พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 456


    ตอนที่ ๔๕๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ในการศึกษาแต่ละคำที่ว่า พระพุทธองค์ส่องถึงพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะเป็นปัญญา ที่ปรุงแต่งให้เข้าใจด้วย แต่เมื่อยังไม่ลึกซึ้ง หรือยังไม่มั่นคงพอ เหมือนฟังแล้วยังแยกพยัญชนะ กับสิ่งที่มีจริงอยู่ ตราบเท่าที่มั่นคง และลึกซึ้งพอ ปัญญาตรงนั้นก็จะ ปรุงแต่ง ให้สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกว่า คือขณะนี้นั่นเอง ไม่ใช่ขณะอื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปแยกอะไร ฟังเข้าใจ ได้ยินคำว่า “ธรรม” ตอนนี้เข้าใจใช่ไหม ไปหาที่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง มีปรากฏอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ มีแต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม นี่คือการฟังเพื่อเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นธรรม เพราะฉะนั้น เราเข้าใจความหมายของ “ธรรม” แล้ว ก็จะมีการ ฟังธรรมต่อๆ ไป เพื่อเข้าใจยิ่งขึ้น ให้ถึงความเป็นธรรม เช่น มีคำว่า “ปรมัตถธรรม” ก็คือธรรม ไม่ใช่ธรรม ได้ไหม เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม เป็นธรรม แต่แสดงว่า ธรรม ปรม ยิ่ง อรรถที่อาจารย์นิภัทรบอกว่า เป็นความหมาย ถ้าสิ่งนั้นไม่มีลักษณะ ที่จะกล่าวถึงความหมายของสิ่งนั้น ได้ไหม กล่าวความหมายลอยๆ ก็เหมือนกล่าว เรื่องลอยๆ เรื่องอื่นๆ แต่ที่ใช้คำว่า “อรรถ” หรือความหมาย หมายความว่า สิ่งนั้นต้องมีลักษณะ ที่ส่องถึง ความหมายของสิ่งนั้น ที่จะกล่าวว่า ต่างกันลักษณะของธรรม

    เพราะฉะนั้นอีกนัยหนึ่ง ถ้าจะเข้าใจ โดยความ ก็คือว่า อรรถ หมายความถึงลักษณะ ปรมัตถ์ก็คือจริงๆ ของสิ่งนั้น ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น ซึ่งจะไม่เป็นอย่างอื่นเลย

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะว่าไม่รู้ว่า ธรรมที่กำลังปรากฏ มีลักษณะเฉพาะจริงๆ แต่ละลักษณะ ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย

    นี่คือการเริ่มฟัง แล้วไม่ประมาท ที่จะรู้ว่า ขณะนี้มีธรรม แล้วธรรมซึ่ง เป็นธรรม ก็มีลักษณะจริงๆ ของธรรมแต่ละอย่าง จึงเป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่า ใครไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลักษณะนั้น ให้เป็นอย่างอื่นได้เลย เมื่อกล่าวถึงปรมัตถธรรม ต้องเป็นสิ่งที่ มีลักษณะจริงๆ แล้วใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้น ให้เป็นอย่างอื่นได้

    ด้วยเหตุนี้ก็เริ่มเข้าใจว่า ที่เราเริ่มเข้าใจว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นโลก เป็นทุกอย่าง ลักษณะจริงๆ ก็คือเป็นธรรม ที่มีลักษณะที่แท้จริง ของตนๆ ซึ่ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แค่นี้พอที่จะรู้ไหม ว่าขณะนี้ที่กล่าวว่า ปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ ก็มีลักษณะที่แท้จริง ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้เลย จึงเป็นปรมัตถธรรม เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ มีใครเปลี่ยนแปลงให้ไม่ปรากฏได้ไหม ในเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลักษณะที่แท้จริง ก็คือว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เมื่อไม่มีใคร สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นเอง ที่เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อใดก็ตาม ที่มีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ คือ เห็น เกิดขึ้นเห็น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้

