พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 71


    ตอนที่ ๗๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ มิจฉาทิฏฐิเกิดเมื่อไหร่ อยู่ที่ไหน จะได้ละ ไม่เห็น ไม่รู้แล้วละอย่างไร ทุกอย่างที่จะละต้องปรากฏ เวลานี้ถ้ามิจฉาทิฏฐิไม่เกิด ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะละไหม จะละได้หรือไม่ในเมื่อไม่เห็นเลย อยู่ในหนังสือหมด แล้วจะละอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นยังไม่ต้องไปคิดเรื่องละ ต้องรู้ก่อนว่าขณะไหนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นทำกิจเห็น จักขุวิญญาณทำกิจเห็น มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็คงมี มีมากด้วย

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ ขณะเห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม มิจฉาทิฏฐิเป็นอกุศลเจตสิก ต้องเกิดกับอกุศลจิต เกิดกับวิบากจิตไม่ได้ นี่คือประโยชน์ของการที่จะศึกษาความละเอียดของสิ่งที่มีจริงๆ ในชาติหนึ่ง จนกระทั่งถึงในวันหนึ่ง จนถึงขณะหนึ่งที่จะรู้ว่าความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างนี้ มิฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะไปละความเห็นผิดได้

    ผู้ฟัง เรื่องละคงไม่พ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สภาพธรรมปรากฏ ค่อยๆ ศึกษาลักษณะอย่างนี้จะถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังเรื่องอะไร สิ่งนั้นมีจริงๆ หรือไม่ ที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้นขึ้น นี่คือประโยชน์ของการฟัง ฟังแล้วเมื่อเข้าใจแล้วขณะนั้นก็ละความไม่เข้าใจที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร หรือจะอ่านเรื่องอะไร ขอให้เข้าใจสิ่งนั้นตรงนั้น ไม่ใช่ตรงอื่น และความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถูกต้องขึ้น

    ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องจิตที่เป็นวิถี กับจิตที่ไม่เป็นวิถี ว่ามีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เกิดมาหนึ่งขณะแล้วดับไป แล้วเห็นทันทีหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แต่มีจิตเกิดดับสืบต่อ ขณะที่อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย ขณะที่หลับสนิท รู้ไหมว่าชื่อสุกัญญา บ้านอยู่ที่ไหน มีเพื่อนชื่ออะไร ทำงานที่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ นั่นคือภวังคจิต ฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่วิถีก็คือ จิตที่ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะภวังคจิตต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์ของภวังค์ ปฏิสนธิ และจุติจิต ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะเหตุว่าสืบต่อจากอารมณ์ของจิตใกล้จุติของชาติก่อน การที่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ปรากฏต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ฉะนั้นขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ภวังคจิต คือ ขณะที่อารมณ์ของโลกนี้ไม่ได้ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นตอนหลับสนิทคือภวังค์ แต่ไม่ได้เป็นภวังค์ตลอดกาล เป็นไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตอื่นเกิดขึ้น เพราะจิตทุกประเภทจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจิตอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่ภวังค์ จะชื่ออะไรก็ตาม เช่น ปัญจทวาราวัชชนะ ตทาลัมพนะ ชวนะ และชื่ออื่นๆ ทั้งหมดที่ต่อไปจะได้ยิน ที่ไม่ใช่ภวังค์ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ และเมื่ออาศัยทางหนึ่งทางใดไม่ใช่ขณะเดียว ต้องหลายขณะเกิดดับสืบต่อจึงเป็นวิถีจิตแต่ละวาระหนึ่งๆ วาระของการรู้อารมณ์หนึ่งจะต้องมีหลายวิถีจิต ทั้งหมดเป็นวิถีจิต วิถีจิตเท่านั้นที่จะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่ใช่วิถีจิตจะรู้อารมณ์ทางนั้นไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง หนึ่งวาระ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ต้องเป็นหนึ่งขณะ เพราะว่ารูปยังไม่ดับ (รูป ๑๗ ขณะยังไม่ดับ) เมื่อรูปดับไปแล้วภวังค์คั่นเมื่อไหร่ก็คือหนึ่งวาระ ขณะนี้กำลังกล่าวถึงรูปซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดงโดยละเอียดว่าเวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นโดยอาศัยทางหนึ่งทางใด จะเริ่มจิตที่เป็นวิถีจิตเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง ดังนั้น วิถีจิตแต่ละวิถีนี่ก็มีหลายวาระได้

