พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 101


    ตอนที่ ๑๐๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    อ.อรรณพ แม้พระอรหันต์เอง ท่านดับกิเลสได้แล้วเป็นสมุทเฉท แต่ท่านก็ยังต้องมีการดำเนินชีวิตของท่านตราบเท่าที่ยังไม่ปรินิพพาน ฉะนั้นก็ต้องมีการประกอบกิจภาระในชีวิตประจำวัน ท่านก็ต้องเรียนรู้การเย็บจีวร การดำเนินชีวิตของท่าน ซึ่งในขณะนั้นชวนจิตเป็นกิริยาเพราะไม่มีเยื่อใยของการที่อกุศลจะเกิด และไม่มีการที่กุศลจะเกิดขึ้นอีก เพราะว่ากุศลสูงสุดนั้นก็คืออรหัตมรรค เกิดแล้วดับกิเลสได้หมดแล้ว แต่ว่าการที่ท่านจะมีการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านก็มีการสะสมอัธยาศัยที่จะทำในสิ่งนั้น มีการฝึกหัดได้ก็เพราะว่าชวนจิตทำกิจชวนะ ต่างจากอเหตุกกิริยาซึ่งเป็นเพียงกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เกิดขึ้นเพื่อกระทำทางให้จิตเกิดขึ้นทางปัญจทวารบ้าง ทางมโนทวารบ้าง หรือหสิตุปาทจิตซึ่งเป็นจิตที่แย้มยิ้มที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่ถ้าเป็นสเหตุกกิริยาก็มีการสะสมอัธยาศัยในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตเหลือ นั่นคือกิจของชวนะ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์อัธยาศัยต่างกันใช่ไหม แล้วชีวิตประจำวันของท่านต่างกันด้วยหรือไม่ หรือว่าเหมือนกันเป็นรูปแบบไปหมด ไม่เหมือน ฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านแต่ละรูปในแต่ละวันก็ต้องสะสมทำให้มีการปรากฏที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมขณะนั้นก็เป็นมหากิริยาจิต สิ่งที่ท่านได้สะสมมาที่จะกล่าว คำพูดของท่านใน ๗ ขณะกับคำพูดของพระภิกษุรูปอื่นใน ๗ ขณะจะต่างกันหรือเหมือนกัน หรือแม้แต่ความคิดของเราในขณะนี้ ซึ่งทุกคนก็คิด แต่ความคิดแม้ว่าจะเป็นกุศลก็ต่างกัน ๗ ขณะๆ นี่ต่างกันหมด เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วชีวิตของท่านก็ต่างกัน นี่ดูจากภายนอกคือชีวิตประจำวัน แต่สภาพจิต ๗ ขณะๆ ที่จะทำให้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างนั้นก็ต้องต่างกันด้วย จะให้ความคิดของท่านพระสารีบุตร ๗ ขณะ มาเป็นความคิดของท่านพระมันตารีบุตร ๗ ขณะก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    จากคำถามที่ว่ากิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะกับกิริยาจิตที่เป็นสเหตุกะต่างกันอย่างไร ก็ลองคิดถึงจิต ๔ ชาติ ถ้าจะเข้าใจก็ต้องไล่เรียงมาตามลำดับว่าจิตมี ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ กุศล และอกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล เพราะฉะนั้นวิบากก็จะมีกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก แต่จะเป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบากโดยชาติคือเป็นผล ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า แต่เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว และสำหรับกิริยาจิตไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก นี่ก็แสดงให้เห็นถึงจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพื่อทำกิจการงานเฉพาะของตน

    จะเห็นได้ว่าสำหรับปฏิสนธิจิต และภวังคจิตเป็นวิบากแน่นอน แต่เวลาที่จะมีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากภวังค์ซึ่งไม่รู้อารมณ์อะไรในชาตินี้เลย เป็นจิตชาติวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมแล้วจะมีอารมณ์อื่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะกำลังเป็นวิบากมีปัจจัยที่ทำให้ภวังค์นั้นเป็นวิบากไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการที่อารมณ์กระทบกับปสาทเป็นปัจจัยให้จิตอีกชาติหนึ่งเกิด คือปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต แต่กิริยาจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ ยังไม่ได้รู้เลยว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร จิตเห็นก็ยังไม่ได้เกิด แล้วจะให้มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นไปไม่ได้ แล้วจะให้มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าวิบากจิตมี ๒ อย่าง คือทั้งที่เป็นอเหตุกะ และ สเหตุกะ กล่าวถึงวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม เมื่อเกิดขึ้นประกอบด้วยเหตุก็มี ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี นี่กล่าวถึงวิบาก

