พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 79


    ตอนที่ ๗๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตที่คั่นระหว่างวิถีกับภวังคจิตขณะที่หลับสนิทเป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ เปลี่ยนได้ไหม ไม่ได้เลย ตลอดชาติ ต้องเป็นอย่างนี้ ยังเป็นบุคคลนี้อยู่ ยังไม่สิ้นสุดกรรมที่จะทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นภวังค์ไม่ว่าขณะไหนก็ตามของชาติหนึ่งๆ ก็ต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย ยังไม่กล่าวถึงความละเอียดเวลาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และก็ดับอนุสัยกิเลส แต่ถึงอย่างนั้นภวังค์ก็เปลี่ยนประเภทไม่ได้ เพราะว่ามหาวิบากทำกิจปฏิสนธิในภูมินี้ ไม่ใช่รูปาวจรวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิกิจในรูปพรหม หรือรูปาวจรวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหม หรือไม่ใช่แม้มหาวิบากที่ทำกิจในสวรรค์ แต่เป็นภวังคจิตของจิตประเภทที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ซึ่งก็จะดำรงความเป็นบุคคลนี้ ทุกครั้งที่เป็นภวังค์จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายคือจุติจิตทำกิจพรากหรือความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง

    ผู้ฟัง ภวังคจิตที่เกิดจะมีปัจจัยเท่ากันหรือว่าปัจจัยจะมากน้อยกว่ากัน

    อ.วิชัย ต้องเข้าใจว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ มีปัจจัยให้เกิดขึ้นแล้วจิตนั้นก็ดับ แล้วก็มีปัจจัยให้จิตประเภทอื่นเกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นมีหลายปัจจัยมากที่จะทำให้จิตแต่ละประเภทเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แล้วก็มีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทอื่นเกิดสืบต่อ จิตดวงใหม่เกิดสืบต่อหลังจากที่จิตนั้นดับไปแล้ว ที่ถามว่าเป็นปัจจัยเหมือนหรือต่างเข้าใจอย่างไร

    ผู้ฟัง ภวังค์ก็ไม่ใช่จะดำรงภพชาติตลอดไปใช่ไหม ก็ต้องมีภวังค์ดวงสุดท้ายที่เกิด และภวังค์ที่เกิด ปัจจัยจะเหมือนกันหรือเท่ากันใช่ไหม หรือว่าอาจจะมีมากน้อยกว่ากัน

    อ.วิชัย ก็ต้องกล่าวแต่ละประเภท เพราะถ้ากล่าวรวมทั้งหมดก็จะกว้าง เพราะเหตุว่าภวังค์ของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน เช่นกล่าวถึงภวังค์ของสัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ภวังค์ของมนุษย์หรือเทวดาก็มีเหตุเจตสิกที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างภวังค์ของแต่ละบุคคล

    อ.วิชัย ต้องทราบว่ามีหลายปัจจัย เช่น เมื่อภวังคจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นก็ต้องมีจิตดวงก่อนที่เป็นปัจจัยให้จิตนี้ภายหลังเกิดสืบต่อด้วยอนันตรปัจจัย คือ ยังไม่เข้าใจว่าปัจจัยเหมือนกันหรือว่าต่างกัน ที่ผู้ถามนี้เข้าใจว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดว่าคุณบุญทิ้งหมายความว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดภวังคจิตเท่ากันหรือไม่ หมายความถึงจำนวนปัจจัยของภวังคจิตเท่ากันทุกขณะหรือไม่

    อ.วิชัย เข้าใจว่าถ้าเป็นภวังคจิตของบุคคลเดียวกันก็น่าจะเท่ากัน เพราะภวังคจิตของแต่ละบุคคลเมื่อเกิด เป็นกรรมๆ หนึ่ง เมื่อกรรมให้ปฏิสนธิแล้วก็ให้ผลเป็นภวังคจิตด้วย และภวังคจิตของบุคคลนั้นก็เป็นประเภทเดียวกัน

    ถามว่าเมื่อวิบากจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้กิริยาจิตเกิดขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    อ.วิชัย ได้แก่อะไร

    ผู้ฟัง ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิต

    อ.วิชัย กล่าวถึงวิบากจิตเมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้กิริยาจิตเกิดขึ้นได้ไหม วิบากจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะ

    อ.วิชัย ภวังคุปัจเฉทะเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด นอกจากปัญจทวาราวัชชนจิต มีจิตอื่นอีกไหม

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิต

    อ.วิชัย นอกจากมโนทวาราวัชชนจิต มีจิตอื่นอีกด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยให้กิริยาจิตเกิดได้ไหม คำตอบของคุณนางก็คือได้ ๒ ประเภท ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิดต่อทางปัญจทวาร หรือมโนทวาราวชชันจิตเกิดต่อจากภวังคจิตซึ่งเป็นชาติวิบากทางมโนทวาร คำถามของคุณวิชัยว่านอกจากวิบากจิต เป็นปัจจัยให้กิริยาจิต ๒ ประเภทนี้เกิดแล้ว วิบากจิตนั้นคือภวังค์นั้นจะเป็นปัจจัยให้กิริยาจิตอื่นนอกจากกิริยาจิต ๒ ประเภทนี้เกิดได้ไหม ไม่ได้ โดยอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่ากิริยาจิตอื่นไม่ใช่อาวัชชนกิจ เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว วิถีจิตแรกลืมไม่ได้เลย เป็นกิริยาจิตที่เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารต่อจากภวังคจิต จะเป็นวิถีจิตอื่นไม่ได้ จะเป็นกุศล อกุศลเกิดทันทีไม่ได้ วิถีแรกต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตทางปัญจทวาร และเป็นมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง อาวัชชนกิจหมายถึงอะไร

    อ.วิชัย หมายถึงการรำพึงนึกถึงอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ก่อนจะเห็นมีจิตอะไรเกิดก่อน

    ผู้ฟัง ภวังค์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเป็นวิถีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตแล้วต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด จะชื่ออะไรทำหน้าที่อะไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นจิตเห็นเป็นวิถีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแรกหรือไม่ ความสำคัญอยู่ตรงนี้ จากภวังค์ซึ่งไม่มีอารมณ์ของโลกนี้ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วอะไรจะปรากฏวันหนึ่งๆ ถ้าไม่เห็นก็ต้องได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก นั่นคือสิ่งที่ปรากฏให้รู้ แต่ว่าขณะที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ปรากฏเลย ขณะนั้นอารมณ์ใดๆ ของโลกนี้ไม่ได้ปรากฏเพราะไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้เลย ถ้าเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตแล้ว เกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวาร เป็นผลของกรรมที่ทำให้เมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับ หรือจุติจิตของชาติไหนก็ตามดับไปแล้ว กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจิต ๓ ขณะนี้ไม่ได้อาศัยทวาร อารมณ์ที่จะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ปรากฏ ไม่แม้แต่ฝัน ฉะนั้นเวลาที่เป็นวิถีจิตต่อจากภวังคจิต คือเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถิจิตต้องเกิด จะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณที่เห็นเป็นวิถีจิตแรกหรือไม่ หลังจากภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรก วิถีจิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะได้คืออะไร ปัญจทวาราวัชชนจิตทางปัญจทวาร หรือ มโนทวาราวัชนนจิตทางมโนทวาร ที่ถามว่าอาวัชชนกิจคืออะไร จิตนี้ไม่ได้ทำภวังคกิจอีกต่อไป ไม่ได้เป็นภวังคจิต แต่จิตทุกขณะต้องเกิดขึ้นทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใด จะไม่มีจิตสักขณะเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจการงานอะไรเลย จิตต้องทำกิจหนึ่งกิจใดเสมอ เช่น แม้ขณะที่เป็นภวังค์ก็ทำภวังคกิจดำรงภพชาติสืบต่อ ขณะที่ก่อนภวังค์เป็นปฏิสนธิจิต ก็ต้องทำปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ซึ่งจิตอื่นจะสืบต่อไม่ได้นอกจากปฏิสนธิจิตขณะแรกของชาตินี้ ฉะนั้นวิถีจิตแรกทำอาวัชชนกิจ ไม่ใช่ทำกิจเห็น กิจได้ยิน จึงเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะสามารถที่จะทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารคือทวารทั้ง ๕ ได้ จึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตอื่นจะเกิดก่อนจิตนี้ไม่ได้เลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าเป็นวิถีจิตทางปัญจทวารต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

