พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 89


    ตอนที่ ๘๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ หรือว่ามีใครห่วงเรื่องสติปัฏฐาน หรือ สติสัมปชัญญะ ถึงจะห่วงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าก็ไม่ใช่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดมีได้เพราะความห่วง แต่ต้องรู้เหตุว่าเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจริงๆ

    ผู้ฟัง ขั้นภาวนาเป็นขั้นปัญญา บางอย่างไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แล้วเราก็จะละเลยตรงขั้นทานขั้นศีลได้หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทำอะไรได้ ถูกต้องไหม เป็นไปตามการสะสม คนที่สะสมมาที่จะให้ทานบ่อยๆ คงไม่มีใครไปขัดขวางหรือว่าไปยับยั้งว่าไม่ให้เป็นอย่างนั้น หรือใครที่มีกายวาจาที่สะสมมาดี ที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น แม้แต่การช่วยเหลือหรือวาจาที่เป็นประโยชน์ เขาก็สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ที่ไม่มีใครที่จะไปยับยั้งได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นอัธยาศัยของตัวเองตามความเป็นจริง และจากการฟังพระธรรมเมื่อมีความเข้าใจว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล แม้ไม่ใช่ตัวตน แต่กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นปัญญาที่มีความเห็นถูกก็จะปรุงแต่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นซึ่งสะสมอัธยาศัยนานมาแล้วจนกระทั่งถึงขณะนี้ที่จะปรุงแต่งให้มีความวิจิตรของความคิดนึก และการกระทำต่างๆ ต่อไปอีก ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจขึ้นว่าเป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าการฟังนั้นสมบูรณ์ ในขณะที่เขาทำทาน ทำศีล สติปัฏฐานเขาเกิดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานสามารถที่จะรู้อารมณ์ปรากฏได้ทุกอารมณ์ ไม่เลือกกาละ ไม่เลือกสถานที่เพราะว่าเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ต้องนึกก่อนไหมที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ถ้านึกขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ที่กำลังนึกนั้น

    ผู้ฟัง ขั้นทาน ขั้นศีลเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐานได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึง "ปกตูปนิสสยปัจจัย" จะเห็นว่าสิ่งที่เรามองไม่เห็นเลยว่าจะเป็นปัจจัยได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เช่น อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล ไม่ได้พูดถึงเรื่องทาน ไม่ได้พูดถึงเรื่องศีล แต่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทไหน คงจะไม่ใช่การฆ่าหรือว่าทุจริตกรรม ในชีวิตประจำวันของเราเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เมื่อเราไปทำกิจการงานหรือตื่นมาก็พบบุคคลในครอบครัว มีความผูกพัน มีความเมตตา มีความหวังดี แต่ว่าความเป็นผู้ละเอียด และเห็นประโยชน์ แม้ในทางโลกซึ่งไม่ใช่กุศล ในเรื่องของธุรกิจการงาน ในเรื่องวิชาความรู้ ใครรู้เรื่องวิธีทำอาหาร และทำได้อร่อย ก็บอกคนอื่นให้เขาเข้าใจอย่างนั้น หรือสะสมความละเอียดของการที่จะพิจารณาสิ่งต่างๆ แม้ว่าในขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ในศีล ที่เป็นกุศลจริงๆ เพราะว่าเป็นเรื่องของโลก แต่ก็มีความเมตตา และถ้าจะมีความที่ผูกพันกับบุคคลนั้นโดยฐานะใดๆ ก็ตาม แต่ก็ยังมีความหวังดีที่จะให้บุคคลนั้นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เป็นความรู้ทางโลก

