พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77


    ตอนที่ ๗๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ดวง เฉพาะสันตีรณอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะว่าเกิดที่ฐานที่ได้มีกำลังแล้ว เพราะเหตุว่าได้เกิดเป็นขณะที่ไม่ใช่ต่อจากจิตที่เกิดทางจักขุปสาท หรือโสตปสาท เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสำหรับอกุศลวิบาก ๗ ดวง อุเบกขาสันตีรณะ ๑ ทำหน้าที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ ไม่ว่าจะเป็นนรกขุมไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดเป็นเปรตมีรูปร่างตามกรรมที่ได้กระทำมาอย่างไรก็ตาม รวมทั้งอสุรกายซึ่งเป็นอบายภูมิด้วย เพราะเหตุว่าอบายภูมิมี ๔ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเราคงไม่มีปัญญาเกินกว่านี้ที่จะไปสามารถหาเหตุผลได้ว่า เมื่อมีอกุศลวิบาก ๗ สันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ เมื่อทำปฏิสนธิแล้วก็ทำภวังคกิจด้วย เพราะว่าจิตใดก็ตามที่เกิดแล้วทำปฏิสนธิกิจดับไปแล้ว วิบากจิตนั้นไม่เปลี่ยนเลย ต้องเป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตที่จะทำกิจภวังค์ดำรงภพชาติไปจนกว่าจะสิ้นความเป็นบุคคลนั้น

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เกิดในอบายภูมิ ๔ ปฏิสนธิจิตก็เป็นอุเบกขาสันตีรณะ ภวังค์ก็เป็นอุเบกขาสันตีรณะ ก็ไม่มีที่สงสัยใช่ไหม แต่เมื่อถึงผลของกุศลกรรม กุศลกรรม เช่น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญามีกำลังเป็นปัจจัยให้มหาวิบาก หรือจะใช้คำว่า "กามาวจรวิบาก" ก็ได้ เหตุที่เราใช้คำว่ากุศล ไม่ใช่ระดับที่สูงกว่ากามาวจรกุศล ซึ่งเป็นกุศลที่เป็นไปทั้งทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ เป็นไปในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ ในความสงบของจิตก็ได้ ในการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ได้ เป็นกุศลที่กว้างขวางมาก เพราะฉะนั้น กามาวจรกุศลก็มีอีกชื่อหนึ่งคือ “มหากุศลบางคนได้ยินคำว่ามหากุศล แล้วคิดว่ากุศลนี้ใหญ่มากเพราะมีคำว่า "มหา" แต่ความจริงหมายความถึงกว้างขวางมากเป็นไปได้ทุกทวาร

