พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74


    ตอนที่ ๗๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์หมายความถึงน่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ส่วนใหญ่เราจะพูดถึงรูป เพราะวันหนึ่งๆ เราไม่พ้นจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเป็นผลของกรรม ที่ทำให้รู้รูปที่ดี หรือที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง สงสัยประเด็นที่ว่าเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ นั่นคือสภาพของนามธรรมที่จะต้องรู้สิ่งที่ดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง เห็นรูปเห็นอะไรเป็นโสมนัส รูปงาม เด็กอายุ ๑๖, ๑๗

    ท่านอาจารย์ จะเห็นว่าวิบากต้องตรงตัว คือเสียงที่เป็นอิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ จิตได้ยินได้ยินไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ รู้เสียงนั้นแล้ว แต่เมื่อถึงชวนะจะเป็นกุศลหรืออกุศล และจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต ตามการสะสม เพราะขณะนี้พ้นสภาพความเป็นวิบากแล้ว ไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว แต่เป็นเหตุใหม่ เพราะฉะนั้นแม้สิ่งนั้นจะเป็นอิฏฐารมณ์ แต่อกุศลจิตเกิดก็ได้

    ผู้ฟัง มีคำเข้ามาอีกว่า กลุ่มคนส่วนใหญ่เห็นหรือไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ แม้แต่คนเดียวหรือกลุ่มใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง โดยสัตย์จริงก็ยังงงอยู่ ขอฟังต่อไปก่อน

    ท่านอาจารย์ งงเพราะเราบอกไม่ได้ หรือว่างงเพราะคิดว่าสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์จะกลับกลายเป็นอนิฏฐารมณ์ได้

    ผู้ฟัง เห็นดอกไม้หรือว่าเห็นงู เห็นอะไรก็ตาม ผมก็เห็นมันเฉยๆ มันเป็นของมันอย่างนั้น จิตของเราต่างหากที่ไปบอกว่า งูมันน่าเกลียด

    ท่านอาจารย์ เห็นก่อน ยังไม่เป็นงู เป็นดอกไม้ จักขุวิญญาณเห็นเท่านั้น

    ผู้ฟัง ยังไม่เป็นอะไรหรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นกุศลวิบาก หรือ เป็นอกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง อย่างเดียวหรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด

    อ.กุลวิไล รูปที่เป็นอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่ไม่ดี เช่น พริก พริกนี่เผ็ด แต่ถ้าผู้ที่ชอบพริก ลองสังเกตุเวลาที่เราบริโภคอาหาร พริกนี่มีลักษณะร้อน ถ้ากายวิญญาณเกิดขึ้นขณะนั้น เวทนาต้องเป็นทุกขเวทนาแน่นอน แต่เนื่องจากธรรมเป็นปริตตธรรมเกิดเล็กน้อยมาก เมื่อเราบริโภคอาหารไม่ใช่มีรสพริกอย่างเดียว จะมีเปรี้ยว หวาน เค็ม ประกอบด้วย เราก็จะไปติดในรสชาติอื่นประกอบด้วยกัน โดยที่จริงๆ แล้วถ้าพริกที่เผ็ด โดยสภาพธรรมแล้วต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีเพราะว่าทำให้เกิดความเร่าร้อนเผ็ด

    ท่านอาจารย์ ปัญหานี้จะหมดไปได้เมื่อไม่ลืมว่าจักขุวิญญาณเกิดก่อนชอบไม่ชอบ โสตวิญญาณก็เกิดก่อนชอบไม่ชอบ และก็ขณะที่เป็นกุศลวิบาก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางไหนก็ตามก็ต้องเป็นอิฏฐารมณ์ เพราะขณะนั้นกุศลวิบากเกิดขึ้นรู้อิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาเลยใช่ไหม ใครจะไปเปลี่ยนลักษณะของรูปก็ไม่ได้เพราะว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็รู้รูปนั้นก่อน การที่เราจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เราจะรู้อะไร จะรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจหรือว่าจะรู้อะไร รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจนี่ก็ดับเร็วมาก เพียงลักษณะที่เป็นรูปก็ยังไม่ได้รู้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะต้องไปคิดว่ารูปนั้นก็เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ ก็เพียงแต่ว่าให้มีความเข้าใจในลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมซึ่งต่างกัน มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงเป็น "เรา" ที่รู้รูป หรือว่ารูปนั้นเป็นเราก็ได้ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ขอถามเกี่ยวกับเรื่องทางสายกลางว่ามีความลึกซึ้งประมาณใด

    อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงทางสายกลางก็คือหมายถึงเริ่มต้นตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นต้น คือการเจริญมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐานเป็นมรรคมีองค์ ๕ ตรงนี้หมายถึงทางสายกลาง

    ท่านอาจารย์ กล่าวถึงสายกลางก็ต้องมีอีก ๒ สาย ที่ไม่กลาง มิฉะนั้นจะมีแต่กลางไม่ได้ก็ต้องมี ๒ สายที่ไม่ใช่ทางสายกลาง คืออะไร ทราบไหม

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับกาม และความตึงเกินไป

    ท่านอาจารย์ ทรมานตัวเอง เพราะว่าคิดว่าทรมานเท่าไหร่กิเลสก็จะค่อยๆ เหือดแห้งไป แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจว่าทางสายกลางหรือ "มัชฌิมปฏิปทา" ต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะเป็นทางสายกลางไม่ได้เลย ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม เพราะทางสายกลางก็คือขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมเกิดแล้ว สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ และสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็เป็นทางสายกลาง มรรคก็เป็นทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นทางสายกลาง ปกติก็จะเกิดเพียง ๕ องค์ เพราะว่า"วิรตีเจตสิก"จะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๓

    ผู้ฟัง ความเป็นจริงทางสายกลางมีอรรถอันลึกซึ้งประมาณใด

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ไม่พ้นจากความจริง หากเข้าใจว่าทางสายกลาง คือ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้เราก็ไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ไปคิดว่าท่านพระอานนท์ท่านจะคิดอะไรก่อนที่ท่านจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ ท่านพระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน ๒๕ พรรษา คือ ๒๕ ปี เพราะท่านก็ได้ฟังพระธรรมมามาก ทุกอย่างก็แจ่มแจ้งแก่ท่าน เพราะเหตุว่าท่านได้ฌาณด้วย ไม่ใช่ท่านฟังอย่างเรา แต่ขณะที่ฟังฌาณจิตเกิดสลับก็ได้สำหรับผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องของฌาณ

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจะไปคิดถึงบุคคลอื่นเป็นไปไม่ได้เลย แม้เพียงแต่จะเดา เป็นความคิดของเราเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นอริยบุคคล และเป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน ใครจะไปคิดถึงจิตของท่านได้ว่า ขณะนั้นท่านตรึกถึงอะไร สิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟังละเอียดมาก ลึกซึ้งมาก ท่านก็มีความเข้าใจมากด้วย แล้วเป็นของธรรมดาที่ท่านก็รู้เรื่องของปัจจัยทั้งหมด เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณก็ต้องรู้เรื่องปัจจัยด้วย กังขาวิตรณวิสุทธิหมดความสงสัยว่าสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนี้มีปัจจัยเกิดปรุงแต่งขึ้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดกับท่านทั้งหมดตลอดที่ปัญญาของท่านสามารถที่จะรู้ได้มากขึ้นๆ

    วันหนึ่งๆ มีคนที่นอนน้อยด้วยเหตุหลายอย่างที่ทรงแสดงไว้ก็มีหลายประการ สำหรับชีวิตตามความเป็นจริง บางคนนอนน้อยเพราะทำงานมากใช่ไหม ทำงานมากจนกระทั่งนอนนิดเดียวก็มี แต่ถ้าผู้ที่ทำงานทางโลกทำอย่างนั้น และผู้ที่ไม่ได้ทำงานทางโลกอย่างนั้นแต่หลับน้อยก็มี วันหนึ่งๆ บางคนต่อไปก็อาจจะรู้ได้ว่าจะไม่หลับเลยก็เป็นไปได้ ถ้าขณะนั้นมีการตรึกนึกคิดถึงเรื่องต่างๆ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ ขณะนั้นก็ไม่หลับ แต่เรื่องที่เราคิด คิดด้วยกุศลหรืออกุศลในปกติของคนทั่วไป ถ้าคิดด้วยเรื่องอกุศล สบายไหม ระหว่างที่ไม่หลับ และก็คิดแต่เรื่องของอกุศล หมกมุ่นตรึกตรองถึงแต่เรื่องของอกุศล แต่ถ้าผู้ที่มีปัญญา ขณะนั้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม นานเท่าไหร่ก็ไม่ได้เดือดร้อนเลย ใช่ไหม เพราะเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น เพิ่มขึ้น ประจักษ์ขึ้น และการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านพระอานนท์ ใครจะไปเดาหรือคาดคะเนว่า ขณะนั้นท่านมีอะไรเป็นอารมณ์ นอกจากที่ทรงแสดงไว้ว่า ส่วนใหญ่ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นลมหายใจ เป็นอานาปานสติ

