พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73


    ตอนที่ ๗๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ จิตที่ทำกิจภวังค์จะทำกิจอื่นไม่ได้เลย ทำภวังคกิจ จึงชื่อว่า ภวังคจิต และก็เป็นวิบากจิตที่ต้องทำภวังคกิจ แต่กรรมไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด และภวังคจิตเกิดเท่านั้น ไม่พอ ผลของกรรมต้องเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีแล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ต้องได้ยิน ซึ่งจิตต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ภวังค์ต้องอาศัยทวาร อาศัยรูปซึ่งเป็นทางที่จะทำให้จิตรับรู้รูปนั้นๆ ซึ่งเป็นผลของกรรม เหตุใดเรามีตา สำหรับเห็น มีตานี่สำหรับเห็น ไม่ใช่สำหรับทำอย่างอื่นเลย แล้วเหตุใดต้องเห็น กรรมทำให้เห็น เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่า ที่เราใช้คำว่ากรรม คำว่าวิบาก คำว่ากิเลส ทุกอย่างที่ได้ยินก็คือในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่กรรมที่ได้กระทำแล้วหนึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดหนึ่งขณะเท่านั้น เพราะปฏิสนธิจิตคือขณะที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจะมีจิตที่ทำปฏิสนธิกิจในชาติหนึ่ง ๒-๓ ขณะไม่ได้เลย ต้องขณะเดียว เมื่อดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันนั้นเอง เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกันนั้นเองเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยทำภวังคกิจ แต่ว่าแค่นั้นไม่พอใช่ไหม ผลของกรรม ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น กรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดเป็นสมุฏฐาน และก็เป็นสมุฏฐานให้โสตปสาท (หู) เกิด สามารถที่จะกระทบกับเสียง กรรมเป็นปัจจัยให้ฆานปสาทรูปเกิดสำหรับกระทบกลิ่น กรรมเป็นปัจจัยให้ชิวหาปสาทรูปเกิดสำหรับกระทบรส กรรมเป็นปัจจัยให้กายปสาทรูปเกิดซึมซาบอยู่ทั่วกายเป็นปัจจัยให้รู้สิ่งที่กระทบกาย นี่คือการรับผลของกรรม ยังจะต้องรับต่อไปไม่สิ้นสุด สังสารวัฏฏ์ ชาติก่อนก็คืออย่างนี้ ชาตินี้ก็อย่างนี้ ชาติหน้าต่อไปก็เป็นอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือเป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ไม่ใช่เราเลย เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเมื่อมีการรับผลของกรรมแล้ว ที่ทุกคนเกิดเพราะว่ายังมีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ ปฏิสนธิจิตไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีกิเลสอยู่ หลังจากเห็นแล้ว กิเลสเกิดได้แล้วใช่ไหม อกุศลจิตเกิด โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต หมายความว่าจิตที่เป็นอกุศลขณะนั้นเกิดร่วมกับอวิชชา โมหะ (ความไม่รู้) ขณะใดมีความไม่รู้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ถ้าไม่รู้แล้วยังชอบ ยังติดข้อง ขณะนั้นไม่มีเพียงโมหเจตสิกซึ่งเป็นโมหเหตุ แต่ยังมีโลภเจตสิกเป็นโลภเหตุเกิดร่วมด้วยรวมเป็น ๒ เหตุ เพราะความไม่รู้จึงชอบ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงผลของกรรมที่ทำให้เห็น แล้วก็ดับ แต่ไปติดแล้วเพราะมีกิเลส ก็ทำให้ติดข้องในสิ่งที่เห็น เป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ก็เป็นวงของสังสารวัฏฏ์ เป็นการหมุนวนไปของสังสารวัฏฏ์ กิเลส กรรม วิบาก เมื่อมีวิบากแล้วก็ยังมีกิเลส และก็มีกิเลส และก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมต่อไป และก็เป็นเหตุให้วิบากเกิดอีก ชีวิตประจำวันเดี๋ยวนี้เอง

