พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 464


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ลองทบทวนดูว่า เป็นเรื่องคิดโดยตลอด ใช่ไหมว่า รูปนี้มาติดต่อ รูปนี้มีใจครอง เป็นเรื่องคิด ใช่ไหม ขณะนั้นคิดอย่างนี้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขณะนั้น ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่ได้รู้ว่า เป็นธาตุคิด ซึ่งต่างกับเห็น ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมซึ่ง ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ไม่ได้รู้ธรรมว่าไม่ใช่เรา เราคิดไป แต่ไม่ใช่ธาตุรู้ ตรงนั้น

    อ.กุลวิไล มีผู้เขียนมาถามว่า จิตมีอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ไปรู้ที่ตา เดี๋ยวก็ไปรู้ที่หู เดี๋ยวก็ไปรู้ที่จมูก เดี๋ยวก็ไปรู้ที่ลิ้น หรือที่กาย หรือที่ใจ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงว่า จิตมีอยู่แล้ว แล้วเดี๋ยวไปรู้ทางตา เดี๋ยวไปรู้ทางหู แต่ธรรม แม้แต่จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ความน่าอัศจรรย์คือ ถ้าไม่มีปัจจัย ก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ขณะนี้มีจิตที่เกิดเอง แล้วไปรู้นั่น ไปรู้นี่ ไม่ว่าจิตใดๆ ก็ตามต้องมีปัจจัย สมควรที่จิตนั้นจะเกิดขึ้น จิตนั้น จึงเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น บางคนก็ถามว่า แล้วแข็งมี ขึ้นมาได้อย่างไร แข็งไม่ใช่ มีขึ้นมาได้อย่างไร แต่แข็งมี ใช่หรือไม่ ไม่ใช่แข็งมีมาได้อย่างไร แต่แข็งมี แล้วไม่รู้ว่า แข็งมีเพราะอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ ทำไมมีแข็ง ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องทำไมมี แต่มี และควรจะรู้ว่า สิ่งที่มีเกิดแล้ว เป็นอย่างนั้น จะไม่เป็นอย่างอื่น แม้แต่รูป เสียง เกิดแล้วเป็น เสียง จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฉันใด ธาตุรู้คือจิต ถ้าไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น รู้ก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าเป็นธาตุ หรือเป็นธรรม แสดงให้เห็นถึง ความเป็นอนัตตาว่า ไม่ได้มีการที่ จิตมีอยู่แล้ว แล้วไปรู้นั่น รู้นี่ แต่ขณะนี้เอง จิตใดเกิดแล้ว ก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัย จิตก็เกิดไม่ได้ เจตสิกก็เกิดไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงปัจจัยโดยละเอียด ของสภาพธรรมที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ก็มีปัจจัยเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ สภาพธรรมนั้นๆ จึงเกิดได้ จึงจะไม่ใช่เรา จึงจะไม่เป็นของใคร จึงไม่มีใคร สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรมนั้นเป็นธรรม เกิดแล้วก็ดับไป

    อ.กุลวิไล คำถามที่ ๒ ทำไมเราลืมได้ง่ายๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นธรรม เพราะไม่มีสติ ที่มีสมาธิ หรือเอกัคคตา เป็นตัวประคับประคอง ให้สติเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ หนูเข้าใจว่า การให้สติระลึกรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องมีตัวประคับประคอง คือ สมาธิด้วย ดังนั้นจึงควรฝึกสมาธิควบคู่กับการเจริญสติด้วย เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ทุกครั้งที่สติเกิด จะมีสมาธิเกิดร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้อง ไปทำสมาธิอะไรอีกเลย เพราะเหตุว่า ขณะใดก็ตาม เมื่อมีจิตเกิด ต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    ทำสมาธิทำอย่างไร ทำจิตได้ไหม ทำสติได้ไหม ทำความเพียรได้ไหม แล้วจะทำสมาธิได้อย่างไร ในเมื่อสมาธิก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง คือการฝึกสมาธิ ก็คือ การฝึกให้ตัวเอง เพ่ง อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน เวลาที่เราศึกษาธรรมแล้ว จดจ่ออยู่กับปรากฏการณ์ ที่เป็นธรรม ทำให้เราสามารถรับรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเข้าใจว่า เป็นธรรมต่อเนื่อง จะไม่ทำให้เราเผลอลืมอะไรง่ายๆ หนูเข้าใจว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เห็น เปลี่ยนได้ไหม

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เห็นขณะนี้ ปัญญาสามารถรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องไปทำอะไร ที่จะทำให้ รู้เห็นขณะนี้

