พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 112


    ตอนที่ ๑๑๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ การศึกษาปัจจัยก็คือเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัย และไม่ใช่เป็นเราที่ทำปัจจัยนั้นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง รูปไม่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นกุศลไม่ได้ รูปเป็นอกุศลได้ไหม โต๊ะเป็นกุศลหรืออกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากได้ไหม ก็ไม่ได้ เป็นกิริยาได้ไหม ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตที่เกิดเป็นจิตดวงแรกที่เกิดจริงๆ แล้วโดยสภาพธรรมก็น่าจะมีรูปเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ กรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ พร้อมปฏิสนธิจิต แต่รูปนั้นเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ใช่เกิดเพราะปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย ก็จะทำให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้น และไม่ลืมว่าปฏิสนธิจิตขณะแรกไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด เพราะจะต้องรู้ว่ามีจิตอะไรบ้างที่จะไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ จิตเห็น ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตได้ยิน ๒ จิตได้กลิ่น ๒ จิตลิ้มรส ๒ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๒ จิตทั้ง ๑๐ ประเภทนี้ ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด ปฏิสนธิจิต และจุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด และอรูปวิบากไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด นอกจากนั้นแล้วเมื่อจิตเกิดต้องเป็นปัจจัยให้รูปเกิด

    ผู้ฟัง จิตทุกขณะที่เกิดในปัจจุปันก็มีกัมมปัจจัยด้วย

    อ.วิชัย เจตนาเจตสิกเมื่อเกิดทุกครั้งเป็นกัมมปัจจัย จิตทุกชาติไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต วิบากจิตหรือว่ากิริยาจิต เมื่อเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยเจตนาเจตสิกในทุกชาติ และเมื่อเจตนาเจตสิกเมื่อเกิดพร้อมกับจิต เจตนาเจตสิกก็เป็นกัมมปัจจัยแก่จิต และเจตสิกอื่นที่จะเกิดพร้อมกันในขณะนั้น เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้น

    ผู้ฟัง แสดงว่าจิตที่ปัจจุบันที่เกิดขึ้นแต่ละขณะก็มี ๑ ปัจจัยแล้ว คือ กัมมปัจจัย

    อ.วิชัย ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจตรงลักษณะของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเกิดแล้ว ดับแล้วก็คือดับแล้วดับเลย แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อได้ใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็ต้องดูว่ากล่าวถึงธรรมอะไรที่เป็นผล เมื่อเรากล่าวถึงว่าเจตนานั้นเป็นเหตุแล้ว แล้วก็ต้องรู้ว่าอะไรที่เป็นผลของเจตนานั้น เช่น เมื่อการเกิดพร้อมกัน เจตนาเกิดพร้อมกับจิต เจตนาเป็นปัจจัยแก่จิตเมื่อเจตนานั้นยังมีอยู่ แต่ว่าหลังจากที่เจตนานั้นดับไปแล้วเป็นเหตุให้ธรรมอื่นเกิดสืบต่อภายหลังได้ด้วย เช่น อนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นก็มีเจตสิกรวมถึงเจตนาเจตสิกเกิดพร้อมกันด้วย แต่เมื่อจิตดับไปแล้วรวมถึงเจตสิกอื่นๆ ดับไปแล้วก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้นภายหลังด้วย ฉะนั้น จิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นภายหลังก็เป็นผลจากจิตที่ดับไปก่อน รวมถึงเจตนาที่ดับไปก่อนด้วยเป็นอนันตรปัจจัยให้จิต และเจตสิกภายหลัง จึงสามารถจะเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าจิตดวงก่อนไม่ดับไปก่อน จิตภายหลังจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เจตนาในอดีตเป็นภวังคจิต และก็วิบากจิตคือจิตเห็นเกิดเป็นเจตนาของภวังคจิตนั้นได้ไหมที่เป็นวิบาก

    อ.วิชัย ถ้าเจตนาที่จะให้ผลเกิดขึ้นภายหลัง ต้องเป็นเจตนาที่เป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาเท่านั้น ถ้าเป็นวิบากหรือกิริยาไม่สามารถจะให้เกิดผลภายหลังได้ ให้ผลคือเกิดพร้อมกันเท่านั้น