    ผู้ฟัง ทำไมถึงกลับมาเป็นกิริยาที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ กรรมจะทำให้คุณเด่นพงษ์หลับสนิทไปตลอด หรือว่าต้องเห็น ก็ต้องเห็น เพราะฉะนั้นจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้เลยใช่ไหม เมื่อเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ภวังค์ที่จะทำให้สิ้นสุดกระแสภวังค์ที่จะต้องรู้อารมณ์ใหม่ ก่อนที่จะถึงภวังค์สุดท้าย ต้องมีภวังคุปัจเฉทะเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย และก่อนนั้นต้องเป็นภวังคจลนะ และถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบทวารก็แสดงอายุของรูปนั้นว่าจะดับเมื่อไหร่ เพราะมีอายุแค่ ๑๗ ขณะจิต อาศัยการกระทบกันของปสาทกับอารมณ์ตรงนั้นชื่อว่าอตีตภวังค์ เพราะขณะนั้นยังไม่ใช่วิถีจิตเลย เพียงแค่อารมณ์กระทบทวาร และภวังคจลนะดับ ภวังคุปัจเฉทะดับ จิตเกิดต่อหรือไม่ ไม่ได้กลับไปกลับมาเลย เพียงแต่ว่าเมื่อจิตนั้นดับแล้วจิตอื่นก็เกิดต่อ ไม่ได้เอาจิตไหนกลับมา ไม่มีเลย แต่การดับไปของภวังคุปัจเฉทะนั้นเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตที่เกิดต่อไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่ภวังคจิตอีกต่อไป เพราะจะต้องเห็น ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด คุณเด่นพงษ์จะเป็นภวังค์ตลอด แต่เพราะว่าภวังคุปัจเฉทะดับ ก็หมายความว่าวิถีจิตหนึ่งทางทวารหนึ่งจะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อธิบายง่ายๆ อย่างนี้ได้ไหมเพราะเหตุว่ามันไม่ใช่ภวังค์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จิตเกิดดับสืบต่อตามปัจจัย เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ ปัจจัยของภวังคุปัจเฉทะทำให้วิถีจิตแรกเกิดขึ้น กล่าวเช่นนี้เข้าใจได้ใช่ไหม

    ธรรมที่จะทำให้เข้าใจไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่อาศัยการฟังเข้าใจ เราสามารถเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือได้ใช่ไหม เช่น จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิต จิตนั้นเป็นวิถีจิต ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะรู้เลยว่า เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้วจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องเป็นวิถีจิต เพราะอาศัยทวาร วิถีจิตกับทวารนี่ต้องคู่กัน เมื่อเป็นภวังคจิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลย แต่รู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยทวาร

    ผู้ฟัง ถ้าอาศัยทวารเกิดเมื่อไหร่เป็นวิถีจิตเมื่อนั้น ไม่ว่าจะมโนทวาร หรือ ปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงมีวิถีจิต ขณะเห็นไม่ใช่ภวังค์ ก่อนเห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิตแรก

    ท่านอาจารย์ ลืมไม่ได้เลย หลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด และทวารมี ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่จะมีวิถีจิตแรก ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตที่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ขณะนี้กำลังเข้าใจจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวารจึงเกิดได้ และเป็นวิถีจิตแรกด้วย ที่เป็นวิถีจิตแรกเพราะทำอาวัชชนกิจ ยังเห็นไม่ได้ ยังได้ยินไม่ได้เลย จากภวังค์จะไปเห็นทันทีไม่ได้ จากภวังค์ต้องเป็นวิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต กล่าวโดยรวมเป็น ๕ แต่ถ้ากล่าวแยกทางตาก็เป็นจักขุทวาราวัชชนะ หมายความถึงจิตที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวารไหน ถ้าแปลโดยตรงศัพท์นี้จะหมายถึงรำพึงถึงอารมณ์ จักขุทวาราวัชชนะ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทซึ่งเป็นจักขุทวาร แต่ไม่ใช่รำพึงยาวอย่างที่เราคิดในภาษาไทย เพียงแค่รู้ตัวจากที่นอนหลับสนิทไม่รู้ตัวเลย ไม่รู้สึกตัวเลย ก็เป็นการเพิ่งรู้สึกตัวขณะแรก รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวารไหน ถ้าเป็นทางตาอาศัยจักขุทวาร รูปที่กระทบตามีอายุ ๑๗ ขณะจิตยังไม่ดับเลย แล้วก็รู้รูปที่ยังไม่ดับรูปเดียวนั้นเองสืบต่อ

    ผู้ฟัง รูปก็ยังอยู่

    ท่านอาจารย์ รูปยังไม่ดับเพราะมีอายุ ๑๗ ขณะจิต ต่อเมื่อใดที่รูปดับ หมดการอาศัยทวารนั้น จิตต้องเป็นภวังค์ทันที ดำรงภพชาติจนกว่าจะมีการรู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดอีก

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายอีกครั้งว่า ทวิปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ กลับมาเป็นวิบากอีกได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่กลับ แต่ว่าเป็นวิบากเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมไม่ได้ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขณะเดียว ต้องมีจิตที่รับรู้ถึงสันตีรณะ แล้วต่อไปหลังชวนะจะมีอีก แต่ว่าเรายังไม่ได้กล่าวถึง

    ผู้ฟัง ฟังแล้วรู้ แต่ไม่เข้าใจ กุศลกับอกุศลต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เสียงมีหลากหลายไหม เสียงเบาๆ น่าฟัง ชอบฟังใช่ไหม เสียงดังๆ เสียงฟ้าร้อง เสียงระเบิด ฟังแล้วตกใจใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อเสียงต่างกันอย่างนี้ จะให้เป็นเสียงเดียวเหมือนกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะเรียกความต่างของเสียง ซึ่งต่างกันว่า เสียงหนึ่งน่าพอใจ ฟังแล้วก็ไม่เดือดร้อน อีกเสียงหนึ่งไม่น่าพอใจ ตามลักษณะของเสียงนั้น ภาษาบาลีเสียงที่น่าพอใจก็เป็นอิฏฐารมณ์ เสียงที่ไม่น่าพอใจก็เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นลักษณะของเสียงเป็นอย่างนั้น แล้วใคร เมื่อไหร่ จะได้ยินเสียงอะไร เลือกไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าถึงกาละที่กรรมใดสุกงอมพร้อมจะให้ผลทางทวารไหนด้วย บางคนอาจจะทำอกุศลกรรมทางฆานทวาร ชิวหาทวาร ก็แล้วแต่ว่าถึงกาละที่กรรมนั้นจะให้ผล ทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นโดยต้องรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ จิตเป็นสภาพรู้ จิตจะไม่รู้ไม่ได้เลย ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นต้องรู้ แต่ขณะใดที่รู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม และจิตที่รู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจนั้นก็เป็นวิบากจิต

    คำว่า “วิบากจิต” นั้นแสดงว่าจิตนั้นเป็นผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิบากอะไรทั้งสิ้นชื่อว่าเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรม ซึ่งต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็นผลของกุศลกรรมชื่อว่า “กุศลวิบาก” ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ชื่อว่า “อกุศลวิบาก” เพราะฉะนั้น เราจะเรียกสั้นๆ ว่าอกุศลไม่ได้ เพราะอกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล ถ้าเป็นวิบากจะเรียกว่าเป็นอกุศลไม่ได้ ต้องเรียกว่า “อกุศลวิบาก” หมายความถึงจิตนั่นเองเกิดขึ้นโดยกรรมเป็นปัจจัยให้จิตนี้เกิด ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น ไม่เห็นก็ไม่ได้ ต้องเห็นเพราะว่าเป็นผลของกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจก็เป็นกุศลวิบาก เพราะว่าเป็นผลของกุศลกรรม เลือกไม่ได้เลย นี่คือ อนัตตา และธรรม ซึ่งเราจะต้องเข้าใจ ศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีให้เข้าใจถูกต้องขึ้น ในความเป็นธรรม และในความเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง แล้วกุศล และอกุศลจะเกิดอย่างไรต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ เมื่อเวลาที่เห็นแล้ว หยุดไม่ได้อีกเหมือนกัน แค่เห็นจะต้องมีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ คือเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับพระอรหันต์ดับทั้งกุศล และอกุศลจึงเป็นกิริยาจิต อกุศลนั้นแน่นอน อกุศลเจตสิกจะเกิดไม่ได้เลย แต่โสภณเจตสิกยังเกิดได้ เพราะว่าถึงกาละที่จิตจะพ้นจากอเหตุกะเป็นสเหตุกะ นี่คือความเกี่ยวข้อง ถ้าขณะที่เพียงเห็น เพียงได้ยินคือ ๑๘ ดวงนั้นก็เป็นอเหตุกะ ถ้าจักขุวิญญาณไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยในภูมิมนุษย์ และในสวรรค์ จักขุวิญญาณก็มี จักขุวิญญาณของเทวดาจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เหตุ คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ จักขุวิญญาณของเทวดาบนสวรรค์จะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี นี่คือธรรม เป็นหนึ่งไม่เป็นสอง ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย รูปพรหมเกิดในรูปพรหมภูมิไม่ใช่เทวดาชั้นกามวจร แต่เป็นชั้นพรหม มีจักขุวิญญาณ มีตาเห็น จักขุวิญญาณของรูปพรหมบุคคลจะมีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้ นี่เป็นการที่เราจะเรียนจิตใดก็คือจิตนั้นซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยจากการตรัสรู้ จิตเห็นจะเกิดกับมนุษย์ เกิดในนรก เกิดกับเปรต เกิดกับนก เกิดกับปลา เกิดกับเทวดา เกิดกับพรหม จิตเห็นก็เป็นจิตเห็นซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย เป็นอเหตุกะตลอด นี่คือธรรมเปลี่ยนไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้บรรยายไว้ว่า ในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น ทางตา ในขณะนั้นไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็กล่าวว่าเป็นผู้ประมาท