    ท่านอาจารย์ วาระหนึ่ง คือ การรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่ง เมื่อหมดวาระนั้นมีภวังค์คั่น ก็นับเป็นวาระหนึ่งๆ แต่วาระหนึ่งมีหลายวิถี เพราะจิตที่ไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิตทั้งหมด ปัญจทวาราวัชชนะรู้อารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทชื่อว่าจักขุทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ เมื่อปัญจทวาราวัชชนะดับแล้วจิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง จักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะว่ารู้อารมณ์โดยต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร จิตใดก็ตามที่เป็นวิถีจิต จะต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเป็นทางเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น จะไม่อาศัยทาง ไม่อาศัยทวารไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยเมื่อไหร่เป็นภวังค์เมื่อนั้น

    ผู้ฟัง มีวาระ และ ขณะ

    ท่านอาจารย์ หนึ่งขณะของจิตมีขณะย่อย ๓ ขณะคือ อุปาทะ ฐิติ ภังคะ แล้วก็ดับ เป็นหนึ่งขณะใหญ่ แต่จริงๆ ไม่ใช่ตัวใหญ่ หมายความว่าในหนึ่งขณะยังสามารถจะต่างกันเป็น ๓ ขณะย่อย คือขณะเกิด ไม่ใช่ขณะดับ ขณะดับไม่ใช่ขณะที่กำลังตั้งอยู่ หรือไม่ใช่ขณะเกิด แม้ว่าจิตซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่สามารถที่จะเห็นการเกิดดับ และทรงแสดงว่าในหนึ่งขณะก็ยังต่างเป็น ๓ ขณะย่อย

    ผู้ฟัง หนึ่งวาระหมายถึง อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งดับไป ประกอบด้วยวิถีจิตหลายขณะ และทุกขณะเป็นวิถีทั้งหมดเพราะต้องอาศัยทวารนั้นทวารเดียวกัน

    อ.กุลวิไล อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ อารมณ์ก็จะมีแตกต่างกันไป อารมณ์ที่ประณีตต้องเป็นอารมณ์ที่ดี โดยเวทนาแล้วจะเห็นถึงความต่างกันของเวทนา โดยเฉพาะจิตที่เป็นสันตีรณจิต จะมีโสมนัสเวทนาด้วย และก็มีอุเบกขาเวทนาด้วย ซึ่งเป็นฝ่ายกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกสันตีรณะกุศลวิบากจะมีเวทนาด้วยกัน ๒ อย่าง คืออุเบกขาเวทนา และ โสมนัสเวทนา นี้คือความต่างกันของอารมณ์ที่ประณีตกว่าอุเบกขาแน่นอน ท่านก็ทรงแสดงไว้ เช่น กรณีที่เราเห็นรูปกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นอารมณ์ที่ประณีต ถ้าเทียบกับการที่เราเห็นสิ่งที่ดีอื่นๆ หรือได้ยินพระธรรม หรือได้ฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเช่นนี้ก็จะเป็นอารมณ์ที่ประณีตยิ่ง ฉะนั้นความต่างกันของอารมณ์ก็ยังต้องมีหลากหลาย ซึ่งแม้แต่เป็นอารมณ์ที่ดีก็ยังแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามการที่เราได้รับอารมณ์ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี้ก็คือผลของกรรมนั่นเอง แล้วก็เป็นสิ่งที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และเราก็ได้รับผลของกรรมก็ไม่พ้นทั้ง ๕ ทางนี้