    ผู้ฟัง ความเป็นภัยของปฏิสนธิจิตจะขจัดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์หมายความว่าถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ดับกิเลสเป็นสมุทเฉท จุติจิตของท่านดับไปไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการเกิดอีกต่อไป

    ผู้ฟัง ตอนนี้เรารู้จักคำว่า “จิต” คือปฏิสนธิจิต และภวังค์ เรียนถามว่าจิตที่ชื่อว่า “จิตปัณฑระ” หมายความว่าอย่างไร ต่างกับ “ภวังค์” และ “ปภัสสร” อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชื่อของจิตตามสภาพของจิต เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ถ้าเราเข้าใจลักษณะของธรรมก่อนแล้วก็รู้ชื่อนั้นๆ ก็จะดีกว่าการที่เราได้ยินชื่อก่อน แล้วก็หาดูว่าได้แก่จิตอะไร เพราะฉะนั้นคำถามของคุณสุรีย์เราได้ยินคำว่า “ปภัสสร” หรือ “ปภัสสรัง” “ปัณฑระ” ๒ ชื่อ แล้วก็ "จิต" ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริง เราก็จะมีคำที่ทำให้เราเข้าใจความต่างของจิตแต่ละประเภทหรือจิตแต่ละขณะ เช่น จิตใดก็ตามที่เกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกก็ไม่ใช่จิต แยกกัน สำหรับคำว่าปัณฑระเป็นชื่อของจิตซึ่งแสดงว่าขณะนั้นได้กล่าวถึงเฉพาะสภาพรู้เท่านั้น ไม่รวมถึงสภาพของเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราศึกษาธรรมจะแยกจิตกับเจตสิกอย่างไร จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จิตไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตหนึ่งขณะเกิดขึ้นประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ เจตสิกต่างๆ ทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ที่เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น แต่สำหรับตัวจิตเองเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์อย่างเดียวจึงใช้คำว่า “ปัณฑระหมายความว่าเป็นลักษณะของจิตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตาม ลักษณะของจิต เฉพาะจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต คือ ปัณฑระ มีข้อสงสัยไหม

    จิตทุกประเภทเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นเวลากล่าวถึงลักษณะของจิตโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะเศร้าหมองหรือผ่องใสยังไม่ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตเป็นลักษณะที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ถ้าเป็นความติดข้องเป็นลักษณะของเจตสิก ถ้าเป็นความขุ่นเคืองขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเจตสิก เพราะว่าตัวจิตไม่ได้ขุ่นข้อง และก็ไม่ได้ติดข้อง แต่จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวเฉพาะจิตจึงใช้คำว่า “ปัณฑระ”

    ผู้ฟัง หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ มิได้ ถึงมีก็ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวถึงเฉพาะจิตล้วนๆ เฉพาะจิตเท่านั้นว่าจิตเองไม่ได้เศร้าหมองหรือผ่องใส แต่เพราะอาศัยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทำให้จิตนั้นมีลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตจริงๆ เป็นปัณฑระ คือไม่มีกิเลสใดๆ เฉพาะจิตเท่านั้น ขาวสะอาด ถ้ากล่าวถึงอกุศลจิต หมายความว่าจิตนั้นมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็นอกุศลจิต แต่ตัวจิตไม่ว่าจะเมื่อไหร่อย่างไรก็ตามเป็นปัณฑระ เพราะเหตุว่าไม่ได้กล่าวถึงลักษณะของเจตสิกต่างๆ ฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี แต่กล่าวถึงสภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงปัณฑระ จิตทุกประเภท อกุศลจิต ตัวจิตเป็นปัณฑระ กุศลจิต ตัวจิตก็เป็นปัณฑระ เพราะเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ วิบากจิต ตัวจิตก็เป็นปัณฑระ กิริยาจิต ตัวจิตก็เป็นปัณฑระ เพราะเหตุว่ากล่าวถึงลักษณะของจิตเพื่อให้เห็นความต่างของจิต และเจตสิก เมื่อเจตสิกแต่ละอย่าง มีลักษณะมีกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ ลักษณะของจิตก็มีลักษณะเฉพาะของจิต คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์นั่นเอง นี่คือความหมายของปัณฑระ