    ผู้ฟัง ตรงนี้หนูเข้าใจ เพราะว่าเอกัคคตาเกิดทุกครั้งที่เราเห็น หรือรับรู้ทางใดก็ตาม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็น

    ผู้ฟัง แล้วเอกัคคตาก็เกิดขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเลย แต่ที่ไม่มี คือปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แม้ว่าจะเห็นกี่ครั้ง ก็ตาม ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะรู้ไหมว่า เห็นเกิดแล้วดับ แล้วก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็น สามารถได้ยิน สามารถคิดนึก เป็นธาตุรู้ ซึ่งต่างกับธาตุอื่น ซึ่งเกิดแล้วไม่รู้อะไร เช่น แข็ง แข็งเกิด แข็งก็ไม่รู้อะไร แข็งไม่หิว แข็งไม่เจ็บ แข็งไม่ปวด แข็งไม่สุข แข็งไม่ทุกข์ แต่ธาตุรู้ สามารถรู้ คือ กำลังเห็นขณะนี้ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอย่างนี้ เห็นคือรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกได้ไหมว่า ขณะนี้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ แล้วก็ เกิดแล้วด้วย แล้วก็ไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากเห็น ปัญญาสามารถจะเห็นถูก อย่างนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็นได้

    ท่านอาจารย์ อบรมให้เข้าใจถูกต้องขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ แต่พูดง่ายๆ ว่า การที่จะให้สติสามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาพอที่จะให้สติเกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าสามารถระลึก

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงขณะนี้กำลังเห็น สามารถรู้ไหมว่า เห็นขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง สามารถ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปทำสมาธิ ไปทำทำไม

    ผู้ฟัง เวลาที่เราอยู่ข้างนอก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ ถามถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ไม่มีอย่างอื่นเลย สิ่งที่หมดแล้วหมดไป ไม่กลับมาอีก สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่มาถึง สิ่งที่กำลังมีขณะนี้ ความจริงแล้วชั่วคราว สั้นแสนสั้น คือเพียงปรากฏแล้วหมดไป แต่ไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ถ้ามีความเข้าใจถูก จะรีรอ จะรั้งรอ ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ หรือว่า จะเลื่อนไปเรื่อยๆ ต้องไปทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า เมื่อครู่นี้กล่าวว่า ปัญญาที่อบรมแล้ว สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกอย่างนี้ได้ ตามปกติ อยู่ที่ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปอยู่ที่ สมาธิ

    ผู้ฟัง พูดถึงสมาธิในแง่ที่เป็นปัจจัย เป็นตัวที่ช่วยประคับประคอง

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิด มีสมาธิไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วสติรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นสภาพธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ให้ระลึกได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีปัญญา มีสติเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วมี หรือไม่ ข้อสำคัญคือว่ามีปัญญา หรือไม่ พอที่จะระลึกได้ไหม ที่ขาดน่ะ ขาดอะไร ขาดปัญญา หรือ ขาดอย่างอื่น

    ผู้ฟัง หนูคิดว่า ปัญญาเป็นตัวแรกที่ทำให้เรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาคือขณะที่ฟัง เข้าใจถูกต้องว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถทำให้เห็นเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถ ทำให้สติเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถทำให้ วิริยะ ความเพียร เกิดขึ้น เพราะเกิดแล้ว ไม่ต้องไปทำเลย เกิดแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถทำให้สมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกเกิด เพราะเกิดแล้ว จะไปทำอะไร เกิดแล้ว แล้วจะไปทำเมื่อไร จะไปทำขณะไหน นอกจากเข้าใจผิดคิดว่า ทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ความจริงทุกอย่างเกิดแล้ว เพราะปัจจัย ตรงนี้ที่ไม่รู้ จึงเข้าใจว่า จะไปทำให้เกิด แต่แม้ขณะนี้ก็เกิดแล้ว

    ผู้ฟัง คือเหมือนกับเป็นการทำให้เอกัคคตาเจตสิกเข้มแข็ง

    ท่านอาจารย์ คิดเอง เข้มแข็งเพราะปัญญา ไม่ใช่เข้มแข็งเพราะอย่างอื่น ไม่มีปัญญา แล้วจะไปทำให้ เอกัคคตาเจตสิกเข้มแข็งได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ต้องมีปัญญาเป็นปัจจัย ไม่ใช่ไม่รู้อะไร ก็จะไปทำสมาธิให้เข้มแข็ง แล้วสมาธิคืออะไร

    ผู้ฟัง ความตั้งมั่นแห่งจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วทำให้เข้มแข็งได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ทำให้จิตที่เป็นปัญญาเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วปัญญานั้นรู้อะไร ถ้าเป็นปัญญา ต้องเข้าใจถูก เห็นถูก จะกล่าวว่า ปัญญาลอยๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ว่าปัญญา เห็นถูกอะไร

