พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114


    ตอนที่ ๑๑๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่เป็นภวังคจิตก็คือขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ถ้ากำลังหลับก็คือไม่ได้ฝัน ขณะนั้นคือ ภวังคจิต เพราะฉะนั้นถ้าฝัน มีใครรู้บ้างไหม ที่เขานอนหลับเป็นภวังค์ไปตลอดหรือว่าเขาฝัน ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่การศึกษาทำให้รู้ความต่างกันว่าขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิตเพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่จะรู้อารมณ์อื่นนอกไปจากอารมณ์ของปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอารมณ์ของภวังค์นั่นเอง คือ อารมณ์นั้นไม่ปรากฏ คนที่นอนหลับสนิท อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏเลย ชื่ออะไรของตัวเองก็ไม่รู้จัก มีญาติพี่น้องกี่คนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้เลยทั้งสิ้น นี่คือความจริงที่ว่าวันนี้เราเห็นตั้งหลายคน เรามีสุขมีทุกข์กับคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง แต่พอถึงเวลาหลับสนิทไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรเลย นี่ก็เป็นความจริง แสดงให้เห็นว่า แม้ยังไม่ตาย แต่วันหนึ่งๆ ก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดว่ามีอยู่ แท้ที่จริงหามีไม่ ในขณะที่หลับสนิท นี่คือการเปรียบเทียบ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ผู้ที่มีปัญญาสามารถรู้แจ้งก็รู้ว่าดับอยู่ทุกขณะ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ และสิ่งที่ดับไปแล้วก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีการไปเดาว่าเขาคิดอะไรหรือไม่ เขาสุขหรือทุกข์ทางกายหรือไม่ เพียงแต่ว่าเราสามารถจะศึกษาเรื่องจิต และจิตขณะนั้นเป็นอย่างไรก็คือเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้จากจิตของเรา ทันทีที่ตื่นก็คนนี้อีกแล้วใช่ไหม บ้านนี้อีกแล้ว คนในบ้านนี้อีกแล้ว แต่ว่าตอนหลับ ไปไหนหมดไม่มีสักคนเดียว นี่ก็คือจริงๆ แล้วทุกคนอยู่ในโลกคนเดียว แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่าไม่ใช่คนด้วย เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป รู้แล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เราอบรมเจริญปัญญาฟังพุทธศาสนามามาก ทำไมยังต้องเกิดอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ยังมีเหตุปัจจัยที่ยังไม่ได้ดับ ผู้ที่จะดับกิเลสต้องเป็นพระอริยบุคคล พระโสดาบันบุคคลดับความเห็นผิดคือความไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดใดๆ เกิดอีกเลย แต่ยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพียงแต่ว่าไม่ได้ยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยง ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าได้อบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่พระอริยบุคคล อย่าไปสงสัยว่าทำไมยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะว่าความรู้ขั้นฟังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง ฉะนั้นเราก็อาจจะต้องมีการสะสมสิ่งที่ไม่ดีไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรายังไม่ถึงจุดที่จะรู้แจ้งได้จริงๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะออกจากกรงของกิเลส และสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย เพราะว่ามีความไม่รู้เสมอเรื่อยๆ บ่อยๆ และก็มีกิเลสนานาชนิดเกิดสะสมไปเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็ลองเทียบดู ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ว่าทุกอย่างเพียงปรากฏแล้วหมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา สิ่งที่เห็นขณะนี้ หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส จิตทุกขณะเกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย ไม่เหลืออะไรเลยจริงๆ จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ไม่มีอะไรนอกจากเพิ่มเติมอกุศล และความไม่รู้ กับการที่เห็นประโยชน์จากการที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเอาอะไรมาแลกยอมไหม ให้กลับไม่รู้อย่างเดิม ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย ก็คงไม่มีใครคิดว่าจะยอมแลกกับสิ่งนั้น เพราะว่าสิ่งนั้นก็คือสิ่งซึ่งเกิดดับ และไม่สามารถที่จะเป็นของเราหรือเป็นเราได้ เพราะว่าแม้เราก็ไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” ธรรมคือสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้จึงเป็นปรมัตถธรรมแต่ละอย่างแต่ละลักษณะ ซึ่งจิตก็เป็นจิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป เจตสิกก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป รูปก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ในแต่ละภพแต่ละชาติ