    ส่วนอีกคำหนึ่งคือ “ปภัสสร” หรือ “ปภัสสรัง” หรือ “ปภัสสระ” หมายถึง ภวังคจิต และกุศลจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิตของคน ของเทพ ของสัตว์เดรัจฉาน อกุศลจิตไม่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตหรือภวังคจิตเลย แต่ภวังคจิตทุกประเภท ทุกภูมิ เป็นปภัสสรทั้งหมดเพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง และไม่รู้อารมณ์ภายนอกหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วถ้าจะศึกษาธรรม ศึกษาจากชีวิตจริงๆ ว่าเมื่อปฏิสนธิจิตเกิด และดับไป วิถีชีวิตเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น แล้วแต่ว่าจะมีการเห็น จะมีการได้ยิน จะมีการคิดนึก จะมีกุศล จะมีอกุศลใดๆ ก็เกิดมาเพราะเมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตขณะแรกดับแล้ว ต่อจากนั้นก็เริ่มดำเนินชีวิตไปตามกรรม และตามการสะสมที่ได้สะสมมา ซึ่งเราจะเห็นได้ แม้ว่าเราเกิดด้วยผลของกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมคือมหาวิบาก หรือกามาวจรวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลซึ่งเป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราจะอยู่ในกามภูมิตราบใดที่จิตไม่สงบจนถึงขั้นฌาณจิตที่ยังไม่เสื่อมก็ไม่มีโอกาสที่จะไปเกิดในภูมิอื่น คือ รูปพรหมภูมิหรืออรูปพรหมภูมิ ก็ยังคงเกิดในกามภูมิ แล้วแต่กรรมว่ากามภูมิก็จริงแต่เป็นผลของกุศลกรรมหรือเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมจะไม่เกิดเป็นมนุษย์ จะไม่เกิดในสุขติภูมิ จะไม่เกิดเป็นเทพ ๖ ชั้น แต่จะเกิดในอบายภูมิ ๔ ภูมิ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย เกิดในนรก นั่นเป็นผลของอกุศลกรรม

    ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สามารถจะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามสมควรสำหรับผลของกุศลกรรมที่มีกำลังพอที่จะปฏิสนธิด้วยกามาวจรวิบาก แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ขณะนั้นปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อนซึ่งไม่ใช่อารมณ์ที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในโลกนี้เลย เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อเป็นจิตประเภทเดียวกัน ยังไม่มีอกุศลใดๆ ยังไม่มีการรู้อารมณ์อื่นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ในขณะที่หลับสนิท นี่เป็นการพิสูจน์ว่าตอนหลับสนิทมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นปภัสสรหรือปภัสสรัง เพราะเหตุว่ายังไม่มีอกุศลจิตเกิดร่วมด้วย

    แต่ชีวิตจะต้องดำเนินไปหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีกาละที่วิบากกรรมจะให้ผลทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เราจะไม่พูดถึงวาระแรก คือจะต้องมีวิถีจิตซึ่งมีการติดข้องในภพภูมิเป็นโลภะเกิดขึ้นก่อน ประเด็นนี้ก็ผ่านไป แต่ให้ทราบว่าตลอดชีวิตของเรา ก็จะไม่พ้นจากภวังคจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภวังคจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตตลอดไป จะต้องมีภวังคจิตซึ่งเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย และก็มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิดสืบต่อ เป็นชีวิตประจำวัน

    วันนี้เป็นอย่างไรภวังคจิตของเรา ดีหรือไม่ดี ภวังคจิตของคนที่เป็นมนุษย์เป็นจิตประเภทไหน เป็นวิบาก แต่เป็นกุศลวิบาก แต่ว่าในขณะนั้นเพราะยังไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีการรบกวนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ เลย ถ้าเป็นอย่างนั้นตลอดไปดีไหม คือน่าคิดหลายอย่างถ้าจะตอบว่าดี กับจะตอบว่าไม่ดี ก็ต้องมีเหตุผล ถ้าเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ จะดีไหม คำถามเพื่อให้ท่านผู้ฟังคิด เพราะว่าเป็นสิ่งที่สำคัญด้วย ถ้าเราเกิดมาปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว แล้วก็เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดไม่ฝัน ไม่อะไรทั้งนั้นเลย เป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ได้ปรากฏเลยในขณะที่เป็นภวังค์ เป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ตลอดไปดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ดีเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าโลกคงไม่สวยงาม ไม่สดชื่น นอนเป็นเจ้าหญิงนิทราไปตลอด

