พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 90


    ตอนที่ ๙๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงวิถีจิตต้องรู้ว่าทวารไหน และวิถีจิตจะเกิดขณะเดียวไม่ได้เลย จะมีหลายขณะซึ่งเกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน หมดการรู้อารมณ์นั้นเมื่อไหร่ก็หมดวาระนั้น และก็มีภวังค์คั่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเริ่มเป็นวิถีจิตใหม่ วิถีจิตที่เกิดดับสืบต่อกี่ขณะก็เป็นวาระหนึ่ง กี่ขณะหมายความว่ารู้อารมณ์เดียวกันอารมณ์เดียว จิตที่เป็นวิถีจิตจะเกิดสืบต่อรู้อารมณ์นั้น เช่น ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ใช่ภวังคจิต แต่ต้องมีภวังคจิตก่อนแน่นอนดำรงภพชาติอยู่ และเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปชนิดนี้เองที่กระทบจักขุปสาททำให้ภวังคจิตไหว คือเริ่มที่จะทิ้งไม่มีอารมณ์เก่า แต่จะมีอารมณ์ใหม่คือสิ่งที่กระทบตาเมื่อภวังคจลนะดับ ภวังคจลนะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือไม่ ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์เลย ชื่อว่าภวังค์ต้องมีอารมณ์ของภวังค์ เมื่อภวังคจลนะดับไปเป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิด เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาหรือยัง ไม่เห็น เป็นภวังค์ขณะสุดท้าย สิ้นสุดของกระแสของภวังค์จึงชื่อว่า ภวังคุปัจเฉทะ แต่อารมณ์ต้องเป็นอารมณ์ของภวังค์นั่นเองเปลี่ยนไม่ได้เลย และเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรกต้องมีคืออาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวารก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าบ่งชัดว่าทางตาก็คือจักขุทวาราวัชชนจิต นี่คือบ่งชัดว่าไม่ใช่ทางอื่น เกิดขึ้นหนึ่งขณะเป็นวิถีจิต รู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏกระทบตาแต่ไม่เห็น แม้การเห็นของเราขณะนี้ซึ่งเหมือนกับเห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยรู้ความจริงว่าไม่ใช่ตัวตนเลยเพราะเหตุนี้

    เพราะฉะนั้นเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น แต่ไม่เห็นเพราะทำอาวัชชนกิจ รู้ว่าอารมณ์กระทบทวารนั้นแล้วก็ดับ หลังจากนั้นจิตอะไรเกิด จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิต เห็นไหมว่าวิถีจิตจะเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน คือเห็นรูปที่ยังไม่ดับที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรู้ว่ากระทบ แต่จิตนี้เกิดขึ้นทำ "ทัสสนกิจ" คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับ เป็นเราหรือไม่ การฟังเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณเป็นวิถีจิตหรือไม่ เป็นวิถีจิต เป็นวาระไหน เป็นวาระทางจักขุทวาร เป็นวิถีจิตของขณะที่ ๒ ของจักขุทวาร เป็นวาระที่รู้อารมณ์ทางตา

    นี่ก็คือทบทวน และจะทบทวนอีกหลายอย่างก็ได้ จะกล่าวถึงแม้ปัจจัยตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นก็ได้ เพราะว่าปัจจัยนี้เราคุ้นหูเลย

    เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงธรรมไม่จำเป็นต้องไปแยกว่าปริเฉทใด แต่เราศึกษาเพื่อเข้าใจ เหมือนเช่นที่บุคคลในครั้งก่อนนั้นท่านศึกษา ท่านก็ศึกษาด้วยความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องคิดว่านี่ปริเฉท ๘ ยังพูดไม่ได้ หรือนั่นเป็นปริเฉท ๖ เป็นเรื่องรูปหรืออะไร แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ในสิ่งที่กำลังฟัง ขอเพียงอย่างเดียวคือในขณะที่กำลังฟังอย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไปคิดเรื่องอื่น กำลังฟังหายไปแล้วคำหนึ่ง สองคำ แล้วยังเอาเรื่องอื่นมาคิดแทรกเข้ามาโดยที่ว่าจะไม่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเพียงฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจจริงๆ ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ไม่คิดถึงความคิดของเราเก่าๆ ก่อนที่จะศึกษาธรรมแล้วคิดเอาเองหมดเลย แต่ฟังด้วยความเคารพ รู้ว่านี่เป็นสัจจะ เป็นสิ่งที่จริง พิสูจน์ได้ และตรงตามที่ทรงแสดงแล้ว เพราะว่าทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงนั่นเองก็จะทำให้เราเข้าใจถูก และก็ไม่ลืมด้วย

    ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติกิริยา

    ท่านอาจารย์ เป็นชาติกิริยา พระอรหันต์มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นกมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เรามีไหม มี เห็นจะเกิดเมื่อไหร่ ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อนแน่นอน จะเกิดต่อจากภวังค์แล้วมาเห็นเลยไม่ได้ จะต้องมีวิถีจิตแรกคือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต

    เมื่อจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ จักขุวิญญาณเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก นี่เองคือผลของกรรม อยากจะรู้นักว่ากรรมที่เราทำไปจะให้ผลเมื่อไหร่ ขณะไหน อย่างไร ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรม ใครทำ คนอื่นทำให้หรือไม่ ทำเอง จะโกรธคนอื่นไหม ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าโกรธเพราะไม่รู้จริงๆ ก็ยังมีคนนั้นคนนี้ และก็ยังโกรธอยู่ แต่ความจริงถ้ารู้ว่าเป็นวิบากของเรา เราทำเองทั้งหมด จะทำให้ไม่คิดถึงว่าเป็นการกระทำของคนอื่นที่กระทำต่อเรา

    เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะรับสิ่งที่จักขุวิญญาณเห็นอารมณ์เดียวกัน เป็นวิถีจิตหรือไม่ เป็น สัมปฏิจฉันนะเป็นชาติอะไร ชาติวิบาก นี่คือกรรมทั้งหมดใครไปทำได้ ใครคิดว่าใครจะทำอะไรได้ ให้ทราบเลยว่าไม่มีตัวตน ไม่มีเรา มีแต่ธรรม และธรรมแต่ละอย่างก็เกิดขึ้นทำกิจการงานหน้าที่ของธรรมนั้นๆ จะเป็นเราทำได้อย่างไร แม้ขณะจิตเดียวก็ไม่มีเรา เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดเพราะอะไรเป็นปัจจัย กรรมเป็นปัจจัย เราก็เริ่มเข้าใจ "กัมมปัจจัย" แล้ว

    ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นวิบากต้องเป็นผลของกัมมปัจจัย และถ้าเป็นกัมมปัจจัยให้ผลก็คือให้ผลเป็นวิบากจิต จักขุวิญญาณเป็นวิบากดับไปแล้ว กรรมก็ยังทำให้สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อเป็นวิบาก ก็ยังไม่หมดเรื่องของวิบาก กรรมก็ยังทำให้สันตีรณะซึ่งเป็นวิบากเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะแล้วดับไป หลังจากนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว วิบากมีเท่านี้เอง ใครอยากได้วิบากอะไรมากๆ ก็แค่นี้คือจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ นี่คือวิบาก อยากจะได้วิบากทางตาก็ขณะนี้เองที่เห็น แต่ไม่ใช่จักขุวิญญาณเท่านั้น ยังมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะด้วย ทางหูที่ได้ยินเป็นวิบาก ก็ต้องมีโสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะที่เป็นวิบาก จบเรื่องของวิบากทางทวารนั้นๆ

    จิตที่เกิดต่อเป็นโวฏฐัพพนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวาร หมายความถึงจิตที่ไม่ใช่วิบากแล้วจะเป็นอะไร จิตมี ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต ยังไม่ใช่กุศล อกุศลเลย แต่รอเมื่อพร้อมแล้วจะเกิดต่อแต่ต้องหลังจากโวฏฐัพพนะดับไป เพราะฉะนั้นโวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิตก็เป็นจิตที่เป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดต่อจากจิตอื่นไม่ได้เลย เพราะว่าโวฏฐัพพนจิตเป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดต่อสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิตแล้ว จึงเป็นกิริยาจิต เพราะเปลี่ยนสภาพคือไม่มีสภาพของกุศลที่จะเป็นเหตุให้เกิด แต่จะเป็นโสภณจิตที่เป็นกิริยาจิต ฉะนั้นสำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์รู้ตัวหรือยังว่า หลังเห็นแล้วจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่ศึกษาจะไม่รู้ แต่ถ้าศึกษาแล้วรู้ไหม