    เพราะฉะนั้น เมื่อถึงกุศล และอกุศลไม่ประกอบด้วยเหตุมีไหม วิบากมี ๒ ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี ประกอบด้วยเหตุก็มี แต่กุศล และอกุศลไม่ประกอบด้วยเหตุมีไหม ไม่มี ถ้าประกอบด้วยอกุศลเหตุจึงเป็นอกุศลจิต คือประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แล้วแต่จะประกอบด้วยโมหะกับโลภะ หรือโมหะกับโทสะ แต่ต้องมีเหตุที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วยจิตนั้นจึงเป็นอกุศล และสำหรับกุศลไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีไหม ไม่มี ต้องมีโสภณเหตุคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดด้วย แต่ก็ต่างกับทางฝ่ายอกุศล เพราะว่าทางฝ่ายกุศลมี อโลภะ อโทสะ เกิดร่วมกัน แต่ไม่มีอโมหะคือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ ในเมื่อทางฝ่ายของกุศลเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดก็จะมีเหตุที่เกิดร่วมด้วยตามสมควรที่กับวิบากนั้นๆ ตรงนี้เราผ่านมาแล้วทั้งหมด เพียงแต่เราจะมาคิดกันอีกว่าวิบากจิตที่เป็นอเหตุกะก็มี สเหตุกะก็มี แต่จิตที่เป็นกุศลต้องเป็นสเหตุกะเท่านั้น และจิตที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นสเหตุกะเท่านั้น แต่สำหรับกิริยาที่เป็นสเหตุกะก็มี ที่เป็นอเหตุกะก็มี และถ้าทำกิจเพียงอาวัชชนกิจ หลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับ ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเหตุเลย โดยเหตุโดยผล ยังไม่ทันจะมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตประเภทนี้จึงเป็นอเหตุกะ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกจิต เป็นกิริยาจิตแต่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง อนุสัยกิเลสไม่มีแล้วถึงทำให้มีกิริยาจิตเกิดขึ้นกับพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตของคุณวิจิตรมีอนุสัยหรือไม่ ถ้าไม่มีเลยหลังจากนั้นอกุศลใดๆ ก็เกิดไม่ได้เลยเพราะไม่มีแล้ว ฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิตไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลยเพราะยังไม่ทันจะต้องมีการเห็น การได้ยินอะไรเลยทั้งสิ้น จะให้มีเหตุอะไรเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ใช่ไหม แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตมีอนุสัยกิเลสหรือไม่

    ผู้ฟัง ยังคงมีอนุสัยกิเลส

    ท่านอาจารย์ สำหรับใครที่มี

    ผู้ฟัง ปุถุชน

    ท่านอาจารย์ คนที่ยังไม่ได้ดับกิเลสก็ยังมีอนุสัยกิเลส แต่คนที่ได้ดับกิเลสหมดแล้วก็ไม่มีอนุสัยกิเลส

    ผู้ฟัง เป็นอเหตุกะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ สำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ก็ไม่มีอนุสัยกิเลสในประเภทที่ได้ดับแล้ว

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะเป็นอเหตุกะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ก็ยังมีอนุสัยขวางอยู่

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้การศึกษาต้องศึกษาโดยละเอียด และให้เข้าใจจริงๆ แม้จิตประเภทเดียวเช่น สัมปฏิจฉันนจิตเป็นชาติอะไร มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่ สัมปฏิจฉันนะเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง เป็นชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกิริยาจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมี ๓

    ผู้ฟัง และยังมีอนุสัยอยู่

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับอนุสัย แต่ผู้ที่ดับอนุสัยแล้วจะมีอนุสัยอยู่อีกต่อไปไม่ได้เลยเพราะดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็คงจะต้องเข้าใจเรื่องของกิริยาจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าพูดถึงไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมี ๓ ประเภทเท่านั้นจำได้เลย นอกจากนั้นแล้วมีเหตุเกิดร่วมด้วยทั้งหมด และเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์เท่านั้น แต่สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีแรกทางปัญจทวาร และทางมโนทวารไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมีกิริยาจิต ๒ ดวงเท่านั้นมากกว่านั้นไม่ได้

    สำหรับเหตุ ๖ เมื่ออกุศลเหตุเกิดเมื่อใด จิตนั้นเป็นอกุศลอย่างเดียว เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ เป็นกุศลไม่ได้ นี่คืออกุศลเหตุ ซึ่งชื่อก็บอกชัดว่าอกุศลเหตุ เพราะฉะนั้นเมื่อโลภะ โทสะ โมหะ เกิดเมื่อใด ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดไม่มีข้อสงสัย

