พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 87


    ตอนที่ ๘๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ หูเป็นจักขุธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง หูไม่ใช่จักขุธาตุ

    ท่านอาจารย์ จมูกเป็นจักขุธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจักขุธาตุหมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง หมายถึงตา

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงตาในภาษาไทย จักขุปสาทรูปซึ่งไม่ได้หมายความถึงตาทั้งหมด แต่เป็นเพียงเฉพาะรูปพิเศษที่อยู่กลางตาที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น เป็นรูปที่มีจริง เป็นจักขุธาตุ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีการใช้ชื่อมากมาย เช่น วัณโณ รูปารมณ์ นิภา เป็นต้น ก็เป็นเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นชื่อนั้นๆ มีจริงๆ เป็นอีกหนึ่งธาตุ จะชื่อว่าอะไร

    ผู้ฟัง ชื่อว่า รูป

    ท่านอาจารย์ รูป เป็นรูปธาตุเท่านั้น คำว่ารูปโดยนัยของธาตุ ๑๘ ไม่ได้หมายความถึงรูปอื่น ไม่ได้หมายความถึงเสียง ไม่ได้หมายความถึงกลิ่น เมื่อใช้คำว่า “รูปธาตุ” โดยนัยของธาตุ ๑๘ หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น คือ รูปารมณ์อย่างเดียว เป็นรูปธาตุ (จักขุธาตุ รูปธาตุ) ๒ รูป เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราเข้าใจโดยการที่ต้องใช้คำว่าเป็นธาตุชนิดไหน เพราะว่ารูปธาตุที่ปรากฏไม่ใช่จักขุธาตุ แต่ทั้ง ๒ อย่างเป็นรูปก็จริง แต่ใช้คำต่างกันเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงธาตุไหน ทางตามีจักขุธาตุ มีรูปธาตุ มีจักขุวิญญาณธาตุ ถ้ามีแต่จักขุธาตุ กับ รูปธาตุ แต่จิตเห็นไม่มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้แน่นอน

    ผู้ฟัง ก็ต้องมี ๓ ธาตุใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ๓ ธาตุทางตา ๓ ธาตุทางหู ๓ ทางจมูก ๓ ทางลิ้น ๓ ทางกาย รวมกี่ธาตุ

    ผู้ฟัง ๑๕ ธาตุ

    ท่านอาจารย์ ยังมีมโนธาตุอีก ๓ คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ เพราะสามารถจะรู้อารมณ์ทางปัญจทวารทั้ง ๕ อารมณ์ แต่ไม่สามารถจะรู้อารมณ์ทางมโนทวารได้เลย

    ผู้ฟัง มโนธาตุ ๓ อีกหนึ่งก็เป็น ๑๖

    ท่านอาจารย์ ๑๖ เหลืออีกเท่าไหร่

    ผู้ฟัง เหลืออีก ๒

    ท่านอาจารย์ เหลืออีก ๒ คือ

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุอีก ๑

    ท่านอาจารย์ เป็น ๑๗

    ผู้ฟัง แล้วธัมมธาตุอีก ๑

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุ ๑๘ เริ่มจากการเข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นธาตุ จะนับอย่างไรก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าที่ทรงแสดงโดยธาตุ ๑๘ จะหมายความถึงอะไร ก็คือปรมัตถธรรมที่เราเรียนที่เราเข้าใจนั่นเอง

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุในขณะนี้ที่พอจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนเห็น คือ ก่อนจักขุวิญญาณเกิด จิตอะไรเกิดก่อน

    ผู้ฟัง กิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณเกิด เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้วจิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ

    ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สันตีรณะเกิดต่อ

    ท่านอาจารย์ สันตีรณะดับไปแล้ว อะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนะ

    ท่านอาจารย์ โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว อะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ชวนจิต

    ท่านอาจารย์ ชวนะคืออะไร

    ผู้ฟัง กุศลจิต และอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง พอจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุ

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุ

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง มโนธาตุ

    ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนะเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง มโนธาตุ

