พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 88


    ตอนที่ ๘๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่เราต้องฟังด้วยดี แล้วก็รู้ว่าแท้ที่จริงทั้งหมดที่ได้ฟังก็คือสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง ตามลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าจิตอีกประเภทหนึ่งนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหน คือ จิตของเราตรงนี้เอง

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลจิตซึ่งไม่ใช่ขั้นทาน ศีล และสมถะ เป็นเพียงความสงบที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง หมายความว่าฟังแล้วก็คืออบรมไตร่ตรองพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังคือจิตทั้งหมดเลย

    ผู้ฟัง เรื่องราวของโลกุตตรจิตก็เหมือนกับเรื่องราวที่เราจะต้องฟังแล้วไตร่ตรองไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือจิตที่คิดตาม พิจารณาตาม เข้าใจตาม

    ผู้ฟัง แล้วทั้งหมดก็คือสิ่งนี้มีจริง มีอยู่ และเป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่ามีผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นพระอริยบุคคลแล้วจำนวนมาก แต่ต้องมาจากการอบรม

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าเราไม่พัก เราไม่เพียร ได้ยินคำว่าอยู่ในฌาณจิตนั้นถือว่าลอยแล้วแต่ก็ยังไม่ใช่หลุดพ้น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วธรรมที่เราจะได้ฟังมากมายทั้ง ๓ ปิฎก แต่เราสามารถจะเข้าใจได้แค่ไหน แค่ความเข้าใจของเราไม่ต้องทั้งหมดในพระสูตรนั้น ฌาณจิตเป็นอะไรอย่างไร ถ้ามีการรู้ถูก ว่า พักก็คือไม่มีการศึกษาไม่มีการอบรมเจริญปัญญา แต่เพียรโดยความไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ถึง เพราะฉะนั้นที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริงแต่ต้องเข้าใจอรรถว่าทรงมุ่งหมายอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะไปค้านว่าก็บอกให้เพียรใช่ไหม แล้วถึงตอนนี้ก็บอกไม่เพียร ไม่พัก ไม่เพียรจะเป็นอย่างไร พระธรรมไม่ได้ขัดกันเลย แต่ต้องสอดคล้องว่าทรงมุ่งหมายอย่างไร ถ้าเพียรผิดจะเพียรไหม มีประโยชน์อะไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้เพียรผิดหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นหนทางมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่เราเพียร ไม่ใช่มีความต้องการเพียร แต่มีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแล้วเพราะเกิดขึ้นแล้ว

    ผู้ฟัง หมายความว่าควรกลับไปดูพระสูตรนั้นว่าพูดกับใคร พูดถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ ในระหว่างที่เราศึกษาธรรมก็ควรมีโอกาสที่จะได้ฟังพระสูตรด้วย แต่ว่าความเข้าใจของเราไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม จะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน เอากำลังความสามารถของเราที่เป็นประโยชน์ของเราเอง ถ้าเราจะขวนขวายไปจนกระทั่งถึงอรูปฌาณเป็นอย่างไร อะไรต่างๆ มากมาย แต่ว่ารู้ไหมว่าขณะนี้เป็นจิตอะไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ก็เป็นแต่เพียงการจำเรื่องราว ซึ่งเราก็ผ่านมาแล้วในชาติก่อนๆ ก็คงจะได้ฟังพระธรรมมาแล้ว มากน้อยเราคงไม่ทราบได้ว่าเราได้ฟังที่ไหนบ้าง เรื่องอะไรบ้าง แต่เราสามารถเข้าใจทันทีที่เราได้ยินพระธรรมหรือไม่ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง และทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง จากการตรัสรู้สิ่งที่มีจริง เช่น ในขณะนี้ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึก เป็นต้น ทั้งหมดที่มีจริงทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดง เราสามารถจะเข้าใจได้แค่ไหน เราก็พิจารณาสิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้ ถ้าเราอยากจะเข้าใจเพียงเรื่องราว เราจะเก็บเรื่องราวไว้เยอะมาก แต่ว่าเราก็ต้องจากโลกนี้ไปเหมือนที่เราจากโลกก่อนมา ไม่ต้องมากเลยว่าเราจำอะไรได้จากที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วในชาติก่อนๆ ไม่ต้องมาก เพียงแค่ชาติก่อนเราชื่ออะไรเท่านี้เอง แค่ชื่ออะไรจำได้ไหม แล้วสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาทั้งหมดที่เป็นเรื่องราว กับการที่เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม มีความมั่นคงว่าไม่เข้าใจขั้นไหน และขณะที่กำลังฟังกำลังเริ่มเข้าใจขั้นไหน จึงจะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นภาวนา เพราะเหตุว่าพระธรรมไม่ใช่เพียงแสดงให้ฟัง แล้วไม่อบรมไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นโมฆะ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จำแต่ชื่อเรื่องราวกี่ภพกี่ชาติมาแล้ว ภาษาต่างๆ ก็ลืมหมด แต่ว่าสภาพธรรมมีให้พิสูจน์ให้เข้าใจได้