    เพราะฉะนั้น สำหรับผลของกุศลก็จะทำให้วิบากที่เป็นกามาวจรวิบากซึ่งเป็นสเหตุกวิบาก และอเหตุกวิบากเกิด เพราะเหตุใด เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อทำแล้วต้องเป็นปัจจัยให้วิบากเกิดทางอกุศลกรรมที่ทำให้อกุศลวิบากเกิดโดยไม่มีเหตุประกอบฉันใด ทางฝ่ายกุศลกรรมก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้วิบากซึ่งเป็นอเหตุกะยังไม่ประกอบด้วยเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงอกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ ที่เป็นอเหตุกะ ก็ทราบได้เลยว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วทางฝ่ายอกุศลต้องให้ผลเป็นอเหตุกวิบากฉันใด กรรมที่เป็นฝ่ายกุศลให้ผลก็เป็นกุศลวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุด้วย แต่ยังให้ผลประกอบด้วยเหตุด้วย เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายกุศลก็จะให้ผลเป็นทั้งอเหตุกกุศลวิบาก และสเหตุกกุศลวิบาก ถ้าเป็นอเหตุกกุศลวิบากสันตีรณะ ทำกิจปฏิสนธิ ได้ ๒ ภูมิ คือ มนุษย์หรือสวรรค์ชั้นต่ำคือจาตุมหาราชิกา จะไม่ให้เกิดในสวรรค์ชั้นอื่น เช่น ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา หรือ ชั้นสูงขึ้นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ถ้าเป็นผลของกุศลที่มีกำลัง ก็จะเป็นหน้าที่ของมหาวิบาก หรือ กามาวจรวิบากดวงหนึ่งดวงใดที่เป็นสเหตุกะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า วิบากที่เป็นอเหตุกะก็ไม่เท่ากับวิบากที่เป็นสเหตุกะ เพราะว่าวิบากที่เป็นสเหตุกะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่วิบากที่เป็นอเหตุกะที่เป็นกุศลวิบากไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีความต่างของผู้ที่ปฏิสนธิที่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิดกับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด จิตที่เป็นกุศล และอกุศลไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเหตุที่จะทำให้วิบากเกิด เมื่อจิตใดเป็นวิบากเกิด จิตนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว จิตนั้นจะเป็นเหตุไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นวิบากแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทราบว่าวันหนึ่งๆ มีทั้งอเหตุกะ สเหตุกะ มีทั้งวิบากจิต มีทั้งกิริยาจิต มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เพียงแต่เราจะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นอเหตุกะ และขณะใดเป็นเหตุที่เป็นกุศล และอกุศลที่จะเป็นกรรมที่จะทำให้วิบากเกิด ซึ่งวิบากที่จะเกิดก็มีทั้งวิบากที่เป็นอเหตุกะ และสเหตุกะ แล้วเราก็จะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าสับสนมาก ก็ลืมว่าเราควรจะเข้าใจอะไรให้แม่นยำถูกต้องตั้งแต่ต้น เช่น เรื่องของสันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิ แค่นี้เราก็เข้าใจได้ว่า อเหตุกวิบากที่เป็นอกุศลวิบากมี ๗ ดวง โดยที่ ๖ ดวงไม่ทำกิจปฏิสนธิแน่ แต่ทางฝ่ายกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะยังสามารถทำกิจปฏิสนธิได้ เมื่อเป็นผลของกุศลที่มีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้นก็เกิดได้ในสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลกรรม เช่นเดียวกับอกุศลวิบากที่เป็นสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิต้องปฏิสนธิในอบายภูมิ ฉันใด ทางฝ่ายกุศล คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากก็ต้องทำปฏิสนธิในสุคติภูมิแต่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะว่าเป็นอเหตุกะ นี่คือความต่างของปฏิสนธิที่ประกอบด้วยเหตุ และไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง ขอทราบสันตีรณะอีกดวงหนึ่งที่เป็นกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ โสมนัสสันตีรณะ ทำได้ ๒ กิจ คือ สันตีรณกิจ กับ ตทาลัมพนกิจ ซึ่งเรายังไม่กล่าวถึง ตอนนี้เรากล่าวถึงสันตีรณกิจ และ ปฏิสนธิกิจ

    ผู้ฟัง เหตุใดทำปฏิสนธิกิจไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าถึงขั้นโสมนัสก็ต้องเป็นหน้าที่ของกุศลที่สูงกว่านี้ ต้องเป็นมหาวิบาก กุศลที่ทำด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี กุศลที่กระทำด้วยโสมนัสเวทนาก็มี เมื่อกุศลที่ทำด้วยอุเบกขาเวทนายังทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโสมนัสก็ต้องยิ่งกว่านั้น เพราะฉะนั้นโสมนัสสันตีรณะไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    ผู้ฟัง กุศลเหตุ ๓ อกุศลเหตุ ๓ เป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรม เมื่อกล่าวถึง ๙ เหตุ จะแบ่งอย่างไร

    อ.วิชัย เหตุ ๙ คือการจำแนกโดยธรรมหมวด ๓ ที่เป็นกุสลติกะ ก็คือ อกุศลเหตุ กุศลเหตุ และอัพยากตเหตุ ซึ่งอัพยากตเหตุนั้นหมายถึงเหตุที่เป็นชาติวิบาก และ เหตุที่เป็นชาติกิริยา

    ผู้ฟัง ก็จึงกำหนดให้เป็น๙

    อ.วิชัย เป็น๙ ก็คือ อกุศลเหตุ ๓ กุศลเหตุ ๓ และอัพยากตเหตุ ๓ ซึ่งอัพยากตเหตุ ก็ได้แก่เหตุที่เป็นชาติวิบาก และก็ชาติกิริยา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปตามความเข้าใจ ก็คือว่า กุศลเหตุ กับ อัพยากตเหตุ ก็คือโสภณเหตุนั่นเอง

