พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 105


    ตอนที่ ๑๐๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เกิดขึ้น จิตมีอารมณ์ไหม มี แต่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ขณะจิตแรกที่เป็นวิบากทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติของชาติก่อน อารมณ์ไม่ปรากฏเลย เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกัน คือวิบากของกรรมนั้นเองเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ คือภวังค์จะเกิดสืบต่อดำรงภพชาติจนถึงจิตขณะสุดท้ายทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะปฏิสนธิก็ดับไปแล้ว ขณะที่เป็นภวังค์คือขณะที่หลับสนิท โลกไม่ได้ปรากฏเลย อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ กุศลจิต และอกุศลจิตก็ไม่มี เพราะว่าขณะนั้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ซึ่งอารมณ์ของปฏิสนธิจิตจะต้องเป็นอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ จึงไม่ปรากฏ แต่กรรมก็ไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ทำให้เกิดแล้วก็เป็นภวังค์ แค่นั้นไม่พอใช่ไหม ไม่พอ ต้องมีทางที่กรรมจะให้ผล

    เพราะฉะนั้นก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ตา คือ จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน หู คือ โสตปสาทรูปเป็นส่วนที่สามารถกระทบเสียงไม่ใช่ใบหูทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะรูปที่มีคุณสมบัติที่สามารถกระทบกับเสียงถ้าเป็นโสตปสาท ถ้าเป็นจักขุปสาทก็สามารถกระทบกับรูป วัณณะที่มีสีสันต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเป็นกลิ่น ฆานปสาทก็กระทบกับกลิ่น ถ้าเป็นรส ชิวหาปสาทก็กระทบกับรส ถ้าเป็นกายปสาทก็กระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว นี่คือทางหรือทวารของวิบากที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ขณะนี้ยังไม่ถึงกุศล อกุศล เป็นแต่เพียงกรรมที่ได้กระทำในชาติทั้งหลายที่ได้สืบต่อมาจนถึงชาตินี้ มีโอกาสที่กรรมใดจะให้ผลก็ต้องมีทางของกรรมนั้นๆ ที่จะให้ผลทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าจิตใดเป็นเหตุ กุศล อกุศล จิตใดเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นให้ทราบว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วนานแสนนาน ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลในชาตินี้โดยเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิบาก ยังไม่ถึงขณะที่เป็นกุศล อกุศล ซึ่งเมื่อเห็นแล้วกุศลหรืออกุศลเกิด ไม่ใช่วิบาก ถ้ามีกำลังก็กระทำกรรมซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากต่อไป

    ผู้ฟัง ขณะที่เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เห็น แต่หลังจากเห็นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศลซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากข้างหน้า

    ผู้ฟัง เมื่อเราขับรถมา เราก็ถูกรถชนโครม ก็ไม่ใช่จากตา จากหู จากจมูก จากลิ้น จากกาย ตรงนี้ที่อธิบายไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ถูกรถชนเห็นไหม เห็น ขณะนั้นเป็นอะไร เป็นวิบากจิต ได้ยินเสียงรถชนไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นวิบาก เมื่อเห็นแล้วตกใจไหมที่มีการชนขึ้น

    ผู้ฟัง ตกใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตเป็นเหตุแล้ว ต้องแยกโดยละเอียดเลย ถ้าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ก็มีรูปกับนามเท่านั้นเองที่เกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่เคยขาดนามธรรม และรูปธรรม นี่เป็นเหตุที่เราต้องรู้ชัดเจนว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่มีนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง ตามความรู้สึกของผม อาจารย์เคยพูดหลายครั้งแล้วว่า "เห็น" ก็เป็นวิบาก "ได้ยิน" ก็เป็นวิบาก แต่พอรถชนโครม ไม่มีเห็น ก็เป็นวิบากเหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีวิบากไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รถยังไม่ชนเลยก็มี

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เห็นเป็นวิบาก ขณะใดที่ได้ยินก็เป็นวิบาก แต่เวลาคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่วิบาก เช่น เป็นรถชน เป็นอุบัตเหตุ เป็นใครชน รถเสียแค่ไหน นี่ไม่ใช่วิบาก

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อรถชนแล้วเราเจ็บ เราโกรธ เราโมโห ก็ยกปืนขึ้นมาจะยิงเขาก็เป็นกรรมสร้างวิบากอีก

    ท่านอาจารย์ รถชนเราเจ็บเป็นวิบากหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ โกรธเป็นวิบากหรือไม่ ตกใจโกรธ

