั้น แม้ขณะนั้นสามารถเข้าใจธรรมชั่วขณะสั้นๆ แล้วตื่นได้ไหม นี่ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่เพียงความจริงที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ใช้คำหลากหลายมากมาย แสดงให้เห็นความเป็นไปของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อซึ่งเป็นอนัตตา ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะว่าธรรมไม่ใช่ใคร ธรรมเป็นธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้แต่ที่คิดว่า ตื่นนี่มีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรม จริง หรือไม่ แค่ไหน มาก หรือน้อย หรือเป็นโอกาสของอย่างอื่น ทั้งๆ ที่ตื่น เพราะฉะนั้นถ้าตื่น โอกาสที่ไม่ควรล่วงเลยขณะคือการฟังธรรมให้เข้าใจ แต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องศึกษา และพยายามให้เข้าใจ แยกเป็นกรรม กรรมวัฏ กิเลสวัฏ กับวิปากวัฏ เพื่อให้เราเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ไม่สับสนว่า นี่เป็นวิบาก นี่เป็นกรรม หรือนี่เป็นกิเลส เพื่อบางครั้งคนเราก็ไปเกรงกลัวกับวิบาก เช่น เดิมก็เข้าใจว่า ความไม่สบายใจต่างๆ เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ฟังเรื่องธรรมเป็นอนัตตา อะไรบ้างที่เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ธรรมเป็นอนัตตาหมดเลย

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เช่น สิ่งที่ปรากฏ ความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจใช่หรือไม่ ฟังเมื่อครู่นี้เข้าใจเลย เข้าใจขณะนั้นแล้วหวังอะไร จะต้องไปทำอะไร จะต้องไปเข้าใจอะไร เพื่อให้รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม แต่ถ้ามีความเข้าใจว่า ธรรมมีจริงๆ เป็นธรรม ธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดีก็มี ธรรมที่เป็นฝ่ายดีก็มี ถ้าปัญญาสามารถรู้ธรรม คือ กุศลก็ไม่ใช่เรา เกิดแล้วเป็นกุศล อกุศลก็ไม่ใช่เรา เกิดแล้วเป็นอกุศล และธรรมที่เกิดแล้ว แม้ดับไปก็จริง แต่เพราะเกิดนั่นเองจึงสะสมในขณะที่จิตขณะต่อๆ ไปเกิดสืบต่อ ทำให้แต่ละบุคคลต่างกันไป ถ้าค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง จะต้องไปห่วงกังวลว่า แล้วจะไปแยกอะไรกับอะไรอีก หรือไม่ หรือว่าฟังเมื่อไร เข้าใจเมื่อนั้น แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็เหมือนมีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรม จะมีอะไรๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วธรรมเป็นตนจริงๆ หรือไม่ ธรรมเป็นธรรม แต่ความหลากหลายของธรรม ธรรมที่ตรงนี้กับธรรมที่ตรงโน้น อย่างคุณอรวรรณเป็นคุณกนกวรรณ หรือไม่ ก็แสดงความต่างกันอยู่แล้ว พึ่งปัญญาของคุณอรวรรณได้หรือไม่ คุณอรวรรณพึ่งปัญญาของคุณกนกวรรณได้ไหม เพราะฉะนั้นปัญญาเกิดเมื่อไรก็เป็นที่พึ่ง ของใคร

    ผู้ฟัง ของจิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ และเคยยึดถือว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง อย่างนั้นคำว่า “ตน” คือปัญญา

    ท่านอาจารย์ ตน คือสิ่งที่มี แล้วก็ต่างกันเป็นภายใน และภายนอก ตนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นดอกกุหลาบได้หรือไม่ จะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ได้หรือไม่ เพราะเป็นเพียงธาตุที่สามารถกระทบ แล้วปรากฏ แล้วดับไปแล้ว แต่ว่าจากการเกิดดับสืบต่อก็ทำให้ปรากฏเป็นสัณฐาน นิมิต ที่จำได้ว่า เป็นภายใน หรือภายนอก และเป็นอะไรด้วย

    เพราะฉะนั้นคุณกนกวรรณจะไม่หลงว่า คุณอรวรรณเป็นคุณกนกวรรณแน่นอน คุณอรวรรณก็เป็นภายนอก แต่อะไรๆ ที่เกิดกับคุณกนกวรรณเป็นภายใน เหมือนกับเป็นตน สิ่งหนึ่งสิ่งใดจนกว่าจะเข้าใจว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วต่างก็ดับไปทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่เข้าใจอย่างนี้เป็นที่พึ่งของใคร ของผู้ที่สะสม หรือสภาพธรรมที่สะสมปัญญาสืบต่อมา จนสามารถเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปเป็นของคนอื่น หรือสภาพธรรมอื่นที่ไม่ได้สะสม

    อ.ธิดารัตน์ มีข้อความแสดงไว้ว่า กุศลธรรมทั้งหมด ชื่อว่า เป็นของตน หรือเป็นตน เพราะว่าเวลาให้ผลอุปถัมภ์ผู้นั้นให้ผลเป็นสุข แต่อกุศลทั้งหมด ไม่ว่าอกุศลที่เราคิดว่าเราทำ หรืออกุศลของคนอื่นก็ตาม ชื่อว่าไม่ใช่ของตน หรือไม่ใช่ตน เพราะให้ผลเบียดเบียน เพราะฉะนั้นท่านก็แสดงไว้ ถ้าโดยความหมายของตนที่เป็นที่พึ่ง สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้ ก็คือกุศลธรรมของคนนั้นเอง กุศลทุกอย่างเป็นที่พึ่งได้ และกุศลที่จะเป็นที่พึ่งอย่างดีที่สุด ที่ท่านแสดงว่า เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ก็คือสติปัฏฐาน เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงที่จะนำออกจากสังสารวัฏฏ์ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    22 ม.ค. 2567