พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107


    ตอนที่ ๑๐๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง จุติจิตเกิด ปฏิสนธิก็เกิดต่อทันที หลังจากนั้นที่ยังอยู่ในครรภ์เป็นจิตอะไรต่อจากปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงธรรม เราพูดถึงจิต เราจะไม่พูดถึงว่าเกิดในครรภ์หรือว่าเกิดในเถ้าไคล หรือว่าเกิดผุดเป็นตัวตน คือเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตแล้วดับไป ขณะต่อไปต้องเป็นภวังคจิต อยู่ในครรภ์ถ้าไม่มีจิตปฏิสนธิก็ไม่ใช่การเกิด

    ผู้ฟัง คือหลังจากนั้นแล้วก็เป็นภวังค์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หลังจากปฏิสนธิแล้วต้องเป็นภวังค์ จะเป็นอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ตลอดไปเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตลอด แล้วแต่ว่าจะเกิดวิถีจิตเมื่อไหร่ ไม่มีจำกัดว่าจะเป็นภวังค์นานเท่าไหร่

    ผู้ฟัง แต่ก็มีอารมณ์ที่เป็นมโนทวารอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ มโนทวารวิถีจิตจะเกิดก่อนวิถีจิตอื่น

    ผู้ฟัง ต้องเกิดก่อนอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกภพชาติหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว และภวังค์ดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจะเกิดก่อนทวารอื่น

    ผู้ฟัง ก่อนที่ปัญจทวารจะเกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดก่อนวิถีจิตทางทวารอื่นจะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ทุกภพชาติต้องมีมโนทวารวิถีจิตเกิดก่อน

    ผู้ฟัง แต่หลังจากปฏิสนธิแล้วต้องภวังค์ก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่เห็นอะไรเลย ก็ต้องเป็นมโนทวารวิถีอยู่อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่เห็นก็ต้องเป็นภวังค์ คือถ้าใช้คำว่าทวาร หมายความว่าทางที่จิตจะเกิดรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ คือจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้เพราะเหตุว่าขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต อารมณ์ไม่ปรากฏ เกิดในนรก อารมณ์ก็ไม่ได้ปรากฏ เกิดบนสวรรค์ อารมณ์ก็ไม่ได้ปรากฏ เกิดในรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ อารมณ์ก็ไม่ได้ปรากฏ เมื่อเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต อารมณ์จะไม่ปรากฏเลย

    ผู้ฟัง แล้วหลังจากนั้นปรากฏตอนไหน

    ท่านอาจารย์ ตอนที่อาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เช่น อาศัยทางตาเกิดขึ้นเห็น นี่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ในขณะที่ตายังไม่เห็น ก็คือยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นภวังค์ อารมณ์ไม่ปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะว่าขณะที่ไม่เห็น จะได้ยินก็ได้ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน คิดนึกก็ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงว่าอารมณ์ไม่ปรากฏ ขณะนั้นต้องเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต เท่านั้น

    จิตเกิดดับเร็วมาก หลายวาระนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นขณะที่เหมือนเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังเห็น เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นจิตอะไร เพราะเหตุว่าปัญจทวารวิถีจิตถ้าเป็นจักขุทวารวิถีจะเริ่มมีสิ่งที่กระทบทางตาเป็นอารมณ์ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก แต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นเป็นจักขุวิญญาณ เห็นแล้วก็ดับไปเร็วมาก และต่อจากนั้นก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ แล้วก็เป็นชวนะ ถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับ ตทาลัมพนะก็เกิดต่อก่อนที่จะเป็นภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์นั้นดับก่อน ตทาลัมพนะก็ไม่เกิด แต่เราจะไม่รู้เลย ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย หลายวาระ เหมือนปรากฏ แต่ความจริงแล้ว การที่จักขุทวารวิถีดับไปก่อน ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีรับรู้อารมณ์เดียวกันต่อ หลายวาระเหมือนกัน จึงปรากฏเหมือนกับว่าเรานั่งอยู่ที่นี่ มีคนนั้นคนนี้ นี่ก็คือความรวดเร็ว แต่จากการศึกษาทำให้เราเห็นว่าผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทรงประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ ก็ทรงแสดงอย่างนี้