    ผู้ฟัง ตกใจโกรธเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ คิดว่าจะยิงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นอกุศลอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องแยก เราถึงจะรู้ได้จริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือกรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้นที่ถูกรถชนแล้วเจ็บเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมที่จะให้ผลทางกายก็ทำให้มีการกระทบกายปสาท และความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นทุกขเวทนา เพราะฉะนั้นตัดตอนเลย วิบากคือวิบาก กุศล อกุศลก็คือกุศล อกุศล วิบากจะเป็นกุศลไม่ได้ และไม่ปนกันด้วย จริงๆ แล้วถ้าทราบว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นวิบาก ต่อจากนั้นก็เป็นกุศล และอกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศล และอกุศลก็เป็นกิริยา

    ผู้ฟัง แม้เรียนธรรมแล้ว เราได้ยินในสิ่งซึ่งเราไม่ชอบ ก็อดโกรธไม่ได้แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นผลของกรรมเป็นวิบากทางหู แต่เรายังจะโต้ตอบเขาไปอีก ก็ไปสร้างวัฏฏะคือกิเลส กรรม วิบากต่อไปอีก ขอให้อาจารย์ช่วยอนุเคราะห์

    ท่านอาจารย์ เราขัดเกลา หรือ ปัญญาขัดเกลา

    ผู้ฟัง คิดไม่ทัน ก็ต้องไปเกิดตรงนั้นอีก แล้วไปเกิดมากกว่าเก่าด้วย ก็ไปสร้างกรรมต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อจะให้ทัน ฟังธรรมเพื่อจะให้ไม่โกรธ หรือ ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกว่าธรรมเกิดแล้วเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่ขณะนี้ไม่ใช่คิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องให้เราไปคิด ไม่ใช่เป็นเรื่องให้เราไปทำ แล้วเมื่อสักครู่ก็มีเรื่องการฟัง และการโกรธ ที่จริงต้องแยกแล้ว ขณะที่ได้ยินเป็นวิบาก ขณะที่โกรธไม่ใช่วิบาก ปนกันไม่ได้เลย นี่เป็นเรื่องของการจะต้องเข้าใจชัดเจน

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่เรียนแล้วก็ยังสับสนอยู่อย่างนั้น ในขณะนั้นคือหลงลืมสติไปแล้ว เราคิดไม่ออกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นฟังไม่สามารถจะดับกิเลสได้เลย ต้องทราบว่าแม้จะมีความเข้าใจขั้นฟังว่าธรรมเป็นอย่างนี้นี่คือขั้นเข้าใจ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่ไม่ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ จนกว่าจะมีความเข้าใจถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม และความรู้ก็เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมได้ ไม่ใช่ไปพยายามไม่ให้โกรธ หรือว่าทำอย่างไรถึงจะทันอย่างนั้นไม่ถูกต้อง ธรรมเป็นอย่างไรก็เข้าใจความจริงในขณะนั้นเพราะเกิดแล้วเป็นแล้วอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เราเป็นสภาพธรรม ก็ต้องฟังด้วยความตรงว่าธรรมก็เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็พูดได้ แต่ถึงตอนนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นเรา เราทำอะไรไม่ได้เลย คิดว่าเราจะทำอะไรได้ผิดหมด

    อ.อรรณพ ก็เป็นปัญญาที่ต่างขั้นกันด้วย เพราะว่าปัญญาแค่การฟังจากการศึกษาปริยัติซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ปัญญาในขั้นที่จะรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นเพียงเห็นเท่านั้น ปัญญาอย่างนี้ก็ยังไม่เกิดพร้อมสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นการที่จะมีความมั่นคงว่าไม่ใช่เราก็เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นเพียงขั้นที่ศึกษา และค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง ขณะที่อกุศลที่เกิดขึ้นเป็นชวนะ พอจะระลึกได้ว่าลักษณะสภาพของความโกรธเป็นอกุศลจิต แต่ว่าเรายังมีความอดทนต่อความโกรธ ไม่ได้ล่วงไปในทางกาย และวาจา เช่นนี้จะเป็นสิ่งที่สะสมให้เกิดวิบากที่เป็นอกุศลวิบากหรือไม่

    ท่านอาจารย์ อกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก อกุศลกรรมคืออกุศลจิตแต่ต้องเป็นอกุศลจิตที่กระทำถึงขั้นอกุศลกรรม ถ้าคุณสุกัญญาเห็นดอกไม้สวยเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นกรรมอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลจิต มโนกรรมเพราะคิดว่าสวย