    ผู้ฟัง จะสามารถรู้ความจริงในขณะที่ธรรมเกิดขึ้นทางปัญจทวารหรือมโนทวารได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเพียงคำเดียวว่า “ธรรม” ยังไม่ต้องปัญจทวาร หรือ มโนทวาร เข้าใจได้ไหมว่า ไม่ใช่อะไรเลย ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่มีลักษณะเฉพาะของสภาพนั้นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เช่น เสียงเป็นธรรม เข้าใจไหม ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด นั่นคือความถูกต้องถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ในลักษณะของธรรมนั้นๆ ว่าเป็นธรรมโดยไม่ต้องห่วงชื่อ ว่าทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร แต่เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะเข้าใจได้ มีความเป็นเรานานแสนนาน แม้แต่จะมีผู้ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่าเป็นธรรม ก็ยังไม่รู้ว่าธรรมอยู่ที่ไหน บางคนไปหาธรรมใช่ไหม และขณะนี้จะเข้าใจธรรมอะไร ก็เป็นธรรมทั้งหมด เดี๋ยวนี้เป็นธรรมทั้งหมด แล้วจะเข้าใจธรรมอะไร ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็ไม่มีปัญหาเลย แต่เพราะว่าไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้จึงทรงแสดงพระธรรมเพื่ออุปการะเกื้อกูลให้ได้ฟัง ได้พิจารณา ได้เกิดความเข้าใจ แม้ในขั้นการฟังว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก่อนที่จะไปแยกในขณะที่เห็นกับในขณะที่คิด ...