    จะตอบว่าอย่างไร ถ้าถามว่า รู้หรือยังว่าเมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้วเป็นบาทเฉพาะ หรือจะใช้คำว่ากระทำทางให้กุศลจิตเกิด และอกุศลจิตเกิด เพราะถ้าไม่มีจิตนี้ กุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตที่เป็นชวนะเกิดไม่ได้เลย แต่นี้ก็ยาวไป ฉะนั้นเมื่อกล่าว จึงกล่าวสั้นๆ เฉพาะส่วนที่จะให้เข้าใจ และต่อจากนั้นไปขยายอีกถึงเรื่องเว้น ถึงเรื่องอะไรต่ออะไรอีกทีหลัง แต่พื้นฐานต้องมั่นคง

    หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตแล้ว ตอนนี้เองสะสมอะไรมามาก สะสมโทสะมามาก อะไรเกิด โทสมูลจิตมีปัจจัยที่จะเกิดแล้ว ถ้าสะสมกุศลมากอะไรเกิด กุศล แล้วเป็นเราหรือไม่ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ ต้องเห็นกุศลธรรม และอกุศลธรรม นี่ขั้นฟังๆ ว่ากุศลเป็นธรรม อกุศลเป็นธรรม แต่ปัญญาต้องถึงอีกระดับหนึ่งคือรู้ความเป็นธรรมของกุศล และอกุศลนั้น มิฉะนั้นจะไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะเป็นของใคร หรือจะเป็นใครไม่ได้เลย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ก็รู้จักตัวเองขึ้น หลังเห็น กุศลหรืออกุศล หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นอะไร อกุศล เพราะฉะนั้นเราดีหรือไม่ดีแค่ไหน ถ้าเราไม่รู้ว่าเราไม่ดีเราจะละไหม สำหรับคนที่สะสมอกุศลมามาก ทรงแสดงอกุศลธรรมให้รู้ความจริงว่าเป็นเราเองที่มี แล้วก็มีประเภทไหนนั้น คนอื่นไม่รู้ แต่เราสามารถที่จะรู้ได้ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา แต่สิ่งที่สะสมมามาก ลึกซึ้งด้วย ถ้าชาตินี้ยังไม่มีปัจจัยที่จะให้อกุศลประเภทนั้นๆ เกิด อกุศลประเภทนั้นๆ ก็ยังไม่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี ยังสะสมสืบต่อเป็นอนุสัยสำหรับอกุศล ใช้คำว่า “อนุสัย” แต่ถ้าสำหรับทางกุศลก็เป็น "อาสยะ" หรือถ้าเป็นกุศลที่สามารถจะกระทำให้ถึงฝั่งได้ก็เป็น “บารมี”

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะได้เข้าใจสภาพธรรมว่าเป็นธรรมยิ่งขึ้นว่าจริงๆ แล้วจะไปอยากให้ไม่มีอกุศล จะทำได้อย่างไรเมื่อมีเหตุปัจจัยที่สะสมมา เกิดแล้วควรจะรู้ว่าเป็นธรรม แต่กลับมีความเป็นเราที่ไม่อยากจะมี และหาทางอื่นที่จะไม่มี ซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นก็เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถที่จะเป็นไปได้อย่างนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก นี่ก็แสดงให้เห็นถึงคำว่า “วิถี” และคำว่า “วาระ” ซึ่งหลังจากกุศล อกุศลแล้ว ถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับวิบากจิตก็จะเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ ๒ ขณะ แล้วรูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะตั้งแต่อตีตภวังค์ที่กระทบภวังค์จนถึงภวังคจลนะ มีอายุ ๑๗ ขณะ ก็ดับ จบวาระหนึ่งๆ ซึ่งบางวาระรูปดับก่อน ตทาลัมพนะก็ไม่เกิด บางวาระรูปดับก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตก็ไม่เกิด นี่คือที่เราจะศึกษาต่อไป แต่ก็ให้ทราบว่าวาระหมายความอย่างนี้ และเมื่อตทาลัมพนจิตเกิดแล้วดับไป รูปก็ดับไปแล้วก็หมดวาระหนึ่งๆ โดยที่มีภวังค์คั่น