    ด้วยเหตุนั้น ปรมัตถธรรมก็คือ ชีวิตทุกขณะตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยลักษณะที่แท้จริง ก็เป็นเพียงธาตุ หรือสิ่งที่สามารถจะปรากฏ ให้เห็นได้ และจิตที่กำลังเห็น ก็เป็นธาตุที่สามารถจะเกิดขึ้นรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ถ้าใช้คำว่า “รู้” ที่นี่ ก็เริ่มเข้าใจความหมายของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับธาตุที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย อย่างแข็ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่มีจริงๆ เป็นธรรม แล้วเป็นธาตุด้วย ใครก็เปลี่ยนลักษณะของแข็งนั้นไม่ได้ แต่แข็งไม่เห็น แข็งไม่เจ็บ แข็งไม่คิด เพราะฉะนั้นต้องมีธาตุจริงๆ ซึ่งต่างจากธาตุที่ ไม่รู้อะไร ซึ่งธาตุนั้น เราใช้คำว่า “ธาตุรู้” หรือ “นามธาตุ” ในภาษาบาลี หมายความถึง รู้ว่ามีสิ่งใดปรากฏให้รู้ อย่างเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปรู้เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ใช่รู้อย่างนั้น แต่เห็นคือ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้เห็นที่กำลังปรากฏว่า เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นรู้คือ เห็น กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้ เห็น จึงรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็คือสิ่งที่ปรากฏเป็นปรมัตถธรรม และธาตุรู้ หรือจิตที่กำลังเห็น ก็เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เรา การฟังธรรมก็คือ ให้รู้ความจริงว่า เป็นธรรม ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นบางคนก็บอกว่า ฟังนานมากแล้ว ไม่ได้เข้าใจ สภาพธรรมที่ปรากฏอย่างที่ได้ฟัง ฟังพอ หรือยัง ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ มีจริงๆ เพราะฉะนั้นพอเอ่ยคำว่า “อวิชชา” หรือ “โมหะ” ก็เข้าใจได้เลย ขณะใดที่ไม่รู้ความจริง และไม่เข้าใจ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ธาตุที่ไม่รู้ สภาพไม่รู้มี ก็ใช้คำเรียกธาตุนั้นว่า “อวิชชา” หมายความว่า

    ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังธรรมละเอียด ก็จะทำให้สามารถเข้าใจ คำที่เราได้ยิน ได้ฟัง แล้วก็ไม่ลืมด้วย ขณะนี้มีอวิชชาไหม ขณะใดที่ไม่รู้ แสดงว่า กำลังฟังนี่เข้าใจ ต้องต่างขณะกับไม่รู้

    เพราะฉะนั้นแสดงถึงการเกิดดับสืบต่อ อย่างรวดเร็วมากของนามธาตุ และรูปธาตุ

    สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว ไม่รู้เลย มากมาย ใช่ไหม แต่กำลังกล่าวถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เริ่มจะรู้ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ อย่างขณะที่กำลังไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อกี้ก็ไม่รู้ ตั้งกี่วาระที่เห็นแล้ว ก็ไม่รู้ ก็ไม่ได้กล่าวถึง เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้ว่า อวิชชา ความไม่รู้มากแค่ไหน แต่พอกล่าวถึงขณะนี้ กำลังเห็น รู้ไหมว่า เห็นขณะนี้เป็นธาตุที่ กำลังเห็นเกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่กล่าวอย่างนี้ก็ไม่รู้ ใช่ไหม ขณะนั้นก็คือ ตัวไม่รู้นั่นเอง ซึ่งมากแค่ไหน

