พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85


    ตอนที่ ๘๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินคำว่า สัมปฏิจฉันนะ รู้ว่ามีจิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจ แล้วก็เรียกชื่อตามกิจว่า สัมปฏิจฉันนจิต ไม่สงสัยเลยชื่อกับกิจตรงกัน เมื่อถึงสันตีรณจิตก็ทำกิจพิจารณาอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำนี้ก็เรียกชื่อตามกิจนี้ว่าสันตีรณกิจก็เข้าใจ เมื่อพูดถึงจิตเราจะพูดได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือพูดโดยกิจ เรียกชื่อจิตตามกิจ เช่นถ้าทราบว่าจิตทุกขณะที่เกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่ง จะไม่ทำกิจใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น จะไม่มีจิตสักขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจอะไร ถ้าใครคิดว่ามี หมายความว่าไม่รู้ว่าจิตขณะนั้นทำกิจอะไร แต่ถ้ารู้ก็สามารถที่จะบอกได้ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร ฉะนั้นขณะนี้มีจิตที่เรารู้จักชื่อว่า จักขุวิญญาณ วิญญาณ คือ รู้ จักขุ คือ ตา รู้โดยอาศัยตา ต้องอาศัยตาจึงจะเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ จิตนั้นก็เป็นจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ

    เพราะว่าจิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตลอด ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติภูมิไหนก็ตาม ก็มีกิจ ๑๔ กิจ ๑๔ กิจนี้ไม่ยากเลย แต่ต้องให้ทราบว่าเรากล่าวถึงจิตโดยกิจที่เราจะเข้าใจคำว่า ชวนะ เพราะเหตุว่ากิจแรกคือ ปฏิสนธิกิจต้องมีแน่นอน เมื่อปฏิสนธิดับไปแล้ว กิจที่สองคืออะไร จุติได้ไหม ไม่ได้ เกิดมาแล้ว ตายทันที ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วจะเป็นปัจจัยให้จุติจิตเกิดทันทีไม่ได้ ต้องมีภวังคจิตเกิดสืบต่อ เรียกชื่อตามกิจคือ ภวังคจิต แต่จิตที่ทำกิจภวังค์ต้องแล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตด้วยวิบากประเภทใด จิตประเภทนั้นก็ทำภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิจิตในภพหนึ่งชาติหนึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย เช่นการเกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นนก ปู ปลา เต่า เกิดในนรก เป็นเปรต อสูรกายอะไรก็ตาม เป็นผลของอกุศลกรรม ต้องเป็นอกุศลวิบากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีน้อยมากเพียง ๗ เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นจิตที่ทำปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ก็ได้แก่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจนี้ดับไปแล้ว ชื่อว่าปฏิสนธิจิตก็ได้ อาจจะใช้คำว่าอเหตุกปฏิสนธิก็ได้ และถ้าจะให้ชัดขึ้นอีกก็อเหตุกอกุศลวิบากก็ได้ คือแล้วแต่ว่าเรามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจมากเราก็พูดสั้นๆ ถ้าจะขยายต่อไปให้รู้ว่าเป็นประเภทของอกุศลวิบากก็บอกว่าอกุศลวิบากปฏิสนธิก็ได้ เมื่อเป็นภวังค์ก็เช่นเดียวกัน ก็คืออเหตุกสันตีรณอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิกิจที่ดับไปแล้ว ดับไปเพราะกรรมทำให้เกิด เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นกรรมไม่ได้ทำให้เพียงแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรมเพียงขณะเดียว ถึงแม้ว่าทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ยังทำให้อกุศลวิบากเกิดสืบต่อทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าภวังคจิตมีทั้งหมดเท่าไหร่ ไม่ใช่มีหนึ่ง เพราะการเกิดในที่ต่างๆ บนสวรรค์ก็มี เป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกก็มี

    ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ประเภท แต่ยังไม่ต้องไปคิดถึงเลยว่าอะไรบ้าง เพียงแต่ให้ทราบว่าทำไมเป็น ๑๙ เพราะว่าเป็นวิบากจิตที่สามารถทำปฏิสนธิกิจได้ จะได้ชัดเจนในเรื่องของกิจ เช่นการที่กล่าวถึงคำว่า ชวนะ ก็หมายถึงกิจของจิตนั่นเอง กล่าวถึงปฏิสนธิจิตก็ไม่ใช่เพียงหนึ่ง เพราะจะมีอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิจิตได้จึงเรียกว่าปฏิสนธิจิต เมื่อกล่าวถึงภวังคจิตก็หมายความถึงวิบากจิต ซึ่งสามารถทำภวังคกิจได้จึงเรียกว่าภวังคจิต จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) ทำภวังคกิจได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีโอกาสที่จักขุวิญญาณจะทำภวังคกิจ แต่ถ้าทราบโดยประเภทของจิต ก็จะทราบภายหลังว่าจิตบางประเภททำได้กิจเดียว บางประเภททำได้ ๒ กิจ บางประเภทก็ทำได้ ๓ กิจ บางประเภทก็ทำได้ ๔ กิจ และที่ทำได้ ๕ กิจก็มี เราจึงสามารถเรียกชื่อจิตตามกิจ แล้วแต่ว่าจะกล่าวโดยกิจ หรือจะกล่าวโดยประเภทของชาติ หรือจะกล่าวโดยประเภทของเหตุก็ได้ ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว ๒ กิจ

    มีจิตอีกประเภทที่เกิดก่อนจิตเห็น คือ อาวัชชนจิต เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารได้ทั้ง ๕ ทวาร เป็นจิตประเภทที่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ และเป็นวิถีจิตแรก แต่ไม่ใช่วิบากจิต เพราะยังไม่ใช่เป็นผลของกรรม แต่เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจเป็นวิถีจิตแรก เป็น ๓ กิจ แล้วก็นับจุติจิตรวมอีกหนึ่งเป็น ๔ เหลือแค่ ๑๐ ซึ่งก็ได้แก่ ทัสสนกิจ ๑ (กิจเห็น) สวนกิจ ๑ (กิจได้ยิน) ฆายนกิจ ๑ (กิจได้กลิ่น) สายนกิจ ๑ คือ จิตที่ลิ้มรส ต้องไม่ปนกับคำว่า รสะ เพราะ รสะ หมายถึงรส แต่กิจนี้เป็นสายนกิจทำกิจลิ้มรส ส่วนกิจที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสคือ ผุสสนกิจ ๑

    เพราะฉะนั้นเรื่องชื่อจะจำก็ได้ จำแล้วลืมก็ได้ จำแล้วคิดออกก็ได้ จำแล้วคิดไม่ออกก็ได้ แต่ให้เข้าใจความหมายเพราะว่าถ้าเราไม่คุ้นกับภาษาบาลี แล้วไม่ได้ใช้บ่อยๆ แล้วก็อาจจะมีการสับสนปนกันได้ แต่ผู้ที่จำได้แม่นยำก็จำได้ เช่น เมื่อครู่ ก็มีท่านที่ตอบว่า เวลาที่รู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร จิตที่ทำกิจนั้นทำกิจรู้โผฏฐัพพารมณ์ชื่อว่าผุสสนกิจ คุ้นไหมชื่อนี้ ไม่คุ้น บ่อยๆ จำได้ นานๆ เข้าก็อาจจะลืมได้