    ท่านอาจารย์ คุณกุลวิไลกล่าวถึงรวมๆ แต่เมื่อแยกโดยทวารจะละเอียดกว่านั้นอีก แม้แต่แหวนเพชรหนึ่งวง เมื่อพูดรวมๆ ก็ดูเป็นอารมณ์ที่ประณีตใช่ไหม แต่ว่ากระทบแข็ง ยังไม่ได้พูดถึงสีเลย ฉะนั้นจะแยกออกไปเป็นแต่ละทวาร ทางจมูก กลิ่นอะไรก็ตาม รสอะไรก็ตาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ คุณธีรพันธ์มีอารมณ์ที่ประณีตมากไหม

    อ.ธีรพันธ์ สำหรับผมยังไม่สามารถจัดว่าเห็นอารมณ์ที่ดียิ่งได้หรือไม่ แต่ว่าเห็นอารมณ์ที่พอจะดีปานกลางเท่านั้นเอง

    อ.วิชัย สำหรับอารมณ์ก็หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ แต่เมื่อพูดถึงการจำแนกขันธ์โดยนัยต่างๆ อย่างเช่น ขันธ์ที่ละเอียดก็มี ขันธ์ที่หยาบก็มี ถ้ากล่าวโดยรูป รูปที่ไม่เป็นที่น่ารักน่าพอใจก็เป็นรูปที่หยาบ เป็นรูปทราม ถ้าเป็นรูปที่น่ารักน่าชอบใจก็เป็นรูปที่ประณีต แต่เมื่อกล่าวโดยเวทนา เมื่อเป็นทุกขเวทนาก็เป็นเวทนาที่หยาบ เมื่อเป็นสุขเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาเมื่อเทียบกับทุกขเวทนา สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนาเป็นเวทนาที่ประณีต แต่เมื่อเทียบว่าทุกขเวทนากับสุขเวทนาเป็นเวทนาหยาบ อุเบกขาเวทนาก็เป็นเวทนาที่ประณีต ก็เปรียบเทียบอย่างนี้

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่ได้ไปที่ประเทศอินเดีย มีโอกาสได้เห็นพระบรมสารีริกธาตุ ขณะนั้นก็คิดว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาตรงนั้นเป็นอารมณ์ที่ดีเลิศ เช่นนี้เป็นไปในกุศล แต่ถ้าฝ่ายอกุศล ก็เช่น เดินไปหน้าร้านเพชรสวยๆ ก็อาจจะได้เห็นสีของเพชรซึ่งเป็นเครื่องประดับที่สวย ตรงนั้นก็เป็นอารมณ์ที่เป็นอกุศล เช่น เสียง เสียงที่ได้ฟังธรรม เสียงของพระธรรม ที่ฟังธรรม ในขณะนี้ก็คิดว่าเสียงที่ได้ฟังเป็นอารมณ์ที่ประณีตได้ แต่จริงๆ แล้วถ้าจะให้แยกว่าขณะใด เป็นสิ่งที่แยกได้ลำบากมาก นี่ก็เป็นการยกตัวอย่างจากสิ่งที่คิดได้ในชีวิตประจำวัน

    อ.อรรณพ ผมเข้าใจว่าเราก็ได้แต่คิด แต่เรารู้ไม่ได้ว่าเป็นอารมณ์ประณีตหรือประณีตยิ่ง เรารู้ไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะอนุมาน เช่น การเดินทางไปนมัสการ แม้เราจะเห็นซากปรักหักพังของนครกบิลพัสดุ์ เราก็เกิดโสมนัส แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นจะเป็นอติอิฏฐารมณ์ หรือ อิฏฐารมณ์ ขั้นใดเราไม่สามารถจะรู้ได้ เพียงแต่ว่าการสะสมที่จะโสมนัส หรือ โทมนัสก็ตาม ฉะนั้นเข้าใจว่าเราไม่สามารถรู้ในความเป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ หรือเป็นอติอิฏฐารมณ์ของอารมณ์ได้จริงๆ