    ท่านอาจารย์ สันตีรณะเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุ

    ท่านอาจารย์ ภวังค์เป็นธาตุอะไร ภวังคจิตไม่เห็น ไม่ใช่จักขุวิญญาณธาตุแน่นอน ไม่ใช่โสตวิญญาณธาตุ ไม่ใช่ฆานวิญญาณธาตุ ไม่ใช่ชิวหาวิญญาณธาตุ ไม่ใช่กายวิญญาณธาตุ ไม่ใช่มโนธาตุ เพราะว่ามโนธาตุต้องเป็นวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้น เป็นธาตุอะไร กำลังนอนหลับ ภวังคจิตเป็นธาตุอะไร มโนวิญญาณธาตุ ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วเพราะธาตุมี ๑๘ ฉะนั้นเมื่อกุศลจิต หรือ อกุศลจิตเกิดให้ทราบว่าเป็นมโนวิญญาณธาตุ สามารถที่จะรู้ได้ ซึ่งสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ใครสามารถจะรู้ได้ แต่สำหรับกุศล หรือ อกุศลเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ ก็สามารถที่จะรู้ได้ เวลาโกรธรู้สึกไหมว่าโกรธ นั่นคือมโนวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง บัญญัติเป็นธัมมธาตุ แต่ไม่ใช่ธาตุใช่ไหม

    อ.วิชัย บัญญัติมีสภาวะจริงๆ ไหม เป็นธาตุไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น แต่ว่าบัญญัติเป็นอารมณ์

    อ.วิชัย เป็นอารมณ์ได้ แต่ไม่ใช่ธาตุ เพราะว่าธาตุหมายถึงต้องทรงไว้ เช่น ลักษณะที่แข็งไม่เปลี่ยนแปลงเลย แต่บัญญัติเรียกชื่อต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ใช่ไหม เพราะว่าไม่ได้มีสภาวะจริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น บัญญัติก็ไม่เป็นธรรม

    อ.วิชัย คำว่า “ธรรม” มีหลายความหมายมาก ต้องดูความหมายในนั้นว่าหมายถึงอะไร คำว่า “ธรรม” เป็นเหตุก็ได้ หมายถึงฝ่ายเหตุก็ได้เหมือนกัน ก็ใช้คำว่าเป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นคำว่า “ธรรม” มีหลายความหมาย ต้องดูความหมายในที่นั้นๆ ว่าหมายถึงอะไรด้วย แต่คำว่า “ธาตุ” หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ

    อ.กุลวิไล ศึกษาเรื่องธาตุ ๑๘ ต้องมั่นคงว่าได้แก่ปรมัตถธรรม ๔ เท่านั้นเอง ก็ คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน ในธาตุ ๑๘ ถ้าเป็นจิตแล้วก็ได้แก่วิญญาณธาตุ ๗ แต่สำหรับมโนวิญญาณธาตุเราจะเห็นว่าจะมีได้ครบทั้ง ๔ ชาติ คือ ชาติที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ส่วนมโนธาตุมี ๒ ชาติ คือ ชาติกิริยา และชาติวิบาก สำหรับวิญญาณธาตุ ๕ คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ เป็นจิตชาติวิบากเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ธาตุมีมากใช่ไหม แล้วก็เป็นเรื่องชื่อ เรื่องราวต่างๆ ก็ต้องทราบว่าเพื่อประโยชน์ในการที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย แต่มีธรรมหรือธาตุเท่านั้นเอง ซึ่งแม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการฟัง บางคนอาจจะคิดว่าฟังตั้งมากมาย แล้วก็ลืมไปก็มากเหมือนกัน ก็อาจจะจำได้เพียงนิดๆ หน่อยๆ ก็อาจจะเข้าใจว่าอย่างนี้ แต่ว่าประโยชน์ของการฟังก็คือเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าทุกขณะเป็นธรรม แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ในขณะที่ฟังก็ฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะนี้ก็เป็นธรรมหรือเป็นธาตุซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะฟังมากน้อยสักเท่าไหร่ก็เพื่อให้ถึงความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สามารถจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่มีชื่อ แต่จากการที่ได้เคยฟังมาแล้วมาก ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าถึงสภาพธรรมนั้นไม่ใช่เรา เพราะว่าการคุ้นเคยกับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา นานแสนนานมาแล้ว และก็เพิ่งจะมาเริ่มคิดเรื่องสิ่งที่มี โดยความไม่ใช่ตัวตนโดยชื่อว่า เป็นธาตุ เป็นอายตนะ เป็นอเหตุกะ เป็นสเหตุกะ แต่ตามความเป็นจริงก็คือทำให้เราสามารถค่อยๆ คลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในขั้นของการฟัง แต่ยังไม่ใช่ในขั้นของการประจักษ์จริงๆ ถ้าเป็นในขั้นของการประจักษ์จริงๆ จะตรงตามที่เราศึกษาหรือไม่ เช่น นามธรรมเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เวลาที่มีปัญญาที่สามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรมคือเป็นสภาพรู้ จะมีชื่อบอกไหมว่าเป็นจักขุวิญญาณ ถ้าคิดขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพที่เห็น ซึ่งเป็นขณะหนึ่งที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ คือ เห็นแจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติไม่ว่าจะเป็นที่ไหนทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เวลาที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้ไม่มีชื่อแต่อาการหลากหลายของธรรมที่ค่อยๆ รู้ขึ้น ก็จะตรงกับชื่อ เช่น ขณะที่กำลังรู้ลักษณะเห็น เป็นธาตุรู้ที่กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็นขณะนี้ ถ้าสามารถจะเข้าถึงลักษณะที่เป็นธาตุที่เห็นจริงๆ ก็จะรู้ความต่างของขณะที่ธาตุนี้เกิดขึ้นอีกชนิดหนึ่งโดยทำหน้าที่ได้ยินเสียง ซึ่งก็เป็นธาตุรู้นั่นเอง แต่ขณะนั้นก็ไม่มีชื่อว่าโสตวิญญาณ แต่ก็จะตรงกับที่เราเคยได้ฟังว่า ธาตุเห็นก็เพียงเห็น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่มีการยึดถือสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมแต่เข้าใจว่าเป็นเรา เพราะไม่เคยรู้ว่าเป็นเรา แม้ว่าสิ่งนั้นเป็นนามธรรมเป็นธาตุรู้ก็จริง เวลาที่ได้ยิน ถ้าเราไม่มีเยื่อใย เราก็จะรู้ว่าคนละขณะเลยกับขณะที่กำลังเห็น แล้วธาตุนั้นก็เป็นธาตุที่สามารถเพียงได้ยินเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเห็นได้ ก็จะเห็นความต่างของขณะที่เป็นธาตุเห็น กับขณะที่เป็นธาตุได้ยิน และเป็นธาตุอื่นๆ แต่ทั้งหมดต้องเป็นการที่ได้มีความเข้าใจในเรื่องราวของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อน จนกระทั่งสามารถในขณะที่ฟัง ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏตามไปด้วย ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นขณะนั้นก็สามารถค่อยๆ เข้าใจ เมื่อพูดถึงธาตุที่เห็น อาจจะไม่ต้องใช้ภาษาบาลีว่าจักขุวิญญาณธาตุ เพราะเข้าใจแล้วว่าถึงจะใช้คำว่าจักขุวิญญาณธาตุ หรือธาตุเห็น ก็คือขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มีธาตุนั้นเกิดแล้วทำกิจนี้

    เพราะฉะนั้นจากการอบรมการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่มีชื่อ แต่ก็สามารถที่จะเข้าถึงความต่างโดยชื่อตามที่ทรงแสดงไว้ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ฟังแล้วคิดว่าชื่อมากมาย แล้วจะจำได้อย่างไร ไม่นานก็ลืมไป แต่ความจริงจะลืมไปก็ไม่ลืมส่วนสำคัญที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เริ่มจากความเข้าใจว่าธรรมซึ่งมีจริง และรู้ลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประการ คือลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ส่วนความละเอียดก็จะเป็นไปตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง เราเห็นพ่อแม่เดินมาหา จะเห็นเป็นพ่อเป็นแม่ขณะหนึ่ง แล้วในขณะเดียวกันเราก็เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะหนึ่ง อย่างนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วการฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจก่อนอื่น ไม่ใช่ให้ทำอะไรทั้งสิ้น เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง และได้เข้าใจก็คือสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเกิดคิดขึ้นมาในขณะนี้ เราจะเห็นเหมือนที่เคยเห็น ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็มีการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ อันนี้เป็นของธรรมดาซึ่งมีอยู่เป็นปกติ แต่จากการฟัง และเข้าใจก็จะทำให้มีขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อไหร่ โดยที่ไม่มีตัวตนโดยที่พยายามที่จะไปแยกหรือที่จะให้เห็นเป็นอย่างนั้นก่อนเป็นอย่างนี้ภายหลัง แต่ในขณะที่กำลังนั่งตามปกติอย่างนี้ ก็เริ่มที่จะมีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่มีเราที่พยายาม แต่ว่ามีขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมคือสติ และก็เป็นกุศลจิตด้วยที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่มีจริง และก็มีลักษณะเฉพาะอย่าง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องปกติจะค่อยๆ เกิดความเข้าใจเมื่อไหร่ก็คือเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง เห็นคนที่เดินมา เห็นพ่อแม่เดินมา ลูกเดินมา ก็เป็นแค่สิ่งที่ปรากฏทางตาเฉยๆ ถ้าเราคิดอย่างนั้นจริงๆ ทำให้เราไม่รู้สึกรักลูก รักพ่อรักแม่ รู้สึกว่าพ่อเป็นคนให้กำเนิดแก่เรา เราไม่คิดไปลักษณะนั้น เราก็ไม่อยากจะทำบุญ เห็นพระมาก็ไม่อยากใส่บาตร