    ดังนั้น วันนี้ ก็ได้ศึกษา กิจของจิต ได้แก่ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ซึ่งได้แก่กุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ และโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ก็แสดงให้เห็นว่าจิตเหล่านี้ไม่ได้ทำกิจอื่นที่กล่าวมาแล้วเลย แต่ว่าทำกิจ “ชวนะ” เพราะเหตุว่าแล่นไปในอารมณ์ ไม่ต้องมีทัศนะ ไม่ต้องมีสวนะ ไม่ต้องมีสัมปฏิจฉันนะ ไม่ต้องมีจิตอื่นซึ่งได้กระทำแล้วอีก แต่แล่นไปในอารมณ์นั้นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ หรือด้วยกุศล ซึ่งกุศลนี้ก็มีตั้งแต่ระดับขั้นของกามาวจรกุศล ถ้าเรียกย่อๆ ก็ใช้คำว่า "กามกุศล" หรือจะใช้คำว่า “กามชวนะ” ก็ได้ ก็หมายความว่าขณะนั้นเป็นชวนจิตที่เป็นประเภทของกามาวจรจิตที่ทำชวนกิจ เรียกย่อๆ ว่า กามชวนะ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจคำว่า “ผุสสนกิจ”

    ท่านอาจารย์ เป็นชื่อที่ยาก ทัสสนกิจ เข้าใจไหม (เห็น) สวนกิจ (ฟัง) ฟังพระธรรมเราก็บอกว่าสวนกิจ แล้วเวลาที่ได้กลิ่น (ฆานปสาท) เป็นรูปที่กระทบกับกลิ่น จิตที่เกิดขึ้นทำกิจรู้กลิ่นเป็นฆายนกิจ

    ผู้ฟัง แล้วโผฏฐัพพะต่างกับผุสสนะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพะได้แก่อารมณ์ที่ปรากฏทางกาย (กายปสาท) จิตรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว สภาพที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวเป็นโผฏฐัพพะสามารถกระทบกับกายปสาทได้ หมายความถึงธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมซึ่งเป็นอารมณ์กระทบกับกายปสาทจึงปรากฏ รวม๓ อย่าง รวมเรียกว่า "โผฏฐัพพารมณ์"

    ผู้ฟัง พูดถึงกามชวนะ กับ อัปปนาชวนะ

    ท่านอาจารย์ คำว่ากามชวนะ คือ จิตที่เป็นกามาวจรจิต

    ผู้ฟัง ถ้าได้ยินคำว่า “อัปปนาชวนะ” คือจิตประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ คือจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ "มหัคคตจิต"

    ผู้ฟัง บุคคลที่ได้ฌาณจะมีกามชวนะหรืออัปปนาชวนะ ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่จิตนั้นเป็นกามาวจรจิตทำชวนกิจต้องเป็นกามชวนะ ขณะใดที่เป็นมหัคคตจิต เช่น รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิตเกิด พวกนี้ทำได้กิจเดียวคือ ชวนกิจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กามชวนะเพราะว่าไม่ใช่กามาวจรจิต

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าเข้าใจง่ายๆ ก็คือจิตที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์จะต้องเป็นกามชวนะ ไม่ว่าจะเป็นพระพรหมหรือใครที่เห็น ขณะนั้นก็ต้องเป็นกามชวนะเพราะเป็นกามาวจร

    ผู้ฟัง บุคคลที่เจริญฌาณแตกต่างกับบุคคลที่ไม่ได้เจริญฌาณอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ คนที่เจริญฌาณจะมีจิตที่เป็นรูปฌาณ ก็จะต้องมีอารมณ์เฉพาะของผู้ที่เจริญ ฌาณนั้นๆ เช่น เป็นกสิณมิมิตต่างๆ ซึ่งไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างที่เราเห็นๆ กันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นต่างกันที่อารมณ์ และความสงบของจิตก็ต่างระดับ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เจริญฌาณ ท่านไม่ได้มีกามชวนะแล้ว

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่อยู่ในฌาณ และความสงบขั้นปฐมฌาณก็เป็นอัปปนา

    ท่านอาจารย์ ก่อนฌาณจิตจะเกิดได้ จิตประเภทไหนเกิดก่อน ต้องเป็นกามาวจรจิตที่ทำชวนกิจด้วย เป็นกุศลหรือเป็นกิริยาแล้วแต่บุคคล จนกว่าขณะใดที่ฌาณจิตเกิด เมื่อนั้นก็ไม่ใช่กามชวนะ นับจิตตามประเภทของจิต

