พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69


    ตอนที่ ๖๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แม้แต่การนั่ง หรือ การนอน การยืน การเดิน การพูด เสียงที่พูดหรือถ้อยคำหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ที่ใช้ด้วยความเคยชิน ซึ่งแต่ละท่านก็คงจะสังเกตตัวเองได้ว่าเราชินในอะไรบ้าง และเราก็อาจจะค่อยๆ แก้สิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ว่าถ้าเป็นวาสนาที่ละเอียดมาก และทำจนชินมากจนกระทั่งติดแน่น ก็มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่จะละได้ แต่คนอื่นก็คงยังมีเหลือสิ่งที่ได้สะสมมาที่ดูไม่งาม ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา

    ขอเชิญคุณธิดารัตน์ ยกข้อความที่มีหลักฐานว่าวาสนาเป็นทั้งกุศล และอกุศล

    อ.ธิดารัตน์ มีแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคเล่ม ๔ ภาค ๑ ท่านจะแสดงว่าบุคคลผู้เป็นปทปรมบุคคล คือบุคคลที่ไม่สามารถจะบรรลุธรรมในชาตินี้ได้ การฟังธรรม ความเข้าใจธรรมต่างๆ ก็จะเป็นการสะสมอบรมไปซึ่งท่านแสดงว่า "จะเป็นวาสนาเครื่องอบรมบารมีในอนาคตแล" เป็นวาสนาซึ่งเป็นฝ่ายดี ส่วนในขุททกนิกาย มหานิเทศ ท่านได้แสดง " วาสนาภาวนา คือที่สะสมมาเป็นทั้งบุญหรือบาปก็ได้"

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นวาสนาหรือไม่ เป็น เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมนานมาแล้วตั้งเกินแสนโกฏิกัปป์ที่จิตเกิดขึ้น และสืบต่อมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นวาสนาของเราก็คือรู้จักตัวเอง จะรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือคำพูดทั้งทางฝ่ายกุศล อกุศล รวมทั้งความประพฤติทางกาย วาจาด้วย ก็เป็นเรื่องของการสะสมมาทั้งสิ้น

    เรื่องของอนุปาละ หรืออนุบาล คือการที่จะเฝ้าตามรักษาความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความคิดถูก เพราะแม้แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจะเห็นได้ว่ามีอนุสาสนี คำที่ทรงแสดงบ่อยๆ และมีทั้งโอวาทะ หรือโอวาท เพราะเหตุว่าแม้จะทรงแสดงพระธรรมไว้มากมายให้คนที่ได้ฟังเกิดความเข้าใจ แต่กิเลสที่มากแสนมาก ใครจะให้โอวาทได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้บางครั้งมีผู้ที่ทำผิด และทรงให้โอวาทผู้นั้นไม่รับก็มี ผู้รับก็มี

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นการสะสมของจิต ซึ่งผู้ที่ไม่รับในตอนแรก ภายหลังรับก็มี นี่ก็เป็นเรื่องของกาลเวลาซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ประโยชน์จริงๆ ก็คือเพื่อที่จะให้เข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มี เป็นคำที่กล่าวบ่อยๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุสาสนีบ่อยๆ บางคนอาจจะคิดว่าซ้ำ แต่ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มี ในความเป็นอนัตตาซึ่งละยากมาก เพราะเหตุว่าโดยมากทุกคนอาจจะอยากละความไม่ดีแต่ไม่ละความเป็นเรา ก็เป็นได้ กุศลทั้งหลายที่ทำ เป็นอัตตาธิปไตยเพื่อตนเอง จะได้ดี จะได้ผลต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องของการที่ว่ายังมีความเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าสละความเป็นเราได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะเห็นได้ว่าเป็นผู้ที่ได้ประพฤติตามพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจะซ้ำอยู่เสมอ เพราะกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ให้มีความมั่นคงที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ยิ่งได้ฟังละเอียดก็จะทำให้ค่อยๆ ไตร่ตรอง และพิจารณาว่าเป็นอนัตตาอย่างไร เพื่อที่ถึงเวลาจริงๆ จะรู้ได้ว่ายากแสนยากที่จะสละความเป็นเราได้ เพราะว่าไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมมานานเท่าไหร่ ขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับแสนเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏความเกิดดับ นับวาระไม่ได้ว่ามากมายแค่ไหน จากขณะที่เป็นภวังค์ ซึ่งไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมีการเห็นเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ มากเท่าไหร่แล้ว ความไม่รู้ และความเป็นเรา แล้วจะให้หมด คิดดู ไม่ว่าจะขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่กำลังคิดนึก ก็จะต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นชั่วขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นตามการปรุงแต่งของการสะสม

