พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110


    ตอนที่ ๑๑๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่ารูปหนึ่งรูปใดก็ตามต้องมีมหาภูตรูป แต่ก็มีสมุฏฐานที่เป็นปัจจัยด้วย เช่น กรรมเป็นสมุฏฐานเป็นปัจจัย หรือจิตเป็นสมุฏฐานเป็นปัจจัย แต่เราจะไม่กล่าวถึงสมุฏฐาน เราจะกล่าวถึงเฉพาะตัวเสียงที่ปรากฏ มีปัจจัยแล้ว เกิดแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือมหาภูตรูปเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยเพราะว่าต้องเกิดพร้อมกัน

    ความจริงธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย อย่ากังวล อย่าคิดว่าหนักหรือว่ายาก เพียงแต่ว่าเราฟังธรรมให้เราเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อน เพราะขณะที่ฟังก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังแล้วไม่ต้องไปคิดว่าแล้วเราจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไหร่ หรือว่าเมื่อไหร่เราจะไปรู้อย่างโน้นอย่างนี้ในพระไตรปิฎก ในพระอรรถกถากว้างขวาง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฟังเพื่อให้เป็นปัญญาของเราเองที่จะได้เข้าใจว่าสิ่งที่มี และไม่เคยรู้เลยเป็นอนัตตาคือไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะเหตุว่าสิ่งที่มีจริงแต่ละลักษณะนั้นใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ฟังบ่อยๆ เราก็ยึดถือสภาพธรรมเหมือนเดิม แล้วเมื่อได้ยินคำอะไรก็คิดว่ายากมาก แต่ความจริงถ้ามีความเข้าใจแล้ว เราก็เพียงแต่เพิ่มเติมด้วยคำอีกภาษาหนึ่งซึ่งเป็นภาษาบาลี เช่น ธรรม ภาษาไทยเราก็ใช้ แต่ว่าเราต้องเข้าใจให้ละเอียดกว้างขวางว่าต้องเป็นสิ่งที่มี ไม่อย่างนั้นเราจะมาพูดเรื่องธรรมกันทำไม พูดในเรื่องสิ่งที่ไม่มีพูดทำไม แต่ว่าพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม และก็ที่เราฟังมาแล้วก็คือว่าธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรมซึ่งได้แก่ปรมัตถธรรม ๓ ที่เกิดขึ้น คือ จิต เจตสิก รูป ถ้าเราฟังเท่านี้ เรามีความเข้าใจเท่านี้ แต่เมื่อเราฟังต่อไป เราก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าจิตกับเจตสิกแยกกันไม่ได้เลย นี่คือการทบทวน ต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งที่กำลังรู้คืออารมณ์ในขณะนั้นพร้อมกัน แต่เราเพิ่มคำว่า “เป็นสัมปยุตตปัจจัย” เพราะว่าเราบอกแล้วว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดจะเกิดลอยๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมที่เกื้อหนุนอุปถัมถ์ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เมื่อทั้งจิต และเจตสิกแยกจากกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นปัจจัยให้เกิดเจตสิก และเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิต เวลาที่นามธรรมเป็นปัจจัยแก่กัน และกันเกิดขึ้นทำให้เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่รูปเดียวกันมีชื่อว่า สัมปยุตตปัจจัย อย่างนี้แล้วเราจะว่ายากตรงไหน

    เราฟังมาแล้ว แล้วเราก็เข้าใจแล้ว เราเพียงแต่เพิ่มเติมชื่อเท่านั้นเอง นี่คือความหมายหนึ่งของสัมปยุตตปัจจัย และนามธรรมกับนามธรรมเป็นสภาพที่เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และดับพร้อมกันด้วย และก็สามารถที่จะเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งรูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรเลย และแต่ละรูปก็เกิดเพราะสมุฏฐานต่างๆ คือเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิด หรือเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัยให้รูปเกิด หรือเกิดเพราะอาหาร อาหารเป็นปัจจัยให้รูปเกิด หรือเกิดเพราะอุตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิด

    เพราะฉะนั้น รูปจะไม่เป็นสัมปยุตตธรรมเลย สัมปยุตตธรรมใช้แต่เฉพาะนามธรรมคือจิต และเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ที่เกิดขึ้น ยากไหมแบบนี้ ก็ไม่ยากอะไรเลย ให้เข้าใจเดี๋ยวนี้ "จิตเห็น" เดี๋ยวนี้ เป็นสัมปยุตตธรรมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งจิต และเจตสิกต่างก็อาศัยกัน ต่างก็เป็นสัมปยุตตธรรม ถ้ากล่าวถึงอะไรเป็นปัจจัย สิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยนั้นก็เป็นปัจจยุบบัน หมายความว่าเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยนั้น

    และจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกันด้วย ฉะนั้นก็มีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ "สหชาตะ" ชาตะ แปลว่าเกิด สห แปลว่า พร้อม เพราะฉะนั้นจิต เจตสิกเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัยโดยเป็นสหชาตะ ไม่ใช่หมายความว่าจิตเกิดไปก่อน และเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดทีหลัง แต่จิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกันนั่นเองเป็นสหชาตปัจจัย และสำหรับสหชาตปัจจัยไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย แยกกันแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นสหชาตปัจจัยมุ่งหมายเฉพาะสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันขณะใด แต่ต้องเป็นปัจจัยกันด้วย อาศัยกันด้วย ไม่ใช่แยกกันมาเกิดพร้อมกันอย่างนั้น ฉะนั้นสำหรับสหชาตปัจจัย แม้รูป เช่น ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลมก็เป็นสหชาตปัจจัย แล้วรูปอื่นซึ่งเกิดพร้อมกับมหาภูตรูป มหาภูตรูปก็เป็นสหชาตปัจจัย คือ เป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดกับมหาภูตรูปเกิดพร้อมกัน ไม่ใช่แยกจากกัน นี่คือการที่เราค่อยๆ ฟังธรรมซึ่งเราเข้าใจแล้ว แต่ว่าก็เพียงเพิ่มเติมความละเอียดให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลย แล้วเราฟังอย่างนี้กี่ภพกี่ชาติ นี่ก็ชาติหนึ่งแล้ว ชาติก่อนอาจจะเคยฟังมาบ้าง อาจจะลืมไป หรืออาจจะฟังเล็กน้อยหรืออาจจะฟังมากก็ตาม ชาตินี้ได้ฟังอย่างนี้ เมื่อถึงชาติหน้าเราก็อาจจะได้ฟังอีกก็คือเรื่องอย่างนี้เองเพื่อให้มีความมั่นคงที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อให้เราไปทำอะไรผิดๆ ด้วยความต้องการว่าอยากจะเป็นพระโสดาบัน อยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรืออยากจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีความรู้เริ่มต้น เริ่มตั้งแต่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม และมีลักษณะต่างๆ กัน และความรู้ก็คือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยไม่ใช่เพียงแต่รู้ชื่อ

    เพราะฉะนั้นได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับว่าความเข้าใจของเราจะมั่นคง แล้วก็จะเพิ่มขึ้น คือไม่ใช่ไปรู้อื่นเลย รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็คือรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    นอกจากนั้นการฟังแต่ละชาติของเรา ชาติก่อน ชาตินี้ ชาติต่อไป เริ่มเห็นภัยของปฏิสนธิจิตแล้วหรือยัง เราพูดเรื่องปฏิสนธิจิตมาหลายครั้งแล้วตั้งแต่เริ่มเลย จิตมี ๔ ชาติ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต แล้วเราก็พูดถึงปฏิสนธิจิต แต่เราเห็นภัยไหม เมื่อพูดถึงปัจจัยเราจะเห็นเลย ไม่มีใครทำอะไรได้เลย เป็นธรรมที่ต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปอีกนานแสนนานเท่าไหร่ เมื่อยังมีปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิดนำมาซึ่งภพชาติ ไม่ใช่ปฏิสนธิจิตขณะเดียว เมื่อปฏิสนธิจิตดับ จิตอื่นก็เกิดสืบต่อ ไม่มีวันหยุดเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่เห็นว่าเป็นภัย การฟังของเราก็ยังไม่พอใช่ไหม ก็ยังฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเป็นภัยจริงๆ หรือไม่ เพียงอาศัยปัจจัยหลายอย่างไม่ใช่ปัจจัยเดียว เกิดขึ้นนิดเดียวรวดเร็วมากแล้วก็ดับไปโดยที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ และก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้งเพื่อให้เข้าใจขึ้น และเพื่อที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่มีการเข้าใจ ไม่มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราพยายามทุกอย่างที่จะไปประจักษ์แจ้ง แต่ต้องเป็นการอบรมปัญญาที่จะรู้ ละคลายความไม่รู้ซึ่งเคยไม่รู้มานานแสนนาน ฉะนั้นทุกเรื่องที่เป็นธรรมก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ว่าเราจะกล่าวโดยปัจจัยหรือว่าโดยอะไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องธรรมดา ใช้คำธรรมดา ให้เข้าใจความเป็นธรรมดายิ่งขึ้นจนกระทั่งมีความมั่นคงที่จะรู้ว่าเรามีความเข้าใจซึ่งเป็นของเราเอง ไม่ใช่เมื่อพูดถึงธรรมก็มีพระไตรปิฎกขึ้นมาอ้างโดยที่ว่ากล่าวตามพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย แต่ว่าไม่มีความเข้าใจของเราเอง ต้องเป็นความเข้าใจของเราเองจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าใครสงสัยเรื่องอะไร หรืออยากฟังเรื่องอะไรก็เป็นธรรมทั้งหมด

