พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 473


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๗๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่า แสดงความละเอียดของแต่ละธาตุ จนสามารถค่อยๆ เข้าใจ เพื่ออะไรคะ ไม่ใช่เพื่อเราจะละคลายการติดข้อง ซึ่งเคยติดข้องธาตุทั้งหมดว่าเป็นเราได้ทันทีที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่จะเห็นความละเอียดของการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็สะสมฝ่ายกุศล และอกุศลไป ถึงกาลที่ธาตุไหนจะเกิดก็เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นความคิดในวันหนึ่งๆ หลากหลาย บางครั้งเป็นอกุศล แต่บางครั้งก็เป็นกุศล นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการที่แต่ละธาตุมาจากเหตุที่ไม่ใช่เพียงวันนี้ แต่สะสมมาเนิ่นนานแล้วก็ปรุงแต่ง

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ฟัง เริ่มเข้าใจเรื่องธาตุ แล้วจะรู้ว่า อาศัยการฟังแล้วเข้าใจ ณ วันหนึ่ง กาลหนึ่ง ซึ่งสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง จนไม่รู้ว่า ขณะนั้นอะไรจะเกิด แต่ปัญญาที่สะสมไปสามารถคลาย และดับการยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เราไปคาดหวังว่า เมื่อไรฟังอย่างนี้แล้วจะเข้าใจได้แค่ไหน ฟังมาตั้งนาน ไม่เห็นละการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่รู้จักความเป็นธาตุ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ การปรุงแต่งอย่างละเอียดทีละเล็กทีละน้อย จะทำให้แม้แต่การคิด ก็เริ่มคิดที่เป็นกุศลขึ้น หรือสามารถค่อยๆ คลายการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงสามารถค่อยๆ คลายการยึดถือได้ แล้วจะรู้ได้จริงๆ ว่า การคลายเป็นปกติธรรมดา แล้วก็คลายอย่างละเอียดด้วย เพราะเหตุว่าสามารถคลายจนถึงการดับสิ่งที่ละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ อนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นเชื้อทำให้เกิดอกุศล ไม่สามารถเกิดได้อีกเลย

    ผู้ฟัง ในการศึกษา ถ้าฟังเข้าใจแล้วก็จะเกิดสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ ๕ ในขณะเห็นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นธาตุ หรือธรรม อะไรก็แล้วแต่ จะเป็นระดับปานกลาง ประณีต หรืออกุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา ผู้ศึกษาจำเป็นต้องศึกษาให้ทราบละเอียดเหล่านี้ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างละเอียด

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่ออะไรคะ

    ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะฟังอะไรเพื่อเข้าใจ มิฉะนั้นแล้วก็เสียเวลา ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ซึ่งต้องใช้หลักฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้น ที่สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่ฟังได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจแล้วมีประโยชน์อะไร

    ผู้ฟัง ก็ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่เรา เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ เพื่อสามารถคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เมื่อเสียงปรากฏ แล้วรู้เสียงนั้นๆ ว่าเป็นเสียง สภาพที่รู้เสียงนั้นเป็นธาตุ ขอกราบเรียนถามต่อไปว่า สภาพที่รู้ว่าเสียงเป็นเสียง เป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ เสียง มี เสียงเป็นอะไร เสียงเป็นเสียง เสียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย มีสภาพได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นได้ยินจะเป็นเสียงได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ยินอย่างหนึ่ง เสียงอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ แต่ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจอะไรคะ เพราะเป็นเราได้ยิน แล้วจะให้เป็นธาตุได้อย่างไรอย่างนั้น หรือคะ

    ผู้ฟัง เท่าที่ดิฉันได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ทุกครั้ง จะใช้ว่า เสียงเท่านั้น แต่ท่านอาจารย์ไม่ได้พูดถึงคำ หรือเสียงใดเสียงหนึ่ง ความหมายใดความหมายหนึ่ง เมื่อยังไม่ได้ทราบว่า เสียงเป็นเสียง เป็นอย่างไร แล้วจะเข้าใจได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม ได้ยินเสียงไหมคะ