    ผู้ฟัง เห็นว่าเป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง ขณะนี้ เดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ เพราะฉะนั้นสติเกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ กำลังรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์ ว่า เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิด แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นธรรม นี่คือความต่างกัน ของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ก็เป็นเราที่พยายาม และอยากให้มีสมาธิ อยากให้มีสติ อยากให้มีปัญญา แต่ไม่รู้ว่า ปัญญาคือความเห็นถูก ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วไปทำสมาธิ เพื่อจะไปรู้ แต่สิ่งที่มีแล้ว ในขณะนี้ เกิดแล้ว จึงจะเห็นความเป็นอนัตตาได้ ว่าไม่มีใครสามารถบังคับให้เกิด หรือไม่ให้เกิด ได้เลย เมื่อมีปัจจัยจึงเกิด แล้วเกิดแล้วด้วย แล้วก็ดับแล้วด้วย เพราะฉะนั้นปัญญา ที่อบรมแล้ว สามารถเข้าใจถูก ตามความเป็นจริง

    อ.กุลวิไล ขอเรียนถามผู้ถามว่า ฝึกสมาธิควบคู่กับการเจริญสติ ฝึกสมาธิขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง เช่นฝึกลมหายใจเข้าออก ก็รู้สึกถึงลมที่เข้าออก เหมือนกับฝึกให้จิตเข้มแข็งอยู่กับสิ่งที่เข้าออก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฟังธรรม แล้วสัมผัสกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว ทางทวารต่างๆ ก็รู้ว่า คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขอถามนิดหนึ่งว่า เป็นเรื่องต้องการ หรือเป็นเรื่องละ

    ผู้ฟัง เวลาที่เราปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่เราจะไปรู้ที่ลมหายใจ เป็นเรื่องความต้องการ หรือเรื่องละ

    ผู้ฟัง ถ้าพูดตามจริงก็คือต้องการ เพื่อที่จะให้

    ท่านอาจารย์ ต้องการ เป็นธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นฉันทะ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่มีปัญญา แล้วมีความต้องการ ขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วไง อกุศลจะพาไปให้เป็นอกุศลยิ่งขึ้น ด้วยความต้องการยิ่งขึ้น เพราะว่า เพียงแค่นิดเดียว ที่จะจดจ้องที่ลมหายใจไม่พอ ต้องการให้จดจ้องมากขึ้นๆ ขณะนั้นไม่ใช่เรื่องละ ไม่ใช่เรื่องรู้ แต่เป็นเรื่องต้องการ แล้วทำแล้ว ผลคืออะไร

    ผู้ฟัง คือไม่ถึงขนาดที่ต้องการละ แต่เป็นความพอใจ

    ท่านอาจารย์ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อรู้ แล้วละความไม่รู้ ละความไม่รู้ ถ้าตราบใดที่ยังมีความต้องการ ไม่ได้ละความไม่รู้ เพราะขณะนั้นไม่ได้รู้ ขณะใดที่ต้องการ ต้องการเพราะไม่รู้ จึงต้องการ แต่ถ้ารู้แล้ว ก็ละความต้องการ ที่ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน ขณะนั้นก็มีเรา ที่ต้องการด้วย ทั้งมีความเป็นตัวเรา และมีความต้องการด้วย

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่หนทางที่จะรู้ความจริง เพื่อละ