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นทุกขณะเป็นอกุศลกรรมที่จะทำให้วิบากเกิดขึ้นทั้งหมดหรือ

    ผู้ฟัง เพราะเห็นว่าแค่สวย

    ท่านอาจารย์ เบียดเบียนใครหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่เบียดเบียน

    ท่านอาจารย์ กระทำทุจริตกรรมหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่กระทำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็สะสมเป็นอัธยาศัย แล้วแต่ว่าจะเป็นคนที่ชอบทุกสิ่งทุกอย่างหรือว่าขุ่นเคืองใจไปหมดตามการสะสม หรือว่าเป็นผู้ที่มีเมตตากรุณาก็ตาม ก็สะสมด้วย แต่ถ้าถึงระดับขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถครบองค์ก็สามารถจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ ถ้าเป็นอกุศลกรรมบถไม่ครบองค์ก็สามารถที่จะให้ผลหลังจากปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าเพียงอกุศลจิตรึกุศลจิตก็ยังไม่ให้ผลใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ดับไปแล้วก็สะสมสืบต่อ ยังไม่ได้มีการกระทำใดๆ ต้องรู้ด้วยว่าขณะไหนเป็นกรรม เช่น การฟังธรรมเป็นกรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง ฟังธรรมสะสมปัญญาความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นการกระทำทางใจ แต่ก็เป็นกรรม อยากฟังแต่ไม่ฟัง ไม่เหมือนกันแล้วใช่ไหม แล้วฟังแล้วเข้าใจกับฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็เป็นความละเอียดของจิตซึ่งเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเราศึกษาเรื่องจิตเพื่อให้รู้เท่าที่จะรู้ได้ว่าจิตขณะไหนเป็นวิบาก จิตขณะไหนเป็นกุศล อกุศล จิตขณะไหนกระทำกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก

    ผู้ฟัง ถ้า เราโกรธ และเราก็คิดที่จะทำ เช่นนี้จะเป็นทางมโนกรรมหรือยัง

    ท่านอาจารย์ แล้วทำหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ทำ เป็นทางมโนกรรมแล้วใช่ไหมเพราะเราคิด

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วศึกษาละเอียดไม่ว่าขณะใดที่อกุศลจิตรึกุศลจิตเกิดขึ้นแม้ทางปัญจทวาร เจตนาขณะนั้นเป็นกรรม แต่จะต้องรู้ว่าเป็นกรรมที่เป็นกรรมบถหรือไม่

    ผู้ฟัง มาฟังธรรมคิดว่าเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ง่ายที่สุดคือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เป็นวิบาก เห็นขณะไหน ชั่วเห็นขณะเห็นเป็นวิบาก ชั่วขณะที่ได้ยินเป็นวิบาก ชอบหรือไม่ชอบในเสียงนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว เพราะฉะนั้นปนกันไม่ได้เลย ก็แยกจิต ๕ หรือ ๑๐ ประเภท คือทวิปัญญวิญญาณ เป็นกุศลวิบากหนึ่ง อกุศลวิบากหนึ่ง

    ผู้ฟัง หลังจากเห็น หลังจากได้ยิน จากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล และอกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นที่คุณสุกัญญาว่ามาฟังธรรม ขณะที่ได้ยิน แม้แต่ได้ยินธรรมเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ขณะได้ยินเสียงเป็นวิบาก ขณะเห็นเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ถ้าแสดงธรรมดี ฟังแล้วชื่นใจก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วไม่ถูกใจ หรือพูดผิด ก็เกิดโทสะก็เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็นขณะนั้น เฉพาะขณะที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นวิบาก ชั่วขณะที่เสียงปรากฏ ยังไม่รู้เลยว่าคำอะไร เพียงเสียงปรากฏก็เป็นวิบาก ว่าจะให้ได้ยินเสียงนั้นไม่ใช่เสียงอื่น มีกรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตได้ยินเสียงนั้น มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้เห็นสิ่งนี้ มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้ได้กลิ่น มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้ลิ้มรสนั้น มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงเท่านี้ยังไม่กล่าวถึงความละเอียดว่าวิบากจิตที่เกิดสืบต่อเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ แต่เท่าที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็คือเมื่อเห็นแล้วจิตที่เกิดต่อเป็นกุศลหรืออกุศล เพียงแค่เห็น เพียงแค่ได้ยิน