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมที่ละเอียด จึงสามารถค่อยๆ เข้าใจความเป็นธรรม แล้วก็รู้ว่า ความรวดเร็วของธรรม ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ เราก็คิดเอาเองหมดเลย หรือแม้แต่การอ่านพระไตรปิฎก ซึ่งบางคนอาจจะชอบอ่าน แต่ไม่ได้ศึกษาตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจว่า เข้าใจข้อความที่อ่าน แต่ความจริง ไม่ได้เข้าใจธรรม เข้าใจเพียงคำ อย่างโลภะ เป็นสภาพที่ติดข้องต้องการ ยึดในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ได้คำแปล แต่เดี๋ยวนี้มี หรือไม่ ลักษณะของโลภะเป็นอย่างไร เป็นธรรม หรือเป็นเรา ก็ไม่สามารถจะรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด จึงจะได้สาระจากการฟัง เพราะเหตุว่า ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเข้าใจ ขณะนั้นค่อยๆ ละความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ จนกว่าจะหมด ไม่ใช่ว่าเมื่อไร แต่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง และเป็นผู้ตรง ที่ไม่ต้องถามใครเลย

    ตอนนี้รู้ หรือยังว่า เมื่อไร

    ผู้ฟัง การที่ว่า ผู้ฟังต้องฟังธรรมอย่างละเอียด จึงจะได้สาระจากพระธรรม ตรงนี้การฟังอย่างละเอียด ถ้าสังเกตจากท่านอาจารย์ ธรรมก็ลึกซึ้ง และละเอียด ถ้าพิจารณาจริงๆ ก็จะเห็นว่า ธรรมละเอียดลึกซึ้ง และเข้าใจยากจริงๆ รู้ตามได้ยากจริงๆ ถ้าสนทนากับสหายธรรม ก็เห็นว่า แม้ฟังให้เข้าใจ ในสิ่งที่ท่านอาจารย์พร่ำสอน ให้พวกเราฟังมาหลายสิบปี ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ฟังให้เข้าใจ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นการเข้าถึง ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ฟังเข้าใจ ก็ยิ่งยากไปอีก ในการศึกษาละเอียด แล้วก็เห็นว่า พระธรรมลึกซึ้ง

    เหมือนกับยังห่างไกลผู้ฟังที่ฟังท่านอาจารย์อยู่มากทีเดียว

    ท่านอาจารย์ อีกสักแสนกัป คอยไหวไหม เร็วกว่านั้นก็ได้ใครจะรู้ ใช่ไหม อย่างท่านพระสารีบุตร ๑ อสงไขยแสนกัป แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างท่านพระสารีบุตร ใช่ไหม ขอเพียงได้เข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย ในสิ่งที่มีจริงๆ แล้วมีใครจะเป็นอย่างท่านพระสารีบุตร หรือมีใครจะเป็นท่านพระอานนท์ แต่ละ ๑ ไม่เหมือนกัน อย่าได้ไปคิดว่า จะเหมือนใครได้เลยแต่ละขณะจิต

    มิฉะนั้นจะไม่มีความหลากหลาย ที่กล่าวถึงบุคคลต่างๆ ในพระไตรปิฎก หรือแม้สมัยนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจะกล่าวถึงแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่ได้ซ้ำกัน ไม่ได้เป็นอย่างเดียวกันเลย แต่เข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ได้ยินคำว่า “ธรรม” ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย เพียงแต่ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรม และพอได้ยินคำว่า “ปรมัตถธรรม” ก็รู้เลยว่า เป็นนธรรม ที่มีลักษณะ ที่เป็นจริง ที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรายังไม่ได้ศึกษา ถึงสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าเราคุ้นเคย กับเรื่องราว สัตว์ บุคคลต่างๆ อย่าง ได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็นึกถึงบุรุษบุคคลผู้เลิศ ไม่มีผู้ใดเปรียบปาน ไม่ว่าจะในจักรวาลไหนทั้งสิ้น แต่ว่า อะไรเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรม หรือไม่