    เมื่อวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องแสงสว่าง ซึ่งก็ควรจะได้พิจารณาว่ามีความหมายอะไรบ้าง เช่น ที่มีข้อความว่า กามาวจรธรรม หรือธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นสิ่งที่สั้นมาก เล็กน้อยมาก เหมือนแสงฟ้าแลบ เพราะเหตุว่าต้องไปคิดถึงตอนที่เราหลับสนิทก่อน นี่คือซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะให้เข้าใจว่าชีวิตจริงๆ คืออย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ยิ่งเข้าใจโดยความเป็นธรรม โดยความเป็นธาตุ โดยการที่ต้องอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ก็จะเห็นว่าแต่ละขณะผู้ที่ตรัสรู้แสดงความเล็กน้อยว่าเล็กน้อยสักแค่ไหน จากขณะที่หลับสนิทไม่มีอะไรปรากฏเลย

    เมื่อได้ยินคำว่า "อายตนะ" จะเข้าใจอย่างไร ถ้าไม่รู้จักนามธรรม และรูปธรรม ไม่รู้จักสภาพธรรม แล้วก็ไปเปิดหนังสือ แล้วก็พบคำว่า “อายตนะ” แล้วก็มีคำแปลด้วย ตาเป็นอายตนะ เราก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะ เรามีครบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สีคือแสงสว่างหรือว่ารูป รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กำลังปรากฏในขณะนี้ต้องมีแน่นอน เสียงก็มี กลิ่นก็มี รสก็มี สิ่งที่กระทบสัมผัสกายขณะนี้ก็มี แล้วพบคำว่าอายตนะในหนังสือ เราจะเข้าใจอย่างไร เข้าใจโดยชื่อ หรืออาจจะอยากฟังว่าอายตนะแปลว่าอะไร มีเท่าไหร่ อะไรเป็นอายตนะบ้าง แต่ขณะนี้กำลังเป็นอายตนะ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่เพียงให้เราอ่านแล้วก็จำ แต่ต้องไตร่ตรองให้รู้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถที่จะตรัสรู้ และทรงแสดง นอกจากผู้ที่ได้อบรมปัญญาบารมี ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาอะไรก็อย่าเพิ่งผ่านไปแต่ให้เข้าใจจริงๆ แม้แต่อายตนะคือตา และสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เมื่อไหร่ เมื่อเกิดแล้วยังไม่ดับ เล็กน้อยแค่ไหน แสดงให้เห็นว่าตาที่เราคิดว่าเรามีอยู่ ความจริงเราไม่รู้ว่าไม่ใช่ตาทั้งหมด แต่ว่าจะต้องเป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่เล็กน้อยมาก และเกิดดับอย่างเร็วด้วย รูปที่เป็นรูป มีลักษณะของรูปที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาวรูป จะมีภาวะหรือความเป็นของรูปๆ นั้น ซึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่ต้องเอาอะไรมาวัด ไม่มีอย่างอื่นที่จะวัดได้เลยว่าอายุของรูปสั้นแค่ไหน นอกจากอายุของจิตที่สั้นกว่า เกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปที่เป็นสภาวรูป รูปหนึ่งจึงดับ ใครจะไปนั่งนับ ใครจะไปนั่งคิดหรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลย นักวิทยาศาตร์จะกล่าวอย่างไร จะแสดงอย่างไร จะเรียกโดยชื่ออย่างไรก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่การตรัสรู้ แต่การตรัสรู้จริงๆ คือรู้ว่ารูปว่าดับอย่างเร็วมากเพราะว่าขณะนี้ทางตากำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ดับ แล้วมีจิตได้ยินถึงจะมีเสียงเกิดขึ้นปรากฏได้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่อย่างที่เราพูด แล้วคิดว่าแค่นี้ก็เร็วแล้ว ยังเร็วแสนเร็วมากกว่านั้นอีก เพราะความไม่รู้ ก็จึงมีความเข้าใจว่าสิ่งนั้นเที่ยง เมื่อเที่ยงก็เป็นเรา ทุกอย่างเหมือนไม่ได้ดับเลย เป็นเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย แต่ความจริงทั้งหมดนี่ก็เป็นธรรมที่อาศัยกัน และกัน หรืออาศัยปัจจัยเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไป แล้วเราอยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจจริงๆ แล้วก็มีการที่จะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงขั้นฟังแล้วเข้าใจ ถ้าฟังแล้วเข้าใจพระอริยะก็คงมากมาย แต่การที่เพียงเข้าใจผู้นั้นก็จะรู้ได้เลยว่าเข้าใจเรื่องสิ่งที่มี แต่ลักษณะแท้จริงไม่ได้รู้ เช่น ขณะนี้ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏทางกายมี เมื่อสักครู่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางกายหรือไม่ "ไม่" พูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มี และกำลังรู้ความจริงว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร นอกจากเป็นภาวะที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ แล้วก็ดับเท่านั้นเอง รู้อย่างนี้หรือไม่ขณะที่กำลังฟัง นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าเรื่องของการฟังธรรมนี่ก็ต้องอบรมความรู้ความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น เพราะในครั้งนั้นไม่ได้มีการที่จะแยกเป็นปริเฉทต่างๆ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่กำลังมี กำลังปรากฏ เราก็สามารถที่จะพูดถึง กล่าวถึงให้เข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ ได้ครั้งละเล็กละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมแต่ละอย่างว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนี้ถ้าเข้าใจถูก ก็รู้ว่ามีอายตนะแน่นอน