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ใช้คำว่า “ปฏิสนธิจิตเป็นภัย” ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แม้แต่จะเกิดก็ไม่มีใครที่จะไปยับยั้งได้ ต้องเกิด อาศัยปัจจัยนั้นๆ เกิด แล้วก็ดับไปแล้ว ไม่เป็นภัยหรือ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ภัยของปฏิสนธิจิตนำมาซึ่งอะไรบ้าง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ห้ามไม่ได้ ยับยั้งไม่ได้ แต่ติดข้อง มีความยึดมั่น มีความพอใจ มีการแสวงหา มีการสะสมทั้งกุศล และอกุศล แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นอกุศล และใครว่าอกุศลดีบ้าง ก็ไม่ดีแต่ก็สะสม เห็นไหมว่าถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมจนกระทั่งละคลายความยึดถือสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นภัยแน่นอนสำหรับสิ่งซึ่งเกิดดับ และก็เริ่มจากปฏิสนธิจิต วันนี้มีใครเจ็บป่วยบ้างไหม เกิดมานี่มีไหม หรือไม่มีเลย หิวบ้างไหม เป็นทุกข์บ้างไหม ใจไม่สบายบ้างไหม นี่คือทุกข์ทั้งหมดมาจากไหน ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นผู้ที่ดับกิเลสแล้ว เช่นพระอรหันต์เมื่อจุติ คือปรินิพพานไม่มีปฏิสนธิอีกเลย

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นการเกิดจึงเป็นภัย เพราะว่าเท่าที่เราพอจะพบเห็นในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นชาติ ชรา มรณะ หรือว่าทุกขเวทนา โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นเพราะจากการเกิด แล้วความเศร้าโศกเสียใจ ท่านก็แสดงไว้เหมือนกันว่าชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ทุกขะ ปริเทวะ โทมนัส ก็มาจากปฏิสนธิจิตขณะแรกที่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่างๆ เกิดขึ้นสืบต่อกันซึ่งก็มีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก และยังมีกุศลจิต และอกุศลจิตในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งก็เห็นความเป็นภัยในการเกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นภัยแน่นอนแต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นหรือยัง

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า เพราะเหตุปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นภัยในที่นี้ หมายถึงว่าแม้ไม่ว่าจะเกิดในภูมิใดก็ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดในขณะนั้นก็เป็นภัยแล้ว และก็นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยต่างๆ อีก

    ท่านอาจารย์ การเกิดเป็นภัยสรุปทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิตหรือจิตขณะอื่น แต่ว่าเราค่อยๆ เห็น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าส่วนใหญ่เกิดมาแล้วก็มีความพอใจในสิ่งที่มีในชีวิตจริงๆ แทนที่จะคิดถึงว่าแท้ที่จริงความพอใจนั่นเองนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวง และก็ความเกิดด้วย ยังไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ก็ฟังต่อไปเพราะว่าเป็นเรื่องที่เห็นยาก

    อ.ธิดารัตน์ นอกจากปฏิสนธิจิตแล้ว อย่างนี้หมายถึงว่าจะรวมทั้งนามธรรม รูปธรรมอื่นๆ โดยนัยเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้หรือธาตุรู้ รูปเป็นเรื่องที่ใครก็ไปบังคับไม่ได้เลย เมื่อมีปัจจัยหรือสมุฏฐานของรูปที่เกิดรูปก็เกิด เช่น รูปที่เกิดจากอุตุ เป็นต้น ใครก็ไปยับยั้งไม่ได้ แล้วรูปก็ไม่ได้เดือดร้อนเลย ไม่เคยเดือดร้อนเพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่านามธาตุซึ่งเป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งมี ไม่ใช่ไม่มี มีเดี๋ยวนี้ กำลังมี เกิดแล้วปรากฏแล้ว นี่เองคือการเกิดดับแล้วเป็นทุกข์

    อ.ธิดารัตน์ วิปัสสนาที่เห็นความเป็นภัย จะเห็นเป็นภัยของนามธรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ไม่ต้องไปเลือกทั้งนามธรรมทั้งรูปธรรม