    อ.ธิดารัตน์ คือ รู้สึกว่าขณะที่เห็นพระบรมสารีริกธาตุต่างจากการเห็นสิ่งอื่น ซึ่งเป็นความรู้สึกได้ แม้กระทั่งวันเปิดที่มูลนิธินำพระธาตุมาในผอบ และก็ได้มาดู สิ่งที่ปรากฏทางตาตรงนั้นต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยระลึกมา

    อ.อรรณพ การที่เรามีอุปนิสัยในพระพุทธศาสนาก็ทำให้เรามีความปลื้มปิติ ใครจะรู้ได้ จริงๆ อาจจะเป็นอย่างที่คุณธิดารรัตน์กล่าว แต่จริงๆ เราก็คิดเองใช่ไหม แน่นอนเราเห็นพระบรมสารีริกธาตุ เรามีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปิติโสมนัสมาก แต่ในชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเกิด เราจะรู้ละเอียดได้ถึงอารมณ์ของจักขุวิญญาณ แล้วจะรู้ได้ในความที่เป็นอิฏฐารมณ์ อติอิฏฐารมณ์ได้อย่างไร คิดว่าเราคงไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าสิ่งที่กระทบตามีอายุ ๑๗ ขณะ ดับเร็วแค่ไหน ถ้าเราไม่คิดนึกทางมโนทวารว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จะสามารถแยกออกได้ไหมว่าสิ่งนั้นเป็นพระบรมสารีริกธาตุหรือไม่ใช่พระบรมสารีริกธาตุ จริงๆ แล้วผู้ที่รู้ และทรงแสดงคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะไม่มีใครเลยที่สามารถจะบอกได้ว่านี่เป็นอิฏฐารมณ์ นี่เป็นอติอิฏฐารมณ์ นี่เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะจะไปนำความคิดที่เราสะสมมาเป็นความชอบ ความไม่ชอบขณะนั้นเป็นเครื่องตัดสิน แต่ถ้าคิดถึงรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ และเวลาที่ปรากฏทางแต่ละทวารยังไม่มีเรื่องราวเข้ามาเลย เป็นวิสัยที่ใครจะบอกได้ เพราะในขณะนี้กี่วาระ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับทางแต่ละทวารนับไม่ถ้วน ชั่วขณะนั้นก็เกินวิสัยที่บุคคลอื่นจะกล่าวได้ เพียงแต่ว่าอนุมานได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ น่าเพลิดเพลิน น่ายินดี เช่น อารมณ์ในสวรรค์ เสียงในสวรรค์หรือเสียงที่ไพเราะ แต่จริงๆ แล้วก็คือชั่วขณะที่สิ่งนั้นเกิดแล้วดับ

    บางครั้ง สิ่งที่เราคิดว่าไพเราะ เช่น เครื่องดนตรี เมื่อดังมาก เพราะไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องดนตรีอย่างเดิม แต่เสียงที่กระทบหูจริงๆ ขณะนั้นมีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วดับ ฉะนั้น เราจะใช้เป็นเครื่องวัด และก็มั่นใจไม่ได้ นอกจากความจริงเท่าที่เราสามารถจะรู้ได้คืออย่างไร ก็คือรู้ว่ารูปมีอายุเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วก็มี ๒ อย่าง คือ รูปที่น่าพอใจ และรูปที่ไม่น่าพอใจ จึงมีผลของกุศลที่จะรู้รูปนั้นว่าขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลวิบาก ขณะนั้นต้องมีรูปที่เป็นอิฏฐารมณ์ ขณะใดที่เป็นอกุศลวิบาก ขณะนั้นก็รู้รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง การที่จะรู้อารมณ์ประณีต ในขณะที่สติระลึกในลักษณะของรูปธรรม และ นามธรรม เข้าใจว่าเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ประณีตยิ่งกว่าสิ่งใด ตามความเข้าใจ ไม่ทราบว่าจะผิดหรือถูก