    อายตนะ คือ สภาพธรรมที่ประชุม เป็นที่ก่อ เป็นที่เกิด เป็นแดนเกิด กำลังเห็นขณะนี้ ถ้าไม่มีจักขุปสาท ก็เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมี และยังไม่ดับด้วย ถ้ารูปที่เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ไม่มากระทบจักขุปสาท ขณะนี้จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ต้องยังไม่ดับด้วย แล้วยังมีจิตซึ่งเกิดขึ้นกำลังเห็นในขณะนี้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาไปทีละเล็กทีละน้อยก่อนว่าจิตก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะในขณะนี้เองที่เห็นเกิดขึ้น มีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ แล้วมีรูปารมณ์คือรูปที่กำลังปรากฏเป็นวัณณะรูปทางตาในขณะนี้ที่ยังไม่ดับ และมีจิตเกิดขึ้นเห็นพร้อมเจตสิกที่เกิดร่วมกันทั้งหมดต้องมีอยู่ในขณะนั้นประชุมอยู่ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ไหม ชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดแต่ไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะไม่เห็นความเล็กน้อยว่าเกิด และดับเร็วแค่ไหน จากที่ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะก่อนที่จะเห็นต้องเป็นภวังค์ ต้องมีจิตเกิดดับที่ดำรงภพชาติไว้ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ยังเป็นภวังค์อยู่ จนกระทั่งเมื่อมีปัจจัยจึงเห็น สั้นแค่ไหนขณะนี้ ทั้งมีคิด ทั้งมีอะไรด้วยหลายๆ อย่างแทรกคั่น

    เพราะฉะนั้น "เห็น" ขณะนั้น จากความมืดที่ไม่มีอะไรปรากฏ แล้วมีสิ่งหนึ่งปรากฏแล้วดับ จะเหมือนแสงของฟ้าแลบไหม เท่านั้นเองชั่วขณะนั้น เราอยู่ที่ไหน ขณะที่กำลังเห็น "คิด" รวมอยู่ขณะที่ "เห็น" ด้วยหรือไม่ นี่เรากำลังกล่าวถึงจิตซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ จิตที่เห็นเป็นผลของกรรม เป็นจักขุวิญญาณ เป็นผลของกุศลกรรม ๑ เป็นผลของอกุศลกรรม ๑ สำหรับจิตที่เป็นผลของกรรมใช้คำว่า "วิปากะ" แต่ภาษาไทยก็คือ"วิบาก" จิตนี้เกิดได้อย่างไร ไม่มีคนที่จะไปสร้างหรือไปทำเลย แต่กรรมคือเจตนาที่เป็นกุศล และอกุศลในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ถึงกาละที่สมควรสุกงอมที่จะให้ผลคือ"เห็น"ในขณะนี้เกิดขึ้น "เห็น" ก็เกิดในขณะนี้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครพ้นจากกรรมเลยในวันหนึ่งๆ

