พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68


    ตอนที่ ๖๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ว่าตัวเจตนาที่ทำไว้จะต้องมีผลมากกว่านั้นอีก คือไม่ใช่เพียงแค่ปฏิสนธิ เพราะกรรมก็ทำให้จิตที่เป็นวิบากประเภทเดียวกันนั้น เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตจึงเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ถ้ากล่าวถึงปัจจัยอื่นอีกก็มีอีกมาก แต่ไม่กล่าว กล่าวเฉพาะเพียงว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็นภวังค์ตามอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยของปฏิสนธิจิต เพราะว่ามีคำถามถึงจิตที่เกิดต่อ

    ขอถามว่า ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก ภวังคจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอกุศลวิบาก เปลี่ยนไม่ได้เลย ถ้าปฎิสนธิจิต เป็นกุศลวิบากประกอบด้วยปัญญาเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ คือวิบากที่เป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ภวังคจิตเป็นอะไร ก็ต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์เรารู้ไหมว่าปฏิสนธิของเราเป็นอะไร เป็นมหาวิบากนั้นแน่นอน ไม่ได้ตาบอด หูหนวก พิการตั้งแต่กำเนิด แต่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา และก็ยังมีด้วยว่าประกอบด้วยปัญญาระดับไหน ระดับที่พอฟังธรรมแล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่นท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระพาหิยะหรือไม่ หรือว่าฟังแล้วก็ต้องฟังอีก ฟังมากๆ

    ผู้ฟัง ภวังค์ กับอตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ เหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ภวังค์ตั้งแต่นั้นต่อมาจนกระทั่งถึงจุติต่างกันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ากรรมทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ตราบที่ยังไม่ถึงกาละที่จะสิ้นสุด ถ้าสิ้นสุดเมื่อใด ก็จะต้องมีกรรมอื่นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เช่น นกเกิดมาด้วยอะไร

    ผู้ฟัง ต้องเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของนกเป็นอกุศลวิบาก ดับไปแล้วอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ต้องเป็นภวังค์

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของคุณสุกัญญาเป็นมหาวิบาก ภวังคจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง มหาวิบาก

    ท่านอาจารย์ จุติจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้หรือ

    ท่านอาจารย์ ขณะสุดท้ายยังเป็นคนนี้อยู่ ตราบใดที่จุติจิตยังไม่ได้ดับไป ยังคงเป็นคุณสุกัญญาจนถึงขณะสุดท้าย เพราะฉะนั้นจิตขณะสุดท้ายคือจุติจิตเกิด ยังเป็นตัวของคนนี้ที่เกิด เพราะฉะนั้นก็เป็นมหาวิบากประเภทเดียวกัน ต่อเมื่อใดดับสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาอีกไม่ได้เลย จะเอาเงินทองสักเท่าไหร่ไปซื้อ หรือใครจะมาชุบชีวิตอย่างไร ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าถึงกาละที่กรรมทำให้จุติจิตเกิดแล้วดับก็พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง

    ผู้ฟัง ถ้าจุติจิตของชาตินี้ดับ ปฏิสนธิของชาติต่อไปจะต้องเป็นกรรมอีกชนิดหนึ่งใช่ไหม ที่แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมอะไร บางครั้งก็จะมีคำว่ามีเศษของกรรมที่ยังไม่ได้ให้ผลหมด แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้ได้ เราเพียงแต่จะรู้ได้ว่ากรรมอื่น หรือกรรมที่จะเป็นเศษของกรรมอะไรก็ตาม ข้ามภพข้ามชาติอย่างไรก็ตาม แต่เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วเหตุใดปฏิสนธิจิตของชาตินี้จึงมีอารมณ์เดียวกับก่อนจุติจิตของชาติที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาเวลาที่มีการเห็น การได้ยินแล้ว แม้ว่าสิ่งนั้นจะดับไป ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตคือจิตที่จะรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้ไม่ได้รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ดับไปแล้วต่อ ใจก็ยังคิดนึกได้ นี่เป็นข้ออุปมาที่แสดงว่า ก่อนจุติจิตที่ใกล้จะตาย มีอารมณ์อะไร แม้ว่าจุติจิตจะดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็รับรู้อารมณ์ใกล้จะตายนั่นเอง อุปมาเหมือนกับการประทับตรา ถ้าคุณสุกัญญามีตราแล้วก็มีกระดาษ แล้วก็มีหมึก ก็เอาตราไปทาบที่หมึก แล้วก็ประทับลงไป จะต้องเหมือนกับตรา ฉันใด ไม่ว่าจะเป็นทางมโนทวารที่รับรู้สิ่งที่ปรากฏแล้ว ดับไปแล้วที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ฉันนั้น รวมถึงขณะปฏิสนธิจิต ซึ่งสืบต่อจากจุติก็จะต้องมีอารมณ์ ซึ่งต่อจากทางทวารหนึ่งทวารใดที่ใกล้จะจุติ