    ผู้ฟัง วาระหนึ่งก็มีวิถีจิตหลายวิถี

    ท่านอาจารย์ มากน้อยต่างกัน

    ผู้ฟัง แต่ว่าวาระหนึ่งจะมีจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ตอบใหม่

    ผู้ฟัง วาระหนึ่งมีหลายวิถี

    ท่านอาจารย์ มากน้อยต่างกันตามแต่ละวาระ บางวาระก็มีจิตเกิดดับมาก บางวาระก็น้อยกว่านั้น เช่น บางวาระไม่มีตทาลัมพนะ ขาดไปแล้ว ๒ ขณะ บางวาระไม่มีชวนะ ขาดไปแล้วอีก ๗ ขณะ บางวาระมีเต็มอยู่ถึงตทาลัมพนะ แสดงว่าวาระหนึ่งจะมีวิถีจิตเกิดดับไม่เท่ากัน

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม รูปที่จิตรู้อารมณ์ก็ต้องดับใน ๑๗ ขณะของจิต

    ท่านอาจารย์ จะรู้หรือไม่รู้ รูปจะเป็นอารมณ์หรือไม่เป็นอารมณ์ก็ตาม รูปทุกรูปที่เกิดที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จิตไหนก็ได้ ภวังคจิต ๑๗ ขณะรูปหนึ่งดับไป ภวังคจิตอีก ๑๗ ขณะ รูปที่เกิดพร้อมภวังค์ขณะแรกก็ดับไป ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับวาระที่เป็นวิถีเลย อายุของรูปก็คืออายุของรูป แต่ที่แสดงวาระคู่กับอายุของรูปเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าบางวาระจิตจะมีวิถีจิตเกิดดับมาก เพราะเหตุว่ารูปยังอยู่ต่อไปจนกระทั่งถึงตทาลัมพนะแล้วรูปนั้นถึงจะดับ ไม่ต้องไปเกี่ยวกันเลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นวาระนี่คือ ...

    ท่านอาจารย์ วิถีจิต ที่รู้อารมณ์เกิดดับสืบต่อที่รู้อารมณ์เดียวกันจนกว่าจะหมดไม่รู้อารมณ์นั้นอีกต่อไปเป็นวาระหนึ่ง

    ผู้ฟัง ทางปัญจทวาร แต่ละทวารก็เป็นวาระหนึ่งๆ

    ท่านอาจารย์ ที่รูปยังไม่ดับ ถ้ารูปดับหมดแล้ว เป็นภวังค์แล้ว เป็นวาระไม่ได้อีกแล้ว ต้องเป็นภวังคจิต

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าทางมโนทวารก็เรียกวาระเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน มโนทวารเริ่มจากมโนทวาราวัชชนจิต หลังจากภวังคจิต ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว แต่ก่อนนั้นก็ต้องเป็นภวังค์ ... ภวังค์ การที่จะเปลี่ยนอารมณ์จะเปลี่ยนทันทีไม่ได้ มีปัจจัยสมุฏฐานที่ทำให้ภวังค์ไหวที่จะเกิดเป็นวิถี ถ้าภวังค์ไม่ไหว วิถีจิตก็เกิดไม่ได้ ไหวที่นี่ไม่ใช่ลักษณะของรูป แต่ใกล้ต่อการที่จะไม่มีอารมณ์ของภวังค์ แต่ยังเป็นวิถีจิตทันทีไม่ได้ ก็เรียกจิตนั้นว่าภวังคจลนะ แสดงว่าใกล้แล้วที่วิถีจิตจะเกิด และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ ก็สิ้นสุดเลยเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้แล้วต้องเป็นวิถีจิต ถ้าเป็นทางมโนทวารวิถีจิตแรกคือมโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเป็นจิตคนละประเภท จิตนั้นต้องอาศัยรูปกระทบปสาทะ แต่จิตนี้ไม่ต้องอาศัยรูปกระทบปสาทะเลย แต่มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึง ตรึก หรือใช้คำว่า “รำพึงถึง” ในภาษาคำแปล แต่ว่าเราก็ไม่ต้องใช้คำนั้นก็ได้ เพราะว่าจะไปรำพึงก็ดูจะยาว ก็เพียงแค่ ๑ ขณะจิตที่นึกถึงอะไรก็ตาม วิถีจิตต่อไปจะต้องมีอารมณ์เดียวกับที่มโนทวารวิถีจิตมี