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงมี ๒ อย่างแม้เป็นรูป เปลี่ยนไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์จะเปลี่ยนให้เป็นอิฏฐารมณ์ไม่ได้

    ผู้ฟัง ในขณะที่รู้ลักษณะรูปธรรม หรือ นามธรรม ถ้ารู้ลักษณะของรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นการรู้อารมณ์ที่ประณีตของรูปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งใดที่จริงต้องรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ไม่ใช่ไปเปลี่ยน รูปนี่เปลี่ยนไม่ได้เลย รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ใครรู้เมื่อไหร่ จะไปเปลี่ยนอนิฏฐารมณ์ให้เป็นอิฏฐารมณ์ไม่ได้ ก็ยังคงรู้ในความเป็นอนิฏฐารมณ์นั่นเอง

    ผู้ฟัง ในขณะที่สติเกิดรู้ลักษณะของรูป ในขณะนั้นจิต และเจตสิกต้องประณีตด้วย หรือว่าแม้ในขณะที่สติไม่เกิดก็สามารถรู้รูปที่ประณีตได้

    ท่านอาจารย์ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์ก็มีอายุ ๑๗ ขณะ รูปที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็มีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นชั่ว ๑๗ ขณะที่ปรากฏในวิถีแต่ละทางนั้นดับเร็วแค่ไหน

    ผู้ฟัง ดับเร็วมาก

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นคือถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ จิตเห็นเห็นอนิฏฐารมณ์ก็อนิฏฐารมณ์ ใครจะรู้หรือไม่รู้สิ่งนั้นก็เป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นลักษณะของรูปนั้นที่เปลี่ยนไม่ได้

    ผู้ฟัง อนิฏฐารมณ์กับอิฏฐารมณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนรูปไม่ได้ รูปไม่ใช่ของใครเลย ธรรมเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่จะทำให้เรามีพื้นฐานที่มั่นคง รูปหนึ่งรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ ใครจะเป็นเจ้าของรูปนั้น ใครจะไปเปลี่ยนรูปนั้นไม่ได้ถูกต้องไหม รูปที่เกิดมีอายุ ๑๗ ขณะ เกิดเป็นอย่างไร เป็นอิฏฐารมณ์ก็เป็นอิฏฐารมณ์ เป็นอิฏฐารมณ์ ๑๗ ขณะที่ยังไม่ดับ จะเปลี่ยนลักษณะให้เป็นอื่นไม่ได้เลย เราชอบหรือไม่ชอบนั่นเรื่องของเราที่สะสมมา แต่ว่าเปลี่ยนลักษณะของรูปไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อสองคนมองไปที่เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเกิดความไม่ชอบใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ชอบใจหรือชอบใจก็แล้วแต่การสะสม

