พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 454


    ตอนที่ ๔๕๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า “ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ”

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เข้าใจว่า เป็นธรรม ก็ต้องฟังตั้งแต่ต้นเลย แล้วฟังแล้วก็ต้องทบทวนด้วย เหมือนอย่างคำถามที่ว่าเมื่อครู่นี้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นเราปฏิบัติใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่ใช่ และตัวเองก็ไม่เข้าใจเท่าไร และผู้ใหม่ก็มาถาม ก็ตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องให้ผู้ใหม่เข้าใจว่า ธรรมมีอะไร อย่างที่คุณวิชัย กล่าวกับคุณสุรพงศ์เมื่อครู่นี้ เข้าใจธรรมต้องตามลำดับ คือ ต้องรู้ก่อนว่า ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็ยังตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังไม่ได้เข้าใจธรรม ต้องตั้งแต่ต้นตามลำดับ และการที่ว่า เข้าใจธรรม ตั้งแต่ต้นตามลำดับ จะเห็นได้ว่า จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่พ้นจากเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วจริงๆ คำว่า “ปฏิบัติดี” หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราปฏิบัติ หรือธรรมปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ธรรมปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้จักธรรม ทำไมตอบว่า ธรรมปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ตอบเพราะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ แต่ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่พอ ตามลำดับจริงๆ ให้ตอบไปเฉยๆ ไม่มีความหมายอะไรเลย ใช่ไม่ใช่ หรืออะไรนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ยังไม่รู้จักธรรมอยู่นั่นเอง

    ผู้ฟัง แต่ผู้ใหม่เขาเข้าใจว่า คำว่า ปฏิบัติดี ก็ดีตัวเอง ปฏิบัติชอบ ก็หมายความว่า ให้ผู้อื่นได้ร่วมชอบด้วย คือ เขาจะเข้าใจตื้นๆ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังธรรมตั้งแต่ต้น อย่าคิดเอง ไม่มีทางที่ใครจะเข้าใจธรรมโดยเพียงอ่าน และคิดเอง

    ผู้ฟัง พอดีคำถามของพี่บุษกร และการสนทนาของท่านอาจารย์มีประโยชน์มาก ไม่อยากให้ข้ามไป โดยที่พี่บุษกรไม่ตอบว่า ธรรมคืออะไร อย่างที่ท่านอาจารย์ถามพี่บุษกรก็คือ ปฏิบัติดี และชอบ เป็นธรรม ใช่ หรือไม่ ที่พี่ตอบว่า เป็นธรรม เพราะพี่ยึดหลักที่ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม พออาจารย์ถามว่า ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นธรรม หรือไม่ พี่ก็เลยตอบว่า เป็นธรรม แต่พี่ยังไม่รู้ลึกซึ้งลงไปว่า ธรรมตัวนั้นคืออะไร ในความคิดของผม ธรรมตัวนั้น คือปัญญาเจตสิก เพราะว่าจะดี ก็ดีด้วยปัญญา จะชอบ ก็ชอบด้วยปัญญา ไม่ได้ดีด้วยตัวเรา หรือชอบด้วยตัวเรา เพราะเราเป็นคนทำดี หรือเราทำสิ่งที่ชอบ เพราะสัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ แต่เจตสิกปรุงแต่งสิ่งนั้นให้เกิดได้

    อ.ธิดารัตน์ ก็จะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ธรรม ในที่นี้ก็คือสมควรแก่โลกุตรธรรม จริงๆ แล้วก็ไม่พ้นจากเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เบื้องต้นก็ได้แก่ สติปัฏฐาน ซึ่งประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๕ แต่ไม่ได้หมายความเฉพาะ เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดตัวเดียว จริงๆ สภาพธรรมต้องอาศัยกัน แม้กระทั่งมรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นอันดับแรก และต้องอาศัยทั้งวิริยะ เพียรชอบ วิตก ตรึกถูกต้อง แต่ เบื้องต้นต้องเริ่มตั้งแต่การฟัง ถ้าไม่มีการฟังเลย ปัญญาก็เจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหตุเจริญของปัญญา ก็มีตั้งแต่สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา จนกระทั่งถึง ภาวนามยปัญญา

