พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 428


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๒๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ถ้าโดยทั่วไป เจตนาเป็นเจตสิกที่มีลักษณะ และกิจที่ขวนขวายในการกระทำกระตุ้นเตือนสหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้ทำกิจของตนๆ นี่เหมือนกับเป็นคน แต่ความจริงเป็นลักษณะของธาตุ หรือธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็มีหน้าที่อย่างนี้แหละ ไม่ว่าเกิดเมื่อไร เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกับกุศลจิต ขณะนั้นก็กระตุ้น ขวนขวายให้เจตสิกทั้งหลายทำกิจเป็นไปในกุศล แม้แต่วิตก ตรึก ก็คิดเป็นไปในกุศล ทั้งหมดนั้นก็เป็นหน้าที่ของเจตนาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกรรม แต่ว่าเมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี แต่ผลจะช้า หรือจะเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลได้ ถ้าคิดถึงที่ได้เกิดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์มากมาย เหตุที่ได้ทำแล้วก็มากมาย และผลที่เกิดแล้วเป็นผลของกรรมนั้นๆ ที่ดับไปแล้ว ก็มากมาย แต่ก็ยังไม่หมดสิ้น เพราะเหตุว่ามีเหตุที่จะให้เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรมตราบใด กุศลกรรม และอกุศลกรรมนั้นก็ต้องให้ผล แต่ว่าไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย โดยกล่าวว่า เป็นกรรมเป็นเหตุ วิบากของกรรมเป็นผลของกรรม เป็นจิต และเจตสิกซึ่งกุศลกรรมทำให้เกิดกุศลวิบากจิต อกุศลกรรมทำให้เกิดอกุศลวิบากจิต ถ้ารู้เพียงเท่านี้ ก็จะไม่เห็นตัวธรรม แต่ความจริงขณะนี้เองที่กำลังเห็น เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเลือกที่จะเห็นอะไร เมื่อไร แต่มีเหตุที่จะให้จิตเห็นเกิด จิตเห็นก็เกิด โดยกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่มีอายุที่สั้นมาก คือ เพียงปรากฏให้เห็นแล้วก็ดับไป นี่ทางตา ทางหู ขณะที่ได้ยินเสียง โดยกรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำกิจรู้แจ้งเสียง ถ้าใช้คำว่า “รู้แจ้ง” ก็หมายความว่าได้ยินจริงๆ ขณะที่ได้ยินนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งเสียง ถ้าถามว่า “รู้แจ้ง” คืออะไร ก็คือได้ยิน ไม่เหมือนคิดนึกเรื่องเสียง แต่เป็นขณะที่เสียงกำลังปรากฏ แล้วจิตกำลังรู้ เช่นในขณะนี้เป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นกรรมทำให้เกิดผลของกรรมขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิไหนก็ได้ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ยังมีความต่างกันโดยความละเอียด ซึ่งกรรมประมวลมาที่จะให้เป็นอย่างนั้นๆ ตั้งแต่เกิด และก็มีปัจจัยที่จะให้วิบากใดเกิดขึ้น วิบากนั้นก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ลักษณะของกุศล หรืออกุศลที่เกิดในปัญจทวารวิถี ยังเป็นเหตุอยู่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศล ต้องเป็นเหตุ จะไม่ให้เป็นเหตุไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แต่ว่ากรรมจะให้ผลต้องครบกรรมบถ

    ท่านอาจารย์ ถ้าครบกรรมบถ หมายความว่าเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิได้ ถ้าไม่ครบก็ให้ผลหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า ในปัญจทวารวิถี จิตที่เป็นกุศล หรืออกุศล ก็ต้องให้ผลแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ใช่ โดยสถานะใด ถ้าไม่สามารถทำให้ปฏิสนธิเกิดได้ ก็อุปถัมภ์กุศลใดๆ ที่เกิดแล้วให้เพิ่มขึ้นเป็นไปมากขึ้น หรือเบียดเบียน ตัดรอนก็ได้ เพราะฉะนั้นกรรมก็มีกิจของกรรม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า กรรมทุกกรรมจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น หรือทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น แต่สามารถอุปถัมภ์ หรือตัดรอนสภาพธรรมฝ่ายที่ตรงกันข้ามได้

    ผู้ฟัง คือถ้าทางคิดนึก หรือทางมโนทวาร ยังพอมีคำอธิบายได้บ้างว่า เกิดเพราะเหตุใด แต่เหมือนว่าลักษณะเห็น หรือได้ยินเกิดเนื่องจากผลของสิ่งที่ทำมาแล้วทั้งดี และไม่ดี ทำไมในลักษณะของปัญจทวารวิถียังมีเหตุเกิดอยู่