    ผู้ฟัง ภวังค์ที่หลังจากปฏิสนธิ ทำไมจึงมีชื่อแตกต่างจากภวังค์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่มากระทบ เช่น อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ

    ท่านอาจารย์ ปฐมภวังค์ ถ้ากล่าวโดยชื่อหมายความถึงภวังค์ซึ่งเกิดต่อจากปฏิสนธิ หลังจากนั้นไม่ต้องนับแล้ว กระแสน้ำนี่จะไปนั่งนับอย่างไร กับกระแสภวังค์ แต่ที่มีคำว่าอตีตภวังค์ก็เพื่อแสดงให้รู้ว่ารูปกระทบทวาร และรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเกินจากนั้นรูปไม่ดับไม่ได้ รูปต้องดับ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าอายุของรูปๆ หนึ่งที่เกิดจะดับเมื่อไหร่ ทั้งปสาทรูป และสิ่งที่กระทบปสาทรูป นั่นคืออตีตภวังค์ ภวังคจลนะก็หมายความว่า จะมีภวังคุปัจเฉทะทันทีไม่ได้ กระแสภวังค์อยู่ดีๆ ก็จะสิ้นสุดไปเลยไม่ได้ ในเมื่อเป็นกระแสภวังค์ดำรงอยู่ จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบ เมื่อกระทบแล้วก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ภวังค์ไหว เพื่อที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ เมื่อกล่าวถึงภวังค์ไหวก็นึกถึงรูปไหว ก็ไม่ได้อีก เพียงแต่ใช้คำว่าใกล้ที่จะสิ้นสุด แต่ยังไม่ใช่สุดท้าย เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดก่อนภวังค์สุดท้าย ก็คือภวังคจลนะ และเมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้วดับไป วิถีจิตต้องเกิด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเข้าใจ ๓ ชื่อนี้

    ผู้ฟัง คำว่าเกิดดับกับภวังคจิตคั่นขณะที่เห็น

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ แสดงว่าขณะที่เห็นรูป

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดหรือเปล่า เกิด ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ และคำว่าภวังคจิตคือ..

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตคือขณะที่ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทาง ๖ ทวาร เมื่อคืนนี้นอนหลับสนิทไหม ขณะนอนหลับสนิทมีอะไรปรากฏบ้าง ทุกขณะที่จิตใดเกิด จิตนั้นต้องดับ หลังจากจิตเกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับ เร็วมาก

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น ภวังคจิตคั่นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้พูดถึงวาระหนึ่งๆ ว่าเริ่มเมื่อไหร่ และรูปมีอายุเท่าไหร่ หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อไม่ใช่ภวังคจิต เป็นสัมปฏิจฉันนจิต มีอารมณ์เดียวกับจิตเห็น เพราะว่ารูปยังไม่ได้ดับ จิตที่เป็นจักขุทวารวิถีจิตจะต้องมีรูปเดียวกันที่ยังไม่ดับตลอดวาระนั้น

    อ.ธิดารัตน์ การที่จักขุวิญญาณจะเกิดก็อาศัยปัจจัย ๔ อย่างด้วยกัน ได้แก่ปสาทรูป ได้แก่จักขุปสาทรูปซึ่งยังไม่แตกดับด้วย คือ จักขุปสาทนั้นต้องยังมีอยู่นั่นเอง และอาศัยรูป ได้แก่สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เราเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นสี หรือวัณณะ หรือคำอื่นๆ ที่ท่านอธิบายต่างๆ ซึ่งมาปรากฏได้ทางจักขุทวาร ท่านใช้คำว่ารูปมาสู่คลอง ก็คือเมื่อมีจักขุปสาทซึ่งยังไม่แตกดับยังมีอยู่ กระทบกับรูปารมณ์ และมีแสงสว่างซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งการที่จะเห็นได้ต้องอาศัยแสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัย และมนสิการ ในที่นี้หมายถึงจักขุทวาราวัชชนะ ซึ่งเป็นจิตดวงแรกของวิถีจิตทางตา ทั้ง ๔ อย่าง ดังกล่าวเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดให้มีการเห็น