    ผู้ฟัง ผมขอตอบใหม่ ผมอยากตอบใหม่ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นธรรม แต่เป็นธรรมข้อไหน ก็คือกุศลธรรมทั้งหมดปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ใช่แค่ปัญญาเจตสิกอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด รู้สึกว่าใช้คำว่า “ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่การวิจัย หรือคิดว่า ปฏิบัติอย่างไรดี ปฏิบัติอย่างไรชอบ เช่น ถ้าถามว่า ขณะนี้ปฏิบัติดี หรือไม่ ปฏิบัติชอบ หรือไม่ จะตอบว่าอย่างไร เพราะเหตุว่ายังไม่รู้จักธรรม ชอบตามความคิดของเราเอง ดีตามความคิดของเราเองก็ได้ แต่ว่าดีจริงๆ ชอบจริงๆ หรือไม่ ฟังธรรม ปฏิบัติดี หรือไม่ ปฏิบัติชอบ หรือไม่ กำลังฟังนี่

    ผู้ฟัง เป็นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบครับ เพราะว่าสังขารขันธ์ปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือไม่ ฟังแล้วเข้าใจผิด ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมละเอียดขึ้น ก็จะไม่สงสัย ไม่ใช่เพียง ได้ยินแล้วก็อยากจะรู้ แล้วก็สงสัย แล้วต้องการรู้ว่า ปฏิบัติอย่างไรดี ปฏิบัติอย่างไรชอบ แต่ก็ยังคงเป็นเรา ก็คือไม่ได้รู้ความจริงที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าสนทนาธรรมเรื่องธรรม ก็เป็นการเข้าใจธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่เป็นเรา แล้วปฏิบัติแค่ไหนดี แค่ไหนชอบ ชอบคืออย่างไร เหมือนกับปฏิบัติดีไหม ก็เป็นเรื่องคิดกันไป แต่ว่าจริงๆ ก็คือว่า เริ่มเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง เริ่มเข้าใจธรรมก็คือเริ่มปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

    ท่านอาจารย์ เริ่มรู้ว่า ไม่มีใครปฏิบัติ ธรรมเป็นธรรม ชอบคือชอบ ดีคือดี ตรงตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ขอถามเรื่องโทษของอกุศล ในชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ อกุศล เกิดเป็นส่วนใหญ่ เคยได้ยินท่านอาจารย์กล่าวในเทปว่า ขั้นแรกก็ควรจะเริ่มเห็นโทษของอกุศลก่อน ฟังธรรมให้เช้าใจและเห็นโทษของอกุศล จึงจะเปลี่ยนจาก อกุศลเป็นกุศล จึงมีปัจจัยทำให้ กุศลเกิดขึ้น มากขึ้น ทั้งนี้คำว่า “โทษของอกุศล” คืออย่างไร เช่น บางครั้งเราเกิดโทสะ เราไม่อยากมีความไม่สบายใจเนื่องจากโทสะนั้น เราก็นึกว่า นั่นคือโทษของโทสะ นั่นคือการเห็นโทษของอกุศลแล้ว แต่จริงๆ แล้วอาจจะยังไม่ใช่ ในวันนี้ ผมขอถามคำถาม ๓ คำถาม คำถามที่ ๑ คือ อย่างไรคือโทษของโลภะ และการเห็นโทษของโลภะคืออย่างไร คำถามที่ ๒ อย่างไรคือโทษของโทสะ การเห็นโทษของโทสะคืออย่างไร อย่างไรคือโทษของมานะ การเห็นโทษของมานะคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาโลภะเกิด หรือโทสะเกิด หรือโมหะเกิด ค่อยๆ พิจารณา ถึงจะเข้าใจได้ เพราะว่า ถ้าเราจะกล่าวถึงโดยโทษ จะไม่เห็น เวลาโทสะเกิด เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ ใจไม่สบาย แล้วคิดอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่อยากอยู่ในสภาพนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วพูดอย่างไร เวลาโทสะเกิดเคยพูดไหม แล้วพูดอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ผิดปกติไป

    ท่านอาจารย์ พูดดี หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ดีครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำอย่างไร เวลาโทสะเกิด ทำสิ่งที่ดี หรือไม่ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ หรือ ทำอะไรเวลาที่โทสะเกิด

    ผู้ฟัง ทำสิ่งที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ย่อมเห็นโทษของโทสะได้ โดยเข้าใจสภาพที่ กำลังเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น ด้วยตัวเอง เวลาโทสะเกิด ใครเดือดร้อน

    ผู้ฟัง ตัวเราเองเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ คนอื่นเดือดร้อนด้วย หรือไม่ ถ้าคนอื่นเขาไม่มีโทสะ แต่เรามีโทสะ ใครเดือดร้อน

