พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 444


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วก็คือสัตว์บุคคลก็คือสิ่งที่มีกรรมทำให้เกิด แล้วก็วนเวียนเป็นสังสารวัฏ

    ท่านอาจารย์ กรรมในอดีตมี ทำให้รูปปัจจุบันเกิด

    ผู้ฟัง ซึ่งต่างจากรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรม ต้นไม้ใบหญ้ามีอุตุทำให้เกิด แล้วดับ แล้วก็หมดไป แต่รูปตรงนี้ตราบที่มีกรรม

    ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากกรรมก็ดับ ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีก แต่กรรมก็ทำให้รูปใหม่เกิด

    ผู้ฟัง ตราบใดที่มีกรรม ก็ต้องมีรูปที่เกิดเพราะกรรม แล้วก็มีจิตเจตสิกอย่างที่เราเรียน

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แม้ปรากฏ แล้วรู้หรือหรือไม่ว่าเกิดจากอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เป็นความรวดเร็วของรูปซึ่งเกิดปรากฏ แล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทราบว่ารูปเกิดจาก ๔ สมุฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อรู้ธรรมที่ปรากฏ เพราะมีความเข้าใจมั่นคงว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ฟังขณะใด ก็คือเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่กำลังกล่าวถึง จนกว่าเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง การฟังธรรมให้เข้าใจ แต่เดิมก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องรูปมาก ก็คิดว่า รู้ได้ ๗ ทาง แล้วก็ติดข้องไป เกิดกรรม กิเลส แต่เมื่อมาทบทวนใหม่ในบ่ายวันเสาร์ ก็กลายเป็นว่าที่เหมือนเข้าใจแล้ว ก็กลายเป็นไม่เข้าใจอีก การฟังวันนี้ทำให้เข้าใจขึ้นมาจากที่ไม่เข้าใจ ก็คงจะทำให้รู้ขึ้นไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คงไม่ลืม ประโยชน์ของการเรียน หรือฟัง คือ เพื่อรู้ธรรม ตั้งแต่ขั้นฟังจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง นั่นคือรู้ ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่ไม่รู้ ธรรมก็กำลังปรากฏด้วย เครื่องพิสูจน์ก็คือรู้จริง หรือยัง หรือกำลังฟังเรื่องสิ่งที่ไม่รู้ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า รูปนั้นมีความสำคัญอย่างไร เพราะถ้าไม่รู้จักรูปตามความเป็นจริง ขณะนี้ก็มีรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้นที่ว่ารูปมีความสำคัญก็เพราะว่าเป็นที่ยึดถือของตัณหา และทิฏฐินั่นเอง ถ้าเราไม่มีความรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็เป็นปัจจัยให้มีการติดข้องในรูปที่สวยแน่นอน และถ้าไม่ได้ในสิ่งนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ไม่พอใจในสิ่งที่ไม่ได้ ในสิ่งที่เราปรารถนา เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความติดข้องในรูปต่างๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้มีการทำกรรมแน่นอน เพราะยังมีกิเลส ตัณหา ทิฏฐิยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำกรรมเมื่อใด ก็ต้องได้รับผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นอุปาทินนกรูป เป็นรูปที่เป็นผลของกรรมก็ย่อมมี การเกิดเป็นมนุษย์ก็ย่อมมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ก็เพราะต้องมีผลของกรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นกัมมชรูป รูปที่เกิดเพราะกรรม ก็ย่อมมีนั่นเอง จะเห็นว่า ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมมีปัจจัยให้ทำกรรม แล้วเมื่อทำกรรมแล้วก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของกรรมแน่นอน

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณกำลังฟังธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง กำลังฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะคะ ว่า กำลังฟังธรรม

    ผู้ฟัง แน่ใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ แน่ใจก็ต้องแน่ใจ เพราะเหตุว่าฟังเรื่องอะไร เรื่องเห็น เห็นก็ต้องเป็นธรรม รูปก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในความจริงในความจริงที่ไม่เคยทราบมาก่อน