    เพราะฉะนั้นเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับ วิถีจิตต่อไปเป็นกุศล และอกุศลทันที ไม่ต้องมีจักขุวิญญาณ ไม่ต้องมีสัมปฏิจฉันนะ ไม่มีสันตีรณะ ไม่มีโวฏฐัพพนะ เพราะว่าโวฏฐัพพนะจะเกิดทางปัญจทวาร แต่มโนทวาราวัชชนะทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นวาระของทางมโนทวารก็มีวิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต และกุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิตอีก ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะมีตทาลัมพนะหรือไม่มีตทาลัมพนะก็ตาม หลังจากนั้นแล้วภวังคจิตเกิดต่อ เป็นภวังค์เมื่อใดก็เท่ากับว่าหมดวาระของมโนทวารวิถี ฉะนั้นคำว่าวาระก็ใช้ได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ถ้ากล่าวว่าจิตเกิดดับคุณประทีปเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าพูดว่ารูปเกิดดับ คุณประทีปเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตก็เกิดดับ รูปก็เกิดดับ แต่จิตไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วถ้าเราจะพูดง่ายๆ ว่าจิตเกิดดับ รูปเกิดดับก็เข้าใจได้ แต่ถ้าจะกล่าวให้ละเอียดจะมีความต่างของจิต และรูป คือถ้ากล่าวให้ละเอียดจิตจะมีขณะที่เกิด คือ อุปาทขณะ และฐีติขณะ และภังคขณะ เพราะเร็วมาก คิดดูว่าจิตเกิดดับนี่เร็วแค่ไหน และในความเร็วแสนเร็วนั้นก็ยังมีขณะที่เร็วคืออุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ถึง ๓ ขณะ นี่คือเรื่องของความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต สำหรับรูปก็เกิดดับ เราจะพูดว่ารูปเกิดดับก็ได้ เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าในการเกิดดับของรูป รูปมีอายุยาวมากกว่าจิต จะใช้คำว่าอายุยืน จะใช้คำว่าอายุยาวหรืออายุมากอะไรก็แล้วแต่คำ แต่ให้เข้าใจว่ารูปหนึ่งที่เกิดต่อเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ เพราะฉะนั้นคุณประทีปจะใช้คำว่ารูปเกิดดับก็ได้ จิตเกิดดับก็ได้ แต่ถ้ามีความเข้าใจละเอียดขึ้น คุณประทีปก็จะทราบว่าการเกิดดับของจิตก็จะเป็นอุปาทขณะ ฐีติขณะ และก็ภังคขณะ เพราะเร็วมาก แต่รูปช้ากว่านั้น เมื่อรูปเกิดแล้วรูปยังไม่ได้ดับไปในทันที เพราะฉะนั้นช่วงที่ยังไม่ดับ ก็จะเป็นการสืบต่อ เป็นสันตติ และเป็นชรตา

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าจะใช้คำว่านามธรรมไม่ปรากฏความชรา มีแต่อุปาทะ ฐิติ และภังคะคือดับไป ส่วนรูปธรรมมีการเกิดขึ้น และสืบต่อ มีการเสื่อม และมีการดับ เมื่อถึงฐีติขณะก็มีปัจจัยให้รูปๆ ใหม่เกิดขึ้น การสืบต่อของรูปทำให้ปรากฏรูปใหม่ซึ่งให้เห็นความชราได้

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ากล่าวถึงหนึ่งรูป อายุของหนึ่งรูป ความชราปรากฏไหม

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่ารูปดับไปก่อนหมายความว่าอย่างไรในเรื่องที่เป็นวาระหนึ่งๆ

    ท่านอาจารย์ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต รูปจะเกิดเมื่อใดได้หมดเลย ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นวิถีจิตเอามานับ ถึงจะเป็นภวังค์นอนหลับสนิท รูปที่เกิดพร้อมภวังค์ไหนก็มีอายุสืบต่อไป ๑๗ ขณะของภวังค์แล้วก็ดับ กัมมชรูปใดก็ตามที่เกิดพร้อมจักขุวิญญาณ นับต่อไป ๑๗ ขณะจะไปดับพร้อมกับจิตนั้นในขณะที่จิตนั้นดับ

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่ารูปเกิดขึ้นมาขณะจิตอะไรก็แล้วแต่ก็นับไป ๑๗ ขณะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นับไป ๑๗ ขณะ รูปนั้นก็ดับ นั่นคืออายุของรูป ไม่ต้องไปเกี่ยวกับการรู้อารมณ์ทางทวารไหนเลยทั้งสิ้น เพราะกำลังกล่าวถึงอายุของรูป เพราะฉะนั้นเวลาที่รูปกระทบอารมณ์แล้ว วิถีจิตยังไม่เกิดก็มี เพราะฉะนั้นเมื่อรูปนั้นดับไปก่อน ตทาลัมพนะก็เกิดไม่ได้ ถ้าดับไปก่อนอีก ชวนจิตก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าดับไปก่อนอีกก็ยังไม่ได้เกิด

    ท่านอาจารย์ ก็มี

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ได้เป็นวาระเลย

    ท่านอาจารย์ โมฆะวาระ

    ผู้ฟัง จิตแต่ละดวงๆ มีการเกิดดับเท่ากันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ว่าเป็นจิตอะไร โลกุตตรจิต โลกียจิต รูปฌาณจิต อรูปฌาณจิต จิตทั้งหมดมีอายุเท่ากันคือ ๓ อนุขณะ

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นตทาลัมพนวาระ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าตทาลัมพนะเกิดแล้วดับไปรูปก็ดับ แล้วภวังคจิตก็เกิดต่อ ภวังคจิตเกิดเมื่อใดแสดงว่าไม่ใช่วาระเมื่อนั้น วาระนั้นจบไปแล้วภวังคจิตจึงได้เกิดคั่นได้

    ผู้ฟัง ในขณะที่ชวนจิตดับไปทั้ง ๗ ดวง แล้วก็อย่างไรถึงจะเป็นตทาลัมพนวาระ

    ท่านอาจารย์ เป็นไม่ได้ถ้ารูปดับ ถ้าเป็นชวนวาระ หมายความว่า ตทาลัมพนะไม่ได้เกิดเพราะว่ารูปดับไปก่อน เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าชวนวาระ รูปเกิดเมื่อไหร่ก็นับถอยไป ๑๗ ขณะ ก็เกิดตรงนั้นเอง

    ผู้ฟัง มีโอกาสไหมถ้ารูปจะดับในช่วงของชวนะที่มี ๗ ขณะ

    ท่านอาจารย์ ชวนะไม่เกิด ไม่พอที่ชวนจิตจะเกิด ชวนจิตก็เกิดไม่ได้จึงเป็นโวฏฐัพพนวาระ มีแต่โวฏฐัพพนจิตเกิดเท่านั้น ถึงจะทำทางแต่ก็ไม่มีทางที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด เพราะว่าเขาเกิดขึ้นทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่ถึงวาระที่จะทำหน้าที่นั้นก็ทำหน้าที่นั้น ทำแล้วก็จบ กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ไม่เกิดก็เป็นโวฏฐัพพนวาระ

    ผู้ฟัง จำเป็นหรือไม่ว่าวาระที่จะเป็นชวนวาระ รูปจะต้องมีอายุเกิน

    ท่านอาจารย์ พอที่ชวนะขณะจะเกิดได้

    ผู้ฟัง ต้องพอ ๗ ขณะด้วย พอ ๒ หรือ ๓ ขณะก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่ก็ยังไม่พูดถึงขณะใกล้จะจุติก็แยกย่อยไปอีกมากมาย เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็คือว่าให้มีความเข้าใจไปตามลำดับก่อน

    ผู้ฟัง ตทาลัมพนวาระก็มีรูปนั้นเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตจนถึงตทาลัมพนจิต มีรูปๆ เดียวที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็เกิดรู้รูปเดียวนั้นเอง จนกว่ารูปนั้นจะดับ จึงชื่อว่าวาระหนึ่งๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