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปแยก ต้องเข้าใจให้ถูกว่าไม่ใช่ไปแยก แต่กำลังฟังอย่างนี้ถ้ารู้ตรงลักษณะ ที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏแล้วเข้าใจ นั่นคือไม่ได้ไปแยก ไม่มีเราด้วย ขณะนั้นก็มีการรู้ตรงลักษณะนั้นโดยที่ว่าไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะรู้ตรงลักษณะไหน แต่ขณะนั้นก็คือไม่หลงลืมสติเป็นสติอีกระดับหนึ่งซึ่งสามารถจะรู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมมีจริงๆ กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมโดยที่สติไม่ได้รู้ลักษณะ ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม นั่นคือหลงลืมสติขั้นสติปัฏฐาน แต่มีสติขั้นฟัง แต่ขณะใดที่กำลังฟังตามปกตินี่เองแล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็กำลังเข้าใจลักษณะนั้น แล้วก็รู้ตรงลักษณะนั้น เริ่มที่จะเข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นธรรม นั่นก็คือเป็นผู้ที่ขณะนั้นไม่หลงลืมสติที่เป็นขั้นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แสดงว่าความเข้าใจนั้นยังไม่สมบูรณ์พอที่จะรู้ตรงลักษณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์จากการฟังก็คือรู้ว่าปัญญามีหลายระดับ สติก็มีหลายขั้น สติที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เป็นปัญญาที่เกิดจากขั้นการฟัง ถ้าเกิดพร้อมกับขณะที่กำลังไตร่ตรอง ขณะนั้นก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง แต่ยังรู้ว่าไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นเพียงขั้นฟัง และไต่ตรอง ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็มีปรากฏตลอดเวลาไม่เคยขาดเลยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่เคยขาดสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่เรา สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะนั้นก็จะรู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติขั้นสติปัฏฐาน และก็มีสติขั้นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะพัฒนาเข้าใจธรรมให้มากขึ้นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามปัญจทวารบ้าง มโนทวารบ้างตามที่ได้สะสมมา ท่านอาจารย์จะช่วยแนะนำตรงนี้อย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเป็นอนัตตา บังคับให้มีปัญญามากๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ได้ ก็เข้าใจขึ้นในความเป็นอนัตตา ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดก็คือเข้าใจว่าสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ถ้ากำลังโกรธ อยากหายโกรธก็ไม่เห็นความจริงว่าโกรธก็เป็นอนัตตา อยากหายโกรธหรืออยากไม่โกรธก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจะไม่มีวันที่จะเข้าถึงอรรถของคำว่า “อนัตตา” ถ้ายังคงมีความอยากหรือความต้องการหรือไม่ต้องการ เช่น ขณะนี้ไม่มีปัญญาพอที่สติสัมปชัญญะจะระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรม ก็อยากมี ไม่เห็นว่าเป็นอนัตตา ถ้ามีการฟังเป็นเหตุ รู้เลยไม่ใช่เราจะบังคับ แต่ว่าต้องมีการที่จะฟัง แล้วก็พิจารณาแล้วเข้าใจขึ้น แล้ววันหนึ่งจะมีสติสัมปชัญญะเกิดได้ไหม ถ้ามีความเข้าใจขึ้นอย่างมั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็คือการฟังธรรมไม่ใช่ว่าฟังด้วยความเป็นเราที่อยากจะรู้ให้เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูก ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ และก็ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง กรรมเป็นลักษณะปกปิด กรุณาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นกรรมหรือไม่ เป็น จะให้ผลเมื่อไหร่ นี่เองปกปิดแล้ว และขณะนี้เห็นเป็นผลของกรรมใช่ไหม เป็นผลของกรรมอะไร ปกปิดแล้ว ใครสามารถจะบอกได้ว่าทำอะไรมา แล้วขณะนี้ทางตาเกิดขึ้นเห็นอย่างนี้ ทางหูได้ยินอย่างนี้ ทางกายกระทบสัมผัสอย่างนี้ แต่ว่าตามความเป็นจริงกำลังฟังอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจก็สอบถามในเรื่องที่กำลังได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าเอาความคิดมารวมด้วยก็มีกรรมมาบวกกับอกุศลหรือกุศลมารวมกันอะไรอย่างนี้ ก็คือไม่เข้าใจว่ากรรมคืออะไรเมื่อไหร่ ก็ยังคงเป็นความไม่เข้าใจอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป นามธรรมที่เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี ที่เป็นเหตุ ที่จะให้เกิดผลคือวิบาก ถ้าใช้คำว่าเหตุ หาเหตุอีกแล้วใช่ไหม แต่ถ้ารู้ว่าก็กรรมนั่นเอง กุศล และอกุศลที่ได้กระทำสำเร็จลงไปก็เป็นกรรมที่จะเป็นเหตุให้เกิดจิตที่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ศึกษาอย่างไรที่สติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกิจมุ่งไปถึงการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยลืมว่าเป็นอนัตตา แต่ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงยิ่งขึ้นว่าเป็นอนัตตา ขณะนี้ทุกคนนั่งที่นี่ มีใครบ้างที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ใช่ไหม ถ้าไม่ระลึกก็คือไม่ระลึกเพราะความเป็นอนัตตา แต่ถ้ามีใครที่สติสัมปชัญญะกำลังระลึกตรงลักษณะนั้นก็คือเป็นอนัตตา แต่ไม่ได้มีใครไปบังคับ หรือไปคิดว่าฟังแล้ววันนี้หรือว่าฟังแล้วเมื่อ๓ เดือน ๓ ปี ๑๐ ปีก่อน แล้วทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะว่าคนนั้นจะมีความเข้าใจความเป็นอนัตตาได้นั้นที่สำคัญที่สุดคือต้องเข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาว่าเมื่อบังคับไม่ได้ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ก็รู้เหตุปัจจัยว่ามีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็คือความเข้าใจที่ถูกต้องว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เวลานี้ฟังว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ก็อยากรู้ว่าเมื่อไหร่ ทำอย่างไรสติสัมปชัญญะจึงจะเกิด เหมือนหาความเป็นอัตตาที่จะไปทำให้สติสัมปชัญญะเกิด แทนที่จะมีความเข้าใจยิ่งขึ้นว่าบังคับบัญชาไม่ได้เลย แต่สามารถที่จะฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ได้เข้าใจขึ้น ถ้าได้เข้าใจขึ้นแล้วเป็นประโยชน์กว่าการที่เราคิดว่าเราอยากที่จะให้มีสติสัมปชัญญะ แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ไม่ใช่หวังว่าเมื่อฟังแล้วสติสัมปชัญญะจะเกิด แต่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้นๆ เพื่อละความหวัง เพื่อละความต้องการ และเพื่อละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อไหร่ที่สติสัมปชัญญะเกิดก็จะไม่ติดในสติสัมปชัญญะ จะไม่หวั่นไหว เพราะว่าได้สะสมความรู้ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาพอเพียงที่จะรู้ว่าเป็นสติสัมปชัญญะที่ไม่ใช่เรา เพราะกว่าจะหมดความเป็นเรานานมาก ไม่ใช่น้อยเลย แม้แต่ขั้นฟังก็ต้องฟังจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจในความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น