    ผู้ถาม อกุศลกรรมที่ทำแล้วก็เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก

    ผู้ฟัง ก็เป็นอเหตุกวิญญาณจิต ๑๐ ดวงใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กรรมมี ๒ อย่างใช่ไหม อะไรบ้าง กุศลกรรม และอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมให้ผลคือวิบากจิตเกิด วิบากจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมชื่อว่าอกุศลวิบาก ถูกต้องไหม อกุศลวิบากมีจำนวนเท่าไหร่ อกุศลกรรมใดๆ ที่ทำไว้มากมายไหร่ก็ตามแต่ เมื่ออกุศลกรรมจะให้ผล จะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เพราะอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบากจำนวนเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ๗ ดวง

    ท่านอาจารย์ ถามก่อนเพื่อที่จะให้จำได้ไม่ลืมว่าอกุศลกรรมจะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ประเภทนี้เท่านั้น อกุศลวิบาก ๗ ประเภทนี้ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เป็นอเหตุกวิบากจิตทั้ง ๗ ประเภท

    อ.กุลวิไล การเกิดเป็นผลของกรรม เพราะว่าท่านก็แสดงด้วยชาติของจิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตของการเป็นบุคคลนี้เป็นผลของกรรมเดียวกัน ทำให้เราเกิดมาเป็นบุคคลนี้ แล้วการที่เราจะดำรงภพนี้ซึ่งเรายังไม่ตาย ก่อนที่จุติจิตจะเกิด เราก็ยังดำรงความเป็นบุคคลนี้อยู่ ฉะนั้นการรับผลของกรรมทำให้เราต้องมาเกิดเป็นบุคคลนี้ แล้วก็ต้องมาเห็นสิ่งนี้ ได้ยินสิ่งนี้ ซึ่งก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง ก็ทำให้เห็นว่านี่คือการรับผลของกรรมที่ทำให้เราต้องเกิดมาเป็นบุคคลนี้ มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ แล้วก็ได้เห็น ได้ยิน กระทบสัมผัสกับสิ่งที่เราได้รับ ฉะนั้นคนถึงแตกต่างกัน บางคนทำกุศลมามาก ก็ได้เห็นสิ่งที่ดี ได้กระทบสัมผัสทางกายที่ดี ได้ยินสิ่งที่ดี แต่บางคนได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีเลย ฉะนั้นความต่างกันของกรรมที่ทำแล้วจะทำให้เราได้รับผลที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ประมาทในการเจริญเหตุที่ดีเพราะเหตุที่ดีย่อมให้ผลที่ดี

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญ ถ้าไม่มั่นคงก็จะทำให้เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าบางคนทำอกุศลกรรมมาก แต่เขาก็ยังมีกุศลวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต้องทราบว่านี่เป็นผลของเหตุในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ส่วนกรรมใหม่ที่ได้ทำก็ยังไม่ได้ให้ผล แต่ธรรมจริงๆ ทนต่อการพิสูจน์ ถ้าเราจะมีความคิดไขว้เขวคลาดเคลื่อน เช่น คิดว่ามีเรา มีตัวตนที่สามารถจะเลือก สามารถจะบังคับบัญชาได้ แม้แต่ขณะนี้เอง ที่จะให้ชัดเจนคือเดี๋ยวนี้ เราเลือกได้หรือไม่ ถ้าเดี๋ยวนี้เลือกไม่ได้นั่นก็คือคำตอบ แม้แต่ความคิดที่ว่าเราจะเลือกได้ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อย่างนี้ถูกหรือไม่ ว่าความคิดนึกของจิตว่าเราจะทำจิตให้เป็นกุศล บางทีมันก็ไม่เป็นกุศลอย่างที่เราต้องการ

    ท่านอาจารย์ รู้ไหมว่าจะเลือกคิดอะไร แค่คิดนี่เลือกได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็เลือกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าเลือกคิดก็เลือกไม่ได้เพราะคิดแล้ว จะเลือกได้อย่างไร มีปัจจัยที่จะคิดแล้ว เลือกเห็นก็เลือกไม่ได้อีก เพราะเห็นแล้วจะไปเลือกได้อย่างไร

