พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 113


    ตอนที่ ๑๑๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ทุกคนเกิดมาแล้วมีชื่อ ไม่อย่างนั้นจะเรียกกันอย่างไรถูก เพราะว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก รูปทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่าพระพุทธมารดา หรือว่าไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตอะไรก็ตาม ก็หมายความว่าจำเป็นต้องใช้ชื่อเพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนก็มีจิตหนึ่งขณะแล้วก็ไม่สามารถที่จะไปรับทอดของคนอื่นมาได้ แต่ละขณะก็เกิดสืบต่อแล้วก็ดับเฉพาะของแต่ละจิต แต่ก็ไม่เที่ยง และไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น เป็นลักษณะของธาตุหรือนามธาตุซึ่งเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง พื้นฐานของจิตหรือลักษณะของภวังคจิตของแต่ละคนไม่เหมือนกันด้วยการสะสมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ภวังค์ของแต่ละคนต่างกันตามการสะสมในแต่ละภพแต่ละชาติ แม้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา บุคคลนั้นก็ปฏิสนธิจิตด้วยจิตซึ่งไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในชาตินั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญญาที่สะสมมาแล้วจะไม่มีโอกาสที่จะเกิด หรือว่าจะทำให้ปฏิสนธิชาติต่อไปประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ทั้งหมดของกรรมแต่ละคนที่ได้กระทำมาแล้วในชาตินี้ ในชาติก่อน ในชาติโน้นๆ ในแสนโกฏิกัปป์มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิตของชาตินี้ โดยที่เราไม่สามารถที่จะเลือกได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าในชีวิตของแต่ละคนต่างกันในเรื่องของกรรม เรื่องของกิเลส แม้แต่กรรมแต่ละกรรมซึ่งทำร่วมกัน เช่น ในขณะที่กำลังฟังธรรม จิตของใครเป็นกุศลมาก จิตของใครเป็นกุศลน้อยกว่าอีกคนหนึ่ง แม้แต่ความเข้าใจก็ต่างระดับกัน เพราะฉะนั้นแต่ละคนจึงมีการสะสมเฉพาะจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันไป แม้ว่าจะเป็นประเภทกุศลวิบากในกามภูมิที่ใช้คำว่า “กามาวจรวิบาก” ผลของกรรมที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นกุศลเป็นมหาวิบากก็ตาม แต่ปฏิสนธิจิตก็หลากหลายกันมาก แต่ทรงประมวลว่า ต่างกันเป็นประเภท คือ บางประเภทมีปัญญาเกิดร่วมด้วย บางประเภทไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ความต่างหลากหลายก็ต้องเป็นไปตามการสะสม

    ผู้ฟัง กรุณาอธิบายเพิ่มเติมที่กล่าวว่าไม่ใช่ทวิเหตุกบุคคลสามารถจะบรรลุได้ แต่ผู้ที่จะบรรลุได้ต้องเป็นติเหตุกบุคคล

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เราจะไม่ทราบปฏิสนธิจิตของเรามีอะไรเป็นอารมณ์ และบางท่านก็อาจจะสงสัยเป็นทวิเหตุกะประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภะ อโทสะ หรือเป็นติเหตุกะประกอบด้วยทั้งอโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่เราจะไปพยายามรู้สิ่งที่รู้ไม่ได้ แต่ว่าจากชีวิตจริงๆ ของแต่ละคนก็จะเห็นได้ว่าบางท่านสะสมอุปนิสัยในการให้ทาน ท่านมีทานุปนิสัย ท่านให้ง่าย แต่พอถึงธรรมท่านไม่สนใจ และท่านไม่ฟัง แล้วท่านจะบรรลุได้ไหมในเมื่อไม่มีการฟังเลย แต่ผู้ที่แม้ว่าเกิดด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะประกอบด้วยปัญญาเจตสิกแต่ว่าการฟังน้อย แล้วก็ยังอาจจะไม่ได้มีการเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมก็ได้ นี่ก็คือความต่างกันของผู้ที่แม้ว่าสะสมปัญญามาแต่ปัญญาระดับไหน แม้ในครั้งพุทธกาลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ทันทีที่ได้ฟังเทศนาจบ บรรลุมี แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาอีกหลายปี ๑๖ ปี ๒๐ ปี ก็ได้บรรลุก็มี หรือว่าชาตินั้นยังไม่บรรลุ ไปบรรลุในชาติต่อไปก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการปฏิสนธิแม้เป็นติเหตุกะก็ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุมรรคผลถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล แต่ผู้ใดก็ตามที่ถึงขั้นฌาณจิตความสงบของจิตระดับของอัปปนาสมาธิ หรือว่าสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนั้นแม้เป็นวิปัสสนาญาณ ก็แสดงว่าบุคคลนั้นก็ปฏิสนธิเป็นติเหตุกะ