    อยากจะทราบความเห็นของผู้อื่นที่ท่านศึกษาว่าท่านทำอย่างไร นอกจากฟังอย่างเดียวหรือไม่ เพราะคุณสุกิจก็คงจะไม่ได้ฟังอย่างเดียว อ่านด้วย พิจารณาด้วย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    อ.วิชัย ตามที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้ว การศึกษาเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพียงชื่อเท่านั้น แต่แสดงถึงสภาวะที่มีจริงๆ เช่น คำว่าเหตุต่างๆ ก็มีลักษณะที่มีจริงๆ ให้เข้าใจถึงลักษณะที่มีอยู่จริงของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ระลึกอย่างไรก็ไม่ไปถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เลยลำบากใจหรือว่าเบาใจ

    ผู้ฟัง ไม่ลำบากใจ และก็ไม่เบาใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เดือดร้อนใจ เพราะการศึกษาธรรมจะเบาใจเมื่อได้เข้าใจเท่านั้นเอง ฉะนั้นก็เข้าใจไปเรื่อยๆ และก็รู้ว่ายังมีกิเลสนี่แน่นอน ไม่ใช่ว่าฟังแล้วก็สงสัยว่าทำไมกิเลสมีอีก แล้วเราจะทำอย่างไรให้กิเลสไม่มี คิดแบบนั้นไม่ได้ แต่เป็นผู้ที่เข้าใจว่ายังมีกิเลสอยู่ แล้วก็ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง จากที่ได้ฟังแล้วก็มีความมั่นคงเชื่อมั่นว่าในชีวิตประจำวันมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา และจริงๆ แล้วโลกทั้ง ๖ เท่านั้นเองที่มีปรากฏอยู่ ต้องมั่นคงตรงนี้จริงๆ ว่ามีเพียงโลกทั้ง ๖ เท่านั้น สติจะเกิดให้ระลึกหรือไม่นั่นก็อีกเรื่อง แต่ความมั่นคงตรงนี้ต้องมีเกี่ยวกับการพิจารณาไม่ต้องไปไหนไกลเลย เพราะโลกทั้ง ๖ พิสูจน์ได้อยู่แล้ว เพื่อนๆ สหายธรรมที่ศึกษาอบรมตรงนี้ว่ามั่นคงตรงนี้หรือยังว่ามี ๖ ทางเท่านั้น ถ้ามั่นคงตรงนี้แล้ว ก็จะไม่ไปไกล ๖ ทางที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั่นเอง คือความไม่มีตัวตน และเหมือนกับว่าเราเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เท่าที่ฟังก็มีความรู้สึกว่าจะมีการห่วงเรื่องกิเลสของตัวเอง แต่ถ้าตามความเป็นจริงเป็นผู้ที่ตรงว่ายังมีกิเลสอยู่ และก็ยังมีการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้เวลาที่กิเลสประเภทใดเกิดขึ้น ก็เห็นลักษณะนั้นตามความเป็นจริงว่ายังมีอยู่ และจากการฟังธรรมก็จะสามารถเกิดความเข้าใจได้ว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา นี้ก็จะเป็นประโยชน์กว่าการจะคิดว่าเราศึกษาธรรมแล้วทำไมเรามียังกิเลสเกิด อย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งอย่างไรก็ยังต้องมีกิเลสจนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล

    เพราะฉะนั้นถ้าเกิดโกรธ เกิดโลภอะไรขึ้นมา เกิดแล้วใครห้ามได้ สิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดแล้ว แต่สามารถที่จะเข้าใจถูกได้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพอย่างนั้นๆ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุว่าโลภะก็มีหลายระดับขั้น โทสะก็มีหลายระดับขั้น และก็ยังมีกิเลสอกุศลเล็กๆ น้อยๆ อีกใช่ไหม ความริษยา ความตระหนี่ ความสำคัญตน พวกนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งยังไม่ได้ดับไปเลย ฉะนั้นถ้ามีปัจจัยปรุงแต่งเมื่อไหร่จึงเกิด ถ้ายังไม่มีปัจจัยที่เหมาะสม เราไม่สามารถจะคาดคะเนได้เลยว่าเราเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยที่ได้สะสมมาแล้วมากน้อยประการใดบ้าง จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยให้สิ่งนั้นเกิดแล้วปรากฏ ชาตินี้ทั้งชาติกิเลสอย่างนั้นอาจจะไม่เกิดปรากฏ อีกชาติหนึ่งอาจจะปรากฏก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท และรู้ความจริงว่าไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทไหนก็มีสะสมอยู่ พร้อมด้วยปัจจัยเมื่อไหร่ก็เกิดเมื่อนั้น แต่สามารถที่จะเห็นว่านี่เป็นธรรม นี่คือประโยชน์ ไม่ว่าจะในขั้นคิด ขั้นพิจารณารู้สึกตัว หรือขั้นสติปัฏฐานที่สามารถรู้ลักษณะซึ่งปรากฏแล้วก็หมดไปอย่างเร็วมาก แต่ความเป็นตัวตนทำให้ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นหมดแล้ว ก็ยังคงคิดถึงอยู่เรื่อยๆ ไปว่าเป็นของเราบ้าง คิดไปเรื่องว่าทำไมจึงเกิดบ้าง หรืออาจจะคิดไปทำอย่างไรถึงจะได้น้อยลงไปบ้าง หรืออาจจะคิดว่าเมื่อไหร่จะหมดบ้าง ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมนั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าในชีวิตประจำวันแล้ว อะไรบ้างที่เป็นธรรมที่ควรใส่ใจ ที่ควรเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นชีวิตประจำวันหรือไม่ เป็น มีสิ่งที่ควรจะเข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง มี แต่ว่าจากชีวิตประจำวันที่เป็นปกติของชาวโลกทั่วๆ ไปมักจะเห็นตรงกันข้ามกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของผู้ที่ไม่เข้าใจจึงคิดว่าชีวิตประจำวันไม่ใช่ธรรม แต่ความจริงไม่ว่าเมื่อไหร่ ขณะไหน ก็เป็นธรรมทั้งหมด