    ผู้ฟัง พอรู้ว่าจิตเป็นอกุศล เราจะมีทางที่จะเลือก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็ยาว ไปหาทางที่จะเลือก ทางที่จะทำแล้ว แต่ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ที่เกิดแล้วด้วยเพราะเหตุปัจจัย ที่สำคัญที่สุดคือขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เราไม่ได้รู้เช่นนี้ ก็เลยมีเราเลือก เราคิด เราจะทำอย่างนั้น เราจะทำอย่างนี้ตลอดเวลา แต่ให้ทราบว่าแม้คิดก็เลือกไม่ได้ว่าจะคิดอะไร วันไหน อย่างไร แม้เห็นขณะนี้ก็เลือกไม่ได้ เพราะเห็นเกิดขึ้นแล้วจะเลือกได้อย่างไร ก่อนเห็นจะเกิด เลือกเห็นก็ไม่ได้ เมื่อเห็นแล้วก็เลือกไม่ได้อีก จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดแล้ว เป็นอย่างนี้แล้ว

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า เอาที่ปัจจุบันอารมณ์ที่เห็น เห็นอะไรก็เห็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจถูกยิ่งขึ้นในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้แต่คำว่า “อนัตตา” ตรงที่สุดเปลี่ยนไม่ได้เลย แต่เรายังไม่ถึงความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าสะสมความเป็นเรา ความเป็นสิ่งต่างๆ มานานมาก เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าถึงความเป็นอนัตตาก็คือสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็ตามแต่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็ตามรู้ ตามเห็น ตามได้ยินอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ง่าย แต่ว่าเป็นความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้หรือไม่ ว่าไม่ใช่ตัวตนแล้วเป็นอะไร มีจริงๆ แต่ไม่เคยเข้าใจเลย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่เห็นก็ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นเพียงรูป

    ท่านอาจารย์ ก็พูดไป

    ผู้ฟัง จิตก็นึกไปอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็นึกไป แต่รู้จริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบว่าการฟังธรรมก็เพื่อเข้าใจถูกต้องขึ้น เพื่อถึงการรู้จริง ชัดเจน ถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็เป็นขั้นแรกที่ต้องฝึกไป อย่างนี้ถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังไปให้เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ จะได้รู้ว่าความเข้าใจจากการฟังเพิ่มขึ้นหรือไม่ และความเข้าใจไม่ใช่ไปเข้าใจอะไรในหนังสือ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏจะโดยอาศัยการอ่าน โดยอาศัยการฟัง โดยอาศัยการไตร่ตรอง โดยอาศัยการสนทนาก็ได้ แต่ขอให้รู้ตัวตามความเป็นจริงว่ามีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่ชื่อ แต่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องฟัง จะต้องเรียน และก็รู้ว่าธรรมก็คือเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เมื่อไหร่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นนั่นคือเราฟังธรรม เราศึกษาธรรม เราเริ่มเข้าใจธรรม

    จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเมื่อครู่นี้พูดคำว่า “ลักษณะของสภาพธรรม” คำนี้น่าสนใจมากที่จะต้องเข้าใจ เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงแล้วต้องมีลักษณะให้รู้ได้ ไม่ใช่ว่าไม่สามารถจะรู้ได้ ไม่มีลักษณะอะไรที่จะปรากฏให้รู้ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงก็ต้องมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างที่มีจริง ที่ปรากฏให้รู้ได้