    เพราะฉะนั้นจากการที่เขาเข้าใจ และก็ใส่ใจในความละเอียดทางโลก ก็จะสะสมเป็นความละเอียดในความใส่ใจแม้ว่าในทางโลก ซึ่งจะค่อยๆ ปรับปรุงสะสมเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งแม้ในขณะที่เป็นไปในทางธรรม ในการฟังธรรมถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดกับผู้ที่หยาบ เราก็จะเห็นความต่างกัน คนที่หยาบก็คิดว่าเข้าใจหมดแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย นามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่างก็เข้าใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เข้าใจอีก แล้วจะมีอะไร อายตนะก็เข้าใจ ธาตุก็เข้าใจ ทุกอย่างก็เข้าใจหมด นี่เป็นผู้ที่หยาบหรือว่าเป็นผู้ที่ละเอียด เพราะฉะนั้นจากการที่จะเป็นผู้ที่ละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จึงค่อยๆ สะสมมา นานแสนนาน กว่าจะปรุงแต่งเป็นการที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม แล้วก็ความละเอียดที่สะสมมา ความใส่ใจโดยดีแม้ในทางโลก ก็จะเปลี่ยนมาเป็นการใส่ใจอย่างดีในทางธรรม และเป็นการพิจารณาที่ละเอียดแยบคายขึ้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแต่ละชวนจิต คือเป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้างก็จะสะสมสืบต่อซึ่งเป็นความวิจิตร เป็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กัน มิฉะนั้นก็จะไม่มีผู้ที่มีปัญญาคม ปัญญาลึก ปัญญากว้าง ปัญญาหนา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะที่ต่างกันของปัญญาในรูปแบบต่างๆ

    ผู้ฟัง อกุศลกรรม กับอกุศลกับกุศลเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวโดยเหตุกับผล กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล กรรมก็ต้องเป็นอกุศลกรรม และกุศลกรรมเป็นเหตุ ถ้ากล่าวถึงเหตุ ๖ ก็ต้องได้แก่เหตุเจตสิก ๖

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุ หรือ เหตุ ๖ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเรากำลังศึกษาด้วยอเหตุกะ และ สเหตุกะ เราเน้นที่เจตสิก ๖ ซึ่งเป็นเหตุ

    ผู้ฟัง ถ้าโดยทั่วๆ ไปเราก็สามารถกล่าวได้ว่ากุศลกรรม และอกุศลกรรมเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุ

    ท่านอาจารย์ และวิบากเป็นผล ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ จะใช้คำพูดอย่างไร ความเข้าใจของเราถูก เราก็รู้ว่าขณะนั้นหมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องจิต ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ขณะ”

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น และดับจะเรียกว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง จากที่เรียนมาเรียกว่า “ขณะ”

    ท่านอาจารย์ และเข้าใจได้ไหมถ้ากล่าวว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ เข้าใจได้ไหมว่า ๑ จิตเป็น ๑ ขณะ

    ผู้ฟัง ๑ จิตเป็น ๑ ขณะ แล้วใน ๑ ขณะก็ยังมีอนุขณะ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดดับ ปฏิสนธิจิตเกิดไหม

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิก็เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด แม้ปฏิสนธิจิตหรือจิตใดๆ ก็ตาม ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับมีไหม

    ผู้ฟัง จิตที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะเกิดกับขณะดับ มีใช่ไหม แล้วขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับมีไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นความละเอียดขนาดนั้นก็ต้องมี