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือไม่ เป็นปรมัตถธรรม หรือไม่ เป็นปรมัตถธรรมอะไร เห็นไหม ต้องมีการค่อยๆ พิจารณาว่า ถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งสิ่งที่มีจริงๆ ปรมัตถธรรมไม่เกิน ๔ ประเภท ลองคิดดู เราคิดถึง เรื่องราวมากมาย ต้นไม้ ใบหญ้า ภูเขา น้ำ มากมาย แต่ว่าลักษณะ ของธรรมจริงๆ ที่เป็นธรรม ที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้เลย มีต่างกันเป็น ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ยากใช่ไหม เพราะทุกคนมีจิตแน่ๆ สัตว์บุคคลทั้งหลาย ที่จะเป็นสัตว์ บุคคลทั้งหลายได้ ไม่ใช่มีแต่รูป เพราะว่ารูปไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ถ้ามีแต่รูป ก็ไม่เดือดร้อนอะไรเลย แต่มีธาตุ ซึ่งเป็นธาตุ ซึ่งใครก็ยับยั้งไม่ให้ธาตุนี้เกิดไม่ได้ เพราะความเป็นธาตุ คือสิ่งที่มี พิสูจน์ได้ว่า ขณะนี้กำลังมี เมื่อสิ่งนี้กำลังมี ก็หมายความว่า ต้องมีธาตุซึ่งเป็นจิต ซึ่งต่างจากรูปธาตุ เพราะเหตุว่า เป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วจิตกำลังรู้ลักษณะ ของสิ่งนั้น รู้สภาพของสิ่งนั้น ว่าเป็นอย่างนั้น หรือรู้ความเป็นสิ่งนั้น เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะไปบอกคนตาบอดสักเท่าไร เขาสามารถนึกฝันได้ไหม สีเขียว สีแดง รูปร่างกลมๆ และอะไรๆ อีกสารพัดอย่าง เขาก็ไม่สามารถนึกถึงได้เลย แต่ขณะนี้ เพราะจิตเกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ จึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น มีจริงๆ เป็นธรรม ซึ่งใครก็สร้างขึ้นมาไม่ได้ บันดาลไม่ให้เกิดไม่ได้ ไม่ให้ดับก็ไม่ได้ นี่คือธรรม ปรากฏเมื่อมีจิตประเภทหนึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุปสาท กล่าวซ้ำบ่อยๆ ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ว่าขณะนี้กว่าเราจะไม่ยึดถือในเห็น เพราะว่าเป็นเราเห็นมาตลอด แล้วก็ไม่รู้ด้วย พอเห็นก็ไม่รู้เลย ไปสนใจในสิ่งที่เห็น ว่าเห็นอะไร ต้องการอะไร และทั้งวันที่เห็น ก็ไม่สนใจเห็น ที่จะเข้าใจว่า เพราะเห็นเกิดขึ้น จึงมีสิ่งที่ปรากฏได้ทั้งวัน เหมือนทั้งวัน แต่ความจริง ก็มีสิ่งอื่นที่ปรากฏแทรกคั่นด้วย