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ เห็นก็ไม่รู้จักขุวิญญาณ รู้แต่ว่าเห็น แต่จะเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ รู้ไหม รู้จักขุวิญญาณไหม?

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าถ้าไม่รู้อย่างนั้นก็เป็นผู้ประมาท

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าโดยมากเราจะระลึกถึงพระพุทธโอวาท ปัจฉิมโอวาท ที่เตือนให้ไม่ประมาท ความไม่ประมาทของเราระดับไหน ถ้าไม่ประมาทจริงๆ สำหรับผู้ที่เมื่อวานท่านกล่าวถึงการภาวนาของท่านว่าต้องไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำนั้นจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ประมาท คือรู้ลักษณะของเห็นที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญมรรคที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นคือความไม่ประมาท แต่ถ้าเราไม่ถึงระดับนั้น ไม่ประมาทคือกำลังฟังพระธรรม รู้ว่ากำลังฟังอะไร และขณะที่ฟังก็เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ข้าม เพราะเหตุว่า เพียงเท่านี้ยังไม่รู้ ยังไม่ได้เข้าใจโดยถูกต้อง เราจะไปจำชื่อรู้ชื่อต่างๆ ไว้ แล้วเราสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะนั้นหรือไม่ เพราะว่าแม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏกำลังมีก็ยังไม่ได้เข้าใจถูกต้อง ฉะนั้นที่กล่าวว่าชั้นอนุบาล (อนุปาละ) คือตามรักษาความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏให้มั่นคง ให้เข้าใจในความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นอนุบาลตลอดไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง คงประมาทอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นระดับไหน แต่ต้องเข้าใจว่าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็คือไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้แล้วก็ไม่ใช่ลักษณะตัวตนที่จะประมาท

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นธรรม ถ้าฟังธรรมแล้วใครห่วงว่าทำไมมีอกุศลมาก นั่นก็คือตัวตนแสดงแล้ว ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นด้วยความเป็นเรา ถ้าเข้าใจถูกอกุศลก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราทั้งสองอย่าง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ต้องเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง แล้วที่กล่าวว่าเมื่อศึกษาธรรมใหม่ๆ แล้ว จะต้องมีความเป็นตัวตนก่อนแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะต้อง ไม่มีการบังคับ ทุกคนรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นอยู่จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน มีอยู่จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ไม่อย่างนั้นความเป็นพระโสดาบันก็ไม่มีความหมายอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น จะต้องไม่มีตัวตนตั้งแต่เริ่มต้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าจะไม่มี เข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังก็อย่าเอาคำของดิฉันไปเปลี่ยนเป็นต้องหรืออย่างนั้นอย่างนี้ หรือถ้ามีคำว่าต้อง ก็ให้เข้าใจหมายความว่าถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ได้หมายความว่าไปบังคับใคร แต่เหตุผลเป็นอย่างนั้น เข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง ศึกษาเรื่องธรรมแล้ว ก็ควรเข้าใจในเรื่องของธรรมให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อยากทราบว่าจิตเห็นมีเฉพาะเมืองมนุษย์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นกเห็นไหม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะมนุษย์แน่ ที่ไหนที่เห็นขณะนั้นเป็นจิต ถ้าจะไม่กล่าวถึงสถานที่เลยก็ได้ใช่ไหม บนฟ้านั่งเครื่องบินไปเห็นไหม นกบินไปในอากาศเห็นไหม ปลาที่อยู่ในน้ำเห็นไหม เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่กล่าวถึงสถานที่เลย ที่ใดมีเห็นที่นั่นมีจิตเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครเป็นสภาพธรรมที่เห็น จิตเห็นมีหรือเปล่าขณะนี้ กำลังกล่าวถึงจิตนี้ว่าไม่ใช่เราเลย แต่เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม มีจริงๆ เห็นเมื่อไหร่ก็คือจิตนี้เกิดขึ้นทำกิจนี้