    ผู้ฟัง วิถีจิตทางปัญจทวารขณะที่เป็นทวิปัญจวิญญาณ หลังจากนั้นก็เป็นสัมปฏิจฉันนะจิต แล้วก็เป็นสันตีรณะจิต จิตทั้ง ๓ ประเภทนี้จะมีลักษณะเหมือนกันหรือไม่ เพราะว่าเป็นจิตชาติเดียวกัน คือวิบากจิต และรู้อารมณ์เดียวกันด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ทำกิจต่างกัน ถ้าทำกิจภวังค์ ปฏิสนธิเป็นอกุศลวิบาก ภวังคจิตเป็นอกุศลวิบาก เปลี่ยนไม่ได้เลย ภวังค์กับปฏิสนธิต้องเป็นอกุศลวิบากประเภทนั้นตลอดไป แต่เมื่อกล่าวถึงวิบากอื่นที่มีชื่อต่างออกไปเพราะเหตุว่าทำกิจต่างกัน ถามว่า สัมปฏิจฉันนจิตทำภวังคกิจได้ไหม

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนจิตทำสัมปฏิจฉันนกิจได้อย่างเดียว นี่แสดงให้เห็นว่าแม้เป็นวิบากแต่ต่างกันตรงที่ว่าวิบากที่ไม่ใช่วิถีจิตก็มี วิบากที่เป็นวิถีจิตก็มี สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากที่เป็นวิถีจิต ภวังคจิตเป็นวิบากที่ไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง แต่ทวิปัญจวิญญาณรับวิบาก

    ท่านอาจารย์ ทวิปัญจวิญญาณเป็นวิบากจิต

    ผู้ฟัง เพียงแต่หน้าที่จะต่างกับสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น

    ผู้ฟัง แสดงว่าสัมปฏิจฉันนะไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น ไม่ได้ทำทัสสนกิจเลย แต่รับรู้สิ่งที่จักขุวิญญาณเห็นต่อ

    ผู้ฟัง แสดงว่าเห็นแค่ขณะเดียวเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะเดียว คือ ทัสสนกิจ คือ จักขุวิญญาณ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องเรียกชื่อต่างๆ กันเพราะว่าเป็นจิตเหมือนกัน แต่แม้ว่าเป็นวิบาก ก็แล้วแต่ว่าทำกิจอะไร ถ้าทำทัสสนกิจก็ชื่อว่าจักขุวิญญาณ ถ้ารับรู้ต่อโดยไม่เห็นก็เป็นสัมปฏิจฉันนจิตเพราะทำสัมปฏิจฉันนกิจ ๒ จิตนี้ ทำกิจอื่นไม่ได้เลย จักขุวิญญาณต้องเห็นอย่างเดียว สัมปฏิจฉันนะก็ต้องรับรู้อารมณ์ต่อจากอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๕ ทวาร

    ผู้ฟัง ครั้งแรกแรกเข้าใจว่าการที่เราเห็น เรารู้ว่ามีเห็น เพียงแค่เห็นเกิดขึ้นขณะเดียวแต่รู้ว่ามีเห็น

    ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องไปพูดถึงขณะจิตเลย ขณะนี้นับไม่ถ้วนว่าเท่าไหร่ ไม่ต้องนับเลยเพราะนับไม่ได้ แต่ให้ทราบว่าสภาพธรรมที่เป็นมายากลที่หลอกให้เราเข้าใจว่าเที่ยง จนกระทั่งเป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ เพราะการเกิดดับสืบต่อของจิตทีละหนึ่งขณะเอง แต่ว่าเร็วมาก ประมาณไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดถึงว่าวาระไหน ขณะไหน ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณหรือว่าเป็นสัมปฏิจฉันนะ หรือเป็นสันตีรณะ