    ผู้ฟัง หมายความว่าท่านออกจากฌาณ ท่านก็มีกามวจรจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่มีออก ไม่มีเข้าเลย ขอให้เข้าใจว่า ฌาณจิตเกิดเมื่อใดทำชวนกิจเมื่อนั้น และไม่ใช่กามาวจรจิต และกามาวจรจิตเกิดเมื่อใดก็แล้วแต่ว่าทำกิจอะไร ถ้าทำชวนกิจก็ชื่อว่ากามชวนะ ถ้าไม่ได้ทำชวนะก็เป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตเหล่านี้ก็เป็นกามาวจรจิต แต่ไม่ได้ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้นชวนกิจก็เป็นจิตขณะที่เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะแล้วไม่ได้ทำกิจอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วเลย เพราะฉะนั้นกุศลจิต และอกุศลจิตจะทำกิจอื่นไม่ได้นอกจากชวนกิจแล่นไปในอารมณ์เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะตามปกติ

    ผู้ฟัง ชวนะซ้ำกัน ๗ ขณะ ฟังแล้วเหมือนกับไกลตัวมาก ถ้าใกล้ที่สุดภายในขณะนี้ ที่เรากำลังฟัง เรากำลังเสพอารมณ์นั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ๗ ขณะด้วย

    ผู้ฟัง แล้วในขณะที่เราเสพอยู่ในขณะนี้ เท่าที่ฟังมาก็ทราบว่ามันอยู่ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงซึ่งทำหน้าที่ชวนะด้วยใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นในขณะที่เราเสพก็มีมานะเจตสิกเกิดอยู่ตลอดด้วยในบางครั้งอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เมื่ออกุศลจิตเกิดต้องแยกว่าเป็นประเภทไหน เป็นโลภมูลจิตมีโลภะกิดร่วมด้วย จึงจะสามารถมีมานะเกิดได้ร่วมกัน แต่ถ้าเป็นโทสมูลจิต มานะกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย ถ้าเป็นโมหมูลจิตก็ไม่มีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ก็คือความละเอียดซึ่งต่อไปเราจะทราบ เพราะว่าเราคิดว่าขณะที่มีมานะนั้นมีโทสะด้วย แต่ความจริงจะแยกว่า แม้เห็นบางคนก็อาจจะคิดว่ามีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย แต่ความจริงจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงฉันใด เมื่อโลภมูลจิตเกิดขึ้น ก็จะมีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ แต่ถ้าเป็นโทสมูลจิต มานะเจตสิกจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก แม้ขณะนี้ ๗ ขณะนี่เราก็ไม่เคยรู้เลยว่า ๗ ขณะ หนึ่งขณะเราก็ไม่รู้ จักขุวิญญาณหนึ่งขณะนี่ก็ไม่รู้ ชวนะ ๗ ขณะนี่ก็ไม่รู้ แต่ว่าความจริงจิตก็ต้องเกิดดับสืบต่อทำกิจตามประเภทของจิตนั้นๆ

    ผู้ฟัง ขณะไหนเป็นเหตุเก่า ขณะไหนเป็นเหตุใหม่ ตรงนี้พวกเราควรตระหนักมากใช่ไหม ว่าขณะนี้เรามาเสพอารมณ์ที่เป็นกุศล แล้วเรากำลังสร้างเหตุใหม่กันหรือยัง