    เพราะฉะนั้นเราไม่เดา เราไม่คิด แต่เรารู้หนทางว่า การที่สภาพธรรมจะปรากฏ และปัญญาจะรู้ความจริงก็เมื่อเป็นสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะเกิด และก็รู้ความจริงขณะนั้น ไม่ได้เดือดร้อนเลย ต่อการที่ท่านจะไปเดือดร้อนว่าท่านนอนน้อยหรืออะไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความคิดว่าจะนอนหรือว่าจะพักผ่อน ท่านจะคิดได้ใช่ไหม ทั้งคืนแล้วเกิดจะคิดว่าจะพักผ่อนก็ได้ แล้วแต่ว่าท่านไม่ได้ห่วงใยเลยว่าแม้ในขณะนั้นสติปัฏฐานจะเกิดไหม ปัญญาจะเกิดไหม ตามปัจจัยซึ่งทำให้ท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นไม่ควรจะไปเดาไปคาดคะเน ไปบอกว่าท่านเพียรหนักหรือท่านอะไรต่ออะไรเหมือนกับว่าท่านไม่รู้หนทาง เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว

    ผู้ฟัง จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยหมายถึงจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำว่าเหตุก็ต้องทราบว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และมี ๖ โดยเป็นอกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่น่าจะพิจารณาถึงความสำคัญว่าเหตุใดจิตบางประเภทไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย และบางประเภทมีเหตุเกิดร่วมด้วย ซึ่งเหตุที่จะเกิดร่วมด้วยมีตั้งแต่ ๑ เหตุฝ่ายอกุศล และก็ ๒ เหตุทางฝ่ายอกุศล แต่ถ้าทางฝ่ายกุศลจะไม่มี ๑ เหตุเลยมี ๒ เหตุ กับ ๓ เหตุ ซึ่งก็คงจะได้ทบทวนไปบ้างแล้ว แต่ก็จะได้ทราบถึงความสำคัญว่าต่างกันอย่างไร จิตที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งความจริงทุกอย่างที่เกิด และดำรงสืบต่อไปอีกยาวนานต้องอาศัยเหตุ แต่จิตเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเป็นจิตประเภทที่เป็นวิบาก ๑๕ ประเภท แล้วก็เป็นกิริยาจิต ๓ ประเภท รวมเป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยทั้งหมด ๑๘ ประเภท จะใช้คำว่า ๑๘ ประเภทหรือ ๑๘ ดวงก็ได้ ซึ่งก็ได้ศึกษามาแล้ว คือ เป็นวิบาก ๑๕ ประเภท และเป็นกิริยา ๓ เป็นชีวิตประจำวันซึ่งควรจะได้ทราบว่าขณะใดไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะใดมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ซึ่งครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงตั้งแต่นอนหลับจนกระทั่งตื่นว่าแม้หลับก็เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นวิบากที่เป็นผลของกรรมที่สืบต่อมาจากปฏิสนธิที่ทำกิจภวังค์ ก็จะมีทั้งที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ตรงนี้เข้าใจได้ใช่ไหม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมเป็นเหตุให้อกุศลวิบากปฏิสนธิ ขณะนั้นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำแล้วจะให้ผลเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุกับวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ลองคิดดูว่า อย่างไหนจะดี วิบากประเภทไหนดี วิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ดี หรือวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ดี วิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ดี เพราะว่า "เหตุที่ดี" คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก สำหรับอกุศลเหตุเป็นอกุศลอย่างเดียว จะเป็นวิบากไม่ได้เลย