    ผู้ฟัง ทางชวนวิถีเกิดถึง ๗ ขณะ เราก็ยังรู้สึกได้ว่าเขาเกิดมีขึ้น รู้สึกได้ถึงขณะที่เกิดว่าขณะนั้นเป็นโลภะ โทสะ เราพอจะสังเกตได้ แต่ว่าอย่างทางตาเห็นขณะเดียว แล้วก็ดับไปเลย แล้วยังทันสังเกตได้อยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปนับหนึ่งขณะเลย ไม่ต้องไปคิดถึงเลยว่าขณะนี้เห็นหนึ่งขณะที่จะไปรู้ไม่ใช่แบบนั้น เพียงแต่เริ่มเข้าใจ แม้แต่เพียงจะเริ่มเข้าใจว่าขณะนี้ที่เห็นเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้จึงสามารถเห็นในขณะนี้ได้ เพื่อที่จะได้ว่าไม่มีเรา ไม่ใช่เราที่เห็น

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทราบได้ไหมว่าเห็นขณะเดียวจริงๆ

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่ต้องไปนั่งคิดว่านอกจากนั้นมีใครอีก ใครรู้ได้ก็แล้วแต่ปัญญาของบุคคลนั้น

    อ.ธิดารัตน์ ถึงแม้ว่าจิตเห็นจะเกิดเพียงขณะเดียวทำกิจเห็น แต่ในวิถีจิตนั้นก็มีจิตอื่นๆ ในวิถีนั้นมีรูปเป็นอารมณ์เหมือนกัน เวลาที่จะรู้ลักษณะของรูป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปรู้ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ แต่จะรู้ลักษณะของรูปที่เป็นอารมณ์ในขณะที่จิตทำชวนกิจยังมีรูปนั้นเป็นอารมณ์อยู่ อย่างนี้จะถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เราคงจะไม่ไปรู้ว่าขณะนั้นเป็นรูปวาระไหน เพราะขณะนี้ก็ต้องทราบว่า "การเกิดดับของจิตเร็วที่สุด" ต้องใช้คำนี้ย้ำอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องไปเป็นห่วงเลยตราบใดที่รูปนั้นปรากฏวาระไหนไม่ต้องคิดเลย ถ้ารูปนั้นมีปรากฏก็รู้ลักษณะของรูปนั้นเท่านั้นเอง ขณะนี้กี่วาระแล้วนับไม่ถ้วนเลย แล้วแต่ว่าขณะนี้มีสิ่งใดปรากฏให้เข้าใจได้ ไม่ใช่ไม่ปรากฏแล้วพยายามไปเข้าใจสิ่งที่ไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้ เห็นกำลังมี สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ก็มี ไม่ต้องไปคำนึงว่าวาระไหน กี่วาระไปแล้ว เกิดดับนับไม่ถ้วนอย่างไรไม่ต้องไปคิด เพราะจริงๆ แล้ววิสัยของผู้ที่จะรู้ตาม หรือผู้ที่จะรู้สภาพธรรมยุคนี้สมัยนี้ ก็ลองคิดถึงว่าปัญญาของเราที่ฟังธรรมมาก็นานพอสมควรกว่าจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เป็นธรรม ต้องเข้าถึงความเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏแล้ว มีจริง ฟังมาแล้วจริง พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาบ่อยๆ แม้ในขณะนี้เอง แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือยัง หรือแม้แต่เห็น ก็มีเห็น แล้วก็กล่าวเรื่องเห็น รู้ว่าเป็นจิตไม่ประกอบด้วยเหตุมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง นี่ก็เป็นเรื่องที่ฟังจากผู้ที่ทรงตรัสรู้ แต่ไม่ต้องไปกังวล ขณะนี้ที่เริ่มจะค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะที่กำลังเห็นมีจริงๆ และลักษณะนี้ก็เป็นสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเพียงสามารถเห็น แต่ลักษณะที่เห็นไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ก็ไม่ต้องไปคำนึงว่าวาระไหน เห็นขณะนี้กี่วาระ

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าเป็นลักษณะของการเห็นหมายถึงว่าจะต้องเป็นสภาพรู้ทางตา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะนี้ที่เห็น ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ต้องไปกังวลว่าวาระไหน

    อ.ธิดารัตน์ ซึ่งลักษณะของสภาพรู้ทางตา เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าเป็นจิตดวงใดในขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ แค่จะรู้ว่าเป็นธรรม แค่จะรู้ว่าเป็นสภาพรู้ แค่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา รู้หรือยัง แล้วเราจะไปรู้ขณะนั้น รู้ได้อย่างไร เพียงแต่รู้ว่าขณะนี้เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้จะรู้หรือยัง

