พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72


    ตอนที่ ๗๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเห็นต้องมีเจตสิกอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่ได้เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุจึงใช้คำว่า "อเหตุกะ" เพราะฉะนั้นเพิ่มคำแล้วใช่ไหม "เห็น" เป็นจิตประเภทไหน อเหตุกะ คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย "ได้ยิน" ก็เช่นเดียวกัน "ได้กลิ่น" ก็เช่นเดียวกัน "ลิ้มรส" ก็เช่นเดียวกัน "รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส" ก็เช่นเดียวกัน มีทางที่กรรมจะให้ผล ๕ ทาง ให้ทราบว่าเมื่อได้กระทำกรรมลงไปแล้ว กรรมจะให้ผล ๕ ทาง คือ ให้เห็นดีเป็นกุศลวิบาก ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวม ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ประเภท เป็นอเหตุกะ

    อเหตุกะซึ่งเป็นวิบากมีทั้งหมด ๑๕ ดวง เพราะเหตุว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิก ๖ ที่เป็นเหตุ จะมีทั้งหมด ๑๘ ดวง และเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๕ ประเภท กล่าวให้รู้แล้ว ๑๐ ประเภท เมื่อเห็นแล้ว ดับไปแล้ว ต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อแน่นอน

    นี่คือสิ่งที่เรากำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่มีแต่จิตเห็นแล้วก็ดับ แต่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อด้วย แต่จิตที่เกิดสืบต่อ หากไม่มีการฟังพระธรรมเลย ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แม้พระสูตรก็ทรงแสดงเท่าที่สามารถจะรู้ได้ เช่น เห็นแล้วเกิดกุศลหรืออกุศล นี่โดยนัยของพระสูตร จริงหรือไม่ เห็นเฉยๆ หรือเมื่อเห็นแล้วก็ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง หรือเกิดกุศลจิตอยากจะให้สิ่งที่มีในขณะนั้นกับบุคคลอื่น หรือเป็นกุศลประการอื่นๆ ก็ได้ ขณะนั้นก็มีจริง ไม่ใช่ทุกคนเพียงแค่เห็นแล้วหมดเลย แล้วไม่มีอะไรเกิดต่อ แต่หลังจากเห็นแล้วโดยนัยของพระสูตร คือ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด ถูกต้องไหม นี่คือฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ใครไม่เป็นอย่างนี้บ้าง ไม่มีใช่ไหม ที่ทุกคนเริ่มเข้าใจก็คือ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล จะดีจะชั่วทั้งหมดมาจากเห็น ชอบในสิ่งที่เห็น ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ไม่ชอบในเสียงที่ได้ยิน หรือชอบในเสียงที่ได้ยิน ทั้งหมดนี้เป็นทางที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดสืบต่อ แต่ต้องแยกให้ละเอียดว่า เห็นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นวิบากจิต คือเป็นผลของกรรมที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพียงแค่เห็นเท่านั้นเอง หรือว่าขณะที่ได้ยิน ขณะนี้เองก็เป็นผลของกรรม ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และก็ทำกิจได้ยินแล้วก็ดับไป หลังจากนั้นก็คือ กุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาโดยนัยของพระสูตร จะไม่มีคำว่า "ชวนะ" ซึ่งเวลาที่เรากำลังฟังธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ต้องใช้คำว่า "ชวนะ" ก็ได้ ถ้าระหว่างคำว่า "ชวนะ" กับ "กุศล" และ "อกุศล" จะได้ยินคำไหนบ่อย กุศล และอกุศล ทุกคนก็ได้ยิน กุศลก็เป็นสิ่งที่ดีงาม ให้ผลเป็นสุข อกุศลก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ให้โทษทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรม เราจะศึกษาว่าจิตเกิดขึ้นไม่ใช่เรา แต่ทำกิจตามหน้าที่ของจิตนั้นๆ นี่แสดงว่าความรู้ของเราเข้าใจเพิ่มขึ้น ในขณะที่กำลังเห็นแล้วก็มีโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง หรือมีกุศลประการหนึ่งประการใดซึ่งสืบเนื่องต่อจากการเห็น และการได้ยิน เป็นต้น

