พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92


    ตอนที่ ๙๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าบางคนไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วยได้ก็จริง แต่อย่างน้อยเมื่อรูปเกิดขึ้นแล้วต้องมีรูป ๘ รูป ซึ่งเกิดจากสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน ต่อไปก็จะมีรูปเพิ่มขึ้น เมื่อรู้ว่ารูปนั้นเกิดจากสมุฏฐานอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าถามว่าเข้าใจชัดเจน หรือยัง ยังไม่ชัดทีเดียว แต่ถ้าสมมติท่านอาจารย์บอกว่าจะชัดได้คือ ยังไม่ถึงเวลาที่จะเรียนเรื่องนี้ในเวลานี้ก็คงจะรับได้

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังจริงๆ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะไปต่อได้ ไปได้ยินเรื่องนี้ที่อื่นอีกก็ต่ออีก ขยายอีกละเอียดอีกได้ แต่ต้องมีพื้นคือความเข้าใจของเราเองจริงๆ ที่ไม่สับสนด้วย กลุ่มของรูปที่มีรูปเกินกว่า ๘ รูปมีไหม ลองคิดเองก็ได้ เช่น ขณะนี้ที่กำลังเห็นต้องมีจักขุปสาทรูป ถ้ามีจักขุปสาทรูปต้องมี ๘ รูปนั้นด้วย ๘ รูปนี้เป็นพื้น จะขาดไม่ได้เลย และจะมีรูปอื่นเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ถามว่ารูปที่มีมากกว่า ๘ รูปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดมี ๒๘

    ผู้ฟัง ความรู้อาจจะยังไม่ถึงขั้น แต่คิดว่าโดยหลักธรรมบอกว่ารูปมีทั้งหมด ๒๘ รูป ก็น่าจะมีรูปที่มากกว่า ๘ รูปได้

    ท่านอาจารย์ ในกลุ่มหนึ่งๆ เพราะว่ารูปจะเกิดรวมกันแยกกันไม่ได้ แล้วแต่ว่ากลุ่มนั้นจะมี ๘ รูป หรือ ๙ รูป หรือ ๑๐ รูป หรือ ๑๑ รูป หรือ ๑๒ รูป หรือ ๑๓ รูป แล้วแต่สมุฏฐานด้วย

    ผู้ฟัง คนที่สั่งสมมาไม่ดี โอกาสที่เขาจะกลับมาเป็นคนดีก็ดูเหมือนจะไม่มีเอาเสียเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีโอกาสได้ฟัง ได้สะสมเหตุใหม่

    ผู้ฟัง แต่อาจารย์พูดว่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ หรือ

    ท่านอาจารย์ เราไม่มีกุศลเลย หรือ หรือเรามีแต่อกุศลทั้งวัน

    ผู้ฟัง มีบ้าง

    ท่านอาจารย์ แสดงว่ามีการสะสมมา เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะสะสมเพิ่มขึ้นได้ อกุศลสะสมเพิ่มขึ้น กุศลก็สะสมเพิ่มขึ้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัย เช่น การฟังกับการไม่ได้ฟังก็ต่างกันใช่ไหม ขณะที่ไม่ได้ฟังก็ไม่มีความเข้าใจเหมือนขณะที่กำลังฟัง และยิ่งฟังต่อไปก็ยิ่งเข้าใจขึ้น นั่นคือการสะสม

    ผู้ฟัง เคยได้ยินทางวิทยุอาจารย์บอกว่าคนที่จะมาฟังได้จะต้องมีปัญญาในระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน มากน้อยไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะว่าคนที่ไม่ฟังก็ยังมี เพราะฉะนั้นคนที่ฟังก็ต้องมีบุญที่ได้สะสมมาแล้วในปางก่อน

    ผู้ฟัง ถ้าเราเอามาผสมผสานกับการที่อาจารย์ได้พูดว่าชวนะเป็นอย่างไรอยู่ที่การสั่งสม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังสั่งสมความเข้าใจธรรม หลายท่านที่ได้สั่งสมมาแล้วหลายปี เขาก็รู้เลยว่าปกติของเขาอกุศลจิตจะเกิด แต่จากการฟัง การเข้าใจธรรม กุศลจิตก็เกิด หลายคนก็บอกอย่างนี้