    อ.ธิดารัตน์ ตรงนี้หมายถึงนามธรรม และถ้าเป็นลักษณะของรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกันโดยนัยเดียวกัน เพราะว่าจิตที่รู้รูปนั้นกี่วาระแล้ว

    อ.ธิดารัตน์ ก็มาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดมีลักษณะของรูปปรากฏให้เข้าใจ ก็เริ่มเข้าใจลักษณะนั้นไม่กังวลถึงว่ากี่วาระ

    อ.ธิดารัตน์ นอกจากหลายขณะแล้ว ยังหลายวาระที่เกิด

    ท่านอาจารย์ นับไม่ถ้วน

    พระคุณเจ้า ในกรณีที่สลบไปนานๆ อย่างที่เขาเรียกกันว่าเจ้าชายนิทรา ชวนจิตของเขาจะเป็นอย่างไร ช่วยอธิบายตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรม เราจะกล่าวถึงจิต เจตสิก รูป ทุกสถานการณ์ ขณะใดที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน ก็หมายความว่าไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้ายังคิดนึกอยู่ ก็หมายความว่าเป็นวิถีจิตแล้ว ไม่ใช่ภวังคจิต

    เรื่องสำคัญๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นผลของกรรมก็เป็นที่เข้าใจแล้วว่าเมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุในอดีต ก็ต้องมีผล ซึ่งขณะที่เห็น ได้ยิน เหล่านี้ ก็ให้ทราบว่าเป็นผลของกรรม แต่หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ผู้ที่มีกิเลสอยู่ก็ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาว่าความสำคัญของการที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม หลังจากที่เห็นแล้วจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ต่อไปนี้ก็จะรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะบอกจิตใจของเราได้ว่าเมื่อเห็นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น กุศล และ อกุศลซึ่งจะเป็นการสะสมสืบต่อเป็นอุปนิสัยต่อไป ที่จะทำให้สะสมกุศลประเภทต่างๆ หรือว่าอกุศลประเภทต่างๆ ก็จะทำให้เป็นบุคคลนั้นในกาลต่อไปโดยไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงกาละที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็จะดับกิเลสตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้นก็น่าสนใจในเรื่องของจิตประเภทที่เป็นกุศลหรืออกุศล ขณะนี้เป็นกุศลประเภทใด หรือเป็นอกุศลประเภทใด เพราะว่าเห็น ได้ยิน เราก็ทราบแล้วว่าขณะนี้เป็นผลของกรรมซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    อ.วิชัย ขณะนี้จิตก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าไม่ศึกษาเลยก็จะไม่รู้ว่าขณะนี้ชวนจิตเป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว เพราะเหตุว่าแต่ละท่านก็สั่งสมมาที่จะมีการกระทำต่างๆ และก็สั่งสมที่จะเป็นไปในกุศลบ้าง หรืออกุศลบ้าง แต่สภาพจิตทั้งหมดเกิดขึ้นตามอำนาจของเหตุ และปัจจัย ถ้าจิตเห็นไม่เกิดก็จะไม่มีการรู้หรือสภาพรู้ทางตาได้เลย เช่นนี้ก็เห็นถึงว่ามีสภาพมีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตที่เป็นนามธรรมเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเราไม่สามารถจะกระทำให้มีการเห็นเกิดขึ้นได้เลย ถ้าขาดเหตุปัจจัย เพราะเหตุว่าไม่มีตัวเราที่จะไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่เพราะมีจิตซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เมื่อมีปัจจัยพร้อม จิตเห็นจึงเกิดขึ้น แม้กุศลจิตที่ขณะนี้ทุกท่านฟังธรรม ขณะที่เข้าใจก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เช่นว่าเมื่อฟังเข้าใจแล้ว ขณะนั้นเป็นสภาพของปัญญาที่เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็ให้เห็นถึงเหตุปัจจัยที่ไม่ได้กระทำเลย แต่เมื่อมีแล้วก็เกิดแล้วตามอำนาจของเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ทวาร กับ ที่เกิด คนละอย่างกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเมื่อกล่าวถึงคำใด หมายความว่าอย่างไร เช่น ถ้าได้ยินคำว่า “ภวังค์” หมายความว่ากล่าวถึงกิจหรือหน้าที่ของจิต เพราะว่าจิตทุกชนิดที่เกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใด เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “ปฏิสนธิเป็นกิจของจิต” ถ้าได้ยินคำว่า “ภวังค์เป็นกิจของจิต” แต่ยังไม่ได้กล่าวว่าจิตใดทำกิจนั้น และก็จิตกี่ประเภทที่สามารถจะทำกิจนั้นได้ เช่น ปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิกิจมีกี่ประเภทที่เป็นผลของอกุศล กรรมคืออกุศลวิบากก็ทำปฏิสนธิกิจได้ ทำกิจอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้แสดงว่าบรรดาวิบากทั้งหลายแต่ละประเภททำกิจอะไรได้บ้าง จิตที่ทำกิจปฏิสนธิจะทำกิจเห็นไม่ได้ ทำกิจได้ยินไม่ได้แม้ว่าเป็นวิบาก ก็จะได้เห็นว่าจิตที่เป็นวิบากทำกิจปฏิสนธิได้แก่จิตอะไรบ้าง และจิตเห็นแม้ว่าจะเป็นวิบากก็จริง แต่จะทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ ทำได้เฉพาะกิจเห็นเท่านั้น เวลาที่กล่าวถึงคำต้องรู้ว่ากล่าวโดยกิจหรือไม่ ถ้ากล่าวถึงภวังค์กล่าวโดยกิจ ถ้ากล่าวถึงจิตเห็น ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ทัสสนกิจ” ทำกิจเห็น