    อ.วิชัย จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็มีความคิดคล้ายๆ กัน แต่เมื่อศึกษามากขึ้น จะรู้ว่า ธรรมทุกอย่าง เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหมด ก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ขณะที่เจริญสมาธิ รู้ธรรมว่า เป็นธรรมไหม หรือว่าเป็นตัวเราที่ กระทำอย่างใด อย่างหนึ่ง เพราะยังเข้าใจไม่เพียงพอ ก็เลยพยายามทำอย่างนั้น อย่างนี้ อาจจะรู้สึกว่า เราเข้าใจอย่างนั้น แล้วมีประโยชน์อย่างนั้น อย่างนี้ แต่ถ้าเข้าใจเพิ่มขึ้นจะรู้ว่า ทุกๆ ขณะเป็นอนัตตาจริงๆ แม้ความสงบของจิต ขณะนี้ก็สามารถเป็นไปได้ แม้ขณะที่ตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังโดยตลอดไหม ใส่ใจโดยตลอดไหม ไม่จำเป็นต้องเป็นเวลานั้น เวลานี้ แต่ทุกๆ ขณะถ้าเข้าใจถูก ความสงบของจิต ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้มีบุคคลมากมาย หรืออยู่คนเดียว อกุศลก็เกิดได้ เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจถูก เมื่อความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เราจะรู้เลยว่า แม้การเห็น การได้ยิน ทุกๆ ขณะ เป็นธรรมทั้งหมดเลย บังคับบัญชาไม่ได้ ขณะที่พยายามให้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิด เป็นไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ว่าขณะที่จะพยายาม แม้ขณะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะธรรมละเอียดมาก ต้องค่อยๆ พิจารณา แม้ฟังขณะนี้ เราฟังตลอดไหม หรือคิดเรื่องอื่นด้วย จิตก็เป็นไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง จิตตชรูปเกิดได้กับจิตทุกดวง ยกเว้นทวิปัญจวิญญาณจิต กับจุติจิตของพระอรหันต์ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ทีนี้ภวังคจิตทำให้เกิดจิตตชรูปได้ หรือ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นไม่มีใคร ไปเปลี่ยนได้เลย เมื่อทราบว่า จิตขณะเเรกคือปฏินธิเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เป็นขณะแรก เพราะฉะนั้นแม้เเต่ จิต เจติก และ รูป ที่เกิดพร้อมกันในขณะปฏินธินั้นไม่มีจิตตชรูป นี่แสดงให้เห็นว่าจิตขณะเเรกของชาตินี้ที่เกิดขึ้น เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมดก็ได้ประมวลมาทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นการเกิดเป็นมนุษย์ จิตที่ปฏิสนธิ คือ กุศลวิบากจิตระดับ ขั้นกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่ระดับขั้นที่สูงกว่านั้น คือไม่ใช่ระดับที่จิต มั่นคงถึงฌานจิต ที่เกิดในพรหมโลกได้ ด้วยเหตุนี้ผลของกามาวจรกุศล ก็ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในสวรรค์ ขณะที่เกิดจิตขณะแรก ทำกิจ สืบต่อจากจุติจิต ของชาติก่อน กรรมทำให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับกัมมชรูป

    เพราะฉะนั้นในขณะแรก ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิตของใคร ขณะนั้นไม่มีจิตตชรูป จิตยังไม่มีกำลังพอ ที่จะเป็นปัจจัยให้ จิตตชรูปเกิด ตอนนี้ไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมเดียวกันนั้น ก็ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ มีกำลังพอที่จะทำให้รูปเกิด ความจริงในขณะปฏิสนธิ กรรมทำให้กัมมชรูป เกิดในอุปาทขณะ ในฐีติขณะ และในภังคขณะของปฏิสนธิจิต และพอปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ยังคงทำให้รูป ซึ่งเกิดจากกรรม เกิดทุกขณะจิต ทั้งในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ นั่นคือ รูป ซึ่งเป็นผลของกรรม แต่รูปที่เป็นผลของจิต ต้องเกิดในปฐมภวังค์ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตขณะต่อไปเป็นภวังค์ขณะแรก จิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฐมภวังค์ ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย ก็เป็นเรื่องของธรรม

    ผู้ฟัง ที่เกิดภวังคจิตได้แก่อะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ รูปอย่างน้อยที่สุดที่จะเกิดได้ ๘ รูป ไม่แยกกันเลย คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ก็ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ย่อมมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รวมอยู่ด้วย ๘ รูป เป็นพื้น จนกว่า จะมีรูปอื่นๆ ซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานเกิดร่วมด้วย ใครรู้บ้างว่า ขณะนั้นจิตเป็นปัจจัยให้รูปเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง หัวใจเต้นด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตอนเกิดขณะแรกมีรูปหัวใจ หรือยัง ในครรภ์มีรูปหัวใจ หรือยัง แต่จิตตชรูปมีแล้ว และจิตตชรูปนั้นก็เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตด้วย พร้อมกันทันทีที่จิตเกิด จิตที่เกิดนั่น เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด

    ผู้ฟัง และรูปที่ทำให้หัวใจเต้น

    ท่านอาจารย์ ทำไมคุณหมอคิดถึงหัวใจเต้น เรากำลังคิดถึงเรื่องรูป กำลังพูดถึงเรื่องธรรม นามธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก ขณะไหนเป็นปัจจัยให้รูปเกิด ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย ขณะไหนเป็นปัจจัยให้รูปเกิดร่วมด้วย มากกว่า ขณะที่ไม่เป็นภวังค์ ก็เป็นเรื่องของธรรมขณะนี้

    ก่อนจะไปถึงหัวใจเต้น หัวใจคืออะไร เป็นรูป และที่เราเรียกว่า “หัวใจ” เป็นรูปอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง อุปาทายรูป