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นเทวดาหรือว่าสูงกว่านี้ มีลักษณะเหตุที่เกิดเป็น๒ หรือ๓ เหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นในกามาวจรภูมิก็มีเทวดาที่ปฏิสนธิด้วยเหตุ๒ และเหตุ๓ แต่ถ้าเป็นในภูมิชั้นสูงกว่านี้ เช่น รูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ ปฏิสนธิต้องเป็นเหตุ๓ เพราะว่ากว่าจะบรรลุถึงฌาณจิต ความสงบที่จะถึงขั้นอัปปนาสมาธิต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้จริงๆ

    ผู้ฟัง แสดงว่าถ้ายิ่งเป็นเทวดาชั้นสูงก็ต้องมีเหตุเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นในชั้นกามาวจรภูมิคือสวรรค์ ๖ ชั้น มนุษย์ ๑ เป็นผลของกุศลจะมีเหตุ๒ หรือเหตุ๓ ปฏิสนธิได้ แต่ถ้าสูงกว่านั้นถึงชั้นรูปพรหมภูมิเป็นเทพเหมือนกันแต่สูงกว่าเทวดา ๖ ชั้น ต้องเป็นผลของกุศลที่ทำให้จิตสงบถึงระดับขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งไม่เสื่อม สามารถที่จะเกิดก่อนจุติ เพราะฉะนั้นผลของกุศลนั้นก็ทำให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมบุคคลประกอบด้วยเหตุ ๓ ถ้าเป็นชั้นพรหมต้องประกอบด้วยเหตุ ๓

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดในอบายภูมิจะมีเหตุตรงนี้ด้วยหรือไม่ เช่น ในนรก

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยสักเหตุเดียว อโทสะก็ไม่มี อโลภะก็ไม่มี แม้อกุศลเหตุ คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิกก็ไม่ได้เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงอกุศลเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตประเภทเดียว จะไม่เกิดกับวิบากจิตซึ่งเป็นผล

    ผู้ฟัง คนที่จุติไปปฏิสนธิเป็นเทวดา รูปร่างจะติดไปด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปเมื่อวานนี้เหลือมาถึงวันนี้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหลือ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่ารูปทุกรูปที่เป็นสภาวรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แสดงว่ารูปอายุยืนยาวกว่าจิต แต่ ๑๗ ขณะจิตจะเร็วสักแค่ไหน ในเมื่อขณะที่กำลังเห็นกับได้ยินเหมือนพร้อมกัน คือกำลังได้ยินเหมือนเห็นอยู่ด้วย แต่ความจริงจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ และจิตที่เห็นจิตที่ได้ยินเกิดห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ แปลว่ารูปดับเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้นไม่มีรูปไหนที่จะติดตามไปที่ไหนได้เลย ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมนั้นจะทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นเกิดพร้อมกับกัมมชรูปซึ่งเล็กมาก จะตามไปทั้งตัวอย่างนี้ไม่ได้

    อ.วิชัย ฉะนั้นในเรื่องของภูมิต่างๆ ก็มีจริงๆ แต่ว่าศึกษาก็เป็นปัจจัยเพื่อเกิดหิริโอตัปปะในอกุศลกรรมในการละอาย ละราคะ โทสะ โมหะ ในส่วนของเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างเช่น ขณะนี้ก็มีโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็ใจ ซึ่งก็มีจริงๆ แต่ว่าความรู้ของเรารู้ในสิ่งที่มีจริงขณะนี้แล้วหรือยัง เพราะเหตุว่าขณะนี้เห็นทั้งๆ ที่ขณะนี้กำลังเห็นอยู่ รู้ชัดในสิ่งที่เห็นแล้วหรือยัง ก็น่าคิด ฉะนั้นในเรื่องต่างๆ เราศึกษาเพราะเข้าใจในภูมิต่างๆ ซึ่งก็มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือขณะนี้นี่เองซึ่งมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ แต่ว่าปัญญาพอที่จะรู้ชัดหรือว่ารู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง อสูรกายสามารถจะอนุโมทนาในส่วนกุศลที่เราอุทิศให้ได้หรือไม่