    ผู้ฟัง เราก็เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ คนที่มีโทสะเดือดร้อน คนที่ไม่มีโทสะ ไม่เดือดร้อนเลย และเมื่อมีความเดือดร้อนแล้ว ใจร้อนมากเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ไม่สมควร ผิดปกติทางกาย ทางวาจา นำความทุกข์ความเดือดร้อน มาให้คนอื่นด้วย เป็นโทษ หรือยัง

    ผู้ฟัง เป็นโทษครับ

    ท่านอาจารย์ และถ้าไม่มีโลภะ โทสะจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ และถ้าไม่มีโมหะ โลภะ โทสะ จะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็มาจากความไม่รู้ คือ โมหะ

    ผู้ฟัง แล้วในส่วนของ "มานะ"

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วก็ไม่มีมานะ เพราะว่าธรรมเป็นธรรม แต่ผู้ที่จะละได้ เป็นพระอรหันต์ มานะเป็นความสำคัญตน แม้ไม่มีความเห็นผิด แต่ความสำคัญตนก็มี เคยรู้สึกสำคัญตัวหรือไม่ นั่นคือลักษณะของมานะ ถ้าไม่มีจะดีกว่าไหม

    ผู้ฟัง ดีกว่าครับ ทีนี้ธรรมฝ่ายตรงข้ามกับมานะคืออะไร

    ท่านอาจารย์ คือความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเป็นเพื่อน ทุกอย่างที่ดี ธรรมฝ่ายดีทั้งหมด ก็ตรงกันข้ามกับมานะ

    อ.กุลวิไล กล่าวถึงโทสะ สภาพความรู้สึก ที่เกิดร่วมด้วย คือ โทมนัสเวทนา ความไม่พอใจ แล้วที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เวลาเกิดโทสะ วาจาเป็นอย่างไร ถ้าไม่สังเกตุจะไม่รู้ว่า ดุร้ายมาก ขาดเมตตา ซึ่งต่างกับ ขณะที่กุศลจิตเกิด เป็นมิตร เป็นเพื่อนกับทุกๆ คน และ จะไม่เห็นโทษของโทสะได้อย่างไร แต่ตัวที่ร้ายที่สุด คือ โลภะ เราอาจจะชอบคำชม แต่เวลาที่มีคนติ หรือว่าไม่ดี ก็จะรู้สึกเสียใจ แต่ไม่เห็นโทษของโลภะ เวลาที่มีคนชม ว่านำมาซึ่งโทสะด้วย

    ท่านอาจารย์ รู้สึกว่า โลภะดี หรือ

    อ.กุลวิไล ไม่ดีเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วจะกล่าวว่าไม่เห็นโทษได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ร้ายที่สุดคือโลภะ

    ท่านอาจารย์ วิธีที่จะค่อยๆ เข้าใจโทษของโลภะ คือ ถ้าไม่มีโลภะเลย เบาสบายไหม ที่กำลังหนักเวลานี้ ก็เพราะโลภะ และที่มีโลภะ ก็เพราะโมหะ แต่ไม่เคยรู้สึก ในความหนักของโลภะเลยว่า แท้ที่จริงถูกครอบงำด้วยโลภะ ตั้งแต่เกิด ก่อนหลับ ปกติคิดอะไร คิดดีๆ หรือโลภะ พรุ่งนี้จะทำอะไร หรือว่าโทสะ ขุ่นใจ

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า บังคับบัญชาได้อย่างไร เวลาที่เกิดมาแล้ว เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป กรรมทำให้จิตเกิดดับสืบต่อ เป็นประเภทเดียวกัน ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น แล้ว กระแสการเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ ปวัตติ จะดำเนินไป ตามการสะสมของแต่ละคน ไม่มีใครสามารถไปบังคับบัญชา ให้ได้ยินอะไร วันไหนเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนอย่างไรเลย แต่ละขณะจิตมีปัจจัยจะเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ทันทีที่รู้สึกตัว มีความติดข้องในภพ ในความเป็น