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่เราจะเริ่มเข้าใจว่า จิต ๑ ขณะ ก็จะมีขณะที่เกิดกับขณะที่ดับ และขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับด้วย เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะจะมีอนุขณะ ใช้คำว่าอนุขณะ ๓ คือขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ฐิติ” และขณะที่ดับคือ “ภังคะ” เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดเป็น "อุปาทขณะ" ขณะที่ยังไม่ดับที่ยังตั้งอยู่เป็นฐีติขณะ ขณะที่ดับเป็นภังคขณะ ที่ทรงแสดงอย่างนี้โดยละเอียดตามความเป็นจริง ซึ่งทรงตรัสรู้ว่าทันทีที่จิตเกิดในอุปาทขณะนั่นเองก็จะมีรูปเกิด โดยจิตนั้นเป็นสมุฏฐาน หรือโดยกรรมเป็นสมุฏฐานก็ตามแต่ ฉะนั้นที่เรากล่าว เป็นการกล่าวกว้างๆ ว่า เหตุใดจึงต้องทรงแสดงถึงอนุขณะของจิต เพียงจิต ๑ ขณะแสดงว่ามีอนุขณะ ๓ เพราะว่ากัมมชรูป รูปที่เกิดจากกรรมเกิดในอุปาทขณะของจิต ในฐีติขณะของจิต และในภังคขณะของจิต แสดงให้เห็นว่าทรงตรัสรู้ว่า รูปที่เกิดจากกรรมจะเกิดเมื่อใดบ้าง แต่ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มี กัมมชรูปจะเกิดไม่ได้เลย จึงต้องมีปฏิสนธิจิต เพราะว่าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้วทำให้เกิดวิบากจิต และวิบากจิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิต ซึ่งสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนโดยเราเลือกกรรมไม่ได้เลยว่าจะให้กรรมไหนให้ผล ที่เราเป็นเราเดี๋ยวนี้ นั่งที่นี่ ขณะนี้ เราเลือกหรือไม่ว่าเราจะเป็นคนนี้ อย่างนี้ ชาตินี้ ไม่มีทางเลย แต่กรรมหนึ่งไม่ว่าจะเป็นกรรมที่ชาติก่อนใดๆ ก็ตาม แต่เป็นกรรมที่ถึงกาละที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมนั้นก็จะทำให้จิตก่อนจะตาย จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ตาม ตามอารมณ์ที่ปรากฏ แล้วผลก็คือว่าถ้าขณะก่อนจุติ จิตเศร้าหมองเป็นอกุศล ก็จะทำให้อกุศลวิบากเกิด แต่อกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติไม่ได้หมายความว่าเป็นการทำกรรมนั้นในขณะนั้น แต่ถึงกาละที่กรรมหนึ่งจะเป็นชนกกรรม จึงทำให้จิตขณะนั้นเศร้าหมองเมื่อมีอารมณ์ที่ปรากฏก่อนจะตาย เราคาดคะเนไม่ได้เลย คนจะตายเอาดอกไม้ไปให้บูชาพระ แต่ว่าชนกกรรมของเขาที่จะทำให้จิตเศร้าหมองหรือผ่องใสที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วแต่กรรมใด เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิดใกล้จะจุติหรือก่อนจุติจิต เวลาที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตต้องเป็นอกุศลวิบาก และกรรมนั้นก็ทำให้ทั้งจิต และเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดพร้อมกัมมชรูปในอุปาทขณะ ในฐีติขณะ ในภังคขณะ ในจิต ๑ ขณะที่เกิด

    เพราะฉะนั้นก็พอที่จะเข้าใจได้ ถ้ากล่าวถึงขณะก็คือ ๑ ขณะจิต บางแห่งจะใช้คำว่าดวง คือผู้ที่ศึกษาเบื้องต้นท่านใช้คำว่าดวงมาโดยตลอด เพราะว่าภาษาไทยเราจะมีคำว่าเก้าอี้หนึ่งตัว ช้างหนึ่งเชือก ช้อนหนึ่งคัน เมื่อกล่าวถึงจิตท่านก็ใช้คำว่าจิต ๑ ดวง แต่ไม่ต้องไปคิดถึงภาพใดๆ เพราะถ้าคิดถึงภาพ ก็เรียกได้ว่าขณะนั้นเราไม่ได้ฟังธรรมที่จะให้เข้าใจธรรม เราไปนึกถึงภาพ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นภาพวงกลมหนึ่งวงแล้วก็วงกลมเล็กๆ ข้างใน ๓ วง ทิ้งไปได้เลย เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของจิต ไม่ได้ระลึกตรงสภาพรู้ที่กำลังรู้ในขณะนี้ ขณะนี้มีสภาพรู้ทางตากำลังเห็น มีสภาพรู้ทางกายกำลังรู้แข็ง มีสภาพรู้ทางหูกำลังได้ยินเสียง นี่คือสภาพรู้ทั้งหมด ฉะนั้น การที่จะเข้าถึงธรรม ไม่ควรที่จะเอารูปมาเจือปนหรือมาทำให้เราคิด และคิดว่านั่นจะช่วยความจำ แต่ไม่ได้ช่วยความเข้าใจ ทำให้ติดตาว่าภาพนั้นมีลักษณะอย่างไรใช่ไหม โยงกันไปทางซ้ายทางขวามีกี่วงอะไรอย่างนี้ ก็เป็นการที่ไปทำให้จำภาพ แต่ไม่ได้ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังจริงๆ พิจารณาจริงๆ สามารถเข้าใจได้ไหมในลักษณะของนามธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ แต่มีอนุขณะ คือความละเอียด ละเอียดถึงว่าขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ ขณะที่เกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ ขณะที่ดับเป็นภังคขณะ นี่คือ ๑ ขณะจิต และอนุขณะ ๓ มีใครไม่เข้าใจตอนนี้บ้างไหม หรือยังสงสัยอยู่ คำว่า “ขณะ” เข้าใจแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต่อไปคำว่า “วาระ”