    ผู้ฟัง คือมองดูก็ไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มนี้

    ท่านอาจารย์ ทุกกลุ่มตามการสะสมจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ที่เราจะรู้ได้ว่าวันหนึ่งๆ จะมีอะไรเกิดบ้างก็ตามการสะสม

    ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎกเคยกล่าวถึงบุคคลที่มองดูแล้วไม่มีทางเอาเสียเลย แล้วสุดท้ายบรรลุได้ มีไหม

    ท่านอาจารย์ ใครมอง เรามอง หรือผู้มีปัญญามอง

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าสามารถที่จะรู้ได้ถึงการสะสมของแต่ละบุคคล พระปัญญาของพระองค์อย่าคิดที่จะประมาณ ปัญญาของเราแค่นี้จะไปรู้ถึงปัญญาของพระองค์ระดับไหนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ทรงสามารถที่จะรู้อดีตชาติ อดีตกรรม แม้คำที่ได้เคยพูดแล้วด้วย มิฉะนั้นก็จะไม่มีการระลึกชาติต่างๆ หรือคำต่างๆ ที่กล่าวในชาติต่างๆ ได้ คงไม่ใช้เราเป็นเครื่องตัดสิน แต่ด้วยความเข้าใจสิ่งที่มีว่าจากการที่ไม่เคยเข้าใจเลยแล้วเข้าใจขึ้น มีการสะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการสะสมความเข้าใจนี่ก็จะปรุงแต่งไปในทางที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นได้ จะน้อย จะมาก จะช้า จะเร็วเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงความเป็นอนัตตาจริงๆ

    ผู้ฟัง อยากจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบเรื่องจิตก็จะทราบว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีสภาพธรรมปรุงแต่งไม่ได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจะไม่เกิดเพียงลำพัง แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เจตสิกก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เราอาจจะไม่คุ้นกับคำว่าเจตสิกเลยถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่จะได้ยินคำว่า “จิต” และก็คำว่า “ใจ” แต่เจตสิกในชีวิตประจำวันไม่ได้ยิน แต่ได้ยินคำว่า “โกรธ” ได้ยินคำว่า “สุข” ความรู้สึกที่เป็นสุข หรือได้ยินคำว่า เจ็บ ปวด เมื่อย ทั้งหมดนี้คือเจตสิก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็จะไม่เกิดกับสภาพธรรมอื่นเลยนอกจากเกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น ก็จะมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดกับจิต เกิดในจิตก็ได้ หรืออาศัยจิตก็ได้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจิตต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น และเจตสิกก็อาศัยจิตเกิดขึ้น ทั้งสองอย่างจะปราศจากกันไม่ได้เลย แต่การที่จิตในวันหนึ่งๆ หลากหลายก็เพราะเหตุว่าจิตบางขณะมีเจตสิกประเภทนี้เกิดร่วมด้วย และจิตบางขณะก็มีเจตสิกประเภทอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น ในขณะที่โกรธ มีความขุ่นเคืองใจ จะมีเจตสิกซึ่งรู้สึกเพลิดเพลินยินดีในขณะนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าตามความเป็นจริงชีวิตซึ่งเราคิดว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือจิต และเจตสิกแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิต และเจตสิกนั้นๆ นี่คือเราคิดว่าเราทำ แต่ความจริงไม่มีเราเลย เช่น ขณะที่กำลังเห็นเราคิดว่าเราเห็น แต่เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นต้องเห็น ถ้านอนหลับสนิทขณะนั้นไม่เห็น แต่ว่าเราก็นอนหลับสนิทตลอดเวลาไม่ได้ ก็ต้องมีกาลเวลาที่ตื่นขึ้น และเห็น และก็เลือกเห็นไม่ได้ด้วย ต้องเป็นไปตามกรรมว่าจะเห็นอะไรสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ แต่ขณะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงจิตใดขณะไหน ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย พอจะเข้าใจลักษณะของเจตสิกใช่ไหม