    เพราะฉะนั้นโลภะสนิทที่สุด ไม่ห่างไกลเลย ติดตามอยู่ตลอดเวลา โดย แทบจะไม่รู้ตัวเลยว่า ตั้งแต่ลืมตาตื่น โลภะไม่ได้ห่างไปเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ แล้วทำทุกอย่างตามโลภะด้วย โลภะเป็นนายจริงๆ และเป็นทาสของโลภะโดยตลอด แม้แต่การมาฟังธรรม โลภะให้มาชั่วคราว คือขณะนั้นไม่ได้ห้าม แต่กำลังฟังนี่มีโลภะไหม ก็ยังมีโลภะ ไม่เคยพ้นไปจากชีวิตได้เลย ยากแสนยาก เพราะเหตุว่าสะสมเป็นเพื่อนสนิท คุ้นเคยมานานแสนนาน แล้วยังชอบด้วย โลภะนี่แหละชอบโลภะ ไม่ชอบโทสะ แต่ชอบโลภะ เพราะฉะนั้นจะหมดโลภะได้เมื่อไร ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า เป็นทาส ไม่ได้เป็นอิสระ ไม่ได้กล้าหาญเลย เพราะเหตุว่า โลภะต่างหาก ที่กล้าหาญกว่า สามารถบังคับบัญชาครอบงำได้ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความเห็นถูก แล้วเห็นโทษ แล้วก็ฟังธรรม ชั่วขณะเท่านั้นเอง แล้วโลภะก็มาตามกลับไป สู่ความไม่รู้ สู่ความต้องการ สู่ทุกสิ่งทุกอย่าง

    นี่แสดงให้เห็นว่า การดับโลภะหมดเมื่อได ก็เป็นอิสระจริงๆ คือพ้นจากอำนาจของโลภะ แต่ก่อนอื่นต้องรู้ว่า เราถูกครอบงำ ด้วยโลภะมากมายขนาดไหน

    อ.กุลวิไล ดิฉันชอบอยู่คำหนึ่ง ท่านอาจารย์เคยกล่าวให้ฟังว่า ถ้าเราไม่ต้องการอะไรเลย สบายจริงๆ แต่เราก็ยังต้องการอยู่

    อ.นิภัทร โลภะ ท่านบอกว่ามีโทษน้อย เพราะเราชอบมัน มีโทษน้อย แต่คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว โกรธพักเดียวก็หายแล้ว โมหะมีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย โลภะเกิดเมื่อใด โมหะก็ต้องเกิดด้วย โทสะเกิดเมื่อใด โมหะก็เกิดด้วย แต่โลภะกับโทสะจะไม่เกิดด้วยกัน ทีนี้ประโยชน์ที่จะได้คือ ไม่ต้องไปจำชื่อมากมาย มันยาก ให้รู้ขณะที่โลภะเกิด เรารู้ได้บ้างไหม โทสะเกิด รู้ได้บ้างไหม โมหะเกิด รู้ได้บ้างไหม รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราชอบ ไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราหลง ถ้าอย่างนี้จะได้ประโยชน์

    ผู้ฟัง โลภะ หรือความติดข้อง เมื่อวานอาจารย์อรรณพกล่าวว่า ความติดข้องที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย น่ากลัว และไม่สามารถเข้าใจความจริงได้เลย

    ท่านอาจารย์ และความเห็นผิดมาจากไหน

    ผู้ฟัง ความเห็นผิดก็มาจากความติดข้อง

    ท่านอาจารย์ และอวิชชาด้วย

    ผู้ฟัง ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นในการศึกษา ที่จะเห็นโทษ เบื้องต้นก็ต้องเข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่ก่อนฟังได้เห็นผิด เข้าใจผิด ในสภาพธรรม ถึงจะสามารถอบรมปัญญาให้เข้าใจความจริงขั้นต่อๆ ไปได้

    อ.กุลวิไล เนื่องจากเมื่อวานได้สนทนาพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับสังสาระ ที่กำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ สำหรับสังสาระ ก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อในขณะนี้เอง ก็คือสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็ยากที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริง ช่วงแรกก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ สำหรับการศึกษา ที่จะเป็นพื้นฐาน ให้มีความเห็นถูกในสภาพธรรมทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเวลาที่เราจะไม่ลืมว่า เรามาที่นี่เพื่อจะเข้าใจธรรม ซึ่งตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด แต่ก็ลืมอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้เป็นการให้เข้าใจ และไม่ลืมว่า ทุกอย่างที่มีจริงๆ ในขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นการฟังเพื่อให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรม ที่เป็นธรรม จึงจะไม่มีเรา เพราะว่าเป็นการยากมากที่เคยเป็นเรามานานแสนนาน แล้วจะเข้าใจถูกว่า แท้ที่จริงสิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา ความจริงเป็นอะไร ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถูกต้องไหม กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรเลยตลอดชีวิต นอกจากมีสิ่งที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อไม่รู้ จึงต้องฟัง เพื่อจะได้มีความเห็นถูก เข้าใจถูก แต่การที่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทุกชาติ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว และต่อไปอีกนานแสนนาน ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้โดยเร็ว แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจ เพื่อละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน เพราะว่าถึงอย่างไรๆ เมื่อมีสิ่งใดปรากฏแล้วไม่รู้ สิ่งนั้นต้องเป็นอะไร อย่างหนึ่งอย่างใด โดยรูปร่างสัณฐาน โดยการจำว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏให้ติด