    ผู้ฟัง ได้ยินเสียง มีเสียง

    ท่านอาจารย์ เสียงก่อนฟังธรรมกับเสียงที่ฟังธรรมแล้ว เป็นเสียง หรือว่าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง เป็นเสียง แต่ความเข้าใจว่าเสียงเป็นธรรมจริงๆ ไม่มี หรือยังไม่สามารถเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ความจริงว่า แม้เสียงก็เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง และสัจจะ ความจริงของธาตุนั้นก็คือมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือสัจจะ ความจริงของทุกธาตุที่เกิดขึ้น ได้ยินเกิด เป็นธาตุ สัจจะของธาตุได้ยินก็คือ เกิดขึ้นได้ยิน ไม่ใช่เป็นเสียง ธาตุได้ยิน เกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย นั่นคือสัจจะ ความจริงของธาตุได้ยิน แล้วเราอยู่ที่ไหน ถ้าเข้าใจธาตุ สิ่งที่มีจริง มีลักษณะที่เป็นอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    นี่คือค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพียงปรากฏแล้วหมดไปเลย ไม่กลับมาอีกสักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเรา ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละลักษณะ แต่ละทางด้วย แค่นั้นเองค่ะ ไม่ว่าจะภพไหน ภูมิไหน เกิดบนสวรรค์ เป็นผลของกุศลกรรม กุศลวิบากมากมาย สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ประณีต แล้วก็หมด แต่ว่าอกุศลก็ยังอยู่ จนกว่าจะถึงปัญญาที่สามารถดับอกุศลนั้นได้ แต่สิ่งที่เป็นที่พอใจ ไม่พอใจของอกุศลนั้นไม่เหลือเลย จึงไม่กล่าวถึง ไม่ว่าจะเกิดในสวรรค์ชั้นใด หรือพรหมโลก หรือที่หนึ่งที่ใดก็ตามแต่ มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่เมื่อปรากฏแล้วไม่รู้ แล้วก็ติดข้อง เป็นอกุศลที่สะสมเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าปัญญาสามารถเจริญ และดับอกุศลนั้นได้

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เพียงปรากฏในแต่ละภพแต่ละชาติก็ว่างเปล่า คือ แค่เพียงปรากฏแล้วก็หมดไปๆ แต่ส่วนที่เหลือที่สะสมก็คือความไม่รู้ และอกุศล ซึ่งเป็นชาติเลว และมีการได้ยินได้ฟังเป็นปัจจัยให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น จนกว่าจะสามารถถึงความประณีต ประเสริฐที่สามารถดับอกุศลได้ มิฉะนั้นก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกชาติ ก็เพียงมีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป

    อ.วิชัย ก็กล่าวถึงธาตุ หมายถึงสิ่งนั้นต้องมีลักษณะที่จะให้รู้ได้ เช่น รูปธาตุ ลักษณะของรูปต่างๆ ที่ทรงแสดง ก็จะมีลักษณะเฉพาะของตนเอง อย่างเช่นรูปที่ปรากฏทางตา เป็นธาตุอย่างหนึ่ง เป็นลักษณะแท้ๆ ที่สามารถปรากฏได้ทางตาเรียกว่าวัณณรูป หรือถ้าเป็นอารมณ์ ก็เป็นรูปารมณ์ จะเห็นว่า ขณะนี้มีธรรมปรากฏจริง แต่ปัญญาไม่สามารถรู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏ โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ ต้องอบรมเจริญความรู้ ความเข้าใจแม้ในขั้นการฟังอาจจะฟังบ่อยๆ ว่า ลักษณะนี้ปรากฏมีจริง ขณะที่สติเกิด ระลึกในลักษณะที่ปรากฏ ขณะนั้นมีลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นปรากฏแก่สติ และขณะนั้นปัญญาสามารถรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง รูปที่เราเห็นเป็นเรื่องเป็นราวที่เข้ามาต่อเนื่องเหมือนขบวนรถไฟที่เข้ามาจนทำให้เราเห็นเหมือนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ถ้าจะพิสูจน์ตรงนี้ด้วยตัวเอง เราจะมองรูปเสียก่อน หลับตา ถ้าไม่ลืมตาเลย ก็จะเห็นเป็นภาพนิ่งแค่นั้น ถูกไหมคะ แต่ถ้าเราลืมตาตลอด ภาพที่เห็นจะเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ทราบตรงนี้ถูก หรือผิด เรื่องเสียง เสียงที่มากระทบหูเรา เป็นเสียงที่มีความดัง ความค่อย แต่เป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย เหมือนกับเสียงกระทบกับประสาทหูของเรา มันเข้าไป ๑ ครั้ง ก็คือความดังเพียง ๑ ครั้ง แต่ที่เราฟังแล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเพราะว่าความดังตรงนั้นเบาค่อยต่างกัน จนทำให้เราสามารถแปลเสียงตรงนั้นให้เป็นเรื่องเป็นราว ตรงนี้ไม่ทราบว่า เข้าใจถูก หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็คงห้ามความคิดไม่ได้ ต่างคนก็ต่างคิดคนละแนว อย่างคนที่ศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ก็อดเปรียบเทียบกับทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ หรือคนที่ได้ฟังเรื่องสภาพธรรมเกิดดับแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทางนี้ต้องดับ แล้วทางโน้นถึงเกิด เกิดคิดต่อเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่ข้อสำคัญก็คือให้ทราบว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราเป็นคนคิด แล้วความคิดของแต่ละคนจะเกิดคิดอะไรเมื่อไรก็ยับยั้งไม่ได้เลยว่า วันนี้คิดอย่างนี้ เมื่อกี้คิดอย่างนี้ ประเดี๋ยวก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง คือเนื่องจากคำว่า “ธาตุ” หรือ “ธรรม” ตามที่เข้าใจ หมายความถึงสิ่งที่มีจริงซึ่งทรงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของตนๆ จะใช้คำว่า “ธรรม” หรือคำว่า “ธาตุ” ก็ได้ ในความเข้าใจเรื่องธาตุ เช่นถามว่า มีธาตุเดียวได้ไหม มี ๒๐ หรือมี ๑๙ ยังไม่ค่อยเข้าใจ จะรบกวนให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายรายละเอียดหน่อยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธาตุ ข้อสำคัญที่สุดก็คือไม่ใช่ให้เราไปคิดถึงเพียงคำ แต่หมายความว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเป็นธาตุ นี่คือการฟังแต่ละเรื่องให้เข้าใจชัดเจนว่า ไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่มี แต่กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำว่า “ธาตุ” ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย สิ่งที่มีที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นธาตุ เพื่อที่จะได้ฟังจนกระทั่งสามารถเข้าใจได้ว่า ทุกอย่าง ไม่เว้น ใช่ไหมคะ เป็นธาตุ เพราะฉะนั้นธาตุมีมากมาย นับไม่ถ้วน จะกล่าวถึงจำนวนอะไรก็ได้ หรือเปล่า ในเมื่อมากมายนับไม่ถ้วน อย่างเช่นถ้าจะกล่าวถึงธาตุ ๑๙ โสภณสาธารณเจตสิกมีเท่าไร มี ๑๙ ก็กล่าวถึงอันนี้ก็ได้ คือจะกล่าวถึงอะไรก็ไม่พ้นจากธาตุ เพียงแต่ว่าขณะนั้นถ้าจะพูดด้วยจำนวนอะไร หมายความถึงอะไร เท่านั้นเองค่ะ แต่ที่ทรงประมวลก็เพราะเหตุว่าด้วยพระสัพพัญญุตญาณก็ทรงแสดงว่า ไม่ว่าธาตุจะมีหลากหลายมากมายทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน และต่อไปอีกในอนาคต แต่ประมวลเป็น ๑๘ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๑๕ พอที่จะเห็นได้ เข้าใจได้ ส่วนที่เหลือก็เป็นมโนธาตุ ๑ ได้แก่จิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ต่างกับจักขุวิญญาณ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น รู้อารมณ์เดียว แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ทั้ง ๕ เพราะฉะนั้นธาตุที่สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร ก็มี ๓ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ซึ่งเกิดก่อน เป็นวิถีจิตแรกที่เกิด ถ้าวิถีจิตนี้ไม่เกิด อะไรๆ ก็จะเกิดไม่ได้ ที่จะติดตามมาเป็นเรื่องเป็นราว เป็นความคิดนึกใดๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่เห็น หรือได้ยิน ยังเกิดไม่ได้เลย ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดก่อน

