พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99


    ตอนที่ ๙๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้เข้าใจที่คุณวีระกล่าว ขณะนี้ก็เหมือนกัน ยังไม่ใช่ความโกรธก็จริง แต่เราก็มีเรื่องเยอะใช่ไหม เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เรื่องเสียงที่ได้ยินเป็นคำต่างๆ เป็นเรื่องราวของจิตบ้าง เจตสิกบ้าง ก็คือเมื่อจิตแต่ละขณะเกิดจะต้องรู้อารมณ์ทีละหนึ่งแล้วก็ดับ แล้วก็สืบต่อ แต่ความรวดเร็วก็ทำให้เสมือนกับว่ายังมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ยังไม่ได้ดับไป แม้แต่เรื่องราว เราก็ยังใช้คำว่าค้าง แต่ความจริงไม่มี เมื่อไม่มีแล้วจะค้างได้อย่างไร รูปก็มีอายุแค่ ๑๗ ขณะดับแล้ว แล้วจะค้างได้อย่างไร จิต เจตสิกก็แค่อนุขณะ ๓ ขณะแล้วก็ดับไปแล้วจะค้างได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ให้เข้าใจว่าสิ่งที่จะเป็นอารมณ์ของจิตหรือระลึกถึงอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นโกรธ หรืออะไรก็ตามในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจว่าไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้นค้างไม่ได้เลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับ และไม่กลับมาอีกเลย มีเหตุปัจจัยแล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่เกิด ก็เกิดขึ้นใหม่เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จิตชาติอกุศลสามารถรู้ธัมมารมณ์ได้ไหม

    อ.กุลวิไล ท่านผู้ถาม คิดว่ารู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดว่ารู้ได้ และสามารถรู้ได้ทุกอารมณ์หรือไม่

    อ.กุลวิไล ต้องพิจารณาว่าจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และส่วนใหญ่จิตก็จะรู้ได้ทั้ง ๖ อารมณ์ แต่ก็ต้องแล้วแต่ประเภทของจิต เช่น อกุศลจิตเกิดทั้งทางมโนทวาร และทางปัญจทวารด้วย เพราะฉะนั้นอกุศลจิตจึงมีอารมณ์ทั้ง ๖ เป็นอารมณ์ได้

    ผู้ฟัง ชาติของอกุศลสามารถรู้ธัมมารมณ์ได้ทั้งหมดไหม

    อ.กุลวิไล อารมณ์ที่เป็นธัมมารมณ์ได้แก่ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นิพพาน และบัญญัติ ซึ่งนิพพานไม่เป็นอารมณ์ของอกุศลจิต โลกุตตรจิต ๘ ก็ไม่เป็นอารมณ์ของอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ปสาทรูป ๕ เป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ไหม

    อ.กุลวิไล เป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้

    ผู้ฟัง กรุณาอธิบายเพิ่มเติม ว่ารู้ในลักษณะแบบไหน

    อ.วิชัย ต้องเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพรู้ แล้วแต่ว่าจิตเกิดขึ้นจะมีอะไรที่จะเป็นอารมณ์ ฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต ดังนั้นอกุศลจิตเมื่อเกิดก็สามารถรู้ปสาทรูปได้เพราะเหตุว่าอกุศลจิตจะไม่รู้ธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม ๙ เท่านั้น ที่เหลือสามารถเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ เช่น โลภะมีความยินดีติดใจในตาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    อ.วิชัย อกุศลจิตสามารถจะมีปสาทรูปเป็นอารมณ์ได้ เช่น โลภมูลจิตก็ยินดีติดข้องพอใจในปสาทรูปได้ แต่จะเกิดกับบุคคลใด ถ้าเรายังไม่มีปสาทรูปเป็นอารมณ์ก็ยังไม่มี ขณะนั้นปสาทรูปยังไม่เป็นอารมณ์ของจิต แต่ว่าสามารถมีได้ คือปสาทรูปสามารถเป็นอารมณ์แก่อกุศลจิตได้