    ท่านอาจารย์ เพื่อรู้ธรรม เพราะฉะนั้นรู้ตัวว่า รู้ธรรม หรือไม่รู้ธรรม แล้วก็ฟังธรรม หรือไม่ แล้วเมื่อฟังแล้วเริ่มรู้ขั้นไหน ก็เป็นความรู้ซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่รู้ แต่ระดับไหน ระดับฟังเรื่องราว แต่ตัวจริงของธรรมเป็นอย่างนี้ สามารถที่จะรู้ได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถ อย่าฟัง มีประโยชน์อะไร ฟัง แล้วไม่รู้ แต่ว่าฟังเพราะรู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งสามารถรู้ตามนั้นจริงๆ ได้

    ผู้ฟัง จะทราบว่า สามารถรู้ได้ต่อเมื่อ ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่า เข้าใจขั้นฟังจนจรดเยื่อในกระดูก แล้วมีความมั่นคงในความเข้าใจนั้นจริงๆ แต่เมื่อไม่ถึงตรงนั้น ก็ไม่สามารถเป็นเหตุปัจจัยให้รู้ขั้นต่อไปได้ ตอนนี้ก็กำลังอบรมขั้นฟังให้เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ รู้ว่า ธรรมคือ"เดี๋ยวนี้" ฟัง แล้วเข้าใจธรรมที่มีจริงๆ "เดี๋ยวนี้ "เพื่อที่จะรู้ธรรมจริงๆ "เดี๋ยวนี้"

    ผู้ฟัง เมื่อวานนี้ดิฉันเป็นคนยกเรื่องขึ้นมาว่า รูปที่มีใจครองหมายถึงอะไร เพราะอ่านหนังสือ “ปรมัตถธรรมสังเขป” รูปปรมัตถ์ หน้า ๓๗ เขียนว่า รูปที่มีใจครอง คือเป็นรูปที่เป็นที่เกิดของจิต ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ และเมื่อมาฟังวันนี้ รูปที่มีใจครอง ก็ไม่เหมือนอย่างที่หนังสือเขียน

    อ.กุลวิไล ข้อความนี้คุณหมอศรีพธู อ่านมาจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๓๗ ที่แสดงว่า รูปที่มีใจครอง คือ มีจิตเกิดกับรูปนั้น จิตทุกขณะจะต้องเกิดที่รูปตามประเภทของ จิต นั้นๆ คือ จักขุวิญญาณทำกิจเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณทำกิจได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณทำกิจได้กลิ่นเกิดที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณทำกิจลิ้มรส เกิดที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณทำกิจรู้โผฏฐัพพะ เกิดที่กายปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ มีข้อความเท่านี้เองหรือ ที่จริงคำว่า “รูปที่มีใจครอง” ไม่ทราบว่า ภาษาบาลีมีหรือไม่ แต่เป็นภาษาไทยที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เป็นการแยกสภาพของรูปซึ่งเป็นสัตว์บุคคล กับรูปที่ไม่มีจิตใจ

    เพราะฉะนั้นใช้ง่ายๆ ในความหมายที่ใช้ทั่วๆ ไปตั้งแต่โบราณ ก็คือรูปที่มีใจครอง แต่ถ้าจะกล่าวให้ละเอียด ให้ตรง ก็คือต้องหมายความถึง รูปใดๆ ก็ตาม เมื่อมีจิตอยู่ที่ใด “ที่ใด” ที่นี่ อันนี้เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ขณะนี้มีจิต แล้วก็มีรูปทั้งหมดนั้นด้วย เช่น กายปสาทรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว แต่จริงๆ แล้วนอกจากกายปสาทรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แล้วก็ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ก็ยังมีรูปอื่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งในขณะนั้นจิตซึ่งเกิดภายหลังก็อุปถัมภ์รูปนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้นคำที่เราเคยใช้ตั้งแต่โบราณง่ายๆ ว่า รูปที่มีใจครอง ก็ต้องเข้าใจละเอียดว่า ถ้าศึกษาแล้ว ประการที่ ๑ คือไม่ใช่รูปซึ่งไม่มีจิต ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีใจเลย เพราะฉะนั้นรูปเหล่านั้นไม่มีใจครอง นี่คือตามศัพท์โบราณที่ใช้กันต่อมา แต่เมื่อศึกษาแล้ว รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มีด้วย แล้วรูปที่เกิดจากอุตุ หรือรูปที่เกิดจากอาหารก็มีด้วย

    เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรม ไม่ใช่เฉพาะจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท ยังมีกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัวในแต่ละกลาปด้วย ที่ใดที่มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ก็จะต้องมีรูป คือ กายปสาท ซึ่งเกิดจากกรรม สัมผัสกระทบที่ไหน ก็คือทั่วกาย ส่วนที่ปรากฏลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กำลังอธิบายเกี่ยวกับรูปที่เป็นปสาทรูป ๕ เพราะว่าปสาทรูป ๕ ก็เป็นรูปที่มีในสัตว์บุคคล ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน และท่านอาจารย์ก็อธิบายต่อไป คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ว่าเป็นที่เกิดของจิตต่างๆ กัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เฉพาะข้อความตอนหนึ่ง แต่ให้ทราบว่า ธรรมดาถ้าใช้คำว่า อุปทาทินกรูป ซี่งคนไทยอาจจะใช้ตามๆ กันมาว่า รูปที่มีใจครอง แต่ความหมายจริงๆ ก็คือว่า รูปเป็นที่ยึดถือของตัณหา และทิฏฐิ เพราะฉะนั้นรูปนี้เมื่อยังมีกิเลส และยังมีกรรมอยู่ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้นการอ่านสังเขปก็คงยังไม่พอ แต่ถ้ามีข้อความอะไรที่ทำให้หลายคนเข้าใจอย่างนั้น ก็เป็นความบกพร่อง ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปได้

    คุณหมอเข้าใจแล้วใช่หรือไม่ หรือว่ายังสงสัย สงสัยในคำไหน รูปที่เกิดเพราะกรรม หรือรูปที่มีใจครอง หรือว่าสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง ที่เกิดของจิตก็มีแค่ ๖ วัตถุเท่านั้นเองใช่หรือไม่ ก็คงอนุโลมเข้าได้

    ท่านอาจารย์ แล้วกายวิญญาณเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่กายปสาท รูปก็มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท

    ท่านอาจารย์ คุณหมอเข้าใจว่า เป็นที่เกิดของจิต หรือจิตเกิดที่รูปเหล่านี้

    อ.กุลวิไล จิตเป็นที่เกิดของรูปเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดที่รูปเหล่านี้ มีรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน และมีจิตเกิดที่รูปเหล่านี้ด้วย

    อ.กุลวิไล เพราะท่านอาจารย์เขียนว่า รูปที่มีใจครอง คือ มีจิตเกิดกับรูปนั้น จิตทุกขณะจะต้องเกิดที่รูปตามประเภทของจิตนั้นๆ คือ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น เกิดที่จักขุปสาทรูป เป็นต้น

    ผู้ฟัง นอกจาก ๖ รูปนี้ แล้ว จิตจะเกิดที่ไหนอีก

    ท่านอาจารย์ มีที่เกิดเพียง ๖ รูป ถ้ายังสงสัยรูปที่มีใจครอง ก็ขอให้ฟังเพิ่มเติม ประการที่ ๑ รูปที่มีใจครอง ก็ต้องแยกจากรูปที่ไม่มีจิต และประการที่ ๒ รูปนั้นก็เป็นที่เกิดของจิตด้วยได้ แต่ในบางภูมิ รูปที่เกิดเพราะกรรมในอสัญญสัตตาพรหม จิตไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ใช่ที่เกิดของจิต แต่ก็ยังเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน

    รูปที่มีใจครอง เป็นคำใช้สมัยเก่า ก็ไม่ได้มีความชัดเจน พูดกันเพื่อให้รู้ความต่างของสัตว์ บุคคล สิ่งที่มีชีวิตกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เราก็พูดตามๆ กันมาว่า รูปที่มีใจครอง แต่ถ้าถามจริงๆ ว่า รูปอะไร ก็ไม่มีคำอธิบาย ถ้าไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษา ก็จะรู้ลักษณะของรูปซึ่งแยกกัน เป็นรูปที่เกิดจากกรรมก็มี เมื่อรูปนั้นเกิดจากกรรมแล้ว จะมีใจครองตรงนั้น หรือไม่ แต่ลักษณะสภาพธรรมของรูปซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน จะต่างจากรูปที่ไม่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แม้แต่อสัญญสัตตาพรหมซึ่งไม่มีจิตเลย แต่รูป ของอสัญญสัตตาพรหมซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็ต่างจากรูปอื่นซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะจริงๆ แล้ว มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย แต่ประการนั้นก็คงเป็นอีกเรื่องซึ่งไกลไป แต่ให้ทราบว่า ได้ยินเมื่อไรว่า รูปที่มีใจครอง ไม่ต้องไปคิดถึงต้นไม้ใบหญ้า หรือสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่รูปที่มีใจครองก็คือ เมื่อมีจิต ก็มีรูปนั้นอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นรูปนั้นก็มีจิตตรงนั้นด้วย

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของผมก็ยังไม่ชัดเจนครับว่า รูปที่มีใจครอง ถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ อย่างเป็นคน เป็นสัตว์ จะมีรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี แต่ท่านอาจารย์ก็ช่วยอธิบายว่า ในร่างกายของเราทุกส่วน สมมติว่าถ้าตัดออกมาส่วนหนึ่ง แล้วมาแบ่งออกเป็นกลาปๆ รูปที่เกิดทั้ง ๔ กลาป กรรม จิต อุตุ อาหารก็จะผสมปนเปกัน ผมเข้าใจเช่นนี้ผิดหรือถูก

    ท่านอาจารย์ เฟังธรรมต้องตามลำดับ ประการที่ ๑ แยกรูปที่มีใจครองกับรูปที่ไม่มีใจครอง คร่าวๆ โต๊ะ เป็นรูปที่มีใจครองหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้นไม้ตั้งแต่ต้นเล็กๆ จนไปถึงต้นใหญ่ เป็นรูปที่มีใจครอง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทั่วไปก็พอจะเข้าใจกันได้ว่า รูปที่มีใจครองก็คือรูปนั้นมีจิต เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ได้มีแต่จิต แต่มีรูปด้วย ซึ่งรูปก็มีทั้งที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน อุตุ หรือจิต หรืออาหารเป็นสมุฏฐานรวมกันในทั้งหมดที่เรียกว่าเป็นกาย หรือเป็นร่างกายของเรา นี่คือจบเรื่องรูปที่มีใจครอง ต่อมาก็กล่าวถึงรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน คือให้เป็นตอนๆ ไป รูปที่มีใจครอง จบ แล้วใช่ไหม

    จานมีใจครอง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แก้วน้ำมีใจครอง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ประการนี้เข้าใจกัน แล้ว ไม่มีข้อสงสัย เพราะฉะนั้นต่อไปจากการที่ใช้คำพูดคร่าวๆ รูปที่มีใจครองกับรูปที่ไม่มีใจครอง ก็มีความละเอียดของรูป ซี่งจะแยกออกเป็นรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร

    เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรม มีกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป จึงเป็นกัมมชรูปเพราะเกิดเพราะกรรม จบเรื่องกัมมชรูป หรือยัง

    ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกัมมชรูปก็ยังเป็นที่อาศัยเกิดของจิตด้วย นี่อีกตอนหนึ่ง แล้ว พูดเรื่องกัมมชรูปจบ แล้ว เพราะฉะนั้นจิตเกิดที่ไหน ในเมื่อมีจิต ก็มีการเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องอาศัยรูป เกิดที่รูปเป็นปัจจัยทำให้จิตเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อจบเรื่องของกัมมชรูปแล้ว ก็มาถึงคำถามว่า แล้วจิตเกิดที่ไหน ก็เกิดที่รูป ๖ รูป ไม่ใช่พร้อมกัน แต่ทีละ ๑ รูป คือ ขณะใดก็ตามรูปเกิดที่จักขุปสาท จักขุปสาทนั้นเป็นวัตถุที่อาศัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เป็นต้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ตอนนี้หมดความสงสัยเรื่องรูปเป็นที่เกิดของจิตหรือยัง กัมมชรูปจบไป แล้ว จิตเกิดที่ไหน จิตก็เกิดที่รูป ๖ รูป ซึ่ง ๖ รูปนี้ล้วนเป็นกัมมชรูปทั้ง ๖ แสดงให้เห็นว่า รูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่น จิตไม่ได้เกิดที่นั่นเลย ต้องเกิดที่ ๑ ใน ๖ รูป เข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วยังสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง สงสัยว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ได้มีรูปที่มีใจครอง หรือไม่มีรูปที่เกิดจากกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังมีรูปที่เกิดจากจิต อุตุ อาหารร่วมอยู่ด้วย และในกรณีที่รูปเป็นที่เกิดของจิต รูปที่เกิดจากกรรม จิตก็เกิดที่รูปที่เกิดจากกรรมด้วย แต่เหตุใดท่านอาจารย์ได้อธิบายว่า จิตนั้นก็อุปถัมภ์รูปที่เกิดจากจิต อุตุ อาหารด้วย สงสัยตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิด คือ รูปก็เป็นที่อาศัยเกิดของจิตด้วย และจิตตชรูป ก็คือมีรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานด้วย แต่เมื่อธรรมทั้งหลายมีด้วยกัน อาศัยกัน และกัน จะมีปัจจัยหนึ่ง ชื่อว่า ปัจฉาชาตปัจจัย หมายความว่า จิตที่เกิดภายหลังอุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดก่อนทุกสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง ทุกสมุฏฐานเลย หรือเฉพาะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีรูป และมีจิตอาศัยกัน และกัน เพราะฉะนั้นสำหรับอสัญญสัตตาพรหมมีรูปที่เกิดจากกรรม แม้จิตไม่ได้เกิดที่นั่น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจเป็นลำดับ คือ รูปที่มีใจครอง หมายความถึงอสัญญสัตตาพรหม หรือไม่

    ผู้ฟัง หมายถึงด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ รูปของ อสัญญสัตตาพรหมเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ไม่มีจิตเกิดเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายอย่างนี้เข้าใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วยังสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง สงสัยว่า ต่างกับอุตุชรูปที่ไม่มีใจครองอย่างไร เช่น ต้นไม้ใบหญ้าก็ต้องมีอุตุเป็นสมุฏฐาน ต่างกับอุตุชรูปที่เกิดกับมนุษย์ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าอุตุชรูปที่เกิดกับมนุษย์ มีวิการรูปเกิดร่วมด้วยได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้เข้าใจครับ ขอบพระคุณ อนุโมทนาท่านอาจารย์

    อ.กุลวิไล บคุณหมอศรีพธูมีคำถามเพิ่ม เชิญค่ะ

    ผู้ฟัง แล้วรูปที่มีใจครองกับรูปที่ไม่มีใจครองต่างกันว่า อุตุชรูปของรูปที่มีใจครองจะต้องมีวิการรูป อาจารย์ช่วยยกตัวอย่าง

    ท่านอาจารย์ มีวิการรูปเกิดร่วมด้วยได้ ตัวอย่างเวลาหนาวๆ คุณหมอเคลื่อนไหวคล่องแคล่วดีหรือไม่ หนาวตัวแข็งเลย