    นี่เป็นการเห็นธรรม ตามความเป็นจริงว่า ถ้าเรามีความเข้าใจ โดยที่ไม่ข้ามไปว่า แม้ขณะนี้ ก็มีธาตุรู้ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ฟังเพื่อเข้าใจ ความเป็นจริงของนามธาตุ และรูปธาตุ เพื่อให้รู้ว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถบันดาลให้เกิดได้ แล้วเมื่อไรจะรู้จริงๆ อย่างนี้ เดี๋ยวก็ลืมอีกแล้วนี่เป็นสิ่งซึ่ง ควรฟังบ่อยๆ เพราะว่าฟังแล้วเข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการบังคับ ไม่เป็นการบอก ไม่เป็นการสั่ง แต่ให้เห็นประโยชน์ เมื่อเห็นประโยชน์แล้ว ก็จะมีศรัทธาฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้น ตลอดชีวิตจนกว่า จะรู้ความจริง เพียงแค่ปรมัตถธรรมซึ่งมีชื่อให้รู้ว่า ต่างกันเป็น ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน กล่าวแล้วจริงๆ ตั้งแต่ปีไหนแล้วก็ไม่ทราบท แต่ก็ลืม ก็กล่าวอีก ย้ำอีก เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า ผู้ใดก็ตาม ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็ไม่มีโอกาสรู้เลยว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ที่จริงอย่างยิ่ง ที่ว่ามีลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะ ของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งพระพุทธองค์ ก็ทรงละเอียด ที่จะตรัสรู้ว่า สภาพธรรม แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร ปรากฏให้รู้ได้ ซึ่งในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ฟังเลย ก็เห็น ก็ได้ยิน ซึ่งบางคนอาจจะงงด้วยซ้ำไปว่า มาเรียนอะไรกัน เรียนเรื่องเห็น ได้ยิน แล้วก็เรื่องคิดนึก ทุกคนก็เห็น ได้ยิน แล้วก็คิดนึก มาเรียนอะไรกันที่เป็นของธรรมดามากเลย แต่เมื่อเข้าใจก็จะทราบว่า ความจริงของเห็น ได้ยิน ถ้าไม่มีการฟัง จะไม่วันรู้ความจริง ของสิ่งที่รู้ได้ ๖ ทางนี้เลย ว่า เป็นรูป เป็นนาม ที่เพียงปรากฏแล้วหมดไป ตรงนี้ก็เป็นความซาบซึ้ง ในพระคุณของทั้งพระพุทธเจ้า และ ของท่านอาจารย์ที่นำสิ่งที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ และนำมาพร่ำสอน ให้พวกเราพอจะรู้ตามได้ ตามกำลังปัญญาอันน้อยนิด แต่คิดว่ามีประโยชน์มาก ที่ได้มีโอกาสได้ฟัง และสั่งสมความเข้าใจ แม้ทีละเล็กทีละน้อย ตามอวิชชาที่มาก และปัญญาที่น้อย ก็กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเห็นความต่างของผู้ฟัง กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ สุดที่จะเปรียบประมาณได้ เพราะฉะนั้น เมื่อได้เห็นพระมหากรุณาคุณ ก็เห็นประโยชน์ของการที่จะไม่เพียงแต่กราบไหว้เคารพบูชา โดยไม่เข้าใจธรรม เพราะว่าถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ก็จะไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพียงแต่ได้ยินชื่อเท่านั้นเอง

    อ.อรรณพ ตั้งแต่ช่วงเช้า ท่านอาจารย์ก็ได้แสดงคุณค่า ของการฟังธรรม ก็เป็นช่วงเช้าที่มีความสุขสำหรับผู้มีศรัทธา ใคร่ที่จะฟังธรรม เพราะอะไร ทำไมต้องฟังธรรม แล้วทำไมต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย ก็ไม่มีวันที่จะรู้ว่า เป็นธรรมเลย หรือเพียงแต่จะคิดนึกโดยเข้าใจ ขั้นคิดนึกว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่มีทางเลย ถ้าไม่ได้ฟังธรรม แต่เมื่อฟังธรรมแล้ว ฟังพอ หรือยัง ถ้ายังฟังไม่พอ ก็ลืมว่าเป็นธรรมอยู่เสมอ ไม่ต้องออกไปจากห้องนี้ แม้ผู้ที่ฟังธรรมแล้ว หันไปเห็นคนโน้นคนนี้ ลืมแล้วว่า เป็นธรรม เป็นคนโน้นคนนี้มาถาม หรือคนนั้นคนนี้กำลังนั่งอยู่ตรงโน้นตรงนี้ เพราะฉะนั้นนั่นคือการฟังที่ยังไม่พอ ก็จะลืม ว่าเป็นธรรมอยู่ตลอด เพราะว่าไม่ค่อยได้สะสมการจำ ว่าเป็นธรรม สะสมความจำว่า เป็นคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ มามากกว่า ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมาว่า เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ก็มีความจำที่เป็นตัวตน เป็นอัตตสัญญามาก กว่า

    เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อจะสะสมความเข้าใจ ว่าเป็นธรรม แล้วก็ลืมว่าเป็นธรรมน้อยลง นั่นคือประโยชน์ ของการได้ฟัง