    ผู้ฟัง แต่เขาไม่รู้จักปสาทรูปใช่ไหม

    อ.วิชัย คือไม่มีชื่อ เช่นรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา ต้องเรียกชื่อไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียก

    อ.วิชัย สิ่งนี้ก็กำลังปรากฏทางตา หรือถ้าเป็นเสียง ก็ไม่ต้องเรียกชื่อว่าเป็นสัททารมณ์ แต่เสียงก็ปรากฏ ลักษณะของจักขุปสาทรูป คือ เป็นสภาพที่สามารถรับกระทบรูปได้ อยู่กลางตาเป็นรูปๆ หนึ่งที่สามารถรับกระทบกับวัณณรูปหรือรูปารมณ์ได้ แต่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือไม่ ขณะนี้มีปสาทรูปเป็นอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    อ.วิชัย ไม่มีก็คือยังไม่เป็นอารมณ์ของจิต

    อ.ธิดารัตน์ ขณะนั้นเป็นที่ติดข้องยินดีของโลภะ โลภะก็สามารถจะติดข้องได้หมด แต่จะเป็นอารมณ์หรือไม่ บุคคลที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ส่วนใหญ่อารมณ์นั้นก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของเรา รูป ๗ รูปมีอยู่มาก และก็เป็นอารมณ์ของทั้งอกุศลจิตต่างๆ มากน้อยขนาดไหนสมควรที่จะพิจารณาให้เป็นประโยชน์ ก่อนที่จะไปรู้ถึงสิ่งที่ละเอียดลงไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันเรา รู้ตามความเป็นจริงของสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่างๆ หรือไม่ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า แต่การศึกษา เราก็ศึกษา และเข้าใจตามเพื่อที่จะละความสงสัย และก็จะได้ไม่คิดเอง แต่คิดตามการศึกษา

    อ.กุลวิไล คำถามของผู้ถาม เรารู้ลักษณะของตาหรือไม่ โดยทั่วไปเราจะคิดว่าตาเป็นบัญญัติแล้ว แต่เราไม่รู้ลักษณะของปสาทรูป ที่เกิดขึ้นกลางตาเลย ขอเรียนถามความเห็นจากท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเวลาที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่มีการเลือก ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะเป็นสัมมาสติเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นขณะนั้นแล้วแต่ว่าอารมณ์ใดจะปรากฏ แล้วจะเห็นได้ว่าแม้วิจิกิจฉา ความสงสัยในอารมณ์นั้นก็ยังมีได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อใดที่ได้อบรมเจริญปัญญา แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนหมดความสงสัยรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะดับวิจิกิจฉาเป็นสมุทเฉทไม่เกิดอีกเลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องคอย และไม่ต้องคิดว่าเมื่อไหร่จะมีปสาทรูปเป็นอารมณ์ ข้อสำคัญว่าถ้ามีแล้วสงสัย ถ้ามีแล้วก็เกิดความติดข้อง ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาก็จะต้องสามารถจะเจริญจนกระทั่งละความสงสัย และความติดข้องได้

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน อารมณ์ที่เรารู้ได้ทางใจส่วนใหญ่ก็คือบัญญัติจากการศึกษา เพราะว่าเราจะรู้เป็นเรื่องราวไปทั้งหมดเลย แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะรู้ลักษณะของปรมัตถ์ หรืออารมณ์ทางใจที่เป็นปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด เพราะอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น รูป ๑๗ ขณะก็ดับเลย เพราะฉะนั้นเพียงสติระลึก ก็ดับแล้ว

    ผู้ฟัง ดังนั้นอกุศลจิตที่เราพอจะสังเกตได้ในชีวิตประจำวัน เราจะรู้อารมณ์ของอกุศลจิตก็คือบัญญัติทั้งนั้น เพราะเราจะไม่รู้สภาพแท้จริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด

    ผู้ฟัง แม้เรามาศึกษาอย่างนี้ เราเข้าใจว่าธัมมารมณ์มีทั้งปรมัตถธรรม และบัญญัติ แต่จริงๆ สภาพธรรมในชีวิตประจำวันเราก็จะรู้ได้แต่เพียงบัญญัติเท่านั้นตราบใดที่สติไม่เกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ และเราก็รู้โดยการศึกษาว่าหลังจากที่รูปนั้นดับทางปัญจทวาร และมโนทวารก็มีรูปที่ปรากฏทางแต่ละทวารในปัญจทวารนั้นสืบต่อ

    ผู้ฟัง แต่รูปที่เราระลึกได้ทางมโนทวารจริงๆ แล้วก็คือความคิดนึกว่ารูปนั้นเป็นชื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ไม่มีชื่อ ขณะนี้จากปัญจทวารไปถึงมโนทวารโดยมีภวังค์คั่นอย่างเร็วที่สุด ไม่มีความต่าง ยุคสมัยก็คงทำให้เข้าใจได้ในเรื่องของการถ่ายเอกสารหรือการอัดสำเนาเหมือนกันเลยได้ไหม คมมากจนเกือบจะบอกไม่ได้เลยว่าอันไหนเป็นตัวจริงอันไหนเป็นสำเนา ทางปัญจทวารเป็นตัวจริง นี่เป็นแต่เพียงคำเปรียบเทียบสำหรับยุคสมัย ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนเราก็ไม่ต้องเปรียบเทียบแบบนี้ แต่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าทางใจขณะนี้เองไม่ปรากฏว่ารูปทางตาดับ แสดงว่าต้องผ่านภวังค์ที่ไม่รู้อะไรเลยแล้วทางมโนทวารก็มีรูปนั้นต่อแนบแน่นรวดเร็วแค่ไหนที่ไม่เหมือนกับว่าดับไปเลย เพราะฉะนั้นจะไม่มีความต่างของรูปที่ปรากฏทางปัญจทวาร และทางมโนทวารที่เป็นปรมัตถ์ แต่ไม่ต้องคิดมากเลย ก็เป็นเรื่องที่ว่าผู้ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียดตามความเป็นจริงซึ่งปัญญาของผู้ที่ฟังก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็รู้ว่าขณะไหนสติสัมปชัญญะเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ เมื่อนั้นก็จะรู้ความต่างกันของบัญญัติกับปรมัตถ์

    ผู้ฟัง กล่าวถึงอารมณ์ทางใจ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ถ้าเรามีโทสะโกรธขึ้นมา เมื่อโทสะนั้นเพิ่งดับไป สติปัฏฐานเกิดสามารถจะรู้อารมณ์ความโกรธได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้พูดตามใช่ไหม จิต เจตสิกเกิดแล้วก็ดับ โทสะเกิดแล้วก็ดับ แล้วมโนทวารก็รู้จิต เจตสิกได้เพราะว่าเป็นธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะอบรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงของตนเอง ไม่ใช่ตามคำที่ได้ยินได้ฟังมา ก็ต้องเริ่มจากการที่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ไม่หลงลืมเลย ทำให้สติสัมปชัญญะเกิดแล้วก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งสติกำลังรู้หรือจะใช้คำว่า “ระลึก” หรือจะใช้คำว่า “รู้ตรงนั้น” ก็ได้ คือไม่ไปติดอยู่ที่คำ มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ อย่างที่เคยกล่าวถึง ที่พอจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น วันหนึ่งๆ กระทบแข็งบ่อยๆ แต่ไม่เคยใส่ใจเลยก็คิดว่านั่นเป็นช้อน นี่เป็นส้อม นี่เป็นไมโครโฟนไปเลย แต่จริงๆ แล้วถ้าฟังก็รู้ว่าขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏทางกาย ขณะที่หลงลืมสติคือสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป โดยที่ไม่มีความรู้ในลักษณะของแข็ง หรือลักษณะของร้อน หรือของเย็น ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งลักษณะนี้จะปรากฏในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว และสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และไม่เคยขาดเลยในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่มีการคิดว่านั่นดับแล้วนี่เกิดต่อหรืออะไรอย่างนั้น แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นปกติ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น แข็งก็เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็มีเห็น หลงลืมสติ ไม่ได้รู้ตรงเห็น หลงลืมสติเวลาเสียงปรากฏ ก็แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดทีละเล็กทีละน้อย และก็รู้ว่าขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