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนว่า เพียงให้เห็นเป็นวิบาก หมดแล้ว ไม่ให้กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดทางปัญจทวาร ใช่ไหม คำถาม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่อย่าลืมว่า ธรรมละเอียด สุขุม ลึกซึ้ง กำลังฟังเรื่องธรรมทางปัญจทวาร มโนทวาร แต่ไม่ได้รู้ความจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการไตร่ตรอง และพิจารณา ใครจะรู้ว่า ขณะนี้รูปดับเร็วสุดจะประมาณได้ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ ใครรู้บ้างว่า รูปขณะนี้กำลังดับ แต่พระปัญญาคุณที่ได้ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า จริงๆ แล้ว ขณะนี้ไม่มีใครรู้การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งดับไปแล้วทั้งนั้นเลย มากมาย จะนับจำนวนของจิตเจตสิกทางปัญจทวาร ทางมโนทวาร ทางโสตทวาร ทางมโนทวาร ทางกายทวาร ทางมโนทวาร สุดวิสัย เพราะอะไร รูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ กระทบจักขุปสาท เป็นรูปที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น แต่ขณะนี้กำลังเห็นอะไร เลยทางตาแล้วใช่ไหม เพราะว่าถ้าจะปรากฏจริงๆ ต้องมีรูปที่กระทบตา และจิตที่อาศัยทวารตาเกิดขึ้นรู้รูปนั้น จนกว่ารูปนั้นจะดับ ถ้าจนกว่ารูปนั้นจะดับ ฟังเหมือนนานมาก แต่จนกว่ารูปนั้นจะดับ คือ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ เริ่มตั้งแต่กระทบกับจักขุปสาท ๑ ขณะ ขณะนั้นเป็นภวังค์ ยังเป็นภวังค์อยู่ ๑ ขณะ เพราะฉะนั้นภวังค์ที่มีรูปกระทบจักขุปสาทเพื่อที่ให้รู้ว่า รูปจะดับเมื่อไร ก็จะต้องมีคำสำหรับแสดงให้รู้ว่า ภวังค์นั้นต่างกับภวังค์ก่อนๆ โดยใช้คำว่า “อตีตภวังค์” แสดงว่ารูปเกิดที่อตีตภวังค์ กระทบกับจักขุปสาท ๑ ขณะ อตีตภวังค์ดับแล้ว จิตเห็นจะเกิดทันทีไม่ได้เลย ตามนิยาม ตามความเป็นจริง เพียงกระทบก็เป็นปัจจัยให้เมื่ออตีตภวังค์ดับแล้ว ภวังค์ที่เกิดต่อ ไหว ที่จะมีอารมณ์ใหม่ เพราะการกระทบนั้น ดับไปแล้ว ๒ ขณะ หลังจากนั้นคือภวังค์ที่เกิดต่อจากอตีตภวังค์ คือ ภวังคจลนะ ยังคงเป็นภวังค์ ยังไม่รู้รูปที่กระทบเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเมื่อภวังคจลนะซึ่งเป็นขณะที่ ๒ ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะ กระแสภวังค์สิ้นสุด เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไป จิตที่เกิดต่อจะทำภวังคกิจต่อไปอีกไม่ได้ เพราะเป็นการสิ้นสุดกระแสของภวังค์ จะใช้คำว่า “ตัดกระแส” หรืออะไรก็ได้ ซึ่งหมายความว่าหลังจากนั้นแล้วจิตจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ รูปมีอายุ ๓ ขณะแล้ว ใช่ไหม หลังจากนั้นก็เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้ว่า อารมณ์กระทบ ถ้าเป็นทางตา ยังไม่เห็น ถ้าเป็นทางหูยังไม่ได้ยิน เพียงแต่จากภวังค์ซึ่งไม่มีอารมณ์ปรากฏเลย และก่อนที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏได้ วิถีจิตแรกก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา จะใช้คำว่า “จักขุทวาราวัชชนจิต” ก็ได้ เพราะแสดงว่า รูปที่กระทบนั้นเป็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาท ถ้าเป็นทางหู จะใช้คำว่า “โสตทวาราวัชชนจิต” ก็ได้ เพราะแสดงว่ารูปที่กระทบเป็นเสียงที่กระทบกับโสตทวาร

    เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกคือ อาวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรก คือ รู้ จิตเป็นสภาพรู้ รู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย จิตนี้เกิดขึ้นพ้นสภาพที่เป็นภวังค์ ไม่ได้ทำกิจของภวังค์ แต่ทำกิจอาวัชชนะ ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น เมื่ออาวัชชนจิตเพียงรู้ว่า อารมณ์กระทบดับแล้ว หลังจากนั้นเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แสดงว่าที่เห็นเดี๋ยวนี้ ต้องมีจิตที่เกิดก่อนตามลำดับ ตามความเป็นไปที่เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมที่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา ก็คือมีสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนี้กำลังปรากฏ โดยที่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ใครจะรู้ถึงว่า ก่อนเห็นมีจิตอะไร แม้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดดับก็ไม่รู้ ก่อนปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอะไร ก็ไม่รู้ แต่ความจริงความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ประมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงขณะที่เป็นปัญจทวาราวัชชนะ รูปมีอายุเท่าไรแล้ว ตั้งแต่เกิดขึ้นกี่ขณะแล้ว ปัญจทวาราวัชชนะ ๔ แล้วถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณ เห็น ๕ แล้วดับ คิดดู ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่ปรากฏ เหมือนกับว่าไม่ได้ดับเลย แต่ความจริงเพียงชั่ววาระที่รูปที่แสนสั้น กระทบแล้วมีจิตเกิดขึ้น โดยอาศัยทวารนั้น จึงสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้ ถ้าเป็นทางตา

    ถ้าเป็นทางหู โสตทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว โสตวิญญาณ ธาตุรู้เกิดขึ้นรู้แจ้งเสียง คือ ได้ยินนั่นแหละ คำว่า “ได้ยิน” หมายความว่าเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง ไม่ใช่นึกถึงเสียง หรืออะไรทั้งสิ้น แต่เป็นเสียงที่กำลังปรากฏเกิดกระทบกับโสตปสาท แล้ววิถีจิตก็เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการได้ยินเสียง กี่ขณะแล้ว อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ หรือจะเป็นโสตวิญญาณ อะไรก็แล้วแต่ ๕ แล้ว ดับ เร็วไหม ไปนึกถึงได้ไหม ใครจะนึกถึงได้ว่าเร็วระดับไหน หลังจากนั้นก็อาศัยตา คือ จักขุปสาทนั่นเอง ทำให้จิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณรู้อารมณ์นั้นต่อ

    ความละเอียดของธรรมที่ทรงแสดงแม้สภาพของเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต จักขุวิญญาณเป็นผลที่จะต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เมื่อถึงกาละที่ทำให้รู้อารมณ์ที่กระทบ ไม่ต้องอาศัยเจตสิกมากเลย เพราะว่าเกิดขึ้นโดยการกระทบแล้วเป็นผลของกรรม ซึ่งจะทำกิจเพียงเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ทุกคนก็คงคล่องชื่อของเจตสิก ๗ ประเภท ผัสสเจตสิก แน่นอน กระทบ เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก คงไม่ต้องแปล ทั้งหมด ๗ มีใครอยากจะพูดต่อไหมอีก ๔ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ที่ถามถึง ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะมีอารมณ์อื่นไม่ได้เลย ขอทวนอีกครั้ง ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรียะ มนสิการ ชีวิตินทรียะเป็นนามธรรม เป็นเจตสิก ทำให้จิตเป็นสภาพที่มีชีวิต เวลาที่เราจะบอกว่า อะไรมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต ถ้าไม่มีชีวิตินทรียะซึ่งเป็นนาม ๑ เป็นรูป ๑ สิ่งนั้นไม่มีชีวิต ไม่ใช่ชีวิต เราอาจจะคิดว่ามีชีวิต แต่ความจริงชีวิตขึ้นอยู่กับชีวิตินทรียเจตสิก และชีวิตรูปเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่ไม่เหมือนสภาพอื่น เป็นธาตุรู้ เป็นสิ่งที่มีชีวิต และเจตสิกที่เป็นชีวิตินทริยเจตสิกก็อุปถัมภ์ให้จิตนั้นคงอยู่ ตั้งอยู่ จนกว่าจะดับไป นี่คือสภาพธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็วใน ๑ ขณะจิต และมีมนสิการเจตสิกด้วย ทันทีที่มีการรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จะไม่รู้เลยว่า มีธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เกิดร่วมด้วยกับจิตทุกขณะ ๗ แล้ว