    เหตุ ๓ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เป็นอกุศลเหตุ เมื่อใดที่เกิดต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว จะเป็นวิบากไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ไม่ได้หมายความว่าเหตุนั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศล เป็นชาติเดียวคือชาติอกุศล เป็นวิบากไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยหมายความถึงวิบากที่มี อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นระหว่างวิบากซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วย กับวิบากซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย วิบากไหนจะดีกว่า

    ผู้ฟัง อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วยกับฝ่ายดีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นโสภณเหตุ เป็นเจตสิก ๓ ซึ่งเป็นโสภณ เพราะเกิดกับกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ วิบากที่ประกอบด้วยเหตุกับวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ให้เป็นความเข้าใจของเราเองว่าวิบากประเภทไหนดี โสภณ แปลว่าดีงาม เพราะฉะนั้น อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นโสภณเจตสิก เกิดเมื่อใดเป็นจิตประเภทที่ดีงาม แต่ดีงามนี่มี ๓ ชาติ คือดีงามที่เป็นผลของกรรมเป็นวิบาก ดีงามที่ไม่ใช่กรรม และผลของกรรมเป็นกิริยา และดีงามที่เป็นกุศล

    คุณอุไรวรรณ อะไรคือวิบาก

    ท่านอาจารย์ วิบากไม่ใช่รูปเพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นรูปจะเป็นวิบากไม่ได้เลย วิบากหมายถึงผลของกรรม เพราะเมื่อมีเหตุ คือ กรรม ถึงแม้ว่าจะดับไปแล้วก็จริง แต่กรรมมีพลังหรือปัจจัยที่จะทำให้จิตประเภทวิบากเกิด ลองคิดว่า วันนี้เราเห็นสิ่งที่เราอาจจะคิดว่าวิจิตรมาก ตึกรามบ้านช่อง รถยนต์ อะไรต่างๆ ดูเหมือนวิจิตร รวมทั้งคอมพิวเตอร์ด้วย แต่อะไรวิจิตรกว่ากัน จักขุปสาท ใครทำได้ รูปที่สามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตปสาทที่สามารถกระทบเสียง วิจิตรกว่าไหม มองไม่เห็นเลยแต่มีรูปนี้เพราะกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดรูปนี้ แม้กระนั้นจักขุปสาท โสตปสาท ไม่รู้อะไรเลยจึงไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นวิบากก็ได้แก่จิต และเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    ก็คงเห็นความต่างของวิบากจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย กับวิบากจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าจิตเป็นชาติอะไร ภูมิอะไร และก็มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย สำหรับอเหตุกวิบาก ๑๕ ประเภทก็ได้กล่าวถึงไปแล้ว จักขุวิญญาณ ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เพียงแต่ว่าเมื่อกรรมถึงกาละที่จะให้ผลก็เป็นปัจจัยให้จิตนี้เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาท เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของกรรมจริงๆ ที่ทำให้จักขุปสาทเกิด แล้วทำให้จักขุวิญญาณเกิดเมื่อมีสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท แต่ตัวจิตที่เห็นเป็นผลของกรรม เป็นอเหตุกจิต อเหตุกจิต ๑๐ ดวงคือทวิปัญวิญญาณจิต ๑๐ จักขุวิญญาณ ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิได้ไหม ไม่ได้ ทำกิจเห็นอย่างเดียว โสตวิญญาณ ๒ ได้ยินเสียงที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ก็ทำกิจปฏิสนธิได้ไหม ไม่ได้ จิต ๑๐ ดวงนี้ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้เลย ทำกิจเฉพาะทางทวารของตนๆ เท่านั้นเอง สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากจิตซึ่งรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณทำปฏิสนธิกิจได้ไหม ไม่ได้ สันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะเป็นอกุศลวิบาก ๑ เป็นกุศลวิบาก ๒ อกุศลวิบากทั้งหมดมี ๗ ที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และกุศลวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมี ๘ แต่ต้องมีดวงหนึ่งซึ่งต้องทำปฏิสนธิกิจ