    ท่านอาจารย์ “วาระ” จิตเกิดดับเร็วเพียงใด เช่น ปฏิสนธิจิตเกิดกี่ขณะ ๑ ขณะ เท่านั้น ในชาติหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิต ๒ ขณะไม่ได้เลย เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว สภาพของจิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ภวังค์

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิ เพราะว่ากรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิด ยังทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นยังไม่สิ้นสุด ยังไม่ตาย ยังไม่เปลี่ยนสภาพ ย้งเป็นบุคคลนี้อยู่ จนกว่าจะถึงจุติจิต คือจิตขณะสุดท้าย ฉะนั้นกระแสภวังค์จะมากมายสักเพียงใดหลังปฏิสนธิ เพราะว่าเราไม่สามารถจะรู้ขณะที่เป็นภวังค์ได้ ขณะที่เป็นภวังค์ไม่มีอะไรปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คิดถึงสภาพนั้นว่าเป็นจิตที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย และมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตคืออารมณ์ใกล้จะจุติของชาติก่อน ซึ่งไม่ปรากฏในโลกนี้เลย ไม่ใช่เห็นทางตาเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ได้ยินเสียงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ได้กลิ่นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ได้ลิ้มรสเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือไม่ใช่คิดนึกเลย