    ความต่างของจิตกับเจตสิกก็คือ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ในขณะนี้ เช่น เห็น จะเห็นโต๊ะ เก้าอี้เป็นรูปนั้น เห็นแบบนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นลักษณะที่เห็นมีจริงๆ เป็นสภาพที่สามารถจะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร ไม่เปลี่ยนเลย จะเปลี่ยนเป็นไปเห็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าเราหันหน้าไปอีกทาง สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หันซ้าย หันขวา สิ่งที่ปรากฏก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏจะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อมีจิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏได้ต่อเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าจิตเห็นไม่เกิดสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะเกิดไม่ได้เลย ฉะนั้นในขณะนี้ความต่างของจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ก็คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตไม่ใช่ปัญญา จิตเพียงแต่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีเรียกสิ่งที่ถูกจิตรู้ว่า "อารัมมณะ" หรือ "อาลัมพนะ" แต่ภาษาไทยเราใช้คำนี้ตัดสั้นๆ เป็นอารมณ์ และความหมายก็ไม่ได้มาจากความเข้าใจธรรม เพียงแต่นำคำนั้นมาใช้ ถ้าเป็นความเข้าใจธรรมก็จะเข้าใจได้ว่าขณะใดก็ตามที่พูดถึงคำว่า อารมณ์ หมายความว่าเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น เช่น เสียงกำลังปรากฏเพราะจิตกำลังได้ยินเสียงนั้น

    เพราะฉะนั้นจิตได้ยินมีอารมณ์คือเสียงที่กำลังปรากฏ แล้วจิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งเฉพาะลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เช่นเสียงในขณะนี้เป็นอย่างนี้ อีกเสียงหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงใดๆ ทั้งสิ้น จิตสามารถจะรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น ในขณะที่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ ของเจตสิกประเภทนั้นๆ

    เช่น เวทนา ในภาษาไทย อาจจะคิดว่าน่าสงสารมาก น่าเวทนา แต่ความจริงเวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึก เมื่อจิตเกิด จิตรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์นั้น ความรู้สึกมี ๕ อย่าง รู้สึกเฉยๆ อันนี้ยากที่จะรู้ ขณะนี้มีไหม มี ก็ยังไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างไร ถามก็ตอบได้ว่าเฉยๆ แต่ที่จะให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่รู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่เรา ก็ยังรู้ไม่ได้ จนกว่าปัญญาจะละเอียดขึ้น สมบูรณ์ขึ้น และรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้นสำหรับเวทนาความรู้สึกมี ๕ อย่าง คือความรู้สึกเฉยๆ ๑ ขณะที่กำลังเห็น เฉพาะขณะเห็น รู้สึกอย่างไร ยังไม่เห็นว่าเป็นอะไร เพียงแต่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอะไร เฉยๆ ภาษาบาลีใช้คำว่า “อุเปกขา” อุเปกขาเวทนาเกิดร่วมกับจิตเห็น เวลาที่ได้ยิน ชั่วขณะที่ได้ยิน เสียงอะไรก็ได้ ถ้าเป็นเสียงดังมาก แล้วได้ยิน ขณะนั้นเวทนาที่เกิดกับจิตได้ยินเสียงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นโทมนัส

    ท่านอาจารย์ นั่นผิดแล้ว เห็นไหม นี่คือเราไม่ได้เรียนที่จะรู้ความละเอียดว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วแสนเร็วแค่ไหน เราก็ปนกันหมดเลย ซึ่งความจริงไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม ขณะที่จิตได้ยินเสียง ความรู้สึกที่มีเสียงนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา แต่หลังจากนั้นอย่างรวดเร็วก็ตกใจในเสียงที่ปรากฏ แสดงว่าเสียงนั้นก็ยังไม่ได้ดับไป แต่ว่าชั่วขณะที่จิตได้ยิน ๑ ขณะนั้น ความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วยเป็นความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา นี่คือผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะฉะนั้นคนอื่นก็จะตอบว่าขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่สบายเพราะว่าเสียงนั้นดังมาก แต่ความจริงขณะนั้นเป็นจิตที่เกิดสืบต่อจากจิตได้ยินโดยที่เสียงนั้นยังไม่ดับ เราฟังเหมือนเสียงขณะนี้เกิดแล้วดับเร็วมาก แต่ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าเร็วยิ่งกว่านั้น เพราะจิตเกิดดับไม่ถึง ๑๗ ขณะที่ปรากฏเสียงดับ แต่ถ้าจะนับจริงๆ ตั้งแต่จิตเกิด และก็เสียงนั้นกระทบ เสียง และสภาวรูปทั้งหมดจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วเร็วแค่ไหน เพราะเหตุว่าขณะที่เหมือนเห็นด้วย ได้ยินด้วย แยกไม่ออกเลยว่า ขณะไหนเป็นเห็น ขณะไหนเป็นได้ยิน แต่จิตเกิดดับระหว่างนั้นเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิตแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานก็ยังไม่ต้องกล่าวถึงแน่นอน เพราะว่าถ้ายังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่เรา ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องพระนิพพานเลย