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นแดนเกิดของธรรมที่จะเกิดได้ ทั้งๆ ที่มีสะสมอยู่ในจิต ตั้งแต่ปฏิสนธิ และในชาติก่อนๆ ที่ประมวลมา ก็ยังต้องอาศัยสำหรับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน

    ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่ไหน เปลี่ยนชาติไม่ได้ เป็นชาติอะไรคะ เป็นชาติกิริยา เป็นภูมิอะไร กามาวจรภูมิ รูปพรหมเห็นไหมคะ เห็น มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม มี ปัญจทวาราวัชชนจิตของรูปพรหมเป็นภูมิอะไร เป็นกามภูมิ

    นี่ก็คือมีความเข้าใจมั่นคงในความเป็นธาตุด้วย ถึงจะกล่าวโดยอย่างไร ก็พ้นจากความเป็นธาตุไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตนี้เป็นมโนธาตุ และจิตที่เป็นมโนธาตุอีก ๒ ก็คือ สัมปฏิจฉันนจิต กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ก็ประมวลมาให้เห็นว่า ทางตาจะมีวิถีจิต จะมีจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร และสำหรับส่วนที่เหลือก็คือ จิตที่สามารถรู้อารมณ์นอกจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุที่เหลือทั้งหมด

    จิตทั้งหมดมีเท่าไร ๘๙ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้เป็น

    ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ สัมปฏิจฉันนะ ๒ ปัญจทวาราวัชชนะ ๑ รวมเป็น ๑๓ ที่เหลือ จะต้องไปนั่งนับ หรือไม่นับอย่างไร ก็คือมโนวิญญาณธาตุ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้เราไปจำ ให้เราไปหา การฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้สามารถเข้าใจถึงจิตอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏ หรือเปล่า ก็เป็นไปไม่ได้ แต่สามารถรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้มีมาก และสามารถค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง โดยความเป็นธาตุ แม้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ คือ เห็น ก็เป็นจักขุวิญญาณธาตุ จักขุปสาทก็เป็นจักขุธาตุ ไม่ใช่จักขุวิญญาณธาตุ ส่วนรูปที่ปรากฏในขณะนี้ก็เป็นรูปธาตุ แล้วมีเราอยู่ที่ไหน ไม่มีเลยใช่ไหมคะ ขณะที่เห็นเกิดขึ้น มีอิริยาบถนั่งนอนเดี๋ยวนี้อยู่ หรือเปล่า ไม่มี เพียงแต่จำ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า จำในสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏ ที่ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นแม้มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ก็ดับแล้วอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นย่นย่อจากโลกใหญ่มาถึงตัว ๑ คน แต่ละคน จนกระทั่งถึง ๑ ขณะจิต แล้วมีเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นั่นคือการเริ่มเห็นความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน เป็นชั่วขณะที่ธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ แล้วหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อกี้นี้ ๑๕ ธาตุ กับอีก ๓ เป็น ๑๘