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าถึงเฉพาะรูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะว่าจิตจะเกิดโดยที่ไม่เกิดที่รูปนั้นไม่ได้เลย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกประเภทจะต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป จักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจิตเห็นคือจักขุวิญญาณ โสตปสาทรูปเป็นที่เกิดของจิตได้ยินคือโสตวิญญาณ ฆานปสาทรูปเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณคือจิตได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณก็เกิดที่ชิวหาปสาทรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่ลิ้มรส กายวิญญาณก็เกิดที่กายปสาทรูป ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีจิตมากกว่านี้อีก จิตอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอื่นนอกจากจิต ๑๐ ดวง

    ผู้ฟัง จะกล่าวได้ไหมว่า ทางปัญจทวาร ถ้าเป็นจักขุวิญญาณจิต ก็จะมีจักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต และเป็นทวารด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่า “ทวาร” เป็นความหมายหนึ่ง เวลาที่ใช้คำว่า “วัตถุ” เป็นอีกความหมายหนึ่ง และได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร การศึกษาปรมัตถธรรมก็เป็นการที่เราจะได้ทราบถึงความจริงที่ว่า จิตจะเกิดสลับที่ไม่ได้ จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุคือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เป็นจักขุทวาร แต่เวลาที่ใช้คำว่า “จักขุทวาร” ไม่ได้หมายความถึงที่เกิดของจิต แต่หมายความว่าเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เฉพาะแต่จักขุวิญญาณเท่านั้นที่รู้อารมณ์ทางตาที่ยังไม่ดับ เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารที่จะรู้รูปที่กระทบจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จักขุปสาทเป็นรูป ทวาร ๖ เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ วัตถุ ๖ เป็นรูปทั้ง ๖ ต้องเป็นรูปเท่านั้น

    ถามว่า ขณะนี้สามารถจะรู้ได้อย่างนั้นไหมว่ากำลังมีจิตเกิดที่รูปไหน

    ผู้ฟัง ไม่สามารถจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สามารถจะรู้ได้ว่า เวลาที่จิตเห็นเกิดขึ้นต้องเกิดที่จักขุปสาทรูปเป็นจักขุวัตถุ