    ในบ้านก็คงมีสัตว์เลี้ยง นิสัยต่างกันไหม แม้เป็นสัตว์เดรัจฉานปฏิสนธิด้วยอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม แต่การสะสมก็ทำให้อุปนิสัยต่างกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า เวลาเกิดอกุศลจิตมาจากภวังค์ คือ มารดาไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปฏิสนธิ ไม่มีภวังค์ จะมีอกุศลจิตเกิดมาได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นกุศลจิตก็แสดงว่า

    ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง มารดาดีหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สะสมมา ภวังคจิตดี เพราะว่าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลกรรม และก็การสะสมก็สะสมสิ่งที่ดี สะสมความเมตตาใครๆ เขาอาจจะกลัว อาจจะโกรธ แต่ผู้ที่สะสมความเมตตาก็พร้อมที่จะเป็นมิตร เป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูลทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง แต่ก็สลับกัน เพราะว่าบางครั้งก็เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ส่วนใหญ่เป็นดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    คุณอุไรวรรณ วันนี้ขอเริ่มศึกษาใหม่ เรื่องจิตที่เป็นวิถี และจิตที่ไม่ใช่วิถี ขอท่านอาจารย์เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะดับไป ไม่มีการที่จะเกิดขึ้นของจิตนี้อีกเลยในชาตินี้ ต่อจากนั้นก็จะต้องเป็นภวังค์จิตดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้จนถึงกาละที่จะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ อยากจะจากหรือไม่อยากจะจากก็เป็นไปไม่ได้เลยเมื่อถึงเวลาที่กรรมจะให้ผลทำให้จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้เกิดก็ต้องเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะขอร้อง ซื้อ ยื้อแย่งอะไร อุธรณ์ฎีกาอะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นไปตามกรรม แต่ระหว่างที่จิตนั้นยังไม่เกิด ชีวิตก็ดำเนินไปตามการสะสมของจิตของแต่ละคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่างกันมาก วิถีชีวิตของแต่ละคน ไม่เหมือนกันเลย แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่การสะสมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็ทำให้จิตที่เกิดหลังจากที่มีการเห็น การได้ยิน เหล่านี้ แตกต่างกันไป การศึกษาธรรมก็คือ ต้องทราบว่าเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ และก็กำลังปรากฏกับจิตหนึ่งขณะ ทีละหนึ่งขณะ ซึ่งก็คือโลกแต่ละทาง ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น ถ้าจิตนั้นไม่เกิด อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เมื่อจิตเกิดเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก สำหรับลิ้นขณะใดที่ลิ้มรส ขณะนั้นก็เป็นจิตนั่นเอง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงกามาวจรจิต คือจิตที่เป็นขั้นต้น ขั้นต่ำสุด คือ เป็นขั้นที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะว่าจิตจะต่างกันโดยระดับขั้น จิตขั้นต่ำก็คือจิตที่วนเวียนไปในกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หนีไม่พ้นเลย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในมนุษภูมิซึ่งเป็นสุขติภูมิ ในเทวภูมิคือสวรรค์ ๖ ชั้น ซึ่งเป็นสุขติภูมิ และในอบายภูมิ ๔ ภูมิ ก็เป็นภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าจะมีกุศลใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่จากโลกนี้ไป และก็ยังอยู่ในกามภูมิ ยุคนี้สมัยนี้ก็คงจะเป็นกุศลระดับขั้นเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ ยังเป็นกามาวจรจิต หมายความถึงจิตที่วนเวียนไปในกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    คำว่า "กาม" ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ก็เป็นกามชนิดหนึ่ง