    ผู้ฟัง คนหนึ่งชอบ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่การสะสม แต่เปลี่ยนลักษณะของรูปไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้จะเรียกรูปนั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราเรียก ลักษณะของรูปนั้นเป็น ลักษณะนั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ไม่ใช่เราไปเรียก ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น เราเรียกผิดก็ได้ แต่เราเปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ นี่คือธรรม นี่คือปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง เราเรียนเรื่องวิถีจิต ก็ทราบว่าต้องมีจิตที่ทำกิจนั้นๆ ในขณะนั้นก็มีวิบากซึ่งทราบว่าเป็นผลของกรรม แต่พอมาถึงตรงที่เป็นชวนะ จิตที่ทำกิจตรงนี้ ก็ไม่ได้ดีอย่างใจ ฉะนั้นตรงนี้จะทำให้เรารู้สึกเนิ่นช้าไป ตรงนี้หรือเปล่า แล้วทำอย่างไรจึงจะดีได้เร็วดั่งใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีเราฟังพระธรรม แล้วก็มีเราที่ต้องการจะเป็นคนดี แล้วเวลาที่อกุศลธรรมเกิดก็เราไม่ดี ก็เดือดร้อนใจ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราต้องฟังด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ทุกครั้งที่ฟังพระธรรม ขอให้มีความเข้าใจที่ไม่ลืมเลยว่ากำลังฟังเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ดังนั้นก็จะเตือนให้ทราบว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร เรื่องอะไรทั้งหมดก็จะไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นได้ยินคำว่าธรรม หรือเรากำลังฟังธรรม ก็ต้องรู้ว่าธรรมก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วฟังทำไม เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏเป็นปกติ ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางลิ้นก็ลิ้มรส ทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็คิดนึก แม้คิดนึกเมื่อสักครู่นี้ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นฟังทำไมเรื่องธรรมดา แล้วแต่ว่าใครจะคิดอะไรก็ตามเหตุตามปัจจัย แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา คือ ทุกคำต้องซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อสัญญาความจำที่มั่นคงจะได้ไม่เปลี่ยนแปลง หรือว่าจะไม่หลงลืม ให้รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ฟังธรรมขณะไหนให้ทราบว่ากำลังฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แม้แต่คำว่าปฏสนธิจิตดับแล้ว ก็ให้เข้าใจว่าปฏิสนธิจิตมีจริงๆ แน่นอน ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มี ขณะนี้ก็มีไม่ได้เลย เพราะว่าต้องมีการเกิดสืบต่อจนกระทั่งแต่ละคนจะอายุมากบ้าง น้อยบ้างเท่าไหร่ ก็สืบต่อมาจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นเพียงขณะแรก ซึ่งเราเข้าใจได้ ขณะสุดท้ายก็คือจุติ คือขณะที่จิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่พ้น เมื่อยังไม่พ้นเราก็ศึกษาเรื่องของสิ่งที่มีในขณะนี้ ปฏิสนธิจิตเข้าใจแล้ว จุติจิตก็เข้าใจแล้ว แล้วก็จิตระหว่างที่ยังไม่จุติ ขณะนี้ก็มีอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่เราได้ฟังมาทั้งหมด เราทราบความต่างกันของจิตที่เป็นภวังค์ ไม่รู้อารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับจิตซึ่งรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เรื่องนี้คงไม่ลืมแล้วใช่ไหม สัญญาจำได้มั่นคง แล้วก็รู้ว่าขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน ภวังคจิตหรือไม่ใช่ภวังคจิต ขณะเห็นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะได้ยินไม่ใช่ ขณะได้กลิ่นก็ไม่ใช่

    ฉะนั้นเรากำลังพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นจิต เมื่อบอกว่าไม่ใช่ภวังคจิต ก็เพราะว่าจิตนี้ไม่ได้ทำกิจภวังค์ แต่จิตนี้ทำกิจอื่นต่างๆ กันไป เช่น จิตเห็นทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น ไม่มีใครบังคับให้จิตนี้เกิดได้ แต่กรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เมื่อกรรมให้ผลจะให้ผลเป็น ๒ ประเภท คือให้ผลที่ว่าไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เป็นอเหตุกจิต ฉะนั้นวันหนึ่งๆ เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เราเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นจิตประเภทใด แต่เมื่อฟังแล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพียงแค่เห็นยังไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดที่เป็นเหตุ แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตเห็นต้องมีเจตสิกอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่ได้เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุจึงใช้คำว่า อเหตุกะ เพราะฉะนั้นเพิ่มคำแล้วใช่ไหม "เห็น" เป็นจิตประเภทไหน อเหตุกะ คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย "ได้ยิน" ก็เช่นเดียวกัน "ได้กลิ่น" ก็เช่นเดียวกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