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็นโสภณแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ทบทวนให้แม่นยำอีกครั้งหนึ่งว่า "เหตุ" มีทั้งหมดเท่าไหร่ มี ๖ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓ เพราะฉะนั้น อกุศลเหตุ ได้แก่โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓ จะมีอกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุมากกว่านี้ได้ไหม ไม่ได้ ทิฏฐิเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิกเป็นเหตุได้ไหม ไม่ได้ เจตสิกอื่นๆ ที่เป็นอกุศลเป็นเหตุไม่ได้เลยนอกจากโลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เท่านั้นที่เป็นอกุศลเหตุ และคำว่า"อกุศลเหตุ" ต้องตายตัว หมายความว่าเป็นอกุศลได้ชาติเดียว เพราะว่าจริงๆ แล้วทั้งจิต และเจตสิกจะต่างออกเป็น ๔ ชาติ คือ เป็นชาติกุศล ๑ เป็นชาติอกุศล ๑ ซึ่งเป็นเหตุ และเป็นชาติวิบาก ซึ่งเป็นผล ๑ และเป็นชาติกิริยาซึ่งไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล ๑ เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า อกุศลเหตุ หมายความถึงเจตสิกที่เป็นอกุศล ๓ ถูกต้องไหม อกุศลเจตสิกอื่นเป็นเหตุได้ไหม เป็นเหตุไม่ได้ เป็นอกุศลได้ แต่เป็นเหตุไม่ได้

    เพราะฉะนั้นอกุศลเหตุมีเพียง ๓ เท่านั้น และอกุศลเจตสิก ๓ เป็นชาติอื่นไม่ได้เลย เมื่อเกิดขึ้นขณะใดต้องเป็นอกุศลเท่านั้นชาติเดียว อย่างเดียว จะไปเกิดกับอกุศลวิบากไม่ได้ เพราะนั่นเป็นชาติวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น สำหรับเจตสิก ๓ ที่เป็นอกุศลเหตุเกิดเมื่อใด ที่ไหน เป็นอกุศลจิตทั้งนั้น พระโสดาบันมีอกุศลจิตไหม มีอกุศลเหตุไหม มีโลภะ มีโมหะ ขณะนั้นเป็นวิบากได้ไหม ไม่ได้ เป็นกิริยาได้ไหม ไม่ได้เลย อกุศลเหตุ ๓ เกิดที่ใด เมื่อใด อย่างไร ก็ต้องเป็นอกุศลเหตุ ยิ่งกว่านั้นก็คือไม่ใช่เฉพาะแต่อกุศลเหตุ ๓ เท่านั้นที่เป็นชาติอกุศล อกุศลเจตสิกทั้งหมดเป็นชาติอกุศลได้อย่างเดียว เป็นชาติวิบากไม่ได้

    เพราะฉะนั้น กรรมที่กระทำด้วยโลภะ กรรมที่กระทำด้วยโทสะ ทำด้วยความริษยา ด้วยความสำคัญตน ด้วยอกุศลใดๆ ก็ตาม เป็นเหตุให้เกิดผลซึ่งเป็นอกุศลวิบากเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น เกินกว่านั้นไม่ได้ ไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น จะมีอกุศลวิบาก ๘ ไม่ได้ จะทำให้เกิดอกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศล เพราะชื่อก็บอกแล้วว่า "วิปากะ" เป็นผลของอกุศล เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากทั้้งหมดจะมีเพียง ๗ ดวง ซึ่ง ๗ ดวงขณะนี้ หรือตั้งแต่เกิดจนตายก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่การงานตามกาละของกรรมที่เป็นอกุศลให้ผล คือ จักขุวิญญาณ จิตเห็น อกุศลวิบาก ๑ เห็นสิ่งที่ไม่ดี โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ได้ยินเสียงที่ไม่ดี มีอกุศลเกิดร่วมด้วยได้ไหม จักขุวิญญาณอกุศลวิบากมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้ มีโลภะเกิดร่วมด้วยได้ไหม มีโทสะเกิดร่วมได้ไหม มีอิสสาเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้ มัจฉริยะ มานะ หรืออกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย จิตชาติวิบากเป็นผลที่ต้องเกิดขึ้นเห็น แค่เห็นแล้วก็ดับ แค่ได้ยินแล้วก็ดับ แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส แค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทาง ที่เป็นอกุศลวิบาก

    แต่หลังจากที่จิตเหล่านี้ดับไปแล้ว กรรมก็ยังทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่ออีก ๒ ขณะคือ ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ ถ้าจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นอกุศลวิบาก มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้เลย ขึ้นชื่อว่าอกุศลวิบากจะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่ถ้าชื่อว่าอกุศลจิตเกิดเมื่อไหร่ต้องมีอกุศลเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย และก็มีอกุศลอื่นๆ เกิดร่วมด้วย หรือว่าจะกล่าวว่าเจตสิกใดที่เกิดกับอกุศลจิต เจตสิกทั้งหมดนั้นเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่อกุศลเจตสิก แต่เป็นชาติอกุศล แต่สำหรับอกุศลเจตสิกจะมีเพียง ๑๔ ประเภทเท่านั้น

    สำหรับอกุศลวิบากก็มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๕ ดับไปแล้วก็มีสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากเกิดสืบต่อ ดับไปแล้วก็มีสันตีรณอกุศลวิบากเกิดสืบต่อ เท่านั้นเองเป็นผลของอกุศลกรรม น้อยไปหรือไม่ ได้แค่นี้เอง ทำกรรมแสนสาหัสขนาดไหนก็ได้ผลแค่นี้เอง น้อยไหม นึกถึงว่าจะน้อย ก็ลำบากสุดจะทน ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น แต่ที่ทนที่สุดคือทางกาย เราจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เจ็บ ไม่ใช่ท้องเสีย ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้อะไรเลยทั้งสิ้น เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นแล้วถ้ากล่าวโดยนัยของเวทนาที่เกิดร่วมด้วย เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณเป็นอุเบกขาเวทนา อทุกขมสุข เพียงแค่เห็นสั้นมาก น้อยมาก แค่กระทบปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรกดับ จิตนี้เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไปเป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ ตรงนี้ถือว่าเป็นส่วนของรากแก้วตรงไหน หรือว่าเป็นผลของรากแก้วของต้นไม้นั้น

    ท่านอาจารย์ รากต้องเป็นเหตุ เป็นเจตสิก ๖ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเจตสิกจะมีถึง ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่เป็นรากที่มั่นคงจริงๆ ก็มีเพียง ๖ ประเภท เพราะฉะนั้นถ้าจิตใดเกิดโดยที่ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย จิตนั้นไม่มีรากแค่เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เป็นรากที่จะให้เกิดผลอื่นต่อไป

    ผู้ฟัง ถ้าจิตใดไม่มีรากก็เป็นจิตที่ดี

    ท่านอาจารย์ อ่อนมาก มีกำลังอ่อน ไม่สามารถที่จะทำให้มีผลคือวิบาก หรือ กิริยา เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จิตใดที่ไม่มีผล เช่น กิริยาจิต หรือ วิบากจิตเกิดขึ้น ก็เป็นจิตที่ดีไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ "จิต" เท่านั้น ไม่ใช่ดีหรือชั่วเลย “ปัณฑระ” ลักษณะแท้จริงของจิตก็คือเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ หน้าที่ของจิตเป็นใหญ่ มนินทรีย์ รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างก็ทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ แต่จะไม่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์เช่นกับจิต เพราะฉะนั้นจิตจะดีหรือจะชั่วแล้วแต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้ากล่าวถึง "ดี" คือ ฝ่ายโสภณ ก็จะมีทั้งที่เป็นกุศล และกุศลวิบาก และกิริยา ที่เป็นสเหตุกะ ตอนนี้เราคงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่าจิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล ถ้าเป็นกุศล และอกุศลเป็นตัวเหตุที่จะต้องให้เกิดผลขึ้น เมื่อถึงกาละที่สมควร พร้อมด้วยปัจจัยที่จะทำให้เหตุนั้นเกิดให้ผลเมื่อใด ผลก็ต้องเกิดเมื่อนั้น เช่น จิตเห็นเราไม่เคยรู้เลยว่าเป็นผลของกรรม ไม่รู้ว่าเป็นจิต คิดว่าเป็นเรา แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นจิตประเภทผล เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ด้วยเหตุนี้ทางฝ่ายอเหตุกจิต ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นการเกิดที่ประจวบกัน "อุปปัติเหตุ" ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ขณะนี้มีการเห็นเกิดขึ้น มีการได้ยินเกิดขึ้น มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ในขณะที่แม้วิบากอื่นนอกจากนี้ก็ยังมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือการแยกวิบากให้ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ วิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย กับ วิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ส่วนที่ว่าความสำคัญของรากแก้วนอกเหนือจากส่วนที่จะเป็นของต้นไม้แล้ว รากแก้วนี่จะเป็นส่วนอะไรอีกที่จะให้เกิดผลงอกงามในส่วนที่ดี หรือผลเลวเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตก็ต้องประกอบด้วยเหตุใช่ไหม กุศลจิตก็ต้องประกอบด้วยเหตุ ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้วิบากเกิด นี่คือความหมายของคำว่า "เหตุ" แต่สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เกิดแล้วดับแล้วหมดแล้ว

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็ใฝ่ที่จะหาจิตที่ไม่มีเหตุ แต่ที่จริงเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ก็มีอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ จิต ๑๘ ประเภทไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็นชาติวิบาก คือ เป็นผล ๑๕ ประเภท และเป็นกิริยา ๓ ประเภท เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นวิบากไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ยังเป็นจิตชาติวิบากคือ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นแยกผลของกรรมออกเป็น ๒ ประเภท จิตที่เป็นผลของกรรมที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมี ๑๕ ประเภท วิบากจิตที่เป็นผลของกรรมที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีเพียง ๑๕ นอกจากนั้นวิบากอื่นทั้งหมดมีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง กุศลวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ หลับสนิท

    ผู้ฟัง เป็นภวังค์

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากที่มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย สำหรับบางท่านมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นผลของกรรมต่างกันที่ทำให้ปฏิสนธิต่างกันที่ทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะสิ้นชีวิต หมดกรรมนั้นเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่กรรมไหนจะทำให้ปฎิสนธิเป็นอเหตุกะหรือสเหตุกะ ถ้าเป็นสเหตุกะก็ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และสำหรับผู้ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ใช่จิตที่ทำกิจเห็น กิจได้ยิน แต่ว่าเป็นขณะที่สืบต่อจากปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นพื้นฐาน

    เพราะฉะนั้น เราจะเห็นพื้นฐานของผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกอกุศลวิบาก พื้นฐานของผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกกุศลวิบาก และพื้นฐานของผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากหรือกามาวจรวิบากที่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และปฏิสนธิของผู้ที่ประกอบด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก มิฉะนั้นคนเราจะไม่ต่างกันเลย เห็นความน่าอัศจรรย์ของกรรมไหม ทำให้เกิดจักขุปสาทก็ได้ ไม่ทำให้เกิดจักขุปสาทก็ได้ และซึ่งจักขุปสาทอยู่ที่กลางตา ซึ่งสามารถจะกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น แค่นิดเดียวเอง แค่เกิดแล้วก็ดับไปภายใน ๑๗ ขณะ แต่ก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้กรรมให้ผลทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น และวิบากอื่นเกิดขึ้น ก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของธรรมว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่จะบันดาลสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นเรื่องของธรรมที่เป็นปัจจัยเท่านั้น

    ผู้ฟัง สงสัยเรื่องมหาภูตรูป ๔ ขณะนี้ที่สภาพธรรมปรากฏ เย็นร้อน อ่อนแข็ง เป็นธาตุไฟใช่ไหม เป็นรูปหนึ่งใช่ไหม

    อ.อรรณพ ความเข้าใจธรรมต้องตรงตามที่พระองค์ทรงแสดง เช่น ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม กับ "น้ำ" ที่เราใช้กันในภาษาไทย คือเราแปลมาจากคำว่า “อาโป” อาโปธาตุแปลว่าธาตุน้ำ ธาตุน้ำหมายถึงเป็นสภาวะของการเกาะกุม แต่น้ำที่เราเห็นกันอยู่นี้ประกอบด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วมี รูปอื่นๆ ที่เป็นอุปทายรูปรวมอยู่ด้วย แต่ว่าสิ่งของต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยรูปปรมัตถ์ต่างๆ ตามสมควรกับรูปนั้น

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า ธาตุน้ำ กระทบกายไม่ได้ แต่คนที่เขาอาบทุกวัน เมื่อเช้าได้พิสูจน์ว่ากระทบกายไม่ได้ แต่ก็อาบทุกวัน แต่รู้สึกว่าหนาวๆ ร้อนๆ เย็นๆ ลักษณะนี้กระทบใจได้ใช่ไหม

    อ.อรรณพ จริงๆ แล้วที่กระทบ ถ้าไม่คิดว่าเป็นน้ำ ถ้าไม่คิดว่าเป็นวัตถุเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จริงๆ แล้วคือปรากฏเฉพาะสภาพธรรม สภาพธรรมปรากฏทางกายคืออะไร เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เท่านั้นที่ปรากฏทางกาย แต่เรามีความจำว่า นี้เรียกว่าวัสดุ นี้เรียกว่าน้ำ แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมปรากฏในแต่ละทวาร ทางตาเป็นเพียงแค่สีเท่านั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