    เมื่อจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้มีจิตซึ่งเกิดต่อเป็นวิบากที่จะรู้อารมณ์นั้นต่อ แต่ว่าไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำทัสสนกิจ แต่ทำสัมปฏิจฉันนกิจรับรู้อารมณ์นั้นต่อ จึงเรียกชื่อจิตนั้นว่า สัมปฏิจฉันนจิต

    สัมปฏิจฉันนจิตมีเจตสิกมากกว่าจักขุวิญญาณ เพราะเหตุว่ามีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เริ่มเกิดแล้ว วิตกเจตสิกจะเกิดกับจิตอื่นๆ ต่อไปทั้งหมดเว้นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๑๐ ประเภท ที่ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เห็นความเป็นไปไหม อย่างรวดเร็วของธรรมซึ่งใครจะบังคับบัญชา ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย วิตกเป็นสภาพซึ่งส่วนใหญ่เราจะใช้คำว่า “คิด” เพราะเหตุว่ามองไม่เห็นสภาพธรรมนี้เลย แต่จิตคิดได้สารพัด เพราะฉะนั้นเวลาที่วิตกเจตสิกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต ใครจะรู้ได้ แต่ขณะนั้นวิตกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต เพราะไม่เห็น ไม่ได้เป็นจักขุวิญญาณ แต่มีสภาพธรรมที่ตรึก หรือจรดในอารมณ์ซึ่งจิตขณะก่อนเห็น เพื่อจะนำไปสู่ขณะอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าพูดถึงกามาวจรจิต ไม่กล่าวถึงจิตระดับอื่นคือ รูปาวจรจิต ก็มีความละเอียดต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมทั้งหมดไม่ว่าฟังแม้ขณะนี้ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ให้ไปรู้สัมปฏิจฉันนะ หรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลย แต่ทรงแสดงโดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะกว่าจะคลายความเป็นเรา และการยึดถือสภาพธรรมที่เพียงปรากฏแล้วหมดไปได้จริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจธรรม ต้องรู้ว่าเป็นธรรม และต้องเห็นความเป็นอนัตตาของธรรม เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย

    เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว รูปยังไม่ดับ ยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ ก็นับใหม่ จะได้จำได้แม่นๆ ไม่ลืม ทบไปทวนมา ในขณะที่ฟังก็คือในขณะนี้เป็นอย่างนั้น ให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นอย่างนั้น เข้าใจได้ แต่ยังประจักษ์ไม่ได้ นี่แน่นอน แล้วอย่าไปคิดว่า จะประจักษ์อะไรเลย หมายความว่าเริ่มจากความเข้าใจถูกที่มั่นคง ที่จะเห็นว่า เป็นธรรมจริงๆ

    ขณะแรก อตีตภวังค์ ขณะที่ ๒ ภวังคจลนะ ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทะ ขณะที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนะ ขณะที่ ๕ จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ก็แล้วแต่ ขณะที่ ๖ สัมปฏิจฉันนะดับ ยังเหลืออีก รูปยังไม่ดับใช่ไหม แม้ว่าจะสั้น และเร็วมากสักเท่าไร กรรมก็ทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนะ มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มีหมดเลย นอกจาก ๑๐ ดวงเท่านั้นเอง

    นี่ก็เป็นการจำพร้อมกับเหตุผลที่เห็นได้ว่า วิตก จนกระทั่งความเป็นมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมีวิตกเจตสิกด้วย แต่โดยสภาพฐานะที่อบรมแล้วก็ต่างกันไป แต่ขณะนี้ก็เป็นไปตามกรรม คือ เมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด จะไม่เป็นปัจจัยให้วิตกเจตสิกเกิดไม่ได้ แม้แต่วิตกเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตก็เพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้วิบากนั้น ระดับนั้น ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ใช่วิตกเรื่องอื่น แต่ว่า วิตก คือ จรดในอารมณ์ ก้าวไปสู่อารมณ์ที่จักขุวิญญาณเห็น หรือโสตวิญญาณได้ยิน และเริ่มจะก้าวไปเรื่อยๆ ตามลำดับด้วยวิตกเจตสิก

    เพราะฉะนั้นในบางแห่งจะใช้คำว่า วิตกเป็นเท้าของโลก เพราะว่าไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่เห็นดับไปแล้วไม่เหลือ แต่ยังมีการดำริต่อ เมื่อวานนี้เราอ่านพระสูตร มีข้อความนี้เลย หลังจากเห็นแล้วก็แล่นไปไม่หยุดเลย ด้วยสภาพธรรมซึ่งเกิดต่อ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม ก็จะรู้ว่าตรงนั้นหมายความถึงวิตกเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับจิตต่อๆ ไป ซึ่งเกิดสืบต่อนั่นเอง

    เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้วิบากจิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องรู้ว่า จิตไหนเป็นเหตุ และจิตไหนเป็นผล เพื่อจะได้ไม่สับสน และไม่ยึดถือว่า ขณะหนึ่งขณะใดนั้นเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะบันดาลให้เกิดขึ้นได้ แม้วิบาก ไม่มีใครไปทำให้เกิดได้เลย เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ใกล้ที่จะถึงกุศล และอกุศลแล้วใช่ไหม แต่ว่ายังเป็นวิบากอยู่ ยังไม่ถึงกาละที่จะเป็นกุศล และอกุศล เพราะว่าวิบากทำให้สันตีรณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ทำสันตีรณกิจ จะใช้คำแปลก็คือ พิจารณา แต่ถ้าเป็นภาษาไทย “พิจารณา” เราพิจารณาคำเดียวคงไม่ได้หรอก แต่ถ้าเป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งรู้ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ชั่วขณะนั้น คือ ๑ ขณะที่พิจารณาอารมณ์ แล้วก็ดับไป เจตสิก และจิตเกิดพร้อมกันโดยกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นกรรมไม่ได้ทำแต่เฉพาะจิตเกิด ยังทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับวิบากจิตนั้นเกิดขึ้นด้วยโดยกรรมเป็นปัจจัย ถ้าจะศึกษาให้ละเอียดขึ้นอีกนิดหนึ่งว่า เวลาเห็นมีความรู้สึกคือเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ประเภทไหน อุเบกขา บังคับให้เป็นอื่นได้ไหม ไม่ได้ เพราะเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ขณะนั้นจะเป็นอทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น แม้แต่ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็มีเวทนาเป็นอทุกขมสุขเวทนา เป็นผลของกรรมที่ทำให้รับรู้ต่อ แล้วก็พิจารณาต่อ รูปมีอายุเท่าไรแล้ว กี่ขณะแล้ว ยังอยู่เลย เห็นไหม ยังไม่ได้ดับไป แต่เป็นขณะที่เท่าไร ทบทวนอีกครั้ง

    อตีตภวังค์ ๑ ภวังคจลนะ ๒ ภวังคุปัจเฉทะ ๓ ปัญจทวาราวัชชนะ ๔ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้ ๕ สัมปฏิจฉันนะ ๖ สันตีรณะ ๗ เหลืออีกเท่าไร ก็ตอบได้ แต่จริงๆ จะไม่รู้หรอก แต่รู้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง สันตีรณะดับไหม ดับ กรรมไม่ได้ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นแล้วค่ะ จบหน้าที่ของกรรมที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น สัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะเกิดต่อ ขณะต่อไปเป็นจิตที่ทำกิจโวฏฐัพพนะ เกิดขึ้นกระทำกิจเป็นบาทให้จิตที่เกิดต่อไปเป็นกุศล และอกุศล เพราะถ้าจิตนี้ไม่เกิด กุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นใช้คำว่า”ชวนปฏิปาทกะ” ชวนะ หมายความถึงจิตที่เกิดต่อไป ไม่ได้ทำทัสสนกิจ ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ เพราะว่าหมดแล้ว เห็นแล้ว รับแล้ว รู้แล้ว แล่นไปในอารมณ์ตามการสะสม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศลประเภทใดก็ตาม โดยที่ก่อนจะเกิดขึ้นมาได้ ต้องมีจิตที่เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิต เพราะว่าวิบากจิตสามารถรู้อารมณ์ตามเหตุ ถ้ากุศลเป็นเหตุ ก็ทำให้วิบากจิตรู้อารมณ์ที่น่าพอใจ จะเป็นอารมณ์อื่นไม่ได้เลย ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ถึงกาละที่จะได้เห็น ได้ยิน สิ่งที่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเป็นผลของอกุศลก็ตรงกันข้าม ใครก็จัดสรรไม่ได้ที่จะให้เกิดเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นั่นคือกรรมให้ผลตรงตามเหตุ แต่สำหรับกิริยาจิต ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพราะอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ถึงกาละที่จะเกิดต่อเพื่อเป็นบาท เป็นชวนปฏิปาทกะที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลเกิดได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    5 ม.ค. 2567