    ๑๕ ธาตุ เข้าใจแล้วนะคะ ทางตา ๓ หู ๓ จมูก ๓ ลิ้น ๓ กาย ๓ ถ้าลืมก็คือ ขณะที่เห็น เป็นจักขุวิญญาณธาตุ ต้องมีจักขุปสาทธาตุ และต้องมีวัณณธาตุด้วย ทางหู ขณะที่กำลังได้ยินอย่างนี้เดี๋ยวนี้ ก็ต้องมีโสตวิญญาณธาตุ แล้วก็มีโสตธาตุ คือ โสตปสาทรูป แล้วก็มีสัททธาตุ ชั่วขณะที่ปรากฏแล้วก็หมดไป

    นี่คือเมื่อไรรู้อย่างนี้ เมื่อนั้นถึงจะรู้ว่า ไม่มีเราสักขณะเดียว เป็นแต่เพียงทั้งหลายซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ๕ ทวาร ก็ ๑๕ ธาตุ แล้วก็มีมโนธาตุที่สามารถรู้ได้ทั้ง ๕ ทาง ๕ อารมณ์ อีก ๓ แล้วก็มีมโนวิญญาณธาตุ คือจิตที่เหลือนอกจากนี้ ที่เอาออกจาก ๘๙ เสีย ๑๓ แล้วก็มีธรรมธาตุ คือ ธาตุที่เหลือทั้งหมด เท่านี้เองค่ะ ก็คือประมวลให้เห็นว่า ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่พ้น ส่วนความเข้าใจของเรา เมื่อเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธาตุ ที่จะสอบความเข้าใจก็คือว่า ถ้าจะกล่าวถึงเพียงเท่านี้ธาตุได้ไหม อกุศลจิต ๑๒ และอกุศลเจตสิก ๑๔

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อริยสัจ ๔ ก็หมายถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ณ ขณะนี้นั่นเอง ไม่ได้พ้นจากขณะนี้เลย ถ้าฟังเข้าใจตรงนี้ ก็จะทำให้ความเข้าใจธรรมถูก และตรงตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ได้ยินคำว่า “ธาตุ” ไม่สงสัย แล้วก็เข้าใจ ได้ยินคำว่า “ขันธ์” เพียงแค่คำว่า “ขันธ์ที่เกิดแล้ว” ทั้ง ๓ ปิฎก หรือเปล่า ถ้าเข้าใจถึงอดีตอนันตชาติจนกระทั่งถึง ณ ขณะนี้ หรือเปล่า ขันธ์ที่เกิดแล้ว ขันธ์ที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ ขันธ์ที่เกิดแล้วเมื่อกี้นี้ ขันธ์ที่เกิดแล้วตั้งแต่เกิดแล้วผ่านมา ขันธ์ที่เกิดแล้วในแสนโกฏิกัป

    เพราะฉะนั้นขณะนี้อย่างที่คุณอรวรรณถามเมื่อกี้นี้ มาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากแสนโกฏิกัปสืบต่อมาที่เป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้คิด แล้วก็ดับไป เท่านี้เองค่ะ เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงขันธ์ที่เกิดแล้ว ไม่ใช่เพียงขณะนี้ขณะเดียว ถอยไปก็คือขันธ์ที่เกิดแล้วในอดีต และเมื่อกี้นี้เองก็เป็นขันธ์ที่ดับแล้ว แล้วก็จะมีขันธ์ที่เกิดต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่พ้นจากพระไตรปิฎกทั้งหมดที่กล่าวถึงความเป็นไป ความประพฤติของขันธ์

    เพราะฉะนั้นที่เราคิดเป็นเรื่องต่างๆ รู้จักขันธ์ หรือเปล่า หรือรู้จักขันธ์ จำชื่อได้ แล้วก็พอจะรู้ว่า รูปขันธ์ขณะนี้ก็ไม่สามารถรู้อะไรได้ เวทนาขันธ์ ทุกคนก็กำลังมีความรู้สึก ชาติก่อนๆ มีไหมคะ เวทนาความรู้สึก มี ประพฤติเป็นไปอย่างไรจนกระทั่งมาถึงวันนี้ สัญญาขันธ์ ความจำ ชาติก่อนๆ ก็จำเรื่องของชาติก่อน ชาตินี้ก็จำเรื่องของชาตินี้ ซึ่งความจริงก็เพียงเกิดขึ้นแล้วก็จำเท่านั้นเอง นี่คือสัญญาขันธ์ เมื่อกี้มีไหมคะ เมื่อกี้จำ หรือเปล่า จำ แล้วเดี๋ยวนี้เกิด หรือยัง เกิดแล้วก็จำใหม่ ก็เท่านั้นเอง แล้วก็หมดไปอีก