    ผู้ฟัง ธาตุดินทางกายประกอบกันอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เวทนาเป็นอุเบกขาเพราะเป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกับอุปาทายรูป อุปมาเหมือนปุยนุ่นกับปุยนุ่นกระทบกัน ส่วนทางกาย เวทนาจะเป็นทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา อุปมาเหมือนฆ้อนกับแท่งเหล็กทุบลงไป แล้วก็มีกายปสาทซึ่งเปรียบเสมือนกับปุยนุ่น เพราะฉะนั้นการกระทบกันก็จึงเป็นเวทนาที่แรง จะเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเพราะมีการกระทบกันโดยตรง เพราะฉะนั้นแท่งเหล็กในที่นี้ก็หมายถึงว่าอุปมาเหมือนกับปฐวีธาตุซึ่งเป็นธาตุดิน ซึ่งรองรับกายปสาทให้มีการ กระทบกัน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่เราค่อยๆ เข้าใจ เพราะเหตุว่า แม้แต่การที่จิตหนึ่งขณะจะเกิดขึ้นมาก็จะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่นใช้คำว่า อุปัตติเหตุ ก็แสดงว่าเราไม่ได้กล่าวถึงเหตุ ๖ เพราะจิตเหล่านี้ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย เพียงแค่เห็น ได้ยิน หรืออื่นๆ ที่เป็นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ทางตา ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เป็นต้น สัมปฏิจฉันนะอีก ๒ สันตีรณะอีก ๓ จิต ๑๕ ดวง เป็นอเหตุกวิบาก ก็แสดงให้เห็นว่าเวลาที่เรากล่าวถึง อุปัตติเหตุ เราไม่ได้กล่าวถึงว่าเหตุ ๖ ไม่ประกอบกับจิตเหล่านี้ แต่แม้จะเห็นได้ว่ากรรมมีพลังเป็นกัมมปัจจัยระดับไหนที่จะทำให้จิตเห็นซึ่งเป็นวิบาก จักขุวิญญาณ ที่เป็นวิบากเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดีน่าพอใจ เป็นกุศลวิบาก หรือเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก เพียงแค่เห็นเราก็ไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องของกรรม ตั้งแต่จักขุปสาทต้องมีกรรมเป็นสมุฏฐาน อย่างอื่นจะเป็นสมุฏฐานทำให้จักขุปสาทเกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของจักขุปสาทรูปกับสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งก็มีสมุฏฐานเหมือนกัน รูป สีสันวัณณะที่มีอยู่ในมหาภูตรูปเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี แล้วรูปไหนจะกระทบ เห็นไหมว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะไปสร้าง จะไปทำ ไปบันดาลได้เลย ต่อเมื่อใดเมื่อเข้าใจถึงอุปัตติเหตุที่ทำให้สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นโดยกรรมเป็นปัจจัย จักขุวิญญาณเป็นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ต้องมีจักขุปสาทรูปซึ่งกรรมนั่นแหล่ะทำให้จักขุปสาทรูปเกิด แล้วลองคิดดูจักขุปสาทรูปเกิดดับเร็วแค่ไหน ๑๗ ขณะจิตนี่ไม่ต้องคิดกันแล้ว ระหว่างที่กำลังเห็นอย่างนี้ ก็ได้ยินด้วยใช่ไหม มีใครขณะที่ได้ยินแล้วไม่เห็นบ้าง เพราะความรวดเร็ว และมีคิดนึกด้วย นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เพราะเราก็จะกล่าวถึงสภาพของจิตที่เกิดขึ้นสืบต่อแต่ละขณะว่าจิตนั้นเป็นประเภทไหน มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย หรือเป็นกิริยาจิตซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็จะเห็นกัมมปัจจัย เป็นปัจจัยของกรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด แล้วยังรูปที่มากระทบ เลือกได้ไหม ไม่มีใครเลือกได้เลย แล้วจักขุปสาทรูปนี่ดับเร็วแค่ไหน ลองคิดดู ขณะนี้จักขุปสาทรูปเกิดดับๆ เร็วมาก แต่แม้กระนั้นอาศัยการอุบัติการเกิดที่จะให้เป็นผลของกรรม จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ ที่เกิดพร้อมกับรูปที่กระทบ ลองคิดดู ในเมื่อรูปที่เป็นวัณณะรูปก็มีอยู่ในมหาภูตรูปทุกรูป ไม่มีมหาภูตรูปใดซึ่งไม่มีอุปาทายรูปคือสีสันวัณณะเกิด ต้องมีทุกครั้ง และทั้ง ๒ รูป นี้ก็เกิดดับไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย แต่อาศัยการประจวบกันด้วยกำลังของกรรมที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น รูป ๑๗ ขณะซึ่งเร็วมากอาศัยการเกิด และยังไม่ดับของทั้งจักขุปสาทรูป และรูปารมณ์หรือวัณณะธาตุที่กระทบ เป็นปัจจัยทำให้วิถีจิตเกิด สามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือ อุปัตติเหตุ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าการเห็นก็ต้องมีการเกิดแล้วดับ แต่เนื่องจากว่าเราไม่ทราบการดับแล้วก็เกิด ความต่อเนื่องกันตรงนี้ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีการเกิดหรือไม่ได้มีการดับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมมีโอกาสแม้เพียงจะเข้าใจอย่างนี้หรือไม่ เพียงจะเข้าใจก็ไม่มี ทั้งๆ ที่ความจริงก็เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง แต่ข้อพิสูจน์ได้ก็คือ ขณะนี้ก็เห็นแล้วเดี๋ยวก็ได้ยิน เพราะฉะนั้นตรงนี้พอที่จะเข้าใจได้แล้วว่าต้องมีการสลับกันเกิดขึ้น แล้วรู้สึกว่าตรงนี้จะเป็นข้อสำคัญในการที่จะพิจารณาอบรมเจริญสติปัฏฐานว่าขณะใด อะไรปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจเรื่องราว ต้องเทียบเคียงหรือไม่ จึงจะเข้าใจยิ่งขึ้นได้ และก็ต้องรู้ด้วยว่าขณะที่ฟังไม่ใช่ความรู้ที่ประจักษ์ เพียงแต่ขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับไป แล้วก็กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็จะต้องกระทำให้แจ่มแจ้ง แต่ว่าด้วยความเข้าใจถูกว่าไม่มีตัวตน แต่เป็นการสะสมของสังขารขันธ์ คือ ฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งเข้าใจแล้วเข้าใจอีก จนกระทั่งสามารถจะระลึกลักษณะนั้น จนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้ นี่คือทรงแสดงหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งด้วย มิฉะนั้นเราจะกล่าวว่าเราเรียนธรรมแล้วเข้าใจ เข้าใจแค่เรื่องราว แต่ว่ายังไม่ได้รู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะถึงขั้นของสติปัฏฐาน