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ให้ทราบว่าเวทนาเจตสิกที่เกิดกับจิต จากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครจะเข้าใจว่า ขณะที่ได้ยินเสียงดังๆ แล้วก็ความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้น ต้องรู้ว่าต่างขณะกัน ขณะที่เพียงได้ยินเสียงเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ จะมีจิตเกิดมีอารมณ์ปรากฏเพราะจิตกำลังรู้อารมณ์นั้นแต่ไม่มีเวทนาเจตสิกไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าเราจะรู้ หรือไม่รู้ว่าเป็นเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต และก็ดับไปพร้อมจิตซึ่งไม่ใช่เรา

    เวทนามี ๕ อย่าง คือ อุเบกขาเวทนา ๑ สุขเวทนา ๑ (ทางกาย) และก็ทุกขเวทนา ๑ (ทางกาย) มีใครไม่รู้จักทุกขเวทนาบ้างไหม เมื่อยไหม เวทนา คือ ความรู้สึก "ทุกขะ" ความรู้สึกไม่สบายทางกาย ถ้าพูดภาษาบาลีบอกว่าทุกขเวทนาอาจจะบอกว่าไม่เคยมีทุกข์ก็ได้ใช่ไหม แต่ความจริงถ้ามีกายแล้วที่จะไม่มีทุกข์ หรือสุขขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบกายเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวว่าเมื่อมีรูปคือกายตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า มีใครไม่เป็นทุกข์ หรือไม่รู้จักความรู้สึกซึ่งเจ็บปวด เมื่อย คัน แล้วแต่อะไรก็ได้ซึ่งเป็นความไม่สบายทางกายที่ปรากฏ มีไหมตั้งแต่เกิดมา มีทุกขเวทนาไหม ตอนนี้มีแล้ว แต่ตอนที่เริ่มฟังไม่เข้าใจก็คงจะคิดอย่างนั้นว่าถ้าไม่มีทุกข์ก็คงจะไม่ใช่ทุกขเวทนา แต่ความจริงถ้าใช้คำว่าทุกขเวทนา ถ้าแยกโดยเจาะจงทางกายกับทางใจ ทุกขเวทนา หมายถึง เฉพาะความรู้สึกไม่สบายทางกายเท่านั้น แต่ถ้าไม่เจาะจงทุกข์ทั้งหมดก็รวมทั้งทางใจด้วยก็เป็นทุกข์ รู้จักไหมทุกขเวทนาทางใจ ความรู้สึกไม่สบายใจรู้จักไหม เป็นเรา หรือไม่ สำหรับทางกายก็จะมีเวทนาเพียง ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ๑ หรือ ทุกขเวทนา ๑ เราจะปนเปอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของความไม่รู้

    เป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร ในเมื่อปรมัตถธรรมสภาพธรรมที่มีจริงโดยประเภทแล้วมี ๔ แต่หลากหลายโดยเฉพาะจิต เจตสิก รูป ต่างๆ กันไป ในตอนนี้เราไม่กล่าวถึงนิพพานเลย เพราะจะกล่าวถึงเพียงเฉพาะจิต เจตสิก รูป ความรู้สึกเจ็บ หรือทุกข์ทางกาย เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นจิต หรือว่าเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นรูป

    ผู้ฟัง เป็นความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึก เป็นปรมัตถธรรมอะไร ให้คุ้นหูว่าปรมัตถธรรมคือธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นปรมัตถ์ อรรถ คือ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะนั้นเป็นอย่างอื่นได้เลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเปลี่ยนความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นให้เป็นทุกข์ก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนเห็นในขณะนี้ให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นความรู้สึกเป็นปรมัตถธรรมอะไร มีทางให้เลือก ๓ คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป (ความรู้สึกปวด)