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่เกิดขณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกไว้ว่าเกิดขณะเดียวกัน และเกิดพร้อมกันก็ไม่ได้ด้วยเพราะว่ารูปซึ่งจะเป็นที่เกิดของจิต และเป็นปัจจัยให้จิตเกิดต้องเป็นในฐีติขณะคือรูปนั้นต้องเกิดก่อน ยิ่งเรียนจะยิ่งเพิ่มขยายกระจายออกไปเยอะ แต่พื้นฐานก็คือว่ามีความเข้าใจชัดเจน ไม่สงสัย ไม่คลาดเคลื่อนในคำที่เราได้ยินได้ฟังจนมั่นคง

    ผู้ฟัง ครั้งแรกคิดว่าเกิดพร้อมกันจึงมาเปรียบกับทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม จะเห็นได้ว่า คิดเองไม่ได้ ไม่ได้เลย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะฉะนั้นสาวกคือผู้ที่ฟัง และพิจารณาให้เข้าใจตามที่ทรงตรัสรู้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะคิดเอง

    ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวารเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ แต่ไม่ใช่ทวารเมื่อปัญจทวาราวัชนนจิตเกิด

    อ.กุลวิไล สำหรับปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรกของการที่จะดำรงภพชาติเป็นบุคคลใหม่ หลังจากจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก จิตที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุ และปัจจัย สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นก็ด้วยกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ศึกษาปัจจัยทีละปัจจัย ถ้าใครยังสงสัยเรื่องกัมมปัจจัยก็เชิญถามได้ วิบากจิตทั้งหมดต้องมีกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่ากัมมปัจจัย

    ปัจจัย คือสภาพธรรมที่ทำให้สภาพธรรมอื่นอาศัยเกิดขึ้นเป็นไป ก็จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นผลคือปัจจยุบบัน เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “ปัจจัย” เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิด และถ้ากล่าวถึง "ปัจจยุบบัน" คือสภาพธรรมที่เกิดหรือดำเนินไปเพราะปัจจัยนั้น ต้องคู่กัน มีปัจจัยไม่มีปัจจยุบบันได้ไหม ไม่ได้ ถ้ามีปัจจยุบบันก็หมายความว่าต้องมีปัจจัยที่ทำให้ปัจจยุบบันคือผลนั้นเกิด เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงวิบากกับกรรมอะไรเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบัน

    ผู้ฟัง พวกเราได้ยินคำว่า “ปัจจยุบบัน” บางครั้งภาษาคือ ปัจจุบันกับปัจจยุบบัน เราใช้เหมือนกัน คล้ายๆ สันสกฤตกับบาลี เลยทำให้สับสน ขอความกรุณาแยกศัพท์คำว่าปัจจยุบบันกับปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คงไม่หนักเกินไปใช่ไหม ไหนๆ เราก็ได้ยินบ่อยๆ ปัจจัยก็ได้ยิน กรรมก็ได้ยิน ปัจจัยอื่นก็กล่าวถึงบ้างแล้ว แต่ว่าควรจะเข้าใจขึ้นเป็นการทบทวน

    อ.วิชัย "ปัจจัย" หมายถึง ผลอาศัยเป็นไป คือ ผลจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยสิ่งนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ สิ่งนั้นชื่อว่า ปัจจัย คือกล่าวถึงโดยความเป็นเหตุให้ผลเกิดเรียกว่าปัจจัย แต่ "ปัจจยุบบัน" คือ ปัจจยะ + อุปปันนะ คือ เกิดจากปัจจัย ก็คือผลนั่นเอง

    ผู้ฟัง คำว่าวิบาก เรารู้ว่าเป็นปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งเข้ามา พอมีปัจจยุบบัน เข้ามาอีก

    อ.วิชัย ปัจจยุบบัน คือ เป็นผลของปัจจัย ก็คือเกิดจากปัจจัย

    ท่านอาจารย์ "ปัจจยุบบัน" มาจาก ๒ คำ คือ ปัจจยะ กับ อุปปันนะ "อุปปันนะ" แปลว่า เกิด เพราะฉะนั้นสภาพนั้นเกิดจากปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเกิดจากปัจจัยอะไร ก็เป็นปัจจยุบบันของปัจจัยนั้นๆ

    ผู้ฟัง เช่น วิบากเป็นปัจจยุบบันของกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    22 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