    สำหรับโสภณเหตุไม่ได้เจาะจงว่าชื่อกุศลเหตุ แต่ใช้คำว่า “โสภณเหตุ” เพราะฉะนั้นโสภณเหตุเกิดกับวิบากจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ และกิริยาจิตก็ได้ เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์จะมี อโสภณเหตุได้ไหม ไม่ได้ ต้องมีโสภณเหตุเท่านั้น ฉะนั้นเวลาที่กิริยาจิตของพระอรหันต์เกิด ขณะใดที่ประกอบด้วยโสภณเหตุ ๒ เหตุก็มี ขณะใดที่ประกอบด้วยโสภณเหตุ ๓ เหตุก็มี กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีไหม มี อเหตุกกิริยาเกิดกับใครที่ไหน เมื่อไหร่ ก็คือ อเหตุกกิริยานั่นเองทำกิจนั้น คือ ทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร คือปัญจทวาราวัชชนจิต ส่วนทางมโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิต และพิเศษสำหรับพระอรหันต์เท่านั้นคือหสิตุปาทะซึ่งเป็นอเหตุกะเป็นกิริยาจิตซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยที่ทำให้กิดการแย้มหรือการยิ้ม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการแย้มหรือการยิ้มด้วยจิตอื่น เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์จะมีทั้งการแย้มยิ้มที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และการแย้มยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุ

    กล่าวถึงกิริยาจิตของพระอรหันต์ ตอนนี้ก็จะพูดถึงบุคคลพิเศษสุดซึ่งไม่มีกิเลสเลย แต่ธรรมก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่พระอรหันต์มีกิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุทำชวนกิจ ทำกิจอื่นได้ไหม ไม่ได้ ขณะใดที่กิริยาจิตประกอบด้วยเหตุเกิดขึ้น สำหรับคนธรรมดาก็จะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต ขณะที่กิริยาจิตของพระอรหันต์เกิดประกอบด้วยโสภณเหตุ ประกอบด้วยอโสภณเหตุได้ไหม?ไม่ได้ ฉะนั้นต้องประกอบด้วยโสภณเหตุเท่านั้นเมื่อเป็นสเหตุกะ และกิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เป็นสเหตุกะประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภะ และอโทสะก็มี ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกก็มี และขณะที่เกิดขึ้นเป็นสเหตุกะประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็มี คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ

    เพราะฉะนั้นสเหตุกะของพระอรหันต์จะประกอบด้วยเหตุ ๒ และเหตุ ๓ ต่างวาระกัน เมื่อกล่าวถึงพระอรหันต์กับกล่าวถึงเหตุ เราก็จะต้องมีความเข้าใจว่าอเหตุกกิริยาไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ก็ตาม ถ้ากล่าวถึงจิต อเหตุกกิริยาจิตมี ๓ แต่ถ้ากล่าวถึงบุคคลต้องเว้นแล้ว ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิต ๒ ที่เป็นอเหตุกะ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต เมื่อกล่าวถึงบุคคลก็ต่างกัน และสำหรับพระอรหันต์มีอเหตุกกิริยาจิตหรือไม่ ต้องมีด้วย แต่ท่านมีทั้ง ๓ เลย มีทั้งปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต และ หสิตุปาทจิต

    ผู้ฟัง เรียนถามว่าอเหตุกะของคนธรรมดากับอเหตุกะของพระอรหันต์ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อเหตุกกิริยาจิตของปุถุชนมีได้ ๒ แต่อเหตุกกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์มีได้ทั้ง ๓ นี่กล่าวถึงบุคคล แต่ถ้ากล่าวถึงสภาพของจิต อเหตุกกิริยาไม่ได้เป็นของใครเลย เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็มีสภาพเป็นอเหตุกกิริยา แม้ว่าจะเป็นอเหตุกกิริยาจิตของพระอรหันต์ อาวัชชนจิตคือปัญจทวาราวัชชนจิตก็ประกอบด้วยเจตสิกเท่ากัน และก็จะทำกิจตามสมควรว่าถ้าเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ว่าจะเป็นของพระอรหันต์หรือของใครก็ตามก็ต้องเกิดทางปัญจทวาร จะเกิดทางมโนทวารไม่ได้

    ผู้ฟัง อเหตุกะของคนธรรมดากับอเหตุกะของพระอรหันต์เหมือนกันด้วย ต่างกันด้วย แต่ของพระอรหันต์หมดอนุสัย แต่คนธรรมดายังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แล้วถ้าเป็นพระอริยบุคคลก็ดับอนุสัยไปตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ถึงจะหมดอนุสัย แม้ว่าจะเป็นอเหตุกกิริยาเหมือนกันก็ตาม