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ก็ให้ศึกษาให้ละเอียด ให้เข้าใจ แต่ในขณะที่ประจักษ์สภาพธรรมก็ต้องแล้วแต่ปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งจะสามารถเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนตามลำดับ แต่การศึกษาอย่างละเอียดก็ช่วยอย่างมาก แต่ขณะที่สติระลึก เบื้องต้นก็คือลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไรก่อน

    คุณอุไรวรรณ คุณธีรพันธ์ได้ศึกษาธรรมอย่างไรบ้าง

    อ.ธีรพันธ์ ฟังเพื่อที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมจากที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นการศึกษาก็คือการฟัง ฟังแล้วฟังอีกก็มีเท่านี้ คือสาวกก็คือผู้ฟัง ไม่ได้ทำอย่างอื่น ฟังแล้วก็พิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย ฟังรอบเดียวบางครั้งเราอาจจะขาดการที่ไม่ได้ไตร่ตรองส่วนหนึ่งส่วนใดของถ้อยคำที่กล่าว เพราะเหตุว่าฟังแล้วฟังอีก ให้เราได้คิดในสิ่งที่เราไม่ได้คิดในช่วงที่เราได้ฟังในบางส่วนในข้อความนั้นๆ ฉะนั้นถ้าฟังหลายๆ ครั้ง ก็เป็นปัจจัยให้เราได้ย้ำ และได้พิจารณาในส่วนที่เราผ่าน หรือว่าไม่ได้มองเห็นในส่วนถ้อยคำที่ได้กล่าวออกมา ฉะนั้นการฟังแล้วฟังอีกก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ก็มีการไตร่ตรองพิจารณา และเทียบเคียงส่วนอื่นด้วย

    อ.อรรณพ การศึกษาพระธรรมของแต่ละท่าน ก็แล้วแต่การสะสมของความสนใจ และระดับปัญญาแม้ในขั้นการฟัง อย่างเช่นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้นได้ฟังสิ่งที่ไม่มีทางจะได้ยินได้ฟังถ้าไม่มีพระธรรม และในขณะที่ฟังธรรม กุศลจิตก็เกิดขณะนั้นจิตใจก็ผ่องใสชั่วขณะที่กุศลจิตเกิด แม้ขั้นที่ยังไม่ถึงสติปัฏฐานเมื่อเราฟังแล้ว เราก็ได้ประโยชน์จากพระธรรม

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่มีใครห่วงเรื่องสติปัฏฐานใช่ไหม เพราะว่าได้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นอนัตตา ไม่ได้หมายความว่าเราละเลย แต่รู้ว่าเหตุที่จะให้มีการเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมต้องอาศัยการเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องห่วงเลย ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นพอเมื่อไหร่ ก็มีปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งจะยากอะไร มีแล้วลักษณะนั้นไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปทำเลย เพียงแต่ว่ารู้ตรงลักษณะนั้นเมื่อไหร่ ก็จะรู้ได้ว่าเมื่อครู่นี้หลงลืมสติไปแค่ไหน และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ความต่างว่า ขณะนั้นสติไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ไม่ได้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ แต่ว่ากำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ หรือว่ามีใครห่วงเรื่องสติปัฏฐานหรือว่าสติสัมปชัญญะ ถึงจะห่วงก็ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ใช่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดมีได้เพราะความห่วง แต่ต้องรู้เหตุว่าเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