    ท่านอาจารย์ ๘ รูป เกิดจากอะไร

    ผู้ฟัง เกิดจากกรรม

    ท่านอาจารย์ เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี เพราะที่เราคิดว่า เป็นรูป หนึ่งรูปใดที่มีสัณฐานใหญ่พอที่จะมองเห็น พอที่จะจับได้ แต่ความจริงรูปเล็ก และละเอียดมาก ๘ รูปนี่ใครจะรู้ เกิดแล้วดับเร็วมาก แล้วก็มีอากาศธาตุแทรกคั่น อยู่อย่างละเอียด ทุกกลาป กลาป คือ กลุ่มของรูป ๘ รูป หรือจะเป็น ๙ รูป ๑๐ รูปก็ตาม ที่เกิดเพราะสมุฏฐานต่างๆ กัน เกิดแล้วก็ไม่ยั่งยืนเลย เกิดแล้วก็ดับไป เกินกว่าที่เราจะไปคิดว่า เราจับต้อง สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เหมือนเที่ยง เป็นรูปหัวใจกำลังเต้น ความจริง ก็เป็นรูปซึ่งเกิดจากสมุฏฐานต่างๆ แล้วทยอยกันเกิดขึ้น แล้วดับไปด้วย แต่เมื่อปรากฏสัณฐานเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าหัวใจ เหมือนอย่างขณะนี้ มีรูปที่ปรากฏทางตา นับไม่ถ้วน เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น แต่สัณฐานปรากฏเหมือนกับว่า ยังมีอยู่

    เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกของความไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรม เหมือนสิ่งนั้นมี คุณหมอคิดถึงหัวใจส่วนหนึ่ง แต่ทั้งตัวที่นั่งอยู่เวลานี้ ก็เป็นการเกิดดับของรูป ซึ่งทำให้ ปรากฏเป็นสัณฐาน เพราะว่าการเกิดดับนั้น เป็นไปอย่างรวดเร็ว ฉันใด หัวใจก็เหมือนกัน ส่วนหนึ่งส่วนใดของรูป ทั้งหมด ที่ปรากฏเป็นสัณฐานต่างๆ ก็เหมือนกัน เป็นรูปชึ่งเกิดเพราะสมุฏฐานต่างๆ มีอากาศธาตุแทรกคั่น เกิดแล้วดับแล้ว อย่างรวดเร็ว ไม่เหลือเลย นี่คือความจริง ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากความคิด และความจำว่า ยังมีอยู่

    ยังต้องคิดถึงหัวใจเต้นไหม ถ้าเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ต้องหัวใจเต้น และมีการหายใจใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคนที่ไม่รู้ว่า จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร รูปคืออะไร ธรรมคืออะไร แล้วก็ละเอียดอย่างไร ก็คิดเป็นเรื่องราว ของสภาพธรรม ซึ่งเหมือนยังมีอยู่ แต่ความจริงสิ่งใดก็ตาม ที่เกิดปรากฏดับเลย เร็วระดับนั้น เพียงปรากฏนิดเดียว ไม่ทันที่จะรู้ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

    ที่พูดถึงเรื่องหัวใจเต้น หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม เพราะไม่รู้ความจริง ของสภาพธรรม ก็จำเรื่องราว เป็นคน นอนหลับ หัวใจเต้น ยังมีรูป ก็คือเรื่องราวทั้งหมด แต่ว่า ตามความเป็นจริง ถ้าศึกษาธรรม และเข้าใจธรรม ก็จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วธรรมเป็นธรรม ซึ่งใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

    คุณหมอยังไม่หลับ หัวใจกำลังเต้น หรือไม่ เต้น เห็นไหม ก็พูดเรื่องราวของหัวใจเต้น แต่ว่าขณะนี้อะไรปรากฏ หัวใจเต้นปรากฏ หรือไม่ เต้น แต่ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็จำเรื่องราวหัวใจเต้น กำลังนั่งอยู่ที่นี่ก็หัวใจเต้น กำลังนอนหลับก็หัวใจเต้น โดยที่เป็นเพียงความคิดนึก ทั้งๆ ที่สภาพนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะรู้ได้ว่า ความจริง ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย จะอยู่ในโลกของความไม่รู้ และอยู่ในโลกที่จำสิ่งที่เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วว่า สิ่งนั้นเที่ยง และยังมีอยู่

    อ.กุลวิไล เพราะเราอยู่ในโลกของเรื่องราวจนชิน เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม ก็จะไม่ทราบว่า สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก และรูปขณะนี้เอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    18 ก.ค. 2567