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์มีจิต ๒ ชาติ ลืมไม่ได้เลย เหตุผลก็คือว่าขณะเห็นเป็นวิบาก ขณะได้ยินเป็นวิบาก พระอรหันต์ก็เห็น ก็ได้ยิน จะให้ไม่มีวิบากจิตได้อย่างไร แล้วก็ยังรวมวิบากอื่นๆ ที่เรากล่าวถึงแล้ว เช่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็เป็นวิบาก ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ความเข้าใจที่เป็นสภาพธรรมเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์มีจิต ๒ ชาติ คือ วิบากจิตกับกิริยาจิต ไม่มีกุศลเลยหลังจากที่เป็นพระอรหันต์แล้วเพราะว่าดับอนุสัยหมด ส่วนที่เรายังมีกุศลบ้างอกุศลบ้าง ก็เพราะเรามีการสะสมทางฝ่ายกุศล และ ฝ่ายอกุศล ยังไม่ได้ดับทางฝ่ายอกุศลเลย เพราะฉะนั้นก็มีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด

    สำหรับพระอรหันต์เมื่อดับอกุศล ดับอนุสัย ไม่มีปัจจัยที่จะให้อกุศลใดๆ เกิดเลย กุศลก็ไม่เกิดเหมือนกัน เพราะว่าได้ดับพืชเชื้อของอนุสัยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงไม่มีอกุศลจิต และกุศลจิต แต่ต้องมีวิบากจิต แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น กุศลใดๆ ทั้งหมดที่ได้กระทำไม่ใช่กิริยาจิตเพราะเหตุว่ายังเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้าได้ แต่สำหรับพระอรหันต์กุศลทั้งหลายที่เกิดกับปุถุชนอันทำให้เกิดวิบากนั้นไม่มีอีกแล้วในพระอรหันต์ เพราะว่าขณะนั้นเป็นกิริยาจิต จึงกล่าวว่ากิริยาจิตไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า หลังจากปรินิพพานแล้วก็ไม่มีจิต เจตสิกเกิดอีกเลย แต่พระอรหันต์เมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะมีจิตเพียง ๒ ชาติซึ่งไม่เปลี่ยน อย่างไรๆ ก็เปลี่ยนไม่ได้ จะบอกว่าเหลือชาติเดียวก็ไม่ได้ต้องมีทั้งวิบากจิต และกิริยาจิต

    อ.กุลวิไล มีผู้ที่ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา มีคำถามว่า ทำไมขณะที่จับไมโครโฟนจึงเป็นโมหมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยคือเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อย่างรวดเร็ว เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เราอาจจะอ่านตำราแล้วก็ได้ฟังว่าหลังจากที่เห็นแล้วต้องเป็นกุศลหรืออกุศล หลังจากที่ได้ยินดับไปแล้ว เราไม่พูดโดยละเอียดก็ต้องเป็นกุศล และอกุศล แล้วขณะนี้เป็นอะไร เห็นไหม เห็นแล้วเราก็รู้คร่าวๆ ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ว่าขณะนี้เห็นแล้วแน่นอน แล้วหลังจากเห็นเป็นอะไร ไม่รู้ แล้วไม่รู้เป็นอะไรคะ