    นี่คือการศึกษาให้รู้เรื่องของเราตามความเป็นจริง เมื่อกล่าวถึงจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุก็สามารถที่จะมีความเข้าใจ โดยที่รู้เหตุผลว่าทำไมไม่ประกอบด้วยเหตุก็เพียงแค่เห็น และก็ดับไป หมดไหม พอไหม แค่นั้นกรรมให้ผลแค่นี้เองหรือ แค่เห็นหรือไม่ ยังมีจิตที่จะรับรู้สิ่งที่จักขุวิญญาณเห็น รูปนั้นยังไม่ดับ โดยกรรมทำให้วิบากจิตเกิดต่อทำกิจนี้ซึ่งชื่อว่า สัมปฏิจฉันนจิต ทำ สัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ต้องท่องเลยใช่ไหม มีใครลืมชื่อนี้บ้างหรือยัง ลืมไหม ไม่ลืม เป็นวิบาก รู้เลย ใครจะรู้หรือไม่รู้ แต่จิตนี้ก็ได้เกิดสืบต่อจากจักขุวิญญาณ

    เมื่อกล่าวโดยปัจจัย คือจิตทุกขณะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดโดยเป็น "อนันตรปัจจัย" สัมปฏิจฉันนะจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เป็นอเหตุกจิต ก็ต้องมี ๒ ประเภทในเมื่อเป็นผลของกรรม คือสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ๑ ถ้าจักขุวิญญาณกุศลวิบากดับ สัมฏิจฉันนจิตประเภทไหนจะเกิดสืบต่อ เพราะว่าสัมปฏิจฉันนะมี ๒ สภาพธรรมใดที่ชื่อว่าวิบากจะต้องเป็นวิบากของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ดีดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อเป็นอะไร ต้องเป็นกุศลวิบากด้วย เปลี่ยนไม่ได้เลย รูปยังไม่ดับเป็นผลของกรรมเดียวกันที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับผล เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับแล้ว วิบากจิตก็ยังเกิดต่ออีกโดยกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งทำกิจต่างกับสัมปฏิจฉันนะ คือ ทำกิจพิจารณาอารมณ์นั้น ใช้คำว่าพิจารณาแต่อย่าคิดว่าจะยาวนาน ชั่วหนึ่งขณะจิต สันตีรณะที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก สันตีรณจิตนั้นเป็นประเภทอะไร กุศลวิบากเหมือนกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย หมดเรื่องของวิบาก ยังมีอีกเล็กน้อยแต่ยังไม่กล่าวถึง แต่เพียงแต่ว่าเมื่อเล็กน้อยนี่หลังจากจิตอื่นเกิด และดับไป แต่ว่าก่อนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลจะต้องมีจิตเห็นเป็นกุศลวิบาก ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่น่าพอใจ สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อเป็นวิบาก สันตีรณะที่เกิดต่อเป็นวิบาก หมดแค่นี้หลังจากนั้นไม่เป็นวิบากแล้ว เห็นแล้ว รับต่อแล้ว พิจารณาแล้วทั้งหมดนี่เป็นอเหตุกะ คือไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย

    ต่อจากนั้นก็จะเป็นโวฏฐัพพนจิต โดยสันตีรณจิตเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ที่จะทำให้จิตอื่นเกิดไม่ได้เลย นอกจากมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งขณะนั้นไม่ได้เกิดทางมโนทวาร ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิตเป็น "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดก่อนกุศล และอกุศล ไม่ว่าจะทวารไหนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ มโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน แต่ถ้าเป็นทางปัญจทวารไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจเกิดก่อนชวนะ หมายความว่า เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว กุศลหรืออกุศลของแต่ละคนจะเกิดตามการสะสมบังคับไม่ได้ เลือกไม่ได้