    ตรงนี้ในเรื่องความเข้าใจ ก็เป็นไปตามลำดับ ความเข้าใจในขั้นฟัง กว่าจะสู่ขั้นระลึกรู้สภาพธรรม ก็เป็นคนละขั้น และแม้ในขั้นการฟัง ปัญญาที่เข้าใจความจริง ในขั้นฟัง หรือสัจญาณ ก็มีระดับขั้น เริ่มฟังนิดหน่อย ก็ยังผิวเผิน ฟังบ่อยขึ้น พิจารณาขึ้น มีความมั่นคงเพิ่มขึ้นๆ นั่นคือลำดับ ความเป็นไปของการสะสมปัญญาแม้ในขั้นฟัง ก็มีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมั่นคงขึ้น ซึ่งก็คงฟังกันมานาน ไม่รู้ว่ากี่ชาติ แต่ว่าเล็กน้อย หรือว่าผิวเผินแค่ไหน ก็คงจะสะสมการฟังมาบ้าง แต่ว่าการฟังนั้นคงยังไม่พอ เพราะว่า ถ้าการฟังนั้นมั่นคง ก็จะรู้ว่าเป็นธรรม เมื่อสติมีเหตุปัจจัยจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏจริงๆ ในขณะนี้

    อ.วิชัย การฟังพระธรรม ก็คงเข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย อย่างเช่นเราฟังบ่อยๆ เรื่องของจิตประเภทต่างๆ บ้าง เรื่องของเจตสิกประเภทต่างๆ บ้าง เรื่องของรูปต่างๆ บ้าง ที่ทรงแสดงได้เพราะพระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ธรรม ตามความเป็นจริง ดังนั้นลักษณะของสภาพธรรมมีจริง แต่การที่จะกล่าว แสดงให้บุคคลอื่น ได้เข้าใจ ก็ทรงบัญญัติพยัญชนะต่างๆ ผู้ฟังสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นในครั้งโน้นก็ทรงแสดงเป็นภาษาบาลีที่มีการสืบต่อกันมา สำหรับบุคคลที่ สามารถเข้าใจในภาษาใด แล้วสามารถเข้าใจ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างเช่นคำว่า “จิต” ก็เป็นภาษาบาลี ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด ก็ไม่สามารถเข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะของจิตว่า มีลักษณะอย่างไร จิตไม่ใช่มีสรีระ หรือรูปร่างอะไร แต่ว่าเป็นลักษณะของนามธรรม คือเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ขณะที่รู้ คือ ได้ยินบ้าง เห็นบ้าง รู้เรื่องราวต่างๆ บ้าง ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของนามธรรม ที่เป็นธาตุรู้ มีจริงในขณะนี้ เพราะเหตุว่า ขณะนี้ทุกท่านกำลังคิด กำลังมีธาตุรู้เกิดขึ้น เป็นไปอยู่ เกิดดับสืบต่อกัน แต่ว่าการเกิดดับสืบต่อของนามธรรม ไม่ได้ปรากฏในขณะนี้ เพราะระดับของความรู้ความเข้าใจ ก็มีหลายระดับขั้น แม้ในขั้นของการเริ่มเข้าใจในลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม แต่ก็เป็นสิ่งยากที่จะเข้าใจ เพราะเหตุว่าธาตุรู้ที่เป็นปัญญา ก็ต้องเป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ก็คือฟังในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง แล้วก็ทรงแสดงแก่บุคคลที่ฟัง ที่สะสมมาจะมีเหตุปัจจัยพร้อม ที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ที่จะรู้ธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง แม้ในครั้งโน้น ก็มีการฟัง แล้วบรรลุเป็นพระอริยบุคคลแต่ละระดับขั้น ตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลจนถึงพระอรหันต์ หรือบางบุคคลก็ไม่บรรลุ แต่สามารถเข้าใจได้ แล้วก็มีการสั่งสมต่อๆ ไป

    เพราะฉะนั้นก่อนจะถึงขั้นบรรลุ ก็ต้องมีการเริ่มต้นด้วยการฟัง และที่สำคัญของการฟังคือ สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้จะใช้ถ้อยคำต่างๆ แต่จุดประสงค์ก็คือให้เข้าใจในลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องราวต่างๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    5 เม.ย. 2567