    ผู้ฟัง แล้วรูปพรหมภูมิมีจิตเห็นไหม

    ท่านอาจารย์ รูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ จิตเห็นมี นอกจากอสัญสัตตาพรหม ไม่มีจิตเลย

    ผู้ฟัง ถามเรื่องอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ฟ้าร้อง ย่อมเป็นอนิฏฐารมณ์ใช่ไหม ถ้าของที่เป็นกลาง เช่น สมมติว่าทุเรียนอยู่ตรงนี้ ดิฉันก็รู้สึกชอบ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ ส่วนคุณวีณาเหม็น ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นทุเรียนจะมีลักษณะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ตรงตามตัวของเขา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพื่อนคุณหมอกับคุณหมอชอบกลิ่นกระเทียมเจียว หลายๆ คน ไม่ชอบ แล้วคุณหมอจะตัดสินได้อย่างไรว่ากลิ่นนั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง ก็คงจะต้องตัดสินว่าเป็นอนิฏฐารมณ์

    ท่านอาจารย์ กลุ่มหนึ่งชอบ แล้วอีกกลุ่มหนึ่งไม่ชอบ แล้วจะตัดสินหรือใครจะเป็นคนตัดสินว่ากลิ่นนั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง ต้องนับเอากลุ่มใหญ่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้นก็ตามกลุ่ม ไม่ใช่ตามความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงใครเปลี่ยนไม่ได้ ถึงจะรู้ไม่ได้ก็ตาม เช่น คนที่ชอบกลิ่นบางประเภท เขารู้สึกพอใจในกลิ่นนั้น ทั้งๆ ที่กลิ่นนั้นไม่น่าพอใจเลยโดยลักษณะของกลิ่นนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะถือความเห็นหรือความคิดของเราหรือของกลุ่มใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวว่าอิฏฐารมณ์ต้องบอกด้วยว่าเฉพาะบางบุคคลที่ใช้คำนี้ แต่ไม่ใช่ไปเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้เป็นตามที่ว่า ถ้าลักษณะนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ แล้วคนไม่ชอบ เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่ดี ถึงเขาจะไม่ชอบ และเรียกว่าเป็นอนิฏฐารมณ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นแล้วที่คุณหมอถามถึงอย่างกลางดูเหมือนว่ามีอีกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นมาอีกแล้ว คือ มีอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ และก็ยังมีกึ่งๆ กลางๆ ที่จะเป็นอิฏฐารมณ์หรือไม่ใช่อิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ใช่ไหม ความจริงไม่มี เพราะเหตุว่ากรรมมี ๒ อย่าง กุศลกรรม และ อกุศลกรรม มีกลางๆ ระหว่าง ๒ อย่างนี้ไหม ไม่มี ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ส่วนอกุศลกรรมจะมากจะน้อย จะแรงไม่แรง หรือกุศลกรรมจะแรงไม่แรงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กุศลกรรมต้องเป็นกุศลกรรม กุศลกรรมจะไปเป็นอกุศลกรรมไม่ได้ และอกุศลกรรมก็ต้องเป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมจะไปเป็นกุศลกรรมไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมนี่แน่นอน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็จะทำให้รู้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ไม่น่าพอใจ แต่ใครจะพอใจเป็นเรื่องของเขา แต่จะเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ แล้วจริงๆ แล้วจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกายก็เกิดก่อน กุศลจิต และอกุศลจิต ชอบหรือไม่ชอบนี่เป็นอกุศลจิตแน่นอน เป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นเมื่อจิตอื่น คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ รู้อารมณ์ก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต ขณะนั้นจะให้การชอบหรือไม่ชอบของเราไปตัดสินซึ่งจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ รู้ไม่ได้ อารมณ์นั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ หมายความถึงที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ส่วนใหญ่เราจะพูดถึงรูป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