เป็นที่น่ายินดีของผู้ที่ไม่รู้ความจริง วันนี้เห็น มีสิ่งที่น่ายินดีมากมาย และถ้ารู้ว่าก่อนเห็นเป็นภวังค์ต้องดำรงภพชาติอยู่ แล้วหลังจากที่ภวังค์หมดแล้วก็จะเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด เช่น กำลังเห็น แต่ไม่ได้รู้เลยว่าเมื่อเห็นแล้วเป็นอกุศลหรือเป็นกุศล เพียงแค่อายุของรูปซึ่งมีอายุเพียงแค่การเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ แต่เมื่ออกุศลเกิดแล้วดับไปแล้วก็จริง รูปดับไปแล้ว แต่สะสมอกุศลสืบต่อในทุกวาระที่มีการเห็นทางตา การได้ยินเสียงทางหู การได้กลิ่นทางจมูก การลิ้มรสทางลิ้น การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมเป็นผู้ที่ตรงว่าเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศลมากเหลือเกิน ก็จะรู้ว่ามีหนทางเดียวซึ่งเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ขณะที่เริ่มเข้าใจทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง ก็จะรู้ได้ว่าอกุศลเกิดบ่อยกว่า มากกว่า เพราะฉะนั้น จึงต้องสะสมกุศลในชาตินี้ คงจะต้องไม่ไปคิดถึงว่าสามารถที่จะดับอกุศลทั้งหมดที่สะสมมาตลอดชาตินี้ และชาติก่อนๆ ให้หมดสิ้น หรือให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่รู้อะไรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าปัญญาที่จะถึงระดับขั้นนั้นก็ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น และผู้นั้นก็เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่าได้มีการฟังพระธรรมจนกระทั่งมีความเข้าใจในสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียวมากน้อยแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าที่จะสนทนาในวันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องของอกุศลจิตเพราะเหตุว่าเกิดมากเหลือเกิน สำหรับอกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ ประเภท เป็นโทสมูลิจิต ๒ และเป็นโมหมูลจิต ๒ ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมให้เข้าใจว่าศึกษาสิ่งที่มีที่เป็นชีวิตประจำวัน และก็ให้มีความเข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นจิตแต่ละประเภท และก็เป็นรูปแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง ก่อนจะไปถึงอกุศลจิต ขอเรียนถามว่า หลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ท่านใช้ชื่อว่าปฐมภวังค์ กรุณาอธิบายว่าปฐมภวังค์จะเนื่องกับปฏิสนธิจิตเมื่อเวลาที่ตาเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ฟังวิทยุคงจะได้ยินคำว่า “ปฐมภวังค์” และ “ทุติยจิต” และ “จิตขณะสุดท้าย” แสดงให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวง แต่ว่าสามารถที่จะย่อเพียงเท่านี้คือไม่กล่าวมากเลย กล่าวถึงขณะที่กำลังเป็นภวังค์ ปฏิสนธิคงไม่ต้องกล่าวเพราะเหตุว่าเป็นขณะจิตเดียวในชาติหนึ่ง แต่ระหว่างที่เป็นภวังค์ไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นเลย และจากนั้นก็รู้ทางหนึ่งทางใดแล้วก็เป็นภวังค์อีก ก็เท่านี้เอง จะรู้อะไรจะเห็นอะไร เมื่อไหร่ วันไหน เป็นสิ่งที่ประณีตไม่ประณีตอย่างไรก็หมด เพราะฉะนั้นก็จะมีแต่เพียงปฐมจิต และก็ทุติยจิต หมายความถึงวิถีจิต จิตที่เป็นวิถีกับจิตที่ไม่ใช่วิถี ตลอดทั้งชาติจนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้ายคือปัจฉิมจิตจริงๆ คือจุติจิตของพระอรหันต์ แสดงให้เห็นถึงความไม่มีสาระ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะของภวังคจิตซึ่งอารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ และเราก็รู้ขณะที่นอนหลับสนิท อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นมีอะไรปรากฏเลย แล้วเมื่อมีอารมณ์ปรากฏ ก็เท่านั้นเองอีก เพราะว่าปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็เป็นภวังค์ต่อไป กี่ภพกี่ชาติก็คือแบบนี้

    เพราะฉะนั้น ก็ทรงย่อเพื่อจะแสดงให้เห็นความไม่เป็นสาระ ไม่มีสาระของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ว่าจะเกิดในภพไหนชาติไหนก็คือต้องเป็นแบบนี้

    และสำหรับการที่เราสะสมความติดข้องมากทำให้มีนายช่างผู้สร้างเรือน คือสังสารวัฏฏ์ไม่สิ้นสุดเลย คืนนี้ก่อนหลับเคยสังเกตไหมว่าจิตนี้เป็นอะไร กุศลหรืออกุศล จะมีใครที่ก่อนหลับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วหลับ นั่นคือหลับมีสติเพราะเหตุว่าก่อนหลับมีสติ แต่ว่าปกติก็จะมีเรื่องจากการเห็น การได้ยิน ทั้งๆ ที่เรื่องราวนั้นหมดไปแล้วก็จริง แต่ก่อนหลับเรื่องนั้นไม่หมด ก็ยังมีเรื่องนั้นคิดนึก เรื่องอะไรก็ตาม แต่ให้ทราบว่าแต่ละคนก็มีแต่ละเรื่องที่มีความติดข้องในสิ่งที่กำลังคิด ถ้าขณะนั้นไม่เป็นกุศล

    วันหนึ่งๆ ก่อนหลับจิตของเรา ทุกคืนจะเป็นกุศลมากหรืออกุศลมาก ส่วนใหญ่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อตื่น ก็อกุศล เพราะว่าสืบต่อมา จนกระทั่งถึงขณะสุดท้ายจากโลกนี้ไปแล้ว เมื่อถึงโลกใหม่เกิดใหม่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นใครขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด และเมื่อปฏิสนธิจิตดับเป็นภวังค์สืบต่อก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใครอีก จะเกิดเป็นอรูปพรหม รูปพรหม เกิดบนสวรรค์ชั้นไหน เกิดในนรกหรือว่าเป็นเปรต เป็นอสูรกาย ไม่รู้เลย แต่นั่นคือ ปฐมจิตระหว่างที่เป็นภวังค์ แล้วก็มีวิถีจิตเกิดขึ้นทางใจเป็นวาระแรกของทุกภพชาติโดยที่ว่าวิถีจิตทางใจ คือขณะแรกที่รู้สึกตัวทางใจ ก็มีความติดข้องในความเป็นเราที่มีอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นภพไหน ภูมิไหนทั้งสิ้น วิถีจิตแรกวาระแรกเป็นโลภมูลจิต เราจะไม่กล่าวละเอียดจนถึงจะต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน แล้วต่อจากนั้นก็เป็นอกุศลจิต เป็นโลภมูลจิต เพราะว่าเราได้ศึกษามาแล้ว ได้ฟังมาแล้วเรื่องของวิถีจิตตั้งแต่หลังจากที่ภวังคจิตขณะสุดท้าย คือภวังคุปัจเฉทจิตดับ จิตอะไรเกิดต่อโดยปัจจัยต่างๆ แต่นี่คือปฐมจิตภวังค์ ทุติยจิตรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดแล้วก็ถึงปัจฉิมจิต

    น่าเบื่อหรือยัง ยัง ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเพียงฟัง แต่ว่าขณะนี้แม้สภาพธรรมกำลังเกิดดับก็ไม่ปรากฏเหมือนคนที่ยิงลูกศรไปในความมืด ลูกศรไปแล้วในความมืด เหมือนกับสภาพธรรมตอนนี้เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ แต่ในความมืดของอวิชชาก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมของแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าการฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่จะละความติดข้อง ไม่ใช่มีความเป็นเราที่จะต้องการ แต่ว่าจะต้องเป็นความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรมที่สะสมสืบต่อมานาน แล้วก็ฝ่ายที่เป็นอกุศลก็มีมาก ถ้าปัญญาไม่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรม ก็จะไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ และธรรมก็มีปรากฏอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรามีความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏระดับไหน ก็เป็นผู้ที่ตรง

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ถามว่าเราเบื่อหรือยัง ซึ่งท่านแสดงถึงปฐมจิต ทุติยจิต คือ ถ้าไม่ใช่ภวังคจิตแล้วก็เป็นวิถีจิตที่จะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด แต่ที่เรายังไม่เบื่อเพราะเรายังติดข้องในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เรายังมีความต้องการจะเห็น ต้องการที่จะได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือว่าบางคนอาจจะเห็นโทษของโทสะก่อน ส่วนโลภะนี่คงจะเห็นยาก แต่ไม่เห็นโทษของการที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตน นี่สำคัญที่สุด จึงต้องละก่อนด้วยความรู้จริงๆ ว่าเมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร ก็เป็นสภาพธรรมอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้จนกว่าจะชินกับความเป็นธรรม มิฉะนั้นก็เหมือนลูกศรที่ยิงไปในความมืด

    ผู้ฟัง ปัจฉิมจิต ถ้าเราเป็นปุถุชนจะไม่มีเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตขณะสุดท้ายของภพชาติ คือ จุติจิตของพระอรหันต์ ต้องเป็นภพชาติของพระอรหันต์ด้วย ส่วนเราต้องเกิดอีกก็ต้องมีปฐมจิต ทุติยจิตไปเรื่อยๆ ทุกภพชาติคือต้องมีจิตที่เป็นภวังค์กับจิตที่ไม่ใช่ภวังค์ก็เท่านั้นเอง ปฐมจิต คือ ภวังคจิต ทุติยจิต คือ วิถีจิต

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ได้ยินคำว่า “ปฐมภวังค์” อีกคำหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดสืบต่อจากปฎิสนธิจิต

    ผู้ฟัง คือมีแค่ดวงเดียว

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่ต้องไปคาดคั้นถึงขณะนั้น เพราะเหตุว่าภวังคจิตจะกี่ดวงก็เหมือนกันหมด ไม่ต่างประเภทเลย เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิ แต่ทรงแสดงอย่างนี้เพื่อให้เห็นว่าในชาติหนึ่งภพหนึ่งก็จะมีจิตที่เป็นภวังคจิตกับจิตที่ไม่ใช่ภวังค์ หรือหมายความว่าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีอะไร เน้นไปที่จุดนี้ที่จะให้เห็นว่าความจริงแล้วทุกวันทุกคืนทั้งชาติ ก็คือจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง แล้วที่ยิงลูกศรไปสู่ความมืด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ยิงไปในความมืด เห็นลูกศรในความมืดไหม ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ เห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น แล้วใครเป็นคนยิง

    ท่านอาจารย์ คำนี้เป็นเพียงคำที่จะให้เข้าใจความไม่รู้ว่าแม้สภาพธรรมก็มี แต่ไม่ได้ปรากฏกับอวิชชาว่าเป็นธรรม แม้ขณะนี้สีสันวัณณะกำลังปรากฏ แต่ปรากฏว่าเป็นธรรมหรือปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ หรือยังคงปรากฏกับเราที่เห็น นี่คือความไม่รู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างจะมีลักษณะเฉพาะอย่าง มีกิจการงานแต่ละอย่าง แต่ก็ไม่ได้ปรากฏกับอวิชชาตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ก็ยังคงเป็นเราทั้งหมด จะหาคนยิงหรือ

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจถึงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่การปกปิดความจริง ปกปิดอย่างไร ปกปิดเหมือนกับว่าแม้ยิงลูกศรไปในความมืด ลูกศรนั้นก็ไม่ได้ปรากฏเพราะความมืดคืออวิชชาฉันใด สภาพธรรมก็เกิดดับตามเหตุตามปัจจัย แต่ก็ไม่รู้ความจริงเลย นี่แสดงให้เห็นว่าถ้าเราเข้าใจเรื่องของอวิชชา เรื่องของความไม่รู้ เรื่องของกิเลสทั้งหลายมาก เราจะไม่เป็นผู้ประมาทที่จะคิดว่าเราสามารถจะดับกิเลสได้โดยไม่ต้องรู้อะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจที่อาจารย์กล่าวว่าเหมือนนายช่างผู้สร้างเรือน

    ท่านอาจารย์ ตัณหาหรือโลภะหรือความติดข้อง ถ้ายังมีอยู่ตราบใด ยังมีนายช่าง นายช่างคนนี้ก็สร้างเรือนไปเรื่อยๆ สังสารวัฏฏ์ ภพชาติ เรือน คือ ที่อยู่ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง

    ผู้ฟัง นายช่างก็เป็นกุศลจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตัณหาเป็นกุศลหรือไม่ ที่ยังต้องเกิดเพราะยังมีโลภะ ถ้าดับโลภะเมื่อไหร่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีการเกิดเลย

    ผู้ฟัง ชวนจิตแรกคือโลภชวนะของทุกคน เพราะฉะนั้นจะเหนียวแน่นมาก แล้วจะอยู่กับเราตลอดไป แล้วส่วนตัวมีความรู้สึกว่าชอบมากกว่าโทสะ

    ท่านอาจารย์ ใครชอบ ก็คือโลภะนั่นเอง

    ผู้ฟัง ตัวตัณหาติดข้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคนอีกต่างหาก มีแต่ตัวโลภะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ตัณหากับโทสะ เราไม่อยากให้โทสะเกิด แต่ตัณหานี่น่าสนุก เวลาไปเดินตามศูนย์การค้า ลองพิจารณาตัวเอง เขาเกิดตั้งแต่ชวนะแรกๆ ที่พอใจในภพชาติ เขาฝังใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอให้กำลังใจ ไม่ต้องเสียใจถ้าเขาเกิด เพราะเขาเกิดตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริง ไม่ใช่ไปทำอะไร แต่ปัญญาจะทำหน้าที่ของปัญญา มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราเป็นสมุทเฉท จากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