    อ.วิชัย ที่อ่านพบส่วนมากก็ในเปตวัตถุ เป็นเรื่องของเปรต

    ท่านอาจารย์ คงต้องทราบก่อนว่าอสูรกายคืออะไร เพราะว่าเราจะได้ยินอีกคำหนึ่งคือ อมนุษย์ อมนุษย์กับอสูรกายเหมือนกันหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงอมนุษย์ต้องหมายถึงว่าไม่ใช่มนุษย์ เทวดาเป็นอมุนษย์หรือไม่ เป็น สัตว์เดรัจฉานเป็นหรือไม่ เป็น คนที่เกิดในนรกเป็นหรือไม่ เป็น เพราะฉะนั้นที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งหมดก็เป็นอมนุษย์ เมื่อมาถึงคำว่า อสูรกาย เราจะได้ยินจากคำที่ว่าเกิดในอบายภูมิ ๔ เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก และก็เป็นเดรัจฉาน และเป็นอสุรกาย เปรตก็พออย่างที่ว่าคิดออกใช่ไหม คงต้องตัวสูงๆ และก็มีรูปร่างหลายอย่างเหมือนหมูขนแข็งหรืออะไรต่ออะไรก็มีหลายอย่าง คือ ถ้าไม่ใช่เกิดในนรก และก็ไม่ใช่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็จะต้องเกิดเป็นเปรต ถ้ามีความทรมาน มีความทุกข์มาก เพราะเหตุว่าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำทุจริตกรรมมีความหิวกระหายมากสำหรับภูมิเปรต สำหรับนรกก็มีการถูกทรมานด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จบเรื่องของนรก เรื่องของเปรต และสัตว์เดรัจฉาน ก็จะเหลืออสูรกายซึ่งไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่สัตว์ในนรก ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นอีกภูมิหนึ่ง ที่ไม่ใช่เป็นสุขติภูมิ เพราะเหตุว่าถ้าถือตามปฏิสนธิจิตต้องเป็นอเหตุกปฏิสนธิ แต่คำว่า “อสูรกาย” จะมีใช้หลายที่หลายแห่ง บางแห่งก็จะหมายความถึงพวกอสูร อสุระ ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ใช้ ก็จะหมายความถึงกึ่งเทพกึ่งเปรตก็ได้ เพราะว่าผลของกรรมละเอียด และก็วิจิตรซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะบันดาลได้ เช่น บางคนรักษาอุโบสถศีลครึ่งวัน อีกครึ่งวันไม่ได้รักษา เพราะฉะนั้นผลของกรรมก็ให้ผลเพียงกลางวันบ้างกลางคืนบ้าง ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่สามารถที่จะไปสำรวจดูสัตว์โลกได้จนทั่วทุกภพภูมิ แต่ก็ให้ทราบถึงเหตุที่จะทำให้เกิดในสุขติภูมิ และเหตุที่ทำให้เกิดในทุกขติภูมิ

    เราได้กล่าวถึงกำเนิด แต่เรายังไม่ได้กล่าวว่ามีอะไรบ้าง ขอเชิญคุณกุลวิไลอธิบายในเรื่องกำเนิด ๔

    อ.กุลวิไล กำเนิด ๔ อันแรกก็คือ สังเสทชะ ก็คือกำเนิดในเถ้าไคลหรือที่ชื้นแฉะ กำเนิดที่ ๒ ก็คือโอปปาติกะกำเนิด คือ ผุดเป็นตัว และ คัพภเสยยกสัตว์กำเนิดคือกำเนิดในครรภ์ และท่านยังแสดงอีกกำเนิดหนึ่งคือกำเนิดในไข่ เช่น ไก่ นก ก็กำเนิดในไข่ แต่ถ้ามนุษย์พอที่จะเห็นได้ หรือว่า สัตว์พวกหมู พวกสุนัข ก็จะมีมดลูก กำเนิดในมดลูก