    เมื่อครู่กล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้กำลังปรากฏ ลักษณะนี้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ ก็เป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งที่สามารถจะปรากฏทางตาเมื่อมีจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท สิ่งนี้จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง ลักษณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ขอลักษณะของธรรมอื่นอีก เพราะว่าลักษณะของธรรมไม่ได้มีลักษณะเดียว อะไรเป็นลักษณะของธรรมอีก นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และต้องมีลักษณะปรากฏให้รู้ว่ามีจริงๆ ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏให้รู้ว่ามีจริงๆ จะกล่าวว่าสิ่งนั้นมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นธรรมที่กล่าวว่ามีจริงต้องมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ เช่น ขณะนี้กล่าวว่ามีสิ่งที่ปราฏทางตา เป็นลักษณะหนึ่งของธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏได้เมื่อมีจักขุปสาท แต่ถ้าใครไม่มีจักขุปสาท สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏทางตาเมื่อมีจักขุปสาท และมีจิตเห็น เพราะเหตุว่าถ้ามีจักขุปสาทแต่กำลังหลับก็ไม่เห็นใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าเรามีจิต เราไม่เคยหา ไม่เคยเข้าใจเลย ไปเจอแต่ในตำราทั้งนั้น มีจิตชื่ออะไรบ้าง เป็นอเหตุกะ เป็นสเหตุกะ แต่จิตตัวจริงๆ ก็คือสภาพรู้ ที่สามารถจะเห็น สามารถจะคิดนึก สามารถที่จะหลายอย่างในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้น ไม่มีสักขณะเดียวที่ขาดจิต ถ้าขาดเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น แต่ที่ยังไม่ได้ขาดจิตเพราะเหตุว่ายังมีจิตที่สืบต่อทำกิจการงานตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ลักษณะของจิต ไม่มีใครไปมองเห็นเลย ขณะนี้ที่กำลังเห็น อาการเห็น สภาพที่เห็น สามารถที่จะเห็นว่าขณะนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตานั่นคือลักษณะของจิต ฉะนั้นเมื่อพูดถึงลักษณะของธรรมก็อยากจะขอทราบว่าธรรมอื่นที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ว่ามีจริงๆ เป็นลักษณะของธรรมแต่ละประเภทนั้น มีอะไรบ้าง นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา มีอะไรอีกที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง มีเสียง

    ท่านอาจารย์ เสียงมีจริง ปรากฏให้รู้ได้เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง เมื่อมีเสียงมากระทบทางโสตปสาท

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวนี้ถูกต้องตามเหตุตามผล แต่จริงๆ ก็คือเมื่อมีจิตได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตก็มีลักษณะของจิต เสียงก็มีลักษณะของเสียง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อกล่าวถึงธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างของสภาพธรรมนั้นปรากฏให้ศึกษาให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นรูปธรรมเช่นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง นี่คือการศึกษาธรรม ศึกษารู้ว่าธรรมต้องมีลักษณะปรากฏให้รู้ จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละชนิดซึ่งไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าธรรมแต่ละอย่างปรากฏเมื่อเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เกิดก็ปรากฏไม่ได้ และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป ให้เข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ และก็ทรงตรัสรู้ ทรงแสดง ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้โดยครบถ้วนให้เข้าใจว่าเราศึกษาธรรม เราศึกษาอะไร เมื่อไหร่ ขณะไหน ไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าใช้ในชีวิตประจำวันจะทำอย่างไร ไม่เข้าใจตรงที่ว่าถ้าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จะคอยสังเกตหรืออย่างไร

    อ.วิชัย เมื่อฟังแล้วเข้าใจถูก มีสติเกิดร่วมด้วย และเมื่อฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ สติก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น

    อ.ธิดารัตน์ ขอสนทนาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งก็ไม่ใช่เป็นตัวเราที่คิดจะเจริญ การศึกษาธรรมก็ต้องเริ่มเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเป็นหนทางละ ละแม้ความต้องการที่ว่าอยากได้ผล คืออยากที่จะให้สติเกิด เพราะฉะนั้นศึกษาเพื่อเข้าใจ เมื่อความเข้าใจมั่นคงขึ้น สภาพธรรมก็จะทำกิจคือสติก็จะระลึกรู้ลักษณะของธรรมนั้นตามความเป็นจริงโดยความเป็นปกติด้วย ถ้ารู้สึกว่าจะมีตัวเราที่พยายามจะไปทำอย่างนี้ จะพยายามพิจารณาอย่างนี้เพื่อให้เกิดสติ ตรงนี้จะเป็นไปด้วยอำนาจของโลภะ เพราะว่ามีความพยายาม มีความเป็นตัวเราที่พยายามจะทำ ตรงนี้คือสิ่งที่จะต้องละเอียด และจะต้องค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตัวเรา ในชีวิตประจำวันก็จะมีกิเลสเกิดมาก เพราะฉะนั้นศึกษา และค่อยๆ เข้าใจกิเลสต่างๆ โดยละเอียดขึ้น ความเข้าใจนั้นก็จะสะสมไว้ เมื่อมั่นคงก็จะสามารถระลึกขึ้นมาได้ ด้วยกุศลจิต ด้วยสติที่ประกอบด้วยปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