    อ.สมพร ส่วนมากจิตที่เกิดต่อเป็นอกุศล ส่วนน้อยเป็นกุศล เราชอบใจในชวนะก็เป็นอกุศล ๗ ขณะ ถ้าเราไม่ชอบใจก็เป็นโทสะอีก ๗ ขณะ เป็นอกุศลตลอดติดต่อกันไป

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์สมพรพูดว่า ๗ ขณะ หมายความว่าเพื่อสะสมต่อไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่แสดงขณะว่ากี่ขณะก็เพื่อให้รู้กิจการงานหน้าที่ของจิตในขณะนั้น เช่น ปฏิสนธิจิตจะมีได้กี่ขณะ ขณะเดียว เพราะทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ก็ต้องเป็นขณะนั้นขณะเดียว เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติโดยทำภวังคกิจ ไม่ใช่ทำทัศนกิจ ไม่ใช่ปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่กิจอื่นเลยนอกจากภวังคกิจ นับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นไม่แสดงจำนวน แต่ปฏิสนธิแสดงเพียง ๑ ขณะเท่านั้น

    ผู้ฟัง ต่อกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต่อกัน ภวังค์ไม่มีการนับได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิถีจิต ขณะนี้ที่มีภวังค์เกิดคั่น วาระหนึ่งระหว่างวาระที่เห็นกับวาระที่ได้ยินก็ไม่ทราบว่ากี่ขณะ เพราะฉะนั้นจึงไม่แสดง แต่ที่แสดง เช่นเวลาที่จะเป็นวิถีจิตหมายความว่าเริ่มที่จะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ถ้ากล่าวโดยย่อก็เหมือนกับว่ากำลังหลับสนิทแล้วตื่นใช่ไหม กำลังหลับสนิทนี่ไม่เห็นไม่ได้ยินอะไรเลย มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต แต่ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างนั้น เกิดมาแล้วจะหลับสนิทไปไม่ว่าจะในภพภูมิไหนเป็นไปไม่ได้เลย ในนรก ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วเป็นภวังค์ก็ไม่ต้องรับผลของกรรมใดๆ ทั้งสิ้นใช่ไหม แต่ต้องมีทางที่กรรมจะให้ผลทำให้วิบากเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม หรือว่ามีการคิดนึกเกิดขึ้นจากการสะสม เพราะบางทีเราก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่เราคิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางใจ ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    จึงแสดงว่าปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิตเพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ และภวังค์ เพราะฉะนั้นทางตาขณะนี้ไม่ใช่ภวังค์ แต่ก่อนเห็นต้องเป็นภวังค์ และก่อนที่จะเป็นจิตเห็นได้ทันที ภวังค์ต้องไหวขณะหนึ่ง แล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะคือภวังค์สุดท้ายเกิดขึ้น หลังจากนั้นแล้วต้องเป็นวิถีจิต นี่คือเราสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนี้เป็นวิถีจิตซึ่งก่อนนั้นเป็นภวังค์ แต่ก็ไม่สามารถจะรู้ภวังค์ได้ และวิถีจิตแรกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรกทางมโนทวารคือมโนทวาราวัชชนจิต จิต ๒ ประเภทนี้เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะมีกิริยาจิต ๒ ดวงนี้ หรือ ๒ ประเภทนี้ เพราะว่าต้องเกิดก่อนเป็นวิถีจิตแรก และหลังจากนั้นจะเป็นจิตเห็น หรือจิตได้ยิน ก็แล้วแต่ว่าอารมณ์ใดกระทบปสาทใด

    คุณอุไรวรรณ ขอความกรุณายกตัวอย่างวิบากของมโนกรรมซึ่งจะต้องเป็นไปในทวารทั้ง ๕ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าเป็นวิบากคือผลของกรรมจะทราบได้ว่าทำกิจอะไรบ้าง คือ ๑. ปฏิสนธิกิจ ที่เราเกิดมาในชาตินี้ที่เป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล ไม่ทราบว่าเป็นผลของทานหรือผลของศีล หรือผลของการฟังธรรม เข้าใจธรรม หรือเป็นผลของการสนทนาธรรมแสดงธรรม ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย แต่รู้ว่าเวลาที่กรรมใดๆ ก็ตามให้ผล ก็จะต้องทำกิจแรก คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ และกิจที่ ๒ คือภวังคกิจ สำหรับอาวัชชนกิจไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุที่เราจะต้องรู้ว่าจิตไหนเป็นวิบาก วิบากทั้งหมดก็จะต้องมาจากกรรมหนึ่งกรรมใดที่เป็นกุศล และอกุศลกรรมนั่นเอง ฟังธรรมแล้วเกิดบนสวรรค์ได้ไหม ได้ กุศลจิตที่ฟังธรรมเข้าใจเป็นปัจจัยให้เกิดในนรกได้ไหม ไม่ได้ ฟังธรรมเข้าใจในขณะนี้เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นพรหมได้ไหม กุศลจิต กามาวจรกุศลเป็นไปในการฟังธรรมจะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นพรหมได้ไหม แค่กามสุขติ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ถ้าเป็นพรหมต้องเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่กุศลที่เป็นไปในกามภูมิ