    ผู้ฟัง หนทางที่อาจารย์กำลังบรรยายที่เราฟังกันทุกวันๆ ซึ่งไกลแสนไกล ในการอบรมก็คือ ฟัง ถาม จดจำ ไตร่ตรอง ตรึก นึกคิด ระลึกอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมดจนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดก่อนอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าถ้าวิปัสสนาญาณไม่เกิด การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เกิดไม่ได้ วิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นแจ้ง คือประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏจริง แต่ความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏของเราน้อยมาก เพราะเหตุว่าเราเพียงกำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ต่อเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิด คือรู้ตรงลักษณะนั้นแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือเราจะรู้ได้ว่าเราเข้าใจได้แค่ไหน และเข้าใจอะไรบ้างซึ่งทั้งหมดเป็นธรรม แต่กว่าที่สติสัมปชัญญะจะระลึกแล้วค่อยๆ รู้ขึ้นก็เป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าถ้าเรามีโอกาสได้ฟังพระธรรมวันหนึ่งวันใด แล้วก็เข้าใจขึ้นก็ถูกต้องแล้วใช่ไหม ฟังอีกเข้าใจอีกจะให้ไปทำอะไร ทำไม่ได้เลย ถ้าเป็นเราทำก็คือไม่เข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง นอกจากในการเจริญสติปัฏฐาน ในการที่เราจะระลึกถึงสภาพธรรม ในการฟังอะไรต่างๆ แล้วคือฟังไปเรื่อยๆ ตรึกไปเรื่อยๆ เรื่องอื่นที่ไม่ปรากฏ เราก็ไม่ควรที่จะไปนึกถึงอะไรอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เราไม่ทราบเลยว่าแม้แต่ที่คุณอารีย์กล่าวทุกคำ ก็คือเพราะได้ฟังธรรมมา แล้วก็มีการสะสมทำให้มีการตรึกหรือการคิดในเรื่องของธรรม แต่ละคนก่อนศึกษาไม่คิดเลยเรื่องธรรม คิดเรื่องอื่นทั้งนั้น แต่เมื่อฟังธรรมแล้วก็มีการที่จะคิดถึงธรรม หรือบางคนไม่เคยฝันเรื่องธรรมเลย แต่ว่าอาจจะมีปัจจัยที่จะฝันถึงเพื่อนที่ศึกษาธรรมหรือเรื่องธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แสดงว่าแม้แต่ความคิดเราไม่รู้เลยว่าต่อไปคิดอะไรต่อจากขณะนี้ เดี๋ยวนี้ คำนี้ด้วยใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่บางคนก็คิดว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างหนึ่งแล้วก็หลงลืมไปหลุดไป ความจริงแล้วก็คือว่าถ้ารู้เมื่อไหร่ก็คือขณะนั้นมีความเข้าใจว่าธรรมเกิดแล้วก่อนที่เราจะไปคิดว่าเราจะทำอะไรทั้งหมด เช่น ขณะนี้เห็นมีแล้ว คิดนึกก็มีด้วย แต่อาจจะมีความเป็นเราที่จะไปคิดเรื่องที่จะทำอะไรต่อไป แต่ว่าจริงๆ แล้วฟังจนกระทั่งรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้คิดก็เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย คือให้รู้ความจริงของการสะสม การคิดถูกไม่ง่าย แต่ต้องมีการฟังแล้วฟังอีกในชาติก่อนๆ แล้วความคิดก็ค่อยๆ ตรง ค่อยๆ ถูกขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่เป็นปกติอย่างนี้เราจะเห็นการสะสมของแต่ละคนไหม แต่ละคนต่างกันอย่างไร เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นเราลืม และชินต่อการที่เราจะทำ เราจะอยู่ เราจะมีสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น เราจะอ่านหนังสือมากๆ เราจะฟังวิทยุนานๆ เราจะไม่ไปไหน บางคนก็อาจจะคิดว่าอย่างนั้น แต่นั่นคือความคิด แต่สิ่งที่ปรากฏแล้วไม่ได้รู้ เพราะในขณะที่คิดก็เห็น ก็ได้ยิน ไม่รู้เลย แต่คิดไปเรื่องอื่นถึงสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการฟังก็คือให้เป็นผู้ที่มีปกติ เข้าใจถูกอย่างมั่นคงว่าสภาพธรรมเกิดแล้ว ถ้ารู้ก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏแล้ว ค่อยๆ เข้าใจก็คือค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เราก็จะตัดความคิดของเราว่าจะต้องไปทำอย่างนั้นบ้าง จะต้องไปทำอย่างนี้บ้าง ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเมื่อไหร่สามารถที่จะมีการรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นเราก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องคิดว่าจะเป็นอย่างอื่น แต่ว่าคือขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นปกติด้วย เพราะบางคนเข้าใจว่าสติปัฏฐานต้องแปลกต้องต่าง ต้องผิดปกติไปเลย ธรรมดาอย่างนี้เอง แต่ว่าน้อยมาก เพียงรู้นิดเดียวแล้วก็มีอย่างอื่นที่ยังไม่รู้ และก็เราเคยชินกับการคิด เพราะฉะนั้นพอมีสตินิดเดียวอย่างปกตินี้ก็จะคิดเรื่องรูปบ้าง เรื่องนามบ้าง เรื่องอะไรบ้าง โดยที่ว่าขณะนั้นยังไม่ได้รู้ทั่ว เพราะเหตุว่าต้องมีการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นปกติจนทั่ว ต้องใช้คำว่า “ที่เป็นปกติ” เพราะว่าเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง การที่เราไปในสถานที่ๆ เราคิดว่าเป็นธรรม เพื่อที่จะไปฟังผู้ถาม ถามปัญหาต่างๆ แล้วก็ฟังผู้ตอบ ตอบได้ว่าเป็นเหตุเป็นผลกันขนาดไหน อย่างนั้นก็เป็นการสะสมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ โดยที่ขณะนั้นยังไม่ทราบว่ามีปัจจัยเกิดเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียน เรื่องสภาพธรรม เรียนเรื่องปัจจัยเพื่อให้เห็นจริงๆ ว่าคิดก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ทำอะไรทุกอย่างก็มีปัจจัยซึ่งทำให้เกิดนามธรรม และรูปธรรมนั้นๆ โดยไม่ใช่เรา เพราะว่าทุกคนก็ทำอะไรทุกอย่างแต่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นเราทำ แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เราก็จะเข้าใจขึ้นว่าไม่มีอะไรเลยซึ่งเกิดโดยไม่มีปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แม้แต่ความคิดที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง ฉะนั้นการสะสมที่เป็นกุศลนี่ค่อนข้างจะยาก แต่ว่าอกุศลที่เกิดขึ้นทุกวันๆ ก็มาจากการสะสมเหมือนกันแต่มากกว่า อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และบางครั้งจะติดในกุศล ต้องการกุศล และปัญญา บังอีกแล้วไม่ให้รู้ว่าขณะนั้นที่เป็นกุศลก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจึงเป็นหนทางเดียวที่จะรู้ว่าสิ่งที่มีเป็นสภาพธรรมไม่ใช่ขั้นคิด แต่มีการรู้ลักษณะตรงลักษณะ เช่น แข็งก็มีลักษณะ ก็รู้ว่าลักษณะนั้นมี สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มีก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเกิดบ่อยๆ ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็คือเป็นลักษณะแต่ละลักษณะของธรรมนั่นเอง ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ทั้งหมดเราจะมาตรึกว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเกิดสาระไหม ถ้าเราได้ฟังแล้ว ว่ามีสาระหรือเราคุยให้ใครฟังหรือเราฟังใครพูด ถ้าไม่เกิดสาระเราก็ไม่ต้องจดจำอะไร