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเราก็จะไม่ได้พูดถึงวาระอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นภวังคจิตซึ่งไม่มีอารมณ์ใดจะปรากฏ แต่เมื่อกล่าวถึงวาระหมายความถึงจิตรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ภวังค์ เช่น ในขณะที่เห็นไม่ใช่เพียงจิต ๑ ขณะเท่านั้น แต่มีจิตเกิดดับสืบต่อรู้รูปที่กระทบตาที่ยังไม่ดับ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ไม่มีใครสามารถที่จะประมาณได้ว่ารูปที่ปรากฏทางตาเกิดดับอย่างรวดเร็วติดต่อกันมากมายสักเท่าใด เกินสติปัญญาที่จะรู้ได้ แต่จากการศึกษาพระธรรมให้ทราบว่าการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของจิต เวลาที่จะรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ก็คือรู้รูปที่กระทบทวารนั้น และยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้นถ้านับดูแล้ว รูปๆ หนึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ถ้ารูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต จิตเกิดดับต่อไปเป็นภวังค์ต่อไปครบ ๑๗ ขณะเมื่อใด รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะก็ดับ แต่ถ้ารูปนั้นเกิดในฐีติขณะก็นับต่อไปอีกว่าจะดับเมื่อใด และก็ไม่ใช่เฉพาะที่ตัว ต้นไม้ใบหญ้าอะไรทั้งหมดก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิต ทั้งหมดที่เป็นสภาวรูป แต่ยังไม่ได้กล่าวถึง การศึกษาธรรมให้มีความเข้าใจที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าแสดงว่าสภาวรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ต้องหมายความถึงสภาวรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือเกิดจากอาหารก็ตาม รูปที่เกิดจากอุตุ เช่น ต้นไม้ใบหญ้า ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปที่เก้าอี้อายุเท่าไหร่ ก็ต้อง ๑๗ ขณะ แต่อย่าลืมเมื่อกล่าวเช่นนี้เราไม่ได้หมายความถึงทั้งหมดเลย แต่ต้องคิดถึงอากาศธาตุซึ่งแทรกคั่นอยู่ แล้วใน ๑ กลาปหรือใน ๑ กลุ่ม จะมีรูปซึ่งเกิดแล้วดับเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถจะนำสิ่งอื่นมาวัดได้นอกจากจิต จึงต้องอาศัยจิตซึ่งเกิดดับเร็วกว่า แสดงว่ารูปๆ หนึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต แล้วเราจะต้องไปกังวลไหมว่ารูปนี้เกิดเมื่อไหร่ และก็จะดับเมื่อไหร่ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคิดอย่างนั้นเลย เพราะว่าการศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่เรา ความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งสิ่งที่จะปรุงแต่งให้มีความเข้าใจขึ้น ก็คือฟังพระธรรมที่เป็นส่วนละเอียด คือพระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรมให้เข้าใจ ว่ากว่าจะไม่ใช่เรา กว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องฟัง ต้องพิจารณา ต้องไตร่ตรอง จนกระทั่งสติสัมปชัญญะเกิดก็ต้องเริ่มต้นจากการรู้ลักษณะ ซึ่งแต่ก่อนนี้เพียงรู้เรื่อง และอาศัยความที่เคยเข้าใจมาแล้วทั้งหมดปรุงแต่งให้สามารถเข้าใจในลักษณะนั้น โดยความเป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น "วาระ" หมายถึง ขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิต และมีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ทีละทวาร และบางกาละนี้รูปก็ดับไปก่อน บางกาละรูปก็สามารถที่จะมีจิตเกิดดับรู้อารมณ์นั้นแล้วรูปจึงดับ ฉะนั้นจึงมีความยาวสั้นต่างกัน ต่อไปเราจะรู้ว่าบางวาระจิตเกิดไม่ถึงชวนะ ไม่ถึงตทาลัมพนะก็ได้ นี่ก็แสดงให้รู้ว่าสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน เราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ถ้าฟังพระธรรม ความรู้ของเราขั้นฟังต้องค่อยๆ ละเอียด และรู้จุดประสงค์ว่าศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง เพื่อว่าสติสัมปชัญญะจะได้ไม่ลืมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเราลืมไปว่าเราศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีทางที่สติสัมปชัญญะจะระลึกได้ แต่ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังฟังสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ จะชื่อภาษาบาลีว่าจักขุวิญญาณก็คือจิตเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ

    จะเห็นว่าความรู้ของเรานั้นน้อยมากเพราะว่าแม้สิ่งที่กำลังเกิดดับจริงๆ ก็ยังไม่รู้ นี่คือการฟังให้เข้าใจว่าคำว่า “วาระ” หมายความถึงขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งต่อไปจะรู้ว่าจะมีภวังค์คั่นอยู่ทุกวาระ ไม่สามารถจะเป็นวิถีจิตเกิดสืบต่อไปโดยที่ไม่มีภวังค์คั่นเลยนอกจากขณะที่เป็นฌาณจิตสำหรับผู้ที่ได้อบรมความมั่นคงความสงบถึงขั้นอัปปนา และก็ยังต้องมีวสี มีความคล่องแคล่ว มีความชำนาญที่จะให้ฌาณจิต หรือมหัคคตจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิตเกิดได้นานเท่าไหร่ นี่ก็เป็นเรื่องอีกมากที่เราจะค่อยๆ ฟังไป แต่เป็นสิ่งที่มีในชีวิตเราหรือไม่ ไม่มี แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจถูก จนกระทั่งไม่มีคนอื่นที่จะทำให้เราเข้าใจผิด ถ้ามีคนบอกเราว่าเขาได้ฌาณ ถ้าเราไม่ศึกษาเลยเราก็ไม่รู้ว่าฌาณหรือไม่ แต่ถ้าเราศึกษาถึงเหตุที่จะให้เกิดโดยถูกต้อง เราจะรู้เลยว่าเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ เพราะอะไร นี่คือเรื่องวาระ