    แต่ก็จะมีผู้ที่ใจร้อนว่า ระลึกแล้วก็ไม่เห็นรู้อะไร ระลึกกี่ครั้ง และที่ไม่ระลึกอีกเท่าไหร่ แล้วเพิ่งเริ่มที่จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แบบนี้ต้องมีแน่นอนเพราะว่าต่างกัน เพียงรู้ขณะนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ในลักษณะของสติ ซึ่งขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นความรู้จะทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจโดยที่ว่าต้องเป็นผู้ที่อดทน แล้วก็จะเข้าใจพยัญชนะที่พระผู้ทีพระภาคตรัสว่า “ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” ไม่มีอะไรจะอดทนเท่ากับการอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยรู้ว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะระลึกจึงรู้ในลักษณะซึ่งไม่ใช่ไปคิด เช่น แข็งไม่ได้ไปคิดเลย กำลังปรากฏตรงไหนรู้ตรงนั้น ไม่ได้ผ่านไปเหมือนตามปกติธรรมดา ก็รู้ว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะรู้ตรงแข็ง และมีการเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพลักษณะหนึ่ง มีจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ว่าเป็นลักษณะของจริงแต่ละอย่างๆ เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะยาวนานไหมกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงแล้วก็กำลังปรากฏจริงๆ และก็รู้ว่าขณะนั้นที่กำลังเข้าใจก็คือสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เรา

    สำหรับเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วนั้น ยังไม่ต้องคิดเลย เช่น ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นรูปที่ดับไปแล้วใช่ไหม เพราะว่าอายุสั้นมาก เกิดแล้วดับแล้วเกิดสืบต่อจนเหมือนไม่ดับ เพราะฉะนั้นจะไปรู้ตรงไหน ตรงที่เพิ่งดับไปแล้วหรืออย่างไร แต่ให้ทราบว่าขณะใดก็ตามที่มีสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แสดงให้เห็นว่าต้องมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้รู้ ไม่ใช่เราไปนึกเองเรื่องโกรธ ขณะที่โกรธไม่ปรากฏ แต่เราไม่ต้องไปคิดถึงว่าดับแล้วหรืออย่างไร เพราะเหตุว่าขณะนั้นจะไม่มีเพียงความโกรธขณะเดียว การที่ศึกษาเรื่องวาระหนึ่งๆ เพื่อแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่าวาระหนึ่งสั้นแค่ไหน แต่การที่ไม่ปรากฏความดับก็แสดงให้เห็นว่าเกิดดับสืบต่อรวดเร็วแค่ไหนจนไม่ประจักษ์เลย ไม่ใช่ไปบอกว่าอันนี้ดับไปแล้ว เรากำลังรู้อะไร แต่สิ่งที่กำลังมี เรายังไม่เคยรู้เลย และเราไม่ต้องไปคิดล่วงหน้าเพราะขณะนั้นเป็นเพียงแค่คิด ขั้นคิดขั้นเข้าใจ แต่ว่าลักษณะนั้นกำลังมีให้ระลึกให้เข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับลักษณะอื่น และเมื่อสภาพธรรมปรากฏแต่ละลักษณะโดยเราไม่ต้องไปคิดเลย ดับไปแล้วหรืออย่างไร ไม่ต้องคิดถึง แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏมีลักษณะให้รู้ว่าเป็นลักษณะที่ต่างๆ กัน การที่เราจะคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนก็จะค่อยๆ มีจากการที่เพิ่งจะค่อยๆ รู้แล้วเราไม่ต้องไปคิดว่า แล้วเมื่อไหร่จะเป็นการประจักษ์แจ้ง ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจต่างหากที่ประจักษ์ ไม่ใช่เป็นตัวเราพยายามคอยหรือหวังว่าเมื่อไหร่จะประจักษ์ แต่ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นละเอียดขึ้นแล้วก็ชัดขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้ได้เมื่อกาละนั้นมาถึงว่าความเข้าใจของเราในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏมั่นคงขนาดไหน เพราะแม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณ สภาพธรรมจะปรากฏทีละลักษณะ แต่ปัญญาระดับของนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่ขณะที่น้อมไปประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของแต่ละลักษณะ เพียงแต่ว่าลักษณะสภาพธรรมที่เป็นธาตุไม่เคยปรากฏเลย เพราะเหตุว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยความเป็นธาตุจะต้องไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเจือปนเลยทางมโนทวารทีละลักษณะ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา ขั้นฟังนี่เราฟังมาก ฟังเรื่องรูปธรรม นามธรรมเกิดดับ รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ไม่ใช่เป็นขั้นที่เราจะไปประจักษ์อย่างนั้น ในขณะที่กำลังอบรมก็ต้องรู้ว่าเริ่มจากการรู้ขณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิดแล้วก็มีลักษณะหนึ่งให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นการศึกษาก็คือการศึกษาลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมนั้น แล้วก็จะมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่น ค่อยๆ ระลึกไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ว่าไม่ใช่เป็นเรา ได้ยินมาว่าจะต้องระลึก จะต้องรู้ นั่นไม่ใช่เลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย สัมมาสติก็เกิดจึงระลึก แล้วแต่อะไรก็ได้ ไม่ใช่ระลึกสิ่งที่หมดไปแล้วไม่มีลักษณะใดๆ ปรากฏเลย แต่ระลึกสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้

    อ.วิชัย คราวที่แล้วก็ได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ของจิต ก็ขอสอบถามว่าจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตามีไหม

    ผู้ฟัง มี

    อ.วิชัย เช่นอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง จิตที่ได้ยินทางหู จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่กระทบสัมผัส จิตที่รู้ทางตา

    อ.วิชัย ก็เข้าใจว่าทางตารู้อารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง จักขุวิญญาณรู้อารมณ์ทางตามีรูปเป็นอารมณ์

    อ.วิชัย มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตบางประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา อย่างเช่นจักขุวิญญาณเกิดได้เพียงทวารเดียวเท่านั้น แต่ว่าจิตอื่น อย่างเช่น ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือสัมปฏิจฉันนะจิตสามารถเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร แต่มีเพียงจักขุวิญญาณเกิดขึ้นได้เพียงทวารเดียว และก็รู้เพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น จักขุวิญญาณรู้ธัมมารมณ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.วิชัย จักขุวิญญาณเป็นธัมมารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็นธัมมารมณ์

    อ.วิชัย จักขุวิญญาณไม่สามารถรู้ธัมมารมณ์ได้ รู้เฉพาะรูปารมณ์ แต่จักขุวิญญาณเป็นธัมมารมณ์ได้หรือไม่ ก็ต้องเข้าใจเพราะเหตุว่าธัมมารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่สามารถรู้ได้ทางมโนทวาร ซึ่งถ้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะรู้เฉพาะรูป ดังนั้นจะรู้จิต จะรู้นามธรรมไม่ได้เลย เพราะนามธรรมจะต้องรู้ทางมโนทวารเท่านั้น