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะปฏิสนธิในนรกหรือบนสวรรค์ขึ้นอยู่กับวาระสุดท้ายของจิตที่เกิดในขณะนั้น มีนิยายว่าเด็กสองคนไปหาปลา คนหนึ่งคิดถึงเพื่อนที่จะไปวัด เผอิญมีเหตุทำให้เสียชีวิตก็เลยไปสวรรค์โดยคิดถึงเพื่อนที่จะไปหาพระ สำหรับคนที่ไปหาพระก็เผอิญตาย ปรากฏว่านึกถึงเพื่อนที่จะไปหาปลาก็ได้ไปตกนรก ขอเรียนถามว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลกรรมให้ผลคือทำให้อกุศลวิบากเกิด ถ้าเป็นกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิด ซึ่งแล้วแต่กรรมที่จะเป็นกรรมให้ปฏิสนธิ กรรมใดที่จะเป็นชนกกรรมก็เป็นปัจจัยให้จิตก่อนจุติเศร้าหมอง หรือผ่องใสตามอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าอารมณ์ที่ดีปกติก็เป็นโลภะใช่ไหม แต่ถ้าเป็นกุศลกรรมให้ผล และก็มีอารมณ์ที่ดี ดอกไม้ทิทย์บนสวรรค์หรืออะไรก็ตาม ที่จะปรากฏจริงๆ จิตขณะนั้นไม่ได้เป็นโลภะเพราะกุศลกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้กุศลวิบากเกิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นกุศลจิตต้องเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นโลภะก็ไม่น่าจะเป็นอารมณ์ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะปกติที่ไม่ตาย ปกติเราเป็นโลภะใช่ไหม ถ้าเห็นอารมณ์ที่น่าพอใจ แต่ถ้าถึงวาระที่ใกล้จะตาย กรรมหนึ่งจะเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในชาติต่อไป กรรมนั้นเองจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติไม่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นจะเป็นอารมณ์อะไร ชาติก่อนเป็นอย่างนี้ กลับไปรู้อีกไม่ได้ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ด้วย ก่อนที่จะตายจริงๆ กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดก่อนจิตุจิต ไม่มีใครสามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง ขณะที่สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมพันธ์กับมโนทวารวิถีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่าขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจก็ยังคิดนึกได้ เวลาที่ใจคิดนึกไม่ได้อาศัยตา แต่อาศัยภวังคุปัจเฉทะดับไป เพราะเหตุว่าถ้ายังคงเป็นภวังค์อยู่ วิถีจิตเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นภวังคุปัจเฉทะเป็นทวารของมโนทวารวิถีจิต คือ คิดนึก ขณะคิดไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่อาศัยใจที่ไม่ใช่ภวังค์อีกต่อไป ต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะก่อน และมโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดก็ตาม และจิตที่เกิดสืบต่อก็มีอารมณ์นั้นโดยเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด

    คุณอุไรวรรณ กุศลจิตกับโสภณจิตแตกต่างกันอย่างไร

    อ.วิชัย กุศลจิตก็หมายถึงเป็นจิตที่ดีงาม และฉลาด เป็นสภาพที่ละหรือตัดอกุศลธรรม แต่โสภณจิตก็จะกว้างกว่า เพราะหมายถึงเป็นสภาพธรรมที่ดีงามซึ่งสามารถเป็นไปได้ ๓ ชาติ แต่กุศลจิตเป็นกุศลชาติ แต่โสภณจิตหมายถึงเป็นจิตที่ดีงาม สามารถเป็นทั้งกุศลก็เป็นโสภณจิต หรือวิบากจิตที่มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณจิต หรือกิริยาจิตที่มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณจิต ฉะนั้นโสภณจิตก็จะเป็นได้ ๓ ชาติ ส่วนกุศลจิตก็เป็นกุศลชาติ

    คุณอุไรวรรณ เพราะฉะนั้น โสภณจิตก็มีความหมายที่กว้างกว่ากุศลจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