    ถ้าทำปฏิสนธิกิจในอบายภูมิ ๑ ดวง คือ อกุศลวิบากสันตีรณะ และถ้าเป็นผลของกุศลวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ก็คือ อุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในสุคติภูมิชั้นต้นหรือชั้นต่ำ คือชั้นมนุษย์ หรือ จาตุมหาราชิกา ไม่สามารถที่จะทำให้ปฏิสนธิในเทวภูมิที่สูงกว่านั้นได้เลย และสำหรับโสมนัสสันตีรณะทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่ของผลของกุศลซึ่งมีกำลังกว่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงปฏิสนธิจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกับปฏิสนธิจิตซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบาก ทำให้เกิดในอบายภูมิ สัตว์ไม่มีโสภณเจตจิตเกิดกับปฏิสนธิจิตเลย เพราะฉะนั้นจะไม่มีพื้นฐานของจิตที่สามารถที่จะอบรมเจริญกุศลเหมือนผู้ที่ไม่ได้ปฏิสนธิด้วยอเหตุกอกุศลวิบาก หรือแม้ผู้ที่ปฏิสนธิในมนุษย์ แต่เป็นผลของกรรมอย่างอ่อน ไม่มีกำลัง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ก็ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ประกอบ ด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ เพราะฉะนั้นกรรมอื่นก็สามารถที่จะเบียดเบียนให้เป็นคนที่บ้า ใบ้ บอด หนวกแต่กำเนิด ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย หมายความว่าไม่มีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานของจิตก็ต่างกัน และพื้นฐานของจิตก็มีความสำคัญมากในชาติหนึ่งๆ เพราะว่าถ้าเกิดในอบายภูมิแล้ว พื้นฐานของจิตไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน เพราะฉะนั้นจะเจริญกุศล จะฟังธรรม จะทำอะไรก็ยาก ไม่ใช่โอกาส แต่ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ แต่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเป็นผลของกุศลกรรมที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี มี อโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ก็ไม่มี มีอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ก็ไม่มี ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นพื้นฐานของจิตก็ไม่สามารถที่จะเจริญทางฝ่ายกุศลเหมือนผู้ที่ปฏิสนธิด้วยวิบากจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุ แต่ก็มี ๒ ประเภทอีก เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ต้องเป็นผลของกุศลกรรม และกุศลวิบากนั้นประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภะ อโทสะ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ก็จะมีบุคคลที่ต่างกันหลากหลายตามปฏิสนธิจิต ด้วยเหตุนี้เราก็จะพิจารณาเห็นได้ว่า สำหรับปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ก็ต้องดีกว่าปฏิสนธิจิตหรือวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง คนที่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะบรรลุธรรม เรานั่งฟังธรรมนี่เป็นทวิเหตุ มีปัญญาหรือไม่ ช่วยขยายตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็อย่าเพิ่งพยากรณ์ว่าเราจากโลกก่อนมาสู่โลกนี้เป็นผลของกรรมใด ที่แน่นอนก็คือต้องเป็นผลของกุศลกรรม แต่กุศลกรรมนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา เราไม่สามารถจะรู้ได้เลย ถึงแม้ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญา เช่นท่านพระเทวทัต ได้ฌาณทำอภิญญาอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่ขณะนี้ท่านก็เกิดในอเวจีมหานรก เพราะเหตุว่าแม้ปฏิสนธิจิตของท่านถึง ๓ เหตุ มีเหตุเกิดร่วมด้วยทั้ง อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ว่าชาติต่อไปจะไปเกิดเป็นอะไร แล้วแต่กรรม

    เพราะฉะนั้น เราไม่ทราบว่ากรรมใดในชาติหนึ่งชาติใดที่ทำให้เราเกิดขณะนี้ และวิบากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจของเรามีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เพราะถึงแม้จะเป็นคนที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ไม่บรรลุฌาณ และมรรคผลก็ได้ ใช่ไหม แต่ว่าชาตินี้เรารู้ ถ้ากรรมที่เราทำประกอบด้วยปัญญาให้ผลปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ก็จะเป็นวิบากจิตที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราสามารถที่จะเข้าใจอย่างนี้ แต่เราไม่รู้เวลาเกิดว่าเป็นผลของกรรมใด เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นทวิเหตุกะ มี อโลภเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