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างนั้นใช่ไหม คือคำถามนี้เป็นคำถามในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ามีการสะสมของกรรม และกิเลสเกิดเป็นจิตซึ่งไม่ใช่วิบากจิต ซึ่งวิถีจิตคือขณะที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต เป็นจิตที่อาศัยตาเห็นเกิดขึ้น อาศัยหูได้ยินเสียง อาศัยจมูกได้กลิ่น อาศัยลิ้นลิ้มรส อาศัยกายรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส อาศัยใจคิดนึกต่างๆ ตามที่คุณเด่นพงศ์บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ดีเพราะว่าโลกนี้ไม่ปรากฏ แต่ให้คิดถึงว่าเมื่อเกิดการเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตามีอายุแค่เพียง ๑๗ ขณะจิตแล้วดับ ถูกต้องไหม แล้วเป็นภวังค์ ประโยชน์อะไรที่ได้จากการเห็นวาระหนึ่งๆ นอกจากความไม่รู้ และความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ จะบังคับให้เห็นตลอดไปไม่ได้เพราะเหตุว่ารูปที่เป็นสภาพธรรมจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อรูปนั้นดับแล้ววาระของจิตที่จะเห็นหรือจะชอบไม่ชอบในสิ่งนั้นก็เกิดไม่ได้เลย ต้องเป็นภวังค์ต่อไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ให้ทราบว่ามีภวังคจิตคั่นทุกวาระที่เห็น ทุกวาระที่ได้ยิน เพราะนั้นเกิดมาเห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีอายุสั้นมาก เห็นแล้วก็ดับไปแต่มีความติดข้องในสิ่งที่เห็น สะสมแล้วๆ หลังจากนั้นภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ และก็อกุศลที่เกิดแล้วไม่ได้สูญหายไปเลย แต่สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไปซึ่งเป็นภวังค์ ด้วยเหตุนี้ภวังคจิตของแต่ละคนก็จึงมีการสะสมของแต่ละคนในแต่ละภพในแต่ละชาติ แล้วแต่ว่าจะสะสมอกุศลประเภทใดมามาก โลภะ หรือโทสะ หรือริษยา หรือมานะ ทุกอย่างมีในจิต พร้อมที่เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น จากการเห็น จากการได้ยิน จากการได้กลิ่น จากการลิ้มรส จากการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จากการคิดนึก เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่ได้เป็นภวังค์แล้วเห็นเกิดขึ้น นั่นดีหรือไม่ดี เห็นสิ่งที่มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะแล้วดับ แล้วก็เป็นภวังค์ ถ้าติดข้อง ที่คุณเด่นพงศ์บอกว่าสวยงาม สีสันวัณณะต่างๆ สวยงาม ก็เป็นโลภมูลจิตเกิดแล้ว แล้วก็ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น สะสมโลภะที่เกิดแล้วต่อไป