    ใครๆ ก็อยากจะมีกุศลมากๆ มีอกุศลน้อยๆ แต่ลองพิจารณาว่า วันหนึ่งตั้งแต่เช้ามา เช่นวันนี้อกุศลเกิดมาก หรือกุศลเกิดมาก นี่คือความเป็นผู้ตรง นี่คือความเป็นผู้เข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่ตรงต้องเป็นไปเพื่อโลกุตตรธรรม หมายความว่าต้องตรงตั้งแต่ขั้นที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ตรงตามชื่อ ชื่อเราพูดได้ แต่ลักษณะของจิตที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนะ แต่ละคนยากจะรู้ เป็นอกุศลมากเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ ใช่ไหม จะเป็นกุศลขณะนั้นก็จะรู้หรือไม่รู้ ว่าไม่ใช่เรา นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องเป็นเรื่องของการศึกษาธรรมให้เข้าใจโดยละเอียดจริงๆ เพี่อประโยชน์

    ตอนนี้วาสนาก็กำลังจะเข้ามาแล้วใช่ไหม ปกติก็มีอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง จิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ คือมโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ ทำได้ ๒ กิจ จิตบางจิต ต่อไปจะทราบว่าทำได้กิจเดียวหรือ ๒ กิจ หรือ ๓ กิจ หรือ ๔ กิจ หรือ ๕ กิจ

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิตก็คือทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ เมื่อทำอาวัชชนกิจ หมายความว่า เป็นวิถีจิตแรกทางใจ เพราะคิดถึงที่ใช้คำว่า รำพึงถึงโดยที่แปลตรงๆ แต่ความหมายก็คือว่ารู้อารมณ์ที่กระทบใจ

    ผู้ฟัง ก็ยังสงสัยอยู่ว่าถ้าเกิดในลักษณะของปัญจทวารทั้ง ๕ แล้วมโนทวารคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรากำลังกล่าวถึงทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร จนกระทั่งมาถึงจิตที่เกิดต่อจากสันตีรณะ ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่จิตนี้ต้องเกิดแล้วก็ทำกิจนี้ แต่ต่อไปจะทราบว่า จิตที่ทำกิจนี้ เป็นประเภทเดียวกับจิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร จะเรียกชื่อก็ได้ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่ต้องมีจิตเกิดแล้ว แล้วก็ทำกิจนี้ด้วย แต่เนื่องจากว่าจิตนี้ที่ทำกิจนี้ เป็นจิตประเภทเดียวกับจิตที่ทำอาวัชชนกิจเกิดเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น จะเรียกขณะที่กำลังทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารว่า "มโนทวาราวัชชนจิต" เพราะทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร ถ้าทำโวฏฐัพพนกิจ ก็เรียกโวฏฐัพพนจิตได้ เพราะทำกิจนี้ แต่เนื่องจากจิตที่ทำกิจนี้เป็นจิตประเภทเดียวกับจิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร เหมือนกันเลย โดยประการต่างๆ เพราะคือจิตประเภทเดียวกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำกิจนี้ทางปัญจทวารก็เรียกว่า โวฏฐัพพนกิจ ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ

    ผู้ฟัง โดยชาติไม่ใช่วิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นกิริยา มีเจตสิกเกิดเท่ากัน เกิดที่หทยวัตถุเหมือนกัน เมื่อพูดถึงที่เกิดจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าจิตนี้ จะเรียกจิตที่เกิดต่อจากสันตีรณะว่าอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้แต่ว่าทำกิจนี้ เมื่อทำกิจนี้จะเรียกว่าโวฏฐัพพนกิจ จะเรียกจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจว่าโวฏฐัพพนจิตก็ได้ ไม่ผิด แต่เนื่องจากจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจที่เราเรียกว่าโวฏฐัพพนจิตเป็นจิตประเภทเดียวกับมโนทวาราวัชชนจิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าจิตนี้มี ๒ กิจ เป็นจิตประเภทเดียวแต่ทำกิจได้ ๒ อย่าง คือ ถ้าทำกิจทางปัญจทวาร ก็ทำโวฏฐัพพนกิจ ถ้าทำกิจทางมโนทวารเป็นอาวัชชนกิจ จะทำโวฏฐัพพนกิจไม่ได้ทางมโนทวาร และจะทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารไม่ได้

    ผู้ฟัง มนสิการที่ท่านอาจารย์กล่าว เป็นตัวเดียวกับมนสิการเจตสิกหรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