    อ.กุลวิไล เป็นโมหมูลจิต ได้อธิบายไปบ้างแล้วว่าจริงๆ ในชีวิตประจำวันถ้าไม่เป็นไปในกุศลก็ต้องเป็นอกุศลแน่นอน ฉะนั้นขณะที่เรากระทำทางกายทางวาจา ขณะที่เอื้อมมือไปหยิบสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยโลภะบ้าง หรือถ้าหากไม่ได้เป็นเพราะความติดข้องหรือต้องการในสิ่งนั้น ก็เป็นไปด้วยความที่ไม่รู้ในอารมณ์ที่ปรากฏ ฉะนั้นในขณะที่เราไม่รู้ในอารมณ์ที่ปรากฏ แม้ว่าเราเอื้อมมือไปหยิบสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่รู้ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโมหมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าทางฝ่ายอกุศลจิตมี ๓ ประเภท คือ โลภมูลจิต ๘ ประเภท โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ อ่านตำราทุกตำรา หนังสือทุกเล่ม ก็ทราบว่าเป็นอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงต้องคิดโดยละเอียดว่าเราสามารถจะรู้ได้จริงๆ หรือไม่ ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ว่าทุกคนไม่ว่าใคร เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ภวังคจิตเกิดต่อ วิถีจิตแรกที่จะเกิดขึ้นที่ไม่ใช่ภวังค์ต้องเป็นทางมโนทวาร แล้วก็เป็นโลภมูลจิต ความติดข้องในอารมณ์นั้นแล้ว ก็ลองคิดดูว่าเราจะกล่าวได้ไหม โดยชัดเจนว่าหลังจากที่เห็นแล้วจะเป็นโมหะหรือจะเป็นโลภะ เพราะฉะนั้นจึงต้องทรงแสดงเรื่องของเวทนาซึ่งเกิดร่วมกับจิตนั้นให้รู้ว่าขณะใดเป็นโลภมูลจิต ขณะใดเป็นโทสมูลจิต ขณะใดเป็นโมหมูลจิต ถ้าโลภมูลจิตก็คือมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นมูลหรือเป็นเหตุประกอบกับจิตนั้น ถ้าโทสมูลจิตก็คือจิตนั้นมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นมูลประกอบกับจิตนั้น หรือถ้าเป็นโมหมูลจิตก็คือขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีโลภเจตสิก และไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สำหรับโลภะ และ โมหะจะมีความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนาไม่สุขไม่ทุกข์เกิดร่วมด้วย แต่สำหรับโมหมูลจิตจะมีเฉพาะอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว สำหรับโลภมูลจิตจะเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้หรือโสมนัสเวทนาก็ได้ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันเวลาที่เราชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอะไร ความรู้สึกโสมนัสใช่ไหมถ้าเห็นสิ่งที่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ได้ยินเสียงที่ชอบทางหู ได้กลิ่นที่ชอบทางจมูก ทางลิ้นก็รสอร่อย ทางกายสิ่งที่กระทบสัมผัสนั่นก็สบาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจะต้องค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ แม้ในขั้นของการศึกษาก็ต้องเปรียบเทียบว่าแท้ที่จริงแล้วจะรู้จริงๆ ได้ไหมว่าขณะไหนเป็นโลภมูลจิต หรือว่าขณะไหนเป็นโมหมูลจิต ยกตัวอย่างเรื่องที่ทรงแสดงว่าหลังจากที่เกิดแล้ว วิถีจิตแรกต้องเป็นมโนทวารวิถี แล้วก็เป็นโลภมูลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่ทรงแสดงไว้ต่างๆ ก็ทำให้เราเปรียบเทียบว่าแท้จริงแล้วแม้ว่าสภาวธรรมจะเป็นแบบนั้น แต่จะรู้จริงได้ด้วยปัญญาต้องอบรมตามลำดับขั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม รูปธรรม เราจะไปรู้ละเอียดถึงธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดไม่ได้ แม้แต่ที่กล่าวว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตหรือว่าเป็นโลภเจตสิก เพราะขณะนั้นก็มีทั้งโลภเจตสิก และจิตด้วย ไม่ได้มีแต่โลภเจตสิกโดยไม่มีจิต แต่ว่าลักษณะใดปรากฏที่พอจะรู้ได้ เช่น ค วามรู้สึกถ้าตกใจ หรือกลัว หรือเสียใจ หรือความรู้สึกเจ็บปวด ขณะนั้นลักษณะที่ปรากฏให้รู้เป็นอะไร เราคิดถึงสภาพความเจ็บหรือว่าเราไปคิดถึงว่าจิตขณะนั้นประกอบด้วยความรู้สึกเจ็บ นี่ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาเท่านั้นที่จะค่อยๆ อบรมจนกว่าจะสามารถรู้ตรงตามที่ทรงแสดงไว้ ว่าเป็นลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยความรู้สึกนั้น หรือเป็นลักษณะของความรู้สึกนั้นที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ให้เรารู้จักชื่อไว้ก่อน เพียงแต่ว่าเราเข้าใจได้ว่ามีจริงตามที่ทรงแสดง แต่จะรู้ ที่ใช้คำว่ารู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากำลังมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอารมณ์จริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ ถ้าขณะที่ความรู้สึกเจ็บปรากฏไม่ต้องไปนั่งนึกว่านี่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ หรือจิตที่กำลังรู้ขณะนั้นเป็นกายวิญญาณ แล้วจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะขณะนั้นดับไปหมดแล้ว สภาพธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นการที่รู้จริงๆ ต้องไม่มีชื่อ กำลังมีเฉพาะลักษณะนั้นปรากฏ ถ้าคิดถึงชื่อ ขณะนั้นก็คือว่าไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าลักษณะของสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพียงอาศัยระลึก ก็ดับแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