    ท่านอาจารย์ เรากำลังรู้อารมณ์ ซึ่งจิตที่รู้อารมณ์ในขณะนี้เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เราจึงต้องเห็นอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจิตเห็น จิตได้ยินเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่เมื่อเห็นแล้วเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตในสิ่งที่เห็น อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ไม่ว่ามีอะไรปรากฏ โลภะติดข้องทันทีมากกว่าอย่างอื่นมากกว่ากุศล ฉะนั้นเราจะได้รู้ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจสักเท่าไหร่ ประณีตสักเท่าไหร่ ก็คือจิตนั้นเกิดเห็นเพราะเป็นผลของอดีตกรรมที่เป็นกุศลจึงทำให้จิตได้เห็นสิ่งที่ดีๆ แต่หลังจากนั้นแล้วติดข้อง พอใจ ยึดมั่น บางคนก็ถึงกับกระทำทุจริตกรรม เช่นนี้ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลส ซึ่งไม่ว่าอะไรจะผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ติดหมด จึงต้องละโลภะ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อให้เห็นโลภะ และเพื่อละโลภะ

    เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และเมื่อทรงตรัสรู้ สมัยนั้นยุคนั้นมีผู้ที่พร้อมจะเป็นพระอรหันต์ ปฏิสัมภิทาเอตทัคคะในทางต่างๆ เป็นพระอนาคามีก็มาก เป็นพระสกทาคามีก็มาก เป็นพระโสดาบันก็มาก แต่แม้กระนั้นไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเพราะว่าโลภะเป็นสิ่งที่เห็นยาก จนกว่าจะรู้แทงตลอดในอรรถที่ทรงแสดงพระธรรมทั้ง ๔๕ พรรษาเพื่อละโลภะ เพราะว่าโลภะเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง นำมาซึ่งภพชาติ เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูก ก็มีปัญญาที่จะละความติดข้อง และก็ทำให้เกิดการดับภพชาติได้ แต่ว่าเราไม่เคยรู้เลย ว่า ทันทีที่อะไรปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ติดแล้วทั้งวัน

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราไม่รู้เลย ในขณะที่ฟังก็ติดแล้ว หมายความว่าเป็นการสะสมมา หรือ เป็นเพราะเราไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะอวิชชา การไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มจากการฟังให้เกิดปัญญาความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ เพื่อที่จะค่อยๆ อบรมให้ปัญญานั้นคมกล้าขึ้น

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งการฟัง บางครั้งนี่ก็ฟังมากๆ หมายความว่าไม่ได้ตรึกตรอง ไม่ได้ใคร่ครวญใช่ไหม ไม่น้อมไปตามคำสอน

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่แม้ฟังธรรมแล้ว บางคนก็ยังมีกาย วาจา ซึ่งเป็นไปในทางฝ่ายอกุศลมาก แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่าเราฟังทำไม ฟังพระธรรมทำไม ฟังเพื่อเป็นความรู้เท่านั้น หรือ ฟังเพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม ประการนี้สำคัญที่สุด ถ้ามีปัญญามีความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกนั้น ก็เริ่มที่จะขัดเกลากิเลส แต่ต้องรู้ว่าอะไรไม่ดี ที่มีสติระลึกได้ถึงวาจาการกระทำที่ผ่านไปแล้วก็เพื่อที่จะรู้ว่า ก่อนฟังพระธรรมนี่อกุศลมากมายเหลือเกิน และฟังแล้วก็มีความรู้พอที่จะละอกุศลนั้นๆ หรือยัง ถ้ายังก็ต้องอบรมเจริญต่อไปอีก แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นโทษที่จะต้องละ