    เพราะฉะนั้นเพียงขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านอชิตมาณพมาเฝ้า แล้วกราบทูลถามปัญหา แล้วพระองค์ทรงให้ท่านพระสารีบุตรแสดงสิ่งที่อชิตมาณพทูลถามโดยละเอียด แต่ท่านพระสารีบุตรก็นิ่งถึง ๓ ครั้ง จะให้กล่าวถึงอะไรคะ ทั้งหมดเลย ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วเป็นขันธ์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้แต่ความประพฤติของผู้กำลังอบรมเจริญปัญญา เป็นผู้ศึกษาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม หรือผู้ได้รู้แจ้งธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว ก็เป็นการเกิดขึ้นของขันธ์นั่นเอง ถ้าขันธ์ไม่เกิดขึ้น จะมีขณะนี้จะเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นความประพฤติเป็นไปของขันธ์ตั้งแต่เกิด และทุกขณะ ก็เป็นเพียงขันธ์ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างนี้ เมื่อกี้คิดอย่างนี้ คือ ความประพฤติเป็นไปของขันธ์ตามที่สะสมมา ที่จะคิด ที่จะถาม ที่จะสนใจในเรื่องนั้น

    คุณอรวรรณไม่ชอบใครบ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง เป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดานะคะ ธาตุเลว หรือเปล่า ไม่ใช่คุณอรวรรณเลย ถ้าได้ศึกษาธรรม จะเห็นว่าเป็นธรรม เป็นธาตุ และเป็นขันธ์ และเรากำลังพูดถึงเรื่อความจริง สัจธรรม ความจริงของขันธ์นั้นๆ เพราะฉะนั้นขณะใดที่โกรธ ถ้าไม่ได้ฟังเรื่องธาตุเลว กลายเป็นเรา แล้วคนอื่นไม่ดี ถูกต้องไหมคะ จึงได้เกิดธาตุเลว แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นที่กำลังไม่พอใจ กำลังขุ่นใจ เป็นความไม่ดีของคนอื่นทั้งนั้นเลย ที่ทำให้เราไม่ชอบ แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้จักความประพฤติเป็นไปของขันธ์ตั้งแต่แสนโกฏิกัป จนถึง ณ ขณะที่กำลังไม่พอใจว่า เพราะเหตุว่ามีความประพฤติเป็นไปโดยเป็นธาตุเลวมากมาย ไม่ได้พูดถึงใครเลย พูดถึงธาตุเลวก็เป็นอย่างนี้แหละ ในวันหนึ่งๆ ธาตุเลวมากสักเท่าไร กว่าจะถึงธาตุปานกลาง ซึ่งความจริงนอกจากอกุศลธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรมทั้งหมดเป็นธาตุปานกลาง

    เพราะฉะนั้นแม้แต่กุศลระดับอื่น ก็เป็นเพียงขยะจากธาตุเลวมาสู่ความเป็นธาตุปานกลางได้นิดหน่อยในวันหนึ่งๆ แต่ธาตุเลวก็ยังมีมากมาย

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็ให้รู้จักธรรม เพื่อละความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าปัญญาเหมือนแสงสว่างที่เข้าใจถูก เห็นถูก ถ้าเป็นความมืดจะมองเห็นไหมว่า ขณะที่กำลังโกรธ ขุ่นเคืองใคร คนนั้นไม่ดี ความจริงธาตุที่กำลังโกรธนั้นเป็นธาตุเลว ถ้าไม่ใช่ปัญญา ไม่สามารถรู้ได้เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567