    เพราะฉะนั้น เราไม่ได้หมดความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คือเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่กระทบเลย ดีหรือไม่ดี แต่ถ้าดี มีการเห็น และมีการเข้าใจสิ่งที่เห็นถูกต้อง ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และสภาพเห็นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเห็น เพราะว่าจิตทั้งหมดเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นวาระหนึ่งเกิดขึ้น ขณะนั้นก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าเป็นอย่างนี้วาระที่เห็นหรือวาระที่รู้อารมณ์สืบต่อทางใจ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สะสมสืบต่อไปถึงภพชาติต่อๆ ไปด้วยซึ่งวันหนึ่งทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ให้ดูชีวิตประจำวันที่ดำเนินมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ว่าเราได้สะสมสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือมิใช่ประโยชน์จากการเห็น จากการได้ยิน จากการได้กลิ่น จากการลิ้มรส จากการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จากการคิดนึกเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นดีหรือไม่ดีที่เห็น ถ้าเห็นแล้วเกิดกุศลจิตก็ดี ถ้าเห็นแล้วเป็นอกุศลจิตก็ไม่ดี และเราก็บังคับบัญชาไม่ได้ตามการสะสม แต่จากการฟังธรรม และก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น การสะสมของเราก็จะสะสมปัญญาที่สามารถจะเข้าใจชีวิต นามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก รูป ในขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ซึ่งมากมายเหลือเกินในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นความมากมายหลังจากเห็นแล้วเป็นโลภะ ความมากมายหลังจากเห็นแล้วเป็นโทสะ กับความมากมายหลังจากเห็นแล้วเป็นกุศล ก็จะเห็นได้ว่าเปรียบเทียบกันแล้วก็จะต้องมีการฟังพระธรรมให้เข้าใจจนกว่าจะเข้าใจขึ้น จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งก็เป็นจิรกาลภาวนา

    ผู้ฟัง ในพระสูตรที่ว่าพระพุทธมารดาจุติแล้วไปเกิดในสวรรค์แล้วก็ไปเป็นเทวดาผู้ชาย แล้วพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศน์โปรดพระพุทธมารดา พระพุทธมารดาก็เป็นผู้ชายไปแล้ว สภาพจิตตอนนั้นที่ท่านไปเทศน์โปรดจะสะสมจากความเป็นพุทธมารดาไปหรืออย่างไรถึงจะไปรับฟังเทศนาตอนนั้น ช่วยกรุณาอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงจิต เราจะไม่พูดถึงเจตสิก และรูป เพื่อที่จะได้เข้าใจจิตชัดเจน จิตเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม หรือนามธาตุเกิดขึ้นแล้วดับ แต่ว่าตัวจิตที่เกิดถ้าไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ ต้องเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าเมื่อจิตนี้ดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีจิตหนึ่งขณะเท่านั้นเองที่เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิด แล้วก็ดับไปสืบต่ออยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นที่เรากล่าวว่าเป็นบุคคลนี้ ก็เพราะเหตุว่ามีปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไปเป็นภวังคจิต แล้วแต่ว่าจิตประเภทไหนจะมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต และไม่ใช่วิถีจิตสลับอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่กล่าวว่าเป็นใคร แต่ว่าต้องเป็นจิตที่สะสมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพภูมินี้ ในปฏิสนธิจิตประมวลทุกอย่าง กรรม และกิเลส และกุศลใดๆ ที่ได้กระทำมาแล้วทั้งหมด ไม่ได้สูญหายไปเลย อยู่ที่จิตซึ่งเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นเรามองไม่เห็นเลย ถ้าเราจะมองเห็นสีสักสีหนึ่ง น้ำใสๆ เราก็อาจจะบอกได้ว่าใสมาก หรือว่าค่อยๆ ขุ่นลงหรือว่าขุ่นมาก นั่นคือรูปธรรม แต่จิตไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนกับรูปเลย แต่ว่าจิตหนึ่งขณะที่ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อเกิดสืบต่อก็หมายความว่ามีทุกอย่างที่จิตขณะที่ดับไปนั้นมี เพราะว่าสืบต่อมาถึงจิตขณะต่อไป นี่คือตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนกระทั่งถึงจุติจิตคือจิตขณะสุดท้าย แต่ว่าจิตขณะสุดท้ายก็เป็นอนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ ไม่กล่าวถึงชื่อ ไม่กล่าวถึงรูป แต่กล่าวถึงเฉพาะจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อมานานแสนนานเกินแสนโกฏิกัปป์จนกระทั่งถึงขณะนี้ และก็ขณะต่อไปด้วย ทุกคนเกิดมาแล้วมีชื่อ ไม่อย่างนั้นจะเรียกกันอย่างไรถูก ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก รูป ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นจะใช้คำพระพุทธมารดา หรือว่าจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตหรืออะไรก็ตาม ก็หมายความว่าจำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    22 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