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็คือสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ดูเหมือนเราฟังเรื่องราวของพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ก็คือสภาพธรรมที่ส่องให้เราเห็นชีวิตประจำวันว่าสิ่งที่ท่านทรงแสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง และเราก็พิจารณาได้ เพื่อคลายความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เพราะฉะนั้นเป็นเพียงแต่จิต เจตสิก แล้วก็รูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว พอจะรู้ได้ไหมว่าเราได้ทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมมามากน้อยแค่ไหน ทราบหรือไม่ หรือยังไม่ทราบ ทราบได้จากอะไร วิบากจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะรู้ได้เลยว่าอะไรเกิดบ่อยที่เป็นกุศลวิบาก หรือที่เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นก็ส่องถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่มีใครเลยนอกจากจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อเมื่อเป็นเหตุสุกงอมพร้อมให้ผลเมื่อไหร่ วิบากจิตก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ซึ่งทั้งเหตุ และผลก็ไม่ใช่เรา คือธรรมเป็นเรื่องคิดไตร่ตรอง และก็มีเหตุผล ถ้ามีความเข้าใจเราจะไม่ลืมเลย แต่ว่าถ้าเพียงแต่เราจำเพียงชื่อรู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เราก็ลืมได้ เพราะฉะนั้นเราก็เคยได้ยินคำว่ามโน มนัส หทย เหล่านี้เป็นชื่อของจิต และจิตก็เป็นธาตุด้วย แต่ ณ บัดนี้มีคำว่ามโนธาตุด้วย เพราะฉะนั้นหมายความถึงจิตแน่นอน แต่ถามว่ารวมเจตสิกด้วยหรือไม่ รวมไม่ได้เพราะเหตุว่ามโนธา-ตุ แยกออกมาแล้วว่ามโนธาตุ