    ผู้ฟัง ไม่คล่องแคล่ว

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะอุตุไม่เหมาะสม

    ท่านอาจารย์ เพราะหนาว

    อ.นิภัทร รู้สึกว่า ท่านผู้ฟังจะศึกษาละเอียดลึกซึ้ง ผมฟังแล้ว ผมไม่ค่อยได้คิดเรื่องนี้เลย ผมคิดแต่เพียงผมรู้มาแต่แรกว่า รูปที่มีใจครอง คือสิ่งที่มีชีวิต คน สัตว์ท ส่วนรูปที่ไม่มีใจครอง ก็คือคนที่ตายไ แล้ว ไม่ว่าคน หรือสัตว์ที่ตายไปแล้ว ไม่มีวิญญาณ และต้นไม้ใบหญ้า ภูเขา พวกนี้ทั้งหมดก็ไม่มีใจครอง คือไม่มีจิต ใจครองนี่เป็นภาษาดั้งเดิมอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ก็ไม่รู้ว่าใครพาแปล คือสัตว์ที่มีจิตอยู่ด้วย มีขันธ์ ๕ ท่านถึงเรียกว่า ปัญจโวการภูมิ ส่วนอรูปภูมิไม่มีรูปขันธ์ มีแต่นามขันธ์ ๔ และอสัญญสัตตาภูมิ ไม่มีนามขันธ์ ๔ มีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นท่านถึงเรียกภูมิทั้งหลายว่า เอกโวการภูมิ จตุโวการภูมิ ปัญจโวการภูมิ และรูปทั้ง ๒๘ รูป บางรูปเกิดได้ทั้ง ๔ สมุฏฐานเลย บางรูปก็เกิดเพียงสมุฏฐานเดียว บางรูปก็เกิดได้ ๒ สมุฏฐาน อย่าปนกัน อย่างในตัวเรา ถ้าพูดถึงมหาภูตรูป ๔ เกิดได้ทั้ง ๔ สมุฏฐาน เกิดจากกรรมก็ได้ เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ เกิดจากอาหารก็ได้

    ตามที่คุณหมอถามท่านอาจารย์ว่า วิการรูปมีหรือไม่ในคน ทำไมจะไม่มี วิการรูป ๓ เกิดได้ ๓ สมุฏฐาน เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ เกิดจากอาหารก็ได้ ถ้ายังหนาวๆ ตัวแข็ง วิการรูปไม่เกิดแล้ว เกิดไม่ได้แล้ว ความอ่อน ความเบา ความควรแก่การงาน มันไม่มีแล้ว อย่างคนแก่ หนาวๆ อาจจะตายไปเลย

    ผู้ฟัง หลังจากฟังวันนี้แล้ว และฟังที่อื่นๆ ด้วย จริงๆ แล้ว ที่เราเข้าใจว่า เป็นรูปร่างเรา จริงๆ แล้วก็จะมีรูปกับจิต และรูปก็จะมี ๔ สมุฏฐาน แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่า ที่บอกว่า ถ้าแยกออกมาแล้ว อันนี้ที่เราเข้าใจว่าเป็นกาย คำว่า “กาย” ก็หมายความถึงที่ประชุมรวมของนาม และรูป เมื่อแยกออกมา แล้วจะเป็นกองฝุ่น แต่เราไปเข้าใจว่า เป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความ เพราะฟังแล้วไม่เข้าใจว่า เป็นกองฝุ่นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีอากาศธาตุแทรกคั่น หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เล็กแค่ไหน

    ผู้ฟัง เล็กมาก ไม่สามารถเห็นได้

    ท่านอาจารย์ แล้วฝุ่นเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ฝุ่นยังสามารถเห็นได้ว่าเป็นฝุ่น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเล็กกว่านั้นอีก แล้วก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นด้วย

    ผู้ฟัง แล้วเราก็ไปหลงยึดว่า นี่คืออะไรที่งาม แล้วก็ดูแลอย่างดี

    ท่านอาจารย์ เกิดมาก็หลงใช่หรือไม่ เวลาเห็น เวลาได้ยิน เพราะไม่รู้ความจริง ยุคนี้สมัยนี้ได้ยินคำว่า “โลกร้อน” ใช่ไหม เพิ่งเริ่มร้อน หรือว่าร้อนมานานแสนนาน แล้ว

    ผู้ฟัง ร้อนมานานแสนนาน แล้ว

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ นี่คือความหมายของพระพุทธศาสนา กับความหมายของชาวโลก ชาวโลกนั้นเหมือนกับว่า โลกเพิ่งจะเริ่มร้อน เพราะไม่รู้จักโลก แต่ทางธรรม แต่ไหนแต่ไร โลกก็ร้อนเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะอกุศลทั้งหลาย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    19 ม.ค. 2567