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดคือคิด และเป็นเราคิด จนกว่าจะรู้ว่าคิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือการฟังจะนำไปสู่ความเข้าใจถูกว่าแม้ขณะที่คิดก็สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นสภาพธรรมที่คิด ไม่ใช่เห็น มิฉะนั้นก็เป็นเราไปหมด อย่างน้อยที่สุดถ้าขณะนี้เข้าใจว่ามีสิ่งที่ปรากฏแล้วยังไม่รู้ ก็เตือนได้ใช่ไหม เมื่อยังไม่รู้ก็ค่อยๆ ฟังจนกว่าจะรู้ จนกว่าจะตรงลักษณะ เข้าใจลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง พิจารณา ศึกษา ตรึกในเรื่องของการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ลักษณะใดที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันหรือในขณะที่ศึกษาธรรมเป็นการเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างดับหมดแล้ว และขณะนี้กำลังมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ อะไรจะมีประโยชน์ จะไปคิดเรื่องเก่า จะไปคิดเรื่องข้างหน้าที่ยังไม่ถึง หรือว่าสิ่งนี้เองถ้าเราฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะมิฉะนั้นอีกสิบปียี่สิบปีก็ยังคงเป็นเรื่องเก่า ชาติหน้าอีกก็เรื่องเก่าอีกใช่ไหม แต่ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็ค่อยๆ เข้าใจจากที่ไม่เคยเข้าใจเพราะว่าไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ฟังก็เพิ่มความรู้โดยค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง กระผมควรเริ่มต้นเข้าใจอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    22 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