    แต่ถ้ากล่าวถึงจิตตุปาท หมายถึง การเกิดของจิตรวมเจตสิก เพราะว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่ใช้คำว่ามโนธาตุเป็นการจำแนกธาตุรู้ ว่ามีต่างกันอย่างไร เพราะเหตุว่าจิตมีหลากหลายมากมายหลายประเภท เพราะฉะนั้น ตามที่ทรงแสดงประมวลไว้ ก็ประมวลเรื่องของธาตุที่เป็นจิตไว้ ๗ ประเภท วิญญาณธาตุที่ ๑ คือจักขุวิญญาณธาตุ อันนี้เป็นธาตุที่เป็นนามธรรมจะเกิดโดยอย่างอื่นไม่ได้เลย ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวารหรือเป็นที่เกิดเท่านั้น จิตนี้จึงเกิดได้ ไม่ได้อาศัยหทยเหมือนจิตอื่นด้วย สำหรับจิตอื่น เช่น ปฏิสนธิจิตก็เกิดที่หทยวัตถุ จิตอื่นทั้งหมดเว้นจิต ๑๐ ดวง คือทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ได้แก่จักขุวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่จักขุปสาทรูป ไม่ได้อาศัยรูปอื่น

    นี่คือความพิเศษ ความต่างหากของธาตุชนิดนี้ ซึ่งเกิดที่จักขุปสาทรูปเป็นวัตถุ เป็นที่เกิด สำหรับโสตวิญญาณธาตุก็เป็นอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ต่างกันเลย โสตวิญญาณทำกิจได้ยิน ทำกิจอื่นไม่ได้เลย ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นก็เป็นธาตุที่เป็นโสตวิญญาณธาตุมี ๒ แต่ถ้ากล่าวโดยประเภทก็คือ วิญญาณธาตุ ๗ คือ จิตนี้จำแนกออกเป็นธาตุ ๗ ประเภท คือ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ เป็น ๕ ประเภทแล้ว ส่วนมโนธาตุ ๓ ที่เหลือ เป็นมโนวิญญาณธาตุ คือจิตที่เหลือทั้งหมด เพราะเหตุว่ามโนธาตุ ๓ ได้แก่ จิตที่เกิดที่หทยวัตถุ แต่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่หทยวัตถุ สามารถที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ที่ปรากฏทางกาย เมื่อจักขุวิญญาณดับจิตอื่นเกิดไม่ได้เลย นอกจากสัมปฏิจฉันนจิต ถ้าจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบาก ถ้าจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของกรรมเดียวกัน รู้รูปเดียวกันที่ยังไม่ดับ ถ้าเป็นรูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์ จะเปลี่ยนรูปให้เป็นอิฏฐารมณ์ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทางทวารทั้ง ๕ เป็นมโนธาตุ ๓ คือปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง สัมปฏิจฉันนจิตอีก ๒ รวมเป็น ๓ จิต ๓ ดวงนี้เป็นมโนธาตุ ส่วนจิตอื่นก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทางมโนทวาร ก็ครบจิต ๘๙ ประเภท

    เพราะว่าจริงๆ แล้วเรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดฉันใด สิ่งที่เกิดจากจิต เช่น รูป ซึ่งออกมาเป็นอาการกิริยาต่างๆ ก็ต้องละเอียดตามไปด้วย ซึ่งก็จะสังเกตุได้ว่าแต่ละคนก็มีการแสดงออกทางกาย ทางวาจา ต่างๆ กัน หลากหลายมากตามความหลากหลายของจิต แม้แต่การนั่งหรือว่าการนอน การยืน การเดิน การพูด เสียงที่พูด หรือถ้อยคำ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ที่ใช้ด้วยความเคยชิน ซึ่งแต่ละท่านก็จะสังเกตุตัวเองได้ว่าเราชินในอะไรบ้าง และเราก็อาจจะค่อยๆ แก้ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