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราฟังตลอดเวลาแล้วได้น้อมคำสอน และได้ตรึกไปเรื่อยๆ ก็ย่อมจะเป็นการที่ให้เราเสพให้คุ้นอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นการสะสม เพราะกว่าจะถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วไม่รู้ว่ากี่ชาติ ทำมาแล้วเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ก็มาถึงวันนี้ขณะนี้ซึ่งจิตได้สะสมความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ปัญญาที่กว่าจะเกิดได้ ซึ่งมันเป็นแสงอ่อนมากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมที่พระผู้มีพระภาคตรัส เมื่อภิกษุกล่าวแก่งแย่งกัน ใครกล่าวดีกว่ากัน ใครกล่าวนานกว่ากัน เป็นต้น พระองค์ตรัสว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ได้ฟังธรรมจะมากหรือน้อย จะคิดว่าท่วมหัวไม่ท่วมหัวก็ตาม รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วหรือยัง ถ้ายังก็คือว่าต้องศึกษา ต้องรู้ขึ้น ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่รู้ก็ไม่รู้ไปเลย แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าไม่รู้ เพียงแค่รู้ขั้นฟังไม่ใช่หมายความว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ในกรณีอย่างเรา บางท่านก็จะไปท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เขาไปปฏิบัติเราก็ไม่เดือดร้อน แต่บางคนเราเดือดร้อน เนื่องจากเป็นญาติ เป็นลูก อย่างนี้หมายความว่าเราติดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราเกิดมาคนเดียวหรือไม่ เราจากโลกนี้ไปคนเดียวหรือไม่ เราเห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้คนเดียวหรือไม่ เราคิดเรื่องนี้ เราคิดคนเดียวหรือไม่ เพราะว่าคนอื่นเขาก็ไม่ได้มาร่วมคิดกับเรา ใจของเราจะมีใจอื่นมาร่วมด้วยไม่ได้เลย ก็เป็นเพียงจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เป็นโลกแต่ละขณะจิต เพราะฉะนั้นขณะนี้เราจะไม่คิดถึงเรื่องคน เรื่องสัตว์ เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงทั้งหมด ถ้าไม่มีธรรมแล้วเรื่องราวต่างๆ ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ แล้วมีประโยชน์กว่าเรื่องราวทั้งหลายก็คือสิ่งที่เป็นธรรมโดยที่เราจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อเราศึกษาธรรมก็ลืมเรื่องอื่นซึ่งเป็นเรื่องราวซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากมายใหญ่โต แต่ไม่รู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับจริงๆ ศึกษาธรรมก็คือศึกษาให้เข้าใจ "ขณะนี้" ซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด แล้วก็กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งซึ่งเรามักจะหลงลืมว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่ามักจะคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่เมื่อเข้าใจเรื่องธรรมแล้ว ก็คือขณะนี้มีธรรมซึ่งเราจะได้พิจารณาตัวเองว่า เรามีความเข้าใจธรรมในขณะนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะถึงอย่างไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวไปอีกไกลในชีวิตก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่เผลอ ไม่หลงลืมว่าเป็นธรรมก็คือรู้ว่าขณะนี้เรากำลังศึกษาให้เข้าใจความจริงของสิ่งซึ่งมีแล้วก็เป็นต้นตอของเรื่องราวต่างๆ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องราวทั้งหลายก็มีไม่ได้ ฉะนั้นคงไม่เบื่อที่จะย้ำแล้วย้ำอีกว่า ศึกษาธรรมก็คือรู้ตัวเองว่าฟังเรื่องอะไร กำลังฟังสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง พร้อมกันนั้นก็จะได้รู้ว่าเรามีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของธรรม หรือเราเพียงรู้เรื่องราวของธรรม

    เพราะฉะนั้นก็จะมีปัญญาต่างขั้นคือ ปัญญาที่เริ่มได้ยินได้ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธรรมจนกว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมซึ่งก็ไม่พ้นไปเลยไม่ว่าจะอีกกี่ปีข้างหน้า หรือแม้แต่ที่ทรงแสดงพระธรรมตั้งแต่เริ่มตรัสรู้จนกระทั่งถึงกาละที่ปรินิพพาน ก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังแล้วก็เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่าเข้าใจเพียงเรื่องราว หรือเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจากการที่ได้เข้าใจเรื่องราวแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะมีการฟังเรื่องราวก่อน แล้วก็รู้ว่าฟังต่อไปอย่างไรก็ไม่พ้นจากการที่จะเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