    ก็ให้ทราบว่า จิตจะต้องทำกิจ บางครั้งเรียกชื่อจิตตามอารมณ์ บางครั้งเรียกชื่อจิตตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และบางครั้งเรียกชื่อจิตตามกิจ เช่น สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณ เรียกชื่อนี้โดยอาศัยตาซึ่งเป็นทางที่จะทำให้รู้สิ่งที่ปรากฏ "จักขุวิญญาณ" ต้องมีจิตที่อาศัยจักขุเกิดขึ้นแล้วก็เห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่เรียกชื่อตามทางก็ได้ หรือที่เกิดก็ได้ แต่เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว มีจิตเกิดสืบต่อ ยังไม่ถึงกุศล และอกุศลเลย นี่คือการที่จะได้เข้าใจความรวดเร็วของสภาพธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ แม้ฟังเข้าใจได้ แต่ว่าจะประจักษ์หรือไม่ นั่นก็ตามแต่กำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ผู้ที่ได้ประจักษ์แล้วทรงแสดงตามความเป็นจริงว่าจักขุวิญญาณดับแล้ว กุศล อกุศลยังเกิดทันทีไม่ได้เลย ต้องมีจิตซึ่งเกิดสืบต่อเร็วมากซึ่งไม่ปรากฏเลย ขณะนี้ถ้าจะปรากฏก็เพียงแค่เห็น แล้วชอบหรือไม่ชอบ เป็นกุศล และอกุศล แต่จิตที่อยู่ในระหว่างนั้นไม่ได้ปรากฏให้รู้ แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้วได้แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เราเลย

    ก่อนที่จะถึงกุศลจิต และอกุศลจิต เมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นทางตา สัมปฏิจฉันนะก็มีสีที่กำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏกับจักขุวิญญาณเหมือนกันอย่างนั้น รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นก็มีรูปนั้นที่เป็นอารมณ์ ถ้าเป็นทางหูเพียงได้ยิน ได้ยินขณะนี้ไม่รู้อะไรเลย รวดเร็วเหลือเกิน แล้วก็มีจิตชอบ ไม่ชอบ เป็นอกุศล หรือ กุศลเกิดต่อ ก็ไม่รู้อีก ดับไปหมดแล้วด้วยความไม่รู้ แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมว่าเมื่อโสตวิญญาณเรียกชื่อตามโสต วิญญาณที่รู้โดยอาศัยทวารหูดับไปแล้ว ต้องมีจิตที่เกิดต่อ ทำหน้าที่รับรู้ต่อ ภาษาไทยเราใช้คำนี้ได้ ภาษาบาลีใช้คำว่าสัมปฏิจฉันนะ เราก็เพิ่มชื่อขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อยก็คงจะไม่ยาก เราจำวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัส วันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ๗ ชื่อได้ เราก็จำชื่อสัมปฏิจฉันนะเพิ่มมาอีก เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ แสดงทำไมทั้งๆ ที่ใครก็ไม่รู้ แต่ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าขณะนี้จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่รับรู้สืบต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะยังเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้เลย และอะไรทำให้สัมปฏิจฉันนะเกิดรับรู้อารมณ์ต่อ อารมณ์เดียวกับจักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณ กรรมนั่นเองที่เป็นปัจจัยให้ผลไม่ใช่เพียงขณะเห็น แต่แม้ขณะที่จะต้องรับรู้อารมณ์นั้นต่อก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครไปบันดาลเลยว่าจักขุวิญญาณดับแล้ว กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดต่อทันที เป็นไปไม่ได้เลย ธรรมต้องเป็นไปตามปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ยิ่งเรียนยิ่งเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ลืมไม่ได้เลยว่า การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ขณะนี้จะเป็นอนุตตริยะ การฟังที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่า เป็นมูลที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในกาลข้างหน้า ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ศึกษาธรรมคือศึกษาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งจะเป็นมูลให้มีการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏข้างหน้าได้ ก็เป็นการฟังที่ประเสริฐกว่าสิ่งอื่น

    เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นว่า แม้ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะในขณะนี้ เพราะมีเพียงแค่เห็น และก็มีเพียงแค่ได้ยิน และก็มีกุศล อกุศลซึ่งเกิดสืบต่อ และก็ดับไปก่อนจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่คือการเกิดดับของสภาพธรรมอย่างเร็วมาก สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบาก และก็เป็นอเหตุกะด้วย สำหรับอเหตุกะ ๑๕ เราค่อยๆ จำว่าจาก ๑๐ เป็นสัมปฏิจฉันนะ ๒ เพราะเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ถ้าจิตเห็นเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบากแน่นอน รู้รูปเดียวกันเป็นผลของกรรมเดียวกัน เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ คือพิจารณาสิ่งที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ชั่วหนึ่งขณะไม่ต้องเสียเวลาไปคิดเลย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่จิตนั้นเกิดขึ้นทำหน้าที่นั้นก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ให้ทราบว่าช่วงคั่นระหว่างเห็นแล้วก็เป็นกุศล อกุศล ก็มีจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนจิตเกิด สันตีรณจิตเกิด และโวฏฐัพพนจิตเกิด สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิตเป็นวิบาก แต่โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต

    อเหตุกจิต ๑๘ ดวงเป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ วิบาก ๑๕ ครบหรือยัง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เห็น ๒ ได้ยิน ๒ ได้กลิ่น ๒ ลิ้มรส ๒ รู้สิ่งที่กระทบทางกาย ๒ สัมปฏิจฉันนะอีก ๒ เป็น ๑๒ สันตีรณะ ๓ นี้ก็ครบแล้วอเหตุกวิบาก สำหรับสันตีรณะ ๓ ก็มี ๒ ประเภท คือกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก สำหรับอกุศลวิบากอุเบกขาสันตีรณะ ๑ สำหรับกุศลวิบากเป็นอุเบกขาสันตีรณะ ๑ และโสมนัสสันตีรณะ ๑ ต่างกันที่เวทนา เพราะเหตุว่า อารมณ์ที่ปรากฏก็จะมีทั้งอารมณ์ที่ประณีตกับอารมณ์ที่ไม่ประณีต แต่เป็นอารมณ์ที่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่ประณีตมาก ไม่มีใครไปเลือก ไม่มีใครไปจัดสรรเลย โสมนัสสันตีรณะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย และก็ดับไป รู้ไหมขณะนี้ ว่าเป็นอย่างนี้ จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับ สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วดับ สันตีรณะเกิดแล้วดับ โวฏฐัพพนะเกิดแล้วดับ แต่จะรู้ตอนที่เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้ารู้ แต่ปกติรู้หรือเปล่า เห็นไหม ไม่รู้ทั้งๆ ที่มี

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ให้เข้าใจยิ่งขึ้นในความไม่ใช่ตัวตน ในความเป็นอนัตตาของธรรม มิฉะนั้นการฟังของเราจะไม่มีประโยชน์เลย ฟังแล้วชาติหน้าลืมหมด ถ้าไม่รู้ว่าฟังเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ให้เข้าใจขึ้น ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จะทำให้ถึงกาละที่สติสัมปชัญญะเกิด เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ซึ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก ขณะนั้นก็จะเป็นสติปัฏฐานเป็นทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น การฟังขณะนี้เองไม่สูญหายเลย

    สำหรับโวฏฐัพพนะเป็นกิริยาจิต ๑ ซึ่งอเหตุกกิริยามี ๓ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปาทจิต ๑ เมื่อครู่นี้จำ และเข้าใจวิบาก ๑๕ ตั้ง ๑๕ ได้แล้วใช่ไหมเหลืออีกแค่ ๓ เท่านั้นเอง และก็ได้กล่าวถึงบ่อยๆ ว่าก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดต้องมีกิริยาจิต ตอนนี้ไม่ใช่วิบากแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าเป็นวิบากต้องตรงตามอารมณ์ และตามกรรม ถ้าเป็นกุศลวิบาก อารมณ์ต้องเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าเป็นอกุศลวิบากต้องเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่เมื่อเป็นกิริยาสามารถที่จะรู้อารมณ์ทั้งน่าพอใจ และไม่น่าพอใจด้วยจึงไม่ใช่วิบาก

    เพราะฉะนั้น เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะจิตกระทำกิจโวฏฐัพพนะ กระทำทางหรือเป็นทาง หรือเป็นบาทเฉพาะ ที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ หมายความว่าเมื่อโวฏฐัพพนจิต ซึ่งได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต เพราะมีกิริยาจิต ๓ ดวง ถ้าทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร ก็ใช้คำว่า มโนทวาราวัชชนะ เพราะทำอาวัชชนกิจ แต่เมื่อไม่ได้ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร แต่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร ขณะนั้นก็ไม่ชื่อว่าอาวัชชนกิจ ก็เรียกตามกิจว่า โวฏฐัพพนจิต ก็ได้ เพราะขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจดับไปแล้ว ตอนนี้เลือกไม่ได้เลย ใครจะให้เป็นกุศลจิต ใครจะให้เป็นอกุศลจิต จะไปโทษโวฏฐัพพนจิตก็ไม่ได้เพราะต้องเป็นไปตามการสะสม โวฏฐัพพนจิตเพียงเกิดขึ้นทำกิจเป็นบาทเฉพาะว่า เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงเกิด ตามการสะสม ที่ได้สะสมมา

    เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้ฟังพระธรรมก็ให้ทราบว่าเป็นอนัตตา ให้รู้จักสิ่งที่กำลังปรากฏให้ละเอียดขึ้น ถูกต้องขึ้น แม้กุศลหรืออกุศลก็ไม่ใช่ตัวตน จะมานั่งคิดว่าเราฟังธรรมแล้วอกุศลจิตเรายังจะเกิดอีกก็คือความเป็นเรา แต่ถ้าฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ คือฟังตั้งแต่ต้นว่าเป็นอนัตตา แล้วก็รู้จริงๆ ทุกลำดับจิตที่เกิดว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จะต้องมาคิดว่าเป็นเรา แล้วก็มีกุศลน้อย เมื่อไหร่กุศลจะมากขึ้น หรือ อกุศลนั้นก็เกิดบ่อยๆ แต่ฟังเพื่อเข้าใจว่าแม้อกุศลก็ไม่ใช่เรา และกุศลก็ไม่ใช่เรา แม้จะคิดก็ไม่ใช่เรา ทุกคนในที่นี้ต่างคนต่างคิด คิดเหมือนกันหรือไม่ ไม่เหมือน ทำไมรู้ ไปรู้ความคิดของคนอื่นได้อย่างไร ทำไมรู้ว่าคิดไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง เวลาเห็นๆ เหมือนกัน อย่างเห็นดอกไม้ บางคนไม่ชอบ บางคนก็ชอบ เพราะการสะสมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราเองจะรู้กุศลจิต และอกุศลจิตของเราจริงๆ หรือไม่ ที่กล่าวมาทั้งหมดมีจริง แล้วก็ปรากฏ เช่นเห็น แล้วก็เกิดขึ้นให้รู้ แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ นี่แสดงให้เห็นว่าอวิชชาของเรามากมายขนาดไหน ไม่ต้องคิดเรื่องที่จะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเลย ตราบใดที่ไม่รู้ขณะนี้ที่กำลังเห็น ทุกคนก็คงจะได้ฟังพระปัจฉิมโอวาท เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เมื่อวานนี้ที่พูดเรื่องพระสูตรก็กล่าวถึงคำนี้ด้วย ก็มีท่านผู้หนึ่งที่ท่านมีความซึ้งใจในคำที่ว่าควรเป็นผู้ที่ไม่ประมาท หมายความลึกซึ้งแค่ไหน ถ้าไม่ประมาทจริงๆ กำลังเห็น รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือไม่ประมาท ใช่ไหม เพราะถ้าประมาทคือขณะนั้นเป็นอกุศลเพราะไม่รู้ เมื่อไม่รู้จะเป็นกุศลไม่ได้ ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าความประมาท และอวิชชาความไม่รู้มากมายแค่ไหน แล้วจะหมดไปได้จริงๆ ด้วยความไม่ประมาท คือ แม้เห็นขณะนี้ อกุศล และอวิชชาก็ไม่ได้เกิด แต่ต้องเป็นขณะที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญาที่เข้าใจถูก เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พระธรรมละเอียดมาก ลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์ที่ว่า ศึกษาโดยไม่ว่าเราจะได้ยินคำอะไรทั้งหมด ให้รู้ว่าเพื่อมีความเห็นถูก เพื่อเห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ขอให้ขยายคำว่าอารมณ์ดีกับอารมณ์ไม่ดี เพราะเวลานี้สับสน มองเสร็จแล้วชอบก็ว่าเป็นอารมณ์ดี ไม่ชอบก็ว่าเป็นอารมณ์ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึง"รูป" เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนกันหรือหลากหลาย หลากหลาย เมื่อเห็นแล้วก็รู้สึกสบายใจ ชอบหรือติดข้องก็มี หรือเห็นแล้วก็รู้สึกกลัว ตกใจ ไม่สบายใจเลยก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เรียกชื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี ที่ต่างกัน มีจริงๆ ถ้าสิ่งไหนที่ทำให้เกิดทุกข์โทมนัส โดยสภาพของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นใช้ชื่อว่า อนิฏฐารมณ์ เพราะว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี แต่ส่วนสภาพของรูปใดที่มีจริง เวลาเห็นก็สบายใจ ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อนใจเลย และมากกว่านั้นก็คือยังติดข้องในสิ่งนั้นเสียด้วย แต่ก็จะกล่าวเฉพาะเรื่องของรูปซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่างตามความเป็นจริงคือ รูปที่น่าพอใจ ใครๆ เห็นส่วนใหญ่แล้วก็สบายใจ พอใจเป็นอย่างหนึ่ง และรูปที่ไม่น่าพอใจเลย เห็นแล้วก็ตกใจแล้วก็กลัว หรือเสียงก็เหมือนกัน เสียงดังสนั่น ทุกคนตกใจกันทั้งนั้น ขณะนั้นก็เป็นเสียงที่ต่างกับเสียงที่อ่อนหวานไพเราะ เสียงดนตรี เสียงที่น่าฟัง แสดงว่าลักษณะของรูปก็จะต่างกันเป็นที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อกรรมให้ผลก็ให้ผลตามสมควร เพราะเหตุว่าเป็นกรรมที่กระทำในภูมิที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมก็ไม่ได้ไปอื่นเลยนอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วนเวียนไปอย่างนี้ตามสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมใด ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็มีการกระทบกันของอิฏฐารมณ์กับปสาทรูปที่ทำให้เมื่อจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นหรือได้ยินแล้ว ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมเดียวกันดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะเกิดต่อ ต่อจากนั้นจึงจะชอบ ไม่ชอบ เป็นกุศลหรืออกุศลตามการสะสม เพราะฉะนั้น ก็เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ตรงนี้ไม่เข้าใจ รูปของมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันจะเรียกว่าอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ไม่น่าจะได้ มันอยู่ที่เรามองมันเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดก่อนชอบ ไม่ชอบ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง จิตเห็นเกิดก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตเห็น เห็นอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด คืออิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ จิตเห็นไม่รู้ แต่อารมณ์นั้นต้องเป็นอิฏฐารมณ์สำหรับกุศลวิบาก และเป็นอนิฏฐารมณ์สำหรับอกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง เป็นอยู่แล้วแต่เราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เราไม่มีทางรู้เลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นลึกลงไปกว่าที่คิดอีก