    คุณอุไรวรรณ กำเนิดในเถ้าไคล คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่ชื้นแฉะสกปรก ไม่ได้หมายความว่าเกิดในครรภ์หรือเกิดในไข่

    ผู้ฟัง ลักษณะที่เกิดในเถ้าไคลตรงนั้น อยู่ดีๆ เกิดขึ้นมาเองได้เลยหรือ

    อ.อรรณพ คือหมายความว่าอาศัยเถ้าไคลสภาพที่ชื้นแฉะเป็นปัจจัยให้สิ่งมีชีวิตนั้นเกิดได้ ซึ่งสิ่งมีชีวิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ก็ต้องมีต้นกำเนิดอาจจะเป็นชิ้นส่วนของสัตว์ที่เป็นตัวพ่อตัวแม่ที่จะทำให้เขาโตขึ้นมา แต่ไม่ได้อาศัยในครรภ์ในมดลูก แล้วก็ไม่ได้อาศัยในไข่

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วถ้าเราศึกษาธรรม เราจะรู้ว่าจิต เจตสิกเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม เข้าถึงความเป็นธรรมที่ต่างกัน ๒ ประเภท ถ้ากล่าวถึงจิต เจตสิก เราจะไม่สนใจเรื่องรูป รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย แต่รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี ถ้าเป็นรูปที่เกิดจากกรรมก็ต้องมีจิตคือปฏิสนธิจิต มิฉะนั้นแล้วกัมมชรูปหรือรูปที่เกิดจากกรรมจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไม่ทราบว่าสิ่งนี้ที่กำลังเคลื่อนไหวมีชีวิตหรือไม่ เราจะนึกสักเท่าไหร่เราก็คงไม่สามารถที่จะบอกได้ แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพรู้ ไม่ต้องคำนึงถึงรูปร่างนก แมว ช้าง ผีเสื้อ กระต่ายหรืออะไรเลย แต่ขณะใดที่มีธาตุรู้ สภาพรู้ กำลังเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นคือจิต นี้ก็เป็นความรู้ของเราตามความชัดเจนที่ว่า ถ้าจะรู้ว่าจิตคืออะไรเมื่อไหร่ก็คือจิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ที่ไหน บนบกในน้ำ ที่ไหนก็ตาม รูปร่างอย่างไรก็ตามแต่ หรือว่าไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีรูปใดๆ เลย จิตก็เกิดได้ นี่ก็คือเข้าใจลักษณะของจิตว่าเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งไม่มีรูปร่าง เวลาที่ศึกษาเรื่องรูปก็เป็นเรื่องของรูปซึ่งก็จะเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือจิตเป็นสมุฏฐาน หรืออุตุเป็นสมุฏฐาน หรืออาหารเป็นสมุฏฐาน ถ้ารูปที่เกิดจากกรรมก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากรรมเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด เพราะฉะนั้นเราจะไปรู้ไหมเพียงเห็นการเคลื่อนไหวว่าการเคลื่อนไหวเป็นรูปที่เกิดจากกรรมหรือไม่ หรือว่าเป็นรูปที่เกิดจากจิต แต่เราสามารถที่จะรู้ความต่างว่าถ้าเป็นจิตต้องเป็นสภาพรู้ เมื่อไหร่ที่จะรู้ที่ไหนตรงไหนจะเรียกว่าใครหรืออะไร สภาพนั้นก็เป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง แต่มีผลกับการกระทำหรือผลกับกรรมที่เราจะก่อ ถ้าสมมติว่าสิ่งที่เราไม่รู้ แล้วสิ่งที่เราทำลงไปตรงนี้จะทำให้เกิดกรรมที่ไม่ดี เพราะว่าถ้ารู้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่มีชีวิต มันก็ไม่เกิดผลของกรรมนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราสงสัยว่านี่มีชีวิตหรือไม่ แล้วเกิดการฆ่า แล้วสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตก็ไม่ใช่อกุศลกรรม เมื่อมีชีวิตจึงจะเป็นอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นกรรมก็ซับซ้อนละเอียดไปอีกขึ้นอยู่กับสภาพนั้นจริงๆ ซึ่งเราก็ไม่ใช่จะเป็นผู้ที่กำหนดหรือที่จะรู้เพียงด้วยการเห็น

    ผู้ฟัง จิตทุกดวงมีหน้าที่สะสมด้วย

    ท่านอาจารย์ สืบทอด สะสม คือ กุศลจิต และอกุศลจิต กิริยาจิต ฝ่ายโลกียะทั้งหมดที่เป็นชวนะ แต่ละวาระที่เกิดขึ้นดับไปแล้วก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป

    ผู้ฟัง ขณะนั้นก็คือภวังคจิตมีหน้าที่สืบต่อเท่านั้น สืบต่อสิ่งที่สะสม เพราะฉะนั้นจิตดวงอื่นสืบต่อด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ทุกขณะเพราะจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจิตทุกประเภทก็คือมีหน้าที่สะสม

    ท่านอาจารย์ มีการสะสมสืบต่อ

    ผู้ฟัง แต่ที่สะสมมีเฉพาะกุศลจิต และอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ที่จะสะสมสืบต่อ

    ผู้ฟัง จิตก็คงจะใหญ่โตมาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นรูปไม่มีที่จะเก็บ ไม่รู้ว่าจะวัดขนาดไหน แต่ถ้าเป็นนามธรรม คิดถึงสภาพที่เป็นนามธรรมล้วนๆ คือไม่มีรูปใดเจือปนเลยทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ และก็ขณะนั้นจะมีอะไรบ้าง เช่น ปฏิสนธิจิตของแต่ละคนที่ต่างกันตามการสะสมสืบต่อ ทำให้เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยต่างๆ กันเมื่อถึงวาระที่จะมีการเห็นการได้ยิน สิ่งที่สะสมมาก็จะเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่น่าพอใจ โลภะก็เกิด เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โทสะก็เกิด แต่ถ้ากำลังเป็นภวังค์อยู่ขณะนั้นก็ไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ทางหนึ่งทางใดเลย แต่จิตต้องมีอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์โดยอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เวลาที่มีการเห็นครั้งหนึ่งดีไหม มีการได้ยินครั้งหนึ่งดีไหม เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้ารูปนั้นดับไปแล้วก็ต้องเป็นภวังค์ต่อ แล้วก็มีการเห็นครั้งหนึ่ง การเห็นดับไปอย่างเร็วมาก ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เมื่อมีการได้ยินครั้งหนึ่ง เสียงก็ดับไปเร็วมาก แล้วภวังคจิตก็เกิดต่อ แต่ก่อนที่สิ่งที่ปรากฏทางตาจะดับ หรือก่อนที่เสียงจะดับไปแต่ละทาง โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรืออกุศลจิตเกิดแล้วอย่างรวดเร็วตามการสะสม เพราะฉะนั้นถ้าดีก็คือกุศลจิตเกิด ถ้าไม่ดีก็คือขณะใดที่เห็นแล้วเป็นอกุศล ขณะนั้นก็สะสมความไม่ดีสืบต่อเพิ่มไปอีกมากมายนับไม่ถ้วนกว่าจะมีปัญญาที่สามาระจะดับได้ แล้วจะดับได้หรือยังโดยที่ไม่รู้อะไรเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราจะคิดว่าดี คือเมื่อเห็นแล้วเป็นกุศล หรือมีการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นสะสมสืบต่อไป แต่ถ้าเห็นแล้วเป็นอกุศล หลับเสียดีกว่า ไม่ต้องตื่นขึ้นมาเป็นอกุศลอย่างบ่อยมากเหลือเกิน ทุกครั้งที่เห็นเป็นอกุศลไปแล้วอย่างรวดเร็ว นี่เป็นข้อความในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นให้การตื่น การเห็น และการได้ยินพวกนี้เป็นประโยชน์ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็มีปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศล แต่ถึงแม้จะเกิดมากกว่าอย่างไรก็ยังน้อยกว่าอกุศลนั่นเอง

    ผู้ฟัง ภวังคจิตเกิดสืบต่อทั้งกุศล และอกุศลซึ่งมีมายาวนาน แล้วปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ภวังคจิตจะมาช่วยในเรื่องกุศล และอกุศลที่สะสมไว้หรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องของปฏิสนธิ ชาติวิบากจิตรับมาจากอย่างอื่นนอกจากภวังค์

    ท่านอาจารย์ ม้ากัณฑกะทุกคนคงรู้จักดี เป็นม้าทรงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้ายที่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ออกจากวังเพื่อที่จะได้บำเพ็ญการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ปฏิสนธิจิตของม้ากัณฑกะเป็นผลของกรรมอะไร เป็นผลของอกุศลกรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ฟังพระธรรมในชาตินั้นได้ไหม (ไม่ได้) แต่หลังจากที่จุติแล้วเกิดเป็นเทวดา เป็นเทพ ลงมาเฝ้าฟังธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นการที่จะเกิดเป็นอะไร ให้ทราบว่าเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียว แต่กรรมนั้นจะประมวลสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชาตินั้น เป็นการดำเนินชีวิตตามการสะสมเท่าที่กรรมนั้นกำหนดหรือประมวลมาในฐานะของกุศลกรรมหรือกุศลกรรม และกำเนิดอย่างไร เป็นสัตว์ในนรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นมนุษย์ แล้วแต่ว่ามีกรรมอย่างไรที่ได้กระทำมาแล้ว มีการสะสมอย่างไร

    แต่สำหรับทุกท่านที่ได้ศึกษามาแล้ว ก็พอจะทราบได้ว่าการสะสมระหว่างที่ท่านหลับสนิทเป็นภวังค์สืบต่อจากปฏิสนธิ ปฏิสนธิของท่านจะเป็นอย่างไรในภพนี้ที่จะทำให้ประมวลกรรม และกิเลสที่ได้สะสมไว้ที่จะเกิดขึ้น ถ้าเวลาที่เห็นแล้วอกุศลจิตเกิด เรารู้เลยว่า สะสมอะไรมามากเท่าไหร่ในภวังค์ที่จะทำให้ทุกครั้งที่เห็นก็จะเป็นโลภะบ้าง หรือว่าแล้วแต่อัธยาศัย บางคนก็เป็นโทสะ ขุ่นใจอาจจะตั้งแต่ลืมตาวันหนึ่งจนกระทั่งหลับไปก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นผู้ที่มีเมตตาแล้วก็มีกุศลจิต แล้วก็สามารถที่จะมีศรัทธา มีการสนใจ มีการไตร่ตรอง ฟังพระธรรมด้วยความเคารพในเหตุผล ด้วยความจริงใจต่อการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงกาละที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ได้

    แต่ว่าเป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องของการสะสมทั้งสิ้น เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามถ้าเห็นแล้วเกิดอกุศล ท่านกล่าวว่ามีมารดาไม่ดี เพราะเหตุว่าภวังค์นั่นเอง คือ ผู้ที่เป็นมารดา แต่ว่าชวนะคือบุตร เป็นบุตรที่เลว ก็ส่องไปถึงผู้ที่ให้กำเนิดคือภวังคจิตซึ่งสะสมสืบมาในชาตินั้นก็เป็นผู้ที่สะสมสิ่งที่เลว ก็ทำให้เกิดบุตรที่เลว คือชวนจิตที่เป็นอกุศล นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบเพื่อที่จะให้รู้จักตัวเราเองยิ่งขึ้น ว่าเราอาจจะคิดว่าเราเป็นคนดีเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วถ้าเทียบกับความไม่รู้ และอกุศลซึ่งเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างรวดเร็ว ก็จะรู้ได้เลยว่า ที่เราว่าดีนั้น เราดีแค่ไหน ดีในด้านทาน หรือด้านศีล หรือด้านความสงบของจิต หรือว่าการที่ศึกษาธรรมเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่ก็จะรู้ได้จากภวังคจิต

    ธรรมไม่ใช่เรื่องที่เราจะเดาหรือคาดคะเน แต่เป็นเรื่องที่จะศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เช่น ปฏิสนธิจิต คือ วิบากจิตเป็นผลของกรรมหนึ่งทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน นี่คือไม่มีบุคคลที่จะไปนิทราหรือไม่นิทรา แล้วเวลาที่เป็นภวังคจิตก็คือ ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตาคือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ถ้ากำลังหลับก็คือไม่ได้ฝัน ขณะนั้นคือ ภวังคจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    22 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