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ อย่างนั้นคือความเห็นผิด ถ้าความเห็นที่ถูกต้องก็คือ แม้ขณะที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จะเป็นพ่อ จะเป็นเพื่อน จะเป็นแม่ จะเป็นพระภิกษุ ก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมยาก เพราะผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่าเป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่คือของจริง ความจริงของธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ต้องเกิดแล้วก็ดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย แต่มีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อตลอดเป็นความคิดนึกถึงเรื่องของสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นขณะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะที่รู้ว่าคนนั้นเป็นพ่อแม่ พี่น้องเพื่อนฝูง ก็คือเป็นสภาพจิตชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้นก็จะมีความเข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตาว่า สิ่งนั้นที่มีไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นธาตุเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่ก็จะมีการรู้เรื่อง รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็คำที่ได้ยิน เสียงที่ได้ยินทางหูด้วยเป็นปกติ แต่ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดดับ และก็ไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าไม่ใช่จิตเห็น แปลว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังคิดนึก กำลังรู้ว่าเป็นใคร ขณะนั้นไม่ใช่จิตเห็นคนละขณะแล้ว แต่ก็เป็นจิตนั่นเอง เพราะว่ารูปไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสภาพรู้ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพชาติก็คือนามธรรม

    ผู้ฟัง จะเป็นอย่างนี้ไหม คือจิตเห็นก่อน

    ท่านอาจารย์ ก็ตรงตามที่เราได้ศึกษาเรื่องของวิถีจิตทางปัญจทวาร ทางปัญจทวารมีรูปที่ยังไม่ดับไป เพราะฉะนั้นจะมีความคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรไม่ได้ ทางปัญจทวารจะมีลักษณะของปรมัตถธรรม เช่น ขณะนี้ทางตา รูปที่ยังไม่ดับ จิตที่เกิดขึ้นจะมีกี่ขณะ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ จักขุวิญญาณก็ต้องมีรูปนั้นเองที่ยังไม่ดับ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ จนถึงชวนะ ตทาลัมพนะก็มีรูปที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นอะไร เพราะว่าไม่มีการคิดนึก ต่อเมื่อไม่ใช่ทางปัญจทวารวิถี ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง สามารถจะรู้อารมณ์ต่อจากทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใดก็ได้ หรือสามารถจะคิดนึกโดยที่ไม่มีอารมณ์ทางปัญจทวารเกิดก่อนก็ได้ ต้องเข้าใจความหมายทั้งหมดคือจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ และก็มีการทรงจำ ต้องมีความทรงจำว่าผู้ใดเป็น มารดาบิดา เป็นใครต่อใครเป็นของธรรมดา แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่เห็นก็รู้ว่าบุคคลที่เห็นเป็นใคร รู้ว่าเป็นท่านพระโมคคัลลานะ หรือเป็นท่านพระสารีบุตร หรือท่านพระอานนท์ก็เป็นธรรมดา แต่ไม่หลงยึดถือว่าเป็นตัวตนที่เที่ยง มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่ารูปธรรมเป็นรูปธรรม นามธรรมเป็นนามธรรม ทั้งนามธรรม และรูปธรรมไม่เที่ยงจึงไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง เพราะเร็วเกินไป เราเลยปนกันระหว่างจิตเห็นเฉยๆ กับจิตนึกคิดว่าเป็นบิดามารดา เร็วมาก