    ดังนั้น จักขุวิญญาณ ไม่เป็นรูปารมณ์ ไม่เป็นสัททารมณ์ ไม่เป็นคันธารมณ์ ไม่เป็นรสารมณ์ และไม่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ แต่เป็นธัมมารมณ์ได้ เพราะอารมณ์สามารถจำแนกโดยนัย ๖ อย่างนี้ได้ คือมีรูปารมณ์เป็นต้นจนถึงธัมมารมณ์ ดังนั้นจักขุวิญญาณเป็นจิต ถูกรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น จะถูกรู้ทางปัญจทวารไม่ได้ เพราะเป็นธัมมารมณ์

    ท่านอาจารย์ ตามที่ผู้ถามกล่าวว่า ธัมมารมณ์มีจิตใช่ไหม

    ผู้ฟัง ธัมมารมณ์ได้แก่ ๖ อย่าง ได้แก่จิต เจตสิก สุขุมรูป ปสาทรูป ๕ นิพพาน และบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ นี่คือจำ แต่ถ้าเราทราบว่าธัมมารมณ์ คือสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้เฉพาะทางมโนทวาร ทวารอื่นไม่สามารถจะรู้ธัมมารมณ์ได้ คือเราไม่ไปจำว่าธัมมารมณ์มีอะไรบ้าง นับไปนับมาให้ครบเท่านั้น แต่ความจริงเราต้องเข้าใจสภาพธรรม เช่น จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ จิตไม่มีรูปร่างสีสันวัณณะใดๆ เพราะฉะนั้นใครจะไปเห็นจิตทางตานี่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมนี้สามารถที่จะรู้ได้ทางใจ ไม่ใช่จะสามารถไปเห็น ไปได้ยินต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นคำพูดจะแสดงให้เห็นว่าเราไปจำเป็นหมวดเป็นเรื่อง หรือว่าเราเข้าใจว่าสภาพธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย "จิต" ไม่สามารถจะเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณได้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจแบบนี้คือเข้าใจตัวธรรมไม่มุ่งไปจำว่าธัมมารมณ์มีกี่อย่าง แล้วก็ตอบได้ เจตสิกก็เช่นเดียวกัน จะไปเห็นเจตสิก จะไปได้กลิ่นเจตสิกเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเจตสิกมีจริงสามารถจะรู้ได้ทางใจ นี่คือให้เข้าใจว่าที่เราคิด ที่เราเข้าใจ ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ทั้งหมดทุกคำที่เราได้ยินมา ถ้าเราจะพิจารณาก็จะเห็นว่าทำให้เราเห็นความเป็นอนัตตา ถ้าพิจารณาจริงๆ เข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้ไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราในขั้นการฟัง แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะนั้นจริงๆ เช่น เหตุเป็นปรมัตถธรรมอะไร เหตุ ๖ ก็ต้องเป็นเจตสิก ๖ จะเห็นได้ว่าขณะนี้มีจิตทั้งที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย และมีจิตที่ประกอบด้วยเหตุเกิดสืบต่อกันอย่างเร็วจนกระทั่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิต วิถีจิตแรกไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ทางตาจักขุวิญญาณจิตเกิดมีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ไม่มี นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจแต่ไม่ใช่ไปจำ เมื่อจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะจิตเกิด มีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เมื่อสัมปฏิจฉันนะจิตดับ สันตีรณะจิตเกิดมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตหรือจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะจิค สันตีรณะจิตจะเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน ภพไหนกับใคร ต้องเป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วเมื่อสันตีรณะจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนะจิตเกิดขึ้นมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แต่เปลี่ยนชาติ ปัญจทวาราวัชชนจิตขณะแรกเป็นชาติกิริยา ภวังคจิตเป็นชาติวิบาก แล้วกิริยาจิตเกิดแล้วก็ดับ เมื่อถึงสัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิตที่เกิดต่อก็ยังคงเป็นวิบากอยู่เป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตต้องเกิดสืบต่อจากปัญจวิญญาณ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