    ขณะนี้มีจิตที่เป็นวาระที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหรือไม่ มี กี่วาระ นับไม่ถ้วน มีภวังคจิตคั่นทุกวาระหรือไม่ มี นี่คือการที่เราเริ่มมีความมั่นคง ซึ่งพระธรรมไม่เปลี่ยน ถ้าบอกว่าสภาวรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ก็ต้องเป็น ๑๗ ขณะ จะเกิดพร้อมจิตขณะไหนก็ไม่เป็นไร จะเกิดพร้อมภวังค์ขณะไหน จะเกิดพร้อมตทาลัมพนะ จะเกิดพร้อมโวฏฐัพพนะ หรือจะเกิดพร้อมจิตอะไรก็ตาม รูปที่เกิดนั้นต้องมีอายุเมื่อจิตเกิดดับไปแล้ว ๑๗ ขณะ รูปนั้นก็ดับ

    ผู้ฟัง วาระก็คือจิตที่เกิดขึ้นมาแล้วรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเรียกว่า “วิถีจิต” เพราะว่าจะไม่ใช่จิตขณะเดียว จะต้องมีจิตที่เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์นั้น วาระหนึ่งหมดก็คือภวังคจิตคั่น ไม่รู้อารมณ์นั้นอีกต่อไปเมื่อไหร่ ก็เป็นวาระหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง มีความใกล้เคียงกับวิถี

    ท่านอาจารย์ วิถีจิต ขณะใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ทั้งหมดเป็นวิถีจิต จักขุวิญญาณ จิตเห็นเป็นวิถีจิตเพราะไม่ใช่ภวังคจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตเพราะไม่ใช่ภวังคจิต สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ กุศล อกุศล จิตอื่นใดทั้งหมดเป็นวิถีจิต ถ้าไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อได้ยินคำว่า “วิถีจิต” ต้องคู่กับทวาร เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่ภวังค์ ก็จะต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์อื่นโดยอาศัยทางหนึ่งทางใด คืออาศัยทางตา อาศัยทางหู อาศัยทางจมูก อาศัยทางลิ้น อาศัยทางกาย อาศัยทางใจ ทวารหรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นมี ๖ ทาง ซึ่งอารมณ์ของภวังค์ไม่ได้ปรากฏ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงเลย แต่ขณะใดที่มีอะไรปรากฏให้รู้ว่าเป็นวิถีจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารนั้นแล้วไม่มีอารมณ์นั้นเมื่อใด ดับหมดแล้วเมื่อใด คือหมดวาระของทวารนั้นๆ ขณะที่กำลังเห็นแล้วมีได้ยิน ต้องมีวิถีจิตที่เป็นวาระของการรู้อารมณ์ทางตาดับไปหมด แล้วก็มีภวังค์คั่น แล้วก็มีจิตได้ยินซึ่งเป็นวิถีจิตหลายขณะไม่ใช่ขณะเดียว วาระหนึ่งจะมีวิถีจิตหลายขณะ วิถีจิตทั้งหมดที่เกิดสืบต่อกันทางทวารหนึ่งทวารใดก็ตาม ก็แล้วแต่ว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ ถ้าเป็นทางมโนทวารก็จะน้อยกว่าทางปัญจทวาร เพราะว่าไม่ได้มีอารมณ์มากระทบตา ไม่ต้องมีปัญจทวาราวัชชนะ ไม่ต้องมีจักขุวิญญาณ ไม่ต้องมีสัมปฏิจฉันนะ ไม่ต้องมีสันตีรณะ เพราะฉะนั้นทางมโนทวาร วาระของวิถีจิตทางมโนทวารจะน้อยกว่าวิถีจิตทางปัญจทวาร ก็เป็นไปตามเหตุตามผลตรงไปตรงมา ธรรมไม่เปลี่ยน ไม่มีเปลี่ยนเลย เพราะเป็นการตรัสรู้สภาพความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงวิถีจิตต้องรู้ว่าทวารไหน แล้ววิถีจิตจะเกิดขณะเดียวไม่ได้เลย จะมีหลายขณะซึ่งเกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