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่แสดงว่าเราต้องแยกลักษณะของจิต และเจตสิก จิตไม่ปวด ไม่เจ็บ ไม่รู้สึกอะไร แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อาจจะเป็นคำใหม่ที่ยาวเป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น มองก็ไม่เห็นแต่มี เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ไม่ว่าอะไรจะปรากฏตั้งแต่เช้ามาจนถึงขณะนี้เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตมีหน้าที่อย่างเดียว คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะนี้ไม่ใช่หน้าที่ หรือลักษณะของสภาพธรรมอื่นเลยนอกจากจิตปรมัตถ์ กำลังเห็น ถามว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือถ้าคิดอีกนัยหนึ่ง เมื่อไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก แล้วจะเหลืออะไร ใช่ไหม ที่บอกว่ารูป เดา หรือว่าคิด หรือว่าพิจารณาโดยฟังเหตุผลว่าไม่มีอื่นอีกแล้วเหลืออย่างเดียว

    ผู้ฟัง เดา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วเราได้ยินคำว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป แต่เราเคยชินกับรูปที่เป็นเก้าอี้ รูปที่เป็นต้นไม้ รูปที่เป็นอาหาร เป็นนก เป็นปลา เราเคยชินกับรูปอย่างนั้น แต่เราไม่เคยที่จะรู้เลยว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย จะให้ไปปรากฏทางหู จะให้ไปปรากฏทางกายก็ไม่ได้ สิ่งนี้สามารถจะปรากฏได้ทางเดียวคือทางตา แต่ด้วยความไม่รู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เกิดดับ หรือไม่ ต้องเกิดดับ แต่ไม่รู้เพราะว่าเกิดดับเร็วจนกระทั่งเหมือนไม่ดับเลย เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เห็น รูปร่างสัณฐานอย่างนี้เพราะความทรงจำจากขณะที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วก็ทรงจำในรูปร่างสัณฐานก็คิดเป็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่าเที่ยง เช่น เป็นคนซึ่งไม่ดับเลย เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอะไรทั้งหมดซึ่งไม่ดับเลย นั่นคือผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมซึ่งปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความไม่รู้ไม่ใช่เฉพาะชาติเดียว กี่ชาติมาแล้วที่ไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟัง และการฟังก็คงจะไม่ได้ฟังเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว คงจะได้เคยฟังมาแล้วบ้างในอดีต แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการฟังของแต่ละท่านมากพอที่ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏเมื่อไหร่ เมื่อนั้นคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามลำดับ คือ ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจคือนิพพาน และหนทางคือมรรคอริยสัจ นี่กล่าวย่อๆ ในภาษาไทยไม่ได้กล่าวเต็มตามภาษาบาลี แต่ก็ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วกว่าจะรู้ กว่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริง และไม่ใช่สัตว์ บุคคลเลย เป็นเพียงชั่วขณะจิตเห็นเกิด จะเป็นเราได้อย่างไรเพราะจิตเห็นก็ดับ รูปก็ดับด้วย แต่ก็ต้องค่อยๆ ศึกษาไปให้เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นก็พอที่จะทราบลักษณะของจิตซึ่งต่างกับเจตสิกว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ส่วนเจตสิกที่เกิดกับจิตก็แล้วแต่ว่าเจตสิกนั้นเป็นเจตสิกอะไร เช่น เจตสิกชนิดหนึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ เรามีความรู้สึกทั้งวัน แต่ไม่เคยรู้เลย เห็นก็มีความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้าเป็นจิตเห็นขณะนี้ความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอุเบกขาเวทนา เป็นความรู้สึกเฉยๆ เพราะยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร จะรัก จะชัง จะชอบ จะโกรธก็ไม่ได้ทั้งสิ้นเพราะว่าเพียงเห็นแล้วก็ดับ แล้วก็เร็วมาก เร็วเหมือนฟ้าแลบ เพียงเห็นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็นจึงเป็นอุเบกขาเวทนา เวทนาที่เกิดกับจิตได้ยินก็เช่นเดียวกัน อุเบกขาเวทนา เวทนาที่เกิดกับจิตขณะที่กลิ่นเหม็นปรากฏ เวทนาที่เกิดกับจิตที่ได้กลิ่นเป็นอะไร อุเบกขาเวทนา ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรสไม่ว่าจะเป็นรสอะไรทั้งสิ้น จิตที่ลิ้มรสเพียงลิ้มรสแล้วก็ดับ รสนั้นก็ดับด้วยมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จิตลิ้มรส ก็มีความรู้สึกเป็นอุเบกขาเวทนา สำหรับทางกายทางเท่านั้นซึ่งเมื่อกระทบสัมผัสแล้วจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกสบาย หรือว่าทุกขเวทนาซึ่งไม่สบาย ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นว่าความจริงเป็นเช่นนี้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