    ผู้ฟัง ขณะที่เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์นั่นก็แล้วแต่ผลของกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิได้ รูปทุกรูปมีสมุฏฐาน แล้วตัวรูปนั้นก็ต่างกันเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ จะเห็นหรือไม่เห็นไม่เกี่ยวข้องกับใครเลยทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่เป็นกุศลกรรม กุศลวิบากจิตจะเกิด รูปที่เป็นอิฏฐารมณ์กระทบกับจักขุปสาทโดยที่ไม่มีใครเลือก เป็นเรื่องของกรรมที่จะให้ผลที่อิฏฐารมณ์กระทบกับจักขุปสาท

    ผู้ฟัง ทำไมลึกซึ้งขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ นี่คือความจริง เพราะสิ่งที่ชีวิตประจำวันแท้ๆ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เห็นอะไรเลย บางคนไม่เห็นประโยชน์ว่าจะฟังทำไมเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อจำ แต่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงให้ลึกจนกระทั่งทุกอย่างเป็นอนัตตา แล้วก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแต่ละปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษา เป็นเรา เต็มวันแค่ไหน กี่ชาติ แต่พอศึกษาแล้วเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม เพียงเข้าใจว่ากำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ให้เข้าใจถูกต้องขึ้นในความเป็นธรรม เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเรา

    ผู้ฟัง แล้ววิถีจิตต่างกับชวนจิตอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิตทั้งนั้น ชวนะก็เป็นวิถีจิต ตทาลัมพนะก็เป็นวิถีจิต โลภะก็เป็นวิถีจิต ทุกอย่างที่ไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิต จิตที่ทำกิจภวังค์จะทำกิจอื่นไม่ได้เลย ต้องทำภวังคกิจ จึงชื่อว่า ภวังคจิต และเป็นวิบากจิตที่จะต้องทำภวังคกิจ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