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราศึกษาธรรมโดยละเอียดซึ่งเป็นส่วนของพระอภิธรรมเพื่อที่จะได้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่า เรามีความไม่รู้ และมีความเห็นผิดมากน้อยแค่ไหน และก็แสนยากที่จะให้หมดความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ขั้นการฟัง ฟังแล้วก็รู้เลยว่าเพียงฟังไม่สามารถที่จะรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดดับ ขณะนี้รู้ใช่ไหมว่าเป็นใคร ถ้าไม่รู้นี่ก็ผิดปกติ ซึ่งต้องมีวิถีจิตทางปัญจทวารก่อนแล้วจึงถึงทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ความจริงจะมีจิตพิเศษอีกประเภทหนึ่งที่รู้ตามความเป็นจริง ตามที่พระผู้มีพระภาคได้สอนไว้อย่างนั้นที่ได้ดำเนินมา และบอกเรา แต่เป็นจิตอีกชนิดหนึ่งที่ต้องอบรม และศึกษา แล้วก็ตรึกนึก และก็ต้องไตร่ตรองกันมากๆ จนกว่าเราจะถึงจิตนั้นอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าธรรมดาก็มีจิตที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิตตามที่เราได้กล่าวถึงเรื่องชาติของจิต แต่ถ้าเราไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน เราก็หาไม่พบ ว่าจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งสามารถจะรู้ได้ ต้องเป็นกุศล เพราะว่าอกุศลไม่สามารถจะรู้ได้ ต้องเป็นชาติกุศล และไม่ใช่กุศลขั้นทานด้วย เพราะขณะที่ให้ทานก็เป็นเพียงการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ไม่ใช่ขณะที่เป็นการวิรัติทุจริตที่เป็นศีล ที่เป็นวิรัติ หรือว่าไม่ใช่เป็นศีลที่ควรกระทำ จารีตศีล แม้ขณะที่จิตสงบ อย่างบางคนไปงานศพก็อาจจะคิดว่าทุกคนก็จะต้องเป็นเช่นนี้ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่สงบจากการติดข้อง และก็อาจจะมีการคิดไตร่ตรองไปในเรื่องของการละคลายบ้าง แต่ก็ไม่ใช่จิตที่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วก็คือ กุศลขั้นต่างๆ นั่นเอง กุศลขั้นทานก็มี ขั้นศีลก็มี ขั้นความสงบของจิตก็มี แต่ถึงจะสงบจนกระทั่งถึงขั้นฌาณจิต ขั้นอรูปฌาณ ขั้นสูงที่สุด ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็คือกุศลจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งจะมีได้ เจริญขึ้นได้ จนกระทั่งถึงการประจักษ์แจ้งถึงความเป็นโลกุตตระซึ่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ได้โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็คือต้องอบรมความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ขั้นฟัง ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจจริงๆ ขั้นฟังซึ่งเป็นเรื่องละความไม่รู้ กำลังทวนกระแสที่เคยมีมา เพราะเหตุว่าตลอดชีวิตมีแต่ความติดข้องด้วยความไม่รู้ เกิดมานี้ไม่รู้แน่ในสิ่งที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ก็มีสิ่งที่ปรากฏเหมือนเดิมแต่เริ่มจะมีจิตอีกประเภทหนึ่งที่กล่าวถึงคือจิตที่เป็นกุศลอีกระดับหนึ่งซึ่งเกิดจากการฟังธรรม แล้วมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะถึงระดับกุศลขั้นนี้ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็เป็นความเข้าใจจริงๆ ในความหมายอรรถของคำว่า “อนัตตา” ในความหมายของธรรมมีสิ่งที่ปรากฏ มีลักษณะจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้เลย ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะว่ามีแล้วแต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าไปทำเพราะคิดว่าจะรู้นั่นคือผิด เพราะว่าจะทำเมื่อไหร่คือไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏก็คือฟังจนกว่าจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และเวลาที่สติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นกุศลอีกระดับหนึ่งเกิด ก็คือรู้ตรงลักษณะที่ปรากฏแล้วเพราะมีแล้วเกิดแล้ว ไม่ใช่ไปทำเพราะหวังว่าจะรู้ นี่คือการที่เราต้องฟังด้วยดี แล้วก็รู้ว่าแท้ที่จริงทั้งหมดที่ได้ฟังก็คือสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