    มีใครบ้างไม่ติดขณะนี้ มีใครรู้ไหมว่า ติดขนาดไหน ประมาณไม่ได้เลย จนกระทั่งไม่สามารถที่ เมื่อฟังขณะนี้ว่าเป็นธรรม แต่ละลักษณะกำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสามารถจะเห็นถูก เข้าใจถูกก็คือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง คนละขณะ สภาพที่กำลังเห็น ก็ไม่ใช่สภาพที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่สภาพคิดนึก เป็นธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะ ซึ่งฟังจนกว่าจะเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ในสิ่งอื่นเลย

    เพราะฉะนั้นคำว่า “ภาวนา” ก็คือการอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แล้วตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย แล้วก็ไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นั่นคือผิด นั่นคือไม่เข้าใจธรรม ขณะใดที่ฟังธรรมแล้วเป็นเราจะมีกุศล เพราะได้ฟังธรรม ผลของกุศลนี้ก็จะทำให้เราเกิดดีๆ

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ใช่ไปหวังอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เป็นผู้ตรงที่รู้ว่า ไม่เคยเข้าใจสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นฟังแล้วเข้าใจ แล้วจะหวังอะไร หวังจะไปถึงไหน หวังจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม หวังถึงนิพพาน เพราะได้ยินคำว่า “นิพพาน” อย่างนั้น หรือคือการเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจธรรมก็คือ ขณะใดก็ตามที่เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม แม้เรื่องราวของธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเข้าใจขึ้น สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่สูญหายเลย เพราะเหตุว่าการรู้ธรรม ต้องเป็นการรู้สิ่งที่กำลังมีในชีวิตประจำวัน ตามปกติ เพราะอะไร เพราะปกติไม่มีใครไปทำให้อะไรเกิดขึ้นเลยสักอย่างเดียว ไม่มีใครสามารถทำให้เห็นเกิด หลับเกิด ตื่นเกิด คิดเกิด สุขเกิด ทุกข์เกิด ไม่มีใครสามารถบันดาลได้เลย เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสได้สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรม เพื่อละความเห็นผิด ลองคิดดู สิ่งที่มีปรากฏแล้วไม่รู้ แล้วเห็นผิด ควรละไหม หรือควรสะสมความไม่รู้ต่อไปอีก เห็นผิดต่อไปอีก พอมีความเห็นผิดยึดมั่นว่าเป็นเราก็จะมีอกุศลทั้งนั้นเลย ติดตามมา อหิริกะ ไม่ละอาย อโนตตัปปะ ไม่เห็นภัยของอกุศล เข้าใจว่า ตัวเองสามารถทำอกุศลได้ต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุเคราะห์ให้ผู้ที่สะสมศรัทธา ที่จะฟังด้วยความละเอียด ด้วยความรอบคอบ และเห็นความลึกซึ้งของธรรมที่จะสะสมต่อไป จนกระทั่งไม่หลงทาง และไม่ผิดหนทาง ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ฟังด้วยความสำคัญตน หรือสนใจในเรื่องราวที่อยากจะรู้เพียงชื่อ แต่จะรู้ได้ว่า แม้เพียงคำว่า “ธรรม” ได้แต่พูด มีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เราพูดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วเดี๋ยวนี้ อะไรเป็นธรรม

    นี่ก็แสดงให้เห็นความละเอียดของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ให้จำ แล้วก็พูดได้ แล้วก็เข้าใจคำแปล หมายความว่าขณะนี้เป็นธรรม หรือเป็นอะไรที่กำลังมีจริง ที่กำลังปรากฏ

    นี่คือผลของการเป็นผู้ไม่ประมาทในพระธรรมที่ทรงแสดง เมื่อทรงตรัสรู้ ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    29 มี.